การเสนอร่างกฎหมายและการพิจารณา ให้ความเห็นทางกฎหมายภายในฝ่ายบริหาร

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
การเสนอร่างกฎหมายและการพิจารณา ให้ความเห็นทางกฎหมายภายในฝ่ายบริหาร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความกฎหมาย

การเสนอร่างกฎหมายและการพิจารณา ให้ความเห็นทางกฎหมายภายในฝ่ายบริหาร
[แก้ไข]
ส่วนที่ ๑ การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายบริหาร
        พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดให้ส่วนราชการมีหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบ และทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและประกาศ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อดำเนินการยกเลิก ปรับปรุง หรือจัดให้มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาวการณ์หรือสอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีแผนการจัดทำกฎหมายที่สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินการตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินแต่ละเรื่องสามารถดำเนินการได้โดยมีกฎหมายรองรับเพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จหรือไม่ ถ้าการปฏิบัติงานเรื่องใดจำเป็นต้องจัดให้มีกฎหมายสนับสนุนการปฏิบัติงานด้วยก็จะกำหนดเป็นแผนการดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐขึ้น เรียกว่า “แผนนิติบัญญัติ” โดยในแผนนิติบัญญัติจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีขึ้นใหม่ หรือกฎหมายที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกำหนดส่วนราชการผู้รับผิดชอบ และระยะเวลาในการดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เพื่อที่จะสามารถวางแผนการดำเนินการด้านกฎหมายตามลำดับความจำเป็นได้ถูกต้อง

 


[แก้ไข] ๑. การริเริ่มให้มีการเสนอร่างกฎหมายโดยหน่วยงานของรัฐ
         ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ริเริ่มให้มีการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี ดำเนินการดังนี้

        ๑.๑ การเสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติ

        หน่วยงานของรัฐจะเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติ หรือจะระบุเฉพาะรายละเอียดแห่งหลักการและสาระสำคัญที่ประสงค์จะให้มีในพระราชบัญญัติโดยไม่ต้องจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติก็ได้ โดยหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องจะต้องจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ดังนี้

         (๑) จัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

         (๒) จัดทำสรุปสาระสำคัญของหลักการในร่างพระราชบัญญัติ และ

         (๓) จัดทำตารางเปรียบเทียบในกรณีแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงพระราชบัญญัติที่มีอยู่แล้ว หรือในกรณีที่มิได้จัดทำร่างกฎหมาย ให้จัดทำตารางเปรียบเทียบหลักการและสาระสำคัญที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับอยู่ กับหลักการและสาระสำคัญที่เสนอใหม่

        ๑.๒ การเสนอร่างกฎหมายอื่นที่มิใช่พระราชบัญญัติ

        หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำเป็นร่างของกฎหมายนั้น โดยหน่วยงานเจ้าของเรื่องต้องจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ดังนี้

         (๑) จัดทำสรุปสาระสำคัญของหลักการในร่างกฎหมายนั้น และ

         (๒) จัดทำตารางเปรียบเทียบในกรณีแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุง

ภาพ:กรรก1.png
[แก้ไข] ๒. การตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย
         ๒.๑ การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

         โดยที่มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๗ (ฝ่ายกฎหมาย) ในกรณีที่การตรวจพิจารณาร่างระเบียบหรือร่างประกาศต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาควรพิจารณาร่วมกันเพื่อมอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจพิจารณาร่างระเบียบหรือร่างประกาศในบางเรื่อง โดยให้ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการดังกล่าว และไม่ต้องส่งร่างระเบียบหรือร่างประกาศให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา สำหรับองค์ประกอบและกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรองนายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งตามความเหมาะสมต่อไป


        ๒.๒ การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

         เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเพื่อให้มีการตรากฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ให้ส่งร่างกฎหมายนั้นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นหน่วยงานกลางด้านการร่างกฎหมายเพื่อตรวจสอบความจำเป็นในการที่จะต้องมีกฎหมาย และความชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

         (๑) ร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรับตรวจพิจารณา

         สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรับพิจารณาร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศ ที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีได้มีมติหรือคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการตรวจพิจารณาแล้วเท่านั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีรีบด่วน เมื่อหน่วยงานเจ้าของเรื่องส่งร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีโดยตรงเพื่อให้ตรวจพิจารณาเป็นการล่วงหน้า พร้อมๆ กับส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการขอมติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรี

         (๒) ผู้ตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย

        พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้คณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่หลักในการตรวจพิจารณากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศ เว้นแต่ในกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับแบบการร่างกฎหมาย หรือเป็นกฎหมายที่ไม่ซ้ำซ้อน หรือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด อาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ดำเนินการตรวจพิจารณาเองก็ได้

ภาพ:คณะรัฐมนตรี.png


         (๓) การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย

         เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งร่างพระราชบัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาหรือให้ยกร่างพระราชบัญญัติใดแล้ว ข้อพิจารณาประการแรกที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องดำเนินการก็คือ การตรวจสอบความถูกต้องของร่างพระราชบัญญัติตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายตามข้อ ๑๖ ของระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีหรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติใด หรือการมีหรือการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวจะไม่คุ้มค่าหรือเกิดผลเสียหายต่อรัฐหรือประชาชน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการายงานความเห็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเป็นประการใดก็ให้ดำเนินการไปตามมตินั้น


         (๔) การตรวจแก้ไขร่างกฎหมาย

        ในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางด้านการร่างกฎหมายสามารถพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงหลักการที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่ถ้าปรากฏว่า

         (ก) หลักการของร่างกฎหมายนั้นขัดกับหลักกฎหมายและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกระทบกระเทือนถึงกฎหมายอื่นในสาระสำคัญ ให้เสนอความเห็นให้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนในหลักการก่อน เว้นแต่เป็นเรื่องด่วนอาจพิจารณาไปก่อนและเสนอให้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีทบทวนหลักการก็ได้

         (ข) กรณีที่ผู้แทนส่วนราชการเจ้าของเรื่องขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมหลักการจากที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้แล้ว ถ้าเป็นหลักการสำคัญจะขอให้ผู้แทนส่วนราชการเจ้าของเรื่องหรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอหลักการนั้นให้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนที่จะดำเนินการต่อไป หรือจะแก้ไขตามที่เห็นสมควร แล้วให้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัยก็ได้

         (ค) ในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็นหรือมีความเหมาะสมที่จะต้องแก้ไขหรือจัดให้มีกฎหมายอื่นให้สอดคล้องกับร่างที่พิจารณา หรือเห็นว่าร่างกฎหมายไม่มีความจำเป็นเพราะมีกฎหมายในลักษณะเดียวกันใช้บังคับอยู่แล้ว หรือเพราะเหตุอื่นก็ให้เสนอความเห็นหรือข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป


         (๕) ขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย

        เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีคำสั่งให้ส่งเรื่องไปยังฝ่ายกฎหมายที่รับผิดชอบเพื่อเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะใดคณะหนึ่งเป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย โดยพิจารณาความเชี่ยวชาญตามคุณสมบัติของคณะกรรมการในคณะที่จะรับเรื่องไว้พิจารณา หรืออาจมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ขึ้น เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่ต้องการกรรมการซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือต้องมีการตรวจพิจารณาเป็นการเร่งด่วน ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนอาจมีคำสั่งให้ฝ่ายกฎหมายที่รับผิดชอบร่างกฎหมายนั้นเป็นผู้ดำเนินการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ต้องเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายก็ได้

         (ก) วาระการตรวจพิจารณา

        การตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย โดยปกติจะแยกการพิจารณาออกเป็นสามวาระ วาระที่หนึ่ง เป็นการพิจารณาหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่จะตรวจพิจารณาทั้งฉบับ วาระที่สอง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำของร่าง และวาระที่สาม เป็นการพิจารณาความถูกต้องของการแก้ไขเพิ่มเติม ในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสามวาระตามระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดทำและพิจารณาร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศ โดยกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา และในกรณีที่ร่างกฎหมายที่ตรวจพิจารณานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของเอกชน หากกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการรับฟังความเห็นของภาคเอกชนจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกาอาจเชิญผู้แทนของสถาบันฝ่ายเอกชนหรือบุคคลใดที่เห็นสมควรเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

         กรณีที่หน่วยงานเจ้าของเรื่อง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อให้การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นไปโดยรอบคอบและรวดเร็ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานต่างๆ ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม ให้กำกับให้ผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับแต่งตั้งให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องรายงานผลการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายให้ทราบทุกครั้งที่มีการประชุม เพื่อหากมีข้อสังเกตประการใดเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาจะได้แจ้งผ่านผู้แทนส่วนราชการนั้นทุกครั้งที่จะไปร่วมการประชุม เพื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้นำไปประกอบการพิจารณาตามข้อสังเกตดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและการยืนยันให้ความเห็นชอบเมื่อร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เป็นไปได้โดยรวดเร็วและสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ และวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๕


         (ข) การยืนยันร่างกฎหมาย

         คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ และวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๕ กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรีของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

         (๑) ในการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขเล็กน้อยเฉพาะถ้อยคำและผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่มาร่วมประชุมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว ให้ขอหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบในการแก้ไขจากอธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

         (๒) ในการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งเป็นหนังสือยืนยันเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติม

         (๓) ในการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีพิจารณาเพื่อให้เกิดข้อยุติให้ได้เสียก่อน หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยืนยันความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าวเป็นหนังสือ พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดพิมพ์ร่างกฎหมายเฉพาะมาตราที่เป็นไปตามความเห็นของหน่วยงานที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

         (๔) ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐทุกแห่งเมื่อได้รับร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ให้แจ้งความเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเร่งด่วน อย่างช้าไม่เกิน ๑๔ วัน ทั้งกรณีที่มีความเห็นชอบกับร่างกฎหมายนั้นหรือกรณีที่มีความเห็นแตกต่าง หากไม่แจ้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลที่ชัดเจนและช่วยให้การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นไปโดยเร็ว


         (ค) การส่งร่างกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

        ร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว จะเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา หากเป็นร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป หากเป็นกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับหรือประกาศ จะดำเนินการเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายตามกระบวนการต่อไป

_____________

 

[แก้ไข]
ส่วนที่ ๒ การพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย
_____________

        ๑. ความมุ่งหมายของการให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา

        ๑. เป็นการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งอาจเป็นกรณีที่ไม่เข้าใจตัวบทกฎหมาย หรือเป็นการขอให้วินิจฉัยแนวทางในการปฏิบัติราชการให้เป็นไปโดยถูกต้อง

        ๒. เป็นการวางระเบียบปฏิบัติราชการ

        ๓. เป็นการวินิจฉัยข้อโต้แย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐให้เป็นที่ยุติ

        ๒. ผู้ที่ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นได้

        บุคคล คณะบุคคล และหน่วยงานที่จะขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายได้ มีดังนี้

        ๒.๑ คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี

        ๒.๒ กระทรวง ทบวง กรม

        ๒.๓ รัฐวิสาหกิจ

        ๒.๔ คณะกรรมการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องโดยผ่านทางกระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการนั้นๆ

        ๒.๕ ผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะปัญหาตามกฎหมายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือรับผิดชอบ

        ๒.๖ คณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือประธานสภาท้องถิ่น เฉพาะปัญหาตามกฎหมายที่คณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือประธานสภาท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือรับผิดชอบ

        ๒.๗ ผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้ขอความเห็นทางกฎหมายเป็นการเฉพาะราย

        ดังนั้น เมื่อพิจารณากฎหมายและระเบียบดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าโดยปกติเอกชนไม่อาจขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีตาม ๒.๗

        ๓. ขอบเขตการรับเรื่องไว้พิจารณา

        อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นทางกฎหมายถือเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยทั่วไปคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรับพิจารณาให้ความเห็นเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือการให้ความเห็นเกี่ยวกับการกู้เงินต่างประเทศและการออกพันธบัตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ คือ

         ๓.๑ เรื่องที่เป็นไปตามขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดิน (ข้อ ๔)

        เรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายต้องเป็นเรื่องที่ได้มีการปรึกษาหารือระหว่างส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือรักษาการตามกฎหมายแล้ว แต่กรณีดังกล่าวมีข้อยกเว้นที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายได้ คือ กรณีเร่งด่วนหรือมีความจำเป็นอย่างอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมีมติหรือคำสั่ง

        แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขอความเห็นทางกฎหมายจะมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบนี้ ถ้าเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็น จะสั่งรับไว้เพื่อพิจารณาก่อน แล้วแจ้งให้ส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหรือรักษาตามกฎหมายทราบก็ได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็น ก็ให้ส่งเรื่องคืนไปยังส่วนราชการที่ขอความเห็นมาเพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้องก่อน (ข้อ ๕)

        ๓.๒ เรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นไว้แล้ว (ข้อ ๖)

        กรณีที่มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเดียวกันหรือในประเด็นที่อยู่ในลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบโดยส่งคำวินิจฉัยที่เคยมีมาแล้วไปให้โดยไม่ต้องดำเนินการให้มีการพิจารณาวินิจฉัยใหม่ก็ได้

        ในกรณีที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ซับซ้อนหรือเป็นเรื่องเร่งด่วนซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะสั่งให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้

        ๓.๓ เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล (ข้อ ๙)

        ๓.๔ เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสถาบันอื่นอยู่แล้วตามกฎหมาย และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าสมควรให้มีการดำเนินการตามกฎหมายนั้นก่อน เพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดิน (ข้อ ๙)

        ๓.๕ เรื่องซึ่งหากให้ความเห็นแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนในทางการเมืองหรือทางการต่างประเทศ (ข้อ ๙)

        อย่างไรก็ตาม กรณีตาม ๓.๑ ๓.๔ และ ๓.๕ ดังกล่าวข้างต้น มีข้อยกเว้นให้รับไว้พิจารณาได้ในกรณีเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา

        ๔. การรับฟังข้อเท็จจริง (ข้อ ๗)

         ในการพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเชิญบุคคลดังต่อไปนี้มาชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้

        ๔.๑ ผู้แทนกระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐวิสาหกิจเจ้าของเรื่อง

        ๔.๒ ผู้แทนกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณา ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควร

        ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าเรื่องที่พิจารณาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของเอกชน และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการฟังความคิดเห็นของเอกชนจะเป็นประโยชน์ จะขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เชิญผู้แทนของสถาบันฝ่ายเอกชนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นสมควรเข้าร่วมชี้แจงให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้


        ๕. การปฏิบัติเมื่อพิจารณาให้ความเห็นเสร็จ (ข้อ ๑๐)

        เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องใดเสร็จแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะแจ้งให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ที่ขอความเห็นมาทราบโดยเร็ว และส่งความเห็นดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเรื่องนั้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือเพื่อมีมติหรือคำสั่ง

        กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ขอความเห็นอาจขอให้ทบทวนปัญหาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะใดคณะหนึ่งได้วินิจฉัยไปแล้วอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ในกรณีนี้ให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการกฤษฎีกาสองหรือสามคณะเป็นการประชุมพิเศษ หรือจัดให้มีการประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปัญหานั้นได้

        ๖. มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

        มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานการให้ความเห็นทางกฎหมายต้องถือปฏิบัติ คือ

         ๖.๑ มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๑๑๓๑๐/๒๔๘๒ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นมติที่ระบุถึงผลการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น

         ๖.๒ มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร. ๐๒๐๓/๓๒๓๗๐ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นมติที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจขอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยสั่งการเป็นมติให้นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องใดที่มีลักษณะเป็นระเบียบปฏิบัติราชการทั่วไปหรือจะมีผลเป็นแนวบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย