มงคลชีวิต ๓๘ ประการ จาก http://mongkhol.cjb.net สพฺพทานํ ธมมฺทานํ ชินาติ ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง จัดทำเพื่อเป็นธรรมทาน โดย นพ.ฆฤณ เอมะศิริ(หมอpee) ความในใจผู้จัดทำ ที่มาของมงคล มงคลหมู่ที่ ๑ - ไม่คบคนพาล - คบบันฑิต - บูชาบุคคลที่ควรบูชา มงคลหมู่ที่ ๒ - อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม - มีบุญวาสนามาก่อน - ตั้งตนชอบ มงคลหมู่ที่ ๓ - เป็นพหูสูต - มีศิลปะ - มีวินัย - มีวาจาสุภาษิต มงคลหมู่ที่ ๔ - บำรุงบิดามารดา - เลี้ยงดูบุตร - สงเคราะห์ภรรยา (สามี) - ทำงานไม่คั่งค้าง มงคลหมู่ที่ ๕ - บำเพ็ญทาน - ประพฤติธรรม - สงเคราะห์ญาติ - ทำงานไม่มีโทษ มงคลหมู่ที่ ๖ - งดเว้นจากบาป - สำรวมจากการดื่มน้ำเมา - ไม่ประมาทในธรรม มงคลหมู่ที่ ๗ - มีความเคารพ - มีความถ่อมตน - มีความสันโดษ - มีความกตัญญู - ฟังธรรมตามกาล มงคลหมู่ที่ ๘ - มีความอดทน - เป็นคนว่าง่าย - เห็นสมณะ - สนทนาธรรมตามกาล มงคลหมู่ที่ ๙ - บำเพ็ญตบะ - ประพฤติพรหมจรรย์ - เห็นอริยสัจ - ทำพระนิพพานให้แจ้ง มงคลหมู่ที่ ๑๐ - จิตไม่หวั่นในโลกธรรม - จิตไม่โศก - จิตปราศจากธุลี - จิตเกษม สรุปมงคลชีวิต บันทึกจากผู้จัดทำ สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ : ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง ผมจัดทำ e books ธรรมะต่าง ๆ ด้วยหวังว่าจะเผยแพร่เพื่อเป็นธรรมทาน เพื่อช่วยให้ผู้ใฝ่ธรรมมีหนังสือธรรมดี ๆ อ่าน พกสะดวก สามารถนำติดตัวไปได้ทุกที่ครั้งละหลาย ๆ เล่มในรูปแบบ iSilo files บน PDA หากท่านผู้อ่านชอบ e books ธรรมะเล่มไหนเป็นพิเศษ กรุณาซื้อหนังสือเล่มนั้นเก็บไว้หรือมอบให้แก่คนที่ท่านรัก เพื่อช่วยกันเผยแพร่ธรรมะส่วนหนึ่งและเป็นการสนับสนุนท่านเจ้าของลิขสิทธิ์อีกทางหนึ่ง ผมเชื่อว่าท่านผู้ประพันธ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่งานของท่านหรือพระอริยสงฆ์ก็มุ่งหวังจะให้ธรรมเหล่านี้เผยแพร่ออกไป และเพื่อเป็นธรรมทานเช่นกัน แต่การอ่านจากอินเตอร์เน็ตอาจไม่สะดวกและยุ่งยากสำหรับบางท่าน ผมจึงได้ใช้เวลาที่มีอยู่บ้างจัดทำในรูปแบบที่สามารถอ่านบน PDA ทั้งปาล์มและพ็อกเก็ตพีซี โดยได้แจ้งที่มาไว้บนหนังสือที่จัดทำทุกเล่มและพยายามติดต่อท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ในทุกทางเพื่อขออนุญาตทั้งทางอีเมล์และตั้งกระทู้หรือเซ็นสมุดเยี่ยมไว้ แต่ไม่สามารถทำได้ทุกราย ส่วนใหญ่เมื่อส่ง e mail ไปตามที่อยู่มักจะถูกส่งกลับเนื่องจาก mailbox เต็มบ้าง หรือเมล์ยกเลิกไปแล้ว ตามที่ผมได้คัดลอกมาลงไว้ท้ายหมายเหตุนี้ ผมจึงขอเรียนชี้แจงไว้ ณ ที่นี้ว่า หากท่านเจ้าของลิขสิทธิ์เล่มใดไม่ประสงค์ให้เผยแพร่เป็นธรรมทานผมยินดีที่จะเอาออกจากเว็บทันที และขอให้ท่านที่ได้ติดตั้งลงเครื่องไปแล้วได้กรุณาถอดออกด้วย และขอโทษท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ ที่นี่ด้วย โดยท่านสามารถแจ้งได้ที่ pee@thaiclinic.com ได้ทุกเวลา ผมยังเชื่อในคำที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ : ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง ตามที่เห็นอยู่บนปกหนังสือธรรมทั่วไป แต่ผมไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะพิมพ์หนังสือดี ๆ เหล่านี้แจกเหมือนท่านที่มีบุญท่านอื่น จึงได้จัดทำ e books เหล่านี้แทน โดยหวังว่าจะเป็นธรรมทานได้เช่นกัน หากการกระทำด้วยจิตอันเป็นกุศลนี้ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ผมก็ขออโหสิกรรมจากท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ แต่หากการกระทำนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางจิตใจแก่ผู้ได้อ่าน และเกิดปัญญาในทางธรรม กระผมขออนุโมทนาในกุศลบุญดังกล่าวร่วมกับท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกท่านด้วยและขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่อนุญาตในการจัดทำและเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ี่ด้วยด้วย นพ.ฆฤณ เอมะศิิริ(หมอpee) 25 กันยายน 2545 ตัวอย่างคำปรึกษาและคำอนุญาต ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ 1.กระทู้จากลานธรรมเสวนา http://dharma.school.net.th/cgi-bin/kratoo.pl/006503.htm เรียนถามคุณดังตฤณ เนื้อความ : ไม่ทราบว่าหากผมจะแปลง file เรื่องทาง นฤพาน และ มหาสติฯให้อยู่ในรูปแบบ iSilo หรือ palmdoc file เพื่ออ่านบนคอมพิวเตอร์มือถือ เช่น ปาล์มและพ็อกเก็ตพีซี และแจกจ่าย(โดยไม่เกี่ยวกับการค้า)จะอนุญาตไหมครับ ผมเห็นที่เว็บทางนฤพานบอกว่าแจกจ่ายได้โดยไม่ต้องขอ แต่ไม่แน่ใจเรื่องมหาสติครับ และ file อื่น ๆ ที่ให้อ่านบนเว็บจะอนุญาตด้วยไหมครับ จากคุณ : หมอpee [ 23 ก.ย. 2545 / 08:24:51 น. ] [ IP Address : 203.156.14.122 ] ความคิดเห็นที่ 1 : (ดังตฤณ) ได้ครับ ทั้งสองเรื่อง โมทนาด้วยนะครับ 2.กระทู้จากลานธรรมเสวนา http://dharma.school.net.th/cgi-bin/kratoo.pl/006505.htm (ถามคุณดังตฤณอีกที) เรื่องพจนานุกรมพุทธศาสตร์ครับ ไม่ทราบว่าจะทำพจนานุกรมพุทธศาสตร์ให้เป็น database ที่สามารถเปิดใช้บนคอมพิวเตอร์มือถือเช่นปาล์มและพ็อกเก็ตพีซี ให้ เอาไหมครับ เช่นทำเป็น HanDBase หรือ mobileDB หรือ ThinkDB ไว้อ่านและ search คำได้ทุกที่ ถ้า file ต้นฉบับแบบ online เป็น MS Access หรือ excel ก็สามารถทำได้ง่ายครับ ผมซื้อเป็นแบบหนังสือไว้ แต่ไม่สามารถพกไปอ่านหรือค้นได้ เพราะพกไม่สะดวก เลยเอาไว้ในห้องพระที่บ้าน คิดว่าถ้าทำเป็นแบบที่เปิดได้บนปาล์มและพ็อกเก็ตพีซีน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ ถ้าจะทำผมคิดว่าไม่ยากครับ ผมเคยทำ I*C*D*10 แบบ HanDBase 10000 กว่าดาต้า ไว้ให้พวกแพทย์ใช้กันคิดว่าน่าจะทำอันนี้ได้นะครับ ไม่ทราบว่าจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์หรือไม่ครับ ถ้าเอาไว้แจกอย่างเดียว จากคุณ : หมอpee [ 23 ก.ย. 2545 / 11:00:49 น. ] [ IP Address : 203.156.14.122 ] ความคิดเห็นที่ 1 : (ดังตฤณ) ปัจจุบันมี เว็บที่ให้ดาวน์โหลดพจนานุกรมพุทธศาสน์ เกลื่อนเลยครับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเป็นพระที่ทำเพื่อศาสนา หากท่านทราบคงอนุโมทนา คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรครับ จากคุณ : ดังตฤณ [ 23 ก.ย. 2545 / 11:38:45 น. ] [ IP Address : 202.133.162.147 ] 3.เมล์อนุญาตจากคุณ ปิยะพันธุ์ อินทสุวรรณ์ ผู้จัดทำเว็บไซต์ ลพ.จรัญ http:www.jarun.org เรียนคุณหมอพีที่เคารพ คุณหมอสามารถทำไปเพื่อแจกจ่ายเป็นธรรมทาน ผมก็มีความยินดีครับ ด้วยความเคารพ ปิยะพันธุ์ อินทสุวรรณ์ --- หมอpee wrote: > 24 กย 45 > เรียนท่านเจ้าของเว็บไซต์ ลพ.จรัญ > > > ผมได้จัดทำ e book เพื่ออ่านบนปาล์มและพ็อกเก็ตพีซี > เกี่ยวกับธรรมะต่าง ๆ เพื่อแจกจ่าย > โดยขออนุญาตเจ้าของบทประพันธ์ > วันนี้ผมได้เข้ามาที่เวบของท่าน และได้ d/l > ข้อมูลเพื่อจัดทำ e book กฏแห่งกรรมและสัตว์โลกฯ ฯลฯ > ไว้อ่านเองแล้ว แต่จะขออนุญาตจัดทำเป็น e book > อ่านบนคอมพิวเตอร์มือถือ > เช่นปาล์มและพ็อกเก็ตพีซีเพื่อแจกจ่าย > โดยหวังว่าจะเป็นธรรมทาน > และเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในห้วงทุกข์ได้พบธรรมะ > และการปฏิบัติ และได้รู้จักกับพระสงฆ์ที่ประเสริฐอย่าง > ลพ.จรัญ โดยจะแจ้งที่มาและเว็บของท่านไว้ที่หน้าปก e > book ด้วย หวังว่าท่านคงจะอนุญาตนะครับ > > ท้งนี้ หากท่านอนุญาต ผมจะนำขึ้นแจกจ่าย ที่ > http://www.thai.net/doctorpee นะครับ > กรุณาตอบด้วยครับ > หมอpee 4.เมล์อนุญาตจากคุณไพศาล เตชจารุวงศ์ ผู้จัดทำ พระสุตตันตปิฎก ออนไลน์ Larntum Suttanta-Pitaka Online: http://202.44.204.76/tipitaka/ ทำแล้วเกิดประโยชน์ในมุมกว้าง อนุโมทนาครับ ไพศาล > ขออนุญาต นำ พระสุตตันตปิฎก ออนไลน์ แปลงเป็น iSilo > format เพื่ออ่านบนคอมพิวเตอร์มือถือเช่น > ปาล์มและพ็อกเก็ตพีซี และแจกจ่ายโดยไม่คิดมูลค่า > นะครับ โดยจะบอกแหล่งที่มา และเว็บไซต์ลานธรรมนะครับ > อนุญาตหรือไม่ครับ > > หมอpee > นพ.ฆฤณ เอมะศิริ ตัวอย่างเมล์ที่ถูกตีกลับทำให้ติดต่อท่านเจ้าของไม่ได้ 1.The original message was received at Wed, 25 Sep 2002 10:39:42 +0700 from [203.156.13.20] ----- The following addresses had permanent fatal errors ----- (reason: 553 5.3.0 EMail from mailserver at 203.130.156.3 is refused. See http://spamblock.outblaze.com/203.130.156.3 ) 2. ----- The following addresses had permanent fatal errors ----- (reason: 554 delivery error: dd Sorry, your message to copierc@yahoo.com cannot be delivered. This account is over quota. - mta427.mail.yahoo.com) ----- Transcript of session follows ----- ... while talking to mx2.mail.yahoo.com.: >>> DATA <<< 554 delivery error: dd Sorry, your message to copierc@yahoo.com cannot be delivered. This account is over quota. - mta427.mail.yahoo.com 554 5.0.0 ... Service unavailable 3.----- The following addresses had permanent fatal errors ----- (reason: 550 Requested action not taken: mailbox unavailable) ----- Transcript of session follows ----- ... while talking to mx1.hotmail.com.: >>> RCPT To: <<< 550 Requested action not taken: mailbox unavailable 550 5.1.1 ... User unknown //////////////////// นพ.ฆฤณ เอมะศิริ(หมอpee)   ที่มาของมงคล ๓๘ ประการ         สังคมเรานี้มีโรคประหลาดอยู่ชนิดหนึ่ง คือ โรคฮือ สงบเป็นพัก ๆ แล้วก็กำเริบเป็นคราว ๆ ประเดี๋ยวฮือผู้วิเศษพอมีข่าวอาจารย์ท่านโน้นท่านนี้ให้หวยเบอร์แม่น ก็แตกตื่นเป็นกระต่ายตื่นตูมฮือกันไปหา พอคนฮือไปทางไหน ก็มีผู้แสดงตัวว่าเป็นคณาจารย์ในทางนั้นมากมาย  ย้อนหลังไป ๒๖ ศตวรรษ ประชาชนชาวชมพูทวีปก็มีโรคอย่างนี้เหมือนกันคือ โรคฮือ             คนสมัยนั้นตื่นตัวในการค้นคว้าปัญหาเกี่ยวกับชีวิตจิตใจ เช่น คนเราเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน  ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในชีวิต ทำอย่างไรจึงจะมีความสำเร็จในการทำงาน ฯลฯ มีการชุมนุมกันตามสวนสาธารณะบ้าง ประตูเมืองบ้าง จัตุรัสต่างๆบ้าง เพื่ออภิปรายในปัญหาเหล่านี้อย่างกว้างขวาง                  เมื่อมีผู้อภิปรายมากเข้า หลายคนก็หลายความคิด และต่างก็โฆษณาเผยแผ่ความคิดของตัว ใครมีคนเชื่อตามมากก็กลายเป็นอาจารย์  มีลูกศิษย์กันคนละมาก ๆ ขณะที่การชุมนุมสาธารณะกำลังเฟื่อง การอภิปรายกำลังเป็นไปอย่างครึกครื้น ปัญหาต่างๆ ได้ถูกฟาดฟันด้วยวาทะคมคายเรื่องแล้วเรื่องเล่า  โดยไม่มีใครคาดฝัน ได้มีผู้เสนอญัตติสำคัญเข้าสู่วงอภิปรายว่า "อะไรคือมงคลของชีวิต"   ดูรูปปัญหาแล้ว ก็ไม่น่าจะหนักหนาอะไร  แต่เมื่อมีผู้เสนอตัวขึ้นกล่าวแก้ กลับถูกผู้อื่นกล่าววาทะหักล้างอย่างไม่เป็นท่า         "ท่านทั้งหลาย โปรดฟังทางนี้ ข้าพเจ้าทราบดีว่าอะไรเป็นมงคล" นักอภิปรายผู้หนึ่งนามว่า ทิฏฐมังคลิกะ เสนอตัวขึ้นในชุมนุม             "รูปที่ตาเห็นนี้แหละเป็นมงคล ลองสังเกตดูซิ  เมื่อเราตื่นแต่เช้าตรู่ได้เห็นนกบินเป็นฝูง ๆ พระอาทิตย์ขึ้น ต้นไม้เขียว ๆ เด็กเล็ก ๆน่ารัก สิ่งที่เราเห็นนี้แหละเป็นมงคล"  พอทิฏฐมังคลิกะกล่าวจบลง นักอภิปรายอีกคนหนึ่งชื่อ สุตมัคลิกะก็กล่าวหักล้างทันทีว่า "ช้าก่อน  ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งเชื่อ ที่นายทิฏฐมังคลิกะกล่าวนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าสิ่งที่ตาเห็นเป็นมงคลแล้ว เวลาเรามองเห็นอุจจาระ ปัสสาวะ คนเป็นโรค สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเป็นมงคลด้วยซิ  มันจะเป็นไปได้อย่างไร  "ต้องหูซิท่าน เสียงที่หูฟังนี่แหละเป็นมงคล  ตื่นเช้าเราก็ได้ฟังเสียงนกร้องบ้าง เสียงเพลงบ้าง  เสียงแม่หนอกล้อเล่นกับลูกบ้าง เสียงพูดเพราะ ๆบ้าง เสียงลมพัดยอดไม้บ้าง ฯลฯ นี่ต้องเสียงที่หูได้ฟังจึงเป็นมงคล"         นายสุตมังคลิกะกล่าวไม่ทันขาดคำ ก็มีนักอภิปรายอีกคนหนึ่งชื่อ  มุตมัคลิกะกล่าวแย้งทันทีว่า  "เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเสียงที่หูได้ยินเป็นมงคล อย่างนั้น เวลาเราได้ยินคนด่ากัน คนขู่ตะคอก คนโกหกมดเท็จ เสียงเหล่านี้จะเป็นมงคลด้วยหรือ              "ต้องอารมณ์ที่ใจเราทราบซิท่านจึงจะเป็นมงคล พึงสังเกตว่า ตื่นเช้าเราได้ดมกลิ่นดอกไม้หอม ๆ จับต้องสวมใส่เสื้อผ้าสะอาด ๆรับประทานอาหารอร่อย ๆ นี่ต้องอารมณ์ที่ใจเรารับรู้ รับทราบ นี่แหละจึงเป็นมงคล     ทันควันอีกเหมือนกัน นักอภิปรายอีกคนก็แย้งทันทีว่า "เป็นไปไม่ได้ถ้าอารมณ์ที่ใจเรารับรู้เป็นมงคลแล้ว อย่างนั้นเวลาเราได้กลิ่นเหม็น ๆ จับของสกปรก คิดเรื่องชั่วร้าย อารมย์ตอนนั้นจะเป็นมงคลไปด้วยหรือ"          ข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องมงคล ได้แผ่ขยายตัวออกไปกว้างขวางทั่วแคว้น ในบ้าน ในสภา ในสโมสร  ในหมู่คนเดินทาง ฯลฯ ปัญหาเรื่องมงคลได้ถูกนำขึ้นถกเถียงกันอยู่ทั่วไป  ไม่เฉพาะมนุษย์ แม้พวกเทวดาได้ยินมนุษย์ถกเถียงกันก็นำเรื่องมงคลมาถกเถียงกันบ้าง   ตั้งแต่เทวดารักษามนุษย์ ภุมเทวา อากาศเทวาตลอดจนเทวดาบนสวรรค์ทั้ง ๖ จนถึงชั้นพรหมโลก ต่างก็นำเรื่องมงคลมาถกเถียงกันปัญหามงคลนี้ได้กลายเป็นมงคลโกลาหล  ร่ำลือกันกระฉ่อนไปหมด ทั่วทั้งมนุษย์โลก เทวโลก  พรหมโลก แต่ก็ไม่มีใครชี้ขาดได้ว่าอะไรเป็นมงคลของชีวิต  แต่มีพรหมอยู่พวกหนึ่ง คือพรหมชั้นสุทธาวาส พวกนี้มนุษย์ได้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นพระอนาคามี จึงทราบดีว่าอะไรเป็นมงคล แต่แค่ทราบไม่สามารถพูดอธิบายออกมาได้  ได้แต่ป่าวประกาศให้เทวดาทั้งหลายทราบว่าอีก ๑๒ ปี              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกให้คอยถามปัญหามงคลนี้กับพระองค์  เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คือหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ  เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้าและทูลถามพระองค์ว่า  อะไรคือมงคลของชีวิต  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคล ซึ่งมีทั้งหมด ๓๘ ประการ มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง                 แม้หลักมงคลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะประกอบไปด้วยเหตุผลอย่างสมบูรณ์  ไม่มีใครสามารถหักล้างได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าคณาจารย์ นักคิด เจ้าลักธิทั้งหลาย  จะล้มเลิกความคิดเดิม หันมาเชื่อพระองค์ทุกคน  เพราะล้วนแต่หนาแน่นด้วยทิฏฐิกันทั้งนั้น  แม้จะรู้ตัวว่าผิด แต่ยังยืนยันวาทะของตนอยู่ และสานุศิษย์ของแต่ละสำนัก ก็ยังทำการเผยแผ่อยู่อย่างไปไม่หยุดยั้ง ประกอบกับนิสัยของคนเรา  มีความขลาดประจำสันดานอยู่แล้วชอบทำอะไรเผื่อเหนียวไว้ก่อน จึงมีผู้ยอมรับนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเกิดเป็นมงคล ๒  สาย พัวพันกันมาจนถึงปัจจุบันคือ             ๑. มงคลของนักคิด เรียกว่า มงคลมี ยึดถือเอาว่า การมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นมงคล ซึ่งแต่ละที่ แต่ละสมัยก็ยึดถือต่าง ๆกันไป ไม่มีอะไรแน่นอนของบางอย่างบางที่ถือเป็นมงคล บางที่อาจถือว่าเป็นอัปมงคลก็ได้             ๒. มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า มงคลทำ  ยึดถือเอาการปฏิบัติฝึกฝนตนเองเป็นเกณฑ์ เป็นสัจจธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ใดปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้ผลแน่นอนมงคลของนักคิดนั้น มีผู้เสนอขึ้นมาแล้ว  ก็มีผู้โต้แย้งลบล้างไป แล้วก็มีผู้เสนอขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อย  ๆ จนหาข้อยุติไม่ได้         แต่มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อทรงแสดงแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถหาเหตุผลลบล้างได้ แม้พระองค์จะทรงเปิดโอกาสให้คัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ ได้ตลอดเวลาดังความในบทสรรเสริญพระธรรมคุณที่ว่า "เอหิปัสสิโก     "ใบไม้ที่ห่อหุ้มปลาเน่า ย่อมต้องพลอยเหม็นแปดเปื้อนไปด้วยฉันใดผู้ที่คบคนพาล ก็ย่อมต้องพลอยเสียชื่อเสียง ติดความเป็นพาลเดือนร้อนเสียหายไปด้วยฉันนั้น" คนพาลคือใคร?  คนพาล คือ คนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ เป็นผลให้มีความเห็นผิด ยึดถือค่านิยมผิด ๆ และมีวินิจฉัยเสีย คือ ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่วอะไรควรอะไรไม่ควร เช่น บัณฑิตเห็นว่า"เหล้า" เป็นของจัญไรทำให้ขาดสติ นำความเสื่อมมาให้นานัปการแต่คนพาลกลับเห็นว่า "เหล้า" เป็นของประเสริฐเป็นเครื่องกระชับมิตร  หรือบัณฑิตเห็นว่า "การเล่นไพ่" เป็นอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหาย แต่คนพาลกลับเห็นว่า "การเล่นไพ่"เป็นสิ่งดี  เป็นการฝึกสมองซ้อมวิชาคำนวณ ดังนี้เป็นต้น  คนพาลเป็นคนเหมือนกับเรา คือมีร่างกายประกอบด้วยเลือดเนื้อเช่นเดียวกับเรา  และอาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเราก็ได้เช่น เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยา ครู  อาจารย์  ฯลฯ อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง อาจมีสมัครพรรคพวกมากแม้กระทั่งอาจบวชเป็นพระภิกษุ ฯลฯ  แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีความสัมพันธ์กับเราหรือไม่ ขึ้นชื่อว่าพาลแล้ว ถึงแม้จะมีความรู้  มีความสามารถก็ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร เพราะเขาแสลงต่อความดี เหมือนคนไข้แสลงต่อน้ำเย็น ลักษณะของคนพาล          เนื่องจากคนพาลมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมใจให้คิดไปในทางที่ถูกต้องได้ คนพาลจึงมีลักษณะวิปริตผิดจากคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ  ๑. ชอบคิดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดละโมบอยากได้ในทางทุจริต คิดพยาบาทปองร้าย คิดเห็นผิดเป็นชอบ ฯลฯ  ๒. ชอบพูดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่  พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดยุยง  พูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ  ๓. ชอบทำชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย  ได้แก่  เกะกะเกเร ชอบล้างผลาญชีวิตคนและสัตว์ ลักทรัพย์ ฉุดคร่าอนาจาร ฯลฯ โทษของความเป็นคนพาล ๑.มีความเห็นผิด ก่อทุกข์ให้ตนเอง ๒.เสียชื่อเสียง ถูกติฉิมนินทา ๓.ไม่มีคนนับถือ ถูกเกลียดชัง ๔.หมดสิริมงคลหมดสง่าราศี ๕.ความชั่วเภทภัยทั้งหลาย จะไหลเข้ามาหาตัว ๖.ทำลายประโยชน์ของตนเองทั่วโลกนี้และโลกหน้า ๗.ทำลายวงศ์ตระกูลของตนเอง ๘.เมื่อละโลกไปแล้วมีอบายภูมิเป็นที่ไป วิธีสังเกตคนพาล คนพาลมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้ คือ     ๑.คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด ชัก  คือ  ชักชวน เชิญชวน  ชี้ชวน หรือ เสนอแนะ นำ คือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น ชักชวนหนีโรงเรียน ชักชวนไปปล้นจี้ ชักชวนหนีตามกันไป ชักนำไปเป็นอันธพาล ฯลฯ การชักนำนี้อาจทำด้วยความหวังดีก็ได้ แต่ว่ามันผิด เช่นได้เงินมาก็ชักชวนเพื่อนไปเลี้ยงเหล้าเที่ยวกลางคือ อย่างนี้ก็จัดว่าเป็นคนพาล  ผู้ที่ยังเยาว์วัยอ่อนความคิด อ่อนสติ มักถูกชักนำได้โดยง่าย ผู้ใหญ่ในบ้านจึงควรระมัดระวังการกระทำ และคำพูดทั้งของตนเองและผู้ที่มาติดต่อคบหา เพราะเด็กมักจะจำ และทำตามอย่าง     ๒.คนพาลชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เกะกะเกเรหน้าที่การงานของตนไม่พยายามจัดการให้เรียบร้อย แต่ชอบไปก้าวก่ายหน้าที่การงานของผู้อื่น เช่น จับผิดผู้ร่วมงาน เขียนบัตรสนเท่ห์ กลั่นแกล้ง  รังแก ทำความรบกวนให้เดือดร้อน ฯลฯ     ๓.คนพาลชอบแต่สิ่งผิด ๆ ชอบถือเอาสิ่งที่ชั่วว่าเป็นดี เช่น ชอบค้าของเถื่อน ชอบหนีโรงเรียน  ชอบเถียงพ่อแม่ ฯลฯ เห็นคนทำถูกเป็นคนเซ่อเห็นคนกลัวผิดเป็นคนเซอะ  ฯลฯ     ๔.คนพาลแม้พูดดีๆ ก็โกรธ เช่น เตือนให้ดูหนังสือตอนใกล้สอบ ก็โกรธ เตือนให้ตื่นเช้าก็โกรธ แค่มองหน้าบางครั้งก็ยังโกรธ ฯลฯ     ๕.คนพาลไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย เช่น  ไม่ชอบข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทิ้งขยะบนพื้นถนน ไปทำงานสาย ฯลฯ พฤติการณ์ที่เรียกว่า"คบ"  คืออย่างไร ? คบ หมายถึง พฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ ร่วม เช่น ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมก่อการ ร่วมพวก รับ เช่น รับเป็นเพื่อน รับเป็นภรรยาหรือสามี รับไว้ทำงาน ให้ เช่น ให้ความไว้วางใจ ให้คำชมเชย  ให้ยศให้ตำแหน่ง ให้หยิบยืมสิ่งของ   การไม่คบคนพาล คือ การไม่ยอมมีพฤติกรรมสัมพันธ์ใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นกับคนพาล ถ้าเรายังคบคนพาลอยู่ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตามรีบถอนตัวเสียโดยด่วน  อย่าประมาทรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม มิฉะนั้นจะพลาดติดเชื้อพาลโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นพาลตามไปด้วย โบราณท่านให้คติเตือนไว้ว่า "ห่างสนุขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์" โทษของการคบคนพาล ๑.ย่อมถูกชักนำไปในทางที่ผิด ๒.ย่อมเกิดความหายนะการงานล้มเหลว ๓.ย่อมถูกมองในแง่ร้าย ไม่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป ๔.ย่อมอึดอัดใจ เพราะคนพาลแม้เราพูดดี ๆด้วยก็โกรธ ๕.หมู่คณะย่อมแตกความสามัคคี เพราะการยุยงและไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย ๖.ภัยอันตรายต่างๆ ย่อมไหลเข้ามาหาตัว ๗.เมื่อละโลกแล้ว ย่อมมีอบายภูมิเป็นที่ไป ประเภทของคนพาล คนพาลมี ๒ ประเภท ได้แก่ ๑.พาลภายนอก  คือคนพาลทั่วไป ซึ่งแม้จะร้ายกาจเพียงใด เราก็ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่มีพาลอีกประเภทหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือ พาลภายใน ๒.พาลภายใน คือ ตัวเราเองขณะที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว  เช่น หนีงานบ้าง เที่ยวเกเร ไม่ยุ่งธุระคนอื่นโดยใช่เหตุบ้าง แกล้งไปทำงานสายบ้าง  คนอื่นเตือนดี ๆ ก็โกรธบ้าง  หลีกเลี่ยงวินัยบ้าง  พูดไม่ไพเราะบ้าง ครั้งใดที่เราทำเช่นนี้ ครั้งนั้นเราเองนั่นแหละ คือตัวพาล มีเชื้อสายพาลอยู่ใน ต้องรีบแก้ไข หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ๑.หวั่นห้ามใจตนเองจากความชั่วแม้เพียงเล็กน้อย ก่อนที่มันจะลุกลามต่อไป เช่น การนอนตื่นสาย การละเลยต่อการสวดมนต์ทำสมาธิก่อนนอน ๒.อย่าตามนึกถึงความชั่ว ความผิดพลาดในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่น ผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป ตั้งใจทำความดีใหม่ให้เต็มที่ ๓.ตั้งใจให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ๔.หลีกเลี่ยงการอ่าน การฟัง การพูด เรื่องเกี่ยวกับคนพาล จะได้ไม่สะสมความคิดเกี่ยวกับพาลไว้ในใจ พยายามสะสมแต่ความคิดที่ดีงามโดยการอ่าน การฟัง การพูด แต่สิ่งที่ดีงาม เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ สนทนาธรรม  พูดถึงคนที่ทำคุณความดี ฯลฯ ๕.ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้คนพาลอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เช่นทำงานในที่เดียวกัน เป็นญาติพี่น้องกันในกรณีเช่นนี้เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า  เรากำลังอยู่ใกล้สิ่งที่เป็นอันตราย เหมือนอยู่ใกล้คนเป็นโรคติดต่อ ต้องระวังตัว คือ ระวังความเป็นพาลของเขาจะมาติดเราเข้า ต้องหมั่นทำทาน รักษาศีลทำสมาธิ เพื่อให้ในผ่องใสอยู่เสมอ  เราต้องระลึกเสมอว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า การปราบพาลภายในตัวเราเอง อานิสงส์การไม่คบคนพาล ๑.ทำให้ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ๒.ทำให้สามารถรักษาความดีเดิมไว้ได้ ๓.ทำให้สามารถสร้างความดีใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก ๔.ทำให้ไม่ถูกคนพาลทำร้าย ๕.ทำให้ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกใส่ความ ๖.ทำให้ไม่ถูกมองในแง่ร้าย ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป ๗.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว ๘.ทำให้มีความสุขทั้งตนเอง  ครอบครัวและประเทศชาติ ๙.เป็นการตัดกำลังไม่ให้เชื้อพาลระบาดไป  เพราะขาดคนสนับสนุน "ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง เมื่อใดบาปให้ผลคนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น" (พุทธพจน์)     "ผ้าที่ห่อหุ้มของหอม ย่อมพลอยหอมตลบอบอวลตามไปด้วยฉันใด  ผู้ที่คบบัณฑิต ก็ย่อมพลอยได้รับความรู้ ความสามารถ และความดีตามบัณฑิตไปด้วยฉันนั้น" บัณฑิตคือใคร  ? บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติวิสัย ทำให้มีความเห็นถูกยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง  สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา     -เป็นผู้รู้ดี  คือ  รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว     -เป็นผู้รู้ถูก คือ  รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด     -เป็นผู้รู้ชอบ คือ รู้ว่าอะไรบุญอะไรบาป  บัณฑิต อาจเป็นใครก็ได้ เช่น  อาจเป็นผู้อ่านหนังสือไม่ออก อาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้ทีมีการศึกษาสูง  อาจเป็นญาติของเรา  ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใสและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นคนดีนั่นเอง  คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญานั้นคือ บัณฑิต แท้จริงนั่นเป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้น  ยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริงเพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว ถ้าความประพฤติไม่ดี อาจไปทำผิดติดคุกติดตะรางได้ แต่บัณฑิตที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบประกอบแต่ความดี  ความถูกต้อง ความสุจริตสามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกจากตะรางและแม้กระทั่งจากนครได้ "บัณฑิตมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา แต่คือผู้อุดมศีล สมาธิ ปัญญา" ลักษณะของบัณฑิต  เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ     ๑.ชอบคิดดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น     ๒.ชอบพูดดีเป็นปกติวิสัย  ได้แก่พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดถูกต้องตามกาลเทศะและพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา     ๓.ชอบทำดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ เว้นการฆ่ากัน ไม่ลักขโมย  ไม่ประพฤติผิดในกาม พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น องค์คุณของบัณฑิต ๑.กตัญญู รู้อุปการะคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน ๒.อัตตสุทธิ  ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป ๓.บริสุทธิ์ ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป ๔.สังคหะ สงเคราะห์แต่ชุมชนทั้งหลาย วิธีสังเกตบัณฑิต บัณฑิต มักกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ ๑.บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นการพนัน  ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอนให้รักษาศีล ให้ทำมาหากินในทางสุจริต  เป็นต้น ๒.บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใคร  ๆ เร่งรีบทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ปล่อยงานให้คั่งค้างและไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น เว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้องหรือเพื่ออนุเคราะห์ ๓.บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น  ชอบพูดและทำตรงไปตรงมาชอบสนทนาธรรม รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแต่ตนเองและต่อผู้อื่นเป็นต้น ๔.บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธ มีนิสัยถือเอาความถูก ความดีและความมีประโยชน์เป็นที่ตั้งไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น  แต่เห็นว่าผู้ที่ตักเตือนคนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้น โดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่าหากมีผู้อื่นเข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบแล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เขาเข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นและเย็นใจให้แก่ทุกคน ๕.บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัย รักที่จะปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่า วินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริงทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวายจริง ทำให้เกิดความประหยัดจริง ฯลฯจึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาดรกรุงรัง วิธีคบบัณฑิต ๑.หมั่นไปมาหาสู่ ๒.หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ ๓.มีความจริงใจ ให้ความเกรงอกเกรงใจต่อท่าน ๔.ฟังคำแนะนำ คำพูดของท่าน (ฟังธรรม) ๕.จำธรรมที่ได้ฟังนั้นไว้ ๖.พิจารณาใจความของธรรมที่จะได้นั้นให้ดี ๗.พยายามปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟัง ประเภทของบัณฑิต บัณฑิตมี ๒ ประเภท ได้แก่ ๑.บัณฑิตภายนอก คือบุคคลทั่วไปไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ๒.บัณฑิตภายใน คือ ตัวเราขณะที่คิดดี พูดดี และทำดีนั่นเอง ดังนั้นการคบบัณฑิตภายในก็คือ การพยายามฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีสติรำลึกถึงแต่ความคิดดี ๆ เป็นไปเพื่อความสร้างสรรค์ คำพูดดี ๆ เป็นเพื่อยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น และการกระทำดี ๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ซึ่งทำได้โดยการหมั่นทำทาน รักษาศีล และทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ อานิสงส์การคบบัณฑิต ๑.ทำให้จิตใจผ่องใส สามารถทำความดีตามไปด้วย ๒.ทำให้ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นคนหนักแน่น มีเหตุผล ๓.ทำให้มีความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฐิ ๔.ทำให้ไม่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะทำผิด ๕.ทำให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป ๖.ทำให้มีความสุข ปลอดภัยจากอุปสรรคภัยพาลต่าง ๆ ๗.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว ๘.ทำให้แม้ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ๙.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย “แท้จริง บุคคลผู้มีปกติเที่ยวสมคบคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ในกาลทุกเมื่อ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนบัณฑิตมีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ เพราะเหตุนั้นแล นรชนพึง คบบัณฑิต ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต เอาการเอางาน มีศีล มีวัตร ไกลจากกิเลส และเป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น” (พุทธพจน์)   "ต้นไม้เมื่อยังเล็กเป็นต้นกล้าอยู่  จำเป็นต้องมีหลักค้ำประกันไม่ให้ล้ม รากขาด ตายเสียก่อนฉันใด ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้า ก็จำเป็นต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชาไว้เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูก เป็นหลักใจ ป้องกันความเห็นผิดและอกุศลกรรมต่าง ๆ มิให้ย้อนกลับกำเริบขึ้นมาอีกฉันนั้น"   การบูชาคืออะไร ?  การบูชา คือ การยกย่อง เชิดชู เลื่อมใส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจไม่เสแสร้งแกล้งทำ หมายถึงกิริยาอาการสุภาพ ที่เราแสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้า เป็นการแสดงให้ท่านทราบว่าเรามีความเคารพและตระหนักในคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของท่านอย่างจริงใจ การแสดงลับหลัง เป็นการเตือนใจตัวเราเอง ให้ผูกใจไว้กับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากกระทำตาม ใจเราจะได้ยกสูงขึ้นเสมอ ๆ ไม่เลื่อมไหลไปในทางชั่วร้าย  การบูชา เป็นอุบายอย่างหนึ่งสำหรับฝึกใจที่ยังหยาบกระด้างเพราะไม่อาจยอมรับคุณความดีของผู้อื่น ให้ละเอียดอ่อนลง ผู้ที่ยังด้อยปัญญายังไม่เข้าใจในคุณธรรมความดีของผู้ที่ควรบูชานัก แต่หากไม่เคยชินกับการบูชาแล้วในที่สุดย่อมสามารถเล็งเห็นคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของผู้ที่เราบูชาได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นการบูชาอย่างแท้จริงอยากทำความดีตามท่านบ้าง ผู้ใหญ่จึงควรสอนบุตรหลานให้รู้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยเป็นการปุลูกศรัทธาตั้งแต่เล็ก ๆ  บุคคลที่ควรบูชา คือ บุคคลที่มีคุณความดีควรค่าแก่การระลึกนึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา สูงกว่าเรานั่นเอง ซึ่งประมวลสรุปได้ดังนี้ ๑. พระพุทธเจ้า เป็นบัณฑิตที่ประเสริฐสุดในโลก ทรงไว้ด้วยพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ จัดเป็นบุคคลควรบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ๒.พระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีมีปฏิบัติชอบก่อน แล้วจึงสอนให้ผู้อื่นประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตามอย่างบ้าง จัดเป็นบุคคลควรบูชาของพุทธศาสนิกชน ๓.พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชาจัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของประชาชน ๔.บิดามารดา และญาติผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิตอยู่ในฐานะสูงเกินกว่าจะคบ จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา หรือปูชนียบุคคลของบุตรหลาน ๕.ครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิต อยู่ในฐานะที่สูงเกินกว่าศิษย์จะคบหา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของศิษย์ ๖.ผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  ฯลฯ  บัณฑิตที่มีเพศ ภาวะ สูงเกินกว่าที่จะคบในฐานะผู้เสมอกันได้ล้วนจัดเป็น บุคคลที่ควรแก่การบูชาทั้งสิ้น  วัตถุที่เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ ก็จัดเป็นวัตถุที่ควรบูชาอีกเช่นกัน เพราะเมื่อเราบูชาวัตถุเหล่านี้ ก็ทำให้ระลึกนึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่วัตถุนี้ความเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างคือ     ๑.วัตถุที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถาน     ๒.วัตถุที่เนื่องด้วยพระสงฆ์ เช่น พระธาตุ รูปพระสงฆ์สาวก     ๓.คำสั่งสอน รูปภาพของบิดา มารดา ของครูบาอาจารย์ ของผู้บังคบบัญชา ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งใจประพฤติธรรมเป็นบัณฑิตจัดเป็นวัตถุที่ควรบูชาทั้งสิ้น การแสดงออกถึงความบูชา ๑.ทางกาย ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรือประกอบกิจใด ๆ ก็อยู่ในอาการสำรวม เมื่ออยู่ต่อหน้าท่านหรือสัญลักษณ์ตัวแทนท่าน เช่น รูปปั้นภาพถ่าย ๒.ทางวาจา สรรเสริญยกย่องคุณความดีของท่านทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่น การสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย การนำความดีของท่านไปสรรเสริญ ฯลฯ ๓.ทางใจ ตามระลึกนึกถึงคำสอนของท่านด้วยความเคารพและซาบซึ้ง ประเภทของการบูชา การบูชาในทางปฏิบัติมี ๒ ประเภท คือ     ๑.อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่นบุตรระลึกถึงคุณของบิดามารดา ศิษย์ระลึกถึงคุณของอาจารย์ จึงบูชาด้วยการนำทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ ฯลฯ ไปมอบให้ เป็นต้น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูปเที่ยน ก็จัดเป็นอามิสบูชาเช่นกัน     ๒.ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ตามคำสอน ตามแบบอย่างที่ดีของท่าน เช่น พยายามกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตามคำสอนของท่าน การปฏิบัติบูชานี้ จัดเป็นการบูชาที่สูงสุด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้กาย วาจา ใจ ใสสะอาดเป็นบัณฑิตตามท่านได้โดยเร็ว ข้อเตือนใจ  สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือนักปฏิบัติธรรม ถึงระลึกเสมอว่าสิ่งที่เราจะเรียนรู้นั้น ถ้าเราเทอดทูนบูชา ตั้งใจประคองรักษาอย่างดี ไม่นำไปล้อเลียน หรือพูดเล่น ผลของการศึกษาเล่าเรียนตลอดจนการปฏิบัติธรรมของเรา ย่อมจะมีความเจริญก้าวหน้าประสบผลสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์  ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เคารพ ลบหลู่ครูอาจารย์ และสิ่งที่จะเรียนรู้ความเข้าใจ ความซาบซึ้งที่จะปฏิบัติตามคำสอนก็หมดไป เกิดความรู้สึกไม่อยากบูชา หรือไม่ศรัทธา ใจที่ควรจะตรึกนึกธรรมะหรือบทเรียนต่าง ๆ ก็ มืดมิด เป็นการปิดกั้นหนทางที่จะเข้าถึงปัญญา อันจะเป็นแสงสว่างส่องนำวิถีชีวิตให้ก้าวไปในทางที่ถูกที่ควร ที่ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ข้อควรระวัง  อย่าบูชาสิ่งที่ไม่ควรบูชา เพราะจะชักนำไปสู่ความงมงายหลงผิดจิตใจขุ่นมัวเป็นพาลไป ซึ่งทำได้ดังนี้ ๑.ไม่บูชาคนพาล คือ ไม่ยกย่อง ไม่เชิดชู ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่ว่าคนพาลนั้นจะมียศศักดิ์สถานภาพสูงส่งเพียงไรก็ตาม ๒.ไม่บูชาสิ่งที่เนื่องด้วยคนพาล เช่น รูปภาพ รูปปั้น ผลงาน สิ่งของ เครื่องใช้ของคนพาล ๓.ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้ว ไม่ทำให้เกิดสิริมงคล ไม่ทำให้เกิดปัญญา เช่น รูปภาพดารา นักร้อง นักกีฬาที่ไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ภาพโฆษณาเกี่ยวกับอบายมุข ฯลฯ อย่านำมาประดับบ้านเรือน ๔.ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วโง่ เช่น ต้นไม้ใหญ่ ภูเขาสูง ศาลพระภูมิ คนทรง ภูตผีปีศาจ ลูกรอก ฯลฯ กราบ ๓ อย่าง วิธีการบูชาพระพุทธรูปที่ใช้กันมาก คือ การกราบ ซึ่งมีหลายประเภท คือ     ๑.ยิ่งกราบยิ่งเมื่อย คือ พวกที่เห็นคนอื่นกราบพระก็กราบตามเขาโดยไม่รู้ความหมายทำลวก ๆ เหมือนลิงไหว้เจ้า ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรเมื่อยเปล่า     ๒.ยิ่งกราบยิ่งโง่ คือ พวกที่กราบพระแล้วขอในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น กราบพระขอหวย หรือไม่ดูหนังสือแล้วกราบพระขอให้สอบได้     ๓.ยิ่งกราบยิ่งฉลาด คือ พวกที่กราบพระแล้วยึดถือพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่น      กราบครั้งที่ ๑ ระลึกถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณา เห็นทุกข์ และคิดค้นวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เป็นเพราะพระองค์ทรงศึกษาธรรมและฝึกสมาธิมามากจึงมีใจใสสว่าง จนสามารถ ตรัสรู้ปราบกิเลสในตัวได้หมด เราก็ต้องตั้งใจหมั่นฝึกสมาธิศึกษาธรรม ตามอย่างพระองค์ด้วย      กราบครั้งที่ ๒ ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้งหลายโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะพระองค์ทรงฝึกหัดให้ทานช่วยเหลือสัตว์โลก มานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ เราก็ต้องตั้งใจหมั่นให้ทาน มีความกรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นตามอย่างพระองค์ด้วย      กราบครั้งที่ ๓ ระลึกถึงพระวิสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพราะพระองค์ทรงรักษาศีลมากไม่เคยให้ร้ายแก่ใครเลยเป็นตัวอย่างใน การรักษาศีลได้อย่างดี เราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างพระองค์ด้วย อานิสงส์การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑.ยังความเห็นถูกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ๒.ยังความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ๓.ทำให้มีกิริยามารยาท สุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ ๔.ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะตรึกอยู่ในกุศลธรรมเสมอ ๕.ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้น เพราะมีความสำรวมระวังเป็นการป้องกันความประมาท ๖.ป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะตระหนักอยู่เสอมว่าผู้ที่มีคุณธรรมสูง กว่าตนยังมีอยู่ ๗.ทำให้เกิดกำลังใจและอานุภาพอย่างมหาศาล สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยพาลต่าง ๆ ได้ ๘.เป็นการกำจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อมเพราะมีแต่คนบูชาบัณฑิตผู้มีคุณธรรม ๙.เป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่น ทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญกรณียกิจได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น       "ต้นโพธิ์ต้นไทร หากปลูกไว้ในกระถาง ถึงจะไม่ตาย ก็ต้องกลายเป็นไม้แคระแกร็น แต่ถ้านำไปปลูกในที่ดินดี มีบริเวณกว้างขวาง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็โตวันโตคืน กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่  เช่นกัน คนเราหากตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลว ถึงจะมีความรู้ความสามารถก็ยากที่จะเอาดีได้ แต่ถ้าอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมแล้ว ก็สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย"   ถิ่นที่เหมาะสมหมายถึงอย่างไร ?  ถิ่นที่เหมาะสม หมายถึง ถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพกายและใจ ยิ่งกว่านั้น ยังสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัย สามารถประกอบกิจการงานในหน้าที่อันเป็นสัมมาอาชีพ ให้เจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย และสร้างสมคุณงามความดีได้เต็มที่  ถิ่นที่เหมาะสม มีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงถิ่นที่อยู่ทุกระดับ เช่น บ้านที่เราอาศัย โรงเรียนที่เราเรียน สถานที่ที่เราทำงาน หมู่บ้านชุมชนที่เราอยู่ ตำบลที่เราตั้งหลักฐาน อำเภอ จังหวัด ประเทศ ทวีป วิธีอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ๑.เมื่อเรายังเป็นเด็ก หรือเมื่อยังมีความสามารถน้อย ควรแสวงหาถิ่นที่เหมาะสมอยู่อาศัยให้ได้จึงจะเจริญ เช่น เสาะหาโรงเรียนดี ๆ ที่ทำงานดี ๆ ทำเลปลูกบ้านดี ๆ จะบวชก็หาวัดดี ๆ ๒.เมื่อเป็นผู้ใหญ่ หรือ มีความรู้ความสามารถเพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องพยายามพัฒนาถิ่นที่เราอยู่ให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เราอยู่ สถานที่ที่เราทำงานหรือชุมชนที่เราอยู่อาศัยก็ตาม โดยยึดหลักการพัฒนาให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมดังนี้ ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสม ๑.อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดี เช่น ถ้าเป็นบ้านก็ต้องให้มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก ถ้าเป็นโรงเรียนก็ต้องมีลุขลักษณะดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอึกทึก มีบริเวณกว้างขวาง มีสนามกีฬา ถ้าเป็นที่ตั้งร้านค้า ก็ต้องเป็นบริเวณที่อยู่ในย่านชุมชน การคมนาคมสะดวก ถ้าเป็นจังหวัดหรือภาคก็ต้องเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ดี เช่น ไม่ลุ่มไม่ดอนเกินไป ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เป็นต้น  ๒.อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารกินได้สะดวก เช่น อาจอยู่ใกล้ตลาด บริเวณที่มีการเกษตรกรรมสามารถผลิตอาหารได้เองพอเพียง ๓.บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บริเวณที่อยู่นั้นต้องไม่มีนักเลงอันธพาล ดจรผู้ร้ายไม่ชุกชุม คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า  ๔.ธรรมะเป็นที่สบาย      -ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมีโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับให้ความรู้ได้อย่างดี ตลอดจนมีหลักการปกครองที่ดีอีกด้วย      -ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาส ผู้รู้ธรรมเป็น บัณฑิต สามารถให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรมได้อย่างดี หรือถิ่นที่พุทธศาสนาแผ่ ไปถึง สามารถให้ทานรักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญสมาธิภาวนาได้เป็นนิจ ลำดับความสำคัญของปัจจัยทั้ง ๔ ประการ องค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ประการ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้ ธรรมเป็นที่สบาย  สำคัญอันดับ ๑ บุคคลเป็นที่สบาย  สำคัญอันดับ ๒ อาหารเป็นที่สบาย  สำคัญอันดับ ๓ อาวาสเป็นที่สบาย  สำคํญอันดับ ๔  เพราะถึงแม้อาวาสจะไม่เป็นที่สบาย แต่ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็ยังพออยู่ได้ หรือถ้าอาวาสและอาหารไม่เป็นที่สบาย แต่บุคคลเป็นที่สบายแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงอาหารและอาวาสให้เป็นที่สบาย แต่บุคคลจะเป็นที่สบายได้ก็ต้องมีธรรมเป็นที่สบายอยู่ในจิตใจเสียก่อน  ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุนพื้นที่เป็นเกาะ มีภัยธรรมชาติจากพายุพัดภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อย ๆ พื้นที่ก็น้อย (อาวาสไม่เป็นที่สบาย) เดินอาหารการกินก็ไม่เพียงพอ (อาหารไม่เป็นที่สบาย) แต่เนื่องจากประชากรของเขามีประสิทธิภาพ ขยันขันแข็ง มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า (บุคคลเป็นที่สบาย) และมีหลักในการปกครองประเทศที่ดี มีความรักชาติ (ธรรมะในทางโลกเป็นที่สบาย) จึงเป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเจิรญรุ่งเรือง จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้  ส่วนประเทศไทย มีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง (อาวาสเป็นที่สบาย) อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ (อาหารเป็นที่สบาย) แต่ที่ยังขาดอยู่ คือ คนของเรายังขาดวินัย ยังมีความมานะพากเพียรไม่เพียงพอ แม้เราชาวไทยจะมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเหนี่วจิตใจ แต่ทว่าเรายังเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวอยู่มาก ยังไม่นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติมากเท่าที่ควร ทำให้ความเจริญของเรายังล้าหลังประเทศอื่นอยู่มาก  ดังนั้น ถ้าพวกเราทั้งหลายร่วมใจกันพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีความขยันขันแข็ง ใฝ่หาความก้าวหน้าอยู่เสมอ นำหลักธรรมในพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นที่หวังได้ว่าชาติไทยของเรา จะมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ข้อเตือนใจ  ในหลาย ๆ ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุมาก ประชาชนได้รับความสะดวกสะบายในเรื่อง เครื่องอุปโภค บริโภค หางานทำได้ง่าย เก็บเงินทองได้มาก ดูเผิน ๆ แล้วน่าไปอยู่อาศัยมาก แต่อย่าไปอยู่เลย เพราะธรรมะไม่เป็นที่สบาย โอกาสที่ผู้อยู่อาศัยจะสร้างความก้าวหน้าทางใจ โอกาศที่จะสร้างบุญบารมีมีน้อย คนอยู่ในประเทศเหล่านั้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงแต่งานไม่เคยไม่นึกถึงการทำบุญทำทาน การรักษาศีล หรือการทำสมาธิภาวนาเลย หรือบางครั้งนึกถึงแต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้ ดังนั้น ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายไปแล้วจากคุณงามความดี  ในประเทศไทยเรา แม้ความเจริญทางด้านวัตถุ อาจจะยังล้าหลังแต่ด้านธรรมะยังเจริญอยู่มาก เรายังมีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้เต็มที่ มีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ได้เต็มที่ มีโอกาสสร้างบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ วิธีทำบ้านให้น่าอยู่ ๑.ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ มีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก ๒.เลือกซื้อ เลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัย แม่บ้านหัดทำอาหารให้เป็น ๓.จูงใจคนในบ้านให้มีศีลธรรม มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความขยันหมั่นเพียร โดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม ๔.ชักนำกันไปวัดฟังเทศน์ ฝึกสมาธิ รักษาศีล เป็นประจำ จัดบ้านให้มีอุปกรณ์ เครื่องเสริมสร้างทางใจ เช่น มีหนังสือธรรมะ มีห้องพระ หรือหิ้งพระ กำจัดภาพและหนังสือที่ไม่เหมาะสมออกให้หมด เช่น ภาพหรือหนังสือลามก เป็นต้น อานิสงส์การอยูในถิ่นที่เหมาะสม ๑.ทำให้ได้รับความสุขกาย สุขใจ เต็มที่ ๒.ทำให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม ๓.ทำให้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ทั้งทาน ศีล ภาวนา ๔.ทำให้ได้รู้พระสัทธรรม คือ ได้ศึกษาธรรมะ ๕.ทำให้ได้การเห็นอันประเสริฐ คือ ได้เห็นพระรัตนตรัย ๖.ทำให้ได้ฟังธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗.ทำให้ได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย ๘.ทำให้ได้การศึกษาอันประเสริฐ คือ ได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา ๙.ทำให้ได้การบำรุงอันประเสริฐ คือ ได้บำรุงพุทธศาสนา ๑๐.ทำให้ได้การระลึกอันประเสริฐ คือ ใจระลึกผุกพันอยู่กับพระรัตนตรัย ๑๑.ทำให้ได้นิสัยไม่ประมาท โดยดูตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ๑๒.ทำให้ได้ที่พึ่งอันสูงสุด คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๑๓.ทำให้ได้อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ของพระอริยเจ้า ได้แก่ หนทางสู่พระนิพพาน       "ผลไม้พันธุ์เลว ถึงจะใส่ปุ๋ย รดน้ำพรวนดิน บำรุงรักษาดีอย่างไรก็ตามอย่างมากก็ทำให้มีผลดกขึ้นบ้าง แต่จะทำให้มีรสโอชาขึ้นกว่าเดิมนั้นยาก ตรงกันข้าม ผลไม้พันธุ์ดี แม้รดน้ำพรวนดินเพียงพอประมาณ ก็ให้ผลมากเกินคาด รสชาติก็โอชา"  เช่นกัน ผู้ที่ไม่ได้สร้างสมคุณความดีมาก่อน เมื่อประกอบกิจใด ๆ ถึงขยันขันแข็งสักปานไหน ผลแก่งความดีกว่าจะปรากฎเต็มที่ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและเสียเวลามาก ส่วนผู้ที่สะสมคุณความดีมาก่อนเมื่อทำความดี ผลดีปรากฎเต็มที่ทันตาเห็น ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าเหนือกว่าบุคคลทั้งหลาย ได้อย่างน่าอัศจรรย์  บุญคืออะไร ?  บุญ คือ สิ่งซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิดใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ก้าวขึ้นสู่ภูมิที่ดี เกิดขึ้นจากการที่ใจได้เพื่อนคิดที่ดี คือ พระธรรม ทำให้เลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร ที่เป็นประโยชน์แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น  บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลปรุงแต่งใจของเราให้มีคุณภาพดีขึ้น คือ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่องสว่างไสว โปร่งโล่งไม่อึดอัด อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระส่าย ชุ่มชื่นเบาสบาย ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด นุ่มนวลควรแก่การใช้งาน และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสมเก็บไว้ในใจได้อีกด้วย  ผู้ที่ฝึกสมาธิจนเข้าถึงธรรมกาย และฝึกจนชำนาญแล้ว ย่อมสามารถมองเห็นบุญได้ คนทั่วไปแม้จะมองไม่เห็น “บุญ” แต่ก็สามารถรู้อาการของบุญ หรือผลของบุญได้ คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้จิตใจชุ่มชื่น เป็นสุข เปรียบได้กับ “ไฟฟ้า” ซึ่งเรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าโดยตรง แต่เราสามารถสัมผัสกับอาการของไฟฟ้าได้ เช่น มองเห็นแสงสว่างจากหลอดไฟ ได้รับความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น คุณสมบัติของบุญ ๑.ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้ ๒.นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้ ๓.ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ ๔.เป็นของเฉพาะตน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้ ๕.เป็นที่มาของโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ๖.ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้ ๗.เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ๘.เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสงสาร ประเภทของบุญในกาลก่อน  บุญในกาลก่อนแบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่ ๑.บุญช่วงไกล คือ คุณความดีที่เราทำจากภพชาติก่อน มาจนถึงวันคลอด ๒.บุญช่วงใกล้ คือ คุณความดีที่เราในภพชาติปัจจุบัน ตั้งแต่คลอดจนถึงเมื่อวานนี้  บุญช่วงไกล การสั่งสมความดีมาแต่ภพชาติก่อน ส่งผลให้เห็นในปัจจุบันเปรียบเสมือนผลไม้ที่คัดพันธุ์มาดีแล้ว รสโอชะของมันย่อมติดมาในเมล็ด เมื่อนำเมล็ดนั้นมาปลูก ต้นของมัน ย่อมให้ผลที่รสอร่อยทันทีโดยไม่ต้องทะนุบำรุงมาก คนเราก็เช่นกัน ถ้าในอดีตชาติสะสมความดีมามากพอเกิดมาในชาตินี้ก็เป็นคนใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์ มาตั้งแต่เด็ก มีสติปัญญาดีมาแต่กำเนิด รูปร่าง สง่างาม ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสได้สร้างความดีได้มากกว่าคนทั้งหลายถ้าไม่ประมาทหมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าประมาทไม่เอาใจใส่ในการทำความดีในปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ยอดด้วย ยากที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้  บุญช่วงใกล้ คนที่ทำความดีตั้งแต่เล็กเรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร คบคนดีเป็นมิตร ฝึกใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าผุ้อื่น  เพราะฉะนั้นเราจึงควรสะสะสมบุญ โดยทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้จะได้ส่งผลให้มีสติปัญญาดี มีความเฉลียวฉลาด มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไป ในอนาคต ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงทำความดี สร้างสมบารมีมามากนับภพนับชาติไม่ถ้วน ในภพชาติสุดท้าย ก็ทรงฝึกเจริญสมาธิภาวนาศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เยาว์ จึงสามารถตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมื่อพระชนม์เพียง ๓๕ พรรษา ผลของบุญ  บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีผลกับตัวเรา ๔ ระดับ คือ ๑.ระดับจิตใจ เป็นบุญที่เกิดผลทันที คือ ทำความดีปุ๊บก็เกิดปั๊บไม่ต้องรอชาติหน้า เกิดขึ้นเองในใจของเราทำให้ -สุขภาพทางใจดีขึ้น คือ มีใจเยือกเย็น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อคำยกยอ หรือตำหนิติเตียน -สมรรถภาพของใจดีขึ้น คือ เป็นใจที่สะอาด ผ่องใส ใช้คิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ว่องไว ลึกซึ้ง กว้างไกล รอบคอบ เป็นระเบียบ และตัดสินใจได้ฉับพลันถูกต้องไม่ลังเล ๒.ระดับบุคลิกภาพ คนที่ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีใจที่สงบ แช่มชื่น เบิกบาน ชุ่มเย็น นอนหลับสบาย ไม่มีความกังวลหม่นหมอง หน้าตาผิวพรรณจึงผ่องใส ใจเปี่ยมไปด้วยบุญไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือนร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือเขา จึงมีความมั่นใจในตัวเอง มีความองอาจสง่างามอยู่ในตัว ไปถึงไหนก็สามารถวางตัวได้พอเหมาะพอดี บุคลิกภาพย่อมดีขึ้นเป็นลำดับ ๓.ระดับวิถีชีวิต วิถีชีวิตของคนเรา เกิดจากการสรุปผลบุญและผลบาป ที่เราได้ทำมาตั้งแต่ภพชาติก่อน ๆ จนถึงภพชาติปัจจุบัน เป็นผลของบุญระดับจิตใจ และระดับบุคลิกภาพ รวมกันชักนำให้เราได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาตอบสนองมาจากภายนอก เช่น ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การที่เราทำดีแล้ววิถีชีวิตของเราจะดีเต็มที่หรือไม่นั้น ขึ้นกับบุญเก่า หรือบาปในอดีต ที่เราเคยทำไว้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ทำให้บางคนเข้าใจผิด คิดว่าทำดีแล้ว ไม่ได้ดี เพราะบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเคราะห์กรรม ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี  แท้จริงแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลัง ทำอยู่ปัจจุบันย่อมไม่ไร้ผล เมื่อเราตั้งใจทำบุญไปโดยไม่ย่อท้อ บุญย่อมจะส่งผลให้ในเวลาที่สมควรต่อไป ๔.ระดับสังคม เมื่อเราทำความดีมาแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปอยู่สังคมใด บุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือได้เป็นผู้นำของสังคมนั้น และจะเป็นผู้ชักนำสมาชิกในสังคมให้ทำความดีตามอย่าง ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น ความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้น ๆ โดยลำดับ ตัวอย่างผลของบุญ ผู้ที่มีอายุยืน  เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์ ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์ เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหารมามาก ผู้ทีมีผิวพรรณงาม  เพราะในอดีตรักษาศีล และให้ทานด้วยเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มมามาก ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดีก็ อนุโมทนา ไม่อิจฉาริษยาใคร ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก  เพราะในอดีตให้ทานมามาก ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามาก ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิ เจริญ ภาวนามามากและไม่ดื่มสุรายาเมา วิธีทำบุญ  การทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และนำไปปฏิบัติเราสามารถแบ่งวิธีทำบุญออกได้ ๑๐ วิธีเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ได้แก่     ๑.ทาน  คือ การบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้     ๒.ศีล  คือ การสำรวมกายวาจา ให้สงบเรียบร้อย     ๓.ภาวนา   คือ การสวดมนต์ ทำสมาธิ อ่านหนังสือธรรม ฯลฯ     ๔.อปจายนะ คือ การมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม     ๕.เวยาวัจจะ คือ การช่วยเหลือขวนขวายในกิจที่ชอบ     ๖.ปัตติทานะ คือ การอุทิศส่วนบุญแก่ผู้อื่น     ๗.ปัตตานุโมทนา คือ การอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ     ๘.ธัมมัสสวนะ คือ การฟังธรรม     ๙.ธัมมเทศนา คือ การแสดงธรรม     ๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การปรับปรุงความเห็นของตนให้ถูกต้อง ทั้ง ๑๐ ประการนี้ สรุปลงได้เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ     -ทาน  คือ ๑,๕,๖,๗  เป็นการฆ่าความตระหนี่ออกจากใจ     -ศีล คือ ๒ เป็นการป้องกันตนไม่ให้ทำชั่ว     -ภาวนา คือ ๓,๔,๘,๙,๑๐ เป็นการฝึกตัวเองให้ฉลาด “แข่งบุญแข่งวาสนาใช่ว่าแข่งไม่ได้ แต่ถ้าแข่งแล้วไซร้ต้องแข่งด้วยการทำความดี” บุญวาสนาเป็นอภินิหาร ?  บุญวาสนไม่ใช่อภินิหาร แต่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลดังตัวอย่างคนที่จิตสั่งสมแต่บาปหรือความชั่ว จะทำให้ใจมือมัว กิเลสต่าง ๆ เข้ายึดครองใจได้ง่าย ทำให้ผลร้ายต่อตนเอง เช่น เวลาโกรธจัด ความโกรธเข้ายึดครองใจทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติระบบสูบฉีดเลือดผันแปรโลหิตมีการเผาไหม้มากเกิดอาการ้อนผ่าวตั้งแต่หน้าอกจรดใบหน้า ปลายประสาทสั่น ความร้อนจะทำให้ผิวหยาบกร้าน ไม่มีน้ำมีนวล อาหารไม่ย่อยท้องอืด คนโกรธง่ายจึงเป็นคนเจ้าทุกข์ หงุดหงิด พูดจาห้วนแบบมะนาวไม่มีน้ำเวลาโกรธจะขาดสติ คิดอ่าน การใดก็ผิดพลาดได้ง่าย  ส่วนคนที่จิตสั่งสมแต่บุญหรือความดี จะทำให้ใจผ่องใสอยู่เป็นปกติกิเลสต่าง ๆ เข้ายึดครองใจได้ยาก เพราะมีสติคอยควบคุมใจไว้คอยสอนตนเองไม่ให้ทำความชั่วได้ สามารถตักเตือนตนเองได้ จึงมีจิตใจที่สงบเยือกเย็น สดชื่นผ่องใส ระบบการทำงานของร่างกายก็เป็นปกติ มีผิวพรรณงาม เสียงไพเราะ กิริยาน่ารัก คิดอ่านการใดก็แจ่มใส ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ง่าย ข้อเตือนใจ  เมื่อทราบว่า การทำบุญเป็นการสั่งสมความดีไว้เพื่อตนเองแล้วจึงไม่ควรประมาทในการทำบุญ ควรทำบุญเท่าที่กำลังความสามารถจะอำนวยผู้ที่ได้สั่งสมบุญมาดีแล้วแต่เพิกเฉยในการทำบุญเพิ่ม เปรียบเสมือนชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วแจกจ่ายขายกินหมด ไม่เหลือไว้ทำพันธุ์ต่อไปภายหน้าเลยเขาย่อมเดือดร้อนในฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป  ความดีทุกอย่างที่เราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาก็ไม่สูญเปล่าความดีเหล่านั้นจะรวมกันเข้าปรุงแต่งจิตใจให้ดีขึ้น สิ่งนี้แหละคือ “บุญวาสนา”  เราจึงควรเร่งสร้างความดีเสียแต่บัดนี้ โดยหมั่นศึกษาวิชาการ ฝึกฝนตนเองทั้งทางด้านการปรับปรุงคำพูด ความขยันขันแข็ง ทำการงานให้ดีขึ้นและพยายามฝึกใจให้ผ่องใส ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ คนเช่นนี้ จึงเป็นคนมีบุญวาสนาที่แท้จริง หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  เราต้องเร่งสร้างบุญใหม่ตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นบุญเก่าติดตัวไปในวันหน้า โดยยึดหลักว่า ๑.เช้าใดยังไม่ได้ให้ทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งกินข้าว ๒.วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน ๓.คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา คืนนั้นอย่าเพิ่งเข้านอน  เราต้องอดทน ฝึกตนให้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องกระทบกระทั่งสิ่งใด มีอุปสรรคมากเพียงไหน ก็ปักใจมั่นไม่ย่อท้อ กัดฟันสู้ตั้งใจทำความดีเรื่อยไป “น้ำหยดทีละหยด ยังสามารถเต็มตุ่มได้ฉันใด บุญที่เราหมั่นสะสมทีละน้อย ก็ย่อมสามารถเต็มบริบูรณ์ ส่งผลให้เราอย่างเต็มที่ได้ฉันนั้น อานิสงส์การมีบุญวาสนามาก่อน ๑.ทำให้มีปัจจัยต่าง ๆ พร้อม สามารถทำความดีใหม่ได้โดยง่าย ๒.อำนวยประโยชน์ทุกอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว ๓.เป็นต้นเหตุแห่งความสุขทุกประการ ๔.เป็นเสบียงติดตัวทั้งภพนี้ ภพหน้า     "เรือที่ฝ่าคลื่นอยู่กลางสมุทร จะแล่นถึงฝั่งได้ นายเรือจะต้องตั้งจุดหมายปลายทางไว้ถูกต้อง และรู้จักควบคุมหางเสือให้เรือวิ่งไปไม่ผิดทิศทาง ฉันใดคนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ก็จะต้องตั้งตนชอบฉันนั้น"  ตั้งตนชอบ หมายถึงอย่างไร ?  ตั้งตนชอบ หมายถึง การตั้งเป้าหมายชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมไว้ถูกต้องแล้วประคับประคองตน ให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้นด้วยความระมัดระวัง การตั้งตนชอบ เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่น ตั้งเป้าหมายนั้นด้วยความระมัดระวัง การตั้งตนชอบ เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่นตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นโจรที่ปล้นเก่งที่สุด หรือจะเป็นนักผลิตเฮโรอีนที่เก่งที่สุดแล้วพยายามดำเนินชีวิตไปตามนั้น คน ๆ นั้นก็ไม่มีทางที่จะมีความสุขความเจริญก้าวหน้าได้ ถึงจะไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถได้มากเพียงไรก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะความรู้ความสามารถนั้น ๆ ล้วนเป็นไปเพื่อยังความพินาศให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้น  ผู้ที่รักความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตให้ถูกต้องก่อน จากนั้นจึงไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถ พากเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องนั้นให้ได้  อะไรคือเป้าหมายชีวิต ? เป้าหมายของคนทุกคนแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ๑.เป้าหมายชีวิตขั้นต้น คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล จะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ วิศวกร ชาวนา ชาวไร่ หรือ อื่น ๆ ได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงให้เป็นอาชีพสุจริตก็แล้วกัน และเมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตไว้แล้ว ก็มุมานะฝึกฝนตนเองสร้างตัวให้บรรลุเป้าหมายชีวิตนั้นให้ได้ “หนูตัวเล็ก ๆ ยังสู้อุสส่าห์ขุดรูอยู่ นกกระจิบกระจอกยังสู้อุสส่าห์สร้างรัง เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องสร้างฐานะให้ให้ได้” ๒.เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุก ๆ โอกาสที่อำนวยให้เพื่อสะสมเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์โลกทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่อีกอยู่ร่ำไป  คนบางคนคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ชาติหน้าเลย คิดแต่จะหาทรัพย์จะตั้งฐานะให้ได้ โดยไม่ประกอบการบุญการกุศล เราลองคิดดูว่า ชีวิตของคนประเภทนี้ จะมีคุณค่าสักเพียงไรตั้งแต่เกิดก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยง โตขึ้นหน่อยก็เรียนหนังสือหาความรู้ ครั้นโตขึ้นอีกก็ทำงาน มีครอบครัว เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดิ้นรนหาสิ่งต่าง ๆ มาบำรุงบำเรอตน แล้วก็แก่เฒ่าตายไป ดูพวกนกกา ตั้งแต่เล็กมันก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยงสอนบิน สอนให้รู้จักหาอาหาร โดขึ้นก็แยกรังไปมีครอบครัว หาอาหารมาเลี้ยงลูกเลี้ยงตัว หาความสุขตามประสานกกา แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน ถ้ามีชีวิตอยู่เพียงเท่านี้  ก็มีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับนกกา  แต่นี่เราเป็นคน ซึ่งมีโครงร่างที่เหมาะแก่การใช้ทำความดีมากที่สุด ดังนั้น นอกจากความพยายามตั้งฐานะในชาตินี้ให้ได้แล้ว เราทุกคนจึงควรที่จะรู้จักสร้างคุณค่าแก่ชีวิตด้วยการตั้งใจทำความดี ประกอบการบุญการกุศลอย่างเต็มที่เผื่อไว้เป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ และเป็นปัจจัยในการบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตขึ้นสูงสุด ๓.เป็นหมายชีวิตขั้นสูงสุด คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบ เพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นแล้วเข้าพระนิพพาน ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายจะได้มีแต่ความสุขอันเป็นอมตะตลอดไป ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีก  โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อถึงที่สุดย่อมหมดกิเลสเข้าพระนิพพานไปด้วยกันทุกคน ต่างแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น ในช่วงที่ยังไม่หมดกิเลสนี้ก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ ทุก ๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีกใครสามารถเข้าพระนิพพานได้ก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฎสงสารต่อไป  แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้าพระนิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อสละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้าพระนิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุดพระองค์ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้าพระนิพพานอันบรมสุขได้  ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไหล เกะ ๆ กะ ๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่าคือการเข้าพระนิพพานบ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อน ทำ ๆ หยุด ๆ จึงจ้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้  ฉะนั้น ถ้าใครฉลาด ก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคงไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีลเจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์ เข้าพระนิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง  “จงอย่างประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา” “ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจดหมาย ปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือ จุดหมายปลายทางแล้วก็ควรใส่ใจขวนขวาย “  อุปสรรค  คนบางคน เริ่มแรกก็ตั้งเป้าหมายชีวิตดีอยู่ เช่น ตั้งใจจะทำมาหากินโดยสุจริต แต่กำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ ครั้นทำไปทำไปเริ่มรู้สึกว่ารวยช้าไม่ทันใจ เป้าหมายชีวิตชักเขว ลงท้ายเลยไปคดโกงคนอื่นเขา ต้องติดคุกติดตะรางไป หรือบางคนตั้งใจจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา แต่พอถูกคนอื่นเย้าแหย่บ้าง ล้อเลียนบ้าง เจอสิ่งยั่วยุมากเข้ามากเข้าเลยเลิกปฏิบัติธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส  ทำอย่างไร เราจึงจะป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ทำอย่างไร จึงจะรักษาเป้าหมายชีวิตของเราไว้ให้มั่นคง  วิธีรักษาเป้าหมายชีวิตให้มั่นคง ๑.ฝึกให้เป็นคนมีศรัทธา ได้แก่ มีเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ การเชื่อมี ๒ แบบ คือ      ๑.๑ เชื่ออย่างมีเหตุผล ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ศรัทธา”      ๑.๒ เชื่ออย่างไร้เหตุผล ปราศจากปัญญา เรียกว่า “งมงาย” ศรัทธาขั้นพื้นฐาน ๓ ประการ คือ     -เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์     -เชื่อในกฎแห่งกรรม เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยการทำดีนั้นจะต้องทำ ให้ครบองค์ประกอบสามประการ คือต้องทำให้          ถูกดี คือ มีปัญญาสามารถทำถูกวัตถุประสงค์ของงานนั้น        ถึงดี คือ มีความพยายามที่จะทำงานนั้นให้เต็มตามความสามารถ          พอดี คือ มีสติดี ไม่ทำจนเลยเถิดไป เผื่อเหนียวมากไปจนเกิดความเสียหาย จึงจะได้ดี     -เชื่อในผลของกรรมว่าสามารถติดตามบุคคลผู้ทำนั้นตลอดไป ๒.ฝึกให้เป็นคนมีศีล อย่างน้อยศีล ๕ ๓.ฝึกให้เป็นคนมีความรู้ เป็นพหูสูต คือ หมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ๔.ฝึกให้เป็นคนมีจาคะ คือ รู้จักเสียสละ การเสียสละแบ่งเป็น      ๔.๑ สละทรัพย์สิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลาย      ๔.๒ สละอารมณ์บูดเป็นทาน คือ ละอารมณ์โกรธ พยาบาทให้เป็นอภัยทาน ทำให้ใจผ่องใสเบิกบานเป็นปกติ ๕.ฝึกสมาธิภาวนาเพื่อให้ใจผ่องใส เกิดปัญญา ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเพราะจะเห็นได้ว่า เหตุทำให้เป้าหมายชีวิตของเราคลอนแคลนนั้นเป็นเพราะใจของเราขาดความมั่นคง ทนต่อความยั่วยุไม่ได้ แต่การฝึกสมาธิภาวนาเป็นการฝึกใจโดยตรง ทำให้ใจเรามีพลัง มีความหนักแน่นเข้มแข็ง ในการรักษาเป้าหมายชีวิตไว้ได้โดยสมบูรณ์  การฝึกทั้ง ๕ ประการนี้ นิยมเรียกว่า สารธรรม แปลว่า “ธรรมที่เป็นแก่น” ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นคนที่มีแก่นคนอย่างแท้จริง สามารถตั้งตนชอบได้ อานิสงส์การตั้งตนชอบ ๑.เป็นผู้สามารถพึ่งตนเองได้ ๒.เป็นผู้ไม่ประมาท ๓.เป็นผู้เตรียมไว้ดีแล้วก่อนตาย ๔.เป็นผู้มีความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน ๕.เป็นผู้บูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด ๖.เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ ๗.เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ๘.เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ ๙.เป็นผู้มีแก่นคน สามารถตักตวงประโยชน์จากชีวิตได้เต็มที่ ๑๐.เป็นผู้ได้รับสมบัติทั้ง ๓ โดยง่าย คือ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ     "แสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางไกลฉันใด ความเป็นพหูสูตก็เป็นสิ่งจำเป็นในการบุกเบิกสร้างความเจริญให้แก่ชีวิตฉันนั้น"   พหูสูต หมายถึง “ความเป็นผู้ฉลาดรู้” คือผู้ที่รู้จักเลือกในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังมามาก และเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิตและเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และทุกสิ่งที่ เราปรารถนา ความแตกต่างระหว่างบัณฑิตและพหูสูต  บัณฑิต คือ ผู้มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติดีงาม ไม่ว่าจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตาม บัณฑิตจะใช้ความรู้นั้น ๆ สร้างประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน ไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด  พหูสูต คือ ผู้มีความรู้มาก แต่คุณธรรมความประพฤติยังไม่แน่ว่าจะดียังไม่แน่ว่าจะดี ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้ ถ้าใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปทำชั่ว เช่น เอาความรู้เคมีไปผลิตเฮโรอีน ก็อาจตกนรกได้  ลักษณะของพหูสูต คือ ๑. รู้ลึก หมายถึง รู้เรื่องราวไปหาเหตุในอดีต ลึกซึ้งถึงความเป็นมา เช่น แพทย์เมื่อเห็นอาการก็สามารถรู้ว่าเป็นโรคอะไรรู้ไปถึว่าที่เป็นโรคนี้เพราะเหตุใด หรือช่างเมื่องเห็นอาการเครื่องยนต์ที่เสียก็สามารถบอกได้ทันทีว่าเครื่องนั้นเสียที่ไหน เป็นเพราะอะไร เป็นต้น ๒. รู้รอบ หมายถึง ช่างสังเกต รู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว  สภาพภูมิประเทศดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชน ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว สภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชน ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว สิ่งที่ควรรู้ต้องรู้ ๓. รู้กว้าง หมายถึง สิ่งรอบตัว แต่ละอย่างที่รู้ก็รู้อย่างละเอียดรู้ถึงความเกี่ยวพันของสิ่งนั้นกบสิ่งอื่น ๆ ด้วย คล้ายรู้รอบแต่เก็บรายละเอียดมากขึ้น ๔. รู้ไกล หมายถึง มองการณ์ไกล รู้ถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เช่น เห็นสภาพดินฟ้าอากาศก็รู้ทันทีว่าปีนี้พืชผลชนิดใดจะขาดแคลน เห็นพฤติการณ์ ของผู้ร่วมงานไม่น่าไว้วางใจก็รู้ทันทีว่า เขากำลังจะคิดไม่ซื่อ เห็นตนเองเริ่มย่อหย่อนต่อการปฏิบัติธรรมก็รู้ทันทีว่าถ้าทิ้งไว้เช่นนี้ต่อไปตนก็จะเสื่อมจากกุศลธรรม ฯลฯ  ผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ ๔ ประการนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรมจึงจะเป็นพหูสูตที่แท้จริง คุณสมบัติของพหูสูต หรือนักเรียน นักศึกษาที่ดี     ๑.พหุสฺสุตา ความตั้งใจฟัง คือมีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลัก “เรียนจากครู ดูจากตำรับ สดับปาฐะ”     ๒.ธตา ความตั้งใจจำ คือมีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำ คนที่ความจำไม่ดี เพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้น ถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามบ่อย ๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อย ๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี     ๓.วจสา ปริจิตา ความตั้งใจท่อง คือต้องฝึกท่องให้คล่องปากท่องจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วจัดเจน ไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจทุกข้อกระทงความให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนวิชาการทางโลกยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญ และหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย     ๔.มนสานุเปกขา ความตั้งใจขบคิด คือใส่ใจนึกคิด ตรึกตรองสาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอด พิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด     ๕.ทิฏฐิยา สุปฏิวิทฺธา ความแทงตลอดด้วยปัญญา คือเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามตราบใดที่ยังไม่ได้ฝึกสมาธิอย่างจริงจังคุณสมบัติข้อนี้ จะเกิดไม่เต็มที่  ลักษณะผู้ที่เป็นพหูสูตไม่ได้ ๑.คนราคจริต คือ คนขี้โอ่ บ้ายอ เจ้าแง่แสนงอน รักสวยรักงาม พิถีพิถันจนเกินเหตุ มัวแต่งอน มัวแต่แต่งตัวจนไม่มีเวลาท่องบ่น ค้นคว้าหาความรู้ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นนึกถึงความตาย พิจารณาซากศพอสุภะเนือง ๆ ๒.คนโทสจริต คือ คนขี้โมโห ฉุนเฉียว โกรธง่าย ผูกพยาบาทมากมัวแต่คิดโกรธแค้นจนไม่มีเวลาไตร่ตอง พวกนี้แต้โดยให้หมั่นรักษาศีลและแผ่เมตตาเป็นประจำ ๓.คนโมหจริต คือ คนสะเพร่า ขี้ลืม มักง่าย ทำอะไรไม่พยายามเอาดีสักแต่ให้เสร็จ สติไม่มั่นคง ใจกระด้างในการกุศล สงสัยในพระรัตนตรัยว่ามีคุณจริงหรือไม่ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ๔.คนขี้ขลาด คือ พวกขาดความเชื้อมั่นในตนเอง ไม่กล้าลงมือทำอะไร กลัวถูกติ คอยแต่จะเป็นผู้ตาม ไม่มีความคิดริเริ่ม พวกนี้แก้โดยให้คบกับคนมาตรฐาน คือ คบบัณฑิต จะอ่าน จะทำอะไรก็ให้จับให้ทำแต่สิ่งที่เป็นมาตรฐานไม่สักแต่ว่าทำ ๕.คนหนักในอามิส คือ พวกบ้าสมบัติ ตีค่าทรัพย์ว่ามากกว่าความรู้ทำให้ไม่ขวนขวายในการแสวงหาปัญญาเท่าที่ควร ๖.คนจับจด คือ พวกทำอะไรเหยาะแหยะไม่เอาจริง ๗.นักเลงสุรา คือพวกขี้เมา ขาดสติ หมดหนทางที่จะเรียนรู้ ๘.คนที่มีนิสัยเหมือนเด็ก คือ พวกชอบเอิกเกริกสนุกเฮฮาจนเกินเหตุ ไม่มีความรับผิดชอบ วิธีฝึกตนเองให้เป็นพหูสูต ๑. ฉลาดเลือกเรียนแต่สิ่งที่ควร ๒. ตั้งใจเรียนวิชาที่ตนเลือกอย่างเต็มความสามารถ ๓. มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ๔. เมื่อเรียนแล้วก็จำไว้เป็นอย่างดี พร้อมจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ได้ทันที ข้อเตือนใจ     ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ควารู้ทางธรรมะจะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร  ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวยมีอำนวจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคล ประเภทเอาตัวไม่รอด โปรดจำไว้ว่า “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด ๆ”  เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมและรู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่า การงานที่ตนตับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้ จะเป็นเสมือนดวงประทีป ส่องให้เห็นทางเบื้องหน้าที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย อานิสงส์การเป็นพหูสูต ๑.ทำให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ ๒.ทำให้ได้ความเป็นผู้นำ ๓.ทำให้แกล้วกล้าองอาจในทุกที่ทุกสถาน ๔.ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ๕.ทำให้ได้รับคำชมเชย ได้รับความยกย่องเกรงใจ ๖.ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นสหชาติปัญญาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป ๗.เป็นพื้นฐานของศิลปะ และความสามารถอื่น ๆ ต่อไป ๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย         "เราปลูกมะม่วง จะอิ่มจะรวยอยู่ที่ผลของมัน ช่วงแรกที่ปลูก มีลำต้นกิ่งใบ เป็นเพียงระยะเตรียมตัวเพื่อที่จะได้ผล เช่นเดียวกัน ความรู้ทุกอย่างหรือความเป็นพหูสูตที่เรามีอยู่ เป็นเพียงการเตรียมตัวเท่านั้น จะช่วยเราได้จริง ต่อเมื่อเรามีศิลปะ สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างดีเท่านั้น"   ศิลปะคืออะไร ? ศิลปะ แปลว่า ฉลาดทำ คือ ทำเป็นนั่นเอง  พหูสูตนั้นเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้ในหลักวิชา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรทำอย่างไร ส่วนศีลปะ เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้  คนที่มีความรู้นั้น ไม่ใช่ว่าจะมีศีลปะทุกคน เช่นรู้วิธีหุงข้าว ว่าจะต้องเอาข้าวสารใส่หม้อซาวข้าว แล้วใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟ น้ำเดือดสักพักก็รินน้ำข้าวออกดงให้ระอุอีกครู่หนึ่ง ก็คดข้าวออกมากินได้ นี่คือหลักวิชา แต่คนที่รู้เพียงเท่านี้ไม่แน่นักว่าจะหุงข้าวกินได้ทุกคน อาจจะได้ข้าวดิบบ้าง แฉะบ้าง ไหม้บ้าง เพราะ ไม่มีศิลปะในการหุงข้าว ฉลาดรู้แต่ยังไม่ฉลาดทำ  เรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะขับรถยนต์ เตะตะกร้อ ว่ายน้ำ ทำกับข้าว ลองดูก็ได้ว่า ถ้ารู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียวจะทำได้หรือไม่ ประเภทของศิลปะ ทางกาย คือ ฉลาดทำการช่างต่าง ๆ เช่น ช่างทอ ช่างเครื่อง ช่างวาด ช่างออกแบบ ช่างปั้น ช่างภาพ ช่างพิมพ์ รวมทั้งฉลาดในการทำอาชีพอื่น ๆ เช่น การทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชผัก การเขียนหนังสือ การตรวจคนไข้ ตลอดจนถึงการยืน เดิน นั่ง นอน อย่างมีมารยาท การแต่งตัวให้เหมาะสม การต้อนรับแขก การแสดงความเคารพ การสำรวมกายก็จัดเป้นศิลปะทั้งสิ้น ทางวาจา คือ ฉลาดในการพูด มีวาทศิลป์ รู้จักเลือกพูด แต่สิ่งที่ดีเป็นประโยชน์สามารถยกใจของผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้นได้ ทางใจ คือ ฉลาดในการคิดมีสติสัมปชัญญะ สามารถควบคุมความคิดให้คิดไปในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์ คิดในทางที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยย่อ ศิลปะ จึงหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น องค์ประกอบของศิลปะ สิ่งที่ทำแล้วจัดว่าเป็นศิลปะ ต้องประกอบด้วยองค์ ๖ ดังนี้ ๑.ทำด้วยความประณีต ๒.ทำให้สิ่งของต่าง ๆ มีค่าสูงขึ้น ๓.ทำแล้วส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ๔.ทำแล้วไม่ทำให้กามกำเริบ ๕.ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดพยาบาทกำเริบ ๖.ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดเบียดเบียนกำเริบ คุณสมบัติของผู้สามารถมีศิลปะ ๑.ต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำว่าเป็นสิ่งดีจริง มีประโยชน์จริง มีใจรักที่จะทำ และมีความตั้งใจมั่นว่าเป็นสิ่งดีจริง มีประโยชน์จริง มีใจรักที่จะทำ และมีความตั้งใจมั่นว่าจะต้องทำให้เสร็จ ๒.ต้องไม่เป็นคนขี้โรค รู้จักระวังรักษาสุขภาพของตัวเอง ๓.ต้องไม่เป็นคนขี้โม้ขี้คุย คนโอ้อวดไม่มีใครอยากสอน ไม่มีใครอยากแนะนำ คนพวกนี้มัวแต่อวด มัวแต่คุย จนไม่มีเวลาฝึกฝีมือตัวเอง ๔.ต้องไม่เป็นคนขี้เกียจ มีความมานะพากเพียร อดทน ๕.ต้องเป็นคนมีปัญญา รู้จักพินิจพิจารณาช่างสังเกต วิธีฝึกตนให้มีศิลปะ ๑.ฝึกตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาจุดเด่นของสิ่งรอบตัว ๒.ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่มาถึงตนให้ดีที่สุด อย่าดูถูกงาน อย่าเกี่ยวงาน ๓.ตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความประณีต ละเอียดลออ ๔.ตั้งใจปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ ไม่ทำอะไรอย่างชุ่ย ๆ ขอไปที ๕.หมั่นใกล้ชิดกับผู้มีศิลปะอย่างแท้จริงในสายงานนั้น ๆ ๖.ฝึกสมาธิอยู่เสมอ เพื่อให้ใจสงบผ่องใส เกิดปัญญาที่จะฝึกและปรับปรุงตนเอง ให้มีคุณสมบัติของผู้มีศิลปะได้ ข้อควรระวัง  อย่าเอาแต่จับผิดผู้อื่น ไม่เช่นนั้นตัวเราจะกลายเป็น “ศิลปินนักติ” คือ ดีแต่ติผลงานของผู้อื่นเรื่อยไป ติคนอื่นไว้มาก เลยไม่กล้าแสดงฝีมือ เพราะกลัวคนอื่นจะติเอาบ้าง สุดท้าย เลยกลายเป็นคนไม่มีผลงาน ทำอะไรไม่เป็น อานิสงส์การมีศิลปะ ๑.ทำคนให้เป็นคน ๒.ทำคนให้ดีกว่าคน ๓.ทำคนให้เด่นกว่าคน ๔.ทำคนให้เลิศกว่าคน ๕.ทำคนให้ประเสริฐกว่าคน ๖.ทำคนให้สูงกว่าคน ๗.ทำคนให้เลี้ยงตัวได้ ๘.ทำคนให้ฉลาด ๙.ทำคนให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ๑๐.ทำคนให้ประเสริฐ ๑๑.ทำคนให้ได้รับความสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า ๑๒.ทำโลกให้เจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ “ผุ้มีศิลปะแม้เพียงอย่างเดียว ก็สามารถเลี้ยงชีพได้โดยง่าย” (พุทธพจน์)     "คาบคมที่ไร้ฝัก ลูกระเบิดที่ไม่มีสลักนิรภัย ย่อมเกิดโทษแก่เจ้าของได้ง่าย ฉันใด “ความรู้” และ “ความสามารถ” ถ้าไม่มีวินัยกำกับแล้ว ก็จะมีโทษแก่ผู้เป็นเจ้าของได้ ฉันนั้น ช่างดาบทำฝักดาบไว้กันอันตราย ช่างทำระเบิดก็ทำสลักนิรภัยไว้เช่นเดียวกัน เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนพุทธศาสนิกชน ให้เป็นคนฉลาดรู้ ฉลาดทำแล้ว จึงทรงสั่งสำทับด้วยว่า ต้องมีวินัย " วินัยคืออะไร ?  วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ข้อบังบับสำหรับควบคุมความประพฤติทางกายของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกัน ด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ให้ห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย  การอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งและลักลั่นก็จะเกิดขึ้น ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่อง ไม่มีความสงบสุข การงานที่ทำก็จะเสียผล  ถ้าประชาชนแต่ละคนเป็นเสมือนดอกไม้แต่ละดอก ดอกไม้ทั้งหลายเหล่านี้จะด้อยค่าลง หากวางอยู่ระเกะระกะกระจัดกระจาย ทั้งยังทำให้รกรุงรังอีกด้วย แต่เมื่อเรานำดอกไม้เหล่านี้มาร้อยรวมเข้าด้วยกันด้วยเส้นด้ายดอกไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นพวงมาลัยอันงดงามเหมาะที่จะนำไปใช้ประดับตกแต่งให้ เจริญตาเจิรญใจ เส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้ให้รวมกันอยู่อย่างมีระเบียบงดงามนั้นเปรียบเสมือนวินัย  วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคมคน ให้คนเราใช้ความรู้ ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร คือทำให้เป็นคน “ฉลาดใช้” นั่นเอง ชนิดของวินัย ตัวเรามีของสำคัญ ๒ อย่าง คือ ชีวิต กับ จิตใจ ชีวิต ของเราขึ้นอยู่กับระบบโลก ต้องพึ่งโลกชีวิตจึงจะเจริญ จิตใจ ของเราขึ้นอยู่กับระบบธรรม ต้องพึ่งธรรม จิตใจจึงจะเจริญ เพื่อให้ชีวิตและจิดใจ เจริญทั้ง ๒ ทาง เราจึงต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกันทั้ง ๒ ด้านด้วย  ผู้ที่ฉลาดรู้ ก็ต้องศึกษาให้รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม  ผู้ที่ฉลาดทำ ก็ต้องทำให้เป็นให้ถูกต้อง ทั้งทางโลกและทางธรรม เช่นกัน ผู้ที่ฉลาดใช้ ก็ต้องมีวินัยทางโลกและวินัยทางธรรมคอยช่วยกำกับ ความรู้ และความสามารถเอาไว้  วินัยทางโลก หมายถึงระเบียบสำหรรับควบคุมคนในสังคมแต่ละแห่งเป็นข้อตกลงของคนในสังคมนั้นที่จะให้ทำหรือไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่างซึ่งบางครั้งเราก็เรียกชื่อแยกแยะออกไปหลายอย่าง เช่น กฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎข้อบังคับ ระเบียบ ธรรมเนียมประเพณี คำสั่ง ประกาศ กติกา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า วินัยทางโลกทั้งสิ้น วินัยทางธรรม  เนื่องจากเราชาวพุทธ มีทั้งคฤหัสถ์และบรรชิต ดังนั้นวินัยทางศาสนาจึงมี ๒ ประเภท คือ ๑. อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ออกบวช ได้แก่ วินัยของพระภิกษุ ๒.อาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ครองเรือน หรือประชาชนชายหญิงทั่ว ๆ ไป อนาคาริยวินัย  จุดมุ่งหมายสูงสุดของนักบวช คือความหมดกิเลส ผู้จะหมดกิเลสได้ต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง ผู้จะมีปัญญาอย่างยิ่งได้จะต้องมีสมาธิอย่างยิ่ง ผู้จะมีสมาธิอย่างยิ่งได้ จะต้องตั้งอยู่บนฐานของศีลอย่างยิ่ง คืออนาคาริยวินัย ๔ ประการอันเป็นพื้นฐานของความบริสุทธิ์ ได้แก่  ก. ปาฏิโมกขสังวร คือ การสำรวมอยู่ในศีล ๒๒๗ ข้อที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงให้ปฏิบัติ  ข. อินทรียสังวร คือ การรู้จักสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เพลิดเพลินไปกับอารมณ์อันน่าใคร่ อันเกิดจากการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และการรับรู้อารมณ์ทางใจ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิมอะไรไมควรถูกต้องสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส และอะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด  ค.อาชีวปาริสุทธสังวร คือ การหาเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ได้แก่ การบิณฑบาต สำหรับการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่นการหาลาภสังการะด้วยการใบ้หวย การเป็นหมดดู การเป็นพ่อสื่อแม่ชัก การประจบชาวบ้านจัดเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัย  ง. ปัจจัยปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณาก่อนที่จะบริโภคหรือใช้ปัจจัย ๔ ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เหมือนน้ำมันหยอดเพลารถให้รถแล่นไปได้เท่านั้น  พิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมบรรเทาความหลง ความมัวเมาในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ ยารักษาโรคได้ ทำให้กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน  เมื่อแรกเริ่ม พระพุทธศาสนายังไม่มีการบัญญติวินัย เพราะพระภิกษุยังมีจำนวนน้วย และทุกรูปต่างก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดทราบดีว่าอะไรเป็นสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ ต่อมาพระภิกษุมีจำนวนมากขึ้นและมีผู้ประพฤติไม่ค่อยดีหลงเข้ามาบวชด้วย ไปทำสิ่งที่ไม่สมควรขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญติวินัยขึ้นทีละข้อ วินัยทุกข้อในพระพุทธศาสนาจึงมีที่มาทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่นวินัยข้อแรกในพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อสุทิน ได้ย้อนกลับไปร่วมหลับนอนกับภรรยาเก่า เพราะบิดามารดาขอร้องเพื่อให้มีทายาทไว้สือสกุล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยข้อที่ ๑ ขึ้นว่า “ห้ามเสพเมถุน” วัตถุประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญติวินัย ๑.เพื่อรองรับความตั้งอยู่ดีของหมู่สงฆ์ ๒.เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก หน้าด้าน ๓.เพื่อความสุขสำราญแห่งหมู่สงฆ์ ๔.เพื่อความสุขสำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๕.เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๖.เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในอนาคต ๗.เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๘.เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๙.เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑๐.เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย อาคาริยวินัย  วินัยสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ที่สำคัญ คือ ศีล ๕ ศีลคืออะไร ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคนเป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์  ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืน ไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีผน ถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตกแสดงว่าผิดปกติ อะไรคือปกติของคน ? ๑.ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติของคนแต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์ เช่น เสือ หมี ปลา ฯลฯ ซึ่งฆ่ากันเป็นปกติเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๑ จึงเกิดขึ้นมาว่า คนจะต้องไม่ฆ่า ๒.ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนันเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น เพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๒ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ยักยอก คดโกง ๓.ปกติของสัตว์ ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผสมพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๓ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ประพฤติล่วงในกาม ๔.ปกติของสัตว์ไม่มีความจริงใจต่อใคร พร้อมที่จะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้น เราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกันถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป เพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๔ จึงเกิดขึ้นว่าคนจะต้องไม่พูดเท็จ ๕.ปกติแล้วสัตว์มีกำลังร่างกายแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกาย ให้เป็นกำลังความดีได้ มีแต่ความป่างเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหารมาเลี้ยง พ่อ แม่ ของมัน แต่อย่างใด  ส่วนคนแม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อย ๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญญูกตเวที เมื่อโตขึ้นก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้  สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งววันสติก็ยังดี ทำงานทั้งเดือนไม่ได้พักสติก็ยังดี นอนป่วยบนเตียงทั้งปีสติก็ยังดี แต่สติกลับเปื่อยยุ่ย ทันทีถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้า สุราเพียงครึ่งแก้วอาจทำผู้อื่นให้สติฟั่นเฟือนถึงกับลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพรคุณได้ หมดความสามารถในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมา จึงมีสภาพผิดปกติคือ มีสถาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ  เพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๕ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่เสพของมึนเมาให้โทษ ศีลทั้ง ๕ ข้อ คือ     ๑.ไม่ฆ่า     ๒.ไม่ลัก     ๓.ไม่ล่วงในกาม     ๔.ไม่หลอกลวง     ๕.ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ  จึงเกิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึกและเกิดขึ้นพร้อมกับโลกเพื่อรักษาความปกติสุขของโลกไว้ ศีล ๕ มีมาก่อนพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเข้ามาไว้ในพระพุทธศาสนาและชี้แจงถึงความจำเป็นของการมีศีลให้ทราบ ดังนั้นศีลจึงไม่ใช่ข้อห้ามตามที่คนจำนวนมากเข้าใจ นอกจากนี้ศีลยังใช้เป็นเครื่องวัดความเป็นคนได้อีกด้วย      วันใดเรามีศีลครบ ๕ ข้อ แสดงว่าวันนั้นเรามีความเป็นคนบริบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์     ถ้ามีศีลเหลือ ๔ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๒๐ เปอร์เซ็นต์     ถ้ามีศีลเหลือ ๓ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๔๐ เปอร์เซ็นต์     ถ้ามีศีลเหลือ ๒ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๖๐ เปอร์เซ็นต์     ถ้าศีลเหลือ ๑ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๘๐ เปอร์เซ็นต์  ถ้าศีลทุกข้อขาดหมด ก็หมดความเป็นคน หมดความสงบ หมดความสุขถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว ความดีใด ๆ ไม่อาจงอกเงยขึ้นมาได้อีก มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อจะทำความเดือดร้อนให้แก่ ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น คนชนิดนี้คือ คนประมาทแท้ ๆ วิธีรักษาศีลตลอดชีพ  เพื่อรักษาความเป็นคนของตนไว้ให้ดี ชาวพุทธจึงจำเป็นต้องรักษาศีลยิ่งชีวิต การจะรักษาศีลให้ได้เช่นนั้น ต้องอาศัยปัญญาเข้าช่วย จึงจะรักษาไว้ได้โดยง่ายก่อนอื่นให้พิจารณาว่า     -ศีล แปลว่า ปกติ     -คนผิดศีล คือ คนผิดปกติ     -แต่ปัจจุบันนี้คนซึ่งผิดศีลจนเป็นปกตินิสัย มีจำนวนมากขึ้นทุกทีกระทั่งหลายคนเห็นคนมีศีลกลายเป็นคนผิดปกติไป เมื่อความเห็นวิบัติไปเช่นนี้ ประเทศชาติบ้านเมืองที่เคยร่มเย็นตลอด จึงต้องพลอยวิบัติ มีการฆ่ากัน โกงกัน ผิดลูกผิดเมีย ฯลฯ จนประชาชนนอนตาไม่หลับ สะดุ้งหวาดระแวงกันไปทั้งเมือง เราจะให้ผู้ใดมาดับทุกข์ความวิบัติครั้งนี้ ?  เราชาวพุทธแต่ละคนนี้แหละคือผู้ดับ เราจะดับทุกข์ด้วยการถือศีล ถึงคนอื่นไม่ช่วยถือเราก็จะถือเพียงลำพัง ถ้าเปรียบประเทศไทยเหมือนหม้อน้ำใหญ่ประชากรมากกว่า ๖๐ ล้านคน ที่กระทบกระทั้งกันเพราะขาดศีล ถ้าตัวเรามีศีลเมื่อใดก็เหมือนกับดึงตนเองออกจากกองฟืนไป ๑ ดุ้น แม้น้ำในหม้อจะยังเดือดพลานอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เพราะเรา เมื่อแต่ละคนต่างดึงตนเองออกจากกองทุกข์โดยไม่เกี่ยวงอนกันดังนี้ ในไม่ช้าไฟทุกข์ย่อมดับมอดลงเองประเทศชาติก็จะคือสู่สภาพปกติสุขได้  เพื่อเป็นการย้ำความคิดที่จะถือศีลให้มั่นคงตลอดชีพ จำต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่วิธีหนึ่งคือ วิธีปลุกพระ ทุก ๆ เช้าก่อนออกจากบ้านให้เอาพระเครื่องที่แขวนคออยู่ ใส่ในมือพนมหรือพนมมืออยู่หน้าที่บูชาพระแล้วตั้งใจล่าวคำสมทานรักษาศีล 5 ดังอย่างนี้  ปาณาติปาตา  เวระมณี  ข้า ฯ จะไม่ฆ่า  อะทินนาทานา   เวระมณี  ข้า ฯ จะไม่ลัก  กาเมสุมิจฉาจารา   เวระมณี  ข้า ฯ จะไม่ล่วงในกาม  มุสาวาทา  เวระมณี  ข้า ฯ จะไม่หลอกลวง  สุราเมระยะ  มัชชปมาทัฏฐานา เวระมณี  ข้า ฯ จะไม่เสพของมึนเมา ทางการแพทย์โรคที่เกิดขึ้นมี ๒ ประเภท ๑.โรคประจำสังขาร เช่น โรคชรา โรคจากเชื้อโรคที่ระบาดเป้นครั้งคราว ๒.โรคจากการแส่หาด้วยความประมาท เช่น ขาดศีลข้อ ๕ ทำให้เกิดพิษสุราเรื้อรัง ดับแข็ง ทะเลาะวิวาท ขาดศีลข้อ ๔ ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมาก ๆ เข้าลงท้าย แม้กระทั่งตัวเองก็หลงลืมว่าเรื่องที่ตนพูดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือโกหก ขาดศีลข้อ ๓ ทำให้เกิดกามโรคได้ง่าย ขาดศีลข้อ ๒ ทำให้เกิดโรคจิด เช่น โรคหวาดผวา ขาดศีลข้อ ๑ ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลประเภทเจ้าพ่อทั้งหลายฆ่าคนมามาก ลงท้ายก็โดนเขาฆ่าเอาบ้าง “ผู้ฆ่าย่อมได้รรับการฆ่าตอบ ผู้ทรมานย่อมได้รับการทรมานตอบ” (พุทธพจน์)  ดังนั้นหากเรารักษาศีล ๕ ได้ ก็เหมือนได้ฉีดวัคซีนป้องกันสารพัดโรคไว้แล้ว ในวันพระหรือทุก ๗  วัน ควรถือศีล ๘ ซึ่งมีข้อเพิ่มจากศีล ๕ ดังนี้ ศีลข้อ ๓ เปลี่ยนจากประพฤติผิดในกามเป็น เว้นจากการเสพกาม ศีลข้อ ๖ เว้นจากการกินอาหารยามวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ศีลข้อ ๗ เว้นจากการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ และของหอม และเว้นจาก การดูการละเล่น ศีลข้อ ๘ เว้นจากการนอนบนที่นอนอันนุ่มและสูงใหญ่ ศีลข้อ ๖-๘ จะควบคุมความรู้สึกทางเพศไม่ให้เกิดขึ้นเกินส่วนและนี่คือ ๑.เป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ ๒.เป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ไม่มีการแข่งขันประดับประดาร่างกาย เป็นอยู่อย่างไม่ฟุ่มเฟ้อ ๓.เป็นการทำให้จิตใจสงบเบื้องต้น แล้วสามารถเข้าถึงธรรมะชั้นสูงต่อไป อานิสงส์ของศีล ๑.ทำให้สามารใช้สอยทรัพย์ได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน ๒.ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนเชื่อถือได้ มีอนาคตดี ๓.ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน ๔.ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีจังหวะชีวิตดี ๕.เมื่อยังไม่บรรลุนิพพาน ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ อานิสงส์การมีวินัย  วินัยทางโลกและทางธรรมรวมกันแล้วทำให้เกิดประโยชน์คือ     ๑.วินัยนำไปดี หมายความว่า ทำให้ผู้รักษาวินัยดีขึ้น ยกฐานะผู้มีวินัย ให้สูงขึ้น เช่น  เด็กกลางถนน เข้าโรงเรียนมีวินัย กลายเป็น นักเรียน  เด็กชาวบ้า บวชแล้วถือศีล ๑๐ กลายเป็น สามเณร  สามเณร บวชแล้วถือศีล ๒๒๗ กลายเป็น พระภิกษุ  วันัยเป็นข้อบังคับใจเราก็จริงแต่เป็นข้อบังคับเพื่อให้เราไปถึงที่หมายของชีวิตตามความประสงค์ของเราเอง     ๒.วินัยนำไปแจ้ง คำว่า แปลว่า สว่าง หรือเปิดเผยไม่คลุม ๆ เครือ ๆ วินัยนำไปแจ้งคือเปิดเผยธาตุแท้ของคนได้ ว่าไว้ใจได้แค่ไหน โดยดูว่าเป็นคนมีวินัยหรือไม่     ๓.วินัยนำไปต่าง เราดูความแตกต่างของคนด้วยวินัย ยกตัวอย่างคนที่ซ่องสุมสมัครพรรคพวกและอาวุธไว้สู้รบกับคนอื่น ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า กองทหารเป็นมิ่งขวัญของบ้านเมือง ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า กองโจร เป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน คนที่พกอาวุธเดินปนอยู่ในที่ชุมชนอย่างองอาจ ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า ตำรวจ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า นักเลงอันธพาธเป็นผู้พิฆาตสันติสุข คนที่เที่ยวภิกขาจารพึ่งคนอื่นเลี้ยงชีวิตถ้ามีวินัยรักษาศีล ๒๒๗ เราเรียกว่าพระภิกษุ เป็นบุญของผู้ให้ทาน ถ้าไม่มีวินัย เราเรียกว่า ขอทาน เป็นกรรมของผู้ถูกขอ  เราต้องการก้าวไปสู่ความดีความก้าวหน้า เราต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง เราต้องการยกฐานะให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษวินัย   "ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องและเคร่งครัด"     "ปลามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ก็เพราะอาศัยปากเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เพราะปากนั่นเอง ปลาจึงต้องติดเบ็ดเสียชีวิตโดยง่าย เช่นกัน คนเราจะประสบความสำเร็จได้รับความเจริญก้าวหน้าในชวิตก็เพราะอาศัยวาจาสุภาษิตจากปาก แต่ก็เพราะวาจาทุพภาษิตจากปากเพียงคำเดียวบางครั้งแม้แต่ชีวิตก็ยากจะรักษาไว้ได้" วาจาสุภาษิตคืออะไร ? วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้วมิใช่สักแต่พูดอวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ก็แปลก  ตา มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒  ตา  หู มีหน้าที่ ฟังอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ หู  จมูก มีหน้าที่ดมกลิ่นอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ รู  แต่ปาก มีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว  แสดงว่าธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก  ฟังให้มากแต่พูดให้น้อย ๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปากจะกินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูดให้พอดี ลักษณะคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟังเรียกว่า วาจาสุภาษิต    องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต ๑.ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้นไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความต้องเป็นเรื่องจริง จริง จริง ๒.ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ ๓.พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟังถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพแต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรกลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด ๔.พูดไปด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่ง  ๆขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธ มีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด ๕.พูดถูกกาลเทศะ  แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพเป็นควำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะไม่ถูกกาลเทศะผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป      -พูดถูกเวลา (กาล) คือ  รู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร  ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย      -พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือ รู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไร จึงควรที่จะพูดหากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร เช่นมีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้าแต่ไม่เตือนขณะที่กำลังมาอยู่อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้ "คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย" "คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด" เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการพูด ลักษณะของทูตที่ดี (ทูตสันติ) ๑.ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ ๒.เมื่อถึงคราวพูด ก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง ๓.รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด ๔.จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด ๕.เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง ๖.ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้ ๗.ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ๘.ไม่ก่อการทะเลาะวิวาท  "ผู้ใด เข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบคาย ก็ไม่สะทกสะท้านไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาร พูดจนหมดความสงสัย และเมื่อถูกถามก็ไม่โกรธผู้นั้นย่อมควรทำหน้าที่ทูต" (วินัย จุลวรร 7/201) โทษของการด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์  ผู้ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ คือ พระสงฆ์ และผู้ปฏิบัติธรรมติเตียน พระอริยเจ้า จะประสบควมฉิบหาย ๑๑ ประการ ต่อไปนี้ ๑.ไม่บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ ๒.เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ๓.สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว ๔.เป็นผู้หลงเข้าใจว่าได้บรรลุสัทธรรม ๕.เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ๖.ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๗.บอกลาสิกขา  คือ สึกไปเป็นฆราวาส ๘.เป็นโรคอย่างหนัก ๙.ย่อมถึงความเป็นบ้า  คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑๐.เป็นผู้หลงไหลทำกาละ คือ ฆ่าตัวตาย ๑๑.เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติวินิบาต ถ้อยคำที่ไม่ควรเชื่อถือ ๑.คำกล่าวพรรณนาคุณ ศรัทธา ของบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ๒.คำกล่าวพรรณนาคุณ ศีล ของบุคคลผู้ทุศีล ๓.คำกล่าวพรรณนาคุณ พาหุสัจจะ ของบุคคลผู้ไม่สดับ ๔.คำกล่าวพรรณนาคุณ จาคะ ของบุคคลผู้ตระหนี่ ๕.คำกล่าวพรรณนาคุณ ปัญญา  ของบุคคลผู้โง่ ทั้ง ๕  ประการจัดเป็นคำซึ่งไม่ควรฟัง ไม่ควรเชื่อ ลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ ๑.แจ่มใส ไม่แหบเครือ ๒.ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ  ไม่ติดขัด ๓.ไพเราะ อ่อนหวาน ๔.เสนาะโสต ๕.กลมกล่อม หยดย้อย ๖.ไม่แตก ไม่พร่า ๗.ซึ้ง ๘.มีกังวาน อานิสงส์การมีวาจาสุภาษิต ๑.เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น ๒.มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม ๓.มีวาจาสิทธิ์ ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา ๔.ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม ๕.ไม่ตกในอบายภูมิ "วาจาสุภาษิต ไม่ว่าจะพูดด้วยสำเนียงภาษาอย่างไรก็ตาม วาจานั้นย่อมเป็นวาจาชั้นสูง ความแก่การสรรเสริญของบัณฑิต ตรงกันข้ามวาจาทุพภาษิตแม้จะพูดด้วยภาษาใดสำเนียงดีแค่ไหน บัณฑิตก็ไม่สรรเสริญ" (พุทธพจน์)     "ต้นไม้ที่ได้รับการดูแลให้น้ำให้ปุ๋ย ไปบำรุงลำต้นจนสมบูรณ์ เมื่อถึงเวลา ไม่ยอมออกดอกออกผล ก็ต้องโค่นทิ้ง คนที่ได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ แต่ไม่ยอมตอบแทนคุณพ่อแม่ก็เป็นคนหนักแผ่นดิน ทองคำแท้หรือไม่โดนไฟก็รู้ คนดีแแท้หรือไม่  ให้ดูตรงที่เลี้ยงพ่อแม่ ถ้าดีจริง ต้องเลี้ยงพ่อแม่ ถ้าไม่เลี้ยง แสดงว่าดีไม่จริง เป็นพวกทองชุบ ทองเก๊"  พระคุณของพ่อแม่  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า  ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่บนบ่านนั้น ป้อนข้าวป้อนน้ำและให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้นเสร็จ แม้บุตรจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และปรนนิบัติท่านไปจนตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าตอบแทนพระคุณท่านไม่หมด  ยังมีผู้อุปมาไว้ว่า หากเราใช้ท้องฟ้าแทนกระดาษ  ยอดเขาพระสุเมรุแแทนปากกาน้ำในมหาสมุทรแทนหมึก เขียนบรรยายคุณของพ่อแม่  จนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษร ภูเขาสึกกร่อนจนหมด น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งก็ยังบรรยายคุณของพ่อแม่ไม่หมด  บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ     ๑.เป็นต้นฉบับทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลายในโลกมีค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่นก้อนดินเหนียวธรรมดา  ถ้าหากนำมาใส่แบบพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นตุ๊กตา ก็ทำให้ดินก้อนนั้นมีค่าขึ้นมาเป็นเครื่องประดับบ้านเรือนได้ดินเหนียวก้อนเดียวกันนี้ หากได้แบบที่ดีกว่าขึ้นมาอีกเช่นแบบเป็นพระพุทธรูปก็จะเห็นได้ว่าคุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ผู้คนได้กราบไหว้บูชา จะเห็นได้ว่าคุณค่าของดินเหนียว ก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแแบบที่พิมพ์นั่นเอง ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็น ช้าง มัา วัว ควาย ฯลฯ แม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใดก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่ โชคดีที่เราได้แบบเป็นคน ซึ่งเป็นโครงร่างที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย เหมาะในการทำความดีทุกประการ พระคุณขงอพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เรา ก็นับว่ามีมากเหลือหลายแล้วยิ่งท่านอบรม เลี้ยงดูเรามาเป็นต้นแบบทางใจให้ด้วย ก็ยิ่งมีพระคุณมากเป็นอเนกนันต์        ๒.เป็นต้นแบบทางใจ ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอมอบรมสั่งสอน ปลูกฝังกิริยามารยาท ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูก สมญานามของพ่อแม่  สมญานามของพ่อแม่นั้น กล่าวกันว่าท่านเป็นทั้งพรหมของลูก  เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้     -พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมธรรม ๙ ประการได้แก่         ๑.มีเมตตา  คือ  มีความปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด         ๒.มีความกรุณา คือ หวั่นใจในความทุกข์ของลูกและคอยช่วยเหลือเสมอไม่ทอดทิ้ง         ๓.มีมุทิตา คือ เมื่อลูกมีความสุขสบาย ก็มีความปลาบปลื้มยินดีด้วยความจริงใจ         ๔.มีอุเบกขา คือ เมื่อลูกมีครอบครัวสามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว ก็ไม่วุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม  แต่กลับคอยเป็นที่ปรึกษา ให้เมื่อลูกต้องการ     -พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรกของลูก เพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัยเลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่น ๆ     -พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เพราะสั่งสอนอบรม คำพูดและกิริยามารยาทให้ลูกก่อนคนอื่น ๆ     -พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก  เพราะมีคุณธรรม ๔ ประการ  ได้แก่          ๑.เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ลูก ท่านได้ทำภารกิจอันทำได้แสนยาก ได้แก่การอุปการะเลี้ยงดูลูก ซึ่งยากที่จะหาคนอื่นทำแก่เราได้อย่างท่าน          ๒.เป็นพระเดชพระคุณมาก ปกป้องอันตราย ให้ความอบอุ่นแก่ลูกมาก่อน          ๓.เป็นเนื้อนาบุญของลูก มีความบริสุทธิ์ใจต่อลูกอย่างแท้จริงเป็นผู้ที่ลูกควรทำบุญต่อตัวท่าน          ๔.เป็นอาหุไนยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ และการนมัสการของลูก คุณธรรมของลูก  เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่านคุณธรรมของลูกเริ่มที่รู้จักคุณพ่อแม่ คือรู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีกคือตอบแทนคุณท่าน ในทางศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสบรรยายคุณธรรมของลูกไว้อย่างสั้น  ๆ แต่จับความไว้ได้อย่างครบถ้วน คือคำว่า "กตัญญู กตเวที"คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน ๒  คำนี้  กตัญญู หมายถึงเห็นคุณท่าน  คือเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา  ว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาว ๆไปเท่านั้น  คุณของงพ่อแม่ดูได้จากอุปการะ คือประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรามีอะไรบ้างที่แตกต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่ว ๆ ไป เมื่อจะอุปกาะใครเขาต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอ ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าอุปการคุณของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือ  แต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้นเป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ไม่ได้มองถึงหลักประกันใด ๆ เลย  เราเองก็เกิดมาตัวเปล่าไม่มีหลักทรัพย์แม้แต่เข็เล่มเดียวยัง ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าอวัยวะร่างกายจะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยิ่งนิสัยใจคอแล้วยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียว  โตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ไม่รู้ทั้งนั้น หนังสือสัญญาการรับปากสักคำเดียวระหว่างเรากับท่านก็ไม่มีแต่ทั้ง ๆที่ไม่มี ท่านทั้งสองก็ได้โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิต ที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วย เรื่องเหล่านี้ต้องคิดดูด้วยเหตุผลอย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น การพิจารณาให้เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้แหละเรียกว่า"กตัญญู" เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูก ยิ่งพิจารณาเห็นคุณท่านมากเท่าไร แสดงว่าใจของเราเริ่มใสและสว่างมากขึ้นเท่านั้น  กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ๒ ประการ คือ     ๑.ประกาศคุณท่าน     ๒.ตอบแทนคุณท่าน  การประกาศคุณท่าน หมายถึง  การทำให้ผุ้อื่นรู้ว่า พ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้มีคนคิดทำอยู่มากเหมือนกัน แต่ส่วนมากไปทำตอนงานศพ คือเขียนประวัติสรรเสริญคุณพ่อแม่ในหนังสือแจก   การกระทำเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผินนัก  ถ้าเป็นการกินผลไม้ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้น ยังมีทำเลที่จะประกาศคุณพ่อแม่ที่สำคัญกว่านี้ คือ ที่ตัวเรานี่เอง  คนเราทุกคนคือตัวแทน ของพ่อแม่ตนทั้งนั้น   เลือดก็แบ่งมาจากท่านเนื้อก็แบ่งมาจาท่าน ตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่าน ความประพฤติของตัวเรานี่แหละจะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างโจ่งแจ้งที่สุด หากพิมพ์ข้อความไว้ในหนังสือแจกว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ตัวเราเองประพฤติสำมะเลเทเมา คอร์รัปชั่นทุกครั้งที่มีโอกาสศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษา ก็ผิดที่ไป สดุดีคุณพ่อแม่ว่าเป็นคนดี สุภาพเรียบร้อยแต่ตัวเราผู้เป็นลูกกลับประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาล อย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลง กลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการกตเวทีประกาศคุณพ่อแม่ให้หนังสือทำแทน ให้กระดาษ ให้เครื่องพิมพ์ ให้ช่างเรียงพิมพ์แสดงกตเวทีแทน แล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ชาวบ้านว่าพ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกไม่เป็นประสา  พ่อแม่ของใครใครก็รัก เมื่อรัท่านก็ประกาศคุณความดีของท่านซิประกาศด้วยความดีของตัวเราเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ การประกาศคุณของเราจะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่ง ส่วนใครจะประพันธ์สรรเสริญคุณพ่อแม่พิมพ์แจกเวลาท่านตายแล้ว นั่นเป็นประเด็นเบ็ดเตล็ดจะทำก็ได้ไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร  ไม่ว่าเราจะตั้งใจประกาศคุณท่านหรือไม่ ความประพฤติของเราก็เป็นตัวประกาศคุณท่านหรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลา  คิดเอาเองก็แล้วกันว่าเราจะประกาศคุณพ่อแม่ของเราด้วยเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะใจดำถึงกับประจานผู้บังเกิดเกล้าด้วยการทำตัวเป็นพาลเกเรและประพฤติต่ำทราม   การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ     ๑.เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่านเลี้ยงดูท่านตอนเมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบายและเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย     ๒.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ  แม้เราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้ว  ก็ยังนับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญที่ท่านมีต่อเรา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมด พึงกระทำดังนี้     ๑.ถ้าท่านยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้     ๒.ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ท่าน  ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้     ๓.ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้     ๔.ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้  เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธาการให้ท่าน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนา เป็นประโยชน์โดยตรง และเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ประพฤติปฏิบัติเองทั้งในภพนี้ ภพหน้า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือ เป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน อานิสงส์การบำรุงบิดามารดา ๑.ทำให้เป็นคนมีความอดทน ๒.ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ ๓.ทำให้เป็นคนมีเหตุผล ๔.ทำให้พ้นทุกข์ ๕.ทำให้พ้นภัย ๖.ทำให้ได้ลาภโดยง่าย ๗.ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน ๘.ทำให้เทวดาลงรักษา ๙.ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ๑๐.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า ๑๑.ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี ๑๒.ทำให้มีความสุข ๑๓.ทำให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง       "ต้นไม้ถ้าลูกมันรสไม่ดี ก็มีแต่คนจะโค่นต้ทิ้ง ไม่มีใครคิดจะบำรุงรักษาไว้ ตรงข้ามถ้าลูกมันรสดี ทั้งหวานทั้งมัน เจ้าของก็อยากใส่ปุ๋ย พรวนดินรดน้ำทะนุถนอมให้คงต้นอยู่นาน ๆ ต้นไม้ผลจะคงต้นอายุยืนได้รับการบำรุงรักษาดีเพียงไร  จึงขึ้นอยู่กับลูกของมัน"        คนเราก็เช่นกัน ถ้าลูกทำดี คนทั้งหลายก็ชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดีความสุขกายสบายใจก็ติดตามเพราะลูก ความดีบุญกุศลก็ไหลมาเพราะลูกแต่ถ้าลูกทำชั่วช้าเลวทราม คนทั้งหลายก็แช่งด่ามาถึงพ่อแม่ด้วยเหมือนกันสร้างความลำบากให้พ่อแม่ ทั้งทรัพย์สินเงินทองชื่อเสียงเสียหายไปเพราะลูกพระสัมมาสัมพุทธจ้าทรงชี้ว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่อยู่ที่ลูกและในทางตรงข้าม ถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ดีแล้ว  อัปรีย์จัญไรก็จะมาจากลูกนั่นเหมือนกัน ทำไมจึงต้องเลี้ยงดูบุตร  วันหนึ่งเราต้องแก่และตาย สิ่ที่ยากได้กับทุกคน คือ ความปีติ ความปลื้มใจ ไว้หล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น ความปลื้มปีติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็น ผลแห่งความดี หรือผลงานดี ๆ ที่เราทำไว้ ยิ่งผลงานดีมากเท่าไร ยิ่งชื่นใจมากเท่านั้นแล้วอายุจะยืนยง สุขภาพจะแข็งแรง  สุดอดผลงานของนักปฏิบัติธรรม คือ การกำจัดกิเลสในตัวให้หมด  สุดยอดผลงานของโลก คือ การมีลูกหลานเป็นคนดี  ถ้าลูกหลานเป็นคนเลว มันช้ำใจยิ่งกว่าถูกใครจับใส่ครกโขลกเสียอีก  เลี้ยงสุนัขแล้วกัดสู้สุนัขคนอื่นไม่ได้ยังเจ็บใจ  เลี้ยงลูกแล้วดีสู้ลูกคนอื่นไม่ได้มันจะช้ำใจสักแค่ไหน ความหวังสุดยอดของชาวโลก ๑.บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบแทน ๒.บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักทำกิจแทนเรา ๓.วงศ์สกุลของเราจัดดำรงอยู่ได้นาน ๔.บุตรจักปกครองทรัพย์มรดกแทนเรา ๕.เมื่อเราละโลกไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้ เพราะเล็งเห็นฐานนะ ๕ ประการนี้ บิดามารดาจึงอยากได้บุตร บุตรแปลว่าอะไร ? บุตร มาจากคำว่า ปุตฺต แปลว่า ลูก มีความหมาย ๒ ประการ คือ -ผู้ทำสกุลให้บริสุทธิ์ -ผู้ยังหทัยของพ่อแม่ให้เต็มอิ่ม ประเภทของบุตร ประเภทของบุตแบ่งโดยความดีในตัว ได้เป็น ๓ ชั้น ดังนี้ ๑.อภิชาตบุตร คือ บุตรที่ดีมีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา เป็นบุตรชั้นสูง สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล ๒.อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณธรรเสมอบิดามารดา เป็นบุตรชั้นกลาง ไม่สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล แต่ก็ไม่ทำให้เสื่อมลง ๓.อวชาตบุตร คือ บุตรที่เลว มีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นต่ำนำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล องค์ประกอบให้ได้ลูกดี ๑.ตนเองต้องเป็นคนดี ทำบุญมาดีจึงได้ลูกดี เหมือนต้นไม้พันธุ์ดีก็ย่อมมีลูกพันธุ์ดี เด็กที่เกิดในท้องแม่จะมีคุณธรรมในใจที่ติดตัวมาในระดับใกล้เคียงกับของพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการได้ลูกดี ก็ต้องขวนขวายสร้างความดีไว้มาก ๆ ยิ่งพ่อแม่สร้างบุญมากเท่าไร โอกาสที่จะได้ลูกดีก็มากเท่านั้น ๒.การเลี้ยงดูอบรมดี ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป วิธีเลี้ยงดูลูก  การเลี้ยงดูลูกมีอยู่ ๒ ทาง คือ การเลี้ยงดูลูกทางโลกและการเลี้ยงดูลูกทางธรรม ซึ่งพ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูลูกให้พร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๒ ทาง วิธีเลี้ยงดูลูกทางโลก     ๑.กันลูกออกจากความชั่ว กัน หมายถึง ป้องกันกีดกัน คือ ไม่เพียงแต่ห้าม หากต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ลูกตกไปสู่ความชั่ว ซึ่งบางครั้งพ่อแม่กับลูกก็พูดกันไม่เข้าใจ สาเหตุของความไม่เข้าใจกันนั้นมักจะเกิดจากการขัดกันอยู่ ๓ ประการ คือ -ความเห็นขัดกัน -ความต้องการขัดกัน -กิเลส  ความเห็นขัดกัน คือ ของสิ่งเดียวกันแต่เห็นกันคนละทาง มองกันคนละแง่ เช่น การเที่ยวเตร่ เด็กวัยรุ่นมักจะเห็นว่าดี เป็นการเข้าสังคม ทำให้กว้างขวางทันสมัย แต่ผู้เป็นพ่อแม่กลับเห็นว่า การเที่ยวเตร่หามรุ่งหามค่ำนั้น มีผลเสียหายหลายประการ เช่น อาจเสียการเรียน อาจประสบภัย อาจใจแตก เพราะถูกเพื่อนชักจูงไปให้เสีย ครั้งห้ามเข้าลูกก็ไม่พอใจ ดูถูกว่าพ่อแม่หัวเก่าล้าสมัย  เรื่องนี้ ถ้าจะพูด้วยความเป็นธรรมแล้ว ลูกควรจะรับฟังความเห็นของพ่อแม่ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ๒ ประการ คือ พ่อแม่ทุกคนหวังดีต่อลูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และพ่อแม่ย่อมมีประสบการณ์ รู้ทีได้ที่เสียมามากกว่า เราแน่ใจหรือว่าความรักของเพื่อนตั้งร้อยที่ล้อมหน้าล้อมหลังอยู่นั้น รวมกันเข้าทั้งหมดแล้วจะมากและบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนความรักในดวงใจของพ่อแม่ คนเราทุกคนเคยเห็นผิดเป็นชอบมาก่อน เมื่อยังเป็นเด็กอมมืออยู่นั้น เราเคยเห็นว่าลูกโป่งอัดลมใบเดียวมีค่ามากกว่าธนบัตใบละร้อยใช่ไหม ? จิตใจที่อยู่ในวัยเยาว์ก็ย่อมเยาว์ตามไปด้วยดังนั้นเชื่อฟังคำกล่าวตักเตือนของพ่อแม่ไว้เถิดไม่เสียหลาย พ่อแม่เองเมื่อจะห้ามหรือบอกให้ลูกทำอะไร ก็ควรบอกเหตุผลด้วย อย่าใช้แต่อารมณ์  ความต้องการขัดกัน คือ คนต่างวัยก็มีรสนิยมต่างกัน ความสุขของคนแก่คือ ชอบสงบ หาเวลาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ความสุขของเด็กหนุ่มสาวมักอยู่ที่ได้แต่งตัวสวย ๆ ไปเที่ยวเตร่นอกบ้าน ข้อนี้ขัดแย้งกันแน่ ลูกกับพ่อแม่จึงต้องเอาใจมาพบกันที่ความรัก ตกลงกันที่มุมรักระหว่างพ่อแม่กับลูก รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามสมควร การเลี้ยงลูกที่กำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น เหมือนการเล่นว่าวโต้ลม ผ่อนไปนิด ดึงกลับมาหน่อย  จึงจะเป็นผลดี  กิเลส ถ้าทั้ง ๒ ฝ่าย มีความโกรธ มีทิฐิ ดื้อดึง ดื้อด้าน หลงตัวเอง หรือมีกิเลสอื่น ๆ ครองงำอยู่แล้ว ก็ยากที่จะพูดกันให้เข้าใจ ต้องทำใจให้สงบและพูดกันด้วยใจที่เป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล พ่อแม่ต้องฝึกตนให้เป็นคนมีคุณธรรมและสอนลูกให้เป็นคนดีมีเหตุผลเสียแต่ยังเล็ก ปัญหาข้อนี้ก็จะเบาบางลง     ๒.ปลูกฝังลูกในทางดี หมายถึง ให้ลูกประพฤติดี มีศีละรรมพ่อแม่ต้องพยายามเล็งเข้าหาใจของลูก เพราะใจเป็นตัวควบคุมการกระทำของคน ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ดี คือ ทำใจของลูกให้ดีนั่นเอง  สิ่งของนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ของกินกับของใช้ สำหรับของกินทุกคนต้องกิน ทุกคนต้องกินเหมือนกันหมด เพื่อให้ร่างกายเติบโตคงชีวิตอยู่ได้ ส่วนของใช้นั้นต่างคนต่างมีตามความจำเป็น เช่น ชาวนาก็ต้องมีจอบ มีไถ เสมียนก็ต้องมีปากกา  สมบัติทางใจก็มี ๒ ประการเหมือนกัน ธรรมะ เป็นอาหารใจ วิชาความรู้ เป็นเครื่องมือของใจ  ตามธรรมดาร่างกายคนถ้าขาดอาหารแล้วก็จะเสียกำลัง ใจคนก็เหมือนกัน ต้องมีธรรมะให้พอเพียง อาหารทางกายกินแทนกันไม่ได้ ไม่เหมือนของใช้ มีดเล่มเดียวใช้กันได้ทั้งบ้าน เรื่องของใจก็เหมือนกัน ใจทุกดวงต้องกินอาหารเอง คือ ทุกคนต้องมีธรรมะไว้ในใจตนเอง จะถือว่าใจพ่อแม่มีธรรมะแล้วใจลูกไม่ต้องมีไม่ได้ ส่วนวิชาความรู้เปรียบเหมือนของใช้ใครจะใช้ความรู้ทางไหนก็หาความรู้เฉพาะทางนั้น ขาดเหลือไปบ้างพออาศัยผู้อื่นได้ ใจที่ขาดธรรมะเหมือนร่างกายที่ขาดอาหาร ใจที่ขาดวิชาความรู้เหมือนคนที่ขาดเครื่องมือทำงาน  พ่อแม่ต้องปลูกใจลูกให้มีทั้ง ๒ อย่าง จึงจะเป็นการปลูกฝังลูกในทางดีซึ่งทำได้โดย ๑.กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก ๒.เลือกคนดีให้ลูกคบ ๓.หาหนังสือดีให้ลูกอ่าน ๔.พาลูกไปหาบัณฑิต เช่น พระภิกษุ ครูบาอาจารย์ที่ดี     ๓.ให้ลูกได้รับการศึกษา ภารกิจข้อนี้ความชัดอยูแล้ว  คือให้ลูกได้เล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้สามารถช่วยตัวเองต่อไปได้  พ่อแม่สมัยนี้ควรจะติดตามดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ควรติดต่อกับทางโรงเรียนอยู่เสมอขอทราบเวลาเรียน ผลการเรียน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เด็กอ้างว่าทางโรงเรียนเรียกร้องด้วย พ่อแม่ที่มีลูกไปเรียนไกลบ้านต่างจังหวัด และขาดผู้ดูแลที่ไว้วางใจได้ ควรจะเป็นห่วงลูกให้มาก หากไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรให้เด็กอยู่หอพัก เว้นแต่ท่านจะเชื่อใจเด็กได้ และต้องหาหอพักที่มีระเบียบข้อบังคับเคร่งครัดด้วย ๔.จัดแจงให้ลูกแต่งงานกับคนดี ความหมายในทางปฏิบัติมีอยู่ ๒ ขั้นตอน คือ ๑.พ่อแม่ต้องเป็นธุระในการแต่งงานของลูก ช่วยหาสินสอดทองหมั้นให้ ๒.พ่อแม่ต้องพยาบาลให้ลูกได้คู่ครองที่ดี  ในข้อที่ ๒ อาจมีความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกอยู่ไม่น้อย คล้ายกับการกันลูกจากความชั่ว แต่การขัดแย้งกันในเรื่องคู่ครองมักจะแรงกว่าควรจะทำความเข้าใจกันให้ดีปัญหาสำคัญมีอยู่ ๒ ข้อ คือ ๑. พ่อแม่แทรกแซงความรักของลูก มีผลดีหรือเสียอย่างไร ? ๒. ใครควรเป็นผู้ตัดสินการแต่งงานของลูก  ปัญหาข้อแรก ถ้าคิดดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นว่าผลดีมีมากกว่าผลเสีย จะมีผลเสียอยู่เฉพาะในรายที่พ่อแม่ขาดจิดตวิทยา และชอบทำอะไรเกินกว่าเหตุเท่านั้น แต่การร่วมมือกันเป็นของดีแน่ ความจำเป็นอยู่ที่ว่า ลูกยังอยู่ในวัยเยาว์ รู้จักโลกน้อย มองโลกในแง่ดีเกินไป อาจตัดสินใจผิดพลาพได้และความผิดพลาดในเรื่องคู่ครองนั้นมีผลมาก แก้ยาก  ปัญหาข้อที่สอง ใครควรเป็นผู้ที่ตัดสินการแต่งงานของลูก เช่น ควรแต่งงานหรือยัง ? ควรแต่งกับใคร ? ทางที่ประเสริฐที่สุด คือ ปรึกษาหารือและตกลงกัน พ่อแม่ควรเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่เจ้ากี้เจ้าการจนเกินงามต้องให้ลูกได้แต่งงานกับคนที่เขารัก เพราะความรักเป็นมูลฐานของการสมรสฝ่ายลูกจะเลือกใครก็ต้องให้พ่อแม่เห็นชอบด้วย เพราะการทำให้ท่านสุขใจนั้นเป็นความกตัญญูกตเวทีของเรา และจะเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่ครอบครัวสืบไป แต่ถ้าหากเป็นไปเช่นนั้นไม่ได้ พ่อแม่ควรจะถือหลักว่า  “คนที่เราไม่ชอบแต่ลูกรัก ดีกว่าคนที่เรารักแต่ลูกไม่ชอบ”  คิดเสียว่าเขาเป็นเนื้อคู่กัน เว้นแต่คนที่ลูกปลงใจรักเป็นคนเลว หลอกลวงจะชักนำลูกเราไปในทางเสีย อย่านี้ต้องห้าม แม้ว่าลูกจะรักก็ตาม     ๕.มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันสมควร เมื่อถึงเวลาควรให้จึงให้ถ้ายังไม่ถึงเวลาอันควรให้ก็อย่าเพิ่งให้ เช่น ลูกยังเยาว์ยังไม่รู้ค่าของทรัพย์ ก็ควรรอให้เขาเติบโตเสียก่อนจึงให้ ถ้าลูกยังประพฤติชั่ว เช่น หมกมุ่นอยู่ในอบายมุขก็รอให้เขากลับตัวได้เสียก่อนแล้วจึงให้ ดังนี้เป็นต้น  การทำธุระเกี่ยวกับทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นก่อนตาย เป็นการชอบด้วยพุทธประสงค์วงศืตระกูลก็มีความสงบสุขต่อไป รายใดที่พ่อแม่ไม่ทำพินัยกรรมไว้ให้เรียบร้อย ปล่อยให้ลูก ๆ จัดการกันเอง ก็มักเกิดเรื่องร้าวฉานขึ้นในวงพี่ ๆ น้อง ๆ จนถึงกับฟ้องรอ้งขึ้นศาลกันก็มี พี่น้องแตกความสามัคคี ทรัพย์สินก็เสื่อมหายลงเป็นเรื่องที่น่าสลดใจยิ่งนัก วิธีเลี้ยงดูลูกในทางธรรม ๑.พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาหาความรู้ทางศาสนา ๒.ชักนำลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคือ ๓.ชักนำให้ลูกทำบุญ เช่น ตักบาตร รักษาศีล เป็นต้น ๔.ชักนำให้ลูกทำสมาธิภาวนา ๕.ถ้าลูกเป็นชายให้บวชเป็นสามเณรหรือเป็นพระภิกษุ แล้วเข้าปฏิบัติกรรมฐาน ข้อเตือนใจ ๑.รักลูกแต่อย่าโอ๋ลูก อย่าตามใจลูกเกินไป จะทำให้เด็กเสียนิสัยเหตุที่พ่อแม่ตามใจลูกเกินไป มักเป็นเพราะ -รักลูกมากเกินไป รักมากจนไปไม่กล้าลงโทษสั่งสอน -ไม่มีเวลาอบรม รู้สึกเป็นความผิดของตัว ที่ไม่มีเวลาให้ลูกจึงปลอบประโลมตนเองด้วยการตามใจลูกจึงปลอบประโลมตนเองด้วยการตามใจลูก ซึ่งเป็นวิธีแก้ที่ผิด ๒.อย่าเคร่งระเบียบจนเกินไป รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ๓.ให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้เพียงพอ ไม่ว่างานจะยุ่งมากเพียงไร ก็ต้องหาเวลาให้ลูก มิฉะนั้นจะต้องน้ำตาตกในภายหลัง ๔.เมื่อเห็นลูกทำผิด การตำหนิทันทีจำเป็นมาก จะได้แก้ไขทันท่วงทีแต่ต้องใช้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์ และเมื่อเห็นลูกทำดี ก็ชมเพื่อให้เกิดกำลังใจ ๕.ต้องฝึกให้ลูกทำงานตั้งแต่ยังเล็ก การปล่อยให้เด็กอยู่อย่างสบายเกิดไปทุกอย่างมีคนรับใช้ มีเวลาว่างมากเกินไป จะกลับเป็นผลเสียต่อเด็กโตขึ้นจะช่วยตัวเองไม่ได้ ๖.การเลี้ยงลูกให้แต่ปัจจัย ๔ ยังไม่พอ จะต้องให้ธรรมะแก่ลูกด้วย อานิสงส์การเลี้ยงดูบุตร ๑.พ่อแม่จะได้ความปีติภาคภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน ๒.ครอบครัวจะสงบร่มเย็นเป็นสุข ๓.ประเทศชาติจะมีคนดีไว้ใช่ ๔.เป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน       "ในการเคี้ยวอาหาร ถ้าลิ้นกับฟันทำงานไม่ประสานกัน ก็มีหวังขบลิ้นตนเองต้องเจ็บปวดจนน้ำตาร่วง เช่นกัน ในชีวิตการครองเรือน ถ้าสามีภรรยาไม่รู้จักสงเคราะห์กันและกัน ไม่มีความเข้าใจกัน นอกจากจะไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตแล้วทั้ง 2 ฝ่ายก็มีหวังช้ำใจจนน้ำตาร่วงได้เหมือนกัน"   ความหมายของสามี – ภรรยา สามี แปลว่า ผู้เลี้ยง ผัว ภรรยา แปลว่า คนควรเลี้ยง เมีย คำทั้งสองนี้ เป็นคำที่แฝงความหมายอยู่ในตัว และเป็นคำคู่กัน ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าสามี ก็เพราะเลี้ยงดูภรรยา ผู้หญิงที่จะได้ชื่อว่าภรรยาก็เพราะทำตัวเป็นคนน่าเลี้ยง ประเภทของภรรยา ภรรยาทั้งหลายในโลกนี้ แบ่งได้เป็น ๗ ประเภทคือ ๑. วธกภาริยา ภรรยาเสมอด้วยเพชรฆาต คือภรรยาที่มีใจคิดล้างผลาญชีวิตสามี พยายามฆ่าสามี ยินดีในชายอื่น ตบตี แช่งด่าสามี ๒. โจรีภาริยา ภรรยาเสมอด้วยโจร คือ ภรรยาที่ชอบล้างผลาญทรัพย์สามี ใช้ทรัพย์ไม่เป็นบ้าง ยักยอกทรัพย์เพื่อความสุขส่วนตัวบ้าง สร้างหนี้สินให้ตามใช้บ้าง ๓. อัยยภาริยา ภรรยาเสมอด้วยนาย คือ ภรรยาที่ชอบล้างผลาญศักดิ์ศรีสามี ไม่สนใจช่วยการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย กล่าวคำหยาบ ชอบข่มขี่สามีซึ่งขยันขันแข็ง เหมือนเจ้านายข่มขี่ข้า ภูมิใจที่ข่มสามีได้ ๔. มาตาภริยา ภรรยาเสมอด้วยแม่ คือ ภรรยาที่มีความรัก เมตตาสามีไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนมารดารักบุตร เช่นสามีจะตกต่ำหมดบุญวาสนาจะป่วยจะพิการตลอดชีวิตก็ไม่ทอดทิ้ง ไม่พูด ไม่ทำให้สะเทือนใจ แม้ตายจากไปตั้งแต่ตนยังสาว ก็ไม่ยอมมีสามีใหม่ ๕. ภคินีภริยา ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือ ภรรยาที่เคารพสามีเป็นคนละอายบาป มีความรักยั่งยืน แต่มีขัดใจกันบ้าง ทั้งซน ทั้งงอน ทั้งขี้ยั่ว ทั้งขี้แย ต้องทั้งขู่ทั้งปลอบ ประเดี๋ยวจะเที่ยว ประเดี๋ยวจะกิน จะแต่งตัว แต่ก็ซื่อสัตย์ต่อสามี ๖. สขาภริยา ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน คือ ภรรยาที่มีรสนิยม มีความชอบเหมือนสามี ถูกคอกัน เป็นคนมีศีลธรรม มีความประพฤติดี แต่มีความทะนงตัวโดยถือว่าเสมอกัน หากฝ่ายตรงข้ามขาดเหตุผลก็ไม่ยอมกัน ๗. ทาสีภริยา ภรรยาเสมอด้วยคนใช้ คือ ภรรยาที่ทำตัวเหมือนคนใช้ถึงสามีจะเฆี่ยนตี ดุด่า ขู่ตะคอกก็ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้อยู่ในอำนาจสามี จะดูว่าใครเป็นสามี – ภรรยาชนิดไหน ต้องดูหลังจากแต่งงานแล้ว ระยะหนึ่งจึงจะชัด การแต่งงานมีอยู่ 2 ระยะ คือ ระยะแต่ง คือก่อนเป็นผัวเมียกัน ต่างคนต่างแต่ง ทั้งแต่งตัว แต่งท่าทางอวดคุณสมบัติให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็น ระยะงาน คือหลังจากเป็นผัวเมียกันแล้ว ต่างคนต่างต้องทำงานตามหน้าที่ ใครมีข้อดีข้อเสีย ความรู้ความสามารถ ความประพฤติอย่างไรก็จะปรากฏชัดออกมา คุณสมบัติของคูสร้างคู่สม พื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้สามีภรรยาครองชีวิตกันยืดยาว มีความสุข คือ คู่สามีภรรยาต้องมีสมชีวิธรรม ได้แก่ ๑. สมสัทธา มีศรัทธาเสมอกัน ได้แก่ มีหลักการ มีความเชื่อมั่นในศาสนา มีเป้าหมายชีวิตเหมือนกัน ๒. สมสีลา มีศีลเสมอกัน ได้แก่ ความประพฤติศีลธรรมจรรยากิริยามารยาทอบรมมาดีเสมอกัน ๓. สมจาคะ มีจาคะเสมอกัน ได้แก่ มีนิสัยเสียสละชอบช่วยเหลือไม่เห็นแก่ตัว ใจกว้างเสมอกัน ๔. สมปัญญา มีปัญญาเสมอกัน ได้แก่ มีเหตุมีผล มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ดื้อด้านดันทุรัง เข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน พูดกันรู้เรื่อง วิธีทำให้ความรักยั่งยืน การเป็นสามีภรรยากัน เป็นเรื่องที่จะว่ายากก็เหมือนง่าย แต่ครั้นจะว่าง่ายก็เหมือนยาก เพราะเพียงแต่เราตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรผัวเมียจึงจะมีความรักยั่งยืนอยู่กินกันราบรื่นเพียงประเด็นเดียว แล้วลองเที่ยวหาคำตอบดูเถอะถามสิบคนก็ตอบสิบอย่าง บ้างก็ว่าเกี่ยวกับดวงชะดาคู่ธาตุ ต้องวางฤกษ์ วางลัคน์ให้เหมาะๆบ้างก็ว่าเป็นเรื่องของพรหมลิขิต ที่หัวสมัยใหม่หน่อยก็ว่า สำคัญที่แหวนหมั้นขันหมากเงินทุนให้มากๆเข้าไว้ ความสุขในชีวิตสมรสจะมีเอง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องมงคลสมรสไว้สั้นๆเพียงคำเดียวว่า “สังคหะ” แปลว่าการสงเคราะห์กัน และให้ปฏิบัติตามหลักสังควัตถุ ๔ เพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจกันดังนี้ ๑. ทาน ปันกัน – การให้ คนเราถ้ารักที่จะอยู่ด้วยกันต้องปันกันกินปันกันใช้ หามาได้แล้ว ควรรวมกันไว้เป็นกองกลางแล้วจึงแบ่งกันใช้ หากไม่เอามารวมกัน อาจเกิดการระแวงกันได้ ที่ใดที่ปราศจากการให้ที่นั่นย่อมแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย การปันกันนี้รวมทั้งการปันทุกข์กันในครอบครัวด้วย เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความทุกข์ มีปัญหา ก็ควรนำมาปรึกษากัน ๒. ปิยวาจา พูดกันด้วยวาจาไพเราะ แม้การตักเตือนกัน ก็ต้องระมัดระวังคำพูด ถ้าถือเป็นกันเองมากเกินไป อาจจะเกิดทิฐิ ทำให้ครอบครัวไม่สงบสุข โดยถือหลักว่า ก่อนแต่งงานเคยพูดไพเราะอย่างไร หลังแต่งงานก็พูดให้เพราะๆอย่างนั้น ๓. อัตถจริยา ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อกัน เมื่อรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีควรหรือไม่ควร ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง พยายามศึกษาหาความรู้ทางธรรม เอาใจมาหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้ว ย่อมมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ อย่างน้อยก็ผิดที่ไม่หาวิธีที่เหมาะสม สั่งสอนตักเตือนกัน ปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งทำความผิด ๔. สมานัตตตา วางตัวให้เหมาะสมกับที่ตัวเป็น เป็นพ่อบ้านก็ทำตัวให้สมกับเป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้านก็ทำตัวให้สมกับเป็นแม่บ้าน ต่างก็วางตัวให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งข้อนี้จะประพฤติปฏิบัติได้ดี ต้องฝึกสมาธิให้ใจผ่องใสเป็นปกติ เพราะคนที่ใจผ่องใสจะรู้ว่าในภาวะเช่นนั้น ควรจะวางตนอย่างไร ไม่ระเริงโลก จนวางตนไม่เหมาะสม โดยสรุป คือ ปฏิบัติตนตามหลักทาน (การให้ปันสิ่งของ) รักษาศีล (เพื่อให้มีคำพูดที่ไพเราะ และเพื่ออุดข้อบกพร่องของตน จะได้เป็นคนมีประโยชน์) เจริญภาวนา (คือ การฟังธรรมและทำสมาธิ เพื่อให้ใจผ่องใสเกิดปัญญาจะได้วางตัวได้เหมาะสมกับที่ตัวเป็น) หน้าที่ของสามีต่อภรรยา ๑. ยกย่องให้เกียรติ คือยกว่าเป็นภรรยาไม่ปิดๆบังๆหากทำดีก็ชมเชยด้วยใจจริง หากทำผิดก็เตือน แต่ไม่ตำหนิต่อหน้าสาธารณชนหรือคนในบ้านเพราะจะเสียอำนาจการปกครอง สิ่งใดเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การเลี้ยงเพื่อนพบปะญาติมิตร ควรให้อิสระ ๒. ไม่ดูหมิ่น ไม่เหยียบย่ำว่าต่ำกว่าตน ไม่ดูถูกเรื่องตระกูล ทรัพย์ ความรู้ การแสดงความคิดเห็น ไม่กระทำเรื่องที่เกรียวกับครอบครัวโดยไม่ปรึกษา ห้ามทุบตีด่าทอเด็ดขาด ๓. ไม่นอกใจ ไม่ไปสมสู่กับหญิงอื่นในฐานะเป็นภรรยาเหมือนกัน เพราะเป็นการดูหมิ่นความเป็นหญิงของภรรยา ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ภรรยาทุกคนจะปลื้มใจที่สุด ถ้าสามีรักและซื่อตรงต่อตนเพียงคนเดียว ๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ คือ มอบให้เป็นผู้จัดการภาระทางบ้านไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องการครัว การปกครองภายใน นอกจากเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งภรรยาไม่อาจแก้ปัญหาได้ ๕. ให้เครื่องแต่งตัว ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงล้วนชอบแต่งตัว สนใจเรื่องสวยๆงามๆ ถ้าได้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวสวยๆงามๆแล้วชื่นใจ ถึงจะโกรธเท่าโกรธ ถ้าได้เครื่องแต่งตัวถูกใจ ประเดี๋ยวก็หาย สามีก็ต้องตามใจบ้าง หน้าที่ของภรรยาต่อสามี ๑. จัดการงานดี จัดบ้านให้สบายน่าอยู่ จัดอาหารให้ถูกปากและทันตามความต้องการ จัดเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ ๒. สงเคราะห์ญาติข้างสามี ด้วยการเอื้อเฟื้อ กล่าววาจาไพเราะให้ความช่วยเหลือตามฐานะที่จะทำได้ ๓. ไม่นอกใจ จงรักภักดี รักสนิทแน่นต่อสามีเพียงผู้เดียว ๔. รักษาทรัพย์ให้ดี ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ตระหนี่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็น ๕. ขยันทำงาน ขยันขันแข็งทำงานบ้าน ไม่เอาแต่กิน นอน เที่ยว หรือเล่นการพนัน     ประเพณีแต่งงานของไทยเรา เวลาเจ้าบ่าวเจ้าสาวรับน้ำพุทธมนต์มักจะสวมมงคลแฝดไว้บนศีรษะดูคล้ายๆ กับยึดคนสองคนไว้ด้วยกัน ความมุ่งหมายนั้นคือ จะยึดคนทั้งสองไว้ไม่ให้แยกจากกัน นั้นเป็นการยึดผูกเพียงภายนอกผิวเผิน ซึ่งช่วยอะไรไม่ได้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ยึดเหมือนกัน แต่แทนที่จะสอนให้ยึดด้วยด้าย ทรงสอนให้ยึดด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า “สังคหะ” แทน การสงเคราะห์ที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกัน จะเป็นเงื่อนใจ  ๒ วง วงหนึ่งคล้องไว้ในใจผัว อีกวงหนึ่งคล้องไว้ในใจเมีย ถ้าคล้องให้เหมาะๆแล้ว ต่อให้มนุษย์หน้าไหนก็มาพรากไปจากกันไม่ได้ แม้แต่ความตายก็พรากได้เพียงร่างการ ส่วนดวงใจนั้นยังคงคล้องกันอยู่ชั่วนิรันดร์ มีข้อเตือนใจอยู่นิดว่า แม้บางคนตั้งใจแล้วว่า จะต้องยึดใจเอาไว้ครั้นปฏิบัติจริงก็ไม่วายเขว พอผัวทำท่าจะหลงใหลนอกทาง กลับวิ่งไปหาหมอเสน่ห์ยาแฝด เสียเงินเสียทอง เสียเวลา แต่แล้วก็เหลว เพราะทิ้งบ้าน ทิ้งช่อง ไปเฝ้าหมอ ข้าวปลาไม่รู้จักหุงหา ปล่อยให้บ้านรกเป็นเล้าไก่รังกา แทนที่จะคอยเอาใจผัวกลับไปกราบเท้าเอาใจหมอเสน่ห์เพื่อจะมาแข็งข้อเอากับผัว สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงทุกที ที่ถูกควรปักใจให้มั่นในศีลในทาน ในการทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ของเราไม่ยอมให้บกพร่อง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง โอวาทวันแต่งงาน เป็นโอวาทปริศนาที่บิดาของนางวิสาขาให้แก่นางวิสาขาในวันแต่งงานมีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ดังนี้ ๑. ไฟในอย่านำออก หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหา ความร้อนใจต่างๆ ในครอบครัวไปเปิดเผยแก่คนทั่วไปภายนอก ๒. ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหาต่างๆภายนอกที่ร้อนใจ เข้ามาในครอบครัว ๓. ให้แก่ผู้ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือ ให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว เมื่อถึงกำหนดก็นำมาส่งคืนตามเวลา เมื่อเรามีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือ หากไม่เกินความสามารถของเขา เขาก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มใจ บุคคลเช่นนี้ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือเราอีก ก็ให้ช่วย ๔. ไม่ให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว ไม่ส่งคืนตามกำหนดเวลา เมื่อเรามีเรื่องของความช่วยเหลือ แม้ไม่เกินความสามารถของเขา และเป็นเรื่องถูกศีลธรรม เขาก็ไม่ยองช่วย คนอย่างนี้ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือเราอีก อย่าช่วย ๕. ให้ไม่ให้ก็ให้ หมายถึง ถ้าญาติพี่น้องเราที่ตกระกำลำบากอยู่มาขอความช่วยเหลือ แม้บางครั้งไม่ส่งของที่หยิบยืมตามเวลา ภายหลังเขามาขอความช่วยเหลืออีกก็ให้ช่วย เพราะถึงอย่างไรก็เป็นญาติพี่น้องกัน ๖. กินให้เป็นสุข หมายถึง ให้จัดการเรื่องอาหารการกินในครอบครัวให้ดี ปรนนิบัติพ่อแม่ของสามีในเรื่องอาหารอย่าให้บกพร่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ตัวเราเองเวลากินก็จะกินอย่างมีความสุขไม่ต้องกังวล ๗. นั่งให้เป็นสุข หมายถึง รู้จักที่สูงที่ต่ำ เวลานั่งก็ไม่นั่งสู่งกว่า พ่อแม่ ของสามีจะได้นั่งอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวล ไม่ถูกตำหนิ ๘. นอนให้เป็นสุข หมายถึง ดูแลเรื่องที่หลับที่นอนให้ดี และยึดหลักตื่นก่อนนอนที่หลัง ก่อนนอนก็จัดการธุระการงานให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้นอนอย่างมีความสุข ๙. บูชาไฟ หมายถึง เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือตัวสามีเองกำลังโกรธเปรียบเสมือนไฟกำลังลุก ถ้าดุด่าอะไรเรา ก็ให้นิ่งเสียอย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วยเพราะในช่วงเวลานั้น ถ้าเราไปเถียงเข้าเรื่องราวก็จะยิ่งลุกลามใหญ่โต ไม่มีประโยชน์ คอยหาโอกาสเมื่อเขาหายโกรธ แล้วชี้แจงเหตุผลให้ฟังอย่างนุ่มนวลจะดีกว่า ๑๐. บูชาเทวดา หมายถึง เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือตัวสามีเองทำความดี ก็พยายามส่งเสริมสนับสนุน พูดให้กำลังใจ ให้ทำความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป อานิสงส์การสงเคราะห์ภรรยา (สามี) ๑. ทำให้ความรักยืนยง ๒. ทำให้สมานสามัคคีกัน ๓. ทำให้ครอบครับมีความสุข ๔. ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ๕. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง “ภรรยานั้นอยู่ใกล้ชิด หากไม่ผูกมิตร ชีวิตจะสั้น ภรรยานั้นอยู่ร่วมกัน หากคิดสร้างสรรค์ บ้านนั้นเจริญ”         ดินที่พอกหางหมู มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นๆและถ่วงหมูให้กินอยู่หลับนอนไม่เป็นสุขยิ่งๆขึ้นไปฉันใด การงานที่ปล่อยทิ้งไว้คั่งค้าง ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และถ่วงความเจริญก้าวหน้าทั้งแก่ตนเอง และหมู่คณะฉันนั้น “ค่าของคนอยู่ทีผลของงาน หากปล่อยการงานให้คั่งค้าง ก็เท่ากับกำลังทำลายค่าของตนเอง”   เหตุที่ทำให้งานคั่งค้าง ๑. ทำงานไม่ถูกกาล ยังไม่ถึงเวลาทำก็ร้อนใจด่วนไปทำ แต่พอถึงเวลาควรทำกลับไม่ทำ เช่น ตอนแดดออกมัวไปถูบ้านพอฝนตกกลับไปซักผ้าตากเท่าไหร่ก็ไม่แห้ง หรือตอนเด็กไม่ยอมเรียนหนังสือ เที่ยวสำมะเลเทเมา พอแก่เฒ่าจะมาเรียนก็เรียนไม่ไหวแล้ว ๒. ทำงานไม่ถูกวิธี ทำผิดขั้นตอน ผิดลำดับ เช่นจะทำความสะอาดบ้านก็ไปกวาดพื้นก่อน แล้วกวาดเพดานที่หลัง ฝุ่นผงต่างๆก็ตกลงมาต้องกวาดพื้นใหม่อีก เป็นต้น ๓. ไม่ยอมทำงาน ชอบผัดวันประกันพรุ่ง หรือหาเหตุต่างๆ นานามาอ้าง เช่น รอฤกษ์รอยาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเราจะทำความดีเมื่อไหร่ ฤกษ์ก็ดีเมื่อนั้น ไม่ต้องรอ ทำไปได้เลย ประโยชน์ย่อมเป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง “ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนโง่ ผู้มัวรอฤกษ์ยามอยู่” (พระพุทธพจน์) วิธีทำงานให้เสร็จ วิธีทำงานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้คือ อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ๑. ฉันทะ ความเต็มใจทำ ๒. วิริยะ ความแข็งใจทำ ๓. จิตตะ ความตั้งใจทำ ๔. วิมังสา ความเข้าใจทำ ฉันทะ คือ ความรักงาน จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราเล็งเห็นผลของงานว่าถ้าทำงานนี้แล้วจะได้อะไร เช่น เรียนหนังสือ แล้วจะได้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพ คนสั่งงานจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องปลูกความพอใจให้แก่ผู้ทำงานควรจะให้เขารู้ด้วยว่าทำแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร หรือถ้าไม่ทำจะเสียผลทางไหนผู้สั่งงานบางคนใช้อำนาจบาทใหญ่ บางทีสั่งพลางด่าพลาง ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามไปพลาง เป็นการทำลายกำลังใจของผู้ทำ นับว่าทำผิดอย่างยิ่ง วิริยะ คือ ความพากเพียร ความไม่ท้อถ้อยเป็นคุณธรรมทางใจเรียกความรู้สึกนี้ว่า “ความกล้า” อยากจะรู้ว่ากล้าอย่างไร ต้องดูทางตรงข้ามเสียก่อนคือทางความเกียจคร้าน คนเกียจคร้านทุกคนและทุกครั้ง คือคนขลาด คนกลัว กลัวหนาว กลัวร้อน กลัวแดด กลัวฝน จะทำงานแต่ละครั้งเป็นต้องอ้างว่าหนาวจะตาย ร้อนจะตาย อิ่มจะตาย เหนื่อยจะตาย ง่วงจะตาย คนเกียจคร้านทุกคนตายวันละไม่รู้กี่ร้อยครั้ง การเอาชนะคำขู่ของความเกียจคร้านเสียได้ท่านเรียกว่า วิริยะ คือ ความเพียร หรือความกล้านั่นเอง ต้องละเว้นจากอบายมุขให้ได้เสียก่อน จึงจะมีความเพียรได้ มีข้อน่าสังเกตสำหรับคนทำงานร่วมกันคือ จะต้องขยันด้วยกันทั้งหัวหน้าและลูกน้องจึงจะได้เรื่อง ยิ่งผู้เป็นหัวหน้ายิ่งสำคัญมาก ถ้าเป็นคนเกียจคร้านคิดกินแรงผู้น้อยท่าเดียว คิดแต่ว่า “ให้แกวิดน้ำท่าข้าจะล่อน้ำแกง” ผู้น้อยก็มักขยันไปได้ไม่กี่น้ำ ประเดี๋ยวก็รามือกันหมด แต่ถ้าหัวหน้าเอาการเอางานก็ดึงผู้น้อยให้ขยันขันแข็งขึ้นด้วย “ความเกียจคร้านย่อมทำลายคุณธรรมทุกประการ เป็นบรรพชิตก็ไม่ได้เป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ดี” จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ คนมีจิตตะเป็นคนไม่ปล่อยปละละเลยกับงานของตน คอยตรวจตรางานอยู่เสมอ ปกติคนที่โตเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบแล้ว ที่จะเป็นคนเฉยเมยไม่ใส่ใจกับงานเลยมีไม่เท่าไร ส่วนใหญ่มักจะใส่ใจกับงานอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติของใจคนชอบคิด ทำให้หยุดคิดสิยาก แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบคิดชอบเจ้ากี้เจ้าการแต่เรื่องงานของคนอื่น คอยติ คอยสอด คอยแทรก คอยวิพากษ์วิจารณ์ ธุระของตัวกลับไม่คิดเสียนี่ เห็นคนอื่นใส่เสื้อขาดรูเท่าหัวเข็มหมุดก็ตำหนิติเตียนเขาเป็นเรื่องใหญ่ แต่ทีตัวเอง มุ้งขาดรูเท่ากำปั้นตั้งเดือนแล้วเมื่อไรจะเย็บล่ะ? และที่เที่ยวไปสอดแทรกงานเขา แต่งานเราไม่ดูนั้น มักทำให้อะไรของเราดีขึ้นบ้าง เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราเป็นนักตรวจตรางาน คือให้มีจิตตะ แล้วก็ทรงให้โอวาทสำทับไว้ด้วยว่า “จงตรวจตรางานของตัวเอง ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ วิมังสา สุดยอดของวิธีทำงานให้สำเร็จรวมอยู่ในอิทธิบาทข้อสุดท้ายนี้ คือ วิมังสา แปลว่า การพินิจพิเคราะห์ หมายความว่า ทำงานด้วยปัญญาด้วยสมองคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน บากบั่นปานใดหรือเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าขาดการใช้ปัญญาพิจารณางานด้วยแล้วผลที่สุดงานก็คั่งค้างจนได้ เพราะแม้ว่าขั้นตอนการทำงานจะสำเร็จไปแล้วแต่ผลงานก็ไม่เรียบร้อย ต้องทำกันใหม่ร่ำไป อีกประการหนึ่ง คนทำงานที่ไม่ใช้ปัญญา ไปทำงานที่ไม่รู้จักเสร็จจะปล้ำให้มันเสร็จ หนักเข้าตัวเองก็กลายเป็นทาสของงาน เข้าตำรา “เปรตจัดหัวจัดตีน” ตามเรื่องที่เล่าว่า เปรตตัวหนึ่งได้รับคำสั่งจากหัวหน้าเปรตให้ไปเฝ้าศาลาข้างทาง เวลาคนนอนหลับเปรตก็ลงจากขื่อมาตรวจดูความเรียบร้อย ทีแรกก็เดินดูทางหัว จัดแนวศีรษะให้ได้ระดับเดียวกันให้เป็นระเบียบ ครั้งจัดทางศีรษะเสร็จก็วนไปตรวจทางเท้า เห็นเท้าไม่ได้ระดับก็ดึงลงมาให้เท่ากัน แล้วก็วนไปตรวจทางศีรษะอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีวันเสร็จสิ้นได้เลย หาได้นึกไม่ว่าคนเขาตัวสูงก็มี เตี้ยก็มี ไม่เสมอกัน จัดจนตายก็ไม่เสร็จ คนที่ทำงานไม่ใช้ปัญญาจัดเป็นคนประเภท “เปรตัดหัวจัดตีน”  อย่างนี้ก็มี ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาหน่อยเดียว ทำให้เสร็จเท่าที่มันจะเสร็จได้ใจก็สบาย คนที่ทำงานด้วยปัญญานั้นจะต้อง - ทำให้ถูกกาล ไม่ทำก่อนหรือหลังเวลาอันควร - ทำให้ถูกลักษณะของงาน  สรุปวิธีการทำงานให้สำเร็จนั้น มีลักษณะล้วนขึ้นอยู่กับใจทั้งสิ้นคือเต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และเข้าใจทำ วิธีการฝึกฝนใจที่ดีที่สุดก็คือ การให้ทานการรักษาศีล และการทำสมาธิเพื่อให้ใจผ่องใส ทำให้เกิดปัญญาพิจารณาเห็นผลของงานได้ รู้และเข้าใจวิธีทำงาน มีกำลังใจ และมีใจจดจ่ออยู่กับงาน ไม่วอกแวก  อุปสรรคในการทำงานให้เสร็จ  อุปสรรคใหญ่ในการทำงานให้เสร็จก็คือ อบายมุข ๖ ได้แก่ ๑. ดื่มน้ำเมา ๒. เที่ยวกลางคืน ๓. ดูการละเล่นเป็นนิจ ๔. เล่นการพนัน ๕. คบคนชั่วเป็นมิตร  ๖. เกียจคร้านในการทำงาน  อบาย แปลว่า ความเสื่อม ความฉิบหาย มุข แปลว่า ปาก อบายมุขจึงแปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อม เนื่องจากมันเป็น “ปากทาง” เราจึงมักมองไม่เห็นความเสื่อม เพราะตัวความเสื่อมจริงๆมันอยู่ “ปลายทาง” ซึ่งเรายังมองไม่เห็น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและท่านผู้รู้ทั้งหลายมองเห็น  ถ้าจะดูกันแต่ปากทางแล้ว ก็อาจเห็นเป็นความเจริญด้วยซ้ำ  ปากทางที่จะไปเข้าคุก ก็เป็นถนนราบเรียบ แต่ปลายทางเป็นคุกที่ทรมาน  ปากทางที่จะตกลงบ่อ ก็เป็นพื้นดินสะอาด แต่ก้นบ่อมีน้ำที่จะทำให้ผู้ตกลงไปจมหรือสำลักตาย  ปากทางที่จะตกเหว ก็เป็นป่าหญ้างามดี แต่ก้นเหวลึกมากจนทำให้คนที่ตกลงไปตาย  เช่นกัน อบายมุขซึ่งเป็นปากทางแห่งความฉิบหายนี้ ดูเผินๆก็ไม่มีพิษสงอะไร เที่ยวกลางคืนก็สนุกดี เล่นการพนันก็เพลิดเพลินดี แต่ก็ทำให้ผู้ประพฤติทำการงานไม่สำเร็จ เสื่อมไปจากความเจริญก้าวหน้าและกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ถึงกับฉิบหายขายตัวไปแล้วก็มากต่อมาก  เรื่องที่น่ารู้  คุณสมบัติของนายจ้างที่ดี ๑. จัดงานให้ลูกจ้าทำตามความเหมาะสม ๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความสามารถ ๓.ให้สวัสดิการที่ดี  ๔. มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้  ๕. ให้มีวันหยุดพักผ่อนตามสมควร  คุณสมบัติของลูกจ้าที่ดี ๑. เริ่มทำงานก่อน ๒. เลิกงานที่หลัง ๓. เอาแต่ของที่นายให้ ๔. ทำงานให้ดียิ่งขึ้น ๕. นำความดีของนายไปสรรเสริญ  อานิสงส์การทำงานไม่คั่งค้าง ๑. ทำให้ฐานะของตน ครอบครัว ประเทศชาติดีขึ้น ๒. ทำให้ได้รับความสุข ๓. ทำให้พึ่งตัวเองได้ ๔. ทำให้เป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายได้ ๕. ทำให้สามารถสร้างบุญกุศลอื่นๆ ได้ง่าย ๖. ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท ๗. ทำให้ป้องกันภัยในอบายภูมิได้ ๘. ทำให้มีสุคติเป็นที่ไปเบื้องหน้า ๙. ทำให้เป็นนิสัยติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ๑๐. ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไป   “บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน  อดทนให้เหมือนหญ้า  กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงชองลูกผู้ชาย  บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข”         "ต้นไม้ที่ให้ผลและร่มเงา นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นไม้มีประโยชน์แล้วย่อมได้รับการดูแลใส่ปุ๋ยพรวนดินยิ่งๆขึ้นไปอีกฉันใด  ผู้ที่รู้จักให้ทาน นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีประโยชน์แล้ว ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ ช่วยเหลือสนับสนุน จากคนทั้งหลายอีกฉันนั้น"  ทานคืออะไร ?  ทาน แปลว่า การให้ หมายถึงการสละสิ่งของของตน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ  การให้ทาน เป็นพื้นฐานความดีของมนุษย์ชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการจรรโลงสันติสุข  พ่อแม่ถ้าไม่ให้ทาน คือไม่เลี้ยงเรามา เราเองก็ตายเสียตั้งแต่เกิดแล้ว  สามีภรรยา หาทรัพย์มาได้ ไม่ปันกันใช้ ก็บ้านแตก  ครู อาจารย์ ถ้าไม่ให้ทาน คือ ไม่สั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เราเราก็โง่ดักดาน  คนเรา ถ้าโกรธแล้ว ไม่ให้อภัยทานกัน โลกนี้ก็เป็นกลียุค  ชีวิตของคนเราจึงดำรงอยู่ได้ด้วยทาน เราโตมาได้ก็เพราะทาน เรามีความรู้ในด้านต่างๆก็เพราะทาน โลกนี้จะมีสันติสุขได้ก็เพราะทาน การให้ทานจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ชาติ  ประเภทของทาน  ๑. อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน  ๒. ธรรมทานหรือวิทยาทาน คือ การให้ความรู้เป็นทาน ถ้าเป็นความรู้ทางโลก เช่น ให้ศิลปวิทยาการต่างๆเรียกว่า วิทยาทาน หากเป็นความรู้ทางธรรม เช่น สอบให้ละชั่ว ประพฤติดี มีศีลธรรม เรียกว่า ธรรมทาน  ๓. อภัยทาน คือ การสละอารมณ์โกรธ เป็นทาน ให้อภัย ไม่จองเวร สละอารมณ์โกรธ พยาบาทให้ขาดออกจากใจ  การให้ธรรมะเป็นทาน ถือว่าเป็นการให้ทานที่ได้บุญสูงสุด มีคุณค่ากว่าการให้ทั้งปวง เพราะทำให้ผู้รับมีปัญญารู้เท่าทันโลก สามารถนำไปใช้ได้ ไม่รู้จักจบสิ้นชาตินี้และชาติต่อๆไป ส่วนทานชนิดอื่นๆ ผู้รับได้รับแล้วไม่ช้าก็หมดสิ้นไป  จุดมุ่งหมายของการให้ทาน ๑. ให้เพื่อทำคุณ เป็นการให้เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ให้เพื่อให้ผู้รับนิยมชมชอบในตัวผู้ให้ไม่ได้มุ่งเพื่อเป็นบุญ เช่นคนที่สมัครผู้แทนฯถึงเวลาหาเสียงทีก็เอากฐิน ผ้าป่า ไปทอด ๑๐ วัด ๒๐ วัด ไปสร้างสะพาน สร้างถนน เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าตนเป็นคนใจบุญ จะได้ลงคะแนนเสียงให้ตน หรือบางคนรับพี่สาวเขา ก็เลยเอาขนมไปฝากน้องชาย การให้อย่างนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ เพื่อให้ผู้รับรักตัวผู้ให้ การทำเช่นนี้ถ้าถามว่าได้บุญไหม? ก็เห็นจะต้องตอบว่า ได้เหมือนกันแต่น้อยเหลือเกินได้ไม่เต็มที่ การให้ที่จะได้บุญมากนั้น ต้องให้เพื่ออนุเคราะห์ และสูงขึ้นไปอีก คือ ให้เพื่อบูชาคุณ ๒. ให้เพื่อนุเคราะห์  เป็นการอุดหนุนเอื้อเฟื้อกันให้ด้วยความเมตตากรุณา เช่น พ่อ แม่ ให้อาหารแก่ลูก ครูอาจารย์ให้ความรู้แก่ศิษย์ ผู้มีทรัพย์ บริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน เป็นต้น  ๓. ให้เพื่อบูชาคุณ  เมื่อมีผู้ปรารถนาดีต่อเรา เมตตากรุณา ช่วยเหลืออุปการะเรา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เราก็แสดงความเคารพนบนอบท่านด้วยกาย วาจา ใจ บูชาคุณท่านด้วยทรัพย์สินตามกำลัง ยามท่านเจ็บป่วยก็ช่วยพยาบาลรักษา ไม่ละทิ้งท่านทั้งในยามสุขและยามทุกข์ นอกจากนี้บุคคลที่ควรให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ เป็นธุระคอยสั่งสอนอบรมแนะนำประชาชนให้พ้นทุกข์ จึงควรบูชาท่านด้วยปัจจัยสี่ เพื่อให้ท่านมีกำลังบำเพ็ญพรต และบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ตามสมณวิสับได้เต็มที่  ข้อเตือนใจ  คนเราเมื่อตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติแม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ วิธีเดียวเท่านั้นที่จะนำทรัพย์ติดตัวไปได้ คือ การนำทรัพย์นั้นไปทำทาน  ทานเป็นประโยชน์แก่ผู้มีชรา พยาธิ มรณะเผาผลาญอยู่ ถ้ารู้จักขนทรัพย์ออกด้วยทาน ทรัพย์นั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขาได้ ทรัพย์ที่บำเพ็ญทานแล้วชื่อว่าขนออกแล้ว ดูเถอะเจ้าของเรือนที่ถูกไฟไหม้ ภาชนะใดที่ขนออกได้ก็เป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนที่ขนออกไม่ได้ก็ต้องถูกไฟไหม้อยู่ในเรือนนั่นเอง  ทานที่ให้แล้วไม่ได้บุญ  ๑. ให้สุรายาเสพย์ติด เช่น บุหรี่ เหล้า ฝิ่น กัญชา ฯลฯ  ๒. ให้อาวุธ เช่น เขากำลังทะเลาะกัน ยื่นปืน ยื่นมีดให้  ๓. ให้มหรสพ เช่น พาไปดูหนังดูละคร ฟังดนตรี เพราะทำให้กามกำเริบ  ๔. ให้สัตว์เพศตรงข้าม เช่น หาสุนัขตัวเมียไปให้ตัวผู้ หาสาวๆไปให้เจ้านาย ฯลฯ  ๕. ให้ภาพลามก รวมถึงหนังสือลามก และสิ่งยั่วยุกามารมณ์ทั้งหลาย  วิธีทำทานให้ได้บุญมาก  การทำทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ  ๑. วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทานต้องเป็นของที่ตนได้มาโดยสุจริตชอบธรรม ไม่ได้คดโกงหรือเบียดเบียนใครมา  ให้ทานด้วยน้ำพริกผักต้มที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ ได้กุศลมากกว่าให้อาหารโต๊ะจีนราคาตั้งพันด้วยเงินทองที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์  ๒.  เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีเจตนาเพื่อกำจัดความตระหนี่ของตนทำเพื่อเอาบุญ ไม่ใช่เอาหน้า เอาชื่อเสียง เอาความเด่นความดัง ความรัก จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้ง ๓ ขณะ คือ - ก่อนให้ก็มีใจเลื่อมใสศรัทธาเป็นทุนเดิม เต็มใจที่จะทำบุญนั้น - ขณะให้ก็ตั้งใจให้ ให้ด้วยใจเบิกบาน - หลังจากให้ก็มีใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดายสิ่งที่ให้ไปแล้ว  ๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือ เลือกให้แก่ผู้รับที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความสงบเรียบร้อย ตั้งใจประพฤติธรรม โดยทั้งไปแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่ถึงกระนั้นก็ทรงสอนให้เลือกถ้าจะนิมนต์พระภิกษุเฉพาะเจาะจง ก็ให้นิมนต์พระที่เคร่งครัดในสิกขาวินัยน่าเลื่อมใส ถ้าจะนิมนต์พระไม่เฉพาะเจาะจง ให้สมภารจัดให้ ก็ให้เลือกนิมนต์จากหมู่สงฆ์ที่ประพฤติสิกขาวินัยเคร่งครัด สำหรับผู้ให้ทานคือตัวเราเองก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์จึงจะได้บุญมาก จะเห็นว่าทุกครั้งที่เราจะถวายสังฆทาน พระท่านจะให้ศีลก่อน เพื่อว่าอย่างน้อยที่สุดในขณะนั้นเรายังมีศีล ๕ ครบ จะได้เกิดบุญกุศลเต็มที่  ผลของทาน  การให้ทานเป็นเรื่องของความชุ่มเย็น ผู้ที่ให้ทานอยู่เสมอย่อมมีใจผ่องใสเยือกเย็น หมู่ชนที่นิยมการให้ทานย่อมไม่มีความเดือดร้อนใจ เนื่องจากต่างคนต่างมีอัธยาศัยไมตรี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อนึ่งใจของคนเรานี้มีอำนาจมีพลังดูดทรัพย์มาก ถ้าใครมีใจตระหนี่มีความโลภมาก จะมีพลังดูดทรัพย์น้อย โบราณท่านจึงกล่าวไว้ว่าคนทำทานมากๆจะทำให้รวย แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงยกย่องทานไว้หลายลักษณะ ดังนี้  คนควรให้ในสิ่งที่ควรให้  การเลือกให้ทานพระสุคตสรรเสริญ  คนพาลเท่านั้นที่ไม่สรรเสริญการให้ทาน  เมื่อมีจิตเลื่อมใสแล้ว ทักษิณาทานหาชื่อว่าเป็นของน้อยไม่  บุญของผู้ให้ย่อมเจริญก้าวหน้า  ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก  ผู้มีปัญญาให้ความสุขย่อมได้รับความสุข  (พุทธพจน์)  ผู้ให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง  ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ  ผู้ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข  ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ  ผู้ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง  ผู้ให้ธรรมทานชื่อว่าให้อมฤตธรรม  (กินททสูตร)  ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ  ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ  ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี  ผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ  นระใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ  นระนั้นจะเกิด ณ ที่ใดๆย่อมมีอายุยืน มียศ ณ ที่นั้นๆ  (มหาปทายีสูตร)  อานิสงส์การบำเพ็ญทาน  ๑. เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย  ๒. เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง  ๓. ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข  ๔. ผู้ให้ย่อมเป็นที่รับของคนหมู่มาก  ๕. ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้  ๖. ทำให้เป็นผู้มีเสน่ห์  ๗. ทำให้เป็นที่น่าคบหาของคนดี  ๘. ทำให้เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว  ๙. ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในทุกชุมชน  ๑๐. ทำให้มีชื่อเสียงเกียรติคุณดี  ๑๑. แม้ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์              "ไม้จันทร์ แม้แห้ง  ยังไม่สิ้นกลิ่นหอม  อ้อยแม้ถูกหีบ  ยังไม่สิ้นรสหวาน  เกลือแม้ถูกสะตุ  ยังไม่สิ้นรสเค็ม  บัณฑิตแม้ตกทุกข์ ยังไม่เลิกประพฤติธรรม" การประพฤติธรรมคืออะไร?  การประพฤติธรรม คือ การประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีสมกับที่เกิดเป็นคนและให้มีความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง  เราจะเห็นได้ว่า การประพฤติธรรมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นมงคลที่ ๑๖ ก่อนมงคลที่ ๑๗ และ ๑๘ คือ การสงเคราะห์ญาติ และการทำงานไม่มีโทษ  เหตุที่พระองค์ทรงวางลำดับมงคลว่าด้วยการประพฤติธรรมไว้ตรงนี้ก็เพราะในการสงเคราะห์ญาติและการทำงานไม่มีโทษ ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น เราต้องมีการทำงานติดต่อกับคนจำนวนมาก ซึ่งมีอัธยาศัยต่างๆกันไป ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีแล้ว โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันก็มีมาก โอกาสที่เราจะทำให้งานเสียเพราะขาดความเป็นธรรมก็มีมากเช่นกัน  ดังนั้น ก่อนทำงานเพื่อส่วนรวมจึงต้องประพฤติธรรม เพื่อเป็นการปรับปรุงตนให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผาสุก ไม่นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งได้แก่การประพฤติปฏิบัติตน ๒ ลักษณะควบคู่กันไป ได้แก่  ๑. ประพฤติเป็นธรรม  ๒. ประพฤติตามธรรม  ประพฤติเป็นธรรม คือ มีความเที่ยงธรรม มีความยุติธรรม  ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้น ขึ้นอยู่กับหลักธรรมอย่างหนึ่ง คือ “ความยุติธรรม” สังคมใดก็ตามแม้จะมีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์มั่นคั่งบริบูรณ์ แต่ถ้าขาด “ความยุติธรรม” เสียอย่างเดียว สังคมนั้นก็จะมีแต่ความเดือดร้อยวุ่นวาย  เพราะขาดความยุติธรรม ครอบครัวจึงแตกสลาย  เพราะขาดความยุติธรรม บ้านเมืองจึงเกิดปฏิวัติรัฐประหาร  เพราะขาดความยุติธรรม สงครามระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้น  ความยุติธรรม คือ การกระทำที่ชอบด้วยเหตุผลนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกหนทุกแห่ง มีบางคนเข้าใจว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องมาจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้ให้ ตนเป็นผู้รับ ความเข้าใจเช่นนี้ผิด อันที่จริงความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องให้แก่กัน  เราจึงต้องฝึกตนเองให้เป็นคนที่ปฎิบัติต่อผู้อื่นอย่างชอบด้วยเหตุผลมีความยุติธรรมไม่ลำเอียงเพราะอคติ 4 ประการ ดังต่อไปนี้  ๑. ไม่ลำเอียงเพราะรัก เช่น ถึงจะรักนาย ก มากเพียงใดก็ตามแต่ถ้าไม่มีผลงานดีเด่นก็ต้องยกย่องคนอื่นที่มีความสามารถดีกว่าขึ้นมาไม่เห็นแก่หน้าข้อนี้รวมถึงการไม่เป็นคนโลภ ไม่รักทรัพย์สมบัติมากจนยอมเสียความเป็นธรรม  ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง คือ ถึงจะเกลียดหรือไม่ชอบใครเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ไม่นำมาปนกับงานซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม หากเขาทำความดีก็ต้องปูนบำเหน็จรางวัลให้เช่นเดียวกับคนอื่น ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง  ๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง คือ เป็นคนมีปัญญา หูตากว้างไกล รู้เท่าทันคน ไม่โง่ ใครๆไม่สามารถหลอกลวงได้ ไม่เป็นผู้ใหญ่ชนิด ลงโทษผู้น้อยโดยที่ไม่ได้ไต่สวนความผิดให้ชัดเจนก่อน เป็นต้น  ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัวภัย คือ มีใจอาจหาญไม่หวั่นไหว ไม่เกรงอิทธิพลมือใดๆ ถึงจะถูกขู่ทำร้าย ก็ไม่ยอมเสียความเป็นธรรม เพราะมีความรักธรรมย่องกว่าชีวิต  คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ คนทุกคนจำเป็นต้องมี มิฉะนั้นโลกนี้ก็จะวุ่นวาย โดยเฉพาะผู้นำทุกท่านจะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตนจนเต็มที่  “ผู้ใดไม่ละเมิดความยุติธรรม  เพราะความรักความชัง ความโง่เขลาและความกลัว  เกียรติคุณเกียรติยศ เกียรติศักดิ์  ของผู้นั้นย่อมเด่นดุจดวงจันทร์  เปล่งแสงสว่างในข้างขึ้นทุกค่ำคืน”  (พุทธพจน์)  ประพฤติตามธรรม คือ การประพฤติปฏิบัติตนตามธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ฝึกฝนอบรมตนเองให้คุณธรรมในตัวสูงขึ้นประณีตขึ้นตามลำดับ ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ดังนี้  ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าสัตว์ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่นๆ  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนรู้จักแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมองและตนก็ต้องรับผลกรรมต่อไปเป็นการแก้ปัญหาซึ่งจะสร้าปัญหาอื่นๆ ต่อมาโดยไม่จบสิ้น ต้องคอยหวาดระแวงว่า ญาติพี่น้องเขาจะมาทำร้ายตอบ  ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ คือ ไม่แสวงหารายได้โดยทางทุจริต เช่น  ลัก  = ขโมยเอาลับหลัง  ฉก  = ชิงเอาซึ่งหน้า  กรรโชก  = ขู่เอา  ปล้น  = รวมห้วกันแย่งเอา  ตู่  = เถียงเอา  ฉ้อ  = โกงเอา  หลอก  = ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์  ลวง  = เบี่ยงบ่ายลวงเขา  ปลอม  = ทำของที่ไม่จริง  ตระบัด  = ปฏิเสธ  เบียดบัง  = ซุกซ่อนเอาบางส่วน  สับเปลี่ยน = แอบเปลี่ยนของ  ลักลอบ  = แอบนำเข้าหรือออก  ยักยอก  = เบียดบังเอาของในหน้าที่ตน  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม ไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน  ๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่กระทำผิดในทางเพศไม่ลุอำนาจแก่ความกำหนัด เช่น การทำชู้กับสามีภรรยาคนอื่น การข่มขืน การฉุดคร่าอนาจาร  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องให้ทุกคนมีจิตใจสูง เคารพในสิทธิ์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม  ๔. เว้นจากการพูดเท็จ คือ ต้องไม่เจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อรวม ๗ วิธีด้วยกัน คือ  พูดปด  = โกหกจังๆ  ทนสาบาน = ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด  ทำเล่ห์กระเท่ห์ = ทำทีอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของตนเกินเหตุ  มารยา  = เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก  ทำเลศ  = ทำทีให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง  เสริมความ = เรื่องนิดเดียวทำให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่  อำความ  = เรื่องใหญ่ปิดบังไว้ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย  การเว้นจากพูดเท็จต่างๆเหล่านี้ หมายถึง - ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งตน กลัวภัยจะมาถึงตน จึงโกหก - ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น รักเขา อยากให้เขาได้ประโยชน์ จึงโกหกหรือเพราะเกลียดเขา อยากให้เขาเสียประโยชน์ จึงโกหก - ไม่ยอมพูดเท็จ เพราะเห็นแก่อามิสสินบน เช่น อยากได้ทรัพย์สินเงินทองสิ่งของ จึงโกหก  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคน มีความสัตย์จริงกล้าเผชิญหน้ากับความจริงเยี่ยงสุภาพชน ไม่หนีปัญหา หรือหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการพูดเท็จ  ๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด คือ ไม่เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะยุแหย่ให้เขาแตกกัน หรือให้เขารักตน กล่าวแต่ถ้อยคำอันแสดงคุณค่าของความสามัคคี  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการไม่ให้คนเราหาความชอบด้วยการประจบสอพลอ ไม่เป็นบ่างช่างยุ ทำให้หมู่คณะสงบสุข สามัคคี  ๖. เว้นจากการพูดคำหยาบ คือ ไม่พูดคำซึ่งทำให้คนฟังเกินความระคายใจ ครูดหู และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ ได้แก่  คำด่า  = พูดเผ็ดร้อน แทงหัวใจ พูดกดให้ต่ำ  คำประชด = พูดยกจนลอย  คำกระทบ = พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อได้คิด  คำแดกดัน = พูดกระแทกกระทั้น  คำสบถ  = พูดแช่งชักหักกระดูก  คำหยาบโลน = พูดคำที่สังคมรังเกียจ  คำอาฆาต = พูดให้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระควยใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด  ๗. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ ไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดพล่อยๆสักแต่ว่ามีปากอยากพูดก็พูดไปหาสาระมิได้ พูดแต่ถ้อยคำที่ควรฝังไว้ในใจมีหลักฐานมีที่อ้างอิง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน  ๘. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของคนอื่นในทางทุจริต  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้คนเราเคารพในสิทธิข้าวของของผู้อื่นมีจิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านไหวกระเพื่อมไปเพราะความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้มีใจผ่องแผ้ว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม  ๙. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา คือ ไม่ผูกใจเจ็บ ไม่คอดอาฆาตล้างแค้น ไม่จองเวร มีใจเบิกบาน แจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่เกลื่อกลั่วด้วยโทสจริต  ๑๐. ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม คือ ไม่คิดแย้งกับหลักธรรม ได้แก่ มีความเห็นที่เป็นสัมมาทิฐิ ๘ ประการคือ       ๑. เห็นว่าการให้ทานดีจริง ควรทำ       ๒. เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง ควรทำ       ๓. เห็นว่าการต้อนรับแขกดีจริง ควรทำ       ๔. เห็นว่ากฎแห่งกรรมมีจริง       ๕. เห็นว่าโลกนี้โลกหน้ามีจริง       ๖. เห็นว่าบิดามารดามีพระคุณต่อเราจริง       ๗. เห็นว่านรกสวรรค์มีจริง       ๘. เห็นว่าสมณพราหมณ์ที่หมดกิเลสแล้วมีจริง  เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้คนเรามีพื้นฐานใจดี มีมาตรฐานความคิดที่ถูกต้อง ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง มีวินิจฉัยถูกมีหลักการ มีแนวความคิดที่ถูกต้อง ส่งผลให้ความคิดในเรื่องอื่นถูกต้องตามไปด้วย  “เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง  ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น  หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว  เพิ่มพูนไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนอย่างสัมมาทิฐินี้เลย”  (พุทธพจน์)  คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ คนทุกคนจำเป็นต้องฝึกให้มีในตนโดยเฉพาะผู้นำ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม จะต้องฝึกให้มีในตนอย่างเต็มที่ จึงจะทำงานได้ผลดี  “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม  บุคคลใด หวังความสุข หวังความเป็นใหญ่  หวังความก้าวหน้า ต้องประพฤติธรรม”   อานิสงส์การประพฤติธรรม  ๑. เป็นมหากุศล  ๒. เป็นผู้ไม่ประมาท  ๓. เป็นผู้รักษาสัทธรรม  ๔. เป็นผู้นำศาสนาให้เจริญ  ๕. เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า  ๖. ไม่ก่อเวรก่อภัยกับใครๆ  ๗. เป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์  ๘. เป็นผู้ดำเนินตามปฏิปาทาของนักปราชญ์  ๙. สร้างความเจริญความสงบสุขแก่ตนเองและส่วนรวม  ๑๐. เป็นผู้สร้างทางมนุษย์ สวรรค์ พรหม นิพพาน   ธมมจารี สุข เสติ  การประพฤติธรรม นำสุขมาให้  (พุทธพจน์)       "ต้นไม้ที่เกิดรวมกันเป็นป่าดง แต่ละต้นย่อมช่วยปะทะลมพายุให้แก่กันจึงยืนต้นอยู่ได้นานผิดจากต้นไม้ที่เกิดอยู่โดดเดี่ยว แม้จะเป็นไม้เจ้าป่าสูงใหญ่ก็ตาม เมื่อโต้พายุตามลำพัง ย่อมหักโค่นลงโดยง่าย" เช่นกันคนที่มีญาติอยู่พร้อมหน้าก็ย่อมมีผู้คอยช่วยเหลือปะทะมรสุมชีวิตให้ผ่อนหนักเป็นเบา เมื่อเราทำดีมีสุข มีทางเจริญก้าวหน้า ก็มีคนให้ความสนับสนุน   ญาติคือใคร?  ญาติ แปลว่า คนคุ้นเคย คนใกล้ชิด หมายถึงบุคคลที่คุ้นเคยและวางใจกันได้มี ๒ ประเภทได้แก่  ๑. ญาติทางโลก แบ่งได้เป็น ๒ พวกคือ - ญาติโดยสายโลหิต เช่น ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง หลาน เหลน ฯลฯ (สำหรับพ่อแม่ ลูก ภรรยา สามี ถือว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด ขอให้กันไว้ต่างหากเพราะเรามีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ต่างกันออกไป) - ญาติโดยความใกล้ชิดคุ้นเคย เช่น เป็นเพื่อนสนิทสนมกับเราโดยตรง หรือสนิทสนมกับญาติทางสายโลหิตของเรา  ๒.  ญาติทางธรรม หมายถึงผู้เป็นญาติเพราะเหตุ ๔ ประการคือ - เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นภิกษุ - เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นสามเณร - เป็นญาติเพราะให้นิสัย - เป็นญาติเพราะสอนธรรมะให้ วิธีร่อนหาญาติแท้ๆ      คนรู้จักกันที่เรียกว่าญาตินั้น ไม่ใช่เพียงรู้จักตัว ไม่ใช่เพียงรู้จักว่าเวลานี้เขาจะช่วยอะไรเราบ้าง แต่จะต้องมีใจผูกพันกับผู้ที่ตนถือว่าเป็นญาติเสมอ แม้แยกย้ายกันไปก็อยากรู้ข่าวคราวว่าผู้นั้นทุกข์หรือสุข หากเดือดร้อนก็พร้อมจะช่วยสงเคราะห์ อย่างนี้เรียกว่าญาติ ญาติที่แท้ต้องมีใจผูกพันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้ารู้จักกันเพียงผิวเผินจากไปแล้วก็แล้วกันไปอย่างนี้ไม่นับเป็นญาติ ยิ่งถ้ารู้จักมักคุ้นกันนั้นดีกับเราเฉพาะยามเราเจริญคำก็พี่น้องสองคำก็พี่น้อง แต่เราเพลี่ยงพล้ำลง ชักหันมาเล่นแง่ จะแล่เอาเนื้อจะเถือเอาหนัง คนอย่างนี้ไม่ใช่ญาติแน่นอน วิธีพิจารณาว่าใครเป็นญาติทำได้ง่ายๆคือ ใครก็ตามที่เมื่อเราเจ็บป่วย แล้วพอรู้ข่าวคราวก็มาเยี่ยมเยียนในยามที่เราปราศจาก ลาภ ยศ ตำแหน่งหน้าที่การงานอันมีเกียรติแล้วยังปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อเรา หรือถ้าเราตายก็พร้อมจะไปเผาศพเรานั่นแหละจึงนับว่าเป็นญาติ ลักษณะญาติที่ควรสงเคราะห์ ๑. เป็นคนที่พยายามช่วยเหลือตนเองก่อนแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เอะอะมีอะไรก็วิ่งมาหาท่าเดียว งอมืองอเท้าไม่ยอมช่วยตนเอง ๒. รู้จักทำตัวให้น่าช่วย มีความประพฤติดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข มีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ เวลาที่ควรสงเคราะห์ญาติ ๑. เมื่อยากจนหาที่พึ่งไม่ได้ ๒. เมื่อขาดทุนทรัพย์ค้าขาย ๓. เมื่อขาดยานพาหนะ ๔. เมื่อขาดอุปกรณ์ทำกิน ๕. เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ๖. เมื่อคราวมีธุระการงาน ๗. เมื่อคราวถูกใส่ความ มีคดี  เรื่องการสงเคราะห์ญาติ จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ครั้นจะว่ายากก็เหมือนง่าย คนทิ้งญาติพี่น้องเสียผู้เสียคนไปก็มี คนที่เอาพี่เอาน้องจนตัวเองแทบตายทั้งเป็นก็มาก เรื่องนี้จึงต้องมีขอบเขต มีวิธีการที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าใครทำอะไรให้ญาติแล้วจะดีเสมอไป วิธีสงเคราะห์ญาติทางโลก ความมุ่งหมายของการสงเคราะห์ญาติอยู่ที่การผูกสามัคคีรวมน้ำใจญาติให้เป็นปึกแผ่น โดยใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ ดังนี้ ๑. ทาน หมายถึง การเอื้อเฟื้อแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ให้ของฝากยามเยี่ยมเยียน ให้ของขวัญยามมงคล ให้ของกินของใช้ยามตรุษยามสารท ตลอดจนให้ทุนรอนทำมาหากิน โดยควรจะตั้งงบกลางไว้สำหรับสงเคราะห์ญาติโดยเฉพาะ และเมื่อแบ่งปันให้ญาติไปแล้ว ก็ไม่คิดจะทวงคืน แต่ถ้าเขานำมาคืนเองก็ควรเก็บสำรองไว้ในงบกลางนี้อีกสำหรับสงเคราะห์ญาติคนอื่นๆที่เดือดร้อนต่อไป ๒. ปิยวาจา พูดจาต่อกันด้วยคำสุภาพอ่อนโยน เรียกสรรพนามตามศักดิ์ เช่น เรียกลุง ป้า น้า อา อันเป็นภาษาของคนรักใคร่กัน ถึงจะโกรธเคืองขัดใจกันก็ไม่แช่งชักหักกระดูก หรือนินทาว่าร้าย ๓. อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ญาติ คือ ช่วยเหลือเมื่อมีธุระการงาน เช่น แต่งงาน บวชนาค เจ็บป่วย  เป็นความ งานศพ และอื่นๆ อย่างน้อยก็ให้กำลังใจ ๔. สมานัตตตา วางตัวกับญาติให้เหมาะสมกับฐานะ ตำแหน่ง เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม เคารพญาติผู้ใหญ่ เอ็นดูญาติผู้น้อย เสมอต้น เสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ทอดทิ้งกัน วิธีสงเคราะห์ญาติทางธรรม คือ ชักชวนญาติให้รู้จักประกอบการบุญการกุศล ชักพาให้ได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้ตั้งอยู่ในศรัทธา สอนธรรมะให้ ชักนำ ให้บวช ชักนำให้ปฏิบัติธรรม ข้อเตือนใจ การสงเคราะห์ญาติเป็นความดี เป็นมงคลแก่ผู้ทำ แต่ทั้งนี้ต้องทำตามวิถีทางที่ถูกต้อง คือ ต้องไม่เอาการช่วยเหลือญาติพี่น้องมาทำให้เสียความเป็นธรรมในหน้าที่ของตน ทางฝ่ายญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้ขอรับความช่วยเหลือยิ่งต้องคิดให้มาก ถ้ารักกันจริงแล้วไม่สมควรที่จะไปขอร้อง ญาติพี่น้องที่มีบุญวาสนามีอำนาจหน้าที่ ให้เขาทำผิด ให้ช่วยเหลือเรา ในทางที่ไม่เป็นธรรม อย่าขอร้องหรือแม้แต่จะทำให้เขาต้องกังวลใจ ที่จะมาทำความผิดเพื่อผลประโยชน์ของเรา การขอร้องญาตินั้นไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม และไม่เสียมารยาทแต่อย่างใด ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าอย่าขอให้เขาทำผิดเพื่อเราก็แล้วกัน จะเห็นได้ว่า มงคลที่ ๑๑, ๑๒, ๑๓ เป็นการสงเคราะห์บิดามารดา บุตร ภรรยา แต่การสงเคราะห์ญาติแทนที่จะอยู่ต่อมาเป็น มงคลที่ ๑๔ กลับเป็น มงคลที่ ๑๗ โดยต้องฝึกทำงานเป็นใน มงคลที่ ๑๔ บำเพ็ญทานในมงคลที่ ๑๕ และประพฤติธรรมมีความเที่ยงตรงไม่ลำเอียงใน มงคลที่ ๑๖ ก่อน จึงจะสงเคราะห์ญาติ เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวกให้เสียธรรม อานิสงส์การสงเคราะห์ญาติ ๑. เป็นฐานป้องกันภัย ๒. เป็นฐานอำนาจ ๓. เป็นบุญกุศล ๔. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ๕. ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน ๖. ทำให้เกิดความสามัคคีกัน ๗. ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน ๘. เป็นเหตุแห่งสันติสุขไปทั่วโลก ๙. เป็นประเพณีอันดีงามของนำปราชญ์ ๑๐. ทำให้ตระกูลใหญ่โต มั่นคง ๑๑. ทำให้มีญาติมากทุกภพทุกชาติ ๑๒. เป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ๑๓. เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น “ตระกูลใด ที่หมู่ญาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงวงศ์วาน ให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จะเป็นที่เกรงขามแก่บุคคลทั้งหลาย แม้ผู้มุ่งร้ายก็ไม่กล้ามาเบียดเบียน ประดุจความหนาทึบแห่งกอไผ่ที่มีหนามแวดล้อมอยู่รอบข้างย่อมไม่มีใครเข้ไปตัดได้ง่ายๆ หรือเหมือนดังกอบัวที่เจริญงอกงามอยู่ในสระย่อมเป็นที่เจริญใจ แก่ผู้พบเห็น”          "โรงงานที่ดีมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงเพราะผลิตผลงานได้มากเท่านั้นแต่จะต้องผลิตผลงานที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ด้วย เช่นกัน คนเราจะเจริญก้าวหน้า ทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ไม่ใช่เพียงเพราะทำงานได้มากเท่านั้น แต่จะต้องเลือกทำเฉพาะงานที่ไม่มีโทษด้วย" งานไม่มีโทษคืออะไร งานไม่มีโทษ หมายถึง งานที่ไม่มีตำหนิ ดีพร้อม ยุติธรรม ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนใคร แต่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ความสามารถในการทำงานของคน มีอยู่ ๒ ระดับ คือ “ขั้นทำได้” กับ “ขั้นทำดี” “ทำได้” หมายถึง การทำงานสักแต่ให้เสร็จๆไป จะเกิดประโยชน์หรือไม่ เพียงใด ไม่ต้องคำนึง เป็นลักษณะของคนไม่รับผิดชอบงาน “ทำดี” หมายถึง การเป็นผู้คิดให้รอบคอบ ถึงผลได้ ผลเสียทุกแง่มุมแล้วจึงเลือกทำเฉพาะแต่ที่เป็นประโยชน์จริงๆ สิ่งใดที่ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเพียงพอ ก็ไม่ทำสิ่งนั้น พูดสั้นๆก็คือ ถ้าทำต้องให้ดี ถ้าไม่ดีต้องไม่ทำ กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ทำได้” หมายถึง ทำสิ่งต่างๆได้ตามที่ตนอยากได้อยากทำ เช่น อยากด่าใครก็ด่า อยากได้ยศ อยากได้ตำแหน่ง ก็มุ่งมั่นช่วงชิงเอาให้ได้ ผิดถูกชั่วดีอย่างไรไม่ต้องคำนึง การทำได้จึงเป็นเพียงคุณสมบัติขั้นต้นของคนทำงานเท่านั้น มือชั้นดีจริงแล้ว ต้องถึงขั้น “ทำดี” คนทำดีนั้นมีคุณสมบัติในตัวถึง ๒ อย่างคือนอกจากจะ “ทำได้” แล้วยังสามารถเลือก “ไม่ทำก็ได้” ถ้าเห็นว่าทำแล้ว จะไม่ดี อย่างนี้จึงจะเก่งแท้ อาจจะเปรียบได้ว่า คนทำงานขั้นทำได้ก็เหมือนกับ เด็กทารกที่เพิ่งรู้จักกิน ทำเป็นแต่เพียงหยิบอะไรใส่เข้าปาก แล้วกลืนลงท้องไป กินขั้นนี้เรียกว่า “กินได้” ยังไม่ใช่คนกินเป็น ยังไม่มีความดีวิเศษอะไรนัก ถ้าพี่เลี้ยงเผลออาจหยิบสิ่งที่เป็นพิษใส่เข้าปากแล้วกลืนลงท้อง ให้ผู้ใหญ่เดือดร้อนต้องวิ่งหาหมอก็ได้ แต่คน “กินเป็น” จะต้องรู้จักเลือกของกิน เห็นว่าควรกินจึงกิน ถ้าไม่ควรกินก็ไม่กิน เช่นกัน นักทำงานที่เก่งแท้ ต้องถึง “ทำดี” คือ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำงานได้ แต่ต้องเห็นว่างานที่จะทำเป็นงานที่ดีควรทำจึงลงมือทำ วิธีพิจารณางานว่ามีโทษหรือไม่ ในการพิจารณางานที่ทำ ว่าเป็นงานมีโทษหรือไม่ ต้องไม่ถือเอาคำติชมของคนพาลมาเป็นอารมณ์ เพราะคนพาลนั้น เป็นคนมีอาการวิบัติทางใจ ความคิดความเห็น ผิดเพี้ยนไปหมด สิ่งใดที่ถูกก็เห็นเป็นผิด ที่ผิดกลับเห็นเป็นถูก หรือที่ดีคนพาลก็เห็นเป็นเรื่องชั่ว แต่เรื่องที่ชั่วกลับเห็นเป็นเรื่องที่ดีถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ ส่วนบัณฑิตนั้น เป็นคนมีความคิดเห็นถูกต้อง รู้จำผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ ทั้งเป็นคนมีศีลมีสัตย์ คนประเภทนี้ ใจกับปากตรงกัน เราจึงควรรับฟ้งคำติชมของบัณฑิตด้วยความเคารพ หลักที่บัณฑิตใช้คำติชมใช้พิจารณาว่างานมีโทษหรือไม่นั้น มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน แบ่งเป็นหลักทางโลก ๒ ประการ และหลักทางธรรม ๒ ประการ องค์ประกอบของงานไม่มีโทษ งานไม่มีโทษจะต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการดังนี้ ๑. ไม่ผิดกฎหมาย ๒. ไม่ผิดประเพณี ๓. ไม่ผิดศีล ๔. ไม่ผิดธรรม ๑. ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายเป็นระเบียบข้อบังคับซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม การทำผิดกฎหมายทุกอย่างจัดเป็นงานมีโทษทั้งสิ้น แม้บางอย่างจะไม่ผิดศีลธรรมข้อใดเลย เช่น การปลูกบ้านในเขตเทศบาล ต้องขออนุญาตตามเทศบัญญัติ ถ้าไม่ขอผิด การทำอย่างนี้ทางธรรมไม่ถือว่าผิด เพราะปลูกในที่ของเราเอง และด้วยเงินทองของเรา แต่การกระทำดังกล่าวก็เป็นงานมีโทษ คือ มีตำหนิ และโปรดทราบด้วยว่า เมื่อใครทำงานมีโทษก็ย่อมผิดหลักธรรมอยู่นั้นเองอย่างน้อยก็ผิดมงคล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสั่งสอนเป็นหนักหนา ทั้งพระ ทั้งชาวบ้าน ได้เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยเคร่งครัด ไม่เคยปรากฏในที่ใดเลยว่า พระศาสดาของเรา สอนพุทธศาสนิก ให้แข็งข้อต่อกฎหมาย แม้จะเอาการประพฤติธรรม หรือความเป็นพระ เป็นสงฆ์ เป็นข้ออ้างแล้วทำการดื้อแพ่ง ก็หาชอบด้วยพุทธประสงค์ไม่ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาต้องการให้ศาสนิกเป็นคนรักสงบและให้เคารพพระราชกำหนดกฎหมาย ชาวพุทธต้องไม่ทำตัว “ดื้อแพ่ง” ต่อกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าในกรณีใดๆ ถ้าเราพิจารณาในแง่มงคลแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า การทำผิดกฎหมายนั้นเป็นอัปมงคลแน่ เพราะเป็นการสร้างความผิดคล้องคอตัวเอง ๒. ไม่ผิดประเพณี ประเพณีหมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมของมหาชนในถิ่นหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อคนทั้งหลายเขาถือกันเป็นส่วนมากและนิยมว่าดี ก็กลายเป็นกฎของสังคม ใครทำผิดประเพณีถือว่าผิดต่อมหาชน เช่น ประเพณีแต่งงาน ประเพณีต้อนรับแขก ประเพณีรับประทานอาหาร ประเพณีทำความเคารพผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ จึงต้องศึกษาให้ดี เราชาวพุทธเมื่อจะเข้าไปสู่ชุมชนใด ก็ต้องถามไถ่ดูก่อนว่า เขามีประเพณีอย่างไรบ้าง อะไรที่พอจะโอนอ่อนผ่อนตามได้ ก็ทำตามเขา แต่ถ้าเห็นว่า ทำไปแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเรา เสียหายแก่ภูมิธรรม และศักดิ์ศรีของขาวพุทธ ก็ควรงดเสียอย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ประเพณีไม่ให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุ ดูถูกผู้หญิง ของคนบางเหล่า ประเพณีถือฤกษ์ยาม จนแทบไม่มีโอกาสทำมาหากิน ประเพณีห้ามถ่ายอุจจาระปัสสาวะซ้ำที่ของชาวอินเดียบางกลุ่ม จนกระทั่งไม่สามารถทำส้วมใช้ ๓. ไม่ผิดศีล ศีลเป็นพื้นฐานของการทำความดีทุกอย่าง แม้ในไตรสิกขาซึ่งถือเป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็บ่งไว้ว่า ศีล เป็นพื้นฐานของสมาธิ สมาธิ เป็นพื้นฐานของปัญญา ปัญญา เป็นเครื่องบรรลุนิพพาน ดังนั้นผู้ที่คิดจะสร้างความดีโดยไม่นำพาในการรักษาศีลเลย จึงเป็นการคิดสร้างวิมานในอวกาศ เราชาวพุทธทั้งหลายควรพิจารณาทุกครั้งก่อนทำงาน งานที่เราจะทำนั้นขัดต่อศีล ๕ หรือไม่ ถ้าผิดศีลก็ไม่ควร ให้งดเว้นจากการเหยียบย่ำทำลายศีล และงดเว้นจากการสนับสนุน ผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษ แต่ไม่มีศีล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “เธอพึงพิจารณาเนื่องๆว่า ตัวเราเองตำหนิตัวเราเองโดยศีล ได้หรือไม่ เธอพึงพิจารณาเนื่องๆ ว่าท่านผู้รู้ใคร่ครวญแล้วตำหนิเราโดยศีลได้หรือไม่ " ๔. ไม่ผิดธรรม ธรรมคือความถูก ความดี ในการปฏิบัติงานทุกครั้งต้องคำนึงถึงข้อธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ถี่ถ้วน เพราะ งานบางอย่างแม้จะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี และไม่ผิดศีล แต่อาจผิดหลักธรรมได้ ดังเช่น การผูกโกรธ คิดพยาบาท ผิดหลักกุศลกรรมบถ การเกียจคร้าน  ผิดหลักอิทธิบาท การเป็นนักเลงการพนัน เจ้าชู้ ผิดหลักอบายมุข ดังนั้นเมื่อเราทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานทางกาย ทางวาจา หรือทางใจก็ตาม เราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี ศีล และ ธรรม จึงจะได้ชื่อว่า เป็นคนทำงานไม่มีโทษ คนบางคนมีปัญหาว่า ใจก็ต้องการทำงนไม่มีโทษ แต่ทำงานครั้งใดกว่าจะรู้ว่างานที่ตัวทำเป็นงานมีโทษ ก็สายไปเสียแล้ว ทำไปแล้วจึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนที่รู้ก่อนทำ วิธีรู้ก่อนทำ     ทางศาสนาสอนเรื่องการทำงานไว้ว่า “นิสสมม กรณ เสยโย” คือ “ใคร่ครวญดูก่อน แล้วจึงลงมือทำ” นักทำงานสมัยนี้ก็มีคติว่า “อย่าดมก่อนเห็น อย่าเซ็นก่อนอ่าน” ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมนั้นเอง แต่การทำงานแบบนี้ คนหนุ่มสาวมักจะไม่ค่อยชอบเพราะใจร้อนเวลาเสนองานให้ผู้ใหญ่ พอท่านบอกว่า “ขอคิดดูก่อน” เด็กก็มักจะขัดใจหาว่าคนแก่ขี้ขลาดทำอะไรไม่เด็ดขาด ความจริงไม่ใช่เรื่องกล้าหรือขลาดแต่เป็นเรื่องการใช้ความคิด ท่านต้องการรู้ก่อนทำไม่ใช่ทำก่อนรู้ แล้วทำอย่างไรเราจึงจะรู้ก่อนทำ ข้อสำคัญคือ ต้องทำใจเราให้คลายความอวดดื้อถือทิฐิมานะ ต้องยอมรับว่า เราไม่ใช่คนเก่งที่สุด เราไม่ใช่คนฉลาดที่สุด ยังมีผู้ที่เกิดก่อนเรารู้เห็นมามากกว่าเรา ใครลดความลำพองผยองขนลงเสียได้ดังนี้ คนนั้นจะมีหวังเป็นคนรู้ก่อนทำ ถ้าปรับปรุงตัวอย่างนี้ไม่ได้ก็ไม่มีหวัง จะต้องเป็นคนทำก่อนรู้อยู่ร่ำไป สอบตกแล้วจึงรู้ว่าเกโรงเรียนไม่ดี ตับแข็งแล้วจึงรู้ตัวว่ากินเหล้ามากไป หมดตัวแล้วจึงรู้ว่าไม่ควรเล่นการพนัน หนักเข้าก็ต้องเข้าคุก แล้วจึงรู้ว่าบ้านเทือมีขื่อมีแป กรรมแท้ๆ ประเภทของงานไม่มีโทษ งานที่เราทำนั้นแบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ ๑. งานที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง ๒. งานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผู้ที่ทำงานไม่มีโทษก็หมายถึง ผู้ที่ทำงานทั้ง ๒ ประการนี้ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ตามกฎเกณฑ์ทั้ง ๔ ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว งานที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง คือการทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ เช่น ทำนา ทำสวน ค้าขาย เป็นครู เป็นช่างไม้ ช่างกล ฯลฯ ซึ่งในเรื่องการประกอบอาชีพนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อาชีพต้องห้ามต่อไปนี้ พุทธศาสนิกชนไม่ควรทำ ได้แก่ ๑. การค้าอาวุธ ๒. การค้ามนุษย์ ๓. การค้ายาพิษ ๔. การค้ายาเสพย์ติด ๕. การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า ใครก็ตามที่ประกอบอาชีพ ๕ ประการข้างต้นนี้ ได้ชื่อว่าทำงานมีโทษ และก่อให้เกิดโทษแก่ตนเองมากมายสุดประมาณ แม้จะร่ำรวยเร็วก็ไม่คุ้มกับบาปกรรที่ก่อไว้ งานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คือการทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือคนข้าเคียง และช่วยเหลืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่น สร้างสะพาน ทำถนน สร้างศาลาที่พักอาศัยข้างทาง ฯลฯ ข้อเตือนใจนักทำงานเพื่อส่วนรวม     ในการทำงาน ให้ทำเต็มที่ตามกำลังแต่อย่าทำจนล้นมือ และก่อนจะทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น เราจะต้องฝึกฝนตัวเราเองให้ดีก่อน ฝึกแก้นิสัยที่ไม่ดีๆในตัว ด้วยการประพฤติดังมงคลที่   ๑๖ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกระทั่งกับผู้อื่นเวลาทำงาน และเพื่อให้สามารถควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายว่าเพื่อสังคมจริงๆไม่ใช่เพื่อชื่อเสียง เพื่อความมีหน้า มีตา ของเราเองและให้รับรู้ว่า การทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น แท้จริงผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือ ตัวเราเอง คือ ได้ทั้งบุญกุศลและอุปนิสัยอันดีติดตัวไปเบื้องหน้า และเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ตัวเองอีกด้วย ส่วนประโยชน์ที่ผู้อื่นจะได้รับถือเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ถ้าคิดได้อย่างนี้จะทำให้ใจสบายมีกำลังใจในการทำงาน และไม่คิดทาวงบุญทวงคุณเอากับใคร นอกจากนั้น ผู้ที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม จะต้องหัดรักษาศีล ๘ รักษาอุโบสถศีล เพื่อเป็นการฝึกควบคุมอารมณ์ให้ดี เพราะการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น จะต้องคลุกคลีกับคนจำนวนมาก มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งเกินเลยกันได้ง่าย ทำให้เดือดร้อนในภายหลังทั้งๆที่ทำด้วยความหวังดี ตนเองก็มีกรรมติดตัวไป และก่อนที่จะทำงานเพื่อสังคม ให้ปรับปรุงสภาพในครอบครัวของตนให้ดี ต้องมีเวลาให้ลูก ให้ครอบครัวให้พอ ครอบครัวจะได้มั่นคงเป็นสุข ส่งผลให้เราทำงานได้เต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง การทำงานไม่มีโทษทั้งเพื่อตนเองและเพื่อสาธารณประโยชน์ท่านสรุปไว้ ๑๐ อย่าง ดังนี้ ตัวอย่างการทำงานไม่มีโทษ ๑. การรักษาอุโบสถศีล ๒. การทำงานช่วยเหลือกันในทางที่ชอบ ๓. การสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม เช่น วัด ๔. การปลูกต้นไม้เพื่อบูชาพระรัตนตรัย แลให้คนได้พึ่งพาอาศัย ๕. การสร้างสะพาน เพื่อให้คนสัญจรไปมาได้สะดวก ๖. การสร้างประปา สร้างแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำสะดวก ๗. การตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้ เพื่อให้คนได้ใช้สะดวกสบาย ๘. การให้ที่อยู่อาศัยแก่บุคคล ๙. การตั้งอยู่ในบุญกุศล หรือตั้งอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ๑๐. การถึงพร้อมด้วนศีลและการเจริญสมาธิภาวนา อานิสงส์การทำงานไม่มีโทษ คนทำงานมีโทษนั้น ได้กับเสียเป็นเงาตามตัวยิ่งได้งานมากก็ทุกข์ใจมาก เข้าทำนอง “อิ่มท้องแต่พร่องทางใจ” ยิ่งรวยได้ทรัพย์มากเท่าไรโอกาสที่จะเสียคนก็มากเท่านั้น ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ คุณความดีในตัวลดลงทุกที ส่วนคนที่ทำงานไม่มีโทษนั้นจะก้าวหน้าไปสู่ความสุขแท้และความเจริญแท้ถึงแม้จะไมรวยทรัพย์แต่ก็รวยความดี คนทำงานไม่มีโทษนั้นจะหลับก็เป็นสุข จะตื่นก็เป็นสุข ไม่อายใคร ไม่ต้องหวาดระแวงใคร เพราะงานที่ทำเป็นประโยชน์แก่โลกล้วนๆไม่มีโทษเข้าไปเอปนเลย ชื่อว่า ได้ทดแทนบุญคุณของโลกที่อาศัยเกิดมา เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะได้สันติสุขเป็นเรื่องตอบแทนไปชั่วกาลนาน “ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติมีการงานสะอาดใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรมไม่ประมาท”          "ก่อนจะแต่งตัวให้สวยงาม เราจำต้องอาบน้ำชำระล้างสิ่งสกปรกโสโครกออกก่อนฉันใด ก่อนจะปรับปรุงใจให้สะอาดบริสุทธิ์มีคุณธรรมสูงขึ้นเราก็จำต้องงดเว้นจากบาปทั้งปวงก่อนฉันนั้น" บาปคืออะไร ?      สิ่งของที่เสีย เรามีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น บ้านเสียเราเรียกบ้านชำรุด อาหารเสียเราเรียก อาหารบูด ฯลฯ คำจำพวกที่ว่า บูด ชำรุด แตกหัก ผุพัง เน่า ขาด ขึ้นรา ฯลฯ ถ้าพูดรวมๆ เรียกว่า เสีย หมายความว่า มันไม่ดี  อาการเสียของจิตก็เหมือนกัน เราเรียกแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว ฯลฯ แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่า เศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ เป็นคำบอกว่าจิตเสีย ซึ่งความเสียของจิตนี้ทางศาสนาท่านใช้คำสั้นๆ ว่า “บาป” คำว่าบาป จึงหมายถึงความเสียของจิตนั่นเอง คือการที่ใจมีคุณภาพต่ำลง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น กำเนิดบาป  การกำเนิดของบาป ในทัศนะของศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ต่างกับของศาสนาพุทธอย่างมาก เช่น แนวคิดในศาสนาคริสต์ก็ดี อิสลามก็ดี สอนว่าบาปจะเกิดเมื่อผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เช่น พระผู้เป็นเจ้าสั่งให้นึกถึงพระองค์อยู่เป็นประจำ ถ้าลืมนึกไปก็เป็นบาป หรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์สั่งให้ไม่ให้เอ่ยนามพระองค์โดยไม่จำเป็น ถ้าใครเอ่ยนามพระเจ้าพร่ำเพรื่อก็เป็นบาป  ยิ่งไปกว่านั้นตามความเชื่อของเขา บาปยังมีการตกทอดไปถึงลูกหลานได้อีกด้วย เช่น ในศาสนาคริสต์ เขาถือว่า ทุกคนเกิดมามีบาปติดตัวมาด้วยทั้งนั้น เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสืบเชื้อสายมาจากคนบาปคืออาดัมกับอีวา ซึ่งขัดคำสั่งพระเจ้าแอบไปกินแอปเปิ้ลในสวนเอเดน ถูกพระเจ้าปรับโทษเอาเป็นบาป ลูกหลานทั่วโลกจึงมีบาปติดต่อมาด้วย โดยนัยนี้ศาสนาคริสต์เชื่อว่าบาปตกทอดถึงกันได้โดยสายเลือด  สำหรับพระพุทธศาสนาเนื่องจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกสมาธิมาอย่างดีเยี่ยมไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน เป็นผลให้พระองค์ทรงเห็นและรู้จักธรรมชาติของกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และสามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้นออกไปได้โดยสิ้นเชิงและเด็ดขาดพระองค์ได้ตรัสสรุปเรื่องการกำเนิดของบาปไว้อย่างชัดเจนว่า “นตฺถิ ปาปํ อกุนฺนโต” “บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป” อตฺตนาว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ” “ใครทำบาป คนนั้นก็บาปเอง” “อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนาววิสุชฺฌติ” “ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์”  พระพุทธวจนะนี้เป็นเครื่องยืนยันการค้นพบของพระองค์ว่าบาปเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งติดต่อกันได้ ใครทำบาปคนนั้นก็ได้บาป ใครไม่ทำบาปก็รอดตัวไป พ่อทำบาปก็เรื่องของพ่อ ลูกทำบาปก็เรื่องของลูก คนละคนกันเปรียบเหมือนพ่อกินข้าวพ่อก็อิ่ม ลูกไม่ได้กินลูกก็หิว หรือลูกกินข้าวลูกก็อิ่ม พ่อไม่ได้กินพ่อก็หิว ไม่ใช่พ่อกินข้าวอยู่ที่บ้านลูกอยู่บนยอดเขาแล้วจะอิ่มไปด้วย เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำใครได็  ดังนั้นตามความเห็นของพุทธศาสนา บาปจึงเกิดที่ตัวคนทำเองคือเกิดที่ใจของคนทำ ใครไปทำชั่วเข้าบาปก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพ เศร้าหมอง ขุ่นมัวไป ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไป ไม่เกี่ยวกับคนอื่น วิธีล้างบาป  เมื่อทัศนะในเรื่องกำเนิดบาปต่างกันดังกล่าว วิธีล้างบาประหว่างศาสนาที่มีพระเจ้า กับของพระพุทธศานาจึงห่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เชื่อผู้สร้าง ผู้ศักดิ์สิทธิ์ สอนว่า พระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้ โดยการไถ่บาป ขออย่างเดียวให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน  แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหาใครเสมอเหมือนมิได้ตรัสสอนว่า สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ “ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว” นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย “ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”  พระพุทธวจนะทั้งหมดนี้ ปฏิเสธทัศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอดไปยังอีกคนหนึ่งได้และปฏิเสธลัทธิที่ว่า บาปที่คนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้  วิธีการล้างบาปในพุทธศาสนาสามารถทำได้อย่างมีเหตุผลดังนี้  สมมุติว่าเรามีเกลืออยู่ช้อนหนึ่ง ใส่ลงไปในน้ำ ๑ แก้ว เมื่อคนให้ละลาย แล้วลองชิมดู ผลเป็นอย่างไร  “ก็เค็ม”  ถ้าเอาน้ำแก้วนี้ใส่ลงในถังน้ำแล้วเติมน้ำให้เต็ม ชิมดูเป็นอย่างไร  “ก็แค่กร่อยๆ “  ถ้าเอาน้ำในถังนี้ ใส่ลงในแท้งค์น้ำฝนใบใหญ่ ชิมดูเป็นอย่างไร  “ก็จืดสนิท”  “เกลือหายไปไหนหรือเปล่า”  “เปล่า ยังอยู่ครบถ้วนตามเดิม”  “แล้วทำไมไม่เค็ม”  “ก็เพราะน้ำ มันมีปริมาณมาก เจือจางจนกระทั่งเกลือหมดฤทธิ์ เราจึงไม่รู้สึกถึงความเค็ม พระท่านเรียก อัพโพหาริก แปลว่า มีเหมือนไม่มี คือเกลือนั้นยังมีอยู่แต่ว่าหมดฤทธิ์เสียแล้ว ถือได้ว่าไม่มี”  เช่นกัน วิธีล้างบาปในพุทธศาสนาก็คือ การตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาเจือจางบาปลงไป การทำบุญอุปมาเสมือนเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่แทนได้ แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาเจือจางบาปให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้ งดเว้นจากบาปหมายความว่าอย่างไร  งด หมายถึง สิ่งใดที่เคยทำแล้วหยุดเสีย เลิกเสีย  เว้น หมายถึง สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ไม่ยอมทำเลย  งดเว้นจากบาป จึงหมายความว่า การกระทำใดก็ตามทั้ง กาย วาจา ใจ ที่เป็นความชั่ว ความร้ายกาจ ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าเราเคยทำอยู่ก็จะงดเสีย ที่ยังไม่เคยทำก็จะเว้นไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป  คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่  ๑.ฆ่าสัตว์ เช่น ฆ่าคน ยิงนกตกปลา รวมถึงทรมานสัตว์  ๒.ลักทรัพย์ เช่น ลักขโมย ปล้น ฉ้อโกง หลอกลวง คอรัปชั่น  ๓.ประพฤติผิดในกาม เช่น เป็นชู้ ฉุดคร่า อนาจาร  ๔.พูดเท็จ เช่น พูดโกหก พูดเสริมความ ทำหลักฐานเท็จ  ๕.พูดส่อเสียด เช่น พูดยุยงให้เขาแตกกัน ใส่ร้ายป้ายสี  ๖.พูดคำหยาบ เช่น ด่า ประชด แช่งชักหักกระดูก ว่ากระทบ  ๗.พูดเพ้อเจ้อ เช่น พูดพล่าม พูดเหลวไหล พูดโอ้อวด  ๘.คิดโลภมาก เช่น อยากได้ในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์คนอื่น  ๙.คิดพยาบาท เช่น คิดอาฆาต คิดแก้แค้น คิดปองร้าย  ๑๐.คิดเห็นผิด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าบิดามารดาไม่มีพระคุณ เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่ากฎแห่งกรรมไม่มี วิธีงดเว้นจากบาปให้สำเร็จ  คนเราประกอบขึ้นด้วยกายและใจ โดยใจจะเป็นผู้คอยควบคุมกายให้ทำหรือไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ  ตามที่ใจต้องการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  “ทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใครมีใจชั่วเสียแล้ว การพูดการกระทำของเขาก็ย่อมชั่วตามไปด้วย เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น ความทุกข์ก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนวงล้อเกวียนที่หมุนเวียนตามบดขยี้รอยเท้าโคที่ลากมันไป  แต่ถ้ามีใจบริสุทธิ์ การพูด การกระทำ ก็ย่อมบริสุทธิ์ตามไปด้วย เพราะการพูด การกระทำที่บริสุทธิ์ดีงามนั้น ความสุขก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากร่างฉะนั้น”  ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาหาความสุข ความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงต้องฝึกใจตนเองให้งดเว้นบาป ซึ่งทำได้โดย ต้องฝึกให้ใจมีหิริโอตตัปปะเสียก่อน หิริโอตตัปปะคืออะไร  หิริ คือ ความละอายบาป เป็นความรู้สึกรังเกียจ ไม่อยากทำบาป เห็นบาปเป็นของสกปรกจะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป  โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้ว บาปจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป  สมมุติว่าเราเห็นเหล็กชิ้นหนึ่งเปื้อนอุจจาระอยู่เรามีความรู้สึกรังเกียจไม่อยากจับต้องเกรงว่าอุจจาระจะมาเปื้อนมือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับ หิริคือความละอายต่อบาป  สมมุติว่า เราเห็นเหล็กท่อนหนึ่งเผาไฟอยู่จนร้อนแดง เรามีความรู้สึกกลัว ไม่กล้าจับต้อง เพราะเกรงว่าความร้อนจะลวกเผาไหม้มือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป  “สัตบุรุษ ผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก” (พุทธสุภาษิต) เหตุที่ทำให้เกิดหิริ  ๑.คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากินนั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉาน ทำไมต้องมาแย่งผัวแย่งเมียเขา ไม่ใช่หมู หมา กา ไก่ ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี้มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว” พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น  ๒.คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ยเราก็แก่ป่านนี้แล้วจะมาขโมยของเด็กรุ่นลูก รุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น  ๓.คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “เราก็เคยมีความองอาจกล้าหาญทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ ไม่ยอมทำความชั่วละ” พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน หิริก็เกิดขึ้น  ๔.คำนึงถึงความเป็นพหูสูต “ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้วจะมาทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น  ๕.คำนึงถึงพระศาสดา “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า พระองค์สู้ทนเหนื่อยยาก ตรัสรู้ธรรมแล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมา เราจะละเลยคำสอนของพระองค์ ไปทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น  ๖.คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครูอาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ แล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ  ๑.กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง “เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป”  ๒.กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทันตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่” เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป  ๓.กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขา อีกหน่อยต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ทำดีกว่า"  เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ โอตตัปปะก็เกิดขึ้นจึงไม่ยอมทำบาป ข้อเตือนใจ  การทำชั่ว เหมือนการเดินตามกระแสน้ำ เดินไปได้ง่าย ทุกๆ คนพร้อมที่จะ กระทำสิ่งต่างๆ ไปตามกระแสกิเลสอยู่แล้ว ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ยอม ตกเป็นทาสของกิเลส กระทำสิ่งต่างๆ ตามอำนาจของความอยากก็จะประสบทุกข์ในบั้นปลาย  การทำดี เหมือนการเดินทวนกระแสน้ำ เดินลำบากต้องใช้ความอดทน ใช้ความมานะพยายามต้องระมัดระวังไม่ให้ลื่นล้ม การทำความดีเป็นการทวนกระแสกิเลสในตัว ไม่ทำสิ่งต่างๆ ตามอำเภอใจ คำนึงถึงความถูกความดีเป็นที่ตั้งไม่ยอมเป็นทาสของความอยากเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบ ใช้ความมานะพยายามสูง แต่จะประสบสุขในบั้นปลาย  การทำกลางๆ เหมือนยืนอยู่เฉยๆ กลางกระแสน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ คนที่คิดว่า “ฉันอยู่ของฉันอย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่ความดีฉันก็ไม่สนใจที่จะทำ” เข้าทำนองบุญก็ไม่ทำ กรรมก็ไม่สร้าง วัดก็ไม่เข้า เหล้าก็ไม่กิน เขาย่อมจะมีโอกาสเผลอไปทำความชั่วได้ในไม่ช้า เพราะใจของคนเราพร้อมที่จะไหลเลื่อนลงไป ในที่ต่ำตามอำนาจกิเลสอยู่แล้ว ผู้ที่คิดอย่างนี้ จึงเป็นคนประมาทอย่างยิ่ง  ดังนั้นเราชาวพุทธทั้งหลาย นอกจากจะต้องพยายามงดเว้นบาปเพื่อป้องกันใจของเราไม่ให้ไหลเลื่อนไปทางต่ำแล้ว จะต้องหมั่นยกใจของเราให้สูงอยู่เสมอ ด้วยการขวนขวายสร้างสมบุญกุศลอยู่เป็นนิจ อานิสงส์การงดเว้นบาป  ๑.ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย  ๒.ทำให้เกิดมหากุศลตามมา  ๓.ทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน  ๔.ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท  ๕.ทำให้เกิดศรัทธาในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น  ๖.ทำให้จิตใจผ่องใส พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป        "ไม้ขีดเพียงก้านเดียว อาจเผาผลาญเมืองทั้งเมืองให้มอดไหม้ไปได้ฉันใด น้ำเมาแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของเราได้ฉันนั้น " สำรวมจากการดื่มน้ำเมาหมายถึงอะไร  น้ำเมา โดยทั่วไปหมายถึงเหล้า แต่ในที่นี้หมายถึง ของมึนเมาให้โทษทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือแห้ง รวมทั่งสิ่งเสพย์ติดทุกชนิด  ดื่ม ในที่นี้หมายถึงการทำให้ซึมซาบเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะโดยวิธี ดื่ม ดม อัด นัตถุ์ สูบ ฉีด ก็ตาม  สำรวม หมายถึง ระมัดระวังในนัยหนึ่ง และเว้นขาดในอีกนัยหนึ่ง เหตุที่ใช้คำว่าสำรวม      พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประเภทมีเหตุผล บางศาสนาเห็นโทษของเหล้า เห็นโทษของแอลกอฮอล์ เพราะฉะนั้นนอกจากห้ามดื่มแล้วเอามาทาแผลก็ไม่ได้ คนตายแล้วเอาแอลกอฮอล์มาเช็ดล้างศพก็ไม่ได้เพราะเป็นของบาป  แต่ในพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามเหมารวมหมดอย่างนั้น เพราะ ทรงมองเห็นว่าเหล้าหรือสิ่งเสพย์ติดแม้จะมีโทษมหันต์ แต่ในบางกรณีก็อาจนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น ใช้ฉีดระงับความเจ็บปวด หรือยาบางอย่างต้องอาศัยเหล้าสกัดเอาตัวยาออกมาเพื่อใช้รักษาโรค คือเอาเหล้าเพียงเล็กน้อยมาเป็นกระสายยา ไม่มีรสไม่มีกลิ่นเหล้าคงอยู่ อย่างนี้ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้าม แต่บางคนที่อยากจะดื่มเหล้าแล้วหาข้ออ้างนำเหล้ามาทั้งขวด เอายาใส่ไปนิดหน่อยอย่างนั้นเป็นการเอายามากระสายเหล้า ใช้ไม่ได้  โดยสรุปสำรวมจากการดื่มน้ำเมา จึงหมายถึง การระมัดระวังเมื่อใช้สิ่งเสพย์ติดทั้งหลายในการรักษาโรค และเว้นขาดจากการเสพสิ่งเสพย์ติดให้โทษทุกชนิดไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม โทษของการดื่มน้ำเมา  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปโทษของการดื่มสุราไว้ ๖ ประการคือ  ๑.ทำให้เสียทรัพย์ เพราะไหนจะต้องซื้อเหล้ามาดื่มเอง ไหนจะต้องเลี้ยงเพื่อน งานการก็ไม่ได้ทำ ดังนั้น แม้เป็นมหาเศรษฐี ถ้าติดเหล้า ก็อาจจะล่มจมได้  ๒.ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เพราะกินเหล้าแล้วขาดสติไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จะเห็นได้ว่าในวงเหล้ามักจะมีเรื่องชกต่อย ตีรันฟันแทงอยู่เสมอ เพื่อนรักกัน พอเหล้าเข้าปากประเดี๋ยวเดียวก็ฆ่ากันเสียแล้ว  ๓.ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง ทั้งโรคตับแข็ง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตในสมองแตก โรคทางระบบประสาท ฯลฯ  ๔.ทำให้เสียชื่อเสียง เพราะไปทำสิ่งที่ไม่ดีเข้า ใครรู้ว่าเป็นคนขี้เมาก็จะดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครไว้วางใจ  ๕.ทำให้แสดงอุจาดขาดความละอาย พอเมาแล้วอะไรที่ไม่กล้าทำก็ทำได้ จะนอนอยู่กลางถนน จะเอะอะโวยวาย จะถอดเสื้อผ้าในที่สาธารณะทำได้ทั้งนั้น  ๖.ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย พอเมาแล้ว จะคิดอะไรก็คิดไม่ออก อ่านหนังสือก็ไม่ถูก พูดจาวกวน พอดื่มหนักๆ เข้าอีกหน่อยก็กลายเป็นคนหลงลืม ปัญญาเสื่อม  “เหล้าจึงผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง ผลาญทรัพย์ ผลาญไมตรี ผลาญสุขภาพ ผลาญเกียรติยศ ผลาญศักดิ์ศรี ผลาญสติปัญญา”  การดื่มเหล้านั้น ทำให้เกิดความสุขได้บ้างสำหรับคนที่ติด แต่เป็นความสุขหลอกๆ บนความทุกข์ เหล้าทำให้เพลินเพลิน แต่เป็นการเพลิดเพลินในเรื่องเศร้า  การดื่มน้ำเมามอมตัวเองวันแล้ววันเล่า จึงเป็นการบั่นทอนทุกสิ่งทุกอย่างของตนเองแม้ที่สุดความสุขทางใจ ที่คนเมาเห็นว่าตนได้จากการเสพสิ่งเสพย์ติดนั้น ก็เป็นความสุขจอมปลอม โทษข้ามภพข้ามชาติของการดื่มสุรา      เหล้าไม่ได้มีโทษเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ยังมีโทษติดตัวผู้ดื่มไปข้ามภพข้ามชาติมากมายหลายประการ ตัวอย่างเช่น  ๑.ทำให้เกิดเป็นคนใบ้ พวกนี้ตายในขณะเมาเหล้า คนที่เมาเหล้ากำลังได้ที่ ลิ้นจุกปากกันทั้งนั้น พูดไม่รู้เรื่อง ได้แต่ส่งเสียง “แบะๆ” พอตายแล้วก็ตกนรก จากนั้นกลับมาเกิดใหม่ กรรมยังติดตามมา เลยเป็นใบ้  ๒.ทำให้เกิดเป็นคนบ้า พวกนี้ภพในอดีตดื่มเหล้ามามาก เวลาเมาก็มีประสาทหลอน เวรนั้นติดตัวมา ในภพชาตินี้เกิดมาก็เป็นบ้า อยู่ดีๆ ก็ได้ยินเสียงคนมากระซิบบ้างเห็นภาพหลอนว่าคนนั้นคนนี้จะมาฆ่าบ้าง  ๓.ทำให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน พวกที่ดื่มเหล้าจัดๆ ตอนเมาก็คิดอะไรไม่ออกอยู่แล้ว ด้วยเวรสุรานี้ก็ส่งผลให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน  ๔.ทำให้เกิดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ว่าจะเป็นตะกวด งู เหี้ย มาจากพวกขี้เมาทั้งนั้น พวกนี้ซ้อมคลานมาตั้งแต่ตอนเป็นคนพอตายเข้าได้คลานสมใจนึก วิธีเลิกเหล้าให้ได้เด็ดขาด  ๑.ตรองให้เห็นโทษ ว่าสุรามีโทษมหันต์ดังได้กล่าวมาแล้ว  ๒.ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเลิกโดยเด็ดขาด ให้สัจจะกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือกับพระ  ๓.สิ่งใดที่จะเป็นสื่อให้คิดถึงเหล้า เช่น ภาพโฆษณา เหล้วตัวอย่างขนไปทิ้งให้หมด ถือเป็นของเสนียด นำอัปรีย์จัญไรมาให้บ้าน  ๔.นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองให้มากว่า เราเป็นชาวพุทธ เป็นลูกพระพุทธเจ้า เป็นศิษย์มีครู เป็นคนมีเกียรติยศ เป็นทายาทมีตระกูล นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองอย่างนี้แล้วจะได้เลิกเหล้าได้  ๕.เพื่อนขี้เหล้าขี้ยาทั้งหลาย เลิกคบให้หมด ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็มาชวนเราไปดื่มเหล้าอีก ข้อนี้สำคัญที่สุด ตราบใดยังเลิกคบเพื่อนขี้เหล้าไม่ได้ จะไม่มีทางเลิกเหล้าได้เลย อานิสงส์การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา  ๑.ทำให้เป็นคนมีสติดี  ๒.ทำให้ไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา  ๓.ทำให้ไม่มีความรำคาญ ไม่มีใครริษยา  ๔.ทำให้รู้กิจการทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รวดเร็ว  ๕.ทำให้ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นใบ้ ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน  ๖.ทำให้มีแต่ความสุข มีแต่คนนับถือยำเกรง  ๗.ทำให้มีชื่อเสียง เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป  ๘.ทำให้มีความกตัญญูกตเวที  ๙.ทำให้ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด  ๑๐.ทำให้ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ  ๑๑.ทำให้มีหิริโอตตัปปะ  ๑๒.ทำให้มีความเห็นถูก มีปัญญามาก  ๑๓.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย        "ในการก่อสร้างอาคาร จำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ฉันใดในการสร้างความดีทุกชนิด ก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาทเป็นแกนหลักรองรับฉันนี้ " ความไม่ประมาทคืออะไร ?  ความไม่ประมาท คือ การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใดๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสในการทำความดี ตระหนักดีถึงสิ่งที่ต้องทำ ถึงกรรมที่ต้องเว้นใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำอย่างจริงจังและดำเนินรุดหน้าตลอดเวลา  ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง กล่าวได้ว่าคำสอนในพุทธศาสนาทั้งหมด เมื่อสรุปแล้ว ก็คือสอนให้เราไม่ประมาท ดังจะเห็นได้จากปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” ไม่ประมาทในธรรมหมายความว่าอย่างไร      คำว่า “ธรรม” ในที่นี้หมายถึง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาแปลเอาความท่านแปลว่าเหตุ หมายถึงต้นเหตุ ข้อธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อ ถ้าดูให้ดีแล้วล้วนแต่เป็นคำบอกเหตุทั้งสิ้นคือ บอกว่าถ้าทำเหตุอย่างนี้แล้ว จะเกิดผลอย่างนั้น หรือไม่ก็บอกว่าผลอย่างนี้เกิดมาจากเหตุอย่างนั้น เช่น ความขยันหมั่นเพียรเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ความเกียจคร้านเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม  ดังนั้น “ไม่ประมาทในธรรม” จึงหมายถึง “ไม่ประมาทในเหตุ” ให้มีสติรอบคอบตั้งใจทำเหตุที่ดีอย่างเต็มที่ เพื่อให้บังเกิดผลดีตามมานั่นเอง ลักษณะของผู้ที่ยังประมาทอยู่  ๑.พวกกุสีตะ คือพวกไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี เป็นพวกเกียจคร้าน เช่น เวลาเรียนไม่ตั้งใจเรียนแต่อยากสอบได้ งานการไม่ทำ แต่ความดีความชอบจะเอา ไม่ทำประโยชน์แก่ใคร แต่อยากให้คนทั้งหลายนิยมชมชอบ ทาน ศีล ภาวนา ไม่ปฏิบัติ แต่อยากได้สวรรค์ นิพพาน ฯลฯ  ๒.พวกทุจริตะ คือพวกทำเหตุเสียแต่จะเอาผลดี เป็นพวกทำอะไรตามอำเภอใจ แต่อยากได้ผลดี เช่น ทำงานเหลวไหลเสียหาย แต่พอถึงเวลาพิจารณาผลงานอยากได้เงินเดือนเพิ่ม ๒ ขั้น ปากเสียเที่ยวด่าว่าชาวบ้านทั่วเมืองแต่อยากให้ทุกคนรักตัว ฯลฯ  ๓.พวกสิถิละ คือพวกทำเหตุดีเล็กน้อยแต่จะเอาผลดีมากๆ เป็นพวกค้ากำไรเกินควร เช่น จุดธูป ๓ ดอกบูชาพระ แต่จะเอาสวรรค์วิมาน มีนางฟ้า เทวดา คอยรับใช้นับหมื่นนับแสน อ่านหนังสือแค่ ๑ ชั่วโมง แต่จะเอาที่ ๑ ในชั้น เลี้ยงข้าวเขาจานหนึ่ง แต่จะให้เขาจงรักภักดีต่อตัวไปจนตาย  รวมความแล้วผู้ที่ยังประมาทอยู่มี ๓ จำพวกคือ พวกไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี พวกทำเหตุเลวแต่จะเอาผลดี พวกทำเหตุน้อยแต่จะเอาผลมาก ส่วนผู้ไม่ประมาทในธรรม มีคุณสมบัติตรงข้ามกับคน ๓ จำพวกดังกล่าว คือ จะต้องไม่เป็นคนดูเบาในการทำเหตุ ต้องทำแต่เหตุที่ดี ทำให้เต็มที่ และทำให้สมผล ผู้ที่ไม่ประมาททุกคนจะต้องมีสติอยู่เสมอ สติคืออะไร ?  สติ คือ ความระลึกนึกได้ถึงความผิด ชอบ ชั่ว ดี เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้คิด ทำ พูด ในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ลืมตัว ไม่เผลอตัว ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้  ธรรมชาติของจิต มีการนึกคิดตลอดเวลา การนึกคิดนี้ถ้าไม่มีสติกำกับ ก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ใช้งานอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้ว จะทำให้ไม่เผลอ ควบคุมความนึกคิดได้ ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ หน้าที่ของสติ  ๑.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความระมัดระวังตัว ป้องกันภัยที่จะมาถึงตัว คือ ระแวงในสิ่งที่ควรระแวง และระวังป้องกันภัยที่จะมาถึงในอนาคต  ความระแวง หมายถึง ความกริ่งเกรงล่วงหน้าว่า จะมีความเสียหายอันใดเกิดขึ้น เช่น คนกำลังขับรถขณะฝนตก ถนนลื่น ก็ระแวงว่ารถจะคว่ำ ระแวงว่าจะมีรถอื่นสวนมาในระยะกระชั้นชิด ส่วนความระวังคือ การป้องกันไม่ให้ภัยชนิดนั้นๆ เกิดขึ้น เช่น ลดความเร็วลง ตั้งใจขับมากขึ้น อย่างนี้เป็นต้น  ๒.สติเป็นเครื่องยับยั้ง เตือนไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม ไม่ให้มัวเมาลุ่มหลง ไม่ให้เพลิดเพลินไปในสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษต่อตนเอง เช่น เพื่อนชวนไปดื่มเหล้า ก็มีสติยับยั้งตัวเองไว้ว่า อย่าไป เพราะเป็นโทษต่อตัวเอง ฯลฯ  ๓.สติเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขวนขวายในการสร้างความดีไม่แชเชือนหยุดอยู่กับที่ ไม่ทอดธุระ ไม่เกียจคร้าน ป้องกันโรค “นอนบิดติดเสื่อ งานการเบื่อทำไม่ไหว ข้าวปลากินได้อร่อยดี”  ๔.สติเป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น คือ เมื่อเตือนตัวเองให้ทำความดีแล้วก็ให้ทำอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่อืดอาดยืดยาด ไม่ทำแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ  ๕.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ ตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ตระหนักถึงสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ  ๖.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการทำงานไม่สะเพร่า ไม่ชะล่าใจว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร คำอุปมาสติ  สติเสมือนเสาหลัก ปักแน่นในอารมณ์คือ คนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคือในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบสติเสมือนเสาหลัก  สติเสมือนนายประตู คือ สติจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามากระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์ก็ปล่อยผ่านไป แต่ถ้าสิ่งใดเป็นโทษสติก็จะเป็นตัวยับยั้ง เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน  สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อว่าของที่ได้เข้ามาและออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป  สติเสมือนหางเสือ เพราะสติจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น ไม่ให้ตัวของเราไปทำในสิ่งที่ไม่ควร ประโยชน์ของสติ  ๑.ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เช่น จะดูหนังสือก็สนใจคิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น จะทำสมาธิใจก็จรดนิ่ง สงบตั้งมั่น ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เพราะฉะนั้น “ที่ใดมีสติ ที่นั่นมีสมาธิ ที่ใดมีสมาธิ ที่นั่นมีสติ”  ๒.ทำให้ร่างกายและจิตใจ อยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่างเบา ผ่อนคลาย เป็นสุข โดยสภาพของมันเองพร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม  ๓.ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุดเพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระมีพลัง เพราะมีสติควบคุม เสมือนเรือที่มีหางเสือควบคุมอย่างดีย่อมสามารถแล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยไม่วกวน  ๔.ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริบูรณ์  ๕.ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพราะมีสติ จึงไม่เผลอไปเกลือกกลั้วบาปอกุศลกรรม ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยปัญญา หรือเหตุผลบริสุทธิ์ การฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาท  ๑.มีสติระลึกถึง การละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะไปทำชั่วทำบาปอะไรเข้า ก็มีสติระลึกได้ทันที ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบาปหรือไม่ ถ้าเป็นบาปก็ไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด  ๒.มีสติระลึกถึง การประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะทำอะไรก็มีสติระลึกได้เสมอ ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบุญเป็นกุศลหรือไม่ ถ้าเป็นกุศลจึงจะทำ  ๓.มีสติระลึกถึง ความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้เสมอว่า การเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน นั้นมีทุกข์มากเพียงไร เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ไม่ยอมทำชั่วเลย เพราะเกรงว่าจะต้องไปเกิดในอบายภูมิเช่นนั้น  ๔.มีสติระลึกถึง ความทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด ของสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่า ถ้าเรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ ก็ต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป จึงหาโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้าพระนิพพานให้ได้เร็วที่สุด จะได้หมดทุกข์ เมื่อระลึกเช่นนี้บ่อยๆ ย่อมไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ได้ในที่สุด  ๕.มีสติระลึกถึง กรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ขาดจากสันดานอยู่เนืองๆมิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่าการที่เราจะทำดีหรือทำชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ว่าใจของเราจะเข้มแข็งทรงพลังเอาชนะความทะยานอยากต่างๆ ได้หรือไม่ และวิธีที่จะฝึกใจได้ดีที่สุดคือ การฝึกทำสมาธิ จึงต้องหาเวลาทำสมาธิภาวนาไม่ขาดเลย สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง  ๑.ไม่ประมาทในเวลา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า “วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่” อย่ามัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ เช่น เล่นไพ่ คุยโม้ ดูแฟชั่น ให้เร่งรีบทำงานให้เต็มที่แข่งกับเวลา เพราะเวลามีน้อย เมื่อกินชีวิตไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้  ๒.ไม่ประมาทในวัย มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าตัวยังเป็นเด็กอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวันๆ หนึ่ง เพราะถ้านับอายุตั้งแต่ชาติแรกๆ จนถึงบัดนี้ แต่ละคนต่างมีอายุคนละหลายกัปแล้ว  ๓.ไม่ประมาทในความไม่มีโรค มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้ากรรมชั่วในอดีตตามมาทันอาจป่วยเป็นโรค ไม่สบายเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้เต็มที่  ๔.ไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่ สุขสบายดี เราจะยังมีขีวิตอยู่อีกนาน เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้า จึงเร่งรีบขวนขวายในการละความชั่ว สร้างความดีและทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างเต็มที่ ทุกรูปแบบ ทุกโอกาส  ๕.ไม่ประมาทในการงาน มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะทำงานทุกอย่างที่มาถึงมือให้ดีที่สุด ทำอย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง  ๖.ไม่ประมาทในการศึกษา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่ อะไรที่ควรอ่านควรท่องก็จะรีบอ่านรีบท่องโดยไม่แชเชือน ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิตทุกๆ อย่าง  ๗.ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อโดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอจนแก่ค่อยเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็หูตึงฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด ลุกก็โอย นั่งก็โอย เมื่อระลึกได้เช่นนี้ จึงมีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรมเพราะทราบดีว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งชีวต คือ พระนิพพาน อานิสงส์การไม่ประมาทในธรรม  ๑.เป็นมหากุศล  ๒.เป็นคนไม่ตาย  ๓.ป้องกันอบาย  ๔.คลายจากกองทุกข์  ๕.สนุกในธรรม  ๖.นำสู่กุศล  ๗.มีผลเป็นสุข  ๘.ปลุกตนให้ตื่น  ๙.ชื่นชมเบิกบาน  ๑๐.เผาผลาญความชั่ว “ปมาโท อจฺจุโน แทํ”  “ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย” “อปฺปมาโท อมตํ ปทํ” “ความไม่ประมาท เป็นทางอมติ” (พุทธพจน์) “เวลาใด บัณฑิตกำจัดความประมาท ด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้น เขานับว่าได้ขึ้นสู่ปราสาท คือ ปัญญา ไร้ความเศร้าโศก สามารถมองเห็นประชาชนผู้โง่เขลา ผู้ยังต้องเศร้าโศกอยู่ เสมือนคนยืนอยู่บนยอดเขา มองลงมาเห็นฝูงชน ที่ยืนอยู่บนพื้นดินฉะนั้น” (พุทธพจน์   "เมื่อจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด เราจำเป็นต้องรู้จักคุณสมบัติของสิ่งนั้นก่อนฉันใดผู้ที่จะรับประโยชน์จากบุคคลอื่นได้ ก็จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลทั้งหลายก่อนฉันนั้น" ความเคารพคืออะไร ?  ความเคารพ หมายถึง ความตระหนักซาบซึ้งรู้ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสมทั้งต่อหน้าและลับหลัง  วัตถุทั้งหลายในโลก ต่างมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของมัน ถ้าใครทราบคุณสมบัติเหล่านั้นตามความเป็นจริง ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น นักวิทยาศาสตร์รู้คุณสมบัติของแม่เหล็ก ก็นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ รู้คุณสมบัติของแร่เรเดียม ก็นำไปใช้รักษาโรคมะเร็งได้  แต่การที่จะรู้คุณสมบัติตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ นั้นทำได้ยากมาก เป็นวิสัยของนักปราชญ์ ของผู้มีปัญญาเท่านั้น  เช่นกัน คนทั้งหลายในโลก ต่างก็มีคุณความดีในตัวต่างๆ กันไปมากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน ผู้ใดทราบถึงคุณความดีของบุคคลทั้งหลายได้ตามความเป็นจริง ก็จะเป็นประโยชน์ ทำให้มีโอกาสที่จะถ่ายทอดคุณความดีนั้นๆ จากผู้อื่นมาสู่ตนเอง แต่การจะสามารถรู้เห็นถึงคุณความดีของผู้อื่นก็ทำได้ยาก ยิ่งกว่าการรู้คุณสมบัติของวัตถุต่างๆ เพราะมีกิเลสมาบังใจ เช่น มีความคิดลบหลู่คุณท่านบ้าง ความไม่ใส่ใจบ้าง ความทะนงตัวบ้าง ทำให้มองคนอื่นกี่คนๆ ก็ไม่เห็นมีใครดี คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี คนไหนก็ไม่ดี ไม่เห็นมีใครดีสักคน ถ้าจะมีก็เห็นจะมีอยู่คนเดียว...ใคร? ตัวเอง  คนพวกนี้เป็นพวกตาไม่มีแวว คือ ตาก็ใสๆ ดี แต่ไม่เห็นเพราะขาดความสังเกต มองคุณความดีของคนอื่นไม่ออก เมื่อมองความดีของเขาไม่ออกก็ไม่สนใจที่จะถ่ายทอดเอาความดีของเขา เข้ามาสู่ตัวเอง  ดังนั้น คนที่มีปัญญามากจนกระทั่งตระหนักในคุณความดีของผู้อื่นจึงจัดเป็นคนพิเศษจริงๆ เพราะใจของเขาได้ยกสูงขึ้นแล้ว พ้นจากมานะต่างๆ เปิดกว้าง พร้อมที่จะรองรับความดีจากผู้อื่นเข้าสู่ตน คนชนิดนี้คือ คนที่มีความเคารพ สิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง  ในโลกนี้มีคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ การงาน และอะไรๆ อีกมากมายจนนับไม่ถ้วน ที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะให้เรามีความเคารพ ไม่ดูเบา ตระหนักในสิ่งมีคุณค่าที่สำคัญ ๗ ประการ ได้แก่  ๑.ให้มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ๒.ให้มีความเคารพในพระธรรม  ๓.ให้มีความเคารพในพระสงฆ์  ๔.ให้มีความเคารพในการศึกษา  ๕.ให้มีความเคารพในสมาธิ  ๖.ให้มีความเคารพในความไม่ประมาท  ๗.ให้มีความเคารพในการต้อนรับแขก  ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ตระหนักถึงพระคุณความดีอันมีอยู่ในพระองค์ ซึ่งกล่าวโดยย่อได้แก่ พระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ และแสดงออกซึ่งความเคารพนี้  สมัยเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็แสดงความเคารพโดย  ๑.เข้าเฝ้าทั้ง ๓ กาล คือ เช้า กลางวัน เย็น  ๒.เมื่อพระองค์ไม่สวมรองเท้าจงกรม เราจะไม่สวมรองเท้าจงกรม  ๓.เมื่อพระองค์จงกรมในที่ต่ำ เราจะไม่จงกรมในที่สูงกว่า  ๔.เมื่อพระองค์ประทับในที่ต่ำ เราจะไม่อยู่ในที่สูงกว่า  ๕.ไม่ห่มผ้าคลุมบ่าทั้งสอง ในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น  ๖.ไม่สวมรองเท้าในที่ทอดพระเนตรเห็น  ๗.ไม่กั้นร่มในที่ทอดพระเนตรเห็น  ๘.ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่ทอดพระเนตรเห็น  สมัยเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วก็แสดงความเคารพโดย  ๑.ไปไหว้พระเจดีย์ตามโอกาส  ๒.ไปไหว้สังเวชนียสถาน คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ตามโอกาส  ๓.เคารพพระพุทธรูป  ๔.เคารพเขตพุทธาวาส คือ เขตโบสถ์  ๕.ไม่สวมรองเท้าในลานพระเจดีย์  ๖.ไม่กั้นร่มในลานพระเจดีย์  ๗.เมื่อเดินใกล้พระเจดีย์ ไม่เดินไปพูดไป  ๘.เมื่อเข้าในเขตวัด ก็ถอดรองเท้า หุบร่ม ถ้าเป็นพระภิกษุต้องลดไหล่ ไม่ทำ อาการต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความกระด้าง หยาบคาย  ๙.ปฏิบัติตนตามพุทธโอวาทอยู่เป็นนิตย์ ความเคารพในพระธรรม คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้  ๑.เมื่อมีประกาศแสดงธรรมก็ไปฟัง  ๒.ฟังธรรมด้วยความสงบ สำรวม ตั้งใจ  ๓.ไม่นั่งหลับ ไม่นั่งคุยกัน ไม่คิดฟุ้งซ่าน ขณะฟังธรรม  ๔.ไม่ดูหมิ่นพระธรรม  ๖.บอกธรรม สอนธรรม โดยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด  ความเคารพในพระสงฆ์ คือ ตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้สืบอายุพระศาสนา แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้  ๑.กราบไหว้ โดยกิริยาอาการเรียบร้อย  ๒.นั่งเรียบร้อย ไม่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก  ๓.ไม่สวมรองเท้า กั้นร่ม ในที่ประชุมสงฆ์  ๔.ไม่คะนองมือ คะนองเท้าต่อหน้าท่าน  ๕.เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่แสดงธรรม  ๖.เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่อวดรู้แก้ปัญหาธรรม  ๗.ไม่เดิน ยืน นั่ง เบียดพระเถระ  ๘.แลดูท่านด้วยจิตเลื่อมใส  ๙.ต้อนรับท่านโดยไทยธรรม  ความเคารพในการศึกษา คือตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาหาความรู้ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดย ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ทั้งทางโลกและทางธรรม จะศึกษาเรื่องใดก็ศึกษาให้ถึงแก่น ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ทำเหยาะแหยะ บำรุงการศึกษา สนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม  ความเคารพในสมาธิ คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของการทำสมาธิแล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดย ตั้งใจฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะสมาธิเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างความดีทั้งหลาย เป็นการฝึกฝนตนเองอย่างยิ่งยวด ทำให้รู้และเข้าใจธรรมอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากในไตรสิกขา ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่าศีลจะเป็นพื้นฐานทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย แล้วสมาธิจะทำให้เกิดปัญญาซึ่งเป็นเครื่องพาเราให้บรรลุนิพพาน จะเห็นว่าเรารักษาศีลก็เพื่อไม่ให้ไปทำความชั่ว ทำให้ใจไม่เศร้าหมองเป็นสมาธิได้ง่าย และปัญญาก็เกิดจากสมาธิ สมาธิจึงเป็นหัวใจหลักในการทำความดีทุกชนิด แม้การกำจัดกิเลสเข้าพระนิพพาน  มีบางคน พยายามจะเข้าถึงธรรม โดยการอ่านและฟังธรรมโดยไม่ยอมทำสมาธิ แม้เขาจะอ่านจะท่องธรรมะได้มากเพียงใด ก็ย่อมไม่มีโอกาสเข้าถึงธรรมได้เลย เพราะความรู้ธรรมจากการอ่านการท่องนั้นเป็นเพียงพื้นฐานความรู้เท่านั้น จะบังเกิดผลเป็นดวงปัญญารู้แจ้ง สว่างไสว ต่อเมื่อได้นำไปปฏิบัติด้วยการทำสมาธิอย่างยิ่งยวดแล้วเท่านั้น  ยังมีบางคนกล่าวว่า การทำสมาธิเป็นส่วนเกินบ้าง เป็นการเสียเวลาเปล่าบ้าง ถ้าพบใครที่กล่าวเช่นนี้ ก็พึงทราบทันทีว่า เขากล่าวตู่พุทธพจน์เสียแล้ว เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ไม่ควรคบ เพราะเขายกตัวของเขาเองเข้าข้างตัวเองว่าเก่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว ใช้ไม่ได้  ความเคารพในความไม่ประมาท คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการมีสติกำกับตัวในการทำงานต่างๆ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดยหมั่นฝึกสติเพื่อให้ไม่ประมาท ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาอยู่เนืองๆ มิได้ขาด  ความเคารพในการต้อนรับแขก คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการต้อนรับแขก ว่าทำให้ไม่ก่อศัตรู ปกติคนเราจะให้ดีพร้อม ทำอะไรถูกใจคนทุกอย่าง ย่อมเป็นไปไม่ได้ อาจมีช่องว่าง รอยโหว่ ข้อบกพร่องบ้าง การต้อนรับแขกนี้จะเป็นการปิดช่องว่างรอยโหว่ในตัว ทำให้ได้มิตรเพิ่ม เราจึงต้องให้ความสำคัญแก่ผู้มาเยือน ด้วยการต้อนรับ ๒ ประการ ดังนี้  ๑.อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น อาหาร น้ำดื่ม เลี้ยงดูอย่างดี ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ฯลฯ  ๒.ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม เช่น สนทนาธรรมกัน แนะนำธรรมะให้แก่กัน ฯลฯ       นอกจากตัวเราจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการต้อนรับแขกแล้ว แม้คนในบ้านก็ต้องฝึกให้ต้อนรับแขกเป็นด้วย ไม่เช่นนั้นจะพลาดไปเช่น ข้าราชการผู้ใหญ่บางคนตัวเองต้อนรับแขกได้ดีเยี่ยมเลย แต่ไม่ได้ฝึกคนในบ้านไว้ เวลาตนไม่อยู่มีแขกมาหาที่บ้าน เด็กและคนรับใช้พูดจากับเขาไม่ดี ทำให้เขาผูกใจเจ็บ คิดหาทางแก้แค้น หาทางโจมตีเอา จนต้องเสียผู้เสียคนก็มากต่อมาก โดยที่ตนก็ไม่รู้สาเหตุว่าเขาเป็นศัตรูเพราะอะไร  เมื่อเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คนในโลกนี้มีหลายพันล้านคน สิ่งของ เหตุการณ์ การงานในโลกนี้ มีหลายแสนหลายล้านอย่าง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสนใจอย่างจริงจัง ๗ อย่าง ดังนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การศึกษา สมาธิ ความไม่ประมาท และการต้อนรับ ทั้ง ๗ ประการนี้มีความสำคัญเพียงใดโปรดคิดดู  สิ่งที่ควรเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นแกนหลักของความเคารพทุกอย่าง เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่งทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของสิ่งอื่นๆ ได้ ชัดเจนและละเอียดลึกซึ้งขึ้น กลายเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงผู้หนึ่ง  เมื่อฝึกตนเองให้มากด้วยความเคารพแล้ว ในไม่ช้านิสัยชอบจับผิดผู้อื่น ก็จะค่อยๆ หายไป เจอใครก็จะคอยมองแต่คุณความดีของเขา ต่อไปความชั่วทั้งหลายเราก็จะนึกไม่ออก นึกออกแต่ความดีและวิธีทำความดีเท่านั้น ตัวเราก็จะกลายเป็นที่รวมแห่งความดีเหมือนทะเลเป็นที่รวมของน้ำฉะนั้น  การแสดงความเคารพ  การแสดงความเคารพ คือ การแสดงความตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เราเคารพด้วยใจจริงให้ปรากฏชัดแก่บุคคลทั่วไป ด้วยการแสดงออกทางกาย วาจา มีอยู่หลายวิธี เช่นหลีกทางให้ ลุกขึ้นยืนต้อนรับการให้ที่นั่งแก่ท่าน การประนมมือเวลาพูดกับท่าน การกราบ การไหว้ การขออนุญาตก่อนทำกิจต่างๆ การวันทยาวุธ การวันทยาหัตถ์ การยิงสลุด การลดธง ฯลฯ  การแสดงความเคารพที่ถูกต้องตามหลักธรรม หมายถึง การแสดงออกเพราะตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เคารพด้วยใจจริง นักเรียนที่คำนับครูเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกตัดคะแนนความประพฤติ ทหารที่ทำวันทยาหัตถ์ผู้บังคับบัญชาเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นความเคารพ เป็นแต่เพียงวินัยอย่างหนึ่งเท่านั้น  ข้อเตือนใจ  ดังได้กล่าวแล้วว่า ความเคารพคือ การตระหนักในความดีของคนอื่นและสิ่งอื่น ซึ่งผู้ที่จะตระหนักในความดีของคนอื่นสิ่งอื่นได้ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งเป็นทุนอยู่ในใจก่อน คือ มีปัญญา ความรู้จักผิดชอบชั่วดีพอสมควร  และเมื่อเราแสดงความเคารพออกไปแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะรู้ทันทีว่า “อ้อ คนนี้เขามีคุณธรรมสูง มีความเคารพและมีแววปัญญา” เขาก็เกิดความตระหนักในความดีของเราและแสดงกิริยาเคารพต่อเราที่เรียกว่ารับเคารพ  แต่ถ้าผู้ใด เมื่อมีคนมาแสดงความเคารพแล้ว เฉยเสียไม่แสดงความเคารพตอบ ผู้นั้นจัดเป็นคนน่าตำหนิอย่างยิ่ง เพราะการเฉยเสียนั้นเท่ากับบอกให้ชาวโลกรู้ว่า “ตัวข้านี้ แสนจะโง่เง่าหามีปัญญาพอที่จะเห็นคุณความดีในตัวท่านไม่” เท่านั้นเอง  คนที่ไม่อยากแสดงความเคารพคนอื่น หรือเมินเฉยต่อการเคารพตอบ มักเป็นเพราะเข้าใจว่าการแสดงกิริยาเคารพออกมานั้นนเป็นการลดสง่าราศีของตน แล้วเอาไปเพิ่มให้แก่คนอื่น เลยเกิดเสียดายเกรงว่าตัวเองจะไม่โต หรือเกรงว่าคนอื่นจะไม่รู้ว่าตัวโต ซึ่งเป็นการคิดผิดอย่างยิ่ง  อานิสงส์การมีความเคารพ  ๑.ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู น่าเกรงใจ  ๒.ทำให้ได้รับความสุขกาย สบายใจ  ๓.ทำให้ผิวพรรณผ่องใส  ๔.ทำให้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีเวร ไม่มีภัย  ๕.ทำให้สามารถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย  ๖.ทำให้ผู้อื่นอยากช่วยเหลือเพิ่มเติมคุณความดีให้  ๗.ทำให้สติดีขึ้น เป็นคนไม่ประมาท  ๘.ทำให้เป็นคนมีปัญญาละเอียดอ่อน รู้จริง และทำได้จริง  ๙.ทำให้เกิดในตระกูลสูงไปทุกภพทุกชาติ  ๑๐.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย       "มหาสมุทรซึ่งเป็นที่ไหลมารวมกันของน้ำจากทุกสารทิศ จะต้องมีระดับพื้นที่ต่ำกว่าพื้นที่ตรงต้นน้ำทั้งหลายฉันใด ผู้ที่ต้องการจะถ่ายทอดคุณความดีจากบุคคลทั้งหลาย ก็จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนก่อนฉันนั้น" ความถ่อมตนคืออะไร ?  ความถ่อมตนมาจากภาษาบาลีว่า “นิวาโต”  วาโต แปลว่า ลม พองลม  นิ แปลว่า ไม่  นิวาโต แปลว่า ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือ เอามานะทิฐิออกมีความสงบเสงี่ยม เจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง จองหอง ความแตกต่างระหว่างความเคารพกับความถ่อมตน  ความเคารพ เป็นการปรารภผู้อื่น คือ ตระหนักในคุณงามความดีของผู้อื่น พบใครก็คอยจ้องหาข้อดีของเขา ไม่จับผิด สามารถประเมินคุณค่าของผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง แล้วแสดงอาการเคารพนับถือด้วยกาย วาจา ใจ  ส่วนความถ่อมตน เป็นการปรารภตนเอง คือ คอยตามพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง จับผิดตัวเอง สามารถประเมินค่าของตนเองได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่อวดดื้อถือดี สามารถน้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตัวได้เต็มที่  คนที่มีความเคารพอาจขาดความถ่อมตนก็ได้ เช่น บางคนเมื่อพบคนดีก็ตระหนักในความดีความสามารถของเขา คือมีความเคารพแต่ขณะเดียวกันถ้าจะให้อ่อนเข้าไปหาเขาทำไม่ได้ ชอบเอาตัวเข้าไปเทียบด้วย แล้วใจของตัวก็พองรับทันทีว่า “ถึงเอ็งจะแน่ แต่ข้าก็หนึ่งเหมือนกัน” ใจของเขาจะพองเหมือนอึ่งอ่างพองลม คอยแต่คิดว่า “ข้าวิเศษกว่า” ทุกที  สิ่งที่คนทั่วไปหลงถือเอาทำให้ถือตัว  ๑.ชาติตระกูล เช่น คิดว่า “ตระกูลฉันนี้เป็นตระกูลใหญ่ เชื้อสายผู้ดีเก่า พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กี่รุ่นกี่รุ่น มีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด คนอื่นจะมาเทียบฉันได้อย่างไร” เมื่อหลงถือว่าตนมีชาติตระกูลสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น  ๒.ทรัพย์สมบัติ เช่น คิดว่า “เฮอะ ทรัพย์สินเงินทองของฉันมีมากมาย จะซื้อจะหาอะไรก็ได้อย่างใจ ไม่เห็นจะต้องไปง้อ ไปเกรงใจใคร” เมื่อหลงถือว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น  ๓.รูปร่างหน้าตา เช่น คิดว่า “ฮึ ฉันนี้สวยน้อยหน้าใครเสียเมื่อไหร่ ดูซี ผิวก็ละเอียด จมูกก็โด่ง ตาก็กลม นางงามจักรวาลที่ว่าสวยๆ ลองมาเทียบกันดูสักทีเถอะน่า ไม่แน่หรอก” เมื่อหลงถือว่าตนมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น  ๔.ความรู้ความสามารถ เช่น คิดว่า “ฉันนี้ความรู้ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญาที่ไหนที่ว่ายากๆ กวาดมาหมดแล้ว ฝีมือก็แน่กว่าใคร ใครๆ ก็สู้ฉันไม่ได้” เมื่อหลงถือว่าตนมีความรู้ความสามารถสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น  ๕.ยศตำแหน่ง เช่น คิดว่า “ฮึ ฉันนี้มันชั้น ผู้อำนวยการกองอธิบดี ปลัดกระทรวง ซี๘ ซี๙ ซี๑๐ ซี๑๑ แล้ว ใครจะมาแน่เท่าฉัน” เมื่อหลงถือว่าตนมียศตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น  ๖.บริวาร เช่น คิดว่า “เฮอะ สมัครพรรคพวก ลูกน้องฉันมีเยอะแยะใครจะกล้ามาหือ ใครจะกล้ามากำเริบเสิบสาน” เมื่อหลงถือว่าตนมีบริวารมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น  คนทั่วไปมักหลงยึดเอาสิ่งต่างๆ ๖ ประการนี้เป็นข้อถือดีของตัว หาได้เคยคิดไม่ว่า สิ่งต่างๆ ที่ว่านั้น มันจะเป็นของเราตลอดไปหรือไม่ จิรังยั่งยืนหรือเปล่า ที่ว่าหล่อๆ สวยๆ พออายุสักหกสิบเจ็ดสิบจะมีใครอยากมอง เศรษฐี มหาเศรษฐี ทำการค้าผิดพลาดเข้า ล่มจมกลายเป็นยาจกภายในวันเดียวก็มีตัวอย่างมามากแล้ว และถึงจะเป็นเศรษฐีไปจนตายก็ใช่ว่าจะขนเงินขนทองไปปรโลกด้วยได้เมื่อไหร่ ถ้าไม่รู้จักสร้างคุณความดี ถึงมีเงินทองมากเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งทุกข์มาก ทั้งหา ห่วง หวง ยศตำแหน่ง บริวารนั้นก็มิใช่ว่าจะคงอยู่กับเราอย่างนั้นตลอดไป ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ เป็นเพียงสิ่งสมมุติกันขึ้นเพื่อให้คนในสังคมทำงานตามหน้าที่ของตนเท่านั้น สิ่งที่จะคงอยู่กับตัวเราอย่างแน่นอนและช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริงๆ คือ ความดีในตัวของเราต่างหาก  และการที่เราถือตัวเย่อหยิ่ง ทะนงตนนั้น มันทำให้อะไรในตัวเราดีขึ้นบ้าง จะทำให้คนอื่นนับถือว่าตัวเรายิ่งใหญ่ ก็หามิได้ รังแต่จะทำให้เขาเกลียดชังเหม็นหน้า เหมือนคนอยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์จึงอมลมเข้าเต็มปากทำให้แก้มตุ่ย ใครเห็นเข้าแทนที่จะชม เขาก็มีแต่จะหัวเราะเยาะ และขืนอมลมอยู่อย่างนั้น ข้าวก็กินไม่ได้น้ำก็กินไม่ได้ตัวก็มีแต่จะผอมซูบซีดลงทุกที  แท้จริง ผู้ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นทั้งกายและใจนั้น จะต้องเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเต็มที่เท่านั้น ผู้ที่ฉลาด จึงไม่ควรหลงยึดเอาสิ่งเหล่านี้ มาทำให้ตนเกิดความถือตัว โทษของการอวดดื้อถือดี  ๑.ทำให้เสียตน เพราะเป็นคนรับความดีจากคนอื่นไม่ได้ กลัวเสียเกียรติ ประเมินค่าตนสูงกว่าความเป็นจริง คิดแต่ว่าเราดีอยู่แล้ว ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ โบราณท่านจึงมีคำสอนเตือนใจไว้ว่า “ลูกท่านหลานเธอ ลูกเจ้าบ้านหลานเจ้าวัด มักจะเอาดีไม่ค่อยได้” เพราะมักจะติดนิสัยอวดดีถือตัว ยโสโอหัง จึงไม่มีใครอยากแนะนำสั่งสอนให้ ทำผิดก็ไม่มีใครอยากเตือนสุดท้ายก็คบอยู่แต่กับพวกประจบสอพลอ ทำผิดถลำลึกไปทุกที จนสุดทางแก้  ๒.ทำให้เสียมิตร เพราะเป็นคนเจ้ายศ เจ้าอย่าง ที่ไม่ควรถือก็ถือไม่ควรโกรธก็โกรธ จึงไม่มีใครอยากคบด้วย คนพวกนี้ถึงแม้ในเบื้องต้นอยากจะทำความดี แต่ทำไปได้ไม่กี่น้ำก็จอด เพราะไม่มีคนสนับสนุน เป็นเหมือนเจดีย์ฐานแคบ ไม่สามารถสร้างให้สูงขึ้นไปได้  ๓.ทำให้เสียหมู่คณะ เพราะเป็นคนอวดเบ่ง จะเอาแต่อภิสิทธิ์ ทำให้เสียระเบียบวินัย หมู่คณะแตกแยก  หมู่คณะใด ที่สมาชิกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้บางครั้งจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ไม่นานก็สามารถสมานสามัคคีป้องกันอันตรายทั้งหลายได้โดยง่าย เหมือนดินเหนียวในท้องนายามหน้าแล้งก็แตกระแหงเป็นร่องลึก ดูเหมือนไม่มีทางที่จะประสานรวมกันได้อีกแล้ว แต่พอฝนตกลงมาซู่เดียวก็สามารถประสานคืนเป็นผืนเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์  ส่วนหมู่คณะใด ที่สมาชิกมีความถือตัวจัด ก็ไม่มีทางที่หมู่คณะนั้นจะเกิดความสมานสามัคคีกันได้ เหมือนดินทรายที่แม้ฝนจะตกจนน้ำท่วมฟ้าก็ไม่มีทางประสานรวมกันได้สนิท เช่นในประเทศอินเดียในอดีตซึ่งพลเมืองมีความถือตัวจัด แบ่งชั้นวรรณะกันอย่างหนัก แม้เพียงคนวรรณะสูงไปเห็นคนวรรณะต่ำ คนจัณฑาลเข้าก็ต้องรีบไปเอาน้ำล้างตาเพราะกลัวเสนียดจัญไรจะติดเพราะถือตัวกันอย่างนี้ พอถึงคราวมีข้าศึกรุกรานเลยไม่มีใครช่วยใครกำจัดศัตรู ปล่อยให้ศัตรูเข้ายึดครองประเทศโดยง่าย พวกคนวรรณต่ำก็คิดว่าดีแล้ว คนวรรณะสูงๆ จะได้รู้สึกเสียบ้าง คนวรรณะสูงด้วยกันเองก็ยังถือตัวทะเลาะรบกันเอง เพราะถือตัวกันอย่างนี้ แม้มีพลเมืองมากหลายร้อยล้านคนก็ยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งส่งทหารมาเพียงแค่หยิบมือเดียว “นระใดกระด้างโดยชาติ กระด้างโดยทรัพย์ และกระด้างโดยโคตร ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน กรรม ๔ อย่างของของนระนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม” (พุทธพจน์) วิธีแก้ความอวดดื้อถือดี  ๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือ คบคนดี จะได้คอยแนะนำเตือนสติเราให้ประเมินค่าของตนเองถูกต้องตามความเป็นจริง คอยแนะนำปลูกสร้างนิสัยดีๆ ให้กับเรา ไม่คบคนประจบสอพลอ ซึ่งจะพาเราไปในทางเสีย นอกจากนี้จะต้องแสดงความเคารพบูชาบุคคลที่ควรบูชาเสมอๆ เราจะได้ตระหนักเสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรายังมีอยู่  ๒.ต้องมีโยนิโสมนสิการ คือ รู้จักคิดไตร่ตรองเอง เช่น พิจารณาว่า อุจจาระ ปัสสาวะของเราก็เหม็นเหมือนกับของคนอื่นๆ เขา เราเองก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ถึงจะเก่งอย่างไร ในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกัน ตัวเราไม่ได้วิเศษกว่าคนอื่นเลย สิ่งใดที่เป็นข้อถือตัวของเรา เช่น ชาติตระกูล ฐานะ รูปร่างหน้าตา ตำแหน่งหน้าที่การงาน บริวาร ให้หมั่นนำสิ่งนั้นมาพิจารณาเนืองๆ ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยงแท้ ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ลักษณะของผู้มีความถ่อมตน      ผู้มีความถ่อมตน จะเป็นผู้ที่รู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริงเจียมเนื้อเจียมตัว ทำให้มีลักษณะอาการแสดงออกที่ดีเด่นกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการดังนี้  ๑.มีกิริยาอ่อนน้อม คือ ไม่ลดตัวลงจนเกินควร และไม่ถือตัวจนเกินงาม มีกิริยาอันเป็นที่รัก อ่อนละมุนละไมต่อคนทั่วไปทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย และผู้เสมอกัน รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน มีคุณสมบัติผู้ดี สำหรับแสดงแก่คนทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน ไม่เลือกว่าเขาจะมีฐานะสูงกว่าหรือต่ำกว่าตนสงบเสงี่ยม แต่ก็มีความองอาจ ผึ่งผายในตัว  ๒.มีวาจาอ่อนหวาน คือ มีคำพูดที่ไพเราะดูดดื่ม ออกมาจากใจที่ใสสะอาดนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ไม่พูดโอ้อวดยกตัว และไม่พูดกล่าวโทษลบหลู่ทับถมคนอื่น เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใดต่อใคร ย่อมออกวาจาขอโทษเสมอ เมื่อผู้ใดแสดงคุณต่อตนอย่างไร ก็ออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ ไม่พูดเยาะเย้ยถากถางผู้ทำผิดพลาด ไม่ใช้วาจาข่มขู่ผู้อื่น เห็นใครทำดีก็ชมเชยสรรเสริญจากใจจริง  ๓.มีใจอ่อนโยน คือ มีใจนอบน้อม ละมุนละม่อม ถ่อมตัว มีใจอ่อนละไมแต่มิใช่อ่อนแอ มีใจเข้มแข็งแต่มิใช่แข็งกระด้าง ไม่นิยมอวดกำลังความสามารถ แต่พยายามฝึกตนเองให้มีความสามารถ ถือคติว่า “จงมีแรงเหมือนยักษ์ แต่อย่าใช้แรงอย่างยักษ์” ไม่ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ มีใจเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นคนอื่น รู้จักลดหย่อนผ่อนผันแก่กัน ถือคติว่า “ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ สิบคนสิบความรู้ สิบคนสิบความคิด แม้สิบคนก็สิบความเห็น” เมื่อใครเขาไม่เห็นพ้องกับตน ก็ไม่ด่วนโกรธ แล้วค่อยๆ ปรับความคิดเห็นเข้าหากันโดยยึดเอาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแกนกลาง ตัวอย่างผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรถูกพระภิกษุรูปหนึ่งใส่ความว่า ทะนงตนว่าเป็นอัครสาวกมาเดินกระแทกตน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระสารีบุตรในที่ประชุมสงฆ์ว่าเป็นจริงหรือไม่  พระสารีบุตรทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ระมัดระวังตน ประคองสติอันเป็นไปในกาย เมือนบุรุษประคองถาด ซึ่งบรรจุน้ำมันอยู่เต็มเปี่ยม และมีคนถือดาบอยู่เบื้องหลังพร้อมขู่ว่าถ้าน้ำมันหกจะประหารเสีย ข้าพระองค์ประพฤติตนเสมือนผ้าเก่าสำหรับเช็ดภาชนะ เสมือนโคที่เขาหักเสียแล้ว เสมือนเด็กจัณฑาลที่พลัดเข้าไปในหมู่บ้าน ย่อมไม่มีอำนาจที่จะแกล้วกล้าอาจหาญประการใด.....”  เราดู ขนาดพระสารีบุตร ซึ่งก่อนบวชก็ร่ำเรียนจนจบในวิชา ๑๘ ประการมาแล้ว เปรียบสมัยนี้ ก็เท่ากับได้ปริญญา ๑๘ สาขา บวชแล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนถึงเพียงนี้ มีความเจียมตัวอยู่ตลอดเวลา เปรียบตนเองเหมือนผ้าขี้ริ้วเก่าๆ ที่เขาใช้เช็ดถ้วยชามเหมือนโคที่เขาขาดแล้ว เหมือนเด็กจัณฑาลซึ่งเป็นคนชั้นต่ำสุดในอินเดียสมัยนั้น ไม่มีความถือตัว ทะนงตน แม้แต่น้อย แล้วพวกเราซึ่งยังเป็นปุถุชนธรรมดา ๆ อยู่นี่ล่ะ มีดีอะไรมากนักหนา จึงจะมาถือตัวกัน  เมื่อพระสารีบุตรกล่าวอยู่เช่นนี้ พระภิกษุรูปนั้นก็เกิดความเร่าร้อนในสรีระ เหมือนมีไฟมาเผาตัว อดรนทนอยู่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นขอโทษระสารีบุตรและยอมรับสารภาพต่อหมู่สงฆ์ว่ากล่าวตู่ใส่ความพระสารีบุตร  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่า “พระสารีบุตรมั่นคงเหมือนแผ่นดิน เหมือนเสาหิน เป็นผู้ไม่แสดงอาการยินดียินร้าย เป็นผู้คงที่และมีวัตรดี เป็นผู้ใสสะอาดเหมือนน้ำที่ไม่มีฝุ่นหรือโคลนตม สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่บุคคลเช่นนี้" อานิสงส์การมีความถ่อมตน  ๑.ทำให้อยู่เป็นสุข ไม่มีศัตรู  ๒.ทำให้น่ารัก น่านับถือ น่าเคารพกราบไหว้  ๓.ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ  ๔.ทำให้ได้กัลยาณมิตร  ๕.ทำให้สามารถถ่ายทอดคุณความดีจากผู้อื่นได้  ๖.ทำให้ได้ที่พึ่งทั้งภพนี้ ภพหน้า  ๗.ทำให้ไม่ประมาท ตั้งอยู่ในธรรม  ๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย        "น้ำแม้เพียงน้อยก็สามารถทำให้แก้วน้ำเต็มบริบูรณ์ได้ ตรงข้ามแม้มีน้ำมากมหาศาลก็ไม่สามารถทำให้มหาสมุทรเต็มบริบูรณ์ ในทำนองเดียวกันทรัพย์สินเงินทองแม้เพียงน้อย ก็สามารถยังใจของผู้มีความสันโดษ ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความพอใจ ตรงข้ามแม้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใดใจของผู้ไม่มีสันโดษก็ยังเร่าร้อน กระวนกระวาย กระหายอยากได้อยู่นั่นเอง"  สันโดษคืออะไร ?  สันโดษ มาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ สัน แปลว่า ตน โตสะ แปลว่า ยินดี สันโดษจึงแปลว่ายินดี ชอบใจ พอใจ อิ่มใจ จุใจ สุขใจ กับของของตน ความหมายโดยย่อคือให้รู้จักพอ รู้จักประมาณ  เรื่องสันโดษนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดกันมาก เข้าใจกันว่าสันโดษทำให้ยากจนบ้างละ เข้าใจว่าสันโดษทำให้เกียจคร้านบ้างละ เข้าใจว่าสันโดษขัดขวางความเจริญบ้างละ ขอให้เรามาพิจารณากันต่อไปว่า ความเข้าใจของคนทั้งหลายนั่นเป็นจริงหรือไม่ ลักษณะสันโดษที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีคุณหรือโทษ ลักษณะของความสันโดษ  ความยินดี ความสุขใจ ความพอใจ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ที่จัดว่าเป็นสันโดษ ต้องมีลักษณะ ๓ อย่างดังต่อไปนี้ คือ  ๑.สเกนสันโดษ ยินดีตามมี  ๒.สันเตนสันโดษ ยินดีตามได้  ๓.สเมนสันโดษ ยินดีตามควร  ยินดีตามมี หมายถึง ยินดีกับของที่ตนมีอยู่แล้ว พอใจกับของของตนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของเรา ลูกเมียของเรา งานของเรา ประเทศชาติของเรา ถึงจะมีข้อบกพร่องอย่างไร ก็ค่อยๆ แก้ไขกันไปให้ดีขึ้น แต่ไม่คิดไขว่คว้าแย่งชิงเอาของคนอื่นเขามา  ช่างซ่อมรองเท้าริมถนนมีความพอใจในงานของตน ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง รอบคอบ ละเอียดลออ เป็นที่ติดใจของลูกค้า สามารถเก็บหอมรอมริบทีละเล็กละน้อย จนตั้งตัวไ ได้กิจการขยายใหญ่โตก็มีตัวอย่างให้เห็น  บุคคลเมื่อพอใจในสิ่งใด เขาย่อมก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในสิ่งนั้น ความพอใจจะเป็นพลังหนุนให้เกิดความพยายาม ส่วนความไม่พอใจจะทำให้คนเหนื่อยหน่าย ระอิดระอา  สันโดษ ข้อนี้จะเป็นเครื่องกำจัดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย และโลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน  ยินดีตามได้ หมายถึง ยินดีกับของส่วนที่ตนได้มา คือ เมื่อแสวงหาประโยชน์อันใดแล้ว มันได้เท่าไรก็พอใจเท่านั้น มันอาจจะได้ไม่ถึงเป้า ประณีตสวยงามไม่ถึงเป้า ก็พอใจ ยินดีเพียงแค่นั้น ไม่ถึงกับกระวนกระวาย เป็นทุกข์ เพราะได้ไม่สมอยาก ไม่เป็นคนชนิด ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา  คนที่ขาดสันโดษข้อนี้ มักเป็นคนดูถูกโชควาสนาของตนเอง พยายามใส่ไฟตนเองให้มันเดือดร้อนจนได้ แทนที่จะชอบส่วนที่ไ่ด้กลับนึกเกลียดชังรำคาญใจ แล้วเอาความชอบใจไปฝากไว้กับส่วนที่ตัวไม่ได้  คนทอดแหหาปลาที่ขาดสันโดษข้อนี้ มักจะคิดเสมอว่า ปลาตัวที่หลุดมือลงน้ำตัวโตกว่าตัวที่จับได้ เกลียดปลาตัวที่จับได้ แต่พอใจตัวที่หลุดมือ ผลที่สุดก็ต้องกินปลาตัวที่เกลียด แล้วเฝ้าทุกข์ใจ เสียดายปลาตัวที่ปลุดมือ คนประเภทนี้ ไม่มีหวังได้กินปลาอร่อยๆ จนตาย เพราะคิดว่า ตัวที่อร่อยที่สุดคือตัวที่จับไม่ได้  ยินดีตามควร หมายถึง ยินดีกับของที่สมควรกับตนเท่านั้น สิ่งใดที่มีอยู่ หรือที่จะได้ต่อไป หากเห็นว่าไม่ควรกับเรา ก็ไม่ยินดี ไม่ยอมรับเอาไว้  การพิจารณาสิ่งต่างๆ ว่าควรกับเราหรือไม่นั้น ให้พิจารณาหลัก ๓ ประการ ดังนี้  ๑.ยถาลาภะ ควรแก่ฐานะ  ๒.ยถาพละ ควรแก่สมรรถภาพ  ๓.ยถาสรุปะ ควรแก่ศีลธรรม  ควรแก่ฐานะ คือให้พิจารณาว่าเรามีฐานะเป็นอะไร นักบวช ชาวบ้าน ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ครู นักเรียน นายพัน นายร้อย นายสิบ อธิบดี เสมียน ฯลฯ และก็แสวงหาหรือยอมรับแต่ของที่ควรกับฐานะของตนไม่เป็นคนใฝ่สูงเกินศักดิ์ เช่น เป็นเสมียนก็ยินดีกับเก้าอี้ไม้ธรรมดา ไม่ใช่ไขว่คว้าอยากได้เก้าอี้บุนวมของอธิบดี เป็นพระมีคนจะถวายผู้หญิงไว้คอยรับใช้ปูที่หลับที่นอน ก็ต้องรู้ว่าไม่เหมาะกับฐานะของตนจึงไม่รับ  ควรแก่สมรรถภาพ คือ คนเรามีกำลังความสามารถไม่เท่ากัน ทั้งกำลังกาย กำลังความคิด กำลังใจ กำลังความดี ก็ให้รู้กำลังความสามารถของตนเอง และแสวงหาหรือยอมรับเฉพาะของที่ควรแก่สมรรถภาพของตนเองเท่านั้น ไม่เป็นคนตีราคาตัวเองผิด คิดเอาง่ายๆ ตื้นๆ ว่าเขาเป็นอะไร ตัวก็จะเป็นได้อย่างเขาทุกอย่าง เข้าทำนอง “เห็นเขานั่งคานหาม เอามือประสานกัน” ความสามารถเป็นได้แค่รัฐมนตรี ก็ไม่ดิ้นรนไปเป็นนายก หรือความสามารถแค่เป็นคนใช้ก็อย่าริเป็นคุณนาย  ควรแก่ศีลธรรม คือ ของใดก็ตามที่ควรกับฐานะของเรา ควรแก่ความสามารถของเรา แต่ถ้าไปยินดีกับของนั้นแล้ว จะทำให้เราผิดศีลธรรม เสียชื่อเสียง เสียเกียรติยศ เสียศักดิ์ศรี ก็ไม่ควรยินดีกับของสิ่งนั้น เช่น ของที่ลักปล้นฉ้อโกงเขามา ของที่เป็นสินจ้างในทางที่ผิด ไม่เป็นคนลุแก่อำนาจความมักได้ ข้อเตือนใจ      คนจำนวนมากเข้าใจสันโดษผิด คิดว่าสันโดษคือการไม่ทำอะไร หรือการพอใจอยู่คนเดียว  การไม่ทำอะไรนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า โกสัชชะ คือ เกียจคร้าน ไม่เรียกว่าสันโดษ  การพอใจอยู่คนเดียวนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า ปริวิตตะ ไม่เรียกว่าสันโดษ  คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องสันโดษนั้น ไม่ได้สอนให้คนเกียจคร้าน ท้อถอย ไม่ทำการงาน หรือทำงานเรื่อยๆ เฉื่อยแฉะ เป็นภัยต่อความเจริญ ความก้าวหน้า อย่างที่เข้าใจกัน ตรงกันข้ามมงคลข้อนี้ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าถ้าแต่ละคนรู้จักสถานภาพของตนเอง สำนึกในฐานะ ความสามารถ และความมีคุณธรรมของตนอยู่เสมอแล้ว ความมีสันโดษจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จะทำให้ทุกคนพอใจกับของของตน พอใจกับของที่ตนได้มาและพอใจกับของที่สมควรแก่ตน จะไม่มีการเบียดเบียน แก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ให้ร้ายป้ายสี ฉ้อโกงกัน ฯลฯ  การแก่งแย่งชิงดีกันในหมู่ผู้ใหญ่จนถึงทำลายกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน การทุจริตและมิจฉาชีพต่างๆ ที่ระบาดในสังคมทุกวันนี้ก็เพราะใจของคนเหล่านั้นไม่มีสันโดษมุ่งจะเอาแต่ได้ ไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี ความเห็นแก่ตัวของผู้มีอำนาจการกอบโกยฉวยโอกาสของพ่อค้านักธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนส่วนมาก ความเร่าร้อนใจเพราะโลภจัด ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จนกลายเป็นมัวเมาในวัตถุ ทะเยอทะยานจนเกินกำลังความสามารถของตนได้มาโดยสุจริตไม่ทันใจ ก็ลงมือประกอบการทุจริตต่างๆ เพื่อสนองความอยากอันเผารนจิตใจอยู่ ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้เหตุผล ก็เพราะขาดสันโดษนั่นเอง  การพัฒนาสังคมจำเป็นต้องมีทั้งสันโดษและความเพียร เพราะความเพียรพยายามที่ไม่มีสันโดษควบคุมย่อมเกินพอดี และนำไปสู่ทางผิดได้ง่ายล่อแหลมต่ออันตรายเหมือนรถไม่มีเบรคหรือเบรคแตกย่อมวิ่งเลยขีดที่ต้องการไป ตกหลุมตกบ่อลงเหวข้างทางได้ง่าย บังคับให้หยุดไม่ได้ตามความปรารถนา  ฉะนั้นจึงกล่าวไว้ว่า สันโดษเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นไปเพื่อความเจริญสุข ทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติ หัวใจของผู้มีความสันโดษเท่านั้น จึงจะเหมาะแก่การปลูกฝังคุณธรรมอื่นๆ และคนมีสันโดษเท่านั้นจึงจะทำความดีได้ยั่งยืนไม่จืดจาง และทำดีด้วยความสุจริตใจ ที่สังคมพัฒนาไปได้ช้า เพราะคนขาดสันโดษต่างหากหาใช่เพราะคนมีสันโดษไม่ สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้จักพอ  คนทั่วไปไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งต่อไปนี้  ๑.อำนาจวาสนา เช่น เป็นผู้อำนวยการกองก็ไม่พอ อยากเป็นอธิบดีหรือเป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่พอ อยากเป็นรัฐมนตรี ทั้งๆที่ความสามารถไม่ถึง  ๒.ทรัพย์สมบัติ เช่น มีบ้านหลังเล็กก็ไม่พอ อยากจะได้บ้านหลังใหญ่มีเงินล้านก็ไม่พอ อยากจะได้เงินสิบล้าน  ๓.อาหาร เช่น มีอาหารธรรมดารับประทาน ก็ไม่พอ อยากจะไปรับประทานอาหารแพงๆตามภัตตาคารหรูๆ  ๔.กามคุณ เช่น มีสามีหรือภรรยาแล้วก็ไม่พอ อยากมีใหม่อีก  วิธีสร้างความสุข สร้างความเจริญก้าวหน้า ต้องเริ่มด้วยการรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวมีอยู่ และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ไม่ไขว่คว้าทะเยอทะยานจนเกินเหตุ เช่น เป็นหัวหน้าแผนก อยากให้มีความสุข ความก้าวหน้าก็ให้พอใจในตำแหน่งของตนแล้วตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ความสุขก็เกิด ความเจริญก้าวหน้าก็จะมีมาเอง เป็นสามีหรือภรรยาอยากมีความสุขก็ให้พอใจในคู่ครองของตน แล้วทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ความสงบสุขในครอบครัวก็จะมีมาเอง ไม่ใช่เที่ยววิ่งวุ่นมีบ้านเล็กบ้านน้อย ยิ่งมีก็ยิ่งทุกข์ หาความสุขไม่ได้สักที  โบราณท่านผูกเรื่องสอนใจไว้ว่า มีสุนัขอดโซตัวหนึ่ง เดินพลัดหลงทางเข้ามาในบ้าน เจ้าของบ้านสงสารหาน้ำข้าวให้กิน พอกินน้ำข้าวได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะขึ้นโต๊ะกินร่วมกับเจ้าของบ้าน จึงถูกไล่เผ่นออกจากบ้านเพราะมันเป็นโรคไม่รู้จักพอ โรคชนิดนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ ทั้งในหญิงและชาย ทั้งในคนจนและคนรวย ทั้งในคนมีความรู้และคนไม่มีความรู้ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสันโดษ” สันโดษเป็นต้นทางแห่งความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร  ความสุขในโลกนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ  ๑.สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก มาตอบสนองความต้องการทางหู ตา จมูก ลิ้น กายและความคิดอยากต่างๆ เป็นความสุขขั้นหยาบ เพราะมีทุกข์เจือปนมากตลอดเวลา มีอาการคือ      ๑.๑ ต้องแส่หาดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นอาการนำหน้า เนื่องจากของทั้งหลายหาได้ยากมีจำกัด      ๑.๒ เมื่อได้มาก็ต้องระวัง รักษา ยึดติด คับแคบ อึดอัด หวงแหน ผูกพันกลัวสูญ      ๑.๓ ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวาง ก็ขัดใจ คิดทำลาย คิดอาฆาต พยาบาท จองเวร  ๒.นิรามิสสุข เป็นความสุขภายใน ที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกมาสนองความอยาก เป็นความสุขขณะที่ใจมีลักษณะ  สะอาด  ไม่มีกิเลสปน  สงบ  ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย  เสรี  เป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่คับแคบ  สว่างไสว ประกอบด้วยปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง  สมบูรณ์  ไม่มีความรู้สึกขาดแคลน ไม่รู้สึกบกพร่อง ไม่ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานอิ่มเอิบอยู่ภายใน  นิรามิสสุข จึงเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นภาวะสุขที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมา ซ้ำยังช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ด้วยผู้ที่จะมีนิรามิสสุขได้จะต้องมีสภาพใจที่สงบไม่ดิ้นรน คือ มีความสันโดษเสียก่อน ยิ่งสันโดษต่อสามิสสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งได้นิรามิสสุขมากขึ้นเท่านั้น “สันโดษทำให้เกิดสุข” (พุทธพจน์) การหาเลี้ยงชีพอย่างมีสันโดษ  ในการดำรงชีพ พระพุทธศาสนามุ่งให้ทุกคนหาปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยงร่ายกาย พอเพียงเพื่อให้สังขารนี้สามารถดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ จากนั้นก็ใช้ร่างกายนี้สร้างความดีต่างๆ ให้เต็มที่ทุกรูปแบบทุกโอกาส มิได้มุ่งหมายให้คนเราดิ้นรนไขว่คว้าทะเยอะทะยานจนเกินเหตุ เพื่อให้มีวัตถุต่างๆ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ไว้บำรุงบำเรอตน  เพราะฉะนั้น ความสำเร็จในด้านอาชีพเศรษฐกิจของประเทศมิใช่วัดด้วยการมีทรัพย์สินเต็มพระคลังหรือเต็มล้นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่ที่ไม่มีคนอดอยากยากไร้  “การไม่มีคนยากจน เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของรัฐได้ดีกว่าการมีคนร่ำรวย” หลักปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์สิน  ๑.การแสวงหา ต้องหามาโดยชอบธรรม ไม่ข่มเหงรับแกใคร ไม่ทำผิดกฎหมาย ผิดประเพณี ผิดศีล ผิดธรรม  ๒.การใช้ ไม่เป็นคนตระหนี่ และก็ไม่ฟุ่มเฟือย ให้รู้จักใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและคนเกี่ยวข้องให้เป็นสุข รู้จักทำทาน เผื่อแผ่ แบ่งปัน ใช้ทรัพย์ทำสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  ๓.ทัศนคติเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ถือว่าทรัพย์สินเงินเป็นพระเจ้าแต่เป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิต ประเภทของคนจน  คนจนในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่  ๑.จนเพราะไม่มี คือ คนที่ขัดสนทรัพย์ มีทรัพย์น้อย จัดว่าเป็นคน “จนชั่วคราว” ถ้าหากทำมาหากินถูกช่องทาง ย่อมมีโอกาสรวยได้  ๒.จนเพราะไม่พอ คือ คนที่มีทรัพย์มากแต่ไม่รู้จักพอ จัดว่าเป็นคน “จนถาวร” เป็นเศรษฐีอนาถา ต้องจนจนตาย  สันโดษ คือ การรู้จักพอ จึงเป็นคุณธรรมที่มหัศจรรย์ สามารถทำให้คนเลิกเบียดเบียนกัน เลิกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เลิกสะเพร่า เลิกสงคราม ทำให้คนอิ่มใจได้ แม้มีทรัพย์ มียศ มีตำแหน่งน้อย และทำให้คนรวยเป็นเศรษฐีได้โดยสมบูรณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์” วิธีฝึกให้มีสันโดษ  ๑.ให้หมั่นพิจารณาถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่ตลอดเวลา ว่าเราจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ ถึงดิ้นรนหาเงินทองมากเท่าไรก็นำติดตัวไปไม่ได้ เมื่อพิจารณาบ่อยเข้า ความโลภก็จะลดลง แล้วความสันโดษก็จะเกิดขึ้น  ๒.ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร กินเพื่ออยู่ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เป็นการฝึกสันโดษขั้นพื้นฐานที่เราต้องปฏิบัติอยู่ทุกวัน  ๓.ให้หมั่นให้ทานอยู่เสมอๆ เป็นการฆ่าความตระหนี่ ความโลภในตัวไปทีละน้อยๆ เมื่อทำบ่อยๆ เข้า แล้วความสันโดษก็จะเกิดขึ้น  ๔.ให้หมั่นรักษาศีล โดยเฉพาะศีล ๘ ผู้ที่รักษาศีล ๘ จะช่วยให้เกิดความสันโดษในหลายเรื่อง เช่น ศีลข้อ ๓ ทำให้สันโดษในกามคุณ ศีลข้อ ๖ ทำให้สันโดษในเรื่องอาหาร ศีลข้อ ๗ ทำให้สันโดษในเรื่องเครื่องนุ่งห่ม การแต่งเนื้อแต่งตัว และศีลข้อ ๘ ทำให้สันโดษในเรื่องที่อยู่อาศัยที่หลับนอน  ๕.ให้หมั่นทำสมาธิเป็นประจำ เมื่อทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอจิตใจก็จะสงบนุ่มนวลขึ้น ความอยากเด่น อยากดัง หรืออยากได้ในทางที่ไม่ชอบก็จะค่อยๆ หายไป วิธีฝึกสันโดษในสังคมไทย  สังคมไทยตั้งแต่โบราณ มีวิธีฝึกสันโดษได้ผลดีเยี่ยมอย่างหนึ่งคือการบวช แม้จะเป็นการบวชช่วงสั้นเพียงพรรษาเดียวก็ตาม  ผู้บวชจะมีโอกาสสัมผัสกับความสุขชนิดไม่อิงวัตถุ แต่เป็นความสุขใจที่เกิดจากความพอ เกิดจากความสงบภายใน ซึ่งในชีวิตประจำวันหาโอกาสทำได้ยาก  ผู้บวชเป็นพระภิกษุ จะได้สัมผัสกับความสุขในขณะที่มีเครื่องนุ่งหุ่มครองกายเพียงผ้า ๓ ผืน มีบาตร ๑ ใบ บิณฑบาตเลี้ยงชีพ จะได้สัมผัสความสุขจากการไม่มีห่วง ไม่มีการสะสม ไม่ถูกผูกมัดจากวัตถุมีอิสระโปร่งเบา เหมือนนกน้อยในอากาศ เปรียบเทียบกับความสุขหยาบๆ หลอก ๆในขณะที่เป็นฆราวาสซึ่งเป็นสุขปนทุกข์ ต้องแสวงหาเป็นห่วงและหวงแหนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เข้าใจถึงประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการมีสันโดษ อานิสงส์การมีสันโดษ  ๑.ตัดกังวลต่างๆ  ๒.ออกห่างอกุศล  ๓.ทำตนให้สบาย  ๔.คลายผิดคิดถูก  ๕.ปลูกศีลธรรม  ๖.นำตนให้พันทุกข์  ๗.ไม่ฝ่าฝืนทำชั่ว  ๘.ปลูกแต่ความเจริญ  ๙.สร้างแต่เหตุดี  ๑๐.นำศาสนาให้รุ่งเรือง        "คนตาบอดย่อมมองไม่เห็นโลก แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างอยู่ฉันใด คนบอด ย่อมไม่มีความกตัญญู แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปารคุณฉันนั้น" ความกตัญญูคืออะไร ?  ความกตัญญู คือ ความรู้คุณ หมายถึงความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติ มีปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ผู้ใดก็ตามที่ทำคุณแก่ตนแล้ว ไม่ว่าจะมากก็ตาม น้อยก็ตาม เช่น เลี้ยงดูสั่งสอน ให้ที่พัก ให้งานทำ ฯลฯ ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย  อีกนัยหนึ่ง ความกตัญญู หมายถึง ความรู้บุญ หรือรู้อุปการะของบุญที่ตนทำไว้แล้ว รู้ว่าที่ตนเองพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลายได้ดีมีสุขอยู่ในปัจจุบันก็เพราะบุญทั้งหลายที่เคยทำไว้ในอดีตส่งผลให้ จึงไม่ลืมอุปการะของบุญนั้นเลย และสร้างสมบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  รวมความ กตัญญู จึงหมายถึง การรู้จักบุญคุณ อะไรก็ตามที่เป็นบุญ หรือมีคุณต่อตน แล้วก็ตามระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้งไม่ลืมเลย คนมีกตัญญูถึงแม้จะนัยน์ตาบอดมืดทั้งสองข้าง แต่ใจของเขาใสกระจ่างยิ่งกว่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รวมกันเสียอีก สิ่งที่ควรกตัญญู  สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญูแบ่งได้เป็น ๕ ประการ ได้แก่  ๑.กตัญญูต่อบุคคล คือ ใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้งพยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้ โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ทรงทศพิธราชธรรม จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านให้จงหนัก  ให้ปฏิบัติตัวให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และเป็นพุทธมามกะสมชื่อ  ๒.กตัญญูต่อสัตว์ คือ สัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน และเลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยากให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา ตัวอย่างในเรื่องกตัญญูต่อสัตว์นี้มีอยู่ว่า  ในสมัยก่อนพุทธกาล วันหนึ่ง พระเจ้ากรุงราชคฤห์ เสด็จประพาสอุทยาน และได้บรรทมหลับในอุทยานนั้น ขณะนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาและกำลังจะฉกกัดพระองค์ เผอิญมีกระแตตัวหนึ่งเห็นเข้าแล้วร้องขึ้น พระองค์จึงสะดุ้งตื่นและไล่งูหนีไปทัน ทรงระลึกถึงคุณของกระแตว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ จึงรับสั่งให้พระราชทานเหยื่อแก่กระแตในอุทยานนั้นทุกวัน และห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายแก่กระแตในอุทยานนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกอุทยานนั้นว่า “เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน” แปลว่า ป่าไผ่อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ซึ่งต่อมาก็คือ “เวฬุวันมหาวิหาร” วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา  ๓.กตัญญูต่อสิ่งของ คือ ของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่นหนังสือ ธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย  ตัวอย่าง เช่น ไม้คานที่ใช้หาบของขาย เมื่อเจ้าของตั้งตัวได้ ร่ำรวยขึ้นก็ไม่ทิ้ง ยังคิดถึงคุณของไม้คานอยู่ ถือเป็นของคู่ชีวิต ช่วยเหลือตนสร้างฐานะมา จึงเลี่ยมทองเก็บไว้เป็นที่ระลึก อย่างนี้ก็มี  มีกล่าวไว้ในเตมียชาดกว่า  “อย่าว่าถึงคนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงา ก็หาควรจะหักกิ่งลิดก้านรานใบของมันไม่ ผู้ใดพำนักอาศัยนั่งนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งลิดก้านรานใบ เด็ดยอดขุดรากถากเปลือก ผู้นั้นชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคลเป็นเบื้องหน้า"  ๔.กตัญญูต่อบุญ คือ รู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์หรือกระทั่งไปพระนิพพานได้ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สะสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญ ตามระลึกถึงบุญเก่าให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  ๕.กตัญญูต่อตนเอง คือ รู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราจะได้อาศัยใช้ในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการเพื่อความสุข ความเจริญก้าวหน้า แก่ตนเองต่อไป จึงทะนุถนอมดูแลร่างกายรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้าเสพสิ่งเสพย์ติด เที่ยวเตร่ดึกๆ ดื่นๆ และไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้ อันเป็นการทำลายตนเอง ความกตัญญูจำเป็นอย่างไรในการสร้างความดี  การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดีสร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้ โดยไม่ท้อถอยไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอกจากคนรอบข้างจากสิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายในจากกิเลส รุมล้อมประดังกันเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัด สู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้ โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้ นั่นคือความกตัญญู  ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ แม้จะยากแสนยาก ท้อถอยจะเลิกเสียก็หลายครั้ง เพื่อนฝูงบางคนชวนไปเที่ยวเตร่เฮฮา ดูน่าสนุกกว่ามากแต่เมื่อนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ คิดว่าท่านอุตส่าห์ทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ ท่านฝากความหวังไว้กับตัวเรา อยากเห็นตัวเราได้ดีเพียงใดพอคิดเท่านี้ ความกตัญญูเกิดขึ้น ก็มีแรงสู้ แม้จะยากแสนยาก แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย ก็กัดฟันสู้ มุมานะตั้งใจเรียนให้ดีให้ได้ ไม่ยอมประพฤติตัวไปในทางเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลให้คุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ ได้อายโดยเด็ดขาด  แม้ในหมู่ผู้ปฏิลัติธรรม ผู้ตั้งใจจะทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนาแน่นอนว่า ในการทำงานนั้น จะต้องมีการกระทบกระทั่งกัน คนเราหลายคนก็หลายความเห็น ต่างคนก็ต่างตั้งใจดีกันทั้งสิ้น แต่ความคิดความอ่านความสามารถอาจไม่เท่ากัน และบางครั้งก็เกิดจากทิฐิมานะคิดไปว่า “ถึงแกจะหนึ่ง แต่ฉันก็แน่เหมือนกัน” ทำให้ไม่ยอมกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะต่างก็กำลังฝึกฝนตนเองอยู่ กิเลสในตัวก็ยังมียังไม่ได้หมดดังนั้นถ้าไม่รู้จักควบคุมให้ดี จึงมีโอกาสขัดใจกันได้ หรือบางทีออกไปทำงานเผยแผ่ธรรมะ ก็พบกับคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย พูดนินทาว่าร้าย เยาะเย้ยถากถางเอาบ้าง  เพราะเหตุนี้ จึงมีนักปฏิบัติธรรม นักเผยแผ่ธรรมะ รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม หลายๆ คนเบื่อหน่าย ท้อถอย และเลิกราไปกลางคันอย่างน่าเสียดาย  แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่ายเอือมระอาเกิดขึ้น เพียงแต่นึกว่า ที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะรู้การสร้างบุญกุศล รู้วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ รู้บุญรู้บาปอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้าจนตรัสรู้หลักอริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาสอนเรา ได้คิดถึงชีวิต เลือดเนื้อ ความเพียรพยายามที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไปตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัปว่ามากมายมหาศาลเพียงใด (เวลากัปหนึ่งอุปมาได้กับมีภูเขาหินรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ กว้าง ๑๖ กิโลเมตร ยาว ๑๖ กิโลเมตร สูง ๑๖ กิโลเมตร ทุก ๑๐๐ ปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์บางเบา มาลูบครั้งหนึ่ง เมื่อใดภูเขาลูกนี้สึกหมด เรียบเสมอพื้นดินระยะเวลานั้นเท่ากับกัปหนึ่ง ๑ อสงไขย = ๑๐^๑๔๐ คือ จำนวนที่มีเลข ๑ และมีเลข ๐ ต่อท้าย ๑๔๐ ตัว) ตลอดจนคิดถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนชองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมา และอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบได้รู้ถึงคำสอนของพระองค์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หาย ความเหนื่อยหน่ายก็คลาย แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด  ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมอันยิ่งๆ ขึ้นไป อานิสงส์การมีความกตัญญู  ๑.ทำให้รักษาคุณความดีเดิมไว้ได้  ๒.ทำให้สร้างคุณความดีใหม่ได้อีก  ๓.ทำให้เกิดสติ ไม่ประมาท  ๔.ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ  ๕.ทำให้เกิดขันติ  ๖.ทำให้จิตใจผ่องใส มองโลกในแง่ดี  ๗.ทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี  ๘.ทำให้มีคนอยากคบหาสมาคม  ๙.ทำให้ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากช่วยเหลือ  ๑๐.ทำให้ไม่มีเวรไม่มีภัย  ๑๑.ทำให้ลาภผลทั้งหลาย เกิดขึ้นโดยง่าย  ๑๒.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย     "กระจกเงาสามารถสะท้อนให้เห็นความสวยงาม หรือขี้ริ้วของร่างกายเราได้ฉันใด การฟังธรรมตามกาล ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความดีงามหรือความบกพร่องในตัวเราได้ฉันนั้น" การฟังธรรมตามกาลหมายถึงอะไร ?  การฟังธรรมตามกาล คือ การขวนขวายหาเวลาไปฟังธรรมคำสั่งสอนจากผู้มีธรรมะ เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น โดยเมื่อฟังธรรมแล้วก็น้อมเอาคุณธรรมเหล่านั้นมาเป็นกระจกสะท้อนดูตนเองว่า มีคุณธรรมนั้นหรือไม่ จะปรับปรุงคุณธรรมที่มีอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างไร  เช่นเมื่อได้ฟังธรรมเรื่องความอดทนแล้ว ก็นำเรื่องนี้มาตรวจดูใจตนเองทันทีว่า เรามีความอดทนไหม ถ้ามี มีมากน้อยเพียงไร อดทนหรือไม่อดทนต่อสิ่งใดเช่น อดได้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยทน คือ อดข้าวอดปลาได้ แต่ทนต่อการยั่วยุ ทนต่อคำนินทาไม่ได้ อย่างนั้นหรือเปล่า เมื่อฟังธรรมแล้วตรวจดูจะรู้ทันทีว่า เราขาดอะไรไป จะตกแต่งต่อเติมอย่างไรจึงจะดี กาลที่ควรฟังธรรม  ๑.วันธรรมสวนะ คือ วันพระนั่นเอง เฉลี่ยประมาณ ๗ วันครั้ง ทั้งนี้เพราะธรรมดาคนเรา เมื่อได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนตักเตือน จากพ่อแม่ ครูอาจารย์ ใหม่ๆ ก็ยังจำได้ดีอยู่ แต่พอผ่านไปสัก ๗ วันชักจะเลือนๆ ครูอาจารย์บอกให้ขยันเรียน ขยันไปได้ไม่กี่วันชักจะขี้เกียจอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ๗ วัน ก็ไปให้ท่านกระหนาบ ย้ำเตือนคำสอนเสียครั้งหนึ่ง  ๒.เมื่อจิตถูกวิตกครอบงำ คือ เมื่อใดก็ตามที่มีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจของเรา ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นให้รีบเร่งไปฟังธรรม จะเช้า จะสาย จะบ่าย จะเย็น วันโกน วันพระ หรือวันอะไรก็ตาม ไม่เกี่ยงทั้งนั้น ไม่ต้องรอ  ความคิดที่ทำให้ใจของเราเศร้าหมอง แบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ ได้แก่      ๒.๑เมื่อกามวิตกกำเริบ คือ เมื่อใจของเราฟุ้งซ่านด้วยเรื่องเพศ เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ห่วงหาอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ      ๒.๒ เมื่อพยาบาทวิตกกำเริบ คือ เมื่อใจของเราถูกความโกรธเข้าครอบงำ เกิดความรู้สึกอยากล้างผลาญ ทำลายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดผลาญทรัพย์ ผลาญชีวิต หรือผลาญเกียรติยศ ศักดิ์ศรีก็ตาม      ๒.๓ เมื่อวิหิงสาวิตกกำเริบ คือ เมื่อใดที่ใจของเราเกิดความคิดอยากจะเบียดเบียนผู้อื่น คิดจะเอาเปรียบ คิดจะกลั่นแกล้งรังแกเขา  เมื่อใดที่ความคิดทั้ง ๓ ประเภทนี้เกิดขึ้นให้รีบไปฟังธรรม อย่ามัวชักช้า มิฉะนั้น อาจไปทำผิดพลาดเข้าได้  ๓.เมื่อมีผู้รู้มาแสดงธรรม คือ เมื่อมีผู้มีความรู้มีความสามารถและมีธรรม มาแสดงธรรมให้รีบไปฟัง เพราะบุคคลเช่นนี้หาได้ยากในโลก ต้องรอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกก่อน  แล้วต้องตั้งใจศึกษาธรรมของพระองค์ให้เข้าใจแตกฉาน เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องมีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเช่นนี้ เราต้องรีบไปฟังธรรมจากท่าน คุณสมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี  “อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง ไม่ใช่ของง่ายเลยผู้ที่จะแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง จะต้องอยู่ในธรรมะถึง ๕ ประการ”  นี่คือพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ ถึงคุณสมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี ๕ ประการคือ  ๑.ต้องแสดงธรรมไปตามลำดับของเรื่องไม่วกวน ไม่กระโดดข้ามขั้นข้ามตอน แสดงธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับ ซึ่งผู้ที่จะแสดงเช่นนี้ได้จะต้อง      ๑.๑มีความรู้จริง รู้เรื่องที่จะเทศน์จะสอนดีพอที่จะทราบว่าอะไรควรพูดก่อน อะไรควรพูดทีหลัง      ๑.๒ มีวาทศิลป์ มีความสามารถในการพูด มีจิตวิทยาในการถ่ายทอด รู้สภาพจิตใจ ของผู้ฟังว่าควรรู้อะไรก่อน อะไรหลัง      ๑.๓ ต้องมีการเตรียมการ วางเค้าโครงเรื่องที่จะแสดงล่วงหน้าทำอะไร มีแผน ไม่พูดเบา ไม่ใช่เทศน์ตามอำเภอใจ  ต้องมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ จึงจะแสดงธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับได้  ๒.ต้องแสดงธรรมอ้างเหตุอ้างผลให้ผู้ฟังเข้าใจได้ ผู้แสดงจะต้องเข้าใจเรื่องที่จะแสดงอย่างปรุโปร่ง ไม่ใช่ท่องจำเขามาพูด เวลาแสดงธรรมก็อ้างเหตุอ้างผล ยกตัวอย่างประกอบ แยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งได้ เมื่อผู้ฟังสงสัยซักถามจุดไหน ประเด็นไหนก็ชี้แจงให้ฟังได้  ๓.ต้องแสดงธรรมด้วยความหวังดีต่อผู้ฟังอย่างจริงใจ มีความเมตตากรุณาอยู่เต็มเปี่ยมในใจ พูดไปแล้วผู้ฟังยังไม่เข้าใจ ยังตามไม่ทัน สติปัญญายังไม่พอ ก็ไม่เบื่อหน่าย ไม่ละทิ้งกลางคัน แม้จะพูดซ้ำหลายครั้งก็ยอม มีความหวังดี ต้องการให้ผู้ฟังรู้ธรรมจริงๆ มุ่งทำประโยช์แก่ผู้ฟังเต็มที่ ไม่ใช่พูดแบบขอไปที  ๔.ต้องไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ คือไม่เห็นแก่ชื่อเสียงคำสรรเสริญเยินยอ ลาภสักการะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าการแสดงธรรมนั้นจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ จะมีคนมาฟังมากน้อยเท่าไร ก็ไม่ถือเป็นอารมณ์แสดงธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่างานของคนใหญ่คนโตก็แสดงอย่างเต็มที่แต่งานของคนกระจอกงอกง่อย ก็แสดงกะล่อมกะแล่มไม่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าผู้ใดแสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ผู้นั้นก็เป็นเพียงลูกจ้างของคนฟัง กระแสเสียงที่แสดงก็มักจะเต็มไปด้วยการประจบประแจงเจ้าภาพซึ่งเป็นนายจ้าง ลงได้เอาอามิสมาเป็นเจ้าหัวใจแล้วละก็เป็นใช้ไม่ได้ทีเดียว  ๕.ต้องไม่แสดงธรรมกระทบตนเองหรือผู้อื่น คือ ไม่ฉวยโอกาสยกตัวอย่างความดีของตัวเองเพื่อโอ้อวด หรือยกความผิดพลาดของคนอื่นเป็นตัวอย่างเพื่อประจานความผิดของเขา ไม่ใช่ถือว่ามีไมโครโฟนอยู่ในมือ ก็คุยอวดตัวทับถมคนอื่นเรื่อยไป ผู้พูดต้องมุ่งอธิบายธรรมะจริงๆ หากจะยกตัวอย่างเรื่องใดประกอบ เพื่อเป็นข้อสนับสนุนให้ผู้ฟังเข้าใจข้อธรรมะที่แสดง ก็ต้องระวังไม่ให้ผู้อื่นเสียหาย การฉวยโอกาสเวลาแสดงธรรมใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นเป็นการกระทำผิดแบบฉบับของศาสนาพุทธ  เราจะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางวิธีการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์ไว้อย่างรอบคอบ  แทนที่จะมุ่งแต่แผ่อิทธิพลศาสนาของพระองค์และทับถมโจมตีศาสนาอื่น กลับทรงวางคุณสมบัติควบคุมผู้ทำการสอนศาสนาไว้อย่างรัดกุม ซึ่งหาดูได้ยากในศาสนาอื่นๆ คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดี  ๑.ไม่ดูแคลนหัวข้อธรรมที่ท่านแสดงว่าง่ายไป  “โถ เรื่องง่ายๆ อย่างนี้ ท่านสอนคนอย่างเรา เราก็เข้าวัดมาตั้งนานแล้ว เหมือนดูถูกกันนี่”  อย่าคิดอย่างนั้น เพราะธรรมะทุกบท ทุกข้อในพระพุทธศาสนามีอานิสงส์ว่า ถ้าใครเอาไปปฏิบัติจริงๆ อย่างยิ่งยวด แม้เพียงข้อเดียวแล้ว ก็สามารถทำกิเลสให้หมด เข้าพระนิพพานได้ทั้งสิ้น เช่นการไม่คบคนพาล ซึ่งเป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าเราไม่คบคนพาลจริงๆ โดยเฉพาะพาลภายใน คือนิสัยไม่ดีต่างๆ ในตัว ไม่ยอมคบด้วยตัดทิ้งให้เด็ดขาด ก็เข้าพระนิพพานได้ หรือหิริโอตตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ถ้าเรามีคุณธรรมข้อนี้อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นบาปแม้เพียงน้อยนิดก็ไม่ยอมคิด พูด หรือทำโดยเด็ดขาด สร้างแต่บุญกุศลอย่างเต็มที่ อย่างนี้ถ้าไม่ให้เข้าพระนิพพาน แล้วจะให้ไปไหน  ๒.ไม่ดูแคลนความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม  “โถพระเด็กๆ เรานี่หลวงปู่หลวงตาเทศน์มาตั้งเยอะแล้วมาฟังพระเด็กๆ มันจะไปได้อะไร”  อย่าคิดอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้สิ่งต่อไปนี้อย่าดูแคลน      ๒.๑ อย่าดูถูกไฟว่าเล็กน้อย เพราะมันเผาเมืองได้      ๒.๒ อย่าดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก เพราะกัดแล้วตายได้      ๒.๓ อย่าดูถูกกษัตริย์ว่ายังเยาว์ เพราะกษัตริย์บางพระองค์แม้อายุยังน้อย ก็ เป็นมหาราชได้ เช่น อเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นมหาราชตั้งแต่อายุ ๒๐ เศษ ปกครองถึงค่อนโลก      ๒.๔ อย่าดูถูกสมณะว่ายังหนุ่ม เพราะสมณะบางรูปแม้อายุยังน้อยก็มีคุณธรรมสูง บางรูปอายุแค่ ๗ ขวบก็เป็นพระอรหันต์แล้ว  ๓.ไม่ดูแคลนตัวเองว่าโง่จนไม่สามารถรองรับธรรม  “โถ ไอ้เรามันโง่ดักดานอย่างนี้ กิเลสในตัวก็หนาปึ้กถึงไปฟังธรรมก็คงไม่รู้เรื่องไม่ไปดีกว่า”  อย่าคิดอย่างนั้น เพราะถึงแม้สติปัญญาจะไม่เฉลียวฉลาด แต่ถ้ามีโอกาสเหมาะๆ แล้ว ก็อาจบรรลุธรรมได้ ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างอยู่มาก พระบางรูปปัญญาทึบมาก ธรรมะแค่ ๔ บรรทัด ท่องจำเป็นปีๆ ยังท่องไม่ได้แต่มีความเพียรไม่ย่อท้อ พอสบโอกาสเหมาะได้ฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม และแนะนำวิธีการทำสมาธิให้โดยแยบคาย พอปฏิบัติตามก็สำเร็จมรรคผลนิพพาน เป็นพระอรหันต์ได้ ตัวเราเองก็ไม่แน่ มีโอกาสเหมือนกัน หรืออย่างน้อยที่สุด ถึงฟังธรรมยังไม่เข้าใจในขณะนี้ ก็จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปภายหน้าเมื่อได้ฟังซ้ำอีก ก็จะเข้าใจได้ง่าย  ๔.มีใจเป็นสมาธิขณะฟังธรรม ฟังธรรมด้วยความตั้งใจขณะฟังธรรมไม่พูดคุย ไม่ล้วงแคะแกะเกา เพราะในการฟังธรรมนั้น ยิ่งมีใจเป็นสมาธิมากเท่าไร ก็สามารถน้อมนำใจตามไป เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมะได้มากเท่านั้นในสมัยพุทธกาล เวลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาในเรื่องสำคัญๆ ที่ละเอียดลึกซึ้ง จะทรงหลับพระเนตรเทศน์ในสมาธิ ผู้ฟังก็จะหลับตาทำสมาธิฟังจึงสามารถน้อมใจไปตามธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งลุ่มลึกไปตามลำดับ ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานกันเป็นจำนวนมาก พวกเราก็ต้องตั้งใจฟังธรรม ฝึกให้มีสมาธิขณะฟังธรรม ตามแบบอย่างของบัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนด้วย  ๕.มีโยนิโสมนสิการ คือ รู้จักพิจารณาตามธรรมนั้นอย่างแยบคาย พอฟังแล้วก็คิดตามไปด้วย รู้จักจับแง่มุมมาพิจารณาขบคิดตามทำให้มีความแตกฉานเข้าใจในธรรมได้เร็วและลึกซึ้ง อุปนิสัยจากการฟังธรรม  อุปนิสัย หมายถึง ความประพฤติ ความเคยชิน ที่ติดตัวเรามา และจะติดตัวเราไปเป็นพื้นใจในภายหน้า  การฟังธรรมจะทำให้เกิดความดีที่เป็นทุนหรือเป็นพื้นอยู่ในใจเราแล้วเป็นเครื่องอุดหนุนให้เรามีความเจริญรุ่งเรืองและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ผู้ที่หมั่นฟังธรรม แล้วพยายามศึกษาทำความเข้าใจ ถึงไม่เข้าใจก็พยายามจำ จะได้รับอานิสงส์ ๔ ประการคือ      ๑.เมื่อละจากโลกนี้ไปเกิดในภพอื่น ย่อมมีปัญญารู้ธรรมได้เร็วสามารถระลึกได้ด้วยตนเอง และปฏิบัติตามธรรมนั้น บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว      ๒.เมื่อละจากโลกนี้ไปเกิดในภพอื่น เมื่อรู้ธรรมแล้ว ก็สามารถสั่งสอนคนอื่นได้ด้วย ตนเองก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว      ๓.เมื่อละจากโลกนี้ไปเกิดในภพอื่น แม้จะยังระลึกธรรมเองไม่ได้ แต่เมื่อมีผู้แสดงธรรมให้ฟัง ก็ย่อมระลึกได้ มีความเข้าใจปรุโปร่ง ไม่คลางแคลงสงสัยทำให้ สามารถบรรลุมรรคผลนิพานได้เร็ว เหมือนคนที่เคยได้ยินเสียงกลองมาแล้ว พอเดินทางไปในที่ไกล แล้วได้ยินเสียงกลองอีก ก็รู้ทันทีว่านั่นเสียงกลอง ความคลางแคลงสงสัยว่านั่นใช่เสียงกลองหรือไม่ ย่อมจะไม่เกิดชึ้นแก่บคคลนั้น      ๔.เมื่อละจากโลกนี้ไปเกิดในภพอื่น แม้จะยังระลึกธรรมเองไม่ได้ และไม่มีผู้แสดงธรรม แต่เมื่อมีผู้ตักเตือนด้วยคำเพียงไม่กี่คำหรือแม้บางครั้งได้ยินโดยบังเอิญ ก็ทำให้สามรถระลึกธรรมได้และมีความเข้าใจ สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว  พวกเราที่สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นกันบ่อยๆ แม้ยังไม่เข้าใจความหมายของคำบาลี แต่ก็ไม่เสียเวลาเปล่า เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เกิดความสงบทางใจ และเกิดความคุ้นเคยในสำเนียงภาษาธรรมะ ภพเบื้องหน้า ได้ยินใครสวดมนต์ก็อยากเข้าใกล้ ได้ยินใครพูดธรรมะก็อยากเข้าใกล้ ทำให้มีโอกาสได้ฟังธรรม ฟังแล้วก็เข้าใจได้ง่าย เพราะอุปนิสัยพื้นใจมาแต่เดิมแล้ว ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว  อานิสงส์การฟังธรรมตามกาล  ๑.เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ เพราะผู้แสดงธรรมย่อมจะศึกษา ค้นคว้า ขบคิด นำข้อธรรมะต่างๆ มาแสดง ทำให้เราได้ยินได้ฟังธรรมะที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน  ๒.เป็นการทบทวนความรู้เดิม คือ ถ้าหัวข้อธรรมที่ผู้แสดงนำมาแสดงนั้น ตรงกับสิ่งที่เราเคยศึกษามาแล้ว ก็จะทำให้เราได้ทบทวนความรู้เดิม ให้เกิดความเข้าใจแตกฉาน สามารถจดจำได้แม่นยำยิ่งขึ้น  ๓.เป็นการปลดเปลื้องความสงสัยเสียได้ คือ ถ้าผู้ฟังยังมีความลังเลสงสัยในการละความชั่วบางอย่าง หรือการทำความดีบางอย่าง เมื่อได้ฟังธรรมะเพิ่มเติมแล้ว จะทำให้ความลังเลสงสัยนั้นหมดไป ตัดสินใจละความชั่วทำความดีง่ายขึ้น  ๔.เป็นการปรับความเห็นให้ตรง คือ ในระหว่างการดำเนินชีวิตสู่จุดหมายของคนเรานั้น เราจะถูกมาร คือ กิเลสและสิ่งแวดล้อมไม่ดีต่างๆ ทำให้มีความคิดเห็นผิดๆ เกิดขึ้นได้ แล้วทำให้การดำเนินชีวิตวกวน เฉไฉผิดเป้าหมายไป การฟังธรรมจะช่วยให้เราเกิดความสำนึกตัวว่า ความคิดเห็นของเราได้บิดเบือนไปอย่างไร แล้วจะได้เลิกความเห็นที่ผิดเสียประคองความเห็นที่ถูกไว้  ๕.เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น คือ การฟังธรรมจะเป็นเครื่องเตือนสติเรา ทำให้ใจของเราเลิกละจากความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องกาม ความคิดพยาบาทอาฆาต ความคิดเบียดเบียนผู้อื่น และสอดส่องชี้ให้เราเห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องในตัว ซึ่งจะต้องปรับปรุแก้ไข ยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถขจัดข้อบกพร่องได้เด็ดขาด บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด   "ดูก่อน ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย สมัยใด พระอริยสาวกฟังธรรม ฟังให้จดระดูก ฝังไว้ในใจ รวบรวมกำลังใจทั้งหมดมา เงี่ยหูลงมาฟังจริงๆ ในสมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ของเธอย่อมไม่มี และโพชฌงค์ ๗ ก็จะถึงซึ่งความสมบูรณ์เต็มเปี่ยม เพราะอำนาจแห่งภาวนา " (พุทธพจน์)       "หญ้าแม้เป็นพืชต้นเล็กๆ แต่เพราะมีความทนทรหด จึงสามารถแพร่พันธุ์ไปได้ทั่วโลกฉันใด คนเราแม้กำลังทรัพย์ กำลังความรู้ ความสามารถจะยังน้อย แต่ถ้ามีความอดทนแล้ว ย่อมสามารถฝึกฝนตนเอง ให้ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตได้ฉันนั้น"   ความอดทนคืออะไร ?  ความอดทน มาจากคำว่า ขันติ หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทอะไรลงไป ของเสีย ของหอม ของสกปรกหรือของดีงามก็ตาม  งานทุกชิ้นในโลกไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ ที่สำเร็จขึ้นมาได้นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ล้วนต้องอาศัยคุณธรรมอันหนึ่งเป็นพื้นฐานจึงสำเร็จได้ คุณธรรมอันนั้นคือ ขันติ  ถ้าขาดขันติเสียแล้ว จะไม่มีงานชิ้นใดสำเร็จได้เลย เพราะขันติเป็นคุณธรราสำหรับทั้งต่อต้านความท้อถอยหดหู่ ขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่างๆ เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของงานทุกชิ้น ทั้งทางโลกและทางธรรม คืออนุสาวรีย์ของขันติทั้งสิ้น  โดยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ยกเว้นปัญญาแล้ว เราสรรเสริญว่าขันติเป็นคุณธรรมอย่างยิ่ง” ลักษณะความอดทนที่ถูกต้อง  ๑.มีความอดกลั้น คือ เมื่อถูกคนพาลด่า ก็ทำราวกับว่าไม่ได้ยิน ทำหูเหมือนหูกระทะ เมื่อเห็นอาการยั่วยุ ก็ทำราวกับว่าไม่ได้เห็น ทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ ไม่สนใจใยดี ไม่ปล่อยใจให้เศร้าหมองไปด้วย ใส่ใจ สนใจ แต่ในเรื่องที่จะทำความเจริญให้แก่ตนเอง เช่น เจริญศีล สมาธิ ปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  ๒.เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือ สามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่โกรธ ไม่ทำร้ายทำอันตรายด้วยอำนาจแห่งความโกธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทน มีคำตรัสของท้าวสักกะ เป็นข้อเตือนใจอยู่ว่า “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อนแล้ว ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่า ผู้ที่โกรธก่อน ผู้ที่ไม่โกรธต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่ ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากยิ่ง”  ๓.ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใครๆ คือ ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหลด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของเรา  ๔.มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ คือ มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอๆ ไม่พยาบาท ไม่โทษฟ้า โทษฝน โทษเทวดา โทษโชคชะตา หรือโทษใครๆ ทั้งนั้น พยายามอดทนทำการงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน  ลักษณะความอดทนนั้น โบราณท่านสอนลูกหลานไว้ย่อๆ ว่า “ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย”  คนบางคนขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ บางคนเกะกะเกเร พอมีผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติบารมี อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น  “พวกที่จน ก็ทนจนต่อไป ไม่ขวนขวายทำมาหากิน จัดเป็นพวกตายด้าน”  “พวกที่โง่ ก็ทนโง่ไป ใครสอนให้ก็ไม่เอา จัดเป็นพวก ดื้อด้าน”  “พวกที่ชั่ว แล้วก็ชั่วอีก ใครห้ามก็ไม่ฟัง จัดเป็นพวก ดื้อดึง”  ลักษณะที่สำคัญยิ่งของขันติ คือ ตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้น จะต้องมีใจผ่องใส ไม่เศร้าหมอง  เราสรุปลักษณะของขันติโดยย่อ ได้ดังนี้      ๑.อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้      ๒.อดทนทำความดีต่อไป      ๓.อดทนรักษาใจไว้ไม่ให้เศร้าหมอง ประเภทของความอดทน  ความอดทนแบ่งตามเหตุที่มากระทบได้เป็น ๔ประเภทคือ      ๑.อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ ความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก ฯลฯ ก็อดทนทำงานเรื่อยไป ไม่ใช่เอาแต่โทษเทวดาฟ้าดิน หรืออ้างเหตุเหล่านี้แล้วไม่ทำงาน      ๒.อดทนต่อทุกขเวทนา เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยความไม่สบายกายของเราเอง ความปวด ความเมื่อย ผู้ที่ขาดความอดทนประเภทนี้ เวลาเจ็บป่วย จะร้องครวญคราง พร่ำเพ้อรำพัน หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ผู้รักษาพยาบาลทำอะไรไม่ทันใจหรือไม่ถูกใจ ก็โกรธง่ายพวกนี้จึงต้องป่วยเป็น ๒ เท่า คือ นอกจากจะป่วยกายที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องป่วยใจแถมเข้าไปด้วย ทำตัวเป็นที่น่าเบื่อหน่ายแก่ชนทั้งหลาย      ๓.อดทนต่อความเจ็บใจ เป็นการอดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ชอบใจ กิริยามารยาทที่ไม่งาม การบีบคั้นทั้งจากผู้บังคับบัญชาและลูกน้อง ความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม ระบบงานต่างๆ ที่ไม่คล่องตัว ฯลฯ  คนทั้งหลายในโลกแตกต่างกันมากโดยอัธยาสัยใจคอ โอกาสที่จะได้อย่างใจเรานั้นอย่าพึงคิด เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มเข้าหมู่คนหรือมีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ให้เตรียมขันติไว้ต่อต้านความเจ็บใจ      ๔.อดทนต่ออำนาจกิเลส เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่น่าเพลิดเพลินใจ อดทนต่อสิ่งที่เราอยากทำ แต่ไม่สมควรทำ เช่น อดทน ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพสิ่งเสพย์ติด ไม่รับสินบน ไม่คอรัปชั่น ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่เห่อยศ ไม่บ้าอำนาจ ไม่ขี้โอ่ ไม่ขี้อวด เป็นต้น  การอดทนข้อนี้ทำได้ยากที่สุด โบราณเปรียบไว้ว่า “เขาด่าแล้วไม่โกรธ ว่ายากแล้ว เขาชมแล้วไม่ยิ้ม ยากยิ่งกว่า” วิธีฝึกให้มีความอดทน      ๑.ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก เมื่อมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่ ความอดทนย่อมจะเกิดขึ้น ดังตัวอย่างในเรื่องของพระเตมีย์ใบ้  เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ มีอยู่ชาติหนึ่ง พระองค์เกิดเป็นโอรสกษัตริย์นามว่าพระเตมีย์ ขณะอายุได้ ๖-๗ ขวบ ได้เห็นพระราชบิดาสั่งประหารโจรโดยใช้ไฟครอกให้ตาย ด้วยบุญบารมีที่ทำมาดีแล้ว ทำให้พระเตมีย์ระลึกชาติได้ว่าภพในอดีตพระองค์ก็เคยเป็นกษัตริย์ และก็เคยสั่งประหารโจร ทำให้ต้องตกนรกอยู่ช้านาน จึงคิดว่า ถ้าชาตินี้เราต้องเป็นกษัตริย์อีก ก็ต้องฆ่าโจรอีก แล้วก็จะตกนรกอีก  ตั้งแต่วันนั้นมา พระเตมีย์จึงแกล้งทำเป็นใบ้ ทำเป็นอ่อนเปลี้ยเสียขาไม่ขยับเขื้อนร่างกายพระราชบิดาจะเอาขนมเอาของเล่นมาล่อ ก็ไม่สนใจ จะเอามดมาไต่ ไรมากัด เอาไฟมาเผารอบตัวให้ร้อน เอาช้างมาทำท่าจะแทงก็เฉย ครั้งถึงวัยหนุ่ม จะเอาสาวๆ สวยๆ มาล่อ ก็เฉยเพราะคำนึงถึงภัยในนรก หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นเต็มที่ จึงมีความอดทนอยู่ได้  นานวันเข้าพระราชบิดาเห็นว่า ถ้าเอาพระเตมีย์ไว้ก็จะเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง จึงสั่งให้คนนำไปประหารเสียนอกเมือง เมื่อออกมาพ้นเมืองแล้ว พระเตมีย์ก็แสดงตัวว่าไม่ได้พิการแต่อย่างใด มีพละกำลังสมบูรณ์พร้อม แล้วก็ออกบวช ต่อมาพระราชบิดา ญาติพี่น้อง ประชาชนก็ได้ออกบวชตามไปด้วยและได้สำเร็จฌานสมาบัติกันเป็นจำนวนมาก      ๒.ต้องรู้จักเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น คือ นึกเสียว่า ที่เขาทำแก่เราอย่างนั้นน่ะดีแล้ว เช่น เขาด่า ก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาตี เขาตีก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาฆ่า เมียที่มีชู้ยังดีกว่าเมียที่ฆ่าผัว ผัวมีเมียน้อยก็ยังดีกว่าผัวที่ฆ่าเมียเพราะเห็นแก่หญิงอื่น ถ้าเปรียบกับการชกมวย การสู้แบบนี้ก็คือการหลบหมัดของคู่ต่อสู้ โดยวิธีหมอบลงต่ำให้หมัดเขาคร่อมหัวเราไปเสีย เราไม่เจ็บตัว ตัวอย่างในเรื่องนี้ ดูได้จากพระปุณณะเถระ  พระปุณณะเดิมเป็นชาวสุนาปรันตะ ไปค้าขายที่เมืองสาวัตถีได้ฟังเทศน์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงออกบวช  ครั้นบวชแล้วการทำสมาธิภาวนาไม่ได้ผล เพราะไม่คุ้นกับสถานที่ ท่านคิดว่าภูมิอากาศที่บ้านเดิมของท่านเหมาะกับตัวท่านมากกว่า จึงทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับสั่งถามว่า   “เธอแน่ใจหรือ ปุณณะ, คนชาวสุนาปรันตะนั้นดุร้ายมากนักทั้งหยาบคายด้วย เธอจะทนไหวหรือ”  “ไหวพระเจ้าข้า”  “นี่ปุณณะ ถ้าคนพวกนั้นเขาด่าเธอ เธอจะมีอุบายอย่างไร”  “ข้าพเจ้าก็จะคิดว่าถึงเขาจะด่าก็ยังดีกว่าเขาตบต่อยด้วยมือพระเจ้าข้า”  “ถ้าเผื่อเขาต่อยเอาล่ะ ปุณณะ”  “ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าเขาเอาก้อนดินข้วางเอา”  “ก็ถ้าเขาเอาก้อนดินขว้างเอาล่ะ”  “ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าเขาเอาไม้ตะพดตีเอา”  “เออ ถ้าเผื่อเขาหวดด้วยตะพดล่ะ”  “ก็ยังดีพระเจ้าค่ะ ดีกว่าถูกเขาแทงหรือฟันด้วยหอกดาบ”  “เอาล่ะ ถ้าเผื่อคนพวกนั้นเขาจะฆ่าเธอด้วยหอกด้วยดาบล่ะ ปุณณะ”  “ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า มันก็เป็นการดีเหมือนกัน พระเจ้าข้า”  “ดีอย่างไร ปุณณะ”  “ก็คนบางพวกที่คิดอยากตาย ยังต้องเสียเวลาเที่ยวแสวงหาศัสตราวุธมาฆ่าตัวเอง แต่ข้าพระองค์ มีโชคดีกว่าคนพวกนั้น ไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาศัสตราวุธอย่างเขา”  “ดีมาก ปุณณะ เธอคิดได้ดีมาก เป็นอันตกลง เราอนุญาตให้เธอไปพำนักทำความเพียร ที่ตำบลสุนาปรันตะได้”  พระปุณณะกลับไปเมืองสุนาปรันตะแล้ว ทำความเพียร ในไม่ช้าใจก็หยุดนิ่ง เข้าถึงพระธรรมกายไปตามลำดับ จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  นี่คือเรื่องของพระปุณณะ นักอดทนตัวอย่าง ซึ่งอดทนได้โดยวิธีเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น      ๓.ต้องฝึกสมาธิมากๆ เพราะทั้งขันติและสมาธิเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน ขันติจะหนักแน่นก็ต้องมีสมาธิมารองรับ สมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน ขันติอุปมาเหมือนมือซ้าย สมาธิอุปมาเหมือนมือขวา จะล้างมือ มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้าง จึงจะสะอาดดี  มีตัวอย่างของผู้มีความอดทนเป็นเลิศอีกท่านหนึ่ง คือ พระโสมสนาคเถระ  พระโสมสนาคเถระ เป็นพระที่ทำสมาธิจนสามารถระลึกชาติได้แต่ยังไม่หมดกิเลส วันหนึ่งท่านนั่งสมาธิอยู่กลางแจ้ง พอถึงตอนเที่ยงแดดส่องเหงื่อไหลท่วมตัวท่าน พวก ลูกศิษย์จึงเรียนท่านว่า  “ท่านขอรับ นิมนต์ท่านนั่งในที่ร่มเถิด อากาศเย็นดี”  พระเถระกล่าวตอบว่า  “คุณ ฉันนั่งในที่นี้ เพราะกลัวต่อความร้อนนั่นเอง”  แล้วมานั่งพิจารณาอเวจีมหานรกเรื่อยไป เพราะเคยได้ตกนรกมาหลายชาติ เห็นว่าความร้อนในอเวจีที่เคยตก ร้อนกว่านี้หลายร้อยหลายพันเท่า ท่านจึงไม่ลุกหนี ตั้งใจทำสมาธิต่อไป จนในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  พวกเราก็มีข้อคิดเตือนใจอยู่ว่า  “ที่อ้างร้อนนัก หนาวนัก ขี้เกียจภาวนา ระวัง จะไปร้อนหมกไหม้ในอเวจี หนาวเสียดกระดูกในโลกันต์” อานิสงส์การมีความอดทน  ๑.ทำให้กุศลธรรมทุกชนิดเจริญขึ้นได้  ๒.ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย  ๓.ทำให้ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งหลายได้  ๔.ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ทุกอิริยาบท  ๕.ชื่อว่าได้เครื่องประดับอันประเสริฐของนักปราชญ์  ๖.ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่น  ๗.ทำให้ได้พรหมวิหารโดยง่าย  ๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย  “บุคคลอดทนต่อคำของผู้สูงกว่าได้ เพราะความกลัว อดทนถ้อยคำของผู้เสมอกันได้ เพราะเหตุแห่งความแข่งดี ส่วนผู้ใดในโลกนี้ อดทนต่อคำของคนเลวกว่าได้ สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า ความอดทนนั้นสูงสุด” (พุทธพจน์)     "คนเป็นอัมพาต แม้จะมีของดีวางอยู่รอบตัว ก็ไม่อาจหยิบฉวยนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ฉันใด คนหัวดื้อว่ายาก แม้จะมีครูอาจารย์ดีวิเศษแค่ไหน ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเอาวิชาคุณความดีมาใส่ตัวฉันนั้น " คนว่าง่ายคือใคร ?  คนว่าง่ายสอนง่าย คือ คนที่อดทนต่อคำสั่งสอนได้ เมื่อมีผู้รู้แนะนำพร่ำสอนให้ ตักเตือนให้โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมปฏิบัติตามคำสอนนั้นโดยความเคารพอ่อนน้อม ไม่คัดค้าน ไม่โต้ตอบ ไม่แก้ตัวโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น  คนบางคน อดทนอะไรได้สารพัด ทนแดดทนร้อน ทนความลำบากตรากตรำ ป่วยไข้ไม่สบายแค่ไหน ก็ไม่เคยบ่น  แต่ทนไม่ได้เมื่อมีใครมาแนะนำสั่งสอนตักเตือน จะเกิดความรู้สึกคับแค้น โต้ตอบหักล้างขึ้นมาทันที เพราะเขามีเชื้อหัวดื้อ ว่ายากสอนยากอยู่ในตัว  หากว่าเดิมเป็นคนโง่อยู่แล้ว ก็สุดแสนจะเข็น  หากว่ามีความฉลาดอยู่บ้าง ก็แสนจะตะบึงตะบัน  กลายเป็นคนอัมพาตทางใจ รับคุณความดีจากใครไม่ได้  ดังนั้น เราจงมาเป็นคนว่าง่ายสอนง่ายกันเถิด ลักษณะของคนว่าง่าย  คนว่าง่ายสอนง่ายมีลักษณะที่สังเกตได้อยู่ ๑๑ ประการคือ      ๑.ไม่กลบเกลื่อนเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือน ไม่แก้ตัว ไม่บิดพลิ้ว ยอมรับฟังโดยความเคารพ      ๒.ไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อถูกตักเตือน พยายามปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น      ๓.ไม่มีจิตเพ่งคุณเพ่งโทษผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือ ไม่คอยจับผิดท่าน แต่รับฟังโอวาทด้วยดี      ๔.เอื้อเฟื้อต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง คือ ยอมทำตามคำสอนนั้นและเชื่อฟังผู้สอนอย่างดี ทำให้ผู้สอน มีเมตตาเกิดกำลังใจที่จะสอนต่อๆ ไปอีก      ๕.เคารพต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง ตระหนักดีว่าผู้ที่เตือนคนอื่นนั้น นับว่าเสี่ยงต่อการที่จะโกรธมาก ดังนั้นการที่มีผู้ว่ากล่าวตักเตือนเรา แสดงว่าเขาจะต้องมีคุณธรรม มีความเสียสละ มีความเมตตาปรารถนาดีต่อตัวเราจริงๆ จึงต้องมีความเคารพต่อคำสอน และตัวผู้สอน เป็นอย่างดียิ่ง      ๖.มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างดียิ่ง ไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องโอหัง คิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้ว      ๗.มีความยินดีปรีดาต่อคำสอนนั้น ถึงกับเปล่งคำว่า สาธุ สาธุ สาธุ รับโอวาทนั้น คือ ดีใจอย่างยิ่งว่าท่านกรุณาชี้ข้อบกพร่องของเราให้เห็น จะได้รีบแก้ไข เหมือนท่านชี้ขุมทรัพย์ให้ จึงเปล่งวาจาขอบคุณไม่ขาดปาก      ๘.ไม่ดื้อรั้น คือ ไม่ดันทุรังทำไปตามอำเภอใจ ทั้งๆที่รู้ว่าผิดแต่ทำไปตามความถูกต้อง เมื่อผิดก็ยอมแก้ไขปฏิบัติไปตามสมควรแก่ธรรม      ๙.ไม่ยินดีในการขัดคอ ไม่ศอกกลับ มีความประพฤติชอบเป็นที่พอใจ เป็นที่ปรารถนา      ๑๐.มีปกติรับโอวาทเอาไว้ดีเยี่ยม ตั้งใจฟังทุกแง่ทุกมุมไม่โต้ตอบ ยิ่งไปกว่านั้นยังปวารณาตัวไว้อีกว่า ให้ว่ากล่าวสั่งสอนได้ทุกเมื่อ เห็นข้อบกพร่องของตนเมื่อใดก็ให้ตักเตือนได้ทันที      ๑๑.เป็นผู้อดทน แม้จะถูกว่ากล่าวสั่งสอนอย่างหยาบคายหรือดุด่าอย่างไรก็ไม่โกรธ อดทนได้เสมอ เพราะนึกถึงพระคุณของท่านเป็นอารมณ์  โดยสรุปลักษณะคนว่าง่ายสอนง่าย สรุปโดยย่อได้ ๓ ประการ คือ  ๑.รับฟังคำสั่งสอนด้วยดี ไม่กลบเกลื่อน ไม่แก้ตัว ไม่เถียง ไม่ขัดคอ ไม่ศอกกลับ ไม่จ้องจับผิดท่าน  ๒.รับทำตามคำสั่งสอนด้วยดี ไม่ดื้อรั้น ดันทุรัง ไม่รีรอ อิดออด กระบิดกระบวน  ๓.รับรู้คุณผู้สอนอย่างดี ไม่โกรธ ไม่คิดลบหลู่คุณท่าน อดทนได้ แม้ถูกว่ากล่าวสั่งสอนโดยหยาบคาย ไม่ว่าผู้สอนนั้นจะ      -เป็นผู้ใหญ่กว่า ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ง่าย      -เป็นผู้เสมอกัน ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ยากขึ้น      -เป็นผู้น้อยกว่า ซึ่งเราทำใจอยมรับได้ยากที่สุด ประเภทของคนว่าง่าย  โดยทั่วไป เรามักเข้าใจกันว่าคนที่เชื่อฟังผู้อื่น ไม่เถียงทำตามที่ท่านสั่งสอน คือ คนว่าง่าย ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องนักเพราะ คนที่มีลัษณะดังกล่าว ยังอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท ตามสาเหตุที่ทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้น ดังนี้  ๑.ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ได้ คือ คนที่เห็นแก่อามิส รางวัล จึงว่าง่าย เช่น ลูกเชื่อฟังพ่อแม่เพราะอยากได้มรดก ลูกน้องเชื่อฟังเจ้านายเพราะอยากได้รางวัล พวกนี้เป็นคนว่าง่ายเทียม จัดเป็นพวก คนหัวประจบ  ๒.ว่าง่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คือ ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ใครบอกให้ทำอะไรก็ทำ ชวนเรียนหนังสือก็เรียน ชวนไปเที่ยวก็ไป ชวนดื่มเหล้าก็ดื่ม ชวนเล่นการพนันก็เล่น ชวนไปวัดก็ไป ดึงไปไหนก็ไปด้วย เป็นพวกที่เรียกกันว่า คนหัวอ่อน เป็นคนว่าง่ายเทียมอีกเหมือนกัน จัดเป็นพวก คนโง่  ๓.ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ความดี คือ คนที่ยึดถือธรรมะเป็นใหญ่เห็นแก่ธรรมจึงว่าง่าย ต้องการปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น เมื่อมีผู้ว่ากล่าวตักเตือนชี้ข้อบกพร่องให้จึงพร้อมรับฟังด้วยดี ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือเด็กกว่าก็ตามจัดเป็นพวก คนว่าง่ายที่แท้จริง เหตุแห่งความว่ายาก  สาเหตุที่ทำให้คนเราว่ายากสอนยาก มีอยู่ ๑๖ ประการ คือ  ๑.มีความปรารถนาลามก เช่น อยากรวยจึงไปค้าฝิ่นค้าเฮโรอีน เล่นการพนัน ใครห้ามก็ไม่ฟัง อยากได้ยศได้ตำแหน่งสูงๆ จึงทับถมเพื่อนร่วมงานกลัวเขาได้เกินหน้า ใครตักเตือนก็ไม่ฟัง  ๒.ชอบยกตนข่มท่าน หลงตัวเองว่าวิเศษกว่าคนอื่น ไปถึงไหนๆ ก็คิดแต่ว่าตนเก่ง ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ ทำให้เกิดความทะนงตนดื้อ ใครเตือนก็ไม่ฟัง  ๓.มีนิสัยมักโกรธ พอมีใครเตือนใครสอนอะไรก็โกรธขึ้นมาทันที พอเตือนครั้ง สองครั้ง ก็มีอาการขึ้นมาทีเดียว “รู้แล้วน่ะ มาพูดเซ้าซี้อยู่ได้ เดี๋ยวไม่ทำเลย” แล้วก็หน้าหงิกหน้างอ หน้านิ่วคิ้วหมวด คนพวกนี้ ว่ายาก  ๔.มีนิสัยผูกโกรธ คือ ไม่ใช่โกรธธรรมดาแต่ใครทำให้โกรธหน่อยก็เก็บผูกติดเอาไว้ในใจเป็นปีๆ เลย คนพวกนี้ยิ้มไม่ค่อยเป็นหน้าบึ้งทั้งวันใครเตือนเข้าหน่อยหน้าบึ้งทั้งวัน ใครเตือนเข้าหน่อย เหมือนจะแยกเขี้ยวเข้าไล่งับทีเดียว ไม่ฟัง  ๕.มีความรังเกียจเหยียดหยามเพราะฤทธิ์โกรธ คือ ไม่ใช่แค่หน้าบึ้งเฉยๆ แต่พอโกรธ ใครเตือนทำให้ไม่พอใจแล้ว ก็แสดงอาการรังเกียจเหยียดหยามทันที เช่น กระทืบเท้าปังๆ กระแทกประตูโครมคราม สะบัดหน้าหนี ถ่มน้ำลาย ฯลฯ  ๖.คิดต่อว่าต่อขาน คือ พอมีใครมาตักเตือนเข้าแล้ว ก็เกิดอาการคันปากยิบๆ ขอให้ได้ต่อปากต่อคำแล้วจึงจะสมใจ เช่น ไปวัดมีคนเตือนให้แต่งตัวให้เรียบร้อย ก็ตอบทีเดียว “หนักหัวใคร” เป็นเสียอย่างนั้น ชอบพูดคำที่ทำให้ใกล้ต่อความโกรธ ทำให้ไม่ฟังคำแนะนำตักเตือน  ๗.คิดโต้แย้ง คือ เมื่อมีผู้แนะนำตักเตือนให้เห็นข้อบกพร่องของตนแล้วก็รีบโต้แย้งแก้ตัวทันที เช่นไปหาผู้ใหญ่แล้วแต่งตัวไม่เรียบร้อย พอมีคนเตือนเข้าก็แย้งทันทีว่า “ชอบแต่งตัวตามสบาย ไม่เสแสร้งแกล้งทำ” เป็นเสียอย่างนั้น  ๘.คิดตะเพิด คือ ไม่สงบปากสงบคำรับเอาคุณความดีจากผู้หวังดีแต่กลับพูดจาระรานเขา เช่น “คุณนี่วันๆ ดีแต่นั่งจับผิดชาวบ้านเขาหรือไง” ตะเพิดเขาส่งไปเลย  ๙.คิดย้อน คือ นอกจากไม่ฟังแล้วยังพูดย้อนให้เขาเจ็บใจ เช่น “คุณไม่ต้องมาสอนฉันหรอกน่า ฉันรู้จักเอาตัวรอดได้ ไปสอนสามีคุณลูกคุณเถอะไป๊” พูดย้อนเขาได้แล้วจึงจะสะใจ  ๑๐.คิดกลบเกลื่อน คือ พอมีใครพูดถึงข้อบกพร่องของตัวก็พูดกลบเกลื่อน เฉไฉออกไปเรื่องอื่น ไม่ยอมรับกลัวเสียหน้า  ๑๑.คิดนอกเรื่อง คือ เมื่อมีคนเตือนแล้ว กลับมองเจตนาเขาไปอีกแง่หนึ่งว่าเขาเตือนเพื่อหวังผลประโยชน์ กลายเป็นคนมองคนในแง่ร้าย จึงไม่ยอมรับฟัง  ๑๒.คิดปิดยังซ่อนเงื่อน คือ เมื่อไปทำอะไรผิดมาแล้วไม่ยอมเปิดเผย จึงกลายเป็นคนมีชนักติดหลัง ใครพูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็หวาดสะดุ้ง เกรงเขาจะรู้ความผิดของตัว จึงมีใจขุ่นอยู่เสมอ ไม่เป็นอันตั้งใจฟังอะไรได้ กลายเป็นคนว่ายากสอนยาก  ๑๓.คิดลบหลู่ตีเสมอ คือ เป็นคนไม่มีความกตัญญู ใครทำความดีไว้กับตัว ก็พยายามลบหลู่ตีเสมอเหยียบย่ำเขาลงไป เพราะเกรงจะเสียเกียรติจะติดหนี้บุญคุณเขา  ๑๔.คิดริษยาเห็นแก่ตัวจัด คือ เป็นคนใจแคบ ใครมาแนะนำอะไรก็รับไม่ได้ เกรงว่าเขาจะเหนือกว่าตัว เกรงว่าเขาจะดีกว่าตัว  ๑๕.มีนิสัยโอ้อวด ไปไหนๆ ก็คุยอวดว่าตัวดี ตัวเก่ง พอคุยอวดบ่อยๆ เข้า ก็จะเกิดความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า ตัวเองเก่งแล้ว จึงไม่ยอมฟังคำเตือนของใคร  ๑๖.มีความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฐิเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อเรา เห็นว่าการให้ทานไม่ควรทำ เพราะทำให้คนขี้เกียจ ฯลฯ เมื่อมีความเห็นผิดเช่นนี้แล้ว เวลามีใครตักเตือนอะไรเข้าแม้เป็นสิ่งดีมีประโยชน์ เขาก็ย่อมมองไม่ออก เห็นเป็นสิ่งไม่ดีอยู่นั่นเอง วิธีฝึกให้เป็นคนว่าง่าย  เมื่อเราทราบแล้วว่าที่เราเป็นคนว่ายาก ก็เพราะนิสัยไม่ดีทั้ง ๑๖ ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นเพื่อจะให้เป็นคนว่าง่ายเราก็ต้องกำจัดนิสัยที่ไม่ดีทั้ง ๑๖ ประการนั้น ให้ทุเลาเบาบางและหมดไปจากใจซึ่งทำได้ดังนี้      ๑.หมั่นนึกถึงโทษของความเป็นคนหัวดื้อว่ายาก ว่าทำให้ไม่สามารถรับเอาความดีจากใครๆ ได้ เหมือนคนเป็นอัมพาตที่แม้มีของดีรอบตัวก็หยิบเอามาใช้ไม่ได้อย่างนั้น หัวดื้อมากๆ ลงท้ายก็ไม่มีใครอยากสอนอยากเตือนต้องโง่ทั้งชาติทำผิดเรื่อยไป      ๒.หมั่นนึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า"ผู้ชี้โทษคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้”      ๓.ฝึกให้เป็นคนมากด้วยความเคารพ มองคนในแง่ดี ใครมาแนะนำตักเตือนเราไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามนึกขอบคุณเขาในใจ เพราะแสดงว่าเขามีความปรารถนาดีต่อเราจึงได้มาเตือนไม่ว่าเรื่องที่เตือนนั้นจะถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ให้รับฟังไว้ก่อน ไม่ด่วนเถียงหรือนึกดูหมิ่น เหยียดหยามเขา      ๔.ฝึกการปวารณา คือ การออกปากยอมให้ผู้ว่ากล่าวตักเตือนตน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีอายุมากกว่า เท่ากัน หรือน้อยกว่าก็ตาม ตัวอย่างเช่น พระภิกษุมีวินัยอยู่ข้อหนึ่งว่า ในวันออกพรรษาให้มีการประชุมกันของพระภิกษุทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยในวันนี้ พระทุกรูปจะกล่าวคำปวารณากัน คือ อนุญาตให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตัวเองได้ เรียกว่า วันมหาปวารณา หลักการนี้ สามารถนำมาใช้กับคนทั่วไปได้ เช่น ในหน่วยงานต่างๆ ในครอบครัวทำบ่อยๆ แล้วจะเกิดความเคยชินเป็นนิสัย เป็นการฝึกให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย      ๕.ต้องฝึกสมาธิให้มาก เพื่อให้ใจผ่องใส หนักแน่น สามารถตรองตามคำแนะนำสั่งสอนของผู้อื่น มีใจสงบเยือกเย็นพอที่จะพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคนหัวดื้อ  คนหัวดื้อในโลกนี้ อาจแบ่งใหญ่ๆ ได้เป็น ๓ ประเภท คือ  ๑.ดื้อเพราะความโง่หรือความขี้เกียจ จัดเป็นพวกดื้อด้าน  ๒.ดื้อเพราะทิฐิมานะหลงตัวเองว่ารู้แล้ว จัดเป็นพวกดื้อดึง  ๓.ดื้อเพราะโทสะโกรธง่าย จัดเป็นพวกบ้า  ในการปกครองคนหัวดื้อ ก็มีข้อพึงสังวรอยู่คือ  ๑.พวกดื้อด้าน คือ ดื้อเพราะฤทธิ์โง่หรือขี้เกียจนั้น พวกนี้ชอบรับคำสั่งคือมีอะไรก็ส่งไปให้ทำได้ แต่ไม่ชอบฟังคำสอน เพราะฟังไม่รู้เรื่องบ้าง ขี้เกียจฟังบ้าง  ๒.พวกดื้อดึง พวกนี้มีแววฉลาดอยู่เหมือนกัน แต่ว่ายังไม่เฉลียวรู้แค่จุดใดจุดหนึ่ง ก็คิดว่าตัวเองรู้หมดแล้ว คือ ไม่รู้ว่าตัวยังไม่รู้ เวลาใช้งานคนพวกนี้ อย่าไปบังคับ อย่าไปสั่งอย่างเดียว เขาจะไม่ค่อยยอมรับต้องค่อยๆ สอน ค่อยๆ อธิบายให้เข้าใจ พูดให้เข้าใจถึงประโยชน์ของงานที่ทำ ถ้าไม่ใช่คนที่มีทิฐิมากจนเกินไป ก็จะเข้าใจและรีบไปทำได้แต่ถ้าใครหลงตัวจัดมาก พูดอย่างไรก็ไม่ฟังก็ต้องปล่อยไป  ๓.พวกบ้า คือ พูดอะไรผิดหน่อย ก็โกรธ ฉุนเฉียวปึงปังพวกนี้ยากจะเอามาใช้ประโยชน์ได้ รังแต่จะทำให้หมู่คณะแตกแยกรวนเรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจิตแพทย์จัดการดีกว่า  นอกจากนี้ยังมีข้อน่าสนใจอยู่อีกหน่อยว่า ในการปกครองพวกคนดื้อดึงนั้น ถ้าหากว่ากล่าวสั่งสอนในขั้นแรกแล้วเขายังไม่ฟังจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ ในขั้นที่สองก็ให้ลงโทษอาจพักราชการ ตัดเงินเดือน หรืออะไรก็แล้วแต่ความเหมาะสม ถ้าหากว่ายังไม่เชื่อฟังในทางศาสนามีวิธีแก้อยู่อีกอย่างหนึ่งคือ ท่านใช้คำว่า ลงพรหมทัณฑ์  บางแห่งเขาเรียก คว่ำบาตร ดังมีตัวอย่างเรื่องในสมัยพุทธกาล ดังนี้  นายฉันนะซึ่งเป็นคนตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงม้ากัณฐกะออกบรรพชา ภายหลังนายฉันนะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและเป็นคนหัวดื้อมากถือว่าเป็นคนใกล้ชิด ใครจะสอนจะเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง พระอานนท์จึงกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะทำอย่างไรดี พระบรมศาสดา จึงทรงแนะนำว่า เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะคือ ให้ภิกษุทุกรูปเลิกยุ่งเกี่ยว กับพระฉันนะให้ทำเหมือนกับว่าไม่มีพระฉันนะอยู่ในโลก พระฉันนะอยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำ ไม่มีใครยุ่งเกี่ยว ไม่มีใครพูดคุยด้วย ต่อจากนั้นไม่กี่วัน หลังจากไม่มีใครสนใจใยดีด้วยกลายเป็นตัวประหลาดในท่ามกลางกลุ่มสงฆ์ พระฉันนะก็รู้สึกสำนึกตัว สารภาพผิดต่อหมู่สงฆ์ และเลิกดื้ออีกต่อไป  นี่การที่ทุกคนเลิกเกี่ยวข้องด้วย ไม่ให้ความช่วยเหลือไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เรียกว่า ลงพรหมทัณฑ์  เพราะฉะนั้น ถ้าในที่ทำงานไหน หรือตามโรงเรียน ตามบ้าน ถ้าเกิดมีลูกดื้อขึ้นมา ว่ายากสอนยากนัก พ่อแม่อาจจะลองลงพรหมทัณฑ์ลูกบ้างก็ได้ แก้โรคดื้อได้ชะงัดนัก แต่ว่าถ้าเกิดพ่อดื้อ หรือว่าแม่ดื้อขึ้นมา ลูกขืนไปลงพรหมทัณฑ์ ก็มีหวังโดนตะพด ต้องดูให้พอเหมาะพอควรเป็นกรณีๆ ไป อานิสงส์การเป็นคนว่าง่าย  ๑.ทำให้เป็นที่เมตตา อยากแนะนำพร่ำสอนของคนทั้งหลาย  ๒.ทำให้ได้รับโอวาท อนุศาสนี  ๓.ทำให้ได้ธรรมะอันเป็นที่พึ่งแก่ตน  ๔.ทำให้ละโทษทั้งปวงได้  ๕.ทำให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงได้โดยง่าย “บุคคลควรเห็นผู้มีปัญญา ที่คอยกล่าวคำขนาบ ชี้โทษของเราให้เห็น ว่าเป็นดุจผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรคบกับบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อคบแล้ว ย่อมมีแต่ดีฝ่ายเดียว ไม่มีเลวเลย” (พุทธพจน์)     "เด็กต้องการตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่ ครูอาจารย์ฉันใด ชาวโลกทั้งหลายก็ต้องการตัวอย่างที่ดี จากสมณะฉันนั้น ทำไมจึงต้องเห็นสมณะ " ความสุขทั้งหลายในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท คือ      ๑.ความสุขที่ต้องอิงวัตถุกามหรือกามสุข เป็นความสุขทางเนื้อหนัง เช่น ได้ฟังเพลงเพราะๆ กินอาหารอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ฯลฯ จัดเป็นความสุขภายนอก ที่เห็นกันได้ง่าย      ๒.ความสุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเจริญภาวนาให้ใจสงบและเกิดปัญญา เป็นความสุขของผู้เข้าถึงธรรมจัดเป็นความสุขภายใน เมื่อเทียบกันแล้ว ความสุขภายใน อันเกิดจากความสงบนั่นเป็นสุขที่เลิศกว่าอย่างเทียบไม่ได้แต่เห็นและเข้าใจได้ยากกว่า  ความสุขภายในนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะเราคาดคะเนไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติธรรมก็จะไม่พบกับความสุขชนิดนี้ ทำให้ไม่คุ้น แม้อ่านจากตำราก็ยากจะเข้าใจ เช่นพระท่านบอกว่าผู้ที่รักษาศีลแล้วจะมีจิตที่ร่าเริงแจ่มใส ถ้าคนยังไม่เคยปฏิบัติธรรมจะนึกค้านทันทีว่า คนรักษาศีลจะร่าเริงได้อย่างไร จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องคอยระวังจะผิดศีล สู้คนไม่มีศีลไม่ได้ จะดื่มเหล้าก็ดื่ม จะเที่ยวก็เที่ยว เห็นพวกขี้เมาร้องรำทำเพลง เชียร์มวยแทงม้าส่งเสียงกันอึงคะนึงร่าเริงสนุกสนานกว่าตั้งเยอะ แล้วมาบอกว่ารักษาศีลแล้วจิตจะร่าเริงแจ่มใส อย่ามาหลอกกันให้ยากเลย เราไม่ยอมเชื่อหรอก  ต่อเมื่อใด ได้พบคนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้ เห็นคนที่รักษาศีลมาแแล้ว อย่างดีเยี่ยม หน้าตาท่านก็ผ่องใส ไม่บึ้งไม่ตึง พูดจาก็ไพเราะถึงได้เชื่อว่า เออจริง คนที่รักษาศีลมาแล้วอย่างดี เขาร่าเริง แต่ร่าเริงอีกอย่างไม่เหมือนที่เราเคยเห็นไม่เหมือนที่เราเคยรู้จัก ถึงแม้ยังไม่เชื่ออย่างน้อยก็คิดที่จะทดลองทำตาม แม้ไม่ได้ทำตามก็ฉุกคิดถึงการทำความดีบางอย่างขึ้นมา  คนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้ คือ สมณะ ซึ่งถ้าใครได้เห็นแล้วจะเกิดแรงบันดาลใจให้คิดถึงธรรม เหมือนระเบิดที่ถูกจุดชนวนย่อมแสดงอานุภาพออกมาเต็มที่ สติปัญญา ความรู้ความสามารถที่มีอยู่จะถูกสมณะกระตุ้นให้เอาออกมาใช้สร้างความดีให้เต็มที่ สมณคือใคร  ?  สมณ แปลว่า คนสงบ  หมายถึงพระภิกษุที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมฝึกฝนตนเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญามาแล้วอย่างเต็มที่จนกระทั่งมีกายวาจาใจสงบแล้วจากบาป  สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นพระภิกษุ แต่พระภิกษุบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณก็ได้  “คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณเพราะหัวโล้น คนที่ไม่ทำกิจวัตรมีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จะจัดเป็นสมณะได้อย่างไร”   คนที่เราตถาคตเรียกว่า “สมณะ” นั้น จะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย ลักษณะของสมณ  ๑.สมณะต้องสงบกาย คือ มีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวน หรือเฮโลยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกินกัน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหนจะอยู่ที่ไหนย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะในเรื่องนี้ว่า ท่านแม้นจะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ไม่เคยทำความช้ำชอกแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดูว่า เขาจะเดือดร้อนไหมรับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนแมลงภู่บินเข้าสวนดูดเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคยทำความช้ำชอกให้แก่ดอกไม้เลย  นอกจากนี้แล้วสมณะยังต้องคำนึงถึง “สมณสารูป” คือ จะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย      ๒.สมณะต้องสงบวาจา คือ ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระหรือพระกับฆราวาสก็ตามจะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรมไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป  ๓.สมณะต้องสงบใจ คือ ทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายในสงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด      การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว มีคำอยู่ ๒ คำที่ใช้ชมความงามคน คือ ถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า สวยงาม แต่ถ้าจะชมสมณะ เราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีคามสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยมแต่ไม่จ๋อง ไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ  “สมณเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย”  ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ  ๑.สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจาก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร แม้ในความคิดก็ไม่คิดให้ร้ายใคร  ๒.สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร มีความสันโดษ ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน เห็นแก่ปากแก่ท้อง  ๓.สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม พยายามฝึกฝนตนเองไม่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ กิจวัตรของตน เช่น การสวดมนต์ ทำวัตร การศึกษาพระธรรมวินัย กิริยามารยาทต่างๆ ตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่  ๔.สมณะต้องบำเพ็ญตบะ คือ ทำความเพียรเพื่อละกิเลสเป็นทหารในกองทัพธรรมอย่างเต็มที่ ตั้งใจรบเอาชนะกิเลสให้ได้ ไม่ว่าจะโดยการเดินจงกรม ทำสมาธิ ฝึกธุดงค์ ก็ตาม ชนิดของการเห็นสมณะ  การเห็นของคนแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ  ๑.เห็นด้วยตา เรียกว่า พบเห็น คือ เห็นถึงรูปร่าง ลักษณะกิริยา มารยาทอันสง่างาม และสงบของท่าน  ๒.เห็นด้วยใจ เรียกว่า คิดเห็น คือ นอกจากจะเห็นตัวท่านซึ่งเป็นสมณบุคคลแล้ว ยังพิจารณาตรองดูด้วยใจจนสามารถคาดคะเนได้ถึงคุณธรรมภายใน ที่ทำให้ท่านสงบเสงี่ยม แต่สง่างามอย่างน่าอัศจรรย์ หรือเรียกว่าเห็นถึงสมณธรรมของท่าน  ๓.เห็นด้วยญาณ เรียกว่า รู้เห็น คือไม่ใช่เป็นเพียงการคิดคาดคะเนถึงคุณธรรมของท่านเท่านั้น แต่เห็นด้วยญาณทัศนะ เห็นด้วยปัญญาทางธรรมทีเดียวว่า ท่านมีคุณธรรมมากเพียงใด เป็นการเห็นของผู้ที่ปฏิบัติมาดีแล้ว จนเข้าถึงธรรมกายในตัว แล้วก็อาศัยธรรมกายในตัวมองทะลุเข้าไปในใจคนอื่นได้ การเห็นชนิดนี้ชัดเจนถูกต้องแน่นอนไม่มีการผิดพลาด กิจที่ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเห็นสมณะ  ในการเห็นสมณะนั้น ถ้าหากเห็นเพียงชั่วขณะ เช่น เห็นท่านเดินผ่านไป หรือเราเผอิญเดินไปเห็นท่านแล้วก็ผ่านเลยไปอย่างนั้นได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่จากการเห็นสมณะ พึงกระทำดังนี้  ๑.ต้องเข้าไปหา หมายถึง เข้าไปช่วยทำกิจของท่าน เช่น ปัดกวาดเช็ดถูกุฏิของท่าน ช่วยซักสบง จีวรของท่าน เป็นต้น  ๒.ต้องเข้าไปบำรุง หมายถึง จัดหาปัจจัย ๔ ไปถวายท่าน ท่านจะได้ไม่มีภาระมาก และจะได้มีเวลามีโอกาสได้สนทนาธรรมกันมากขึ้น  ๓.ตามฟัง หมายถึง ตั้งใจฟังคำเทศน์ คำสอนของท่าน ด้วยใจจดจ่อ  ๔.ตามระลึกถึงท่าน หมายถึง เมื่อพบท่านได้ฟังคำสอนของท่านแล้วก็ตามระลึกถึงทั้งกิริยามารยาทของท่าน คำสอน โอวาทของท่าน นำมาไตร่ตรองพิจารณาอยู่เสมอ  ๕.ตามดูตามเห็น หมายถึง ดูท่านด้วยตาเนื้อของเราด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างหนึ่ง และตามดูท่านด้วยความคิดและปัญญาทางธรรมให้เห็นตัวสมณธรรมของท่านอีกอย่างหนึ่ง เห็นทานอย่างไรเราก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ดื้อรั้น เหตุที่ชาวโลกอยากให้สมณะหรือพระมีศีลไปเยี่ยมบ้าน  เมื่อสมณะหรือพระผู้มีศีลบริสุทธิ์ เข้าสู่สกุลใดมนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้นย่อมประสบบุญเป็นอันมากด้วยฐานะ ๕ ประการ ดังนี้      ๑.จิตของเราย่อมเลื่อมใสเพราะเห็นสมณะ เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์      ๒.เขาย่อมพากันต้อนรับกราบไหว้ให้อาสนะแก่สมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง      ๔.เขาย่อมแจกจ่ายทานตามสติกำลังในสมณะผู้เข้าไปสู่สกุลเป็นผลให้สกุลนั้ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคะใหญ่      ๕.เขาย่อมไต่ถาม สอบสวน ฟังธรรม จากสมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุลเป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่ ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบสมณะ  ๑.ถ้าไทยธรรมมีอยู่ พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมนั้น ตามสมควร  ๒.ถ้าไทยธรรมไม่มี พึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์  ๓.ถ้าไม่สะดวกในการกราบ ก็ประนมมือไหว้  ๔.ถ้าไหว้ไม่สะดวก ก็ยืนตรง หรือแสดงความเคารพด้วย วิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น หลีกทางให้  ๕.อย่างน้อยที่สุด ต้องแลดูด้วยจิตเลื่อมใส อานิสงส์การเห็นสมณะ  ๑.ทำให้ได้สติ ฉุกคิดถึงบุญกุศล  ๒.ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีตามท่าน  ๓.ทำให้ตาผ่องใสดุจแก้วมณี  ๔.ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท  ๕.ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง  ๖.ทำให้ได้สมบัติ ๓ โดยง่าย  ๗.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย ตัวอย่างอานิสงส์การเห็นสมณะ      พระสารีบุตรสมัยที่ยังเป็นกุลบุตรชื่ออุปติสสะ เกิดในตระกูลที่มั่งคั่งได้ศึกษาศิลปวิทยาการ ทางโลกมาจนเจนจบวิชา ๑๘ ประการ เรียนจนสำเร็จหมด ก็ต้องการแสวงหาโมกขธรรม จึงออกบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก เพราะขณะนั้นพุทธศาสนายังไม่บังเกิดขึ้น ศึกษาจนหมดแล้วก็ยังไม่สามารถปราบกิเลสในตัวได้ จึงออกท่องเที่ยวไปโดยหวังว่าอาจพบพระอรหันต์ในโลกนี้  อยู่มาวันหนึ่ง ไปพบพระอัสสชิ ซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ เห็นท่านมีผิวพรรณผ่องใส กิริยามารยาทงดงาม ท่าทางสงบสำรวมเกิดความเลื่อมใส จึงติดตามไปและจัดที่นั่งให้ท่านฉันอาหารรอจนท่านฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เข้าไปกราบ เรียนถามท่านว่า  “ท่านขอรับ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณก็บริสุทธิ์ท่านตั้งใจบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร?”  พระอัสสชิตอบว่า  “พระมหาสมณผู้เป็นบุตรศากยราช ผู้ออกบวชจากศากยตระกูลนั้นมีอยู่ เราตั้งใจบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น" พระสารีบุตรถามต่อว่า  “ศาสดาของท่านมี ปกติสอนอย่างไร?”  พระอัสสชิตอบว่า  “เราเป็นผู้บวชใหม่อยู่ เพิ่งเข้าสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นาน เราไม่อาจแสดงธรรมให้พิสดารได้ แต่เราพอจะแสดงได้เฉพาะความย่อ  ธรรมเหล่าใดเกิดขึ้นแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสสอนอย่างนี้”      พระสารีบุตรท่านฟังแล้ว ตรองตามก็ได้เข้าถึงธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบันอยู่ตรงนั้นเอง  พวกเราฟังดูแล้วเป็นอย่างไร ธรรมที่พระอัสสชิทรงแสดงฟังแล้วก็งั้นๆ ไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยซาบซึ้งเท่าไร เพราะภพในอดีตพบเห็นสมณะมาก็มาก แต่ยังไม่ค่อยได้ใส่ใจ แค่พบเห็นด้วยตาเนื้อ ยังไม่ได้คิดเห็นด้วยใจ หรือ รู้เห็นด้วยญาณทัสนะถึงคุณธรรมของท่าน  แต่พระสารีบุตรท่านไม่ใช่อย่างเรา ท่านเห็นสมณะข้ามภพข้ามชาติมามาก เห็นแล้วก็ไม่ใช่เพียงพบเห็น แต่พยายามทั้งคิดเห็น รู้เห็น ถึงคุณธรรมของท่าน พยายามตรึกตรองให้เข้าใจให้ได้ มาในภพนี้ พระอัสสชิเทศน์เพียงสั้นๆ ย่อๆ เท่านี้ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน นี่คืออานิสงส์ของการเห็นสมณะทั้งภพในอดีต และภพชาติปัจจุบัน  นอกจากที่เราลองสังเกตถึงคุณธรรมของท่านทั้งสองต่อไปอีก พระสารีบุตรก็เป็นคนรู้จักกาลเทศะ รอปรนนิบัติจนพระอัสสชิฉันภัตตาหารเสร็จแล้วจึงได้ถามธรรมะ พระอัสสชิเองก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเต็มที่ ตนเองเป็นถึงพระอรหันต์แล้ว แต่ก็ยังถ่อมตนว่ายังเป็นผู้บวชใหม่อยู่ เพิ่งเข้าสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นาน ยังไม่อาจแสดงธรรมโดยพิสดารได้ ได้แต่แสดงแบบย่อๆ  เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคน ใครที่นึกเอาว่าตนเองเก่งนักเก่งหนาวางก้ามวางโตน่ะ บองถามตัวเองดูก่อนเถอะว่าคุณธรรมในตัวนั้นมีขนาดไหน เก่งกล้าสามารถจริงแล้วหรือ ถึงได้อวดเบ่งอย่างนั้น อย่าเลย มาฝึกฝนตนเองให้มีคุณธรรมจริงแต่ไม่อวดตัวอวดเบ่งอย่างพระอัสสชิและให้มีความเคารพรู้จักเห็นสมณะอย่างพระสารีบุตรกันเถิด       "การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดด้วยจิตเมตตา เป็นที่มาแห่งความเจริญก้าวหน้าของวิชาการทางโลกฉันใด การสนทนาธรรมตามกาลด้วยความเคารพในธรรม ก็ย่อมนำมาซึ่งสติปัญญาอันเป็นหนทางเพื่อความพ้นทุกข์ฉันนั้น"   ทำไมจึงต้องสนทนาธรรมตามกาล “ปญฺญา นรานํ รตนํ ปัญญาเป็นรัตนะของคน”  นี่คือพุทธวจนะที่แสดงให้เห็นคุณค่าของปัญญา เพราะขีวิตคนนั้นมีปัญหามาก ปัญหาเหล่านั้นล้วนต้องแก้ด้วยปัญญา ใครมีปัญญามากก็เหมือนมีแก้วสารพัดนึกไว้ในตัว ย่อมสามารถฝ่า ฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้โดยง่าย  ปัญญาเกิดได้จาก ๒ เหตุใหญ่คือ      ๑.จากการฟังธรรมของกัลยาณมิตร ผู้มีปัญญารู้จริง      ๒.จากการพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย  วิธีลัดที่จะทำให้เกิดปัญญาอย่างรวดเร็ว คือ การสนทนาธรรมตามกาล ซึ่งเป็นการบังคับให้ตนเองต้องทั้งฟังทั้งพูด ต้องเป็นนักฟังที่ดี ฟังผู้อื่นพูดด้วยความตั้งใจ ฟังแล้วก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายตามไปทันที สงสัยอะไรก็สามารถซักถามได้ นอกจากนั้นถ้าตนเองมีความรู้ในธรรมะเรื่องใดก็นำมาพูดเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย  แต่ทั้งหมดนี้จะต้องทำอย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นจะเกิดโทษมากกว่าคุณ สนทนาธรรมตามกาลคืออะไร ?  การสนทนาธรรมตามกาล คือการพูดคุยซักถามธรรมะซึ่งกันและกัน ระหว่างคน ๒ คนขึ้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดปัญญาโดยรู้จักเลือกและแบ่งเวลาให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้รับความเบิกบานใจ มีความสุขความเจริญและบุญกุศลไปในตัวด้วย  ในพระพุทธศาสนา คำว่า “ธรรม” มีความหมายกว้าง  อยู่ ๒ ประการ คือ      ๑.ธรรมหมายถึงความจริงตามธรรมชาติ เช่น คนเราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย นี่เป็นธรรมะ คือความเป็นจริงตามธรรมชาติ      ๒.ธรรมหมายถึงความดีความถูกต้อง เช่น การให้ทานเป็นความดี การรักษาศีล มีเมตตา กรุณา เป็นความดี ความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่เป็นความดี ใครปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม  การสนทนาธรรมที่ถูกต้อง จึงหมายถึง การสนทนาให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศลธรรมความชั่ว จะได้ละเว้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลธรรมความดีจะได้ตั้งใจทำให้มาก และสิ่งใดเป็นอัพยากตธรรม คือ ความจริงตามธรรมชาติไม่ดีไม่ชั่ว ก็รู้เท่าทันทุกประการ จะได้ไม่หลงเข้าใจผิดให้เกิดทุกข์  ความยากในการสนทนาธรรม  การสนทนาธรรม หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “คุยธรรมะ” นั้นดูเผินๆ ก็ไม่น่ายาก ก็เหมือนคนมาคุยกันตามธรรมดานั้นแหละ เราก็คุยกันออกบ่อยไป เพียงแต่เรื่องที่คุยเป็นเรื่องธรรมะเท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ดูเบาในการสนทนาธรรม พูดคุยธรรมะกันได้ไม่นานก็มักมีเรื่องวงแตก กันอยู่บ่อยๆ พ่อลูกนั่งดื่มเหล้าคุยธรรมะกันพ่อบอกกินยาถ่ายพยาธิไม่บาป เพราะไม่เจตนาฆ่า ลูกบอกบาปเพราะรู้ว่ามันจะต้องตายก็ยังไปกินยาถ่าย เถียงกันไปเถียงกันมาไม่กี่คำ พ่อคว้าปืนลูกซองไล่ยิงเสียรอบบ้าน อย่างนี้ก็มี นี่ก็เพราะดูเบาในการสนทนาธรรม ความยากในการสนทนาธรรมนั้นเป็นเพราะ  ๑.คู่สนทนาต้องพูดธรรมะเป็น คือ เมื่อเข้าใจอย่างไรแล้ว ก็สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดให้เขาเข้าใจตามนั้นได้ด้วย โดยยึดหลักการพูดในมงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิตเป็นบรรทัดฐาน จะได้ไม่เกิดการแตกร้าวเข้าใจผิดแก่ผู้ฟัง คือ      ๑.๑ เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง      ๑.๒ เรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องมีประโยชน์      ๑.๓ ต้องพูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ      ๑.๔ ต้องพูดถูกกาลเทศะ      ๑.๕ ต้องพูดด้วยจิตเมตตา  การพูดธรรมะนั้นจะต้องยึดเอาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ใช่พูดเอาความถูกใจ คนส่วนมากในโลกนี้ชอบให้เขาชม แต่ว่าสนทนาธรรมกันแล้วมัวไปนั่งชมอยู่อย่างเดียว “คุณก็เก่ง ฉันก็เก่ง” เดี๋ยวก็ได้บ้ากันทั้งคู่ แต่ก็ไม่ใช่มานั่งติอย่างเดียว “คุณนิสัยอันโน้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี” คนเรายังไม่หมดกิเลส เดี๋ยวก็ทนกันไม่ได้ ยิ่งถ้าแถมมีการยกตนข่มท่านเข้าไปอีก หรือไม่ก็ยกสำนักมาอวดกัน “ถึงฉันไม่เก่ง อาจารย์ฉันก็เก่งนะ” อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวก็ผูกใจเจ็บกัน สนทนาธรรมไปได้ ๒-๓ คำ จะกลายเป็นสนทนากรรมไป จะต้องมีความพอเหมาะพอดี รู้จักใช้วาจาสุภาษิต  ๒.คู่สนทนาต้องฟังธรรมเป็น การฟังธรรมนี่ดูเผินๆ เหมือนจะง่าย ถึงเวลาก็แค่ไปนั่งฟังๆไม่เห็นจะมีอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วการฟังธรรมะที่ถูกต้อง คือฟังด้วยความพิจารณา แต่การรู้จักควบคุมใจให้พิจารณาตามธรรม หยิบยกเอาประโยชน์จากการฟังนั้นยาก ยากกว่าการพูดธรรมะใหคนอื่นฟังหลายเท่า ที่ว่ายากนั้นก็เป็นเพราะ      ๒.๑ ยากที่จะควบคุมใจให้อยากฟังธรรม เพราะการฟังธรรมนั้นไม่สนุกเหมือนการไปฟังละคร ฟังเพลง ถ้าไม่รู้จักควบคุมตนเองฟังไปได้สักนิด หนังตาก็เริ่มหนัก พาลจะหลับเอา หรือไม่อย่างนั้นก็นั่งใจลอย คิดไปถึงเรื่องอื่น มีผู้เปรียบว่า การควบคุมใจให้อยากฟังธรรมะนั้น ยังยากกว่าคุมลิงให้นั่งนิ่งๆ เสียอีก      ๒.๒ ยากที่จะยอมรับธรรมะที่ได้ยินนั้นเข้าไปสู่ใจ ทั้งนี้ก็เพราะกิเลสต่างๆ ในตัวเรา เช่น ความหัวดื้อ ความถือตัว ความเห็นผิด ฯลฯ มันคอยต่อต้านธรรมะไว้ พอเรื่องธรรมะที่ได้ฟังขัดกับ ความเคยชินประจำตัว เช่น ฟังว่าต้องมีวินัยให้ข้ามถนนตรงทางม้าลาย ฟังแล้วก็เริ่มขัดใจ เพราะมันขัดกันกับความเคยชินของตัวเอง ขัดกับกิเลสในตัวเลยไม่ค่อยจะยอมรับ มันนึกค้านในใจ  ผู้ที่จะฟังธรรมเป็นนั้น จะต้องหมั่นฟังธรรมบ่อยๆ จนเคยชินฝึกเป็นคนมีความเคารพ มองคนอื่นในแง่ดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัว มีความสันโดษ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม รู้จักพอ รู้จักประมาณ และมีความกตัญญูรู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน จะทำให้มีอัธยาศัยใฝ่ธรรม ฟังธรรมเป็น สามารถรองรับธรรมะที่ได้ยินได้ฟังนั้นได้  ๓.คู่สนทนาต้องสนทนาธรรมเป็น คือ ต้องทั้งฟังด้วย และพูดด้วยในเวลาเดียวกัน เขาพูดเราฟัง เราพูดเขาฟัง บางอย่างเราไม่อยากจะฟัง แต่เมื่อเขาพูดเราก็จำต้องฟัง บางอย่างเราอยากจะพูด แต่ไม่มีจังหวะที่จะพูดก็จำต้องระงับใจไว้ไม่พูด เมื่อตอนสอนคนอื่นเขาไม่มีใครค้านสักคำ นิ่งฟังยอมเราหมด แต่ตอนสนทนาธรรม เราจะต้องลดตัวลงมาอยู่ในฐานะเป็นทั้งคนพูดทั้งคนฟัง ถ้าพูดถูกเขาก็ชม พูดผิดเขาก็ค้าน อาจถูกติ ถูกขัด ถูกแขวะ ถูกชม ถูกค้าน ได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้แหละที่ยั่วกิเลสนักหนา ถ้าไม่ควบคุมใจให้ดีกิเลสมันก็คอยจะออกมาจุ้นจ้านให้ได้ ขึ้นต้นคนกับคนคุยธรรมะกัน ไปได้ไม่กี่น้ำ กิเลสกับกิเลสมันออกมาโต้กันให้ยุ่งไปหมด  ผู้ที่จะสนทนาธรรมได้ จึงต้องฝึกขันติจนมีความอดทนต่อการถูกติเป็นเลิศ ทนคำพูดที่ไม่ชอบใจได้ทั้งจากคนที่สูงกว่า และต่ำกว่า มีความว่าง่ายสอนง่ายในตัว และต้องเลือกคู่สนทนาเป็นคือ ต้องเป็นคนประเภทสมณะ ใฝ่สงบด้วยกัน  มีผู้อุปมาไว้ว่า การพูดธรรมให้คนอื่นฟังก็เหมือนชกลม ชกจนหมดแรงเราก็ไม่เจ็บสักนิด ลมมันแพ้เราทุกที ทีนี้การฟังธรรมที่คนอื่นพูด เหมือนการชกกระสอบทราย คือ ชกไปก็รู้สึกเจ็บมือมาบ้าง ฟังเขาพูดก็เหมือนกันใจเราสะเทือนบ้าง แต่การสนทนาธรรมนั้นเหมือนการขึ้นชกบนเวทีจริงๆ เราชกเขา เขาชกเรา ชกกันไปชกกันมา ถูกล่อถูกหลอก ถูกกวนใจตลอดเวลาถ้าไม่ระวังให้ดี อาจทนไม่ได้โกรธขึ้นมาตนเองกลายเป็นคนพาลไป ข้อควรปฏิบัติในการสนทนาธรรม      ๑.ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ หรือถ้ารักษาศีล ๘ มาล่วงหน้าสัก ๗ วัน ก่อนสนทนาได้ยิ่งดี ไม่ใช่เพิ่งสร่างเมาแล้วมาคุยธรรมะกันหรือว่ากินเหล้าไปคุยธรรมะไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้      ๒.ต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนสนทนาธรรมถ้าได้ทำสมาธิก่อนจะดีมาก เพราะใจจะผ่องใสดีทำสมาธิเหมือนอย่างกับว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวของเราเป็นก้อนธรรมทั้งก้อน ให้ตัวเป็นธรรมใจเป็นธรรมเสียก่อนแล้วจึงมาสนทนาธรรมกัน      ๓.แต่งกายสุภาพ ทีแรกเราชำระศีลให้บริสุทธิ์เน้นกายกับวาจาเป็นธรรมแล้ว พอเราทำสมาธิบ่อยๆ เข้า ใจของเราก็เป็นธรรมด้วยถึงเวลาจะสนทนา ก็ต้องแต่งกายให้สุภาพ ให้เครื่องประกอบกายของเราก็เป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เสื้อผ้าสีบาดตา แบบก็สุภาพ สะอาด ถ้าเป็นชุดขาวได้จะดีมาก      ๔.กิริยาสุภาพ จะยืน จะเดิน จะนั่ง ให้เรียบร้อย หนักแน่น สงบเสงี่ยม สำรวม มีกิริยาเป็นธรรม ไม่ให้กิริยาของเราทำให้ผู้อื่นขุ่นใจ เข่น เดินลงส้นเท้ามาปังๆ      ๕.วาจาสุภาพ คือ มีวาจาสุภาษิตดังได้กล่าวมาแล้ว ไม่พูดเสีงดัง ไม่สรวลเสเฮฮา ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่รู้บอกว่าไม่รู้ ควรชมก็ชม ควรติก็ติแต่ไม่ด่า      ๖.ไม่กล่าวค้านพุทธพจน์ หรือปฏิเสธอรรถกถาฎีกา โดยเด็ดขาดเพราะพุทธพจน์คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น โดยเนื้อแท้แล้วย่อมถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซนต์ อรรถกถาหรือฎีกาเกือบทั้งหมดก็ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับว่า สติปัญญาของเรามีพอจะไตร่ตรองตามท่านหรือไม่ถ้าเราไปกล่าวค้านหรือปฏิเสธโดยเด็ดขาดไว้แล้ว ประการแรก ก็ไม่รู้จะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน ประการที่ ๒ หากคู่สนทนาอธิบายหรือชี้แจงถึงเหตุผลให้เราฟัง แม้เราจะเข้าใจก็อาจไม่ยอมรับเพราะกลัวเสียหน้ามีทิฐิ ทำให้เกิดการวิวาทบาดหมางใจกันได้ ดังนั้น สำหรับอรรถกถาหรือฎีกา เมื่อไม่เห็นด้วยก็ควรแสดงเพียงแต่ว่ารู้สึกสงสัย หรือแสดงความเห็นของตนว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่า พร้อมกับขอความเห็นจากคู่สนทนา      ๗.ไม่พูดวาจาที่ทำให้เกิดความแตกร้าว ไม่ใช้คำพูดก้าวร้าวรุนแรงแต่ใช้วาจาที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ประสานน้ำใจ      ๘.ไม่แสดงอาการโกรธเมื่อถูกขัดแย้ง เราพูดอะไรไปถ้าเขาเย้ามาอย่าเพิ่งโกรธ ให้พิจารณาไตร่ตรองดูโดยแยบคาย เพราะบางทีเราอาจมองข้ามอะไรบางอย่างไป เรื่องบางเรื่องอาจถูกในที่หนึ่ง แต่ผิดในอีกที่หนึ่ง ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ ถ้าเราด่วนโกรธเสียก่อนความคิดที่จะไตร่ตรองตามก็ไม่มี ปัญญาของเราจะถูกความโกรธปิดบังหมด      ๙.ไม่ปรารถนาลามก คิดที่จะให้ตนมีชื่อเสียง อยากเด่นอยากดังตังใจจะฉีกหน้าผู้อื่นเพื่อให้ตนดัง ถ้าวันไหนจะไปสนทนาธรรม แล้วเกิดมีความรู้สึกอยากจะไปฉีกหน้าใคร วันนั้นนอนอยู่บ้านดีกว่า มันไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว อย่าไปแกว่งปากหานรกเลย      ๑๐.ตั้งจิตไว้ว่าจะสนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา จะเอาความรู้เราไปต่อเอาความรู้คนอื่นเขามา ไม่ใช่ไปเพื่ออวดรู้ แต่จะไปแลกเปลี่ยนความรู้กัน      ๑๑.ไม่พูดออกนอกเรื่องที่ตั้งประเด็นไว้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอวดดี หรือนินทาคนอื่นไป เช่นพูดเรื่องบาป พูดไปพูดมา กลายเป็นว่า “ฉันน่ะไปทำทานไว้ที่นั่นที่นี่” กลายเป็นอวดว่าฉันใจบุญนะ หรือพูดเรื่องทาน พูดไปพูดมากลายเป็นว่า “อุ๊ย แม่คนนั้นน่ะขี้เหนียว อีตาเศรษฐีนั้นก็ขี้เหนียว” ถามว่าใครดี “ฉัน ฉัน” อย่างนี้ใช้ไม่ได้      ๑๒.ไม่พูดนานไปจนน่าเบื่อ รู้จักกาลเทศะ วิธีสนทนาธรรม  โดยสรุปหลักในการสนทนาธรรมรวมได้เป็น ๓ ประการ คือ  ๑.สนทนาในธรรม คือ เรื่องที่จะสนทนากันต้องเป็นเรื่องธรรมะให้อยู่ในวงธรรมะ อย่าออกนอกวง เช่นถ้าพูดถึงการทำความดีก็ให้สุดแค่ทำดีอย่าให้เลยไปถึงอวดดี ถ้าจะพูดถึงเรื่องการป้องกันไม่ให้ทำความชั่ว ก็ให้สุดแค่ป้องกันการทำชั่ว อย่าให้เลยไปถึงนินทาคนอื่น  ๒.สนทนาด้วยธรรม คือ ผู้ที่สนทนากันจะต้องไม่แสดงกิริยาวาจาให้ผิดธรรมะ เช่น ทางกายก็มีการเคารพกันโดยฐานานุรูป ควรไหว้ก็ไหว้ ควรกราบก็กราบ อย่าคิดทะนงตัวด้วยเหตุคิดว่ามีความรู้มากกว่าเขา ในทางวาจาก็ใช้ถ้อยคำสุภาพเรียบร้อย เป็นวาจาสุภาษิต ถ้าฝ่ายหนึ่งถูกก็ชม ถ้าอีกฝ่ายผิดก็ทักโดยสุภาพไม่กล่าววาจาเหน็บแนมล่วงเกิน และถ้าพลาดพลั้งก็ขอโทษไม่ใช่สนทนากันด้วยกิเลส หรือปล่อยกิเลสออกมาโต้กันดังได้กล่าวมาแล้ว  ๓.สนทนาเพื่อธรรม คือ ผู้สนทนาต้องตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในใจของตนให้แน่นอนว่า เราจะหาความรู้ความเข้าใจในธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่จะอวดรู้หรือวดธรรมะ แม้บางจังหวะเราเป็นผู้แสดงความรู้ออกไปก็คิดว่าเราจะเอาความรู้ของเราไปต่อเอาความรู้ของผู้อื่นเข้ามา มิใช่จะเพื่ออวดรู้ วิธีเลือกคู่สนทนาธรรม  หลักในการเลือกคู่สนทนาธรรมมีอยู่ ๒ ประการคือ      ๑.คู่สนทนาต้องมีอัธยาศัยใฝ่ธรรม และสงบเสงี่ยมเยี่ยงสมณะแม้เป็นฆราวาสก็เป็นคนรักสงบ ไม่เป็นคนชอบอวดภูมิ ชอบโม้      ๒.เรื่องที่จะสนทนาต้องเหมาะกับบุคคลนั้นๆ เช่น คุยเรื่องพระวินัยกับผู้เชี่ยวชาญพระวินัย คุยเรื่องชาดกกับผู้เชี่ยวชาญชาดกจะสนทนาเรื่องสมาธิก็เลือกสนทนากับผู้ที่เขาฝึกสมาธิมาแล้วอย่างจริงจัง เป็นต้น การสนทนาธรรมในครอบครัว      ตั้งแต่โบราณในครอบครัวไทยก็มีการสนทนาธรรมกันอยู่เป็นประจำ เช่น กลางวันพ่อแม่ออกไปทำนา ทำสวน ทำงานอื่นๆ ผู้เฒ่า ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้าน ก็ทำงานสานกระบุง ตะกร้า ไปบ้าง ทำงานอื่นๆ บ้าง เด็กๆ ก็วิ่งเล่นกันอยู่ใกล้ๆ สักพักปู่ย่าตายายก็เรียกมาล้อมวงเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งก็ไม่พ้นนิทานธรรมะเรื่องชาดกบ้าง เรื่องอื่นๆ บ้าง เด็กๆ ฟังแล้วสงสัยสิ่งใดก็ซักถามกันทำให้บ่อย ๆจะได้ซึมซาบธรรมะไปในตัว หรือตกเย็นตอนรับประทานอาหารก็อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตารับประทานอาหารเสร็จแล้ว พ่อแม่ก็หยิบยกเรื่องธรรมะมาคุยกันบ้าง เล่าให้ลูกฟังบ้าง เป็นการสนทนาธรรมกันในครอบครัว ขณะเดียวกันก็คอยสังเกตลูกๆ ด้วย เพราะโดยธรรมชาติของเด็ก ก็พอจะทราบอยู่บ้างว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าในวันนั้นเขาไปทำอะไรผิดมา จะมีพิรุธอยู่ในตัว ถ้าพ่อแม่สังเกตก็จะเห็น แล้วก็จะได้ตักเตือนสั่งสอนกัน แต่ถ้าเด็กทำผิดถึง ๓ ครั้งแล้วยังจับไม่ได้ ก็จะไม่มีพิรุธให้เห็นอีก เพราะเด็กจะเกิดความเคยชิน และถึงจะจับได้ภายหลังก็แก้ยาก เพราะเคยชินเป็นนิสัยแล้ว  ปัจจุบัน โอกาสที่จะสนทนาธรรมกันในครอบครัวมีน้อยลง ส่วนใหญ่พอตกเย็นหลังจากรับประทานอาหารแล้ว พ่อแม่ลูกก็นั่งล้อมวงหน้าทีวีไม่มีโอกาสได้พูดคุยธรรมะกัน ซึ่งอันนี้เป็นข้อบกพร่อง จะทำให้พวกเราพลาดไป ถ้าพ่อแม่คนไหนอยากได้ลูกดี เป็นลูกแก้ว นำชื่อเสียงความเจริญมาสู่ตระกูล อยากให้ครอบครัวร่มเย็น อย่ามองข้ามอันนี้ไป ให้รื้อฟื้นการสนทนาธรรมในครอบครัวขึ้นมาให้ได้ ถ้าเป็นประเภทอาหารเย็นพ่อไปงานเลี้ยงที่หนึ่ง แม่ไปธุระอีกที่หนึ่ง ให้ลูกๆ รับประทานอาหารกันเอง หรืออยู่กับพี่เลี้ยง นั่นพลาดแล้ว  พ่อแม่ที่มัวแต่คิดจะหาเงินให้ลูก แต่ลืมนึกถึงการปลูกฝังธรรมแก่ลูกๆ ตั้งแต่ยังเล็ก โอกาสที่ลูกจะเสียคนมีมากเหลือเกิน อานิสงส์การสนทนาธรรมตามกาล  ๑.ทำให้จิตเป็นกุศล  ๒.ทำให้มีไหวพริบปฏิภาณดี  ๓.ทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  ๔.ทำให้ได้ยินได้ฟังธรรมะที่ตนยังไม่ได้ฟัง  ๕.ธรรมที่ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจชัดขึ้น  ๖.ทำให้บรรเทาความสงสัยเสียได้  ๗.เป็นการทำความเห็นของตนให้ตรง  ๘.เป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น  ๙.เป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของพระอริยเจ้าไว้  ๑๐.ชื่อว่าได้ดำเนินตามปฏิปทาอันเป็นวงศ์ของนักปราชญ์        "ใจของเราคุ้นกับกิเลส เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ แล้วกิเลสก็ย้อนกลับมาเผาใจเรา จนเร่าร้อนกระวนกระวาย เราจึงต้องบำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลส ให้มอดไหม้เสียแต่ต้นมือ ก่อนที่กิเลสจะเผาใจเราจนวอดวาย" ทำไมจึงต้องบำเพ็ญตบะ ?  ผ่านบันไดชีวิตมาแล้ว ๓๐ ขั้น เราจะพบว่านิสัยไม่ดีความประพฤติที่ไม่ดีของตัวเราที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นยังมีอยู่อีกมาก บางอย่างที่เราได้พยายามแก้ไขปรับปรุงแล้วมันก็ดีขึ้นตามลำดับ เคยมีโกรธ เห็นแก่ตัว ขี้อิจฉา โอหัง ฯลฯ ก็ดีขึ้นแล้ว แต่อีกหลายๆ อย่างทั้งที่พยายามแก้ไขแล้วแต่ก็ยังไม่หายอยู่ดี เช่น กามกำเริบ รักสวยรักงาม รักความสะดวกสบายจนเกินเหตุ ง่วงเหงา ซึมเซา ท้อถอย ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ฯลฯ เราจึงต้องหาวิธีที่รัดกุมยิ่งๆ จึ้นไปอีกมาจัดการแก้ไข แต่สิ่งที่ควรจำไว้ก่อน คือ  ๑.เหตุแห่งความประพฤติไม่ดีทั้งหลาย ล้วนเกิดมาจากกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจเรา  ๒.เหตุที่ทำให้กำจัดกิเลสยาก เป็นเพราะ      ๒.๑ เรามองไม่เห็นตัวกิเลส อย่างมากก็เพียงแค่เห็นอาการของกิเลสทำให้ไม่รู้จักกิเลสดี บางคราวถูกกิเลสโจมตีเอาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว      ๒.๒ ใจของเราคุ้นเคยกับกิเลสมาก เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ ปลาพอถูกจับพ้นน้ำแล้วมันจะดิ้นรนสุดชีวิต จะกลับมาลงน้ำให้ได้ คนส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน รู้สึกว่าการมีกิเลสเป็นของธรรมดา รักกิเลส พวกขี้เมาติดเหล้าเสียแล้ว ใครไปดึงขวดเหล้าออก เดี๋ยวเถอะได้ตามฆ่ากันเลย “อุ๊ยไม่ได้ ไม่ได้ ไอ้ขวดเหล้านี้มันเป็นกล่องดวงใจของฉันเชียวนะ” มันไม่ยอมหรอก หรือบางคนใครทำอะไรขัดใจหน่อยก็โกรธพูดจาโผงผางไปเลย แล้วก็ภูมิใจ “เออ มันต้องให้รู้ซะบ้าง ไม่งั้นหนอยแน่ะ ไม่เกรงใจเราเลย”ภูมิใจในความมีกิเลสของตัวเองเป็นเสียอย่างนี้      ๒.๓ เรายังขาดวิธีที่เหมาะสมไปกำจัดกิเลส ตราบใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้น เราก็ยังไม่รู้วิธีกำจัดกิเลส บางศาสนา บางลัทธิเขารู้ว่ากิเลสมี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แก้ไม่ตก หาทางออกไม่เป็นเรื่อง บูชาไฟบ้าง กราบไหว้อ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ้บ้าง  ในมงคลนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนวิธีกำจัดกิเลสที่เหมาะสมและได้ผลเด็ดขาด เฉียบพลันให้กับเรา โดยถือหลักว่า “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง”  เมื่อกิเลสมันเผาใจเราให้รุ่มร้อน เราก็ต้องเอาไฟไปเผากิเลสบ้าง แต่เป็นการเผาไฟภายในเผา วิธีการที่เอาไฟภายในเผากิเลสในตัวเองนี้เราเรียกว่า "ตบะ"  ตบะ แปลว่า ทำให้ร้อน หมายความรวมตั้งแต่ การเผา ลน ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ คั่ว ผิง อะไรก็ได้ที่ทำให้ร้อน  บำเพ็ญตบะ จึงหมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญความชั่ว คือกิเลสทุกชนิดให้ร้อนตัวทนอยู่ไม่ได้ เกาะใจเราไม่ติด ต้องเผ่นหนีไปแล้วใจของเราก็จะผ่องใส หมดทุกข์  การที่เราจะขับไล่สิ่งใด เราก็จะต้องทำทุกอย่างที่ฝืนความต้องการของสิ่งนั้น เหมือนการไล่คนออกจากบ้าน เขาอยากได้เงินเราก็ต้องไม่ให้ อยากกินก็ไม่ให้กิน อยากนอนก็ไม่ให้นอน คือ ต้องฝืนใจเขาจึงจะออก การไล่กิเลสออกจากใจก็เหมือนกัน หลักปฏิบัติอันสำคัญคือ ต้องฝืนความต้องการของกิเลส ประเภทของการบำเพ็ญตบะ  การไล่คนออกจากบ้านนั้นมีหลายขั้น จะค่อยๆ ขัดใจทีละนิดให้เขาทนไม่ได้แล้วออกไปก็ได้ หรือจะไล่ตะเพิดกันจริงๆ ก็ได้ทันใจดีเหมือนกัน  การฝืนความต้องการของกิเลสเพื่อไล่กิเลสออกจากใจก็ในทำนองเดียวกัน คือ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ ดังนี้      ๑.ประเภทสัลเลขะ เป็นการฝืนกิเลส กำจัดกิเลสแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ขัดเกลากันไป เช่น  ความต้องการของกิเลส     สัลเลขะปฏิบัติ  โลภ      ให้ทาน  ขี้เกียจ      ขยันทำ  เห็นแก่กิน     งดอาหารยามวิกาล  ชอบเจ้าชู้     งดเสพเมถุน  ชอบโกรธคนอื่น     แผ่เมตตา  ฯลฯ      ฯลฯ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ข้อธรรมในศาสนาของพระองค์ล้วนเป็น “สัลเลขธรรม” ทั้งสิ้น (ยกเว้นธุดงค์) ถือเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสทุกข้อ เพราะฉะนั้น เมื่อใครตั้งอยู่ในธรรมข้อไหน ก็จัดเป็นการบำเพ็ญตบะขั้นต้นอยู่แล้วในตัว      ๒.ประเภทธุตังคะ เป็นการฝืนกิเลส กำจัดกิเลสแบบหักโหมรุนแรงได้ผลทันตาเห็น ใช้ปฏิวัติอุปนิสัยได้รวดเร็วเฉียบพลัน ผู้ปฏิบัติต้องมีขันติมีความเพียรสูง จึงจะทำได้แต่ให้ผลน่าชื่นใจ พระภิกษุที่บำเพ็ญธุดงควัตรเราเรียกท่านว่า พระธุดงค์ แต่ธุดงควัตรนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุ  แม้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้เป็นบางข้อ ธุดงค์มีข้อปฏิบัติรวม ๑๓ ข้อ แบ่งเป็น ๔ หมวดให้เลือกปฏิบัติได้ตามกำลังศรัทธา คือ หมวดที่ ๑ เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัว  ๑.ใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่ชักมาได้เท่านั้น แม้จะได้มาทางอื่น เช่นมีคนถวายให้ด้วยมือก็ไม่ใช้  ๒.ใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเพียง ๓ ผืนเท่านั้น คือ มีสบง จีวร สังฆาฏิ อย่างละผืน ใช้ผ้าอื่นๆ อีกนอกจาก ๓ ผืนนี้ไม่ได้  เราลองคิดดู ทำถึงขั้นนี้แล้ว กิเลสมันจะร้อนตัวสักแค่ไหน คนนิสัยขี้โอ่อวดมั่งอวดมี รักสวยรักงามพิถีพิถันกับเครื่องแต่งตัวจนเกินเหตุ ชนิดที่เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ ก็ยังไม่พอใจนั้นเจอธุดงค์สองข้อนี้เข้าก็สะอึกแล้ว หมวดที่ ๒ เกี่ยวกับการกิน  ๑.ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตมาได้เท่านั้น ใครจะใส่ปิ่นโต ใส่หม้อแกงมาถวายที่วัดก็ไม่ฉัน บิณฑาตมาได้เท่าไรก็ฉันเท่านั้น  ๒.เดินบิณฑบาตไปตามแนวที่กำหนดไว้เท่านั้น ตั้งใจไว้ว่าจะไปทางไหนก็ไปทางนั้น ไม่ใช่มานึกๆ เอาว่าไปทางนั้นจะได้มากทางนี้จะได้น้อยเลยเปลี่ยนทางเดินอยู่เรื่อย อย่างนั้นไม่ได้  ๓.ฉันหนเดียว คือ วันหนึ่งฉันอาหารมื้อเดียว ที่เราเรียกกันว่าฉันเอกา  ๔.ฉันสำรวม คือ ฉันอาหารในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นเอาอาหารทั้งหมดทั้งคาวทั้งหวาน ใส่ลงรวมกันในบาตรแล้วฉัน  ๕.เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับประเคนอีก ใครจะนำอาหารมาถวายให้อีกก็ไม่รับ  ทั้งห้าข้อนี้เป็นตบะเกี่ยวกับการกิน ใช้แก้นิสัยตามใจปากตามใจท้องไม่ต้องพูดถึงว่าจะลักเขากินโกงเขากิน แม้แต่ของที่ได้มาดีๆ นี่แหละ ก็ตัดความฟุ้งเฟ้อลง พวกนิสัยกินจุบกินจิบจะกินนั่นจะกินนี่พิรี้พิไรไม่รู้จักกระเป๋าของตนเองตลอดจนกิเลสประเภทที่ยุใจเราให้ทำผิดเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อ นี่เข้าก็งง หมวดที่ ๓ เกี่ยวกับที่ยู่อาศัย  ๑.อยู่ในป่านอกละแวกบ้านเท่านั้น ไม่มาอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน  ๒.อยู่ตามร่มไม้เท่านั้น ไม่อาศัยอยู่ในเรือนโรง ไม่อาศัยนอนในกุฏิ ศาลา ปักกลดนอนใต้ร่มไม้กันเลย  ๓.อยู่กลางแจ้งเท่านั้น ในกุฏิก็ไม่นอน ใต้ร่มไม้ก็ไม่นอนกันล่ะ ปักกลดนอนกลางแจ้งกันเลย  ๔.อยู่ในป่าช้าเท่านั้น เข้าปักกลดนอนในป่าช้ากันเลยจะนั่งนอนบนหลังโลงศพ หรือปักกลดนอนใต้ต้นไม้ในป่าช้าก็เอา  ๕.อยู่ในที่ที่คนอื่นจัดให้ ไม่เลือกที่อยู่ เขาจัดให้พักที่ไหนก็พัก ไม่เลือก  โปรดพินิจดู เรื่องโกงที่โกงทางดื้อแพ่งเพราะที่อยู่ไม่ต้องพูดถึงกันเพียงแค่นิสัยติดที่ ชอบที่นอนนุ่มๆ บ้านหรูๆ เครื่ออำนวยความสะดวกพร้อมกิเลสเรื่องที่อยู่อาศัย พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็เผ่นหนีกันกระเจิง หมวดที่ ๔ เกี่ยวกับการดัดนิสัยเกียจคร้าน  ๑.อยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอน ง่วงมาก ก็ยืน เดิน อย่างมากก็นั่งหลับแต่ไม่ยอมนอน ไม่ให้หลังแตะพื้น  หมวดที่ ๔ นี้มีอยู่ข้อเดียว พวกที่ติดนิสัยขี้เกียจ เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน ดึกๆ จำวัด นี่เจอธุดงค์ข้อนี้เข้าก็หาย พวกเราใครมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะลองรักษาธุดงควัตรข้อนี้ดูบ้างก็ดีเหมือนกันจะรักษาสัก ๑ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ก็ตามกำลัง สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทำสมาธิ ถ้าใจเริ่มสงบแล้ว การอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้ จะทำให้สมาธิก้าวหน้าเร็วมาก และถ้าสมาธิดีก็จะไม่ง่วง มีพระภิกษุบางรูปรักษาธุดงควัตรข้อนี้ได้นาน ๓ เดือน ๗ เดือน ก็มี บางรูปรักษาตลอดชีวิต เช่น พระมหากัสสปะ ท่านอยู่ในอิริยาบถ ๓ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอนได้ตลอดชีวิตได้โดยไม่ง่วงเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางอยู่ธุดงค์  ทั้งหมดนี้รวมเป็นธุดงควัตร ๑๓ ข้อ จัดเป็นตบะชั้นยอดในพุทธศาสนาความมุ่งหมายเพื่อจะกำจัดกิเลสออกจากใจให้เด็ดขาดในทางปฏิบัติ ใครจะเลือกทำข้อใดบ้างก็ได้ และจะทำในระยะใด ก็ให้ตั้งใจอธิษฐานสมาทานธุดงค์เอา การบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน  พวกเราบางคนอาจสงสัยว่า การบำเพ็ญตบะทั้ง ๒ ประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้น ตอนนี้ก็ทราบละ ประเภทสัลเลขะก็ดูเหมือนจะซ้ำๆ กับมงคลต้นๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว สำหรับประเภทธุตังคะ ถ้าผู้ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ยังต้องทำงานทางโลกก็ยากที่จะปฏิบัติไปได้ตลอด อย่างมากก็หาเวลาช่วงว่างๆ สุดสัปดาห์หรือพักร้อนไปปักกลดกัน แล้วในชีวิตประจำวันมีวิธีบำเพ็ญตบะได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้  วิธีบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน เพื่อกันไม่ให้กิเลสฟุ้งและเพื่อกำจัดกิเลสออกจากตัว ทำได้ดังนี้คือ  ๑.มีอินทรีย์สำวร  ๒.มีความเพียรปฏิบัติธรรม อินทรีย์สังวร  อินทรีย์สังวร คือ การสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับสำรวมอย่างไร ขอให้เรามาดูอย่างนี้  คนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ ๖ ทาง คือ  ๑.ตา   ๔.ลิ้น  ๒.หู   ๕.กาย  ๓.จมูก   ๖.ใจ  เหมือนกับบ้านก็มีประตูหน้าต่าง เป็นทางติดต่อกับภายนอก คนเราก็เหมือนบ้านที่มีประตูหน้าต่างอยู่ ๖ ช่องทาง สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้รับทราบก็มาจาก ๖ ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีทำให้ใจของเราสงบผ่องใสก็มาจาก ๖ ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ก็มาจาก ๖ ทางนี้เหมือนกัน ช่องทางทั้ง ๖ นี้นับว่ามีความสำคัญมากเราจึงควรมารู้จักถึงธรรมชาติช่องทางทั้ง ๖ นี้   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง ๖ ไว้ดังนี้      ๑.ตาคนเรานี้เหมือนงู คือ ชอบที่ลับๆ อะไรที่เขาปกปิดเอาไว้ละก็ชอบดู ยิ่งปกปิดยิ่งอยากดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้วไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง      ๒.หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือ ชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา      ๓.จมูกคนเรานี้เหมือนนกในกรง คือ ชอบดิ้นรนพอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตามดมทีเดียวว่ามาจากไหน      ๔.ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้า คือ บ้าน้ำลายว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรขอให้ได้นินทาชาวบ้านละก็ชอบ      ๕.กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือ ชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้      ๖.ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือ ชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ  อินทรีย์สังวร ที่ว่าสำรวมระวังตัวก็คือระวังช่องทางทั้ง ๖ นี้เมื่อรู้ถึงธรรมชาติของมันแล้วก็ต้องคอยระวังใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรไม่ควรคบก็อย่าไปคบ อะไรไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้สุดแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่า สวยจริงนะหล่อจริงนะ อะไรทำนองนี้ ต้องไม่ถึงโดยนิมิต หมายถึง เห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น “เออคนนี้สวยจริงๆ” ต้องไม่นึกถึงโดยอนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น “ตาสวยนะคมปลาบเลย”  หรือแขนสวย ขาสวยอะไรอย่างนี้  อินทรีย์สังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเราจะสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ เรามีอินทร์สังวรณ์ดีแล้ว โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจเหมือนบ้านถ้าเราใส่กุญแจ ดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีไปดูในสิ่งไม่ควรดู จับต้องสัมผัสในสิ่งไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งไม่ควรคิด ฯลฯ แม้เราจะมีความตั้งใจรักษาศีล รักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตู หน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ ลิ้นชักดีเพียงไรก็ย่อมไม่ปลอดภัย โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย  วิธีที่จะทำให้อินทรีย์สังวรเกิดขึ้นนั้น ให้เราฝึกให้มีหิริโอตตัปปะมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป โดยคำนึงถึงชาติตระกูล อายุ วิชาความรู้ ครูอาจารย์ สำนักศึกษาของเรา และอื่นๆ ดังรายละเอียดในมงคลที่ ๑๙  ท่านเปรียบเป็นลูกโซ่แห่งธรรมไว้ดังนี้      หิริโอตตัปปะ ทำให้เกิด อินทรีย์สังวร      อินทรีย์สังวร ทำให้เกิด  ศีล      ศีล ทำให้เกิด สมาธิ      สมาธิ ทำให้เกิด ปัญญา  ผู้มีอินทรีย์สังวรดี ศีลก็ย่อมบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์ สมาธิก็เกิดได้ง่าย สมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความสว่างภายในเห็นถึงสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เห็นถึงตัวกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน และสามารถกำจัดไปให้หมดสิ้นได้  เราทุกคนจึงควรฝึกให้มีอินทรีย์สังวรในตัวให้ได้ ความเพียรปฏิบัติธรรม  คนเราส่วนใหญ่มักพอจะทราบอยู่ว่าอะไรดี อยากจะได้สิ่งที่เห็นว่าดีนั้นเกิดขึ้นกับตัว แต่ก็มักทำความดีนั้นไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ทั้งนี้เพราะขาดคามเพียร คนเราถ้าขาดความเพียรเสียแล้ว คุณธรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถงอกเงยขึ้นมาได้เลย  เราลองมาดูถึงเหตุที่ทำให้พระภิกษุเกียจคร้านและเหตุที่ทำให้พระภิกษุปรารภความเพียรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ บางทีอาจได้ข้อคิดนำมาใช้กับตัวของเราได้ เหตุแห่งความเกียจคร้าน ๘ ประการของภิกษุ      ๑.รู้ว่างานมีอยู่ แต่กลัวว่าทำแล้วจะเหนื่อย จึงนอนเสียก่อนคิดว่าเอาแรง ไม่ปรารภความเพียร เพื่อให้บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ      ๒.งานได้ทำเสร็จแล้ว คิดว่าทำงานมาแล้วเหนื่อยนักจึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ      ๓.รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่ แต่คิดว่าเมื่อเดินทางจะเหนื่อย จึงนอนเสียก่อนคิดว่าเอาแรง ไม่ปรารภความเพียร ฯ      ๔.ได้เดินทางแล้ว คิดว่าเหนื่อยนัก จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ      ๕.บิณฑบาตไปไม่ได้อาหารมากตามต้องการ คิดว่าเหนื่อยนักถึงความเพียรคงไม่ได้ดี อย่ากระนั้นเลยนอนดีกว่าจึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ      ๖.บิณฑบาตได้อาหารมามาก คิดว่าตัวก็ฉันจนอิ่มเนื้อตัวหนักไม่ควรแก่การงาน อย่ากระนั้นเลยนอนดีกว่า จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ      ๗.เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็คิดว่าพอมีเหตุจะอ้างได้แล้วว่ากลัวโรคจะกำเริบ จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ      ๘.หายป่วยแล้ว ก็คิดว่าเพิ่งหายป่วย ตัวเรานี้กำลังยังไม่ดี เดี๋ยวโรคจะกลับ จึงนอนไม่ปรารภความเพียร ฯ เหตุแห่งความเพียร ๘ ประการของภิกษุ      ๑.รู้ว่างานรออยู่ จึงคิดว่าเวลาทำงานจะทำสมาธิ ทำความเพียรก็ไม่สะดวก ตอนนี้ยังพอมีเวลา จึงรีบปรารภความเพียรเพื่อคุณวิเศษที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมซึ่งตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง      ๒.ทำงานเสร็จแล้ว จึงคิดว่าเมื่อตอนขณะทำงานการทำสมาธิก็ทำได้ไม่เต็มที่ ตอนนี้เสร็จงาน ว่างแล้วจึงรีบปรารภความเพียรฯ      ๓.รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่ จึงคิดว่าเวลาเดินทางจะทำสมาธิก็ไม่สะดวกตอนนี้ยังไม่ได้เดินทาง ต้องรีบเอาเวลาไปปรารภความเพียรฯ      ๔.เดินทางเสร็จแล้ว ก็คิดว่าเมื่อตอนเดินทางจะทำความเพียรก็ไม่สะดวกไม่เต็มที่ ตอนนี้เดินทางเสร็จแล้ว ต้องรีบปรารภความเพียรฯ      ๕.บิณฑบาตได้อาหารมาน้อย ก็คิดว่าตอนนี้เนื้อตัวกำลังเบาสบายเหมาะแก่การงานอย่ากระนั้นเลยเราจะต้องรีบปรารภความเพียรฯ      ๖.บิณฑบาตได้อาหารมามาก ก็คิดว่า ตอนนี้เราฉันอิ่มแล้ว ตัวกำลังมีกำลังการงาน อย่ากระนั้นเลย เราต้องรีบปรารภความเพียรฯ      ๗.เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็คิดว่าต่อไปอาจป่วยหนักกว่านี้ก็ได้ ต้องรีบฉวยโอกาสที่ยังป่วยน้อยอยู่นี้ รีบปรารภความเพียรฯ      ๘.เพิ่งหายป่วย ก็คิดว่าเราเพิ่งหายป่วย โอกาสที่จะกลับไปป่วยอีกก็มีอยู่ ต้องรีบฉวยโอกาสที่หายป่วยแล้วนี้ทำความเพียร จึงรีบปรารภความเพียรฯ  พวกเราลองเอาหลักเหล่านี้มาเปรียบดูกับตัวเองก็แล้วกันว่า ตัวเราจัดอยู่ในประเภทไหน เกียจคร้านหรือขยัน แล้วจะปล่อยตัวเหลวไหลอย่างนั้นไป หรือจะปรับปรุงให้ดีขึ้น  “แม้เลือดเนื้อในกายของเราทั้งหมด จักแห้งเหือดหายไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด” (ปณิธานในวันตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) อานิสงส์การบำเพ็ญตบะ  ๑.ทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวได้ในเร็ววัน  ๒.ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตัว  ๓.ทำให้มงคลข้อต้นๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นกับเรา  ๔.ทำให้เข้าถึงพระนิพพานได้เร็ว "ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทนอย่างแรงกล้า เป็นตบะอย่างยิ่ง” (พุทธพจน์)     "ชาวสวนชาวไร่ หลังจากถางป่าเผาหญ้าแล้ว ต้องรีบปลูกพืชผักผลไม้ที่ต้องการลงไป ก่อนที่หญ้าจะกลับระบาดขึ้นใหม่ฉันใด คนเราเมื่อบำเพ็ญตบะทำความเพียรเผากิเลสจนเบาบางลงแล้ว ก็ต้องรีบปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ ลงในใจ ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น ก่อนที่กิเลสจะฟูกลับขึ้นใหม่อีกฉันนั้น" ประพฤติพรหมจรรย์ คืออะไร ?   การประพฤติพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติตัวเองอย่างพระพรหมหรือความประพฤติอันประเสริฐ หมายถึงการประพฤติตนตามคุณธรรมต่างๆ ทั้งหมดในศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีกจนกระทั่งหมดกิเลสซึ่งต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามภูมิชั้นของจิต ภูมิชั้นของจิต  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า จิตของคนเราอาจแบ่งภูมิชั้นได้เป็น ๔ ระดับ ตามการฝึกฝนตนเอง คือ      ๑.กามาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์ยังยุ่งเกี่ยวกับกามคุณอยู่ ได้แก่ ภูมิจิตของคนสามัญทั่วไป      ๒.รูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์มีความสุขความพอใจอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกสมาธิมามากจนกระทั่งใช้รูปฌาน เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่สนใจกามารมณ์ อิ่มเอิบในพรหมวิหารธรรม ซึ่งเป็นสุขประณีตกว่า กามารมณ์ เป็นเหมือนพระพรหมบนดิน ละจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นรูปพรหม      ๓.อรูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปารมณ์มีความสุข อยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้อรูปฌาน มีความสุขที่ประณีตกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก เมื่อละจากโลนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม      ๔.โลกุตตรภูมิ เป็นชั้นที่พ้นโลกแล้ว ได้แก่ ภูมิจิตของผู้หมดกิเลสแล้ว คือ พระอรหันต์ มีความสุขล้วนๆ ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง  ทั้ง ๔ ภูมินี้ รวมเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ  โลกียภูมิ ได้แก่   ๑.กามาวจรภูมิ     ๒.รูปาวจรภูมิ     ๓.อรูปาวจรภูมิ  โลกุตตรภูมิ ได้แก่ ๔.โลกุตตรภูมิ      ในชั้นโลกียภูมินั้น ก็มีสุขมีทุกข์คละเคล้ากันไป และมีการยักย้ายถ่ายเทขึ้นลงได้ ผู้ที่อยู่ในอรูปาวจรภูมิถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ประมาท อาจตกลงมาอยู่ชั้นกามาวจรภูมิก็ได้ ผู้อยู่ชั้นกามาวจรภูมิ ถ้าตั้งใจทำสมาธิอาจเลื่อนไปอยู่รูปาวจรภูมิหรืออรูปาวจรภูมิได้ เลื่อนไปเลื่อนมาได้ไม่แน่นอน  และในชั้นโลกียภูมินี้ ถึงจะมีความสุขก็สุขอย่างโลกีย์ก็ยังมีทุกข์ระคนอยู่ เหมือนอย่างที่เราเจอกัน มีลูกมีครอบครัวก็คิดว่าจะสุข พอมีจริงก็มีเรื่องกลุ้มใจให้ทุกข์จนได้ สุขเหมือนนึกระหว่างหน้าร้อน ก็คิดว่าหน้าฝนจะสุข พอถึงหน้าฝนก็หวังว่าหน้าหนาวจะสบาย เลยไม่ทราบว่าสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน พระท่านเปรียบความสุขทางโลกียภูมินี้ว่าเหมือนพยับแดด เราคงเคยเจอกัน ในหน้าร้อนมองไปบนถนนไกลๆ จพเห็นพยับแดดระยิบระยับ อยู่ในอากาศเต็มไปหมดหรือเห็นเหมือนมีน้ำอยู่บนผิวถนน แต่พอเข้าใกล้ไปดูกลับไม่เห็นมีอะไร สุขทางโลกีย์ก็เหมือนกันหวังไว้แต่ว่าจะเจอสุขแต่พอเจอเข้าจริงกลับกลายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป  ด้วยเหตุนี้จิตของคนที่ตกอยู่ในโลกียภูมิ ทางศาสนาท่านจึงใช้คำว่า “สังสารจิต” แปลว่า จิตวิ่งวุ่น วิ่งสับสนวนไปเวียนมาจะวิ่งไปไหนล่ะ? ก็วิ่งตะครุบสุขนะสิ แต่สุขโลกีย์มันเป็นสุขกลับกลอกหลอกหลอน จิตก็เลยกลับกลอกไปด้วย ประการสำคัญคือ สุขโลกีย์มันหนีได้ พอเราจะทันมันก็หนี เมื่อมันหนี เราก็ตาม แล้วก็ตามไม่ทันสักที  ขอให้ลองสังเกตดูเถอะสุขโลกีย์ที่เป็นยอดสุขนั้นไม่มี เป็นร้อยตรีก็คิดว่าเป็นร้อยโทคงจะสุข พอเป็นร้อยโทก็คิดว่าเป็นร้อยเอกคงสุขไล่ตามขึ้นไปร้อยเอกก็ว่าพันตรี พันตรีก็ว่าพันโท จนเป็นนายพลก็ยังคิดว่ามีสุขข้างหน้าที่ดีกว่าของตน  เชิญวิ่งตามตะครุบสุขไปเถอะ จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ วิ่งตามตะครุบไปได้สุขโลกีย์มานิดหน่อย แต่คว้าติดทุกข์มาทุกที บวกลบกลบหนี้ดูแล้วทุกข์มากกว่าสุขและที่สำคัญจิตที่วิ่งวุ่นสับสน มีโอกาสพลาดพลั้งได้ง่ายเหมือนคนวิ่งวุ่นสับสนนั้นแหละมีหวังหกล้มตกหลุมตกบ่อเข้าจนได้ จิตก็เหมือนกันวิ่งไล่จับความสุขหัวซุกหัวซุน คนที่ระวังไม่ดีหกล้มเข้าคุกเข้าตะรางก็เยอะ ถลำลงนรกอเวจีก็มาก  อุปมาความสุขในโลกียภูมิทั้ง ๓ ขั้นได้ดังนี้      กามาวจรภูมิ เป็นสุขขั้นต่ำ ยังยุ่งเกี่ยวกับกาม สุขเหมือนเด็กเล่นขี้เล่นดิน  รูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาหน่อย สุขเหมือนคนมีงานมีการที่ถูกใจทำ เพลิดเพลินไป  อรูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาอีก สุขเหมือนพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ที่เห็นลูกซึ่งตนเลี้ยงดู อบรมมา มีความเจริญก้าวหน้า หรือเห็นงานการที่ตนทำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ชื่นชมผลงานของตน  ในศาสนาอื่นๆ นอกเหนือจากพระพุทธศานา อย่างสูงที่สุดก็สอนให้คนเราพัฒนาจิตได้ถึงขั้นอรูปารมณ์เท่านั้น เช่น ศาสนาพราหมณ์ ก็สอนให้คนมุ่งเป็นพระพรหม ยังวนเวียนอยู่ในโลกียภูมิขึ้นๆ ลงๆ  แต่พุทธศาสนาเรา สอนให้คนมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ เข้าพระนิพพาน ความมุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์  ความมุ่งหมายสุดยอดของการประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา คือ ให้ตัดโลกียวิสัย ตัดเยื่อใยทุกๆ อย่าง เพื่อมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิและอย่างแรกที่ต้องทำก่อน คือ ตัดกามารมณ์ แล้วจึงตัดรูปารมณ์ อรูปารมณ์ไปตามลำดับ  สำหรับพวกเราปุถุชนทั่วๆ ไป สิ่งสำคัญที่เหนี่ยวรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวหน้าในการพัฒนาจิต และทำให้กิเลสฟูกลับขึ้นได้ง่ายที่สุดก็คือกามารมณ์ ถ้าใครตัดกามารมณ์ได้ก็มีโอกาสก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว การประพฤติพรหมจรรย์ในมงคลข้อนี้ จึงมุ่งเน้นการตัดกามารมณ์เป็นหลัก  เราลองมาดูถึงอุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ อุปมาโทษของกาม      ๑.กามเปรียบเหมือนสุนัขหิวแทะท่อนกระดูกเปื้อนเลือด ยิ่งแทะยิ่งเหนื่อย ยิ่งหิว อร่อยก็ไม่เต็มอยาก ไม่เต็มอิ่มพลาดท่าแทะพลาดไปถึงฟันหักได้ พวกเราก็เหมือนกกันที่หลงว่ามีคู่รักแล้ว แต่งงานแล้วจะมีสุข พอมีเข้าจริงไม่เห็นจะสุขจริงสักราย ต้องมีเรื่องขัดใจให้ตะบึงตะบอนกัน ให้กลุ้มใจให้ห่วงกังวล ทั้งห่วง ทั้งหวง ทั้งหึง ไม่เว้นแต่ละวันที่หนักข้อถึงกับไปกระโดดน้ำตาย หรือผูกคอตายเสียก็มากต่อมาก พอจะมีสุขบ้างก็ประเดี๋ยวประด๋าว พอให้มันๆ เค็มๆ เหมือนสุนัขแทะกระดูก      ๒.กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา แร้ง กา หรือเหยี่ยวตัวอื่นก็จะเข้ารุมจิกแย่งเอา คือไม่เป็นของสิทธิ์ขาดแต่ตัว ผู้อื่นแย่งชิงได้ คนทั้งหลายต่างก็ต้องการหมายปองเอา จึงอาจต้องเข่นฆ่ากันเป็นทุกข์แสนสาหัส เราลองสังเกตดูก็แล้วกัน ที่มีข่าวกันอยู่บ่อยๆ ทั้งฆ่ากัน ชิงรักหักสวาทน่ะ หรือรอบๆ ตัวมีบ้างไหม ที่กว่าจะได้แต่งงานกันก็ฝ่าดงมือฝ่าดงเท้าเสียแทบตาย ถูกตีหัวเสียก็หลายที พอแต่งแล้วก็ยังไม่แน่เดี๋ยวใครมาแย่งไปอีกแล้ว ยิ่งสวยเท่าไรยิ่งหล่อเท่าไร ยิ่งอันตราย      ๓.กามเปรียบเหมือนคนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้าลุกโพลงเดินทวนลมไป ไม่ช้าก็ต้องทิ้ง มิฉะนั้นก็โดนไหม้มือระหว่างเดินก็ถูกควันไฟรมหน้าต้องทนทุกข์ทรมานย่ำแย่คนเราที่ตกอยู่ในกามก็เหมือนกันต้องทนรับทุกข์จากกามทำงานงกๆ หาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจลูกจะเรียนที่ไหนดี จะเกเรหรือเปล่า เมียจะนอกใจไหมเดี๋ยวก็มีเรื่องขัดใจกัน เสร็จแล้วก็ไม่ใช่จะได้อยู่ด้วยกันได้ตลอด เดี๋ยวอ้าว! รถชนตายเสียแล้ว อ้าวเป็นมะเร็งตายเสียแล้ว หรือเผลอประเดี๋ยวเดียวก็ต้องแก่ตายกันเสียแล้วไม่ได้อยู่กันไปได้ตลอดหรอก เหมือนคบเพลิงหญ้าถือได้ไม่นานก็ต้องทิ้ง      ๔.กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิตทั้งๆ ที่รู้ว่าหากตกลงไปแล้ว ถึงไม่ตายก็สาหัสแต่ก็แปลกเหมือนมีอะไรมาพรางตาไว้ เหมือนมีแรงลึกลับมาคอยฉุดให้ลงหลุมอยู่ร่ำไป พระท่านสอนที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ก็เชื่อท่านหรอก แต่พอออกนอกวัดเจอสาวๆ สวยๆ หนุ่มรูปหล่อเข้า ลืมเสียแล้ว เวลาจะแต่งงานก็คิดถึงแต่ความสวยความหล่อ ความถูกใจหาได้มองเห็นไปถึงความทุกข์อันจะเกิดจากกามเกิดจากชีวิตการครองเรือนไม่      ๕.กามเปรียบเหมือนความฝัน เห็นทุกอย่างเฉิดฉายอำไพ แต่ไม่นานก็ผ่านไป พอตื่นขึ้นก็ไม่เห็นมีอะไร เหลือไว้แต่ความเสียดาย คนเราที่จมอยู่ในกามก็เหมือนกัน แรกๆ ก็คุยกันกะหนุงกะหนิง น้องจ๊ะน้องจ๋าอยู่กันไม่นานพูดคำด่าคำเสียแล้ว งานก็มากขึ้นเป็น ๒-๓ เท่าไม่เห็นสุขเหมือนที่คิดฝันไว้ กามเหมือนความฝัน พวกเราจะเป็นคนเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ หรือจะเป็นคนยืนอยู่บนความจริง ตั้งใจฝึกฝนตนเองปฏิบัติธรรมกันล่ะ      ๖.กามเปรียบเหมือนสมบัติที่ยืมเขามา เอาออกแสดงก็ดูโก้เก๋ดี ใครเห็นก็ชม แต่ก็ครอบครองไว้อย่างไม่มั่นใจ ได้เพียงชั่วคราวไม่เป็นสิทธิ์เด็ดขาด เจ้าของตามมาพบเมื่อไรก็เอาคืนเมื่อนั้น ตัวเองก็ได้แต่ละห้อยหา พวกเราก็เหมือนกันไปได้แฟนสวยแฟนหล่อมาก็ภูมิใจไปไหนๆ ใครๆ ก็ทักว่าคู่นี้สมกันเหมือนกิ่งทองใบหยก ยืดเสียอกตั้งทีเดียว เผลอประเดี๋ยวเดียว อ้าวผู้หญิงกลายเป็นยายแร้งทึ้งไปเสียแล้ว ผู้ชายไหงหัวล้านพุงพลุ้ยเสียแล้ว นี่ความหล่อความสวยมันถูกธรรมชาติถูกเวลาทวงกลับเสียแล้ว พวกเราจะไปหลงโง่งมงายอยู่กับของขอยืมของชั่วคราวแบบนี้หรือเปล่า      ๗.กามเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลดกอยู่ในป่า ใครผ่านมาเมื่อเขาอยากได้ผล จะด้วยวิธีไหนเอาทั้งนั้น ปีนได้ก็ปีน ปีนไม่ได้ก็สอย บางคนก็โค่นเลย ใครอยู่บนต้นลงไม่ทันก็ถูกทับตาย เบาะๆ ก็แข้งขาหัก พวกเราก็เหมือนกันบางคนคงเคยเจอมาแล้ว เที่ยวไปจีบคนโน้นคนนี้ ยังไม่ทันได้มาเลยถูกเตะต่อยมาบ้าง ถูกตีหัวมาบ้าง ได้แต่บ่นรู้อย่างนี้ นอนอยู่บ้านดีกว่า นี่เหมือนผลไม้ในป่า ยิ่งดกยิ่งสวย แล้วก็ระวังเถอะจะเจ็บตัว      ๘.กามเปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ ใครไปยุ่งเกี่ยวก็เหมือนกับเอาชีวิตให้ถูกสับ เพราะกามเป็นที่รองรับทุกข์ทั้งหลาย ทั้งกายและใจ เหมือนเขียงเป็นที่รองรับคมมีดที่สับเนื้อจนเป็นรอยแผลนับไม่ถ้วน      ๙.กามเปรียบเหมือนหอกและหลาว ทำให้เกิดทุกข์ทิ่มแทงหัวใจเกิดความเจ็บปวดรวดร้าวมาก ใครไปพัวพันในกามแล้ว ที่จะไม่เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจนั้นเป็นไม่มีเหมือนหอกหลาวที่เสียดแทงร่างกายให้เกิดทุกขเวทนาอย่างนั้น      ๑๐.กามเปรียบเหมือนหัวงูพิษ เพราะกามประกอบด้วยภัยมากต้องมีความหวาดระแวงต่อกันอยู่เนืองๆ ไม่อาจปลงใจได้สนิท วางจิตให้โปร่งไม่ได้ เป็นที่หวาดเสียวมาก อาจฉกให้ถึงตายได้ทุกเมื่อเหมือนหัวงูพิษ  ทั้งหมดนี้ คือ อุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ความจริงแล้วยังมีอีกมาก นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เมื่อเราเห็นกันแล้วว่ากามมีโทษมากมายถึงปานนี้ เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่มีแฟน ยังไม่ได้แต่งงานรีบฝึกสมาธิเข้ามากๆ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เมื่อไรใจเราสงบ ความสว่างภายในบังเกิดขึ้น เราก็มีสุขที่เหนือกว่ากามสุขอยู่แล้ว ความคิดที่จะมีคู่ก็หมดไปเอง ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่ถึงกับต้องหย่ากันหรอกนะเอาเพียงแค่ อย่าไปมีเมียน้อย อย่าไปมีใหม่ อย่าไปหาอะไหล่มาเสริมก็แล้วกัน แล้วก็หาเวลารักษาศีล๘เสียบ้างด้วย เราลองมาดูวิธีประพฤติพรหมจรรย์กัน วิธีประพฤติพรหมจรรย์  พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น รักษาศีล ๕ ไม่นอกใจภรรยา-สามี  พรหมจรรย์ชั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือน คือนอกจากรักษาศีล ๕ แล้ว ก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆ ไปและฝึกให้มีพรหมวิหาร ๔  พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล ๘ ตลอดชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย หรือถ้าเป็นชายก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ และปฏิบัติธรรมทุกข้อในศาสนาให้เต็มที่  พรหมจรรย์ทุกขั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบวช  เราชาวพุทธนิยมบรรพชาอุปสมบทกันเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จัดเป็นการฝึกประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผลดียิ่งวิธีหนึ่ง จึงควรที่พวกเราจะได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับการบวชไว้บ้าง ดังนี้      ๑.อายุขณะบวช พวกเราถ้ามีเวลาควรหาโอกาสบรรพชาเป็นสามเณรกันสักช่วงหนึ่งระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปี เพราะช่วงนี้ภาระยังน้อย ยังไม่ค่อยมีกังวลจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเร็วหรือไม่เช่นนั้นก็ควรหาเวลาที่เหมาะสมในการบวชพระเมื่อายุ ๒๐-๒๕ ปี หรือเวลาอื่นที่สะดวก แต่ไม่ควรรอจนอายุมากเกินไป เพราะสังขารจะไม่อำนวย จะลุกจะนั่งจะฝึกสมาธิก็ไม่สะดวก ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีอายุมากแล้วมักจะมีทิฐิว่ายากสอนยาก เหมือนไม้แก่ดัดยาก      ๒.ระยะเวลาที่บวช อาจบวชในช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน หรือบวชภาคฤดูร้อน ๑-๒ เดือน บวชในเวลาที่สะดวกลางานได้หรือบวชตลอดชีวิตก็ได้ แต่ควรบวชนานกว่า ๑ เดือนจะได้มีเวลาศึกษาธรรมวินัยพอสมควร      ๓.การเลือกสำนักบวช ข้อนี้สำคัญมาก การบวชจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับสำนักบวชนี่เอง การเลือกจงเลือกสำนักที่มีการกวดขันการประพฤติธรรมและกวดขันพระวินัย สำนักที่ดี พระอุปัชฌาย์อาจารย์จะมีการอบรมสั่งสอนพระใหม่อย่างใกล้ชิด มีการให้โอวาทเคี่ยวเข็ญให้ปฏิบัติธรรมจนน่ารำคาญ อย่างนี้ดี ส่วนสำนักไหนปล่อยปละละเลย บวชแล้วไม่มีใครสนใจปล่อยให้อยู่ตามสบาย บางทีตั้งแต่บวชจนสึกพระใหม่ไม่ได้สนทนาธรรมกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ป่วยการบวช ที่เราบวชก็มุ่งจะฝากตัวให้ท่านอบรม ให้ท่านไม่เอาใจใส่เราจะบวชทำไม กุศลไม่ใช่อยู่ที่ผ้าเหลืองเท่านั้น      ๔.การรักษาวินัย ต้องคิดไว้เสมอว่า เราจะเป็นพระได้เพราะวินัยถ้าถอดวินัยออกจากตัวเสียแล้วแม้จะโกนผมนุ่งผ้าเหลืองก็ไม่ใช่พระนอกจากจะไม่ใช่พระแล้วชาวพุทธยังถือว่าผู้นั้นเป็นโจรปล้นศาสนาอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาพระวินัยและรักษาโดยเคร่งครัด ไม่อย่างนั้น สึกออกมาแล้วจะมาเสียใจจนตายว่าบวชเสียผ้าเหลืองเปล่าๆ      ๕.การปฏิบัติธรรม ควรใช้เวลาทั้งหมดในการศึกษาธรรมวินัยและทำสมาธิ ศึกษาธรรมะ งดคุยเฮฮาไร้สาระ      ๖.การสงเคราะห์สังคม พระบวช ๓ เดือน ควรถือประโยชน์ตนเป็นใหญ่ การช่วยเหลืองานหมู่คณะให้ทำแต่พอควร เรามีเวลาน้อยต้องรีบศึกษาและปฏิบัติธรรมการช่วยเหลือส่วนรวมไว้สึกแล้วมาช่วยก็ยังได้ ถ้าจะสงเคราะห์ญาติโยม ยังไม่ต้องไปเทศน์โปรดเพราะความรู้ธรรมะก็ยังไม่มากพอ เอาเพียงแต่ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี บิณฑบาตก็ให้เป็นระเบียบ จะเดินจะเหิน มีกิริยาสำรวมเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ให้ญาติโยมเขาได้เห็นเป็นตัวอย่างในการมีวินัย และความสำรวมตนก็พอ อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์  ๑.ทำให้ปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวลหรือระแวง  ๒.ทำให้เป็นอิสระ เหมือนนกน้อยในอากาศ  ๓.ทำให้มีเวลามากในการทำความดี  ๔.ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย  ๕.ทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ  ๖.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย  “ กามทั้งหลายมีโทษมาก มีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย เป็นบ่อเกิดแห่งความทะเลาะวิวาทกัน ความชั่วเป็นอันมากเกิดขึ้นเพราะกามเป็นเหตุ...”        "เมื่อยังมองไม่เห็นฝั่งผู้ที่ตกอยู่ในทะเลย่อมว่ายวนอยู่ในห้วงทะเลนั้น โดยไม่รู้จุดหมายฉันใด เมื่อยังไม่เห็นอริยสัจ บุคคลก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในทะเลทุกข์แห่งวัฏสงสาร โดยไม่รู้จบสิ้นฉันนั้น"  แม่บทของศาสนา  ประเทศก็มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นแม่บทของกฎหมายอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ทุกศาสนาในโลกต่างก็มีหลักธรรมคำสั่งสอนที่เป็นแม่บทของศาสนานั้นๆ  แม่บทของพระพุทธศาสนาก็คือ อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔  อริยสัจสามารถแปลได้หลายความหมาย เช่น      - คือ ความจริงอันประเสริฐ      - คือ ความจริงอันทำให้บุคคลผู้เห็นเป็นผู้ประเสริฐ  อริยสัจ ๔ คือ ความจริงที่มีอยู่คู่โลกแต่ไม่มีใครเห็น จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ทั้งรู้และเห็นแล้วทรงชี้ให้เราดู ได้แก่      ๑.ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ      ๒.สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์      ๓.นิโรธ คือ ความดับทุกข์ สภาพที่ทุกข์หมดไป      ๔.มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์  ถ้าจะเปรียบกับโรค  ทุกข์ ก็เปรียบเหมือน สภาพที่ป่วยเป็นโรค  สมุทัย ก็เปรียบเหมือน ตัวเชื้อโรค  นิโรธ ก็เปรียบเหมือน สภาพที่หายจากโรค แข็งแรงแล้ว  มรรค ก็เปรียบเหมือน ยารักษาโรคให้หายป่วย      คนทุกคนในโลกนี้ ล้วนแต่มีความทุกข์กันทั้งนั้น เหมือนคนป่วยแต่ก็ไม่รู้ว่าป่วยจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ จะแก้ไขรักษาให้หายป่วยหายทุกข์ได้อย่างไร  ในมงคลนี้ เราจะมาศึกษากันให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิตกันล่ะเอาให้รู้กันเลยว่าที่เราทุกข์ๆ กันอยู่ทุกวันนี้น่ะ มันมีสาเหตุมาจากอะไรแล้วเราจะได้รีบปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์กันเสียที อริยสัจที่ ๑ ทุกข์  ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ พระองค์ทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี เป็นกษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แม้ที่สุดเป็นพระภิกษุ ก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างแต่เพียงว่าทุกข์มากหรือทุกข์น้อยและมีปัญญาพอที่จะรู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น พระองค์ได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่  ๑.สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมีทุกข์ชนิดนี้ มี ๓ ประการได้แก่      ๑.การเกิดเป็นทุกข์      ๒.การแก่เป็นทุกข์      ๓.การตายเป็นทุกข์  ศาสนาอื่นๆ ในโลก อย่างมากที่สุดก็บอกได้เพียงว่า ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ ส่วนการเกิดกลับถือว่าเป็นสุข เป็นพรพิเศษที่ได้รับประทานจากสรวงสวรรค์ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงทำสมาธิมามาก ทรงรู้แจ้งโลกด้วยดวงปัญญาอันสว่างไสว และชี้ให้เราเห็นว่า การเกิดนั้นแหละเป็นตัวทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่ต้องขดอยู่ในท้อง พอจะคลอดก็ถูกมดลูกบีบรัดดันออกมา ศีรษะนี่ถูกผนังช่องคลอดบีบจนกระโหลกเบียดซ้อนเข้าหากันจากหัวกลมๆ กลายเป็นรูปยาวๆ เจ็บใจขาดเลยเพราะฉะนั้นทันทีที่คลอดออกมาได้สิ่งแรกที่เด็กทำคือ ร้องจ้าสุดเสียงเพราะมันเจ็บจริงๆ และการเกิดนี่เอง ที่เป็นต้นเหตุเป็นที่มาของความทุกข์อื่นๆ ทั้งปวง ถ้าเลิกเกิดได้เมื่อไหร่ก็เลิกทุกข์  อีกอย่างหนึ่งที่คนมักเข้าใจไขว้เขวกัน ก็คือ คิดว่าชราทุกข์นี่จะมีเอาก็ต่อเมื่ออายุ ๖๐-๗๐ปี แต่จริงๆ แล้วทันทีที่เราเริ่มเกิด เราก็เริ่มแก่แล้วชราทุกข์เริ่มเกิดตั้งแต่ตอนนั้น และค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ในร่างกายเริ่มแก่ตัวไปเรื่อยๆ อันนี้ขอให้ทราบกันด้วย  ๒.ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จร เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุภายนอกที่มากระทบตัวเราได้ ผู้มีปัญญารู้จักฝึกควบคุมใจตนเอง สามารถหลีกเลี่ยงทุกข์ชนิดนี้ได้ ทุกข์จรนี้มีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่      ๑.โสกะ ความโศก ความแห้งใจ      ๒.ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน      ๓.ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย      ๔.โทมนัสสะ ความน้อยใจ      ๕.อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ      ๖.สัมปะโยคะ ความเบื่อหน่ายขยะแขยงจากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก      ๗.วิปปโยคะ ความห่วงใย จากการพลัดพรากจากของรัก      ๘.อาลภะ ความเสียดายจากการปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น  นี่คือผลการวิจัยเรื่องทุกข์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญโรค สามารถแยกแยะอาการของโรคให้เราดูได้อย่างละเอียดชัดเจน  “ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ” อริยสัจ คือ ทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้ (พุทธพจน์) อริยสัจที่ ๒ สมุทัย  สมุทัย คือ เหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น ศาสนาอื่นๆ หาเหตุแห่งความทุกข์ไม่เจอ จึงโทษไปต่างๆ นานา เป็นการลงโทษของพระเจ้าบ้าง ของผีป่าบ้าง ถ้าเป็นจริงละก็ ผีป่าตนนี้คงใจร้ายน่าดู เที่ยวไปรังแกคนโน้นคนนี้ทั้งวัน ให้เขามีทุกข์ หน้าคงจะหงิกอยู่ทั้งวัน เขี้ยวงอกเลยผีตัวนี้  แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงฝึกสมาธิมามาก พระองค์ทรงทำใจให้ใสเข้าถึงธรรมกาย แล้วเห็นความจริงอย่างชัดเจนเลยว่า ที่เราทุกข์ๆ กันอยู่นี่ สาเหตุมันมาจากกิเลสที่มีอยู่ในใจนี่แหละ พระองค์บัญญัติศัพท์เรียกว่าตัณหา คือ ความทะยานอยากในใจของเราเอง แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ      ๑.กามตัณหา ความอยากได้ เช่น อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากสนุก อยากมีเมียน้อย อยากให้คนชมเชยยกย่อง สรุป คือ อยากได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ      ๒.ภวตัณหา ความอยากเป็น เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ ฯลฯ      ๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่ อยากไม่เป็นคนขี้โรค ฯลฯ  มนุษย์เราเกิดมาจากตัณหา ลอยคออยู่ในตัณหา เคยชินกับตัณหาคุ้นเคยกันกับตัณหา จนเห็นตัณหาเป็นเพื่อนสนิท กินด้วยกัน ดื่มด้วยกัน ถ้าขาดตัณหาแล้วเขากลัวว่าจะขาดรสของชีวิตที่เคยได้เคยอยู่เคยเป็น แต่ตามความเป็นจริง ตัณหานั้นถ้าเป็นเพื่อนก็เพื่อนเทียม คอยหลอกล่อนำทุกข์มาให้เราแล้วก็ยืนหัวเราะชอบใจ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญทรงแยกแยะชี้สาเหตุของโรคสาเหตุของทุกข์ ให้เราเห็นว่ามาจากอะไร เชื้อโรคชนิดไหนกิเลสชนิดใด “ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกข์สมุทัย อันเราพึงละ (พุทธพุจน์) อริยสัจที่ ๓ นิโรธ  นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หมายถึงสภาพใจที่หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิงทำให้หมดตัณหา จึงหมดทุกข์ มีใจหยุดนิ่งสงบตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายมีความสุขล้วนๆ  ศาสดาของศาสนาอื่นๆ เนื่องจากฝึกสมาธิมาน้อย หรือปฏิบัติไม่ถูกทาง จึงไม่ทราบว่า ความหมดทุกข์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก็ได้แต่สมมติกันขึ้นว่า คือ การได้ไปอยู่บนสวรรค์กับพระผู้เป็นเจ้า เป็นการสร้างความฝันลมๆ แล้งๆ เหมือนคนหิวข้าวแล้วก็สร้างมโนภาพว่า อีกหน่อยจะมีผู้วิเศษเอาข้าวมาให้กิน ก็พอจะหลอกกตัวเองปลอบใจตัวเองได้บ้าง  แท้ที่จริงนั้น ต่อให้ได้ขึ้นสวรรค์เป็นเทวดา นางฟ้าจริง ก็ยังวนเวียนอยู่ในกามภพเท่านั้น สูงกว่าสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ยังมีรูปพรหมอีก ๑๖ ชั้น อรูปพรหมอีก ๔ ชั้น ซึ่งก็ยังไม่หมดทุกข์จะหมดทุกข์จริงๆ ต้องฝึกจนกระทั่งหมดตัณหา ดับความทะยานอยากต่างๆ โดย สิ้นเชิง หมดกิเลสเข้าพระนิพพานเท่านั้น “ทุกฺขนิโรโธ อริยสัจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกขนิโรธะ อันเราพึงทำให้แจ้ง (พุทธพจน์) อริยสัจที่ ๔ มรรค  มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ศาสนาอื่นฝ่ายเทวนิยมมองเห็นเหตุแห่งทุกข์ไม่ออก ยกให้เป็นการลงโทษของสิ่งลึกลับ ของพระเจ้า ดังนั้นจึงหาวิธีพ้นทุกข์ผิดทาง ไปอ้อนวอนบวงสรวงให้พระเจ้าช่วย ถ้าจะเปรียบก็คล้ายกับว่า เราป่วยเป็นไข้มาเลเรีย แล้วมีคนมาบอกเราว่า ที่เราเป็นอย่างนี้เพราะมีผีมาจากป่าจากเขามาลงโทษเรา แล้วก็แนะให้เราเซ่นไหว้อ้อนวอนกับผีสางเหล่านั้น เพื่อให้เราหายโรค ซึ่งเสียแรงโง่เปล่า  แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญเห็นเหตุที่ทำให้เกิดโรค เกิดทุกข์ชัดเจน แล้วก็ทรงสอนเราว่า ที่เราป่วยเราทุกข์ก็เพราะเจ้าตัณหา ซึ่งเปรียบเหมือนเชื้อโรคนี่เอง ถ้าต้องการหายจากโรคก็ต้องกำจัดเจ้าเชื้อโรคนั้นให้หมดไป โดยพระองค์ทรงมอบยาดีไว้ให้เราใข้กำจัดเชื้อโรคนั้นด้วย ซึ่งก็คือ มรรค ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่งปราบทุกข์ได้ รวม ๘ ประการ ได้แก่      ๑.สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้นคือ ความเห็นถูกต่างๆ เช่นเห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง ฯลฯ เบื้องสูงคือ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ นั่นเอง      ๒.สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือ คิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน  ๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยกไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้ออวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมคนอื่น  ๔.สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม  ๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก  ๖.สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือ เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น  ๗.สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ หมั่นพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อยู่เสมอ  ๘.สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือ มีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ผ่านกายในกาย ซึ่งก็คือฌานชั้นต่างๆ ไปตามลำดับจนเข้าถึงธรรมกาย ใจหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางธรรมกาย  มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพุทธศาสนาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อเข้าก็จะได้แก่ไตรสิกขา หัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้  ศีล แยกออกเป็น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ  สมาธิ แยกออกเป็น สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ  ปัญญา แยกออกเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ  มรรคทั้งแปดข้อนี้ให้ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ซึ่งว่าเกิดได้ขณะใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิ ทำให้เห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจน และพ้นทุกข์ได้เป็นเรื่องของการฝึกจิตตามวีถีของเหตุผล ไม่ต้องไปวิงวอนพระเจ้าหรือใครๆ “ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ” อริยสัจ คือ ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อันเราพึงบำเพ็ญ (พุทธพจน์) การเห็นอริยสัจ      อ่านอริยสัจมาถึงตรงนี้ เรารู้แล้วว่าทุกข์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง อะไรที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้มรรคมีองค์ ๘ จำได้หมด แต่นี่ยังไม่เรียกว่าเห็นอริยสัจ เป็นแต่เพียงท่องจำอริยสัจได้เท่านั้น  การเห็นอริยสัจ แต่ละข้อจะต้องเห็นถึง ๓ รอบ รวม ๔ อริยสัจเท่ากับเห็นถึง ๑๒ ครั้งเราเรียกรอบ๓ อาการ๑๒ ของอริยสัจ  การเห็นอริยสัจ แปลกกว่าการเห็นอย่างอื่น คือ เมื่อเห็นแล้วจะสามารถทำได้ด้วย เช่น เห็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ว่าคือ ตัณหา ก็จะเห็นว่าตัณหาควรละ และก็ละตัณหาได้ด้วย เป็นการเห็นที่บริบรูณ์จริงๆ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนการรู้เรื่องยา จะเป็นความรู้ที่บริบูรณ์ ก็ต้องรู้อย่างนี้คือ    รู้ว่า นี่เป็นยา    รู้ว่า ยานี้ควรกิน    รู้ว่า ยานี้เราได้กินแล้ว      การเห็นอริยสัจนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า เมื่อเห็นข้อใดข้อหนึ่งข้อที่เหลือก็จะเห็นหมด เช่น เมื่อเห็นทุกข์ ก็จะเห็นสมุทัย นิโรธ มรรค ด้วย เห็นสมุทัย ก็จะเห็นทุกข์ นิโรธ มรรค ด้วย  จะเห็นพร้อมกันทั้งหมด เพราะไม่ใช่การเห็นด้วยตาหรือการนึกคิดเห็นธรรมดา แต่เป็นการเห็นด้วยญานของธรรมกาย กายในกาย      ในตัวของทุกคน มีกายที่ละเอียดประณีตซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ กายเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยอำนาจการปฏิบัติธรรม คือ  ประพฤติศีล ๕   ก่อให้เกิดกายมนุษย์ละเอียด  (กายฝัน)  ประพฤติหิริโอตตัปปะ ก่อให้เกิดกายทิพย์ (เทวกาย)  ประพฤติพรหมวิหาร ๔ ก่อให้เกิดกายพรหม (พรหมกาย)  ประพฤติมรรค ๘ ก่อให้เกิดกายธรรม (ธรรมกาย)  เราทุกคนสามารถจะเข้าไปรู้ไปเห็นกายต่างๆ เหล่านี้ได้ด้วยตนเองโดยการฝึกสมาธิทำใจให้หยุด ให้นิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลายกาย คือ จุดกึ่งกลางท้องเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้ว ลักษณะของธรรมกาย      ธรรมกายมีลักษณะเป็นพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ตลอดทั้งองค์ใสเป็นแก้ว มีรัศมีสว่างไสวกว่าดวงอาทิตย์หลายร้อยหลายพันเท่า มีลักษณะมหาบุรุษครบ ๓๒ ประการเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นรัตนะเป็นๆ หรือพระเป็นๆ ประทับอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเราทุกคนเป็นธรรมขันธ์ประกอบด้วยธาตุธรรมส่วนที่ละเอียดประณีตเป็นพิเศษกิเลสทั้งมวลจึงไม่อาจเกาะติดได้ ธรรมกายนี้แหละมีญาน ทำให้เห็นอริยสัจได้ ผู้ที่สามารถเห็นอริยสัจได้      คนทั้งหลายอาจแบ่งตามคุณความดีในตัวได้เป็น ๓ ระดับ คือ  ๑.ปุถุชน หมายถึง ผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ได้แก่ คนทั่วไปทั้งหลาย ซึ่งก็มีดีบ้างเลวบ้างคละกันไป แม้นในคนเดีวกันบางครั้งก็ทำดีบางทีก็ทำชั่ว  ๒.โคตรภูบุคคล หมายถึงบุคคลผู้กำลังเปลี่ยนโคตร คือ เปลี่ยนจากปุถุโคตรเป็นอริยโคตร ได้แก่ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงกายธรรมโคตรภูแล้ว มีกิเลสเบาบางลง เป็นบุคคลที่เปรียบเสมือนเท้าซ้ายเหยียบบนโลกเท้าขวาเหยียบบนพระนิพพาน ถ้าตั้งใจทำความดีต่อไป ก็จะมีกิเลสเบาบางลงอีกเข้าถึงกายธรรมที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นกลายเป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้าท้อถอยในการทำความดี ก็จะถอยหลังกลับมาเป็นปุถุชน เป็นผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลสอีก  ๓.พระอริยบุคคล หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งสามารถกำจัดกิเลสต่างๆ ออกได้ไปตามลำดับ จนหมดไปในที่สุด มีใจตั้งมั่นอยู่ในคุณความดีอย่างแน่นแฟ้น ยึดมั่นในพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจะไม่ถอยกลับมาเป็นปุถุชนทำความชั่วอีกอย่างเด็ดขาด เป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปแน่นอน แบ่งออกได้เป็น ๔ ระดับ คือ  - ผู้ที่เข้าถึงกายธรรมพระโสดา   เป็นพระโสดาบัน  - ผู้ที่เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคา  เป็นพระสกิทาคามี  - ผู้ที่เข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี  เป็นพระอนาคามี  - ผู้ที่เข้าถึงกายธรรมพระอรหันต์  เป็นพระอรหันต์  ผู้ที่จะสามารถเห็นอริยสัจได้ คือ พระอริยบุคคลทุกระดับและโคตรภูบุคคลที่เข้าถึงกายธรรมโคตรภูจนชำนาญแล้ว  อานิสงส์การเห็นอริยสัจ  เมื่อเราเข้าถึงธรรมกาย เห็นอริยสัจด้วยญานของธรรมกาย เราก็จะเข้าถึงความเป็นไปอันแท้จริงของโลกและชีวิตว่ามีแต่ทุกข์ ที่ว่าสุขๆ กันนั้นแท้ที่จริงก็คือ  ช่วงขณะที่ความทุกข์น้อยลงนั้นเอง เราจะเข้าใจถึงคุณค่าของบุญกุศล อันตรายความน่าขยะแขยงของบาป เป็นความเข้าใจที่เข้าไปในใจจริงๆ เวลามีความทุกข์หรือไปทำอะไรไม่ดีเข้า ก็จะเห็นเลยว่าบาปมันเกิดขึ้นที่ใจอย่างไร เหมือนเราลืมตามองเห็นดวงแก้วกลมใสแล้วมีฝุ่นผงละอองมาเคลือบมาจับอย่างไรเราก็จะต้องเห็นบาปมันมาหุ้มเคลือบ หมัก ดองใจของเรา ให้ดำมืดไปอย่างนั้น  เมื่อเอาน้ำมาชำระล้างแล้ว เราจะเห็นดวงแก้วสะอาดแวววาวใสบริสุทธิ์ขึ้นอย่างใด เวลาเราทำความดี ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาแล้ว เราก็จะเห็นบุญกุศลที่เกิดขึ้น มาชำระล้างหล่อเลี้ยงใจของเรา ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสสว่างไสวขึ้นอย่างนั้น  เมื่อรู้เห็นเข้าใจอย่างนี้แล้ว ย่อมมีใจตั้งมั่นอยู่ในความดี หมั่นบำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำใจหยุด ใจนิ่ง เข้าศูนย์กลางกายหนักขึ้นๆ ๆ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา โตใหญ่สว่างไสว มรรค ๘ เกิดขึ้นพร้อมบริบูรณ์ที่ศูนย์กลางกาย ใจก็หยุดนิ่งละเอียดลงทุกทีๆ กิเลสต่างๆ ก็ค่อยๆ ร่อนหลุดไปจากใจ จนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้     "มีที่ไหนในโลกนี้บ้าง ที่ทุกข์เข้าไปไม่ถึง      .......ไม่มี  เจ้าชายสิทธัตถะทำไมจึงออกบวช.......จะหาที่ที่ทุกข์เข้าไปไม่ถึง  แล้วพบไหม     ........พบแล้ว  อยู่ที่ใด      ........นิพพาน  มีใครตามพระองค์ไปได้บ้างไหม   ........มากมาย  แล้วนิพพานอยู่ที่ไหน           .......นั่นซิ   จึงต้องมาศึกษากัน " นิพพานคือะไร ?  นิพพาน มีคำแปลได้หลายแบบ เช่น   - แปลว่า ความดับ คือ ดับกิเลส ดับทุกข์   - แปลว่า ความพ้น คือ พ้นทุกข์พ้นจากภพสาม  นิพพาน โดยความหมาย หมายได้ ๒ นัยยะใหญ่ๆ คือ   ๑.หมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว   ๒.หมายถึง สถานที่ที่ผู้หมดกิเลสแล้ว ไปเสวยสุขอันเป็นอมตะอยู่ ณ ที่นั้นๆ  นิพพาน เป็นที่ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายเข้าไปไม่ถึง อยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีแก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างเป็นสุขัง เป็นนิจจัง เป็นอัตตา เป็นตัวตนที่แท้จริง บังคับบัญชาได้ เที่ยงแท้แน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นด้วยอำนาจการปฏิบัติธรรม มีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงนิพพานไว้หลายครั้ง อาทิ “นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” นิพพานสูญอย่างยิ่ง คือ สูญกิเลส สูญทุกข์ “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานสุขอย่างยิ่ง  ทหารเมื่ออยู่ในหลุมหลบภัย ย่อมปลอดภัยจากอาวุธร้ายของศัตรูฉันใดผู้ที่มีใจจรดนิ่งอยู่ในพระนิพพาน ก็ย่อมปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวงฉันนั้น ประเภทของนิพพาน  นิพพานมีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ      ๑.สอุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานเป็น อยู่ในศูนย์กลางธรรมกายในตัวของเราทุกคนที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ สามารถเข้าถึงนิพพานนี้ได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเป็น ๆ อยู่ เป็นนิพพานของพระอริยเจ้าผู้ละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่  ยังเป็นๆ อยู่ เป็นนิพพานของพระอริยเจ้าผู้ละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกต่อไปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้านิพพานเป็นนี้ได้ เมื่อวันที่พระองค์ตรัสรู้  นิพพานเป็นนี้ แต่ละคนก็มีเฉพาะของตนเป็นเหมือนหลุมหลบภัยในตัว เรามีทุกข์ โศก โรค ภัยใดๆ พอเอาใจจรดเข้าไปในนิพพาน ความทุกข์ก็จะหลุดไปหมด จะตามไปรังควาน ไปบีบคั้นใจเราไม่ได้      ๒.อนุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานตาย เป็นเหตุว่างอยู่นอกภพสาม ผู้ที่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์เมื่อเบญจขันธ์ดับ(กายเนื้อแตกทำลายลง)เหลือแต่ธรรมขันธ(ธรรมกาย) ก็จะถูกอายตนะนิพพานนี้ ดึงดูดให้ไปปรากฏที่นั่น เสวยความสุขอันเป็นอมตะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อปรินิพพานแล้วธรรมกายของพระองค์ก็ไปปรากฏประทับอยู่ที่อายตนะนิพพานนี้เอง โดยมีธรรมกายของพระอรหันต์สาวกอยู่ล้อมรอบ ผู้ที่สามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้  จะเข้านิพพานต้องเข้าด้วยธรรมกาย มนุษย์เข้าไปไม่ได้ เทวดาเข้าไปไม่ได้ รูปพรหมเข้าไปไม่ได้ อรูปพรหมก็เข้าไปไม่ได้ ธรรมกายเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปได้  เพราะฉะนั้นผู้ที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งได้ ก็คือ พระอริยบุคลทุกระดับ ทั้งพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี และพระโสดาบัน รวมทั้งโคตรภูบุคคลที่ปฏิบัติธรรมจนมีกิเลสเบาบางเกือบถึงขั้นพระโสดาบันโดยต้องฝึกสมาธิจนเข้าถึงธรรมกาย จากนั้นเอาใจจรดเข้าศูนย์กลางกายจึงเห็นอริยสัจ และต้องเห็นอริยสัจอย่างชำนาญ พิจารณาอริยสัจซ้ำแล้วก็ซ้ำอีก จนใจแนบแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย จึงเห็นนิพพานได้  บางท่านอาจนึกสงสัยว่า ก็เห็นบอกว่าเข้าถึงนิพพานแล้วจะหมดกิเลสความทุกข์ตามไปรังควานไม่ได้ แล้วตอนนี้มาบอกว่าโคตรภูบุคคลซึ่งยังไม่ได้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ก็เข้านิพพานได้ จะไม่เป็นการขัดกันเองหรือ  คำตอบคือ ไม่ขัดกัน เพราะโคตรภูบุคคลนั้น เมื่อเอาใจจรดเข้าพระนิพพาน ขณะนั้นก็หมดทุกข์ กิเลสทำอะไรไม่ได้แต่ทว่าใจยังจรดอยู่ในนิพพานได้ไม่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ใจถอนออกมาก็ยังต้องมีทุกข์อยู่เหมือนตัวของเราถ้าหากเป็นแขกรับเชิญไปเที่ยวพักผ่อนยังปราสาทใหญ่ระหว่างที่พักอยู่ในนั้นก็มีความสุขสบาย แต่ก็อยู่ได้ชั่วคราวเพราะยังไม่ได้เป็นเจ้าของเอง เมื่อไหร่ครบกำหนดกลับก็ต้องออกจากปราสาท มาสู้เหตุการณ์ภายนอกใหม่ ตัวของเราจะเข้านิพพานได้หรือไม่  คำตอบคือ ได้ โดยจะต้องตั้งใจฝึกสมาธิไปจนเข้าถึงธรรมกายก่อน แล้วฝึกต่อไปจนเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น เห็นอริยสัจและทำพระนิพพานให้แจ้งได้ในที่สุด ซึ่งไม่ยากจนเกินไปที่เราจะปฏิบัติได้เพราะถ้ายากเกินไปแล้วคงไม่มีพระอรหันต์เป็นล้านๆ รูปในสมัยพุทธกาลถ้านิพพานนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปได้พระองค์เดียว คนอื่นไปไม่ได้เลย เราจะบอกว่ายาก แต่จริงๆ แล้วมีผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ตั้งใจฝึกสมาธิเข้านิพพานได้เยอะแยะ แสดงว่าไม่ยากจนเกินไป แต่แน่นอนก็คงไม่ง่ายเพราะถ้าง่ายเราก็คงเข้าไปตั้งนานแล้ว  เพราะฉะนั้นตั้งใจฝึกตัวเองกันเข้า วันหนึ่ง เราก็จะเป็นคนหนึ่งที่ทำได้แล้วเข้านิพานได้ ตอนนี้ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้แต่ว่ายังไม่ได้ทำต่างหากอย่าเพิ่งไปกลัว อย่าไปท้อใจเสียก่อนว่าจะทำไม่ได้ ถ้าทำจริงแล้วต้องได้ อานิสงส์การทำพระนิพพานให้แจ้ง  ๑.ทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม  ๒.ทำให้จิตไม่โศก  ๓.ทำให้จิตปราศจากธุลี  ๔.ทำให้จิตเกษม “ไฟใดเสมอด้วยราคะไม่มี โทษใดเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี สุขใดเสมอด้วยความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (พุทธพจน์)     "ภูเขาศิลาล้วน ย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นเพราะแรงลมฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ก็ย่อมมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายฉันนั้น "  จิตหวั่น คือ ความหวั่นหวาด กังวล กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ  จิตไหว คือ ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ  โลกธรรม คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก ใครๆ ก็ต้องพบหลีกเลี่ยงไม่ได้     แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบ มีอยู่ ๘ ประการ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่          ก.ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้ คือ  ๑.ได้ลาภ คือ การได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้ลูก ได้เมีย ได้บ้าน ได้ที่ดิน ได้เพชรนิลจินดาต่างๆ เป็นต้น  ๒.ได้ยศ คือ การได้รับตำแหน่ง ได้รับฐานะ ได้อำนาจ ได้เป็นใหญ่เป็นโต  ๓.ได้สรรเสริญ คือ การได้ยินได้ฟังคำชมเชย คำยกยอ คำสดุดี ที่คนอื่นให้เรา  ๔.ได้สุข คือ ได้รับความสบายกายสบายใจ ได้ความเบิกบานร่าเริงได้ความบันเทิงใจทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ ยังไม่ได้ก็คิดหา ครั้นหาได้แล้วก็คิดหวง หวงมากๆ เข้าก็หึงการที่จิตมีอาการหา หวง ห่วง หึง นี่แหละเรียกว่าจิตไหว          ข. ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน คือ  ๑.เสื่อมลาภ คือ ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป เช่น เสียเงิน เสียที่อยู่ ลูกรักตายเสีย เมียรักตายจาก  ๒.เสื่อมยศ คือ ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ  ๓.ถูกนินทา คือ ถูกตำหนิติเตียน ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าหรือลับหลัง  ๔.ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางใจ  ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่คนเราไม่ชอบ ไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตัว เมื่อยังมาไม่ถึง จิตก็หวั่นว่ามันจะมา เมื่อมันมาแล้วก็ภาวนาว่าเมื่อไหร่จะไปเสียที ไปแล้วก็ยังหวั่นกลัวว่ามันจะกลับมาอีก จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมคืออะไร ?  จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม หมายถึง สภาพจิตของผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว มีใจตั้งมั่นเกิดความมั่นคงหนักแน่นดุจขุนเขา เป็นอุเบกขาวางเฉยได้  เมื่อพบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ตกทุกข์ จิตก็ไม่หวั่น  เมื่อพบกับความได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ เป็นสุข จิตก็ไม่ไหว  เพราะรู้เท่าทันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภมีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โตก็ไม่ใช่ของเราตลอดไป สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทุกคนต้องพบทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องเสื่อมหายไปเป็นธรรมดา ตามกฎของไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์  ไตรลักษณ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สามัญลักษณะ คือลักษณะประจำของทุกสรรพสิ่งในโลก  ของต่างๆ ในโลกก็มีคุณสมบัติต่างกันไป เช่น ทองก็มีสีออกเหลืองๆ สะท้อนแสงมีประกายแวววาว กระจกก็ใส คนเราก็มีชีวิตจิตใจรู้จักคิด เพชรก็แข็ง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตามจะมีลักษณะ ๓ ประการ ที่เหมือนกันหมดคือ      ๑.อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น บ้านเรือนก็ต้องเก่าคร่ำคร่า ทรุดโทรมไป คนเราวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา      ๒.ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตกเท่านั้น แต่หมายถึงการคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับเพราะเมื่อมันไม่เที่ยงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็ต้องแตกดับ เช่น บ้านก็ต้องพัง คนเราก็ต้องตาย แม้โลกที่เราอยู่นี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และสักวันหนึ่งก็ต้องทำลายลง      ๓.อนัตตา ความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของใครหาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราจะบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ป่วยไข้ก็ไม่ได้ บ้านบังคับไม่ให้เก่าก็ไม่ได้ แต่ตัวของเราถ้ามาแยกธาตุกันจริงๆ แล้วก็จะพบว่าประกอบขึ้นด้วยเลือด เนื้อ กระดูก ฯลฯ เท่านั้น หาตัวตนจริงๆ ไม่เจอ เป็นเพียงการประชุมแห่งธาตุประกอบกันขึ้นมาชั่วคราว พอตายธาตุต่างๆ ก็แยกสลายจากกัน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง  คนทั้งโลกมองไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงลุ่มหลงมัวเมายินดียินร้ายหวั่นไหวในโลกธรรม ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดมา  ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ท่านเห็นธรรมกายเห็นพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมขันธ์อยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์ มีลักษณะเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พ้นการเวียนว่ายตายเกิดเป็นตัวตนที่แท้จริงบังคับบัญชาได้ตามใจนึก จึงไม่ไยดีในโลกธรรม ไม่ขุ่นมัว ไม่หลงใหล ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงยังอยู่ในกฎของไตรลักษณ์  ท่านจะได้ลาภ ได้ยศ มีคนสรรเสริญยกย่อง หรือเป็นสุข ท่านก็เฉยๆ จิตไม่ไหว  ท่านจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย หรือตกทุกข์ ท่านก็เฉยๆ จิตไม่หวั่น  คนทั่วไปเวลาป่วยไข้มาเกิดความทุกข์ทั้งกายทั้งใจ แต่ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ใจจรดอยู่ในพระนิพพาน จะเกิดความทุกข์อะไรอันเนื่องมาจากสังขารนี้ก็ตาม ทุกข์นั่นจะหยุดอยู่แค่กาย กินเข้าไปไม่ถึงใจท่าน ท่านมีจิตที่มั่นคงตลอด ข้อเตือนใจ  โบราณท่านสอนว่า อยากจะรู้ว่าใครถึงคราวตกทุกข์ได้ยากแล้วจะพิลาปรำพันโอดครวญแค่ไหน ให้ดูอย่างนี้  ถ้าคนนั้นเวลาดีใจ ได้ของถูกใจ ก็หัวเราะฮ่าๆ ก็รู้เลยว่า เมื่อถึงคราวเสียใจ เสื่อมลาภ เขาก็จะร้องไห้โฮๆ เป็นช้างร้องเชียว  ตรงกันข้าม ถ้าเวลาดีใจ เขาก็แค่ยิ้มๆ ก็รู้เลยว่า ถึงตอนเสียใจอย่างมากก็คงจะแค่กัดฟัน หรืออึดใจสักอึด สองอึด แล้วก็หาย นี่เป็นอย่างนี้  ท่านจึงให้ข้อเตือนใจไว้ว่า “ถ้าดีใจก็จงยิ้มเพียงมุมปากเดียว เมื่อถึงคราวเสียใจจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้”  และยังให้กำลังใจสำหรับผู้ตกอยู่ในความทุกข์อีกว่า “ยิ่งมืดเท่าไร แสดงว่ายิ่งดึก ยิ่งดึกเท่าไร ก็แสดงว่ายิ่งใกล้สว่าง”      เพราะฉะนั้นจะเจอความทุกข์ขนาดไหน ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาปานใด สู้ทนทำความดีไปเถิด ยิ่งเจอหนักมากขึ้นแสดงว่ามันใกล้จะพ้นแล้วละ เหมือนยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง  นอกจากนี้เราทุกคนจะต้องตั้งใจฝึกสมาธิภาวนากัน จนใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เข้าถึงธรรมกายในตัว ใช้ธรรมกายพิจารณาอริยสัจ ๔ และทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้ จึงจะมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้อย่างแท้จริง        "สัตว์ทั้งหลายแม้พญาราชสีห์ หากติดบ่วงนายพราน ก็ย่อมสิ้นกำลังและอำนาจ ได้รับแต่ความทุกข์ทรมานฉันใด คนทั้งหลายแม้มีฤทธิ์อำนาจมากเพียงใด หากติดบ่วงสิเน่หา ก็ย่อมสิ้นฤทธิ์หมดอำนาจ มีจิตโศกเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานฉันนั้น"   จิตโศกคืออะไร ?  คำว่า โศก มาจากภาษาบาลีว่า "โสกะ" แปลว่า "แห้ง"  จิตโศก จึงหมายถึง สภาพจิตที่แห้งผาก เหมือนดินแห้ง ใบไม้แห้ง หมดความชุ่มชื้น เนื่องจากไม่สมหวังในความรัก ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้งหม่นไหม้ โหยหาขึ้นในใจ ใจซึมเซาไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงาน “เปมโต ชายเต โสโก” ความโศกเกิดจากความรัก (พุทธพจน์)      จะเป็นรักคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ทำให้เกิดความโศกได้ทั้งนั้น แต่ที่หนักก็มักจะเป็นเรื่องรักคน โดยเฉพาะความรักของชายหนุ่มหญิงสาว  ปกติใจของคนเราซนเหมือนลิง ชอบคิดโน่นคิดนี่ รับอารมณ์อย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะฟังเพลงเพราะๆ เดี๋ยวไม่เอาอีกแล้วกินขนมดีกว่า กินอิ่มแล้ว ไม่เอานอนดีกว่า เดี๋ยวเที่ยวดีกว่า เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่อยู่ในอารมณ์ใดนานๆ  แต่แปลก พอใจของเราไปเจออารมณ์รักเข้าเท่านั้นแหละ มันไม่เปลี่ยน ติดหนับเลยเหมือนลิงติดตัง  พูดถึงลิงติดตัง บางท่านอาจไม่เข้าใจ ตังก็คือ ยางไม้ที่เขาเอาไปเคี่ยวจนเหนียวหนับ แล้วเอาไปป้ายไว้ตามต้นไม้ ตามที่ต่างๆ ไว้ดักนก ดักสัตว์เวลาสัตว์มาเกาะติดเข้าจะดิ้นไม่หลุด  ลิงเวลามาเจอตังเข้า มันจะใช้ขาข้างหนึ่งแหย่ดูตามประสาซน พอติดหนับดึงไม่ขึ้น ก็จะใช้ขาอีกข้างจะมาช่วยยัน ขาข้างนั้นก็ติดตังหนับเข้าอีกจะใช้ขาอีก ๒ ข้างมาช่วย ก็ติดตังหมดทั้ง ๔ ขา ใช้ปากช่วยดันปากก็ติดตังอีก ตกลงทั้ง ๔ ขาและปากติดตังแน่นอยู่อย่างนั้น ดิ้นไม่หลุดรอให้คนมาจับไป นี่ลิงติดตัง  คนเราก็เหมือนกัน ลงได้รักละก็ หนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่มก็ตามทีแรกก็บอกว่าจีบไปอย่างนั้นเอง พักเดียวถอนตัวไม่ออก ร้อง “ไม่เห็นหน้าเจ้า กินข้าวบ่ลงกันเชียวล่ะ”  คำว่าเสน่ห์ ในภาษาไทยเราแปลว่า ความน่ารัก แต่คำคำนี้มาจากภาษาบาลีว่าสิเนหะ แปลว่า ยางเหนียว ตรงตัวเลย ถ้าใครมาบอกเราว่าแม่คนนั้นเสน่ห์แรงจัง ให้รู้ตัวไว้เลยว่าแม่นั่นน่ะยางเหนียวหนับเลย อย่าไปเข้าใกล้นะ เดี๋ยวติดยางเหนียวเข้าเป็นลิงติดตัง แล้วจะดิ้นไม่หลุด  ตอนรักเขายังไม่เท่าไร แต่ว่า รักเขาแล้วเขาไม่รักเราสิ หรือเมื่อความรักกลายเป็นอื่นเข้า หรือเขาตายจากเราไปก็ตาม ใจมันจะแห้งผากขึ้นมาทีเดียว แต่ก่อนเคยชอบรับอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ พอถึงตอนนี้ใครจะมาร้องเพลงให้ฟังก็รำคาญ จะชวนไปเที่ยวดูหนัง ก็รำคาญ จะร้องจะรำจะเล่นอะไร รำคาญไปหมด ข้าวยังไม่อยากจะกิน ใจมันแห้งผาก ซึมเซารับอารมณ์ไม่ไหว คือ อาการที่เรียกว่า จิตโศก  บางคนอาจนึกว่าก็แล้วถ้าความรักสมหวัง ก็คงไม่เป็นไร จิตไม่โศกละซี แต่ในความเป็นจริงน่ะมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์มันไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แตกดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ลงว่าใครได้รักอะไรเข้าละก็ ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์หรือสิ่งของ ก็ให้เตรียมตัวโศกเอาไว้ได้ ถ้ารักมากก็โศกมาก รักน้อยก็โศกน้อย รักหลายๆ อย่างก็โศกถี่หน่อยนี่เป็นอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเตือนสติไว้ว่า  “ผู้ใดมีความรัก ถึง ๑๐๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๑๐๐   ผู้ใดมีความรัก ถึง  ๙๐  ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง   ๙๐   ผู้ใดมีความรัก ถึง  ๘๐  ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง  ๘๐   ผู้ใดมีความรัก ถึง  ๔๐  ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง  ๔๐   ผู้ใดมีความรัก ถึง  ๒๐  ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง  ๒๐   ผู้ใดมีความรัก ถึง  ๑๐   ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง  ๑๐   ผู้ใดมีความรัก ถึง    ๕  ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง    ๕   ผู้ใดมีความรัก ถึง   ๔  ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๔   ผู้ใดมีความรัก ถึง ๓ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๓   ผู้ใดมีความรัก ถึง ๒ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๒   ผู้ใดมีความรัก ถึง ๑ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๑   "ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส คือ ความตรอมใจ ควมกลุ้มใจ”  โบราณ ท่านสรุปเป็นข้อเตือนใจไว้ว่า  “มากรักก็มากน้ำตา หมดรักก็หมดน้ำตา  มากรักก็มากทุกข์ หมดรักก็หมดทุกข์” ข้อควรปฏิบัติ      ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ขณะที่ใจท่านจรดอยู่ในพระนิพพาน ความรักเข้าไปรบกวนท่านไม่ได้ ตัดรักได้ ใจท่านจึงไม่แห้ง ไม่มีโศก ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เมื่อไม่มีรักแล้ว ความโศกก็ไม่มี ความกลัวก็ไม่มี”  พวกเราปุถุชนทั่วไป แม้ยังไม่สามารถตัดรักได้เด็ดขาดแต่ถ้าหมั่นทำสมาธิ เจริญมรณานุสติเป็นประจำ ก็จะทำให้ความรักมามีอิทธิพลเหนือใจเราไม่ได้มาก มีสติดี ถึงคราวเด็ดเดี่ยว ก็จะมีจิตโศกน้อยกว่าคนทั่วไป อาการไม่หนักหนาสาหัสนัก เพราะนึกถึงความตายแล้วทำให้ใจคลายออกจากรักซึ่งเป็นต้นทางของความโศก พอคิดว่าเราเองก็ต้องตาย จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เท่านี้ก็เริ่มจะได้คิด ความโศกความรักเริ่มหมดไปจากใจ มีสติมาพิจารณาตนเอง ไม่ประมาท ขวนขวายในการสร้างความดี แล้วที่สุดตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเต็มที่ก็จะสามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้ และตัดความรัก ตัดความโศกออกจากใจได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ข้อเตือนใจ  “ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ อันมากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก  เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ เหล่านี้ย่อมไม่มี  ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก  เพราะเหตุนั้น ผู้ใดปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลีแล้ว ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารใดในโลกไหนๆ ให้เป็นที่รักเลย” (พุทธโอวาท)     "บัวย่อมมีใบ อันหยาดน้ำไม่อาจเกาะติดได้ฉันใด ผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ก็ย่อมมีจิตอันธุลีกิเลสไม่อาจเกาะติดได้ฉันนั้น"   จิตปราศจากธุลีคืออะไร ?  ธุลี แปลว่า ฝุ่นละอองที่ละเอียดมาก ในที่นี้หมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่เกาะ ซึม แทรก หุ้มใจของเราอย่างซ่อนเร้นบางๆ ทำให้ความผุดผ่อง ความใสสะอาดเสียไป ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็นไม่รู้  จิตปราศจากธุลี หมายถึง จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบทั้งละเอียดอย่างถอนรากถอนโคน ไม่มีทางฟื้นกลับเข้ามาในใจได้อีก ทำให้จิตสะอาดผ่องใส นุ่มนวลควรแก่การงาน ได้แก่จิตของพระอรหันต์ ประเภทของกิเลส      กิเลสในใจคนมีอยู่ ๓ ตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลราคะ โทสะ โมหะ กิเลสแต่ละตระกูลก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ที่หยาบมากๆ เห็นได้ชัดเจนเหมือนขยะมูลฝอย และเล็กลงเหมือนฝุ่นผง จนถึงที่ละเอียดมากๆ เหมือนธุลี บางคนเจอแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกิเลสมองไม่ออก ดังนี้  ๑.ตระกูลราคะหรือโลภะ คือ ความกำหนัดยินดี รัก อยากได้ ในคน สัตว์สิ่งของ หรืออารมณ์ที่น่าใคร่ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด ดังนี้      ๑.อภิชฌาวิสมโลภะ ความโลภอย่างแรง แสดงออก เช่น ปล้นเขา จี้ ลักขโมย      ๒.อภิชฌา ความเพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่น จ้องๆ จะเอาของเขาล่ะแต่ยังสงวนท่าที ไม่แสดงออก      ๓.โลภะ ความอยากได้ในทางทุจริต อยากได้ในทางที่ไม่ชอบ แต่ยังไม่แสดงออก      ๔.ปาปิจฉา ความอยากได้โดยวิธีสกปรก เช่น อยากได้สตางค์เลยไปเล่นการพนัน ไม่รักษาเกียรติ ไม่รักษาชื่อเสียงของตน      ๕.มหิจฉา ความอยากใหญ่ ความมักมาก เช่น รับประทานอาหารวงเดียวกัน  ก็คว้าเอากับอร่อยๆ ไปทานเสียคนเดียว ไม่รู้จักเกรงใจคนอื่น ไม่รู้จักประมาณ      ๖.กามราคะ ความพอใจในกาม รักเพศตรงข้าม ยังมีความรู้สึกทางเพศ      ๗.รูปราคะ ความยินดีในอารมณ์ของรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้รูปฌานแล้ว      ๘.อรูปราคะ ความยินดีในอารมณ์ของอรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้อรูปฌานแล้ว  ข้อ ๖-๘ นี้แหละที่จัดเป็นกิเลสละเอียด ที่เรียกว่าธุลีในตระกูลราคะ  ๒.ตระกูลโทสะ คือ ความไม่ชอบใจ ความคิดร้าย คิดทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดดังนี้      ๑.พยาบาท ความผูกอาฆาต จองเวร อยากแก้แค้น ไม่ยอมอภัย บางทีข้ามภพข้ามชาติก็ยังไม่ยอม เช่น พระเทวทัตต์ผูกพยาบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ภพในอดีตมา      ๒.โทสะ ความคิดร้าย คิดทำลาย เช่น คิดจะเตะ คิดจะด่า คิดจะเผาบ้าน คิดจะทำให้อาย ฯลฯ      ๓.โกรธ ความเดือดดาลใจ คือคิดโกรธแต่ยังไม่ถึงกับคิดทำร้ายใคร      ๔.ปฏิฆะ ความขัดใจ เป็นความไม่พอใจลึกๆ ยังไม่ถึงกับโกรธแต่มันขัดใจ  ข้อ๔ ปฏิฆะ นี้แหละที่จัดเป็นธุลี กิเลสละเอียดในตระกูลโทสะ  ๓.ตระกูลโมหะ คือ ความหลง เป็นอาการที่จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบุญบาป ส่วนความไม่รู้วิทยาการต่างๆ ไม่ใช่โมหะ คนที่มีความรู้วิทยาการมากเพียงใด มีปริญญากี่ใบก็ตาม หากยังไม่รู้จักบุญบาป ไม่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำละก็ ได้ชื่อว่าตกอยู่ในโหะทั้งนั้น กิเลสตระกูลโมหะ มีตั้งแต่หยาบถึงละเอียดดังนี้      ๑.มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่า พ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น ไม่เพียงแต่ไม่รู้เท่านั้น ยังคิดเห็นผิดอีกด้วย      ๒.โมหะ ความหลงผิด ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี      ๓.สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ามีตัวตน เช่น คิดว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริงๆ      ๔.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม เช่น ยังไม่มั่นใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่า บุญบาปมีจริงไหม ทำสมาธิแล้วจะหมดกิเลสจริงหรือ      ๕.สีลัพพตปรามาส ความติดอยู่ในศีลพรตอันงมงาย เช่น เชื่อหมอดู เชื่อศาลพระภูมิ เชื่อว่ากินเจแล้วได้บุญ เชื่อพระเจ้า      ๖.มานะ ความถือตัว ถือเขาถือเรา      ๗.อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อยๆ ยังไม่จรดศูนย์กลางกายแนบสนิท ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่าน ไม่รู้เหนือรู้ใต้อย่างที่คนทั่วไปเป็น      ๘.อวิชชา ความไม่รู้พระสัทธรรม เช่น ไม่รู้ว่าตัวเรามาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน   ตั้งแต่ข้อ ๓-๘ เป็นธุลี กิเลสอย่างละเอียดในตระกูลโมหะ  โดยสรุป ธุลี หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดของทั้ง ๓ ตระกูลรวม ๑๐ ประการได้แก่      ๑.สักกายทิฏฐิ      ๒.วิจิกิจฉา      ๓.สีลัพพตปรามาส      ๔.กามราคะ      ๕.ปฏิฆะ      ๖.รูปราคะ      ๗.อรูปราคะ      ๘.มานะ      ๙.อุทธัจจะ      ๑๐.อวิชชา      ทั้ง ๑๐ ประการนี้บางทีเราเรียกว่า สังโยชน์ ๑๐ พระโสดาบันจะสามารถละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ มีความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยเต็มที่ ไม่มีความลังเลเลย ส่วนพระสกิทาคามีก็ละได้ ๓ ข้อแรกเช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่กิเลสข้อที่เหลือเบาบางลง ส่วนพระอนาคามีจะได้เพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ กามราคะและปฏิฆะ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ใจจรดอยู่ในพระนิพพานตลอดเวลาจึงละสังโยชน์ธุลีกิเลสทั้ง ๑๐ ประการได้อย่างสิ้นเชิง มีจิตผ่องใส บริสุทธิ์ตลอด  เหตุที่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี ยังละสังโยชน์ทั้ง๑๐ ได้ไม่หมดนั้น ก็เพราะใจยังจรดอยู่ในพระนิพพานได้ไม่ตลอดเวลา ระดับโทษของกิเลสทั้ง ๓ ตระกูล  ราคาะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า คนจะรักกัน อยู่กันฉันสามีภรรยาถือว่าไม่ผิดศีลธรรม ขออย่าไปนอกใจหรือไปมีชู้ก็แล้วกัน โทษของราคะไม่ค่อยหนักนัก แต่ว่าจะให้เลิกละก็ยากมาก คลายช้า คนลองรักกันแค่ไม่เห็นหน้าไม่กี่วันก็ทำท่าจะตายเอาให้ได้ บางทีตายแล้วเกิดใหม่ใจยังผูกพันกันอยู่เลย จะให้เลิกรักเลิกยาก  โทสะมีโทษมาก แต่คลายเร็ว เวลาโกรธ ขัดใจขึ้นมาฆ่ากันได้ บางทีถึงขนาดฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ทำอนันตริยกรรมก็ยังได้ มีโทษมาก แต่ทว่าคลายเร็ว ถ้าเขามาขอโทษขอโพย เอาอกเอาใจไม่นานก็หาย โทสะคลายเร็วอย่างนี้  โมหะ มีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย ความหลง ความไม่รู้ พระสัทธรรมนี้มีโทษมาก ทำให้เราหลงไปทำบาปตกนรกเสียย่ำแย่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนทนทุกข์กันตลอดมาก็เพราะโมหะนี่เอง และแถมเจ้าโมหะความหลงนี้ยังคลายช้าอีกด้วย คนลงไม่รู้จักบุญจักบาปละก็กว่าจะแก้ได้ ท่านว่าหืดขึ้นคอเลย บางทีก็ต้องรอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไปโน้นยังไม่รู้จะแก้หายหรือเปล่า ข้อควรปฏิบัติ  เราต้องทราบว่ากิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้ มันฟูมันงอกงามได้ เช่น คนบางคนเดิมอาจจะเป็นคนไม่โลภอะไร พอใจอยู่กับของของตน แต่ไม่ระวังตัวเผลอไปหน่อยเดียว มีลาภยศมาล่อมาก ๆเข้า อาจกลายเป็นคนโลภไปทำบาปทำชั่วเพราะความอยากได้ก็ได้ เดิมอาจเป็นคนใจเย็นแต่ถูกยุถูกแหย่มากๆ เจ้ากิเลสก็อาจงอกงาม กลายเป็นคนเจ้าโทสะไปได้เหมือนกัน หรือเดิมก็เป็นคนธรรมดาทั่วไป เข้าใจธรรมะบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง บุญบาปก็แค่สงสัยว่ามีหรือไม่ แต่ไปคบคนพาลเข้า กลายเป็นมิจฉาทิฐิไม่เชื่อบุญเชื่อบาป ปฏิเสธนรกสวรรค์ คิดว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตัวเองเป็นไปได้เหมือนกัน  เราจึงต้องระวังไม่ประมาทในการทำความดี ตั้งใจทำสมาธิภาวนาไปตามลำดับ ไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่งก็คงจะทำใจหยุดใจนิ่งเข้าศูนย์กลางกาย เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ทำพระนิพพานให้แจ้งได้ และกำจัดธุลีกิเลสทั้งหลายให้ร่อนหลุดไปจากใจ เป็นพระอรหันต์ เสวยสุขอันเป็นอมตะได้เหมือนกัน  “ผู้ใดกำจัดโลภะได้แล้ว  ไม่โลภในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ผู้ใดกำจัดโทสะได้แล้ว ไม่ประทุษร้ายในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ผู้ใดกำจัดโมหะได้แล้ว ไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง กิเลสทั้ง๓ ตระกูลย่อมหมดไปจากใจผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกจากใบบัว เหมือนผลตาลสุกหล่นจากขั้ว เหมือนอาทิตย์อุทัย ขจัดความมืดให้หมดไปฉะนั้น”         "ผู้ที่ถูกตีตรวนคุมขังอยู่ เมื่อได้รับอิสรภาพหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ ย่อมมีอิสระเสรี มีความสุขกายสบายใจฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ก็ย่อมมีจิตเกษมฉันนั้น" ภัยของมนุษย์      ทันทีที่เกิดลืมตามาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่างๆ นานาชนิดที่พร้อมจะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเลมหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ  ๑.ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาผจญคอยดักอยู่ตลอดเวลารุมล้อมรอบตัว      ข้างหลัง  คือ   ชาติภัย ภัยจากการเกิด      ข้างขวา  คือ   ชราภัย ภัยจากความแก่      ข้างซ้าย  คือ   พยาธิภัย ภัยจากความเจ็บ      ข้างหน้า  คือ   มรณภัย ภัยจากความตาย  ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ทุกด้านเลยทีเดียว ใคร ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้  ๒.ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น  - ภัยจากคน เช่น ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนที่ไม่ดี คนพาล คนเกเร นับไม่ถ้วน  - ภัยจากธรรมชาติเช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า  - ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ ไปลักขโมย โกงเขาเขาจับได้ถูกขังคุกลงโทษกัน ก็สารพัดล่ะ ฯลฯ ทำไมเราจึงต้องพบกับภัยเหล่านี้      การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านๆๆๆ ชาติมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะถูกผูกด้วย “โยคะ” แปลว่า เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพมีอยู่ ๔ ประการได้แก่  ๑.กามโยคะ คือ ความยินดีพอใจในกามคุณ อยากฟังเพลงเพราะๆ อยากทานอาหารอร่อยๆ ได้สวมใส่เสื้อผ้าสวยๆ นุ่มนวลสวมใส่สบาย อยากเห็นรูปสวยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ได้แฟนสวยๆ มีสมบัติเยอะๆ ความใคร่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้  ๒.ภวโยคะ คือ ความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน คนที่พ้นเชือกเกลียวแรก พ้นกามโยคะมาได้ ก็มาเจอเชือกเกลียวที่ ๒ นี้ คือ เมื่อได้เจอความสุขจากการที่ใจเริ่มสงบ ทำสมาธิจนได้รูปฌานหรืออรูปฌานก็พอใจยินดีติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรือ อรูปพรหม ซึ่งก็ยังไม่พ้นภัย หมดบุญก็ต้องลงมาเกิดเจอภัยกันอีก นี่เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๒  ๓.ทิฏฐิโยคะ คือ ความยึดถือความคิดเห็นที่ผิดๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีจริงบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง ใจยังมืดอยู่ยังไปหลงผิด ความเห็นผิดๆ อยู่ สิ่งนี้ก็เลยเป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๓  ๔.อวิชชาโยคะ คือ ความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย นี่ก็เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๔  ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเหมือนเชือก ๔ เกลียวที่ผูกมัดตัวเราไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารโดยไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดทีเดียว จิตเกษมคืออะไร?  เกษม แปลว่า ปลอดภัย พ้นภัย สิ้นกิเลส มีความสุข  จิตเกษม จึงหมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว โยคะเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เชือกทั้ง ๔ เกลียว ได้ถูกฟันขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง จิตเป็นอิสระเสรี ทำให้คล่องตัวไม่ติดขัด ไม่อึดอัดอีกต่อไป ไม่มีภัยใดๆ มาบีบคั้นได้อีก จึงมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริง คือผู้ที่มีใจจรดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในพระนิพพานตลอดเวลา ซึ่งก็ได้แก่ พระอรหันต์นั่นเอง  จิตของพระอรหันต์นั้น นอกจากจะหมดกิเลสแล้ว ก็ยังทำให้มีความรู้ความสามารถพิเศษอีกหลายประการ เช่น วิชชา๓  วิชชา ๓ คือ ความรู้แจ้ง ความรู้พิเศษอันลึกซึ้งด้วยปัญญา ได้แก่ ญาณ คือ ความหยั่งรู้ ซึ่งเกิดจากการทำสมาธิสุดยอดเข้าถึงธรรมกายคือ  ๑.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติตัวเองได้  ๒.จุตูปปาตญาณ คือ ตาทิพย์ ระลึกชาติคนอื่นได้  ๓.อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้หมดกิเลส อภิญญา ๖  อภิญญา ๖ คือ ความรู้อันยิ่งยวด เหนือความรู้จากการตรองด้วยหลักเหตุผลธรรมดา ได้แก่  ๑.อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่างๆ ย่อ-ขยายตัวได้ หายตัวได้ ฯลฯ  ๒.ทิพยโสต มีหูทิพย์  ๓.เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร  ๔.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้  ๕.จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุ) มีตาทิพย์  ๖.อาสวักขยญาณ ทำกิเลสให้สิ้นไปได้  ในอภิญญา ๖ นี้ ๕ ข้อแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อที่ ๖ เป็นโลกุตรอภิญญา คุณวิเศษเหล่านี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมด้วยตัวเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงด้วยการบอกเล่าหรือสั่งสอนกัน ผู้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นนั้นๆ แล้วจึงจะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง ปฏิสัมภิทาญาณ ๔  ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ ความสามารถพิเศษในการสั่งสอนคนอื่นได้แก่  ๑.อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ เห็นข้อธรรมใดก็สามารถอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร  ๒.ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม สามารถสรุปข้อความได้อย่างกระชับเก็บความสำคัญได้หมด  ๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ คือ แตกฉานเรื่องภาษาทุกภาษาทั้งภาษาของมนุษย์และสัตว์ สาารถเข้าใจได้  ๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบปฏิภาณดี สามารถอธิบายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี ตอบคำซักถามได้แจ่มแจ้ง  การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากมายถึงปานนี้ เราทุกคนจึงควรตั้งใจฝึกฝนตนเองตามมงคลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำอย่างเอาจริงเอาจังตั้งใจ ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้รู้จริงทำได้จริงผู้หนึ่ง มีจิตเกษมปลอดภัยจากภัยต่างๆ และมีความรู้พิเศษสุดยอด ตามเยี่ยงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้ “เกิดมาว่าจะหาแก้ว พบแล้วไม่กำ จะเกิดมาทำอะไร อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร จะเรียกว่านิพพานก็ได้” (โอวาทพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ)     สรุปคำอธิบายหมู่มงคล       มงคลสูตรทั้ง ๓๘ ข้อนั้น รวมได้เป็น ๑๐  หมู่ ๕ หมู่แรกเป็นข้อปฏิบัติในการสร้างชีวิต ส่วน ๕ หมู่หลังเป็นการฝึกใจโดยตรง  ในการศึกษามงคลชีวิตให้เข้าใจง่าย ให้เราสมมุติตัวเองว่าเป็นพ่อแม่และถามตัวเองว่าเราอยากจะให้ลูกเราเป็นคนมีคุณสมบัติอย่างไรหรือสมมุติว่าเราเป็นพี่ เราอยากให้น้องเราเป็นคนอย่างไร หรือสมมุติว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ เราอยากจะให้พนักงานของเรามีคุณสมบัติอย่างไร  เราจะพบคำตอบว่าคนที่เราต้องการ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่สมบูรณ์นั้นคือ     ๑. ต้องเป็นคนดี พวกคนเกเร เกะกะเกมะเหรกไม่มีใครชอบไม่มีใครต้องการ ทุกที่ต้องการแต่คนดี     ๒. ต้องเป็นคนที่มีความพร้อมในการฝึกตัวเอง มีปัจจัยสนับสนุนในการทำงาน ในการสร้างความดี     ๓. ต้องเป็นคนมีประโยชน์ มีฝีมือ ทำงานได้ ทำงานเป็น พูดเป็นไม่ใช่เป็นคนมี ไฟแรง แต่ฝีมือไม่มี  จับงานอะไรล่ะก็พังทุกที อย่างนั้นไม่มีใครต้องการ     ๔. ต้องเป็นคนมีครอบครัวดี ครอบครัวอบอุ่นสามัคคี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน และมีฐานะมั่นคง     ๕. ต้องเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาแต่ประโยชน์ตัวเอง แต่รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม  ทั้ง ๕  ข้อนี้เป็นคุณสมบัติของคนที่ใคร ๆก็ต้องการ แต่เราก็ไม่รู้ว่าทำอย่างไรคุณสมบัติเหล่านี้จึงจะเกิดขึ้นได้ ความจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราไว้แล้ว  ซึ่งก็คือหลักมงคลชีวิตนั่นเอง  มงคลสูตร  ทั้ง ๓๕ ข้อนั้นรวมได้เป็น ๑๐ หมู่  ๕ หมู่แรกเป็นข้อปฏิบัติในการสร้างชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องพบต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ส่วน ๕ หมู่หลังเป็นการฝึกใจโดยตรง ใครทำตามหลักมงคล ๕ หมู่ แรกละก็ คุณสมบัติ ๕ ข้อที่เราต้องการก็จะเกิดขึ้นมาดังนี้ มงคลหมู่ที่ ๑ ฝึกให้เป็นคนดี มงคลที่ ๑ ไม่คบคนพาล มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต มงคลที่ ๓ บูชาบุคคลที่ควรบูชา นิสัยของคนเรา จะมาจากสิ่งแวดล้อม คนรอบตัว เราคบกับคนอย่างไรบูชายกย่องใคร เราก็จะค่อย ๆ  มีนิสัย ไปตามเขา ใครคบคนขี้เหล้าเป็นเพื่อนสนิท ไม่ช้าก็จะกลายเป็นไอ้ขี้เมาตามไป เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการจะเป็นคนดีจึงต้อง ๑.ไม่คบคนพาล  เป็นการป้องกันไม่ให้นิสัยไม่ดี ความเห็นผิด ๆ ทั้งหลายจากคนพาล มาติดต่อเราเข้า และป้องกันไม่ให้ถูกคนพาลกลั่นแกล้งทำร้ายเอาด้วย ๒. คบบัณฑิต เพื่อถ่ายทอดเอานิสัยดี ๆ คุณธรรมต่าง ๆ มาสู่ตัวเรา ๓. บูชาบุคคลที่ควรบูชา เพื่อประคับประคองนิสัยที่ดีในตัวให้เจริญงอกงามขึ้น บุคคลที่ควรบูชาจะเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดีให้เราดู เป็นหลักใจของเราทีเดียว มงคลหมู่ที่ ๒  สร้างความพร้อมในการฝึกตัวเอง มงคลที่ ๔ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม มงคลที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ  คนเราทำไมจึงมีความแตกต่างกัน คนอายุเท่ากันแท้ ๆ แต่ทำไมฝีมือไม่เท่ากัน ทำไมบางคนมีความรู้สูง ประสบความสำเร็จในชีวิตใหญ่โต  แต่บางคนทำไมชีวิตเขาล้มเหลว เป็นเพราะอะไร นั่นเป็นเพราะเขาฝึกตัวเองไม่เท่ากัน แล้วทำไมจึงฝึกตัวเองไม่เท่ากันล่ะ ก็เป็นเพราะว่าเขามีความพร้อม มีปัจจัยสนับสนุนในการฝึกตัวเองไม่เท่ากัน อะไรนะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฝึกตัวเอง คนที่จะฝึกตัวเองได้ดีนั้น  จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ๑.ต้องอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม รู้จักเลือกและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้พอเหมาะแก่ตน โบราณท่านเปรียบไว้ว่า  ต้นโพธิ์ต้นไทร หากปลูกในกระถางก็กลายเป็นไม้แคระ แต่ถ้าเราไปปลูกในที่ดินดีล่ะก็ ไม่นานโตเป็นไม้ใหญ่ไม่รอบทีเดียว โอกาสเป็นคนดีถ่ายทอดคุณธรรมจากท่านได้สะดวก จะหาความรู้จะฝึกฝีมือจะฝึกวินัย ฝึกพูด ก็หาคนสอนง่าย บ้านช่องมีอยู่สะดวกสบาย อาหารการกินอุดมสมบูรณ์  ก็ฝึกตัวเองได้ง่าย ๒. ต้องมีบุญวาสนามาก่อน คือ  สร้างบุญมาดี ทั้งบุญเก่า บุญใหม่  บุญเก่าที่ทำมาในอดีตชาติ ก็ทำให้เป้นคนมีร่างกายแข็งแรง สติปัญญาเฉลียวฉลาด ไหวพริบปฏิภาณไว อารมณ์แจ่มใสเบิกบานมีบุญคอยส่งอยู่ จะร่ำเรียนเขียนอ่าน ทำการงานอะไรก็ก้าวหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น  บุญใหม่ที่ทำในชาตินี้ การตั้งใจขยันหมั่นเพียร หมั่นทำงาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะคอยช่วยหนุนอีกชั้นหนึ่ง  ใครที่บุญเก่ามี แต่บุญใหม่ไม่ยอมทำ  ก็มีโอกาสพลาดได้เหมือนกันฉลาดนักแต่ขี้เกียจ สอบตกมาก็เยอะแยะแล้ว ถ้าบุญเก่าถึงจะน้อย  แต่ขวนขวายสร้างบุญใหม่ ก็ยังเอาตัวรอดก้าวหน้าได้ เช่น ปัญญาปานกลางแต่ขยันได้เกียรตินิยมก็มีตัวอย่างให้เห็น  ยิ่งถ้าใครบุญเก่าก็ดี บุญใหม่ก็ขวนขวายทำ ยิ่งก้าวหน้าได้เร็ว เป็นทวีคูณ ฝึกตัวเองได้ง่าย ๓. ต้องตั้งตนชอบ คือมีเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องเช่น จะเป็นครู  เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เป็นนักธุรกิจ หรืออะไรก็ได้ แแต่ก็ต้องมีเป้าว่าจะตั้งฐานะให้ได้  โดยอาชีพที่สุจริต ไม่เป็นคนโลเล ปล่อยตัวเองไปตามดวง วันนี้อยากเป็นแพทย์ พรุ่งน้เปลี่ยนใจเป็นวิศวกรดีกว่า มะรืนเปลี่ยนใจอีกแล้วจะเป็นนักธุรกิจ  อย่างนี้ล้มเหลวทั้งชาติ  คนที่ตั้งตนชอบจะทำให้มีเป้าหมาย จะขวนขวายหาความรู้ฝึกฝีมืออะไรก็ทำไปตามเป้าที่วางเอาไว้  เมื่อมีเป้าหมายอย่างนี้แล้วก็ย่อมมีความกระตือรือร้นสามารถทุ่งเทพลังความสามารถของตนเพื่อฝึกตัวเองให้บรรลุเป้านั้นได้อย่างเต็มที่ ไม่เปะปะจะมีความพร้อมในการฝึกตัวเองสูง มงคลหมู่ที่ ๓ ฝึกตนให้เป็นคนมีประโยชน์ มงคลที่  ๗ เป็นพหูสูต มงคลที่ ๘ มีศิลปะ มงคลที่ ๙ มีวินัย มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต  สรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกมีมากสุดคณนา แต่มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐสุด เพราะสามารถฝึกตนให้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคมได้เต็มที่  คนมีประโยชน์ ที่ใคร ๆ ต้องการนั้น ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ๑.ต้องไม่เป็นคนโง่ เราจึงต้องฝึกตัวเองให้เป็นพหูสูต ใฝ่หาความรู้ "ฉลาดรู้" ๒. ต้องไม่เป็นคนชนิดความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด มีแต่ความรู้แต่พอให้ทำอะไรทำไม่ได้สักอย่าง ทำไม่เป็น เราจึงต้องฝึกตัวเองให้มีศิลปะ ทำได้ ทำเป็น สามารถนำเอาความรู้มาใช้งานได้จริง ๆ "ฉลาดทำ" ๓. ต้องไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์  เอาแต่ใจตัวเอง เราจึงต้องฝึกตัวเองให้เป็นคนมีวินัย เคารพต่อกฏระเบียบของหมู่คณะ และวินัยของตนเองรู้จักควบคุมตนเองให้นำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ถูก "ฉลาดใช้" ๔.ต้องไม่เป็นคนปากเปราะเราะราย  คนเราต่อให้ฝีมือดีแค่ไหนมีความรู้ความสามารถสูงส่ง แต่ถ้าพูดไม่เป็นเข้าที่ไหนบ่อนแตกที่นั่น พูดจาไม่เข้าหูคน  ก็ไม่มีใครต้องการ เราจึงต้องฝึกตัวเองให้มีวาจาสุภาษิต รู้สึกควบคุมวาจา พูดเป็น  "ฉลาดพูด" มงคลหมู่ที่ ๔  บำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา มงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร มงคลที่ ๑๓ สงเคราะห์ภรรยา (สามี) มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง ผู้ที่จะมีครอบครัวดีได้ จะต้อง ๑. บำรุงบิดามารดา มีความกัตัญญู รู้คุณพ่อแม่ เลี้ยงดูปรนนิมัติท่านให้ได้รับความสุขสบาย ๒. เลี้ยงดูบุตร รู้จักวิธีเลี้ยงลูกให้ลูกเป็นคนดี เป็นลูกแก้วนำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่พ่อแม่วงศ์ตระกูล ๓. สงเคราะห์ภรรยา (สามี) สามีภรรยาจะต้องรู้จักวิธีปฏิบัติตัวต่อกัน มีความเกรงอกเกรงใจ เคารพให้เกียรติกัน ไม่นอกใจกัน นี่จะเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้อบอุ่นแน่นแฟ้น ครอบครัวจะมีแต่ความร่มเย็น เพียงย่างเท้าเข้าบ้านก็มีความสุขใจแล้ว  เข้าบ้านก็เหมือนขึ้นสวรรค์ ๔. ทำงานไม่คั่งค้าง ต้องทำงานไม่คั่งค้างเพราะ  ครอบครัวก็ต้องมีค่าใช้จ่าย จะเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เลี้ยงลูก  เลี้ยงภรรยา ก็ต้องใช้สตางค์ทั้งนั้น เราจึงมีหน้าท่ก่อร่างสร้างตัว ด้วยการทำงานไม่คั่งค้าง ต้องทำให้เสร็จ ทำให้สำเร็จ จะได้สร้างฐานะความเป็นปึกแผ่นแก่ตนเองและครอบครัว  ใครปฏิบัติได้ครบ ๔ ข้อนี้ ครอบครัวก็จะมั่นคงมีความสุข มงคลหมู่ที่ ๕ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม มงคลที่ ๑๗ สงเคราะห์ญาติ มงคลที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ  นอกจากการปรับปรุงครอบครัวของเราให้มีความสุข มีความอบอุ่นมีฐานะมั่นคงแล้ว  เราทุกคนยังมีหน้าที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมช่วยเหลือส่วนรวมด้วย โดย ๑. บำเพ็ยทาน คือ การให้ รู้จักสละทรัพย์สิ่งของที่เหมาะสมของตนแก่นที่ผู้ที่สมควรได้รับ เป็นการกำจัดความตระหนี่ สร้างสมบุญกุศล ทำให้ใจของเราสูงขึ้น และเป็นการสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษย์ชาติ ๒.ประพฤติธรรม บางคนอาจนึกสงสัยว่า "เอ๊ะ ทำไมประพฤติธรรม ต้องมาอยู่ตรงหมู่นี้ด้วย ไม่เห็นเกี่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ผิดลำดับหรือเปล่า" คำตอบก็คือ "เปล่า" พระองค์เรียงลำดับไว้ถูกต้องเหมาะสมทุกประการ งามพร้อมจริง ๆ การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมนี้ ถ้าขาดการประพฤติธรรมแล้วละก็จะไม่สมบูรณ์ไปได้เลย รายละเอียดจะยกไว้กล่าวตอนท้าย ๓.สงเคราะห์ญาติ คือช่วยเหลือทั้งญาติสายโลหิตเดียวกัน ทั้งพี่ ป้า น้า อา ลุง หลาน ฯลฯ รวมทั้งผู้รู้จักคุ้นเคยกัน ญาติร่วมจังหวัดญาติร่วมประเทศเดียวกัน  ญาติร่วมโลก  เป็นการสร้างเสริมความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นของสังคมให้เกิดขึ้น ๔.ทำงานไม่มีโทษ อันนี้ชื่อก็บอกตรงตัวอยู่แล้ว ทำงานไม่มีโทษก็หมายถึงทำงานมีประโยชน์คือ งานสาธารณกุศล งานสาธารณประโยชน์ งานสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ นั่นเอง   คราวนี้ เรามาดูกันว่า การประพฤติธรรมทำไม่ต้องอยู่ในมงคลหมูนี้  ประพฤติธรรม ก็คือ การปฏิบัติตามกุศลกรรมบท ๑๐ ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด  ฯลฯ  คนเราทั่วไปปกติเราก็ว่าเราเป็นคนดี รักษาศีลได้เป็นคนใจเย็นคนหนึ่งแต่พอมาทำงานเพื่อสังคมเข้า เนื่องจากเป็นงานของส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมดังนั้นก็มักจะมีผู้ร่วมงานมาก พอคนมากก็มักจะมีความเห็นแตกต่างกันบ้างมีผู้ไม่หวังดีมาคอยขัดขวางงานบ้าง จากเดิมว่าเป็นคนใจเย็นล่ะ มันก็ชักจะมีอารมณ์ขึ้นมา ถ้าไม่ได้ประพฤติธรรมล่ะก็ ประเดี๋ยวโกรธหนักเข้า เลยฆ่าทิ้งเสียเลยเราจึงจำเป็นต้องมีกรรมบถ ข้อ ๑ คือ  ไม่ฆ่าสัตว์ จะต้องแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีไม่แก้ปัญหาด้วยการฆ่า  หรืองานส่วนรวมผลประโยชน์มันก็มีมาก พอเป็นรัฐมนตรีเข้าเขาเอาเช็คให้บอกนเซ็นชื่อแกร็กเดียว เช็คเงินสด  ๑๐ ล้านบาทเอาไปเลยเดิมก็ว่าเป็นคนรักษาศีลล่ะ แต่ถ้าไม่ได้ประพฤติธรรมล่ะก็มันก็ไม่แน่เหมือนกันของมันยวนใจยั่วใจมีอยู่มาก  หรืออีกอย่าง งานเพื่อส่วนรวม มันก็ต้องทำกันหลายคนทั้งหญิงทั้งชาย ทำงานขลุกกัน ถ้าไม่ได้ประพฤติธรรมเดี๋ยวก็เผลอ ปล่อยใจไปยุ่งเกี่ยวกันเข้า มีเมียน้อยบ้าง มีชู้บ้าง บ้านแตกครอบครัวระส่ำระสาย  ในการทำงานเพื่อส่วนรวม มีสิ่งยั่วใจให้ทำผิดมากเหลือเกิน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงสั่งไว้ว่า ต้องประพฤติธรรม เราจะเห็นได้ว่าคำสอนของพระองค์สมบูรณ์จริง ๆ งานพร้อมบริบูรณ์ไม่มีที่ติ ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายจะหาคำสอนใครในโลกได้อย่างพระองค์ไม่มีอีกแล้ว   และที่เกิดปัญหากันปัจจุบัน เราคงเคยได้ทราบบ้าง ประเดี๋ยวนักสังคมสงเคราะห์ ลูกไปติดเฮโรอีน กลายเป็นวัยรุ่นรถซิ่งบ้าง คนเกเรบ้าง นั่นก็เพราะไม่ทำตามขั้นตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ยังบำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัวได้ไม่ดี ลูกตัวเองยังไม่รู้จักเลี้ยง จะไปช่วยชาวบ้านท่าเดียว  ผลสุดท้ายเลยจอด  หรือที่มีข่าวเดี๋ยวนักสังคมสงเคราะห์คนนั้นคนนี้ หย่ากับสามีหรือภรรยาเสียแล้ว เพราะไปมีชู้ นี่ก็เพราะไม่ทำตามขั้นตอนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ประพฤติธรรมแล้วจะไปสงเคราะห์สังคมเลยพลาด  มงคล ๕ หมู่แรกนี้เป็นเรื่องของการดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ทำให้ตัวของเราเป็นคนดีที่ใคร ๆ หรือสังคมไหน ๆ ก็ต้องการ  สำหรับมงคล ๕ หมู่หลัง จะเป็นเรื่องของการฝึกใจโดยเฉพาะจนกระทั่งหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ทีเดียว ดังนี้ มงคลหมู่ที่ ๖ ปรับเตรียมสภาพใจให้พร้อม มงคลที่ ๑๙ งดเว้นจากบาป มงคลที่ ๒๐ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม  ในการปรับเตรียมสภาพใจให้พร้อม เพื่อจะฝึกใจให้มีคุณธรรมมากขึ้นมีกิเลสเบาบางลงตามลำดับนั้น เราต้องทำดังนี้ ๑. งดเว้นจากบาป คนที่ยังทำบาปสารพัดอยู่ ไม่ยอมเลิกไม่มีทางที่จะฝึกใจได้เลย เพราะบาปนั้นจะมาหุ้มใจ ทำให้ใจเสียคุณภาพรองรับธรรมะไม่ได้ ดังนั้นสำหรับผู้ต้องการฝึกใจ อะไรที่เป็นความชั่วที่ทำแล้ว ทำให้ใจของเราเศร้าหมอง เสียคุณภาพอันดีไป ที่เคยทำอยู่ก็จะต้องงดเสีย ที่ไม่เคยทำก็จะต้องละเว้นไม่ยอมทำ โดยเด็จขาด ๒.สำรวจจากการดื่มน้ำเมา เพราะของมันเมาเสพย์ติดทั้งหลายจะทำให้เราขาดสติ  และใจที่ขาดสตินั้นก็ไม่สามารถฝึกได้ ใครไม่เชื่อจะลองดูก็ได้  ลองไปเทศน์ให้คนเมาเหล้าฟัง ดูซิว่าเขาจะรู้เรื่องไหม ๓.ไม่ประมาทในธรรม ผู้ที่ประมาทมักจะปล่อยชีวิตไปตามยถากรรมคิดแต่ว่าไม่เป็นไร "ไม่เป็นไร เรายังอายุน้อยอยู่รอแก่ ๆ ค่อยทำความดี" หรือ "ไม่เป็นไรหรอกน่า เรายังแข็งแรงทำเมื่อไรก็ได้" หรือ "ไม่เป็นไรหรอกน่าเรายังมีชีวิตอีกนานทำเมื่อไรก็ได้" เขาเหล่านี้เมาแล้วในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ในความไม่มีโรค ในความคิดว่ายังไม่ตาย จึงไม่ยอมทำความดี  ส่วนผู้ที่ไม่ประมาทในธรรม จะคิดเสมอว่า  คนเราอาจป่วยขึ้นมาเมื่อใด หรือตายเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้าไม่มีการบอกก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ประมาท  รีบขวนขวายสร้างบุญ สร้างกุศล ตั้งใจฝึกตนเอง ซึ่งใจของคนอย่างนี้จะมีความกระตือรือร้น พร้อมที่จะรับการฝึกกุศลธรรมทั้งหลายสามารถเจริญขึ้นได้โดยง่าย มงคลหมู่ที่ ๗ การแสวงหาธรรมเบื้องต้นใส่ตัว มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตามกาล  เมื่อเราเตรียมสภาพใจของเราไว้พร้อมแล้วจากมงคลหมู่ที่ ๖ เมื่อถึง มงคลหมู่ที่ ๗ นี้ ก็เริ่มลงมือแสวงหาธรรมะเบื้องต้นใส่ตัวทีเดียว คราวนี้ผู้จะแสวงหาธรรมะใส่ตัวได้ ก็จำเป็นต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ๑. ต้องมีความเคารพ รู้และตระหนักถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของผู้อื่น ใครมีข้อดีอะไรก็รู้ ทำให้รู้ว่าจะเข้าไปหาคุณธรรมได้จากใคร  คนไม่มีความเคารพ จะเป็นคนที่มองใครก็ไม่เห็นมีอะไรดี เลวไปหมดก็เลยไม่สามารถหาธรรมะใส่ตัวได้ เพราะเมื่อมองไม่เห็นข้อดีของใครแล้วก็เลยไมรู้จะไปเอาธรรมะจากใคร ๒. ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อวดดื้อถือดี ไม่เบ่ง ไม่ยโสโอหัง รู้จักค่าของตนเอง  ตรงตามความเป็นจริง พร้อมที่จะน้อมตัวลงรับเอาคุณความดีจากผู้อื่นมาใส่ตัวได้  คนที่มีความเคารพ รู้ว่าคนอื่นมีดีอะไร ถ้าหากขาดความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้ว  ใจเขาจะพองขึ้นแข่งทันทีว่า ถึงเอ็งจะแน่แต่ข่าก็หนึ่งเหมือนกันเขาจะคอยแต่เบ่งคิดว่าตัวเก่งกว่าทุกทีก็เลยรับคุณธรรมของใครไม่ได้เพระาคิดว่าตัวเก่งกว่าเสียแล้ว  เราดูมหาสุมทรเป็นที่รวมของน้ำได้ ก็เพราะพื้นผิวอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำลำธารทั้งหลาย ถ้าเมื่อใดมหาสมทุรยกตัวสูงขึ้น  น้ำก็จะไหลย้อนกลับรับน้ำไม่ได้อีกต่อไป คนเราก็เช่นกันถ้าขาดความอ่อนน้อมถ่อมตนอวดเบ่ง ยกใจตัวเราสูงขึ้นกว่าแล้ว ก็จะรับเอาคุณธรรมจากใครไม่ได้ ๓. ต้องมีความสันโดษ เป็นคนรู้จักพอ รู้จักประมาณ สุขใจพอใจกับของของตน ทำให้จิตใจสงบ สามารถรองรับคุณธรรมจากผู้รับได้เต็มที่  คนที่ขาดสันโดษ ใจของเขาจะเต็มไปด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวายกระหายอยากได้ มีสินล้านก็ไม่พอ จะเอาร้อยล้าน มีร้อยล้านก็ไม่พอจะเอาพันล้าน หมื่นล้าน ไม่รู้จักอิ่ม ซึ่งใจของคนชนิดนี้ไม่สามารถจะลองรับคุณธรรมได้ ไปฟังพระเทศน์เท่าไรก็ไม่ซึมเข้าไปอยู่ในใจ ลืมตา หลับตา  เขามองเห็นแต่ตัวเลข คิดแต่ว่าอยากรวย ๆ ธรรมะนึกไม่ออก ๔.ต้องมีความกตัญญู ใครเคยทำคุณอะไรไว้ให้ตัวก็ตระหนักซาบซึ้งถึงบุญคุณ พยายามหาทางตอบแทนทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู น่านับถือใคร ๆ ก็เมตตาอยากถ่ายทอดวิชาความรู้ คุณความดีต่าง ๆให้  เพราะแม้เราจะมีความเคารพ  รู้ข้อดีคนอื่นรู้เป้าแล้วว่าจะไปถ่ายทอดเอาคุณธรรมนั้น ๆ ได้จากใคร มีความถ่อมตน ใจเราก็พร้อมจะน้อมไปรับคุณธรรมนั้น  ๆ ได้จากใคร มีความถ่อมตน ใจเราก็พร้อมจะน้อมไปรับคุณธรรมนั้น  และมีความสันโดษ คือใจก็สงบพอที่จะรับเอาธรรมะนั้น ๆ มาใตร่ตรองให้เข้าใจได้ แต่ก็ยังไม่แน่นะว่าเขาจะรับเอาธรรมะนั้น ๆ  มาไตร่ตรองให้เข้าใจได้ แต่ก็ยังไม่แน่นะว่าเขาจะยอมสอนเราหรือเปล่า  เราต้องเป็นคนมีความกตัญญูรู้คุณคนด้วย คนอื่นจึงจะเมตตาสอนให้เรา ๕.ฟังธรรมะตามกาล เมื่อฝึกตัวเองมาครบ ๔ ข้อข้างต้นแล้ว ก็ไปฟังธรรมะจากผู้ทรงคุณธรรมทีเดียวในทุก  ๆ  โอกาสที่อำนวยให้  และอาศัยธรรมะที่ฟังนั้น ๆ  มาเป็นกระจกส่องใจเราให้เห็นว่าตัวเรามีคุณธรรมมากน้อยเพียงใด มีข้อบกพร่องตรงไหน จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น มงคลหมู่ที่ ๘ การแสวงหาธรรมะเบื้องสูงใส่ตัวให้เต็มที่ มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย มงคลที่ ๒๙ เห็นสมณะ มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล เมื่อเราฝึกจนได้คุณธรรมเบื้องต้นต่าง ๆ จากการฟังธรรมตามกาลแล้ว  ก็ต้องฝึกหาคุณธรรมเบื้องสูงต่อไป โดย ๑.มีความอดทน ทั้งทนแดด ทนฝน ทนร้อน ทนหนาว ทนความปวดเหมื่อยทางกาย ทนต่อความเจ็บใจ ทนต่ออำนาจของกิเลสทนสารพัดอย่างล่ะ จะเอาธรรมะต้องทนได้ ๒.เป็นคนว่าง่าย  คือ ไม่ว่าใครจะสั่งสอนด้วยคำพูดอย่างไร  ไพเราะหรือหยาบคายก็ตาม ต้องทนได้ ไม่โต้เถียงไม่ศอกกลับ น้อมรับฟังด้วยดพูดง่าย ๆ คือ ต้องสามารถอดทนต่อคำสั่งสอนได้นั่นเอง  ท่านจะจ้ำจี้จ้ำไชอย่างไรต้องทนได้ ๓.เห็นสมณะ คือ   ไปหาตัวอย่างที่ดีดู   หาพระภิกษุผู้ทรงคุณธรรม สงบกาย สงบวาจา  สงบใจ  ธรรมะหลาย ๆ ข้อ ถ้าอธิบายธรรมดา ๆ ล่ะก็เข้าใจยากไม่ค่อยจะยอมเชื่อ  แต่พอเห็นสมณะ เห็นตัวอย่างแล้วมันเชื่อโดยไม่ต้องอธิบาย เช่น การรักษาศีล พระสอนว่าศีลทำให้เกิดสุข อธิบายจนคอจะแตกเขาก็ยังไม่ยอมเชื่อ เถียงคอเป็นเอ็นว่าจะสุขไปได้อย่างไร  มีขอจำกัดสารพัด สู้คนไม่มศีลไม่ได้สุขกว่า จะกินเหล้าก็กิน  จะลักขโมยก็ลัก  จะบี้มดตบยุงตามสบาย  สุขกว่าเยอะ  แต่พอเห็นสมณะเข้าเท่านั้นแหละได้คิด "เอ! ท่านก็รักษาศีลนะ แล้วดูซี หน้าตาผิวพรรณท่าน ก็ผ่องใส  อิ่มเอิบดูมีความสุขจริง ๆ" เท่านี้แหละ  ไม่ต้องอธิบาย  มันเขาใจมันเชื่อเลยการเห็นสมณะดีอย่างนี้ ทำให้เข้าใจธรรมะมากขึ้น ๔. สนทนาธรรมตามกาล  คือ เมื่อเห็นตัวอย่างจากสมณะแล้ว เข้าใจธรรมะมากขึ้น แต่ถ้าหากยังมีข้อสงสัยอะไร  ก็ให้ไปสนทนาซักถามจากท่านจนเข้าใจกระจ่างแจ้ง หาธรรมะเบื้องสูงทั้งหลายใส่ตัวให้เต็มท่  เราจะเห็นว่าในมงคลหมู่ที่ ๗ การหาธรรมะเบื้องต้นใส่ตัวจากการฟังธรรมตามกาล เนื่องจากแค่ฟัง  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้เราเตรียมแต่ การมีความเคารพ มีความถ่อมตน มีความสันโดษ และมีกตัญญูเท่านั้น  พอมาถึงมงคลหมู่ท่ ๘นี้ จะหาธรรมะเบื้องสูงใส่ตัวจากการสนทนาธรรมตามกาล พอต้องสนทนาเท่านั้นแหละ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้เราเตรียมตัวเพิ่มขึ้นมาอีก ๒ ข้อ สั่งว่าเจ้าจะต้องมีความอดทนเสียก่อนนะทั้ง  ทนแดด ทนร้อน ทนหนาว ทนต่อความเจ็บใจ รวมทั้งต้องเป็นคนว่าง่าย คือต้องทนต่อคำสั่งสอนให้ได้เสียก่อน จึงค่อยไปหาสมณะ แล้วสนทนาธรรมกับท่านไม่อย่างนั้นละก็ เดี๋ยวท่านสอนธรรมะลึก ๆ อะไรให้ เผอิญมันขัดกับกิเลสในตัวเรา ท่านจ้ำจ้จ้ำไชหนักเข้า เลยพาลโกรธปึงปังไป  แล้วจะพลาดถ้าฝึกความอดทน ความว่าง่ายมาไม่พอ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางตำแหน่งมงคลต่าง ๆ ได้เหมาะเจาะเหลือเกิน ยิ่งเราศึกษามากเท่าใด ก็จะยิ่งซาบซึ่งในพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มากขึ้นเพียงนั้น มงคลหมูที่ ๙ การฝึกภาคปฏิบัติเพื่อกำจักกิเลสให้สิ้นไป มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ มงคลที่ ๓๓ เห็นอริยสัจ มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อจบมงคลหมู่ที่  ๘ คือว่าด้านทฤษฎีต่าง ๆ เราได้เข้าใจเต็มที่แล้ว มงคลหมู่ที่ ๙ นี้จะเป็นการลงมือปฏิบัติฝึกฝนอย่างจริงจังเพื่อกำจักกิเลสให้หมดไป โดย ๑.บำเพ็ญตบะ ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อนทนอยู่ไม่ได้ ต้องเผ่นหนีไปจากใจของเรา ธุดงควัตรมีกี่ข้อ ๆ ตั้งใจสมาทานรักษาเต็มที่ทีเดียว ๒.ประพฤติพรหมจรรย์ คือ  เมื่อบำเพ็ญตบะจนกิเลสเบาบางลงไปแล้ว ก็ต้องรีบปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ ลงในใจก่อนที่กิเลสจะฟูกลับขึ้นมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องยกใจออกจากกาม อันเป็นที่มาของความเสื่อม และจะนำความทุกข์ นำกิเลสมาสู่ใจของเราอีก ๓.เห็นอริยสัจ คือ ตั้งใจปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิต่อไปอีกอย่างยิ่งยวดจนเข้าถึงธรรมกายและเห็นอริยสัจ คือ เห็นความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิตด้วยธรรมกาย ๔.ทำพระนิพพานให้แจ้ง คือ เมื่อเห็นอริยสัจแล้ว ก็ตั้งใจทำสมาธิต่อไป ประคองใจหยุดนิ่งเข้ากลางธรรมกายไปเรื่อย  ๆ ให้ใจละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นจนทำพระนิพพานให้แจ้งได้ กิเลสต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ร่อนหลุดไปจากใจตามลำดับ ๆ จนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ในที่สุด มงคลหมู่ที่ ๑๐   ผลจากการปฏิบัติจนหมดกิเลส มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม มงคลที่ ๓๖  จิตไม่โศก มงคลที่ ๓๗ จิตปราศจากธุลี มงคลที่ ๓๘ จิตเกษม  เมื่อเราอาบน้ำชำระล้างร่างกายเรยบร้อยแล้ว ก็จะมีผลตามมาซึ่งเราอาจบรรยายได้หลายลักษณะ เช่น ไม่สกปรก ไม่เลอะเทอะ ไม่เหนียว เหนอะหนะ สะอาดสดชื่นผ่องใส  ในทำเดียวกัน เมื่อเราปฏิบัติฝึกฝนตนเองจนกิเลสต่าง ๆ ร่อนหลุดไปจากใจแล้ว  เราก็อาจบรรยายสภาพจิตของเราในขณะนั้นได้หลายลักษณะเช่น ๑.จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คือ มีความหนักแน่นขุนเขาไม่ยินดียินร้ายในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขหรือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์อีกต่อไป ๒.จิตไม่โศก  คือ หลุดพ้นจากยางเหนียวแห่งบ่วงสิเนหา ไม่ลุ่มหลงในความรักอีกต่อไป มีใจที่อิ่มเอิบ  ไม่แห้งผาก ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ๓.จิตปราศจากธุลี คือ กิเลสต่าง ๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียดร่อนหลุดไปจากใจหมด เหมือนหยาดน้ำตกจากใบบัวอย่างนั้น ๔.จิตเกษม คือ มีความสุข ปลอดภัยจากภัยอันตราย ทั้งหลายอันเนื่องจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสารสามารถตัดโยคะ เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพทั้งสาม ได้ขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง  จึงมีอิสระเสรีเต็มที่มีใจที่สะอาดผ่องใส บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง เข้าพระนิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย