มงคล ๓๘ ธรรมคู่ชีวิต บทนำ ในแต่ละวัน-เวลา ที่ผ่านมาถึง ชีวิตคนเราแต่ละผู้แต่ละนาม ย่อมต้องมีเรื่องต้องคิดต้องทำมากมาย ใครมีอุปนิสัยอย่างไร ชอบใจในอะไร ก็แสดงออกมาทางวาจาบ้าง ทางกายบ้าง ตามอุปนิสัยและควาามชอบใจของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่ตนแก่คนอื่นบ้าง เป็นโทษแก่ตนแก่คนอื่นบ้าง สำหรับคนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจในชีวิตความเป็นจริง ไม่ได้รู้คำสอนในพระศาสนา จึงดำเนินชีวิตผิดทาง ต้องประสพกับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งที่ได้เกิดมาในพระศาสนา แล้วมิได้นำหลักธรรมะมาน้อมใช้ในวิถีชีวิต มงคล ๓๘ คงเป็นส่วนหนึ่งที่อาจมีส่วนเกื้อกูล และเป็นประโยชน์ต่อท่านทั้งหลาย ขอธรรมะจงคุ้มครอง ปกป้องให้ท่านและครอบครัว มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดไป โก๋ ๒๐๐๐ ปี บทที่ ๑ คบคนดี คบคนดี มีวิชา ได้อาศัย คบคนพาล พาบรรลัย ห่างไกลหนา คบบัณฑิตย์ คิดประเสริฐ เกิดปัญญา คบคนว่า ให้ดูหน้า ภาษาใจ คบมิตรดี ย่อมสร้างศรี ชีวีสวย คบคนด้วย เด่นมุมมอง ผุดผ่องใส คบคนเลว ย่อมตกเหว อันเปลวไฟ คบคนให้ คบคนดี มีสุขเอย คนเราเกิดมาแล้วไม่ได้อยู่คนเดียว มีความผูกพันอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต้องพึ่งพาอาศัยคบหาช่วยเหลือกันและกัน เพื่อสนับสนุนให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เพราะคนเราที่รวมกันเป็นกลุ่มมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เพื่อให้ชีวิตเป็นไปด้วยดี จึงต้องเลือกคบแต่คนดี คุณสมบัติของคนดีนั้นก็คือ มีปัญญาดี คิดเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรและทำเรื่องอะไร ก็เป็นไปในเรื่องที่ดีมีประโยชน์ ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน เป็นคนรู้จักเหตุรู้จักผล มีเมตตากรุณาประจำใจ ช่วยสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่คนอื่นเหมือนญาติที่รัก แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ในเวลามีภัยก็เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ คนดีนั้นแม้ถูกคนอื่นว่ากล่าวตักเตือนก็ยอมรับในเหตุผลด้วยดี เมื่อคบกับคนดีแล้ว ย่อมมีแต่ความดีไม่มีความชั่วเลย จะได้ปัญญาความรอบรู้ที่ไม่อาจหาได้จากบุคคลอื่น จะไม่เศร้าโศกในท่ามกลางกลุ่มคนผู้เศร้าโศก ย่อมรุ่งเรืองในท่ามกลางหมู่ญาติ มีผลให้ได้รับประโยชน์สุขตลอดเวลาและชื่อเสียงเกียรติคุณย่อมฟุ้งขจรไปว่าได้คบกับคนดีถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญเป็นที่ฟูใจของคนทั้งหลาย ลักษณะมิตรที่ควรคบ ประพฤติตัวน่ารักน่าพอใจ ประพฤติตัวน่าเคารพ ประพฤติตัวน่าสรรเสริญ ฉลาดพูดให้รู้ให้เข้าใจ อดทนใช้ถ้อยคำพูดดี พูดถ้อยคำได้ลึกซึ้ง ไม่ชักนำไปในทางไม่ดี คุณสมบัติของมิตรดี ให้ของที่คนอื่นให้ยาก ทำสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก อดทนต่อสิ่งที่อดทนได้ยาก บอกความลับของตนแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อนไม่แพร่งพราย ไม่ละทิ้งเพื่อนในยามวิบัติ เมื่อเพื่อนสิ้นโภคทรัพย์ก็ไม่ดูหมิ่น บทที่ ๒ หลีกเลี่ยงคนไม่ดี คนไม่ดี นี้นำภัย มาเยือนบ้าน คบคนพาล ร้าวรานจิต ผิดถลำ หลีกเลี่ยงเถิด จะประเสริฐ เกิดสุขนำ โปรดจดจำ ทำตัวห่าง สว่างแล คนไม่ดี มีแต่สร้าง หนทางพลาด ปราศจาก หักห้ามใจ ให้บาดแผล ชีวีสุข ห่างไกลคุก ทุกข์จวนแจ เป็นสุขแน่ หลีกเลี่ยงภัย คนใกล้ตัว เมื่อคนเราได้คบกับคนดีมีความเจริญแล้ว ก็ต้องรู้จักรักษาตัว รักษาความเป็นมิตรที่ดีให้ยืนยาวต่อไป ระวังไม่เข้าใกล้คบหาคนไม่ดี และระวังไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาคบหา เพราะคนไม่ดีนั้นมีการดำรงชีวิตประจำวันไม่เป็นประโยชน์แก่ใคร ๆ ไม่มีปัญญาที่ประเสริฐ เมื่อจะคิด ก็คิดแต่เรื่องที่มุ่งประโยชน์เพื่อตัวเองเป็นสำคัญ เมื่อจะพูด ก็พูดถ้อยคำตามอารมณ์ ไม่รับรู้รับผิดในคำพูด แม้ที่เป็นมุสาวาทว่างเปล่าไปจากความจริง เมื่อจะทำ ก็มักจะทำในสิ่งที่ไม่ดีเป็นทุจริต สร้างความลำบากเดือดร้อนแก่คนอื่น เป็นคนขาดการไตร่ตรองถึงเหตุและผลที่ดี แนะนำในสิ่งที่ไม่สมควรชักชวนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ แม้คนอื่นพูดดี เมื่อตนเองไม่ชอบ ก็เห็นเป็นไม่ดีแล้วโกรธเคือง ประพฤติตนตัดประโยชน์ที่จะพึงได้ ถือเอาในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คนไม่ดีมีลักษณะอย่างนี้ เป็นที่น่าเกลียดชังเหมือนสิ่งปฏิกูลเน่าเหม็น ใครเข้าไปคบหาสมาคมด้วย ด้วการสนทนาปราศรัย กินนอนร่วมด้วยกัน หรือเกี่ยวข้องกันอย่างใดก็ตาม ย่อมได้รับแต่ความเสียหายและใคร ๆ ก็จะไม่ให้ความเคารพนับถือ บทที่ ๓ บูชาสิ่งที่ควรบูชา สิ่งที่ควร เชิญชวน บูชาคุณ ท่านเกื้อหนุน โน้มนำ คำสั่งสอน น้ำพระธรรม ฉ่ำชื่นจิต แจ่มแจ้งตอน คุณบิดร มารดา แลอาจารย์ ปฏิบัติ บูชา สูงค่ายิ่ง สรรพสิ่ง นิ่งสงบ พบความหวาน เทิดเอาไว้ ใส่เกล้า กล่าวตำนาน สืบประสาน งานกลอน สะท้อนธรรม การบูชาเป็นลักษณะของการแสดงออกซึ่งความนับถือ ในบุคคล ในวัตถุ และในสถานที่ ตามความเหมาะสม ด้วยการเคารพกราบไหว้ ประพฤติอ่อนน้อมด้วยกายวาจาใจที่สุจริตบ้าง ด้วยให้วัตถุสิ่งของบ้าง ในเรื่องการบูชาอย่างสำคัญของบุคคลนั้น พระศาสดาผู้เป็นเจ้าของศาสนาผู้หมดจดจากกิเลส สั่งสอนให้ประชาชนประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ควรบูชาอย่างสูงสุดของทุก ๆ คน นักบวชในศาสนาผู้ปฏิบัติตามพระศาสดา เป็นผู้ควรบูชาของคฤหัสถ์ชน พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตอบรมสั่งสอนให้รู้จักความดี เป็นผู้ควรบูชาของลูก ๆ พี่ผู้เจริญกว่าในตระกูลเป็นผู้ควรบูชาของน้อง ๆ ครูอาจารย์ผู้สั่งสอนศิลปวิทยาเป็นผู้ควรบูชาของศิษย์ แม้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ตั้งที่เกิดแห่งคุณธรรมความดีทั้งมวล ก็ควรได้รับการน้อมระลึกบูชา การบูชาที่อาศัยสิ่งของ เช่น เครื่องสักการะ ระเบียบดอกไม้ของหอม ย่อมมีได้เป็นบางครั้งบางคราวตามโอกาส แต่การบูชาที่แสดงออกมาจากใจ ที่รู้ถึงค่าของความดีที่ได้รับมาจากบุคคลผู้ควรบูชา ด้วยการปฏิบัติชอบตอบแทนในกุศลธรรม เช่นปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ตามคำสอนของ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เป็นการบูชาที่ทำได้ทุกเวลา และเป็นการบูชาที่ถูกต้องที่สุด การบูชาเฉพาะในสิ่งที่ควรบูชาอย่างนี้เท่านั้น มีผลเป็นความเจริญแห่งอายุและชีวิต การบูชานอกไปจากนี้ไม่มีผลดีทีแท้จริง บทที่ ๔ อยู่ในสถานที่สมควร ชีวิตคนเราจะยืนยาวอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอยู่ในสถานที่เหมาะสม ปราศจากภัยหรือในที่มีภัยน้อยที่สุด จากภัยธรรมชาติ หรือภัยที่เกิดจากการกระทำของคนร้าย บางคนชอบอยู่ในภาคกลางของประเทศ เพราะเห็นว่ามีปัจจัยบริบูรณ์ทุกอย่าง บางคนชอบชอบอยู่ในชนบท เพราะเห็นว่ามีปัจจัยบริบูรณ์ทุกอย่าง บางคนชอบอยู่ในชนบท เพราะเห็นว่าผู้คนและสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่างดีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงอนุโลมได้ว่า ใครมีความรู้ความสามารถในการเลี้ยงชีพด้วยวิธีใด มีความสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมใด สามารถอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ชีวิตมากที่สุด ก็ควรอยู่ในสถานที่นั้น และในสถานที่ใดมีคำสอนของพระศาสนาแพร่หลายอยู่ ที่นั้นย่อมเป็นที่ประเสริฐ เพราะได้เห็นนักบวชผู้ประพฤติชอบ เป็นบุคคลตัวอย่างให้ประพฤติชอบตาม ดีกว่าได้เห็นคนร้ายนอกศาสนา ได้ฟังธรรมของนักบวช ทำใจให้ผ่องใส ดำเนินชีวิตไปดีไม่ตกไปสู่ที่ชั่ว ดีกว่าได้ฟังเสียงอย่างอื่น ได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติธรรมที่พระศาสดาตรัสสอนไว้แล้ว ซึ่งเป็นการศึกษาที่ดีกว่าวิชาทั้งหลาย ได้โอกาสปรนนิบัติบำรุงนักบวชผู้ประพฤติชอบ ผู้เป็นนาบุญดีกว่าปรนนิบัติรับใช้คนอื่น ได้โอกาสระลึกถึงพระสาวกและคำสอนของพระศาสดาเนือง ๆ เป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดีกว่าการระลึกถึงทรัพย์สมบัติสิ่งของอื่น ๆ การเลือกอยู่ในสถานที่ปราศจากภัย ปราศจากบุคคลไม่ดี อยู่กับคนดี มีความประพฤติประเสริฐ เป็นเหตุให้ได้รับความสุขในการดำเนินชีวิต บทที่ ๕ สร้างบุญไว้ในเบื้องต้น การได้เกิดมาเป็นคน มีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์ได้อยู่ดีมีสุขในปัจจุบันนั้น เพราะได้ทำบุญสั่งสมไว้ในครั้งก่อน คือในภพชาติที่ผ่านมา โดยหลักการและเหตุผลบุญที่ได้สั่งสมไว้ในครั้งก่อน ๆ ย่อมมีผลสืบเนื่องเป็นลำดับมาจนถึงปัจจุบัน บุญที่ได้สั่งสมไว้ในปัจจุบันย่อมมีผลสืบเนื่องเป็นลำดับ ไปจนถึงกาลข้างหน้าเพราะคำว่าบุญเป็นชื่อของความสุข ดังนั้นคนเราจึงต้องสร้างบุญอยู่เสมอ เพื่อได้รับความสุข ด้วยการให้ทานตามโอกาส รักษากายวาจาให้เป็นสุจริตเป็นปกติ อบรมใจให้เจริญมั่นคงในความดี ประพฤติอ่อนน้อมแก่บุคคลผู้เป็นใหญ่ผู้เจริญกว่า ช่วยขวนขวายในกิจกรรมที่เป็นกุศลของหมู่คน มีความยินดีให้การสนับสนุนในการทำความดี ศึกษาในเรื่องกุศลธรรมจนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามแนวธรรมนั้น การสร้างบุญไว้เช่นนี้ เรียกว่าเป็นบุญนิธิ คือ ขุมทรัพย์แห่งบุญ บุญนิธินั้นย่อมให้สมบัติทุกอย่าง เช่น ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะมีรูปร่างสมส่วน สวยงามมีความเป็นใหญ่และมีบริวารเป็นคนประกอบด้วยสิริ มีความเย็นใจได้ความสงบเป็นสุขสมบัติอันประเสริฐ บทที่ ๖ ตั้งตนไว้โดยชอบ คนบางคนในโลกนี้ มีคบุญสมบัติไม่บริบูรณ์ ขาดมนุษย์ธรรม มีปกติประพฤติไม่ดีมักเบียดเบียนชีวิต และทรัพย์สินของคนอื่นให้ถึงความพินาศเสียหาย ชื่อว่าตั้งตนไว้ไม่ดี จึงไม่ได้รับความสุขเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนคนที่ตั้งตนไว้โดยชอบ ด้วมีเมตตากรุณาในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงชีวิต พอใจในของรักของตัวเอง ไม่ล่วงละเมิดในของรักของคนอื่น มีความสัตย์สุจริต และมีสติรอบคอบอยู่ประจำตลอดเวลา เชื่อในเรื่องผลของกรรมดีกรรมชั่ว แล้วประพฤติในความดี ย่อมได้รับความสุขตามสมควรแก่ความประพฤติดีประพฤติชอบ การที่จะตั้งตนไว้ได้โดยชอบนั้น ต้องอาศัยใจดีเป็นสำคัญ เพราะใจเป็นประธานเป็นใหญ่ เป็นเบื้องต้นของความสำเร็จทั้งปวง เมื่อตั้งไว้โดยชอบแล้วย่อมบันดาลให้ได้สมบัติทุกอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มากกว่าทรัพย์มรดกที่พ่อแม่ให้ ซึ่งจะให้ได้เท่าที่มีอยู่ และให้ได้ในปัจจุบันนี้เท่านั้น นอกจากนี้ กรรมไม่ดีใด ๆ ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งจะให้ผลร้ายในปัจจุบันและอนาคต กรรมนั้นถูกละได้ในภายหลัง นับตั้งแต่คนตั้งตนไว้โดยชอบ โดยสุจริต บทที่ ๗ การได้ศึกษามาก คนที่มีความรู้ดี ความรู้ดีย่อมเป็นพื้นฐานแห่งความเจริญ คนที่มีความรู้ในเรื่องชั่วความรู้ชั่วย่อมเป็นพื้นฐานแห่งความเสื่อม โดยเหตุผลนี้ คนผู้ต้องการได้รับความเจริญจึงต้องมีการศึกษาให้มาก เบื้องต้น ในเรื่องวิชาความรู้สำหรับประกอบอาชีพ แม้เพียงวิชาในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ด้วยการศึกษาจากตำราในชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นต้น ๆ จนถึงชั้นสูงจนได้รับประกาศนียบัตรรับรอง และจากเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งได้รู้ได้เข้าใจทุก ๆ ขึ้นตอน แล้วใช้ความรู้ที่ได้มานั้นให้เกิดผลสำเร็จ นอกจากนี้ก็ยังต้องศึกษาให้มากในเรื่องของ การรู้จักรักษาตัวให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมความดี ด้วยการศึกษาสนทนาไต่ถามกับท่านผู้รู้ดี มีความคิดและทำตามอย่างท่านผู้เป็นคนดี เมื่อศึกษาสั่งสมให้มาก ย่อมเป็นเหตุให้ รู้จักผิด รู้จักชอบ รู้จักปาบ รู้จักบุญ รู้จักคุณ รู้จักโทษ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประพฤติกาย วาจาได้ถูกต้อง เป็นพื้นฐานแห่งความเจริญแห่งชีวิต เป็นเหตุนำประโยชน์สุขมาให้ บทที่ ๘ สร้างศิลปะ ศิลปะ คือการมีวิชาความรู้ แล้วใช้วิชาความรู้นั้นให้วิจิตรพิสดารออกไป เช่น มีศิลปะในการช่าง ในเรื่องเครื่องยนต์ ในเรื่องดนตรี ในเรื่องแกะสลัก ในเรื่องเย็บปักถักร้อย ในเรื่องการทำอาหาร ในเรื่องการเขียนภาพ และในเรื่องการประพันธ์ ใครมีศิลปะเช่นนี้อยู่กับตัว แม้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการเลี้ยงชีวิตได้ ของผู้ใดไม่มี ก็จำเป็นต้องสร้างให้มี และเมื่อมีแล้วก็ต้องใช้ให้ถูกอย่าให้เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนชีวิตของคนและสัตว์อื่น จึงจะเป็นประโยชน์สำหรับการอยู่ในโลกนี้ และศิลปะชั้นสูงสำหรับเป็นที่พึ่งในการดำรงชีวิต ก็จำเป็นต้องสร้างให้มีเช่นเดียวกัน คือ ต้องมีการรักษากายวาจาให้สุจริต มีการศึกษาเรียนรู้มาก มีเพื่อนดี เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย มีความขยันในการงานต่าง ๆ ก็ต้องทำ มีความยินดีพอใจรู้จักรักษาทรัพย์สิ่งของที่ได้มา มีความรู้ตัวในคำพูดแลเรื่องที่ทำไปแล้ว มีปัญญาดีรอบรู้ในเรื่องของชีวิตตามที่เป็นจริง สนใจใฝ่ประพฤติธรรมและเพียรพยายามละความชั่ว ป้องกันความชั่วไม่ให้เกิดมี ประพฤติอยู่ในความดีสม่ำเสมอและมากขึ้น บทที่ ๙ มีวินัยเป็นเครื่องนำ ในชีวิตส่วนตัวของคนคนเดียว ร่างกายมีใจเป็นสำคัญเป็นประธาน กำหนดให้ร่างกายเป็นไป เป็นคำพูดีก็ได้ พูดร้ายก็ได้ ทำดีก็ได้ ทำร้ายก็ได้ และย่อมมีผลดีหรือร้ายเป็นของตัวเอง แต่ทุก ๆ คนย่อมต้องการเป็นคนดี ทำกรรมดี และรับผลดี เมื่อยู่รวมกันหลาย ๆ คน จึงจำเป็นต้องมีระเบียบวินัยวางไว้ เพื่อให้ทุกคนได้ประพฤติเสมอเหมือนกัน นำไปสู่ความอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข คือ ไม่เบียดเบียนในชีวิตทรัพย์สินและของรักของคนอื่น ไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ หรือคำเพ้อเจ้อ ไม่คิดร้ายคิดโลภมาก อยากได้ของคนอื่น นำมาเป็นของตัว ต้องเป็นคนรู้จักรักษาตัว ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ทำผิดต้องเป็นคนรู้จักรักษาตัว ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ทำผิดกฎระเบียบของหมู่คณะ ไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ละเมิดศีลธรรมที่ดีงาม มีสติรู้เท่าทันตามอารมณ์ของตัว ควบคุมไว้มิให้ตกเป็นทาส มีอาชีพบริสุทธิ์ซื่อสัตว์สุจริต ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง รู้จักแสวงหาและใช้สอยทรัพย์สมบัติที่หามาได้ตามความจำเป็น ไม่ให้ขาดแคลนหรือมากจนเกินความพอดี บทที่ ๑๐ กล่าววาจาสุภาษิต คนเรามีการติดต่อสัมพันธ์ให้เข้าใจกันได้ ก็เพราะอาศัยคำพูดที่กล่าวออกมาเป็นสำคัญ แต่มีข้อแม้ว่า คำพูดนั้นหากกล่าวออกมาโดยมีเจตนาไม่ดี และเป็นคำพูดที่ไม่สุภาพด้วย ย่อมเกิดผลเสียหาย หากกล่าวออกมาด้วยเจตนาดีมีสุจริต เป็นสัมมาวาจาคือวาจาสุภาพ เป็นสุภาษิต ย่อมส่งเสริมให้คำพูดนั้นมีผลสำเร็จบริบูรณ์ที่สุด วาจาที่เป็นสุภาษิตนั้น คือ ๑ กล่าวถึงเรื่องที่ต้องการนั้นให้เหมาะสมกับเวลา ๒ กล่าววาจาเป็นคำสัตย์ คำจริง มีหลักฐาน ไม่แปรเปลี่ยนผิดเป็นอย่างอื่น ๓ กล่าววาจาอ่อนหวาน ไพเราะ เป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจ ๔ กล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์ เว้นจากโทษแม้เพียงกล่าวด้วยความลำเอียงเพราะเห็นแก่หน้ากัน ๕ กล่าวด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่ทำตนให้เดือดร้อนและไม่เป็นถ้อยคำเบียดเบียนคนอื่น การกล่าวถ้อยคำออกไปให้อยู่ในลักษณะ ๕ อย่างนี้ ถือว่าเป็นวาจาสุภาษิต บทที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา ผู้ชายที่ให้บิตรธิดาเกิดมา เรียกว่า บิดา ผู้หญิงที่ให้บุตรธิดาเกิดมา เรียกว่า มารดา เรียกง่าย ๆ เป็นคู่กันว่า พ่อแม่ พ่อแม่นั้นมีคุณกับลูกมาก ท่านมีความประพฤติเช่นเดียวกับพรหม เพราะท่านมีเมตตาความรักความปรารถนาดีมอบให้ลูกด้วยใจจริง มีกรุณาความสงสารช่วยเหลือเมื่อลูกประสพความลำบาก ชื่นชมยินดีเมื่อลูกประสพความสำเร็จในสิ่งที่หวังไว้ ท่านเป็นดังเทพผู้ประเสริฐ เพราะนำประโยชน์สุขมาให้แก่ลูกโดยส่วนเดียว ท่านเป็นบุรพาจารย์ของลูก เพราะเป็นครูผู้ให้รู้จักสิ่งต่าง ๆ ในโลกก่อนใคร ๆ ท่านเป็นอาหุไนยบุคคลของลูก เพราะมีอุปการะเลี้ยงดูมา แสดงโลกนี้ให้ปรากฎแก่ลูก จึงสมควรที่ลูกทั้งหลายจะต้องให้ความเคารพ บำรุงเลี้ยงดูท่าน ปรนนิบัติในความเป็นอยู่ส่วนตัวรับใช้ทำกิจการงานของท่าน ทำตนให้สมควรรับทรัพย์มรดกชื่อเสียงวงศ์ตระกูลสืบต่อไป ส่งเสริมให้พ่อแม่มีความเชื่อถือเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้มีศีลมั่นคง ให้มีการเสียสละเพื่อกำจัดความตระหนี่ และให้มีปัญญาในกุศลธรรม เมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว ควรทำทานตามเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ ความเป็นผู้รู้จักบำรุงเลี้ยงบิดามารดา ย่อมเป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย บทที่ ๑๒ สงเคราะห์บุตรธิดา พ่อแม่ เมื่อให้กำเนิดบุตรธิดา คือ ลูก ๆ ขึ้นมาแล้ว ย่อมมีความรักเป็นดุจดวงตาดวงใจ ไม่ต้องการให้ลูกเป็นคนชั่วมีชีวิตวิบัติ แต่ต้องการให้เป็นคนดีมีความเจริญรุ่งเรือง ประสพผลสำเร็จในชีวิต จึงต้องสงเคราะห์ลูก ๆ ในทุก ๆ อย่าง ด้วยการตั้งตนให้อยู่ในหลักธรรมของศาสนา ประพฤติในหลักธรรมนั้นเป็นตัวอย่างก่อนแล้ว อบรมสั่งสอนลูก ๆ ด้วยหลักธรรมนั้นเช่นเดียวกัน มีเวลาให้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับลูก แสดงความรักลูกทุกคนเสมอเหมือนกันเสมอต้นเสมอปลาย พูดกับลูกด้วยคำที่สุภาพตามหลักภาษา ให้ความคิด ชี้ให้เห็นโทษของความชั่ว แล้วห้ามและป้องกันมิให้ลูกประพฤติชั่ว แนะนำให้รู้จักความดี ส่งเสริมให้ปฏิบัติตนอยู่ในความดีนั้น ขวนขวายให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้มีวิชาความรู้มาก ๆ สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพโดยไม่ลำบากในอนาคต เมื่อลูก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่พอจะมีคู่ครองได้แล้ว ก็ช่วยเป็นธุระจัดหาหญิงหรือชายผู้สมควร ให้แก่ลูกชายลูกหญิง ตามความยินยอมพร้อมใจ พร้อมกับมอบทรัพย์สมบัติให้สำหรับใช้จ่ายในการครองเรือน แม้ด้วยเหตุเบื้องต้นเท่านี้ ก็จะเป็นเหตุให้ลูก ๆ เกิดสำนึกถึงความดีของพ่อแม่แล้วทำตอบแทนในคุณความดีนั้น บทที่ ๑๓ สงเคราะห์กันในฐานสามีภรรยา ชายหญิงคู่หนึ่งได้เป็นสามีภรรยากัน อยู่ครองเรือนด้วยกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อได้รับความสุขในชีวิตของคนคู่กัน จำเป็นต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องมีความคิดเห็นเหมือนกัน มีความประพฤติดีในคุณธรรมเสมอกัน และต้องมีหน้าที่ปฏิบัติในคู่ครองอย่างเป็นธรรม ฝ่ายสามีนั้น ต้องยกย่องนับถือหญิงคู่ครองว่าเป็นภรรยา เช่นกล่าวถ้อยคำที่น่ารัก ไม่กล่าวเหยียดหยามให้ภรรยาต้องเสียใจ ไม่ประพฤตินอกใจไปมีภรรยาใหม่หรือไปบำเรอหญิงอื่น มอบความเป็นใหญ่ให้ในหน้าที่ภรรยาในการจัดการบ้านเรือน หาเครื่องประดับเครื่องแต่งตัวของใช้สอยพิเศษให้ในโอกาสที่สมควร ฝ่ายภรรยา ก็ต้องจัดการงานให้ดี ให้เหมาะสมกับเวลา ไม่บกพร่อง ช่วยสงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีให้เป็นเหมือนญาติของตัว ด้วยกล่าววาจาไพเราะบ้าง ให้ของกินของฝากบ้าง ไม่ประพฤตินอกใจ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ รู้จักเก็บรักษาไว้ และใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็น ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงาน และทำงานให้สำเร็จเรียบร้อยอย่างมีระเบียบ บทที่ ๑๔ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ในการประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและสิ่งของที่ต้องการ แต่ละคนมีวิชาความรู้ใช้ประกอบอาชีพสิ่งของที่ต้องการ แต่ละคนมีวิชาความรู้ใช้ประกอบอาชีพไม่เหมือนกัน แต่ก็ถือว่างานในอาชีพนั้นเป็นธุระต้องทำเหมือนกัน ผู้ใดมีธุระ แต่ทำย่อหย่อน หรือไม่ทำ หรือปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ด้วยอ้างว่า เวลานี้หนาวนัก เวลานี้ร้อนนัก เวลานี้เย็นนัก ยังไม่ถึงฤกษ์งามยามดี ย่อมพลาดจากประโยชน์ที่จะพึงได้รับ และทำให้ธุรการงานนั้นคั่งค้าง จนกระทั่งมากขึ้น ๆ ในวันต่อ ๆ ไป เมื่อเห็นงานมากขึ้นก็เป็นเหตุให้ท้อแท้เบื่อหน่าย กลายเป็นคนเกียจคร้านไป ส่วนผู้ใดมีธุระที่ต้องจัดทำ มองเห็นประโยชน์ใหญ่อยู่ข้างหน้า เป็นไม่เกียจคร้าน ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รีบลงมือทำอย่างจริงจังตามลำดับของงาน ทำให้สมควรพอเหมาะพอดีกับเวลาในแต่ละวัน ทำให้สำเร็จไม่คั่งค้าง อดทนต่อความหนาวความร้อน เมื่อทำได้อย่างนี้ย่อมชื่อว่ารวบรวมทรัพย์ไว้ได้ เมื่อรวบรวมไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทรัพย์ทั้งหลายก็ย่อมเพิ่มขึ้น ๆ เหมือนแมลงผึ้งรวบรวมน้ำหวานไว้วันละเล็กวันละน้อย จนกลายเป็นรังใหญ่มีน้ำหวานมาก ฉะนั้น บทที่ ๑๕ แบ่งใจให้ทาน คำว่า ทาน แปลว่า การให้ ถือเป็นเรื่องจำเป็นของคนที่อยู่รวมกัน ต้องมีการช่วยเหลือกัน ด้วยการแบ่งทรัพย์สิ่งของที่มีอยู่ให้แก่คนอื่นบ้าง ตามความจำเป็น เช่น ให้อาหาร ในเวลาที่เพื่อนมนุษย์มีความอดอยากหิวโหย ให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ในเวลาเพื่อมนุษย์มีความขาดแคลน เช่น ในฤดูหนาว ให้ที่พักอาศัยเป็นครั้งคราว ให้ยารักษาโรค หรือให้การช่วยเหลือพยาบาล ในเวลาเพื่อนมนุษย์เจ็บไข้ไม่สบาย การให้สิ่งของที่ไม่มีโทษ ในเรื่องที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ นับว่าเป็นความถูกต้องของการให้ เพราะในเวลาก่อนจะให้ก็มีใจดี ในขณะกำลังให้ก็มีใจเลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็มีใจแช่มชื่นเบิกบาน เป็นความบริบูรณ์แห่งเจตนา ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้าย ผู้ใด แม้มิได้มีทรัพย์สิ่งของจะแบ่งให้ แต่ก็สามารถจะให้เวลาและกำลังกายกำลังใจ ในการช่วยเหลือคนอื่นได้ และประการสุดท้ายที่สำคัญ การบอก การแนะนำชี้แจงให้มีปัญญา เครื่องรู้ธรรม ว่าการประพฤติอย่างนี้เป็นความดี มีคนสรรเสริญ อย่างนี้ไม่ดี มีคนติเตียน สิ่งนี้มีโทษ ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ สิ่งมีนี้ไม่มีโทษ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข แนะนำให้เพื่อนมนุษย์ตั้งอยู่ในการประพฤติความดี อย่างนี้ก็จัดเป็นทานที่ประเสริฐ บทที่ ๑๖ ประพฤติธรรมมั่นคง สิ่งสำคัญที่ต้องมีคู่กันกับการประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อให้ชีวิตมีความเจริญ ก็คือการประพฤติธรรมอย่างสม่ำเสมอในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คือ ไม่ทำร้ายร่างกาย และชีวิตของคนอื่นให้สูญสิ้นไป มีความเอ็นดู ช่วยเหลืออนุเคราะห์คนอื่น ไม่ขโมยเอาทรัพย์สิ่งของของคนอื่นมากเป็นของตัว ไม่ประพฤติล่วงละเมิดในคนรักของคนอื่น อยู่ในที่ใดก็ไม่พูดโกหก เพราะมีความลำเอียงโดยเห็นแก่หน้า หรือค่าจ้างรางวัล ไม่พูดส่อเสียดยุแหย่ให้คนแตกแยกกัน แต่พูดคำเป็นที่รักให้คนรักใคร่สามัคคีกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล แต่พูดคำจริง มีหลักฐาน ถูกกาลเวลาประกอบไปด้วยประโยชน์ ไม่เพ่งเล็งตำหนิติเตียนหาโทษใส่คนอื่น ไม่พยาบาท ปองร้ายใคร แต่มีความดำริในใจ ขออย่าได้มีเวรกัน จงเป็นผู้ไม่มีความทุกข์ มีความสุขโดยทั่วกัน และมีความเห็นอย่างถูกต้องว่า พ่อแม่มีพระคุณจริง มีโลกนี้ มีโลกหน้า การทำกรรมดีกรรมชั่ว ต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น บทที่ ๑๗ ช่วยสงเคราะห์ญาติ คนผู้เกิดมาร่วมตระกูลเดียวกัน ในครอบครัวเดียวกัน สืบเชื้อสายต่อกันตามลำดับ นับตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน จัดเป็นญาติกันโดยเชื้อสาย แต่คนแม้มิใช่ญาติอย่างนี้ เป็นเพื่อนบ้านใกลเรือนเคียงกัน มีความนับถือกัน ประพฤติความดีต่อกัน ก็นับเป็นญาติกันได้ โดยความเกี่ยวเนื่องกัน จึงถือได้ว่าแต่ละคนเป็นญาติของกันและกัน ตามปกติทุกคนมีหน้าที่และอาชีพที่ต้องทำเป็นของแต่ละคน ต่าง ๆ กัน แต่เมื่อเกิดเหตุสำคัญแก่คนผู้เป็นญาติ ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ญาติขาดแคลนทรัพย์สำหรับใช้จ่าย เพราะมีอุบัติเหตุถูกไฟไหม้ ถูกขโมยแย่งชิงทรัพย์ไป ไม่มีอาหารกิน ไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใช้ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ มีปัญหา มีความทุกข์ทางใจ มาขอความช่วยเหลือ ก็ควรให้การช่วยเหลือแก่ญาติผู้มาหาตามสมควรช่วยได้ เพราะการสงเคราะห์ญาติอย่างใด ๆ ก็ตาม ย่อมช่วยให้ญาติได้พ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ย่อมได้รับความรัก ความนับถือจากญาติ เป็นการผูกมัดใจญาติไว้ได้ เป็นเหตุได้พบความสุขแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๑๘ ประกอบกรรมที่ไม่มีโทษ ในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อให้ได้เป็นอยู่สุขนั้น แต่ละคนย่อมประกอบกรรมไปตามที่ตัวเองเห็นชอบ ถูกต้องมากน้อยต่าง ๆ กัน แต่กรรมที่จะให้ผลดีตามต้องการนั้น ต้องไม่มีโทษแก่ตนและคนอื่นควบคู่กันไป ในส่วนที่เป็นประโยชน์เฉพาะตัวนั้น เช่น การตั้งใจมั่นรักษาศีล ระมัดระวังกิริยาวาจาให้เรียบร้อยได้อย่างปกติ รักษามั่นไว้ได้เท่าใด ย่อมเป็นความดีแก่ตัวเองมากเท่านั้น นอกจากนี้ การประกอบกรรมที่ไม่มีโทษ เป็นธรรม เป็นการการกระทำที่บัณฑิตสรรเสริญ เช่น การปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อน ทำที่ขรุขระให้เป็นถนนราบเรียบสำหรับคนเดินทาง ถางกอไม้กิ่งไม้มีหนามที่เกะกะกีดขวาง ขุดดินในสระให้กว้างและลึกเหมาะสำหรับอาบและดื่มกิน สร้างสะพานข้ามในที่มีน้ำขัง ปลูกสร้างศาลาที่พักริมทาง ตั้งน้ำดื่มไว้สำหรับคนหิวกระหาย กรรมที่ไม่มีโทษเช่นนี้ เป็นกรรมที่เป็นไปด้วยเจตนาดี มีผลประโยชน์แก่คนอื่น เป็นเหตุได้รับความสุขแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๑๙ งดเว้นจากบาป คำว่า บาป นั้น เป็นชื่อของความชั่ว ความเศร้าหมองทางใจและทางกาย มีผลเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว คนใดมองเห็นโทษในบาปแล้วงดเว้นเสียได้ ย่อมเป็นความดีโดยส่วนเดียวเช่นกัน พยายามให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โดยทำความเข้าใจว่า เรามีฐานะเป็นอยู่อย่างนี้ มีชาติตระกูลเช่นนี้ มีอายุอยู่ในวัยนี้ มีความรู้ขนาดนี้ ไม่ควรทำบาป การทำบาปไม่สมควรแก่เรา เมื่อได้ทำความตั้งใจมั่นอธิษฐานงดเว้นอย่างเด็ดขาดแล้ว ไม่ทำลาย ยอมสละได้แม้ชีวิตในเมื่อเหตุชวนให้เลิกละ ไม่ยอมผิดการอธิษฐานใจ ด้วยพิจารณาเป็นอย่างแท้จริงว่า ผลร้ายในเบื้องต้นและบั้นปลายย่อมตกเป็นของผู้ทำบาปทั้งสิ้น และแม้เพียงความคิดว่า เราจะทำร้ายทำลายเพื่อนมนุษย์หรือล่าสัตว์เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งเป็นเจตนาเป็นเหตุก่อให้เกิดภัยและเวรทั้งหลาย ไม่มีแก่คนใด คนนั้นเป็นผู้งดเว้นบาปกรรมโดยเด็ดขาด ไม่มีความเศร้าหมองใจและกาย เป็นเหตุได้รับความสุขแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๒๐ ไม่ดื่มน้ำเมา น้ำใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นของจำเป็นแก่ร่างกายคน ดื่มแล้วทำให้มีสุขภาพดี มีประโยชน์แก่ร่างกาย แต่น้ำเมาซึ่งเกิดจากการหมักดองใส่เชื้อผสมเครื่องปรุงต่าง ๆ ดื่มแล้วทำให้มีจิตฟุ้งซ่าน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมทุก ๆ อย่าง อย่างทันตาเห็น ทรัพย์สมบัติที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเสื่อมไป เพราะคนเมาไม่มีการขวนขวายในการทำงาน เป็นเหตุก่อความทะเลาะด้วยกายและวาจา เพราะคนเมามักมองไม่เห็นโทษ เป็นบ่อเกิดของโรคทั้งหลาย เพราะโทษของน้ำเมา ทำให้สุขภาพทรุดโทรม โรคใหญ่น้อยจึงเบียดเบียนได้ง่าย เป็นเหตุก่อความเสียชื่อเสียง เพราะคนเมาแล้วทำร้ายพ่อแม่ก็ได้ พูดถ้อยคำคำหยาบคายได้มาก ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ย่อมได้รับคำติเตียนหรือถูกลงโทษเป็นเหตุเสียชื่อเสียง เป็นเหตุเปิดเผยอวัยวะส่วนที่ควรละอาย ทำให้เกิดกำเริบ เพราะคนเมาไม่มีสติสัมปชัญญะรู้สึกบังคับตัว เป็นเหตุบั่นทอนกำลังกายกำลังปัญญาให้ถอยลง ทำลายความเป็นผู้สามารถในทางความคิดและการกระทำเสียหมดสิ้น บทที่ ๒๑ ไม่ประมาทในกิจทุกอย่าง ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และความสุขอันไพบูลย์ ที่คนเราจะพึงได้รับนั้น จะเกิดมีได้ก็เพราะการดำเนินชีวิตถูกต้อง ไม่ผิดพลาด คือไม่ตกอยู่ในความประมาท ไม่ปล่อยกายปล่อยใจให้เป็นไปในเรื่องทุจริต แต่ส่งเสริมให้มีการประกอบในเรื่องสุจริต เป็นความดี เป็นกุศลธรรม ทำด้วยความเคารพ ทำให้ติดต่อเนื่องกันไป ทำโดยไม่หยุด ให้เป็นไปสม่ำเสมอ ไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย มีความพอใจขยันหมั่นเพียรในกิจทุกอย่างที่จำเป็นต้องทำ และที่สมควรจะทำ คือเป็นผู้ไม่ประมาท ระวังรักษาใจด้วยสติ ให้มั่นคงอยู่ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และในความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้ามาครอบงำ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมมีความมั่นคง รู้ตัวอยู่เสมอ มีความคิด มีความปราถนาดี มีความตั้งใจที่จะทำดี ทำกิจที่เป็นประโยชน์ที่บันดาลความสุข ผิดกับคนประมาทซึ่งเป็นเหมือนคนตายแล้ว เพราะไม่มีความรู้สึกนึกคิดใด ๆ ทั้งสิ้น ความไม่ประมาทจึงเป็นยอดธรรม อำนวยประโยชน์ทุกอย่างให้ได้ บทที่ ๒๒ มีความเคารพ เพราะเหตุที่คนเราอยู่รวมกันเป็นคณะ เป็นสังคมใหญ่ แต่ละคนมีอัธยาศัยดีมากน้อยต่างกัน การมีความถือตัวไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ไม่อ่อนน้อมแก่ใคร ๆ นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำรงชีวิต หากมีการยอมรับความถูกต้องความดีของคนอื่นบ้าง ก็จะได้รับความสุขความเจริญมากกว่าความเป็นอยู่ที่ผ่านมา ในครอบครัว ลูก ๆ ต้องให้ความเคารพพ่อแม่ น้องให้ความเคารพพี่ ในสถาบันการศึกษา ศึกย์ต้องให้ความเคารพครูอาจารย์ และเคารพระเบียบวินัยที่วางไว้ ในที่ทำงานผู้น้อยต้องให้ความเคารพผู้ใหญ่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับ และเคารพปฏิบัติตามระเบียบของหน่วยงาน ในฐานะประชาชนในประเทศชาติ ต้องเคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญที่วางไว้ ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกันกับคนอื่น ต้องให้ความเคารพในสิทธิเสรีของผู้อื่นเท่าเทียมกับตน ในฐานะของศาสนิกชนต้องมีความเคารพในหลักปฏิบัติของศาสนา ไม่ไปเคารพบูชาเซ่นสรวงสิ่งที่ไร้สาระอื่น ๆ การมีความเคารพเป็นไปตามความเหมาะสมนั้น เป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญ เพราะผู้น้อยก็เป็นที่รักของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็เป็นที่เคารพนับถือของผู้น้อย ต่างคนต่างรักใคร่สนิทสนมกัน ผลดีที่สุดนั้นก็เกิดมีแก่ตัวเองเป็นสำคัญ บทที่ ๒๓ ประพฤติถ่อมตน คนที่มีมานะความถือตัว เพราะมีความคิดว่า เรามีความบริบูรณ์ด้วยชาติกำเนิด เกิดในตระกูลสูง มีทรัพย์มาก มีความถือตัวจัด ไม่อ่อนน้อมต่อใคร ๆ จึงมักเผลอตัวดูหมิ่นคนอื่น ตลอดจนถึงญาติของตัวเอง เพราะความกระด้างถือตัวเช่นนี้ จึงไม่มีใครให้ความรักความนับถืออย่างจริงจัง เป็นเหมือนลูกโป่งที่พองขึ้นด้วยลม แต่ข้างในว่างเปล่า ไม่มีน้ำหนัก เป็นเหตุแห่งความเสื่อมหลาย ๆ อย่าง เป็นเหตุแห่งความพินาศ เป็นทางเสื่อมเสียชื่อเสียง อาจจะได้รับความทุกข์ถึงตายได้ แต่คนผู้มีใจอ่อนน้อม ประพฤติถ่อมตนแก่ทุก ๆ คนตามสมควร ให้ความยกย่องนับถือ ไม่ดูถูกดูหมิ่น ไม่มีความกระด้างถือตัว เหมือนงูพิษที่ไม่มีเขี้ยว มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน กับคนแม้มิใช่ญาติที่สมควรกล่าวได้ ตามความนิยมเช่นว่า คุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว มีวาจาที่นุ่มนวลละมุนละม่อม นำมาซึ่งความบันเทิงใจไม่มีโทษ ประกอบด้วยคุณอันละเอียด ความประพฤติถ่อมตน แต่มิใช่ความอ่อนแอ เหมือนไม้อ้อลู่ตามลม เช่นนี้ เป็นเหตุได้รับความสุขแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๒๔ มีความสันโดษ คนเราแต่ละคน เมื่อแสวงหาปัจจัย ๔ มาได้ตามความต้องการ ด้วยความขยันหมั่นเพียรแล้ว ต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้มีความยินดีพอใจตามที่ได้มา ควบคุมไว้ให้พอดีไม่เกินขอบเขต ไม่ไปยินดีพอใจในของของคนอื่นแล้วยึดถือเอามาโดยวิธีการที่ผิดคือ ต้องมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้มา ในสิ่งที่ตนมีอยู่ เพราะเป็นของของตน ไม่อ้างเหตุแสดงความไม่พอใจว่า สิ่งที่ได้ไม่ดี สิ่งที่ดีไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น กลายเป็นเหมือนได้ความทุกข์มา เมื่อต้องการที่จะได้มาก ก็ขวนขวายแสวงหาให้ได้มาก ใช้ความสามารถหามาเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ตามความจำเป็น โดยทางชอบธรรม เมื่อได้เพิ่มขึ้นมากเท่าไรแล้ว ก็ยินดีพอใจตามนั้น หากว่าสามารถแสวงหามาได้มาก จนกระทั่งเห็นว่าเกินความจำเป็นไป ก็ให้ยินดีพอใจพอสมควรเท่านั้นก่อน เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย เพราะต้องดิ้นรนตามอำนาจของความอยาก ที่อาจเป็นไปในทางทุจริต และเพื่อมิให้ต้องเป็นคนมีทุกข์ มีความวิตกกระวนกระวายในการแสวงหาในส่วนที่เกินความจำเป็น ความสันโดษรู้จักพอดีในทรัพย์ที่มีอยู่ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๒๕ มีกตัญญูรู้คุณ เพราะเหตุที่สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ มีอยู่เพื่อเป็นปัจจัยอาศัยกันและกัน คนเรานั้น เมื่อเกิดมาตัวเล็ก ๆ ต้องอาศัยพ่อแม่เลี้ยงดูมา เติบโตขึ้นได้อาศัยครูอาจารย์ช่วยสอนวิชาความรู้ให้ ต่อมามีเพื่อนคอยสนับสนุนช่วยเหลือ มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายบนผืนแผ่นดินของประเทศชาติ และอาศัยปัจจัยอย่างอื่น ๆ อีก คนใดมาระลึกได้ถึงอุปการะที่คนทั้งหลายทำให้แล้ว จะน้อยหรือมากก็ตาม ระลึกถึงอยู่บ่อย ๆ ชื่อว่าเป็นคนมีกตัญญู นับว่าเป็นความดีครึ่งหนึ่งแล้ว หากได้กระทำตอบแทนในลักษณะเช่นเดียวกัน ประกาศให้ผู้อื่นได้รู้ถึงอุปการะที่ท่านผู้มีคุณได้ทำให้แล้วแก่ตน ให้เป็นไปโดยสมควร ย่อมถึงซึ่งการนับว่าเป็นความดีครบบริบูรณ์ คนเช่นนี้ เป็นคนที่หาได้ยาก เพราะว่าคนโดยมากมักนึกถึงแต่เฉพาะเรื่องของตน ถูกความไม่รู้จักปกปิดไว้เหมือนกับมืดบอด แต่คนที่ทำลายความไม่รู้นี้ได้ลำดับไปถึงความเป็นมาในอดีต ของคนที่มีอุปการะคุณ แล้วทำตอบแทน ย่อมได้รับการสรรเสริญจากคนดีในโลกปัจจุบันนี้ เป็นเหตุได้รับความสุขความเจริญแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๒๖ ฟังธรรมตามเวลาเหมาะสม เมื่อเวลาที่คนเรามีอารมณ์สบายเป็นสุข ได้ฟังเสียงดนตรีไพเราะ เสียงน้ำตก เสียงนกร้องตามธรรมชาติย่อมรู้สึกชอบใจ แต่ในเวลาที่คนเรามีความวิตกกังวล มีความฟุ้งซ่าน มีอารมณ์ไม่เป็นที่สบาย เช่น คิดถึงบุคคลหรือทรัพย์สมบัติ ระแวงว่าจะมีอันตรายหรือสูญหายคิดถึงเรื่องความโกรธแล้วผูกพยาบาท ต้องการทำลายศัตรูผู้เกลียดชังให้ถึงความพินาศไป คิดถึงความริษยาไม่อยากให้ใครได้ดี เมื่อไม่ได้ดังใจก็เกิดฟุ้งซ่าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เสียงใด ๆ ก็ไม่อาจระงับได้ แต่เสียงที่แสดงพระธรรมคำสอนในศาสนาบอกให้รู้ถึงความชั่วความดี มีเหตุมีผลรับรองกัน ทำให้คนฟังสามารถใคร่ตรองเห็นตามความเป็นจริงได้ ย่อมเป็นเสียงที่ประเสริฐควรฟัง เพราะแนะนำชี้แจงให้ได้ฟังเรื่องที่ยังไม่เคยฟัง เรื่องที่เคยได้ฟังแล้วแต่ยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจในเรื่องนั้นได้ชัด กำจัดความสงสัยให้หายไป ได้มีความเห็นถูกต้อง แล้วสงบระงับความเศร้าหมองฟุ้งซ่านเสียได้ ประการสุดท้าย เมื่อได้ฟังแล้วใจของผู้ฟังย่อมผ่องใส เพราะฉะนั้น การเลือกเวลาให้เหมาะสมฟังธรรม หรือฟังธรรมตามเวลาที่เหมาะสม เป็นเหตุให้เกิดความสุข ความเจริญแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๒๗ มีความอดทน คนอยู่ครองเรือนต้องมีคุณธรรมสำคัญข้อหนึ่ง สำหรับเป็นเครื่องแก้ และกันไห้เกิดความผิดพลาดในชีวิต คุณธรรมข้อนั้นคือความอดทน เพราะคนอยู่ครองเรือน ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่ทุกวัน ต้องอดทนต่อความยากลำบากในการทำงานประกอบอาชีพส่วนตัว เพราะจำเป็นต้องทำในแต่ละวัน ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่มี โดยมองเห็นผลประโยชน์ใหญ่อยู่ข้างหน้า เมื่อทำงานมากได้รับความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องมีใจเข้มแข็งไม่อ่อนแอ บางครั้งต้องอดทนต่อความเจ็บใจในคำกล่าวหยาบคายให้ร้ายของคนอื่น อดทนไม่ให้ความโกรธเกิดข้น หรือไม่แสดงความโกรธตอบ ไม่เกรี้ยวกราด ไม่ทำให้เกิดน้ำตาไหล ทำใจให้เป็นปกติ อยู่ในอำนาจของตน ไม่แสดงอาการผิดแปลก ทำเป็นเหมือนว่าไม่เห็นและไม่ได้ยิน โดยไม่ทำไว้ในใจ เพราะเป็นการไม่ก่อเวร ไม่สร้างความผิดให้ยิ่งไปกว่า ไม่ต้องได้รับทุกข์ภายหลัง แต่ได้ความเป็นผู้เจริญ ความอดทนทั้งหมดนั้น เป็นเหตุให้ทำงานได้ผลสำเร็จดี ไม่มีคนรังเกียจ บทที่ ๒๘ เป็นผู้ว่าง่าย ความรู้ ความฉลาด ความเจริญ ความดี ที่ทุกคนปรารถนั้น มิใช่มีติดตัวมาแต่กำเนิด ต้องอาศัยสร้างให้เกิดมีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นทีละน้อย โดยอาศัยการเรียนรู้จากบุคคลผู้มีความเจริญมาก่อนกล่าวสอนให้ และการทำตนห้เป็นผู้สมควรรับสิ่งที่ดีเหล่านั้น ก็ต้องทำตนให้เป็นคนว่าง่าย ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือนักบวชในศาสนาก็ตาม เมื่อท่านมีความปราถนาดีกล่าวสอนอยู่โดยชอบธรรม ก็ยินดีเต็มใจรับ ทำความเอื้อเฟื้อ ความเคารพนอบน้อม แม้เป็นเรื่องที่หนัก กล้าแข็ง ก็อดทนได้โดยทำความเข้าใจว่า เป็นเหมือนได้ขุมทรัพย์ ไม่ถือรั้น ไม่ขัดคอ ไม่กล่าวโต้ตอบไม่เป็นคนว่ายาก เพราะแม้นักบวชในศาสนา ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบแล้ว ยังเป็นผู้ว่าง่าย ให้โอกาสตำหนิสิ่งที่เป็นโทษ บอกกล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน คนว่าง่ายเท่านั้น ย่อมเป็นที่พอใจของคนกล่าวสอน และพอใจจะกล่าวสอนให้มากยิ่งขึ้น เป็นผู้ห่างไกลจากโทษแต่ไม่ห่างไกลจากประโยชน์ มีความสำเร็จสมปราถนา เป็นความเจริญแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๒๙ มีศรัทธาในพระสมณะ นักบวชในศาสนาผู้มิได้อยู่ครองเรือน ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้สงบแล้ว เพราะไม่ถูกกิเลสเครื่องเศร้าหมองให้ฟุ้งขึ้น เป็นผู้รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจให้ปกติ มีการอบรมปัญญาชั้นสูงได้แล้ว เป็นผู้รู้ชัดในสภาพธรรม มีความเป็นอยู่สงบ เป็นผู้ประเสริฐ การได้ยินถึงชื่อท่าน ได้เห็น ได้ระลึกถึง ได้เข้าไปหา ได้เข้าไปนั่งใกล้ ถวายการบำรุง ได้โอกาสถามปัญหา ปฏิบัติตามท่าน เป็นการกระทำที่ดี เพราะเป็นกิจี่มีอุปการะแก่การดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ย่อมจะได้ฟังธรรมจากท่าน ได้รู้ถึงประโยชน์ในปัจจุบันนี้ ประโยชน์นอนาคต และประโยชน์สูงสุด คือความเป็นผู้มีกิริยา วาจา ใน สะอาด สว่าง สงบ เป็นผู้มีความเจริญเหมือนอย่างท่าน แม้มิได้โอกาสเช่นนั้น เมื่อได้เห็นสมณนักบวชผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผ่านมาถึงประตูบ้านแล้ว ควรต้อนรับท่านตามสมควรแก่ฐานะในเวลานั้น ถ้าไม่สะดวกอีก พึงประนมมือนมัสการ แม้เมื่อไม่สามารถสักอย่างเดียว การใช้สายตามองดูท่านด้วยความเคารพ ด้วยจิตที่เลื่อมใส ก็นับว่าเป็นการพบเห็นเบื้องต้นในบุคคลผู้ประเสริฐ บทที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามเวลาเหมาะสม ในชีวิตประจำวันของคนเรา มีเรื่องที่ต้องพูดคุยกันมากมาย เช่นพรรณนาถึงเรื่องที่ผ่านพบมาว่า ที่นั่นมีภูเขา ที่นี่ไม่มี ที่นั่นมีต้นไม้มาก ที่นี่มีน้อย ที่นั้นมีน้ำตก ที่นั้นมีดินดำ ดินแดง มีกรวด มีทราย เป็นเพียงคำสักแต่ว่าพูด การพูดคุยกันในเรื่องเช่นนี้ เวลาย่อมหมดไปเปล่าไม่ได้ประโยชน์อะไร หากเป็นเรื่องนินทาส่อเสียดคนนั้นคนนี้ด้วยแล้ว ยิ่งเสียประโยชน์ใหญ่ เพราะเวลาย่อมหมดไป จิตใจก็ฟุ้งซ่านไม่สงบ มีความลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน แต่คนใดไม่เป็นอย่างนั้นเห็นเวลาเป็นของมีค่าเลือกหาเวลาที่เหมาะสม สนทนาธรรมกันดีกว่า ถามปัญหาและแก้ปัญหากันและกัน เช่นว่า ในเวลาที่มีจิตใจหดหู่ ท้อถอยซึมเศร้า หรือมีความฟุ้งซ่านรำคาญ หรือมีความลังเลสงสัยไม่อาจตัดสินใจได้ ควรจะรักษาใจอย่างไร จะแก้ไขด้วยวิธีใด และด้วยอาการอย่างไร การสนทนาธรรม เพื่อรู้ถึงเหตุและผลเช่นนี้มีประโยชน์อย่างเดียว เพราะเป็นเหตุได้ความฉลาด เฉียบแหลมได้ปรีชา ได้ปัญญา ได้ความเจริญแห่งชีวิต บทที่ ๓๑ ประพฤติตบะธรรม คนเราที่มีความประพฤติสั่งสมในเรื่องอะไรอยู่มาก ย่อมหมกมุ่นเพ่งเล็งอยู่ในเรื่องนั้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นอกุศล เช่น มีความโลภมากอยากได้ในวัตถุสิ่งของใดมากเกินไป ย่อมขวนขวายหามาโดยไม่เลือกทาง ต้องใช้กำลังกายกำลังใจอย่างมาก แม้โดยวิธีการอย่างทุจริตเพื่อให้ได้สมกับความอยาก เพราะไม่รู้เท่าทันตามความต้องการของใจ แม้เพียงเรื่องเดียวก็ทำให้เป็นทุกข์อยู่มาก ยิ่งเป็นไปในหลาย ๆ เรื่องยิ่งต้องเป็นทุกข์มากขึ้น เพราะเหตุนั้น คนเราจึงต้องประพฤติธรรมข้อหนึ่ง ชื่อว่า ตบะ เป็นดุจไฟที่ร้อน เพื่อเผาผลาญกิเลสคือความโลภมากอยากได้ ให้มอดไหม้ไปจากจิตและเพียรพยายามใช้เดชอำนาจนี้ ป้องกันมิให้กิเลสเศร้าหมองอย่างอื่น ๆ เข้ามาครอบงำ แต่ข้อสำคัญก็คือ ต้องสร้างจิตนั่นเองให้เป็น ตบะ ให้มีความเข้มแข็งอยู่ในตัวเอง มีความคงที่ จึงจะไม่ตกอยู่ในอำนาจของความเพ่งเล็ง เหมือนอย่างบ้าน เมื่อล้อมรั้วไว้แข็งแรงดีแล้ว ขโมยนอกบ้านก็ไม่อาจเข้ามาขโมยสิ่งของไปได้ ดังนั้น การประพฤติตบะธรรม จึงเป็นเหตุได้รับความสุขแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง บทที่ ๓๒ มีความประพฤติประเสริฐ ชีวิตที่มีความเจริญนั้น ต้องดำเนินไปโดยวิธีการที่เป็นประโยชน์แก่ตน และเป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่ทั้ง ๒ อย่างนี้ก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะฉะนั้น การประพฤติความดีทุก ๆ อย่าง ก็ชื่อว่าเป็นความประเสริฐในแต่ละอย่าง แล้วแต่ใครจะประพฤติได้มากเท่าไร ข้อที่ควรประพฤตินั้นก็คือ มนุษยธรรม ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ไม่ยื้อแย่งเอาของ ๆ ใคร ไม่ล่วงเกินในสิ่งที่รักของใคร ไม่หลอกลวงใคร ไม่หลงผิดมัวเมาตัวเองหรือใคร ๆ มีเมตตาบริจาคทาน แบ่งให้วัตถุสิ่งของแก่คนอื่น เป็นการบรรเทาความตระหนี่ของตนเอง และสิ่งของที่ให้ก็เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ใช้แรงกายช่วยเหลือการงานที่สมควรของคนอื่น ที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนเดียว และช่วยให้การงานนั้นสำเร็จได้เร็ว มีอัธยาศัยน้ำใจเอื้อเฟื้อ บอกทางแก่คนหลงทาง เมื่อตนถูกถาม และบอกสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้แก่คนที่ยังไม่รู้ แม้มิได้ถูกถาม เมื่อได้ประพฤติธรรมเช่นนี้ย่อมเป็นผู้ประเสริฐ บทที่ ๓๓ มองเห็นชีวิตตามความเป็นจริง ความจริงที่มีปรากฏอยู่ตามธรรมชาติของทุก ๆ สิ่ง มีเหตุมีผลเกี่ยวเนื่องกันเหมือนสายโซ่ เช่น เมื่อมีเมฆมากรวมตัวกัน มีความเย็นจัด ก็กลายเป็นฝน เมื่อฝนตกแผ่นดินก็เปียกชุ่ม เมื่อแสงแดดแผดเผา แผ่นดินชุ่มก็เหือดแห้ง นี้เป็ฯธรรมดาภายนอก ชีวิตของคนเราในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เป็นผลมาจากการกรรมที่เป็นบุญและกรรมที่เป็นบาปในอดีต จึงได้รับความสุขบ้างทุกข์บ้างในปัจจุบัน เพราะเหตุนั้น เมื่อปรารถนาผลอย่างใด ก็ทำกรรมที่เป็นบุญและกรรมที่เป็นบาปในปัจจุบันอีก ซึ่งเป็นเหตุของผลในอนาคตอีก เมื่อเรามองเห็นชีวิตตามความเป็นจริงว่า มีการหมุนเวียนแปรเปลี่ยนไปเพราะอำนาจของกรรม หวังจะให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ ก็ต้องปฏิบัติตนใน ๒ ลักษณะ คือ เมื่อกำหนดรู้ว่า ความลำบากกายความเศร้าหมองใจ เป็นความทุกข์มีมา เพราะความทะยานอยากดิ้นรนในกรรมที่เป็นบาปต้องเลิกละให้ได้ เมื่อกำหนดรู้ว่า ความสบายกาย สบายใจอย่างหยาบ และอย่างละเอียดคือใจผ่องใส เป็นความสุขมีมาเพราะไม่ยึดถือในสิ่งผิด ทำกรรมที่เป็นบุญ ต้องทำให้สม่ำเสมอมากขึ้นติดต่อกันไป ทั้งตอนต้น ตอนกลาง และสุดท้าย จึงจะได้ชื่อว่าเห็นชีวิตตามความจริง บทที่ ๓๔ ทำความเข้าใจในนิพพาน สภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์นั้น ทั้งหมดย่อมมีเหตุปัจจัยให้เกิดทั้งนั้น สิ่งใดที่เกิดมีขึ้นแล้ว มีผลเบื้องปลายเป็นส่วนดีแต่อย่างเดียว ย่อมเป็นที่น่าพอใจ สิ่งใดเกิดมีขึ้นแล้ว มีผลเป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่เสมอ ย่อมไม่เป็นที่น่าพอใจ ในสิ่งต่าง ๆ นั้นย่อมมีแก้กัน เมื่อมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ มีเกิดก็มีดับแก้ แต่สิ่งที่เกิดมาแล้วจะให้ดับไปโดยไม่เหลือ โดยไม่ให้เกิดอีกนั้นต้องตัดต้องทำลายมูลเหตุให้ขาดสูญไป เช่นพันธุ์พืชที่เจริญงอกงามได้ด้วยเมล็ด หากทำลายเมล็ดเสียแล้ว พันธุ์พืชนั้นก็ไม่อาจเจริญงอกงามต่อไปได้ คำว่านิพพานที่ใช้เรียกกันในพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน หมายถึงสภาพที่ออกไป สิ้นสูญไปของความทะยานอยาก ความทะยานอยากนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งหลาย ทั้งเล็กทั้งใหญ่ หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ดังนั้นคนเราจึงต้องทำความเข้าใจ มีความวางเฉยและดับเชื้อคือความทะยานอยากนี้ให้ได้ ก็จะไม่มีการเกิดให้ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป เหมือนไฟที่ลุกไหม้เชื้อ เมื่อมอดไหม้หมดแล้ว ไม่มีเชื้อเหลืออยู่ ก็ไม่อาจลุกไหม้อะไรต่อไปได้ บทที่ ๓๕ รักษาใจไม่ให้หวั่นไหว ธรรมชาติของโลกและของคนที่อยู่ในโลกา โดยทั่ว ๆ ไป ย่อมมีสูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่คงที่ ด้วยเหตุย่อ ๆ ๒ อย่าง คือ เพราะความชอบใจ และความไม่ชอบใจ บางคราวแสดงอาการเฟื่องฟูขึ้น เมื่อสูญเสียบุคคลที่รัก ทรัพย์สมบัติ หรือไม่ได้ทรัพย์สมบัติตามที่ต้องการก็มีอาการฟุบลง บางคราวได้รับเกียรติยศชื่อเสียง ความเป็นใหญ่มีคนนับถือสรรเสริญ ก็รู้สึกชอบใจ เมื่อต้องเสื่อมยศถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกนินทาว่าร้ายให้เสียหายก็รู้สึกไม่ชอบใจ บางคราวมีความสุขใจ เพราะมีปิติยินดี มีความเอิบอิ่ม หรือมีความสุขกาย เพราะได้กินอาหารดีมีรสอร่อย ได้นอนหลับสบาย ก็ต้องการเป็นไปอย่างนี้เสมอ แต่บางคราวได้รับความทุกข์ เพราะได้ผลตรงกันข้ามกับสุข ก็เดือดร้อนใจไม่อยากให้เป็นไปอย่างนั้น คนเราจึงมีความหวั่นไหว ไม่คงที่ มีความเป็นอยู่ไม่ปกติ โดยวิธีที่ถูกนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า สภาพเหล่านั้นไม่แน่นอน มีความแปรเปลี่ยนเป็นธรรมดา เป็นเหมือนกันอย่างนี้ทั้งหมด ไม่ยินดีเกิดไปเพราะสมหวัง และไม่ขัดเคืองเพราะผิดหวัง ปฏิบัติให้ได้โดยวิธีถูกต้องนี้ ชีวิตจึงจะไม่ตกต่ำ บทที่ ๓๖ มีใจไม่เศร้าโศก ความเศร้าโศกเสียใจของคนเรา ย่อมมีมาจากเหตุหลายอย่าง เช่น เพราะญาติผู้เป็นที่รัก หรือทรัพย์สมบัติถึงความพินาศ เพราะได้รับโทษจองจำ เป็นต้น เป็นสภาพที่ทำใจให้เสียหาย ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เมื่อเศร้าโศกอยู่ประจำบ่อย ๆ จะทำให้ใจไม่กล้าแข็งอดทนทำความดีได้ ดังนั้นจึงต้องทำตนให้มีความแกล้วกล้า รู้จักยอมรับรู้เข้าใจในความพินาศที่มาถึงโดยเหตุการณ์ต่าง ๆ กัน แล้วไม่ปล่อยใจให้เศร้าโศก เช่นภัยใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่ประจำสำหรับคนเรา หากจะเศร้าโศกอยู่ ก็ต้องเศร้าโศกจนตลอดชีวิต แต่จะหายเศร้าโศกได้ เพราะมคีความเข้าใจว่าเมื่อเขามาอย่างไร เขาก็ไปอย่างนั้น เรามิได้เชื้อเชิญมาและมิได้อนุญาตให้ไป เขาไปสุคติของเขาแล้ว เมื่อร่างกายใช้งานมาเต็มที่แล้ว ก็ต้องละทิ้งไป ร่างกายที่แตกตายไปก็เหมือนหม้อดินเผาที่แตกแล้ว ไม่อาจประสานให้ติดต่อกันได้ดังเดิม ความโศก นำสิ่งที่ล่วงเลยไปแล้วมาให้ไม่ได้ นำความสุขที่ยังไม่ถึงมาให้ก็ไม่ได้ คนโศกไม่ชอบใจในการกินอาหาร เมื่อถูกความโศกเบียดเบียนแล้วย่อมมีแต่ความสูญเสีย บทที่ ๓๗ ปราศจากธุลีกิเลส ความสะอาดเป็นความจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งโดยธรรมชาติทั่ว ๆ ไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนเรา อาหารอย่างใดที่ไม่สะอาด มีสิ่งปกปรกเจือปน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วทำให้ระบบในร่างกายเสีย และเมื่อมากขึ้น ๆ เป็นเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ในร่างกาย ที่อยู่อาศัยและเครื่องนุ่งหุ่ม ถ้าไม่สะอาด เช่นมีกลิ่นอับ กลิ่นเหม็น ก็ทำให้สุขภาพกาย สุขภาพใจไม่ดี เสื้อผ้าที่สกปรกทำให้ผิวกายเกิดเป็นโรคผิดหนัง ยารักษาโรคเพื่อกำจัดโรค จำเป็นที่สุดต้องสะอาดอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมีดหรือเข็มที่สกปรกเพียงเล็กน้อย เมื่อเกิดบาดทะยักขึ้นก็ทำให้คนป่วยถึงตายได้ ส่วนความสะอาดของใจย่อมมีความสำคัญเหนืออื่นใดหมด โดยสภาพของใจนั้น กล่าวกันว่ามีความผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่ต้องเศร้าหมองขุ่นมัวเพราะกิเลสทั้งหลายมากระทบ เมื่อใจถูกความอยากได้ ถูกความโกรธ และถูกความหลงไม่รู้จริงเข้าครอบงำ ใจก็ไม่ผ่องใส บันดาลให้แสดงออกมาทางกายเป็นความเสียหายไปหมด ดังนั้น จึงต้องระวังรักษาใจให้ปราศจากธุลีกิเลสเข้ามาครอบงำ หรือไม่ให้ใจฟุ้งไปด้วยแรงของธุลีกิเลส ด้วยความเข้าใจปฏิบัติเช่นนี้ย่อมมีสุคติเป็นที่หวัง บทที่ ๓๘ มีใจเกษม ความมืดโดยธรรมชาติ เป็นอุปสรรคทำให้คนมองไม่เห็นอะไร ความมืดบอดของดวงตา ยิ่งเป็นอุปสรรคมากกว่า เพราะแม้มีแสงสว่างภายนอกคนก็ยังมองไม่เห็นอะไร แต่กิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นความมืดที่ยิ่งใหญ่ เป็นอุปสรรคที่สุดของคน เพราะแม้มีแสงสว่างภายนอกแล้ว มีนัยน์ตาดีแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นความถูกต้อง เพราะฉะนั้น คนเราจึงควรพิจารณาเห็นโทษของความมืดใหญ่นี้ว่า ในเวลาใดความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นครอบงำคน ย่อมทำใจให้มีความกำเริบ ทำให้มองไม่เห็นภัยอันตรายใด ๆ ในเวลานั้น คนโลภ คนโกรธ คนหลง ย่อมไม่รู้จักเหตุ ไม่รู้จักผล ทำกรรมที่ก่อความพินาศเสียหายไร้ประโยชน์โดยส่วนเดียว เมื่อพิจารณาเห็นโทษแล้ว ต้องตัดต้องละต้องกำจัดให้ได้เด็ดขาด เพราะผู้ใดปฏิบัติละได้แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมเสื่อมสิ้นไป เหมือนหยดน้ำตกไปจากใบบัว เหมือนผลตาลสุกที่หลุดไปจากขั้ว และเหมือนดวงอาทิตย์ ทอแสงกำจัดความมืดให้หมดไป ผู้นั้น ย่อมมีชีวิตปราศจากภัย ได้ความปลอดโปร่งใจ ได้ความสุขสงบตลอดไป บทที่ ๓๙ ภาคผนวก ทางที่ประเสริฐ พระสัมพุทธตรัสมรรค.................ไว้เป็นหลักสำหรับชน ดำรงชีวิตตน.............................เป็นความชอบแปดประการ ความเห็นต้องไม่ผิด....................ดำริจิตกอปรด้วยญาณ วาจาไม่สามานย์..........................อีกการงานเว้นบาปกรรม อาชีพต้องสุจริต........................ความเพียรผิดงดกระทำ สติชอบประจำ...........................สมาธินั้นมั่นความดี ครบองค์อันประเสริฐ..................ผลบังเกิดตราบชีวี แห่งผู้ประพฤติดี.......................ตามมรรคาปาพจน์พร -------------------------------------------------------------------------------- พึ่งธรรม ชนใดหทัยมั่น.............................สละสรรพ์ ณ บาปกรรม ประกอบกุศลธรรม......................นมนำประเสริฐศรี กายพร้อมวจีจิต..........................สุจริตทวารตรี คุ้มครองสุชีวี..............................นรนั้นนิรันดร์กาล ธรรมแลจะรักษา..........................ครุวนา ณ พฤกษ์พรรณ แผ่กั้นรวีวรรณ............................อนุกูลมิต้องกาย เหตุนี้นราชาติ..............................ละประมาทและงมงาย ยึดธรรมประจำกาย......................มั่นเถิดประเสริฐแล -------------------------------------------------------------------------------- อุดมการณ์ชีวิต เมื่อเกิดเป็นคน............................ยากจนหรือมี ต้องทำความดี.............................ไว้เป็นพื้นฐาน เพื่อผลวันนี้................................หรือที่เนานาน สพสุขสำราญ..............................ชื่นบานดวงใจ เมื่อทำความดี..............................ต้องมีวิสุทธิ์ ตามแนวพระพุทธ.........................ดำรัสสั่งสอน กาย วาจา ใจ...............................ผ่องใสสุนทร ผลอันบวร..................................ประสพทุกกาล -------------------------------------------------------------------------------- วาจาสุภาษิต เมื่อเอ่ยวจี...................................มีสุภาษิต ผูกรักฝากมิตร.............................ดังจิตประสงค์ หนึ่งต้องถูกกาล............................กำหนดผจง สองสัจจะตรง..............................ตามพุทธบรรยาย สามกล่าวอ่อนหวาน........................ดุจตาลเอมโอช สี่มีประโยชน์.................................ไร้โทษที่หายน์ ห้ากล่าวด้วยจิต.............................เมตตาพร้อมกาย มวลชนหญิงชาย............................รักใคร่นิรันดร์ -------------------------------------------------------------------------------- บทที่ ๔๐ บทส่งท้าย ชน ๓ ระดับ นรพาล ดันดานหยาบ ตราบชีวิต หมู่บัณฑิต กอปรประโยชน์ โสตถิผล พระสัมพุทธ อริยะ มนวิมล ดำรงชนม์ ดุจร่มเงา ชาวโลกเอย -------------------------------------------------------------------------------- งานชุด มงคล ๓๘ นี้ ได้รับความอนุเคราะห์หนังสือจากคุณพี่ดอกสารภี ซึ่งได้จัดส่งมาให้ โดยหนังสือดังกล่าว ชื่อว่า ธรรมคู่ชีวิต ของ พระมหาสุรพล สุรพโล จัดพิมพ์โดย ชาวพุทธมูลนิธิ พุทธนิคม เชียงใหม่ -------------------------------------------------------------------------------- ข้อความตอนหนึ่งจากคุณพี่ดอกสารภี ถึง โก๋ ๒๐๐๐ ปี คุณโก๋คะ มงคลครบ ๓๘ ข้อค่ะ คงจะช่วยให้มงคลชีวิตได้นำเสนอโดยเร็วนะคะ จาก พี่ดอกสารภี ๕ มิถุนายน ๒๕๔๓ -------------------------------------------------------------------------------- ปณิธาน ผลดีใด ๆ ที่พึงมีจากหนังสือเล่มนี้ ขออุทิศผลดีนั้น ๆ แด่บุพการีผู้มีคุณ และผู้มีอุปการะเกื้อหนุนในปัจจุบัน พระมหาสุรพล สุรพโล -------------------------------------------------------------------------------- สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง