ผู้หญิงไทยกับภัยอาชญากรรมทางเพศ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความวิชาการเรื่อง"ผู้หญิงไทยกับภัยอาชญากรรมทางเพศ"

ผู้หญิงไทยกับภัยอาชญากรรมทางเพศ


        บทความนี้เป็นการนำเสนอผลการวิจัยทางสังคมศาสตร์ จากการเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์ผู้กระทำผิดทางเพศคดีข่มขืนในเรือนจำต่างๆทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 12 แห่ง โดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น ได้กลุ่มตัวอย่าง รวม 444 ราย และทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้กระทำผิดทางเพศจำนวน 10 ราย และเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ จำนวน 7 ราย

        โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ลักษณะ บุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ สถานที่ ช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูง และสถานการณ์ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมของผู้ที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของผู้กระทำผิด และแสวงหาแนวทางการป้องกันผู้หญิงมิให้ตกเป็นเหยื่อการถูกข่มขืน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

        สังคม: พบว่าผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่เป็นหนุ่มโสด มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ แต่มีงานทำเป็นกิจลักษณะ ระดับการศึกษาต่ำ ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา ขาดความผูกพันกับบทบาทหน้าที่ทางสังคมของตน โดยเฉพาะในฐานะบิดา ลุง/น้า ที่มีต่อบุตร/หลานสาวในฐานะ "ผู้ชาย" และ "ผู้ใหญ่" ของสังคม

        วัฒนธรรม: ได้รับวัฒนธรรมรองและค่านิยมทางสังคมแบบชายเป็นใหญ่มาเป็นแบบแผนปฏิบัติ มีและใช้อำนาจที่อยู่เบื้องหลังบทบาทความเป็นชาย กระทำต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมกัน และปฏิบัติต่อหญิงราวกับทรัพย์สินที่ซื้อขาย แลกเปลี่ยนและแบ่งปันแก่เพื่อนชายด้วยกัน

        พฤติกรรม: พบว่ากระบวนการขัดเกลาสู่ความเป็น "ตัวตน" ของผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้มีความบกพร่อง ไม่สามารถควบคุมความต้องการและยับยั้งชั่งใจได้ มีการแสดงพฤติกรรมสำส่อน ด้วยการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน และบ้างก็กระทำความผิดผ่าน "สุราและยาเสพติด" ที่แปรสภาพสารเคมีภายในร่างกายไปจากปกติ

        จิตใจ: ผู้กระทำผิดทางเพศมีความต้องการได้รับการตอบสนองแรงขับทางเพศสูง ขณะที่มีความรู้สึกยับยั้งชั่งใจต่อความผิดบาปที่กระทำในระดับต่ำและ "ขาดมุทิตาจิต" (Victim Identification) ต่อเหยื่ออาชญากรรม

        กล่าวโดยสรุป "ผู้หญิง" กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนในสังคมไทย คือ กลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี เป็นนักเรียน นักศึกษา ถูกข่มขืนที่บ้านเพื่อนหรือบ้านคนรู้จัก โดยคนรักเพื่อนหรือคนรู้จัก ในช่วงเวลา 22.00-02.00 น. ซึ่งผู้กระทำผิดทางเพศสนใจเด็กผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาดี (หุ่นดี-ขาวอวบ-ขาสวย-หน้าอกใหญ่) แต่งกายล่อแหลม (นุ่งสั้น-รัดรูป-เสื้อ/ชุดบาง-สายเดี่ยว/เกาะอก) และไม่ระมัดระวังตัว (ยอมติดตามไปด้วย-ใกล้ชิดสนิทสนม-เหยื่อมีอาการมึนเมา-ผ่านมาในที่เปลี่ยวตามลำพัง) ตามลำดับ


บทนำ

        ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องทางเพศแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม สังคมไทยก็เช่นเดียวกับหลายๆสังคม ที่มีทัศนะและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ว่า บรรดาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นเรื่องลับ ที่ไม่น่าพูดถึงในที่เปิดเผยในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่ขณะเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่ก็แสดงอาการอยากรู้อยากเห็นต่อเหตุการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏมี "การข่มขืนกระทำชำเรา" (Rape) ซึ่งเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่มีความรุนแรงที่สุดในอาชญากรรมประเภทอาชญากรรมทางเพศ (Sexual Offense) เกิดขึ้น เนื่องจากสภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน โดยผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือ "เหยื่อ" (Victim) ไม่คาดคิดมาก่อน และผลจากการกระทำอาชญากรรมดังกล่าวได้ทำลายเหยื่อทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ร้าวลึก และฝังใจจำ ด้วยการใช้กำลังบังคับทางกาย และการบีบบังคับทางจิตใจ ทั้งพฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความวิตกกังวล หวาดหวั่น น่าสะพรึงกลัว และรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ไม่ไว้วางใจแก่ผู้คนในสังคมทุกครั้งที่มีข่าวอาชญากรรมทางเพศในเรื่องของการข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้น

        อย่างไรก็ตาม การที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนในทุกสังคม แม้แต่ในสังคมอเมริกันที่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เป็นการกระทำที่ยอมรับได้ก็ยังเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียหาย และสังคมไม่อาจปล่อยให้ใครๆ มาล่วงละเมิดทางเพศต่อกันได้ง่ายเกินไป

        ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสภาพความเชื่อของสังคมไทย ที่นิยมให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว และครองตนให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะแต่งงานมีครอบครัวนั้น หากผู้หญิงถูกข่มขืนย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเสียหายร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ในความรู้สึกของคนในสังคมแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลข้อสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุคดีเกี่ยวกับความผิดทางเพศ ได้แก่ข่มขืนกระทำชำเรา และอนาจารทั่วประเทศ พบว่าสถิติดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

        โดยปี 2540-2542 มีจำนวน 3,741 4,999 และ 7,936 ราย ตามลำดับ เฉลี่ยทุก 1 ชั่วโมง ผู้หญิงและเด็กจะถูกข่มขืนกระทำชำเรา ทำร้ายร่างกายและอนาจาร 1 คน และเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีถูกข่มขืนเฉลี่ยวันละ 2 ราย

        นอกจากนี้มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้รวบรวมข้อมูลภัยทางเพศจากหนังสือพิมพ์พบว่า มีข่าวภัยทางเพศระหว่าง พ.ศ.2540-2542 ทั้งสิ้น 603 กรณี โดยผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด 11 ปี มากที่สุด 106 ปี ส่วนผู้กระทำอายุน้อยที่สุด 11 ปี มากที่สุด 85 ปี และเฉพาะคดีข่มขืนกระทำชำเราปรากฏว่ามีจำนวนผู้กระทำผิดทางเพศ ที่ศาลพิพากษาว่ากระทำผิดจริงและลงโทษจำคุกอยู่ในปัจจุบันมากเป็นอันดับ 4 ของคดีประเภทต่างๆ คือร้อยละ 3.65 หรือจำนวน 4,396 ราย ดังปรากฏตามสถิติกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2543

        ซึ่งหมายความว่า มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำผิดเหล่านี้มากในจำนวนพอๆกัน โดยถูกข่มขืนทั้งแบบตัวต่อตัว (Single Rape) โทรมหญิง (Group Rape) ฆ่าข่มขืน (Felony Rape) ข่มขืนภายในครอบครัว (Incest) และข่มขืนคู่รัก (Rape with in lover) เป็นต้น

การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นการกระทำที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายแง่มุม กล่าวคือ

- มองในแง่กฎหมาย พฤติกรรมนี้ถูกจัดว่าเป็นอาชญากรรมอันเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ ผู้กระทำต้องได้รับโทษจำคุก

- ในแง่จิตวิทยาจัดว่าเป็นการแสดงออกทางเพศของบุคคลที่ผิดปกติ ซึ่งสัมพันธ์กับความบกพร่องของพัฒนาการทางเพศและจิตใจของบุคคล

- ในแง่สังคมวิทยาโดยเฉพาะในสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เราพบว่าทั้งๆที่ค่านิยมและพฤติกรรมบางอย่างของคนในสังคม เกี่ยวกับเรื่องทางเพศเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่บรรทัดฐานของสังคมในรูปลักษณ์ของกฎหมาย ยังคงใช้ตามบรรทัดฐานสังคมแบบเดิม

        ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่การเข้าใจและปฏิบัติ ดังเช่นความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมกดขี่ทางเพศแต่เดิม ไปสู่การเคารพสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางเพศระหว่างหญิงชายในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดการหลงยึดติดในบทบาทท่าทีแบบเดิมของเพศชายที่มีต่อเพศหญิง รวมทั้งการที่สื่อต่างๆ ได้มีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยเรื่องราวทางเพศมากขึ้น ขณะที่กฎหมายยังคงมีข้อกำหนดแบบเดิมไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นปัจจุบัน จึงปรากฏปัญหาอาชญากรรมทางเพศที่รุนแรงดังที่เป็นอยู่

        เป็นเรื่องที่น่าตระหนกที่ การศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อที่ถูกข่มขืน กระทำชำเรา ของผู้หญิงกลุ่มนี้กระทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่ไม่แจ้งความดำเนินคดี เพราะเกิดความอับอายต่อเรื่องเสียหายของตน ทำให้คดีข่มขืนกระทำชำเราส่วนหนึ่งไม่ปรากฏต่อสังคม หรือถึงแม้ว่าเหยื่อจะแจ้งความก็ตาม

        แต่การที่เหยื่อถูกพนักงานสอบสวน และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมสอบสวน และซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนใจเหล่านี้จากเหยื่อนั้น พบว่า เหยื่อมักสะเทือนใจไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และการสัมภาษณ์อาจกลายเป็นการตอกย้ำยังความลำบากใจให้เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการข่มขืนซ้ำซ้อนแก่เหยื่อที่อาจจะอยากลืมเรื่องราวต่างๆโดยเร็ว

        จากข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้การศึกษาวิเคราะห์ลักษณะของเหยื่อ สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ และปัจจัยต่างๆที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในลักษณะนี้ อยู่ในแวดวงค่อนข้างจำกัด ทำให้การที่จะนำผลการศึกษาวิจัยไปใช้ในการป้องกันมิให้ผู้หญิงตกอยู่ในสถานการณ์ หรือศึกษาองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยเสี่ยงครบวงจร แก่การตกเป็นเหยื่อการข่มขืนกระทำชำเราในปัจจุบัน จึงไม่อาจกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        ดังนั้นผู้วิจัยจึงใคร่ศึกษาเรื่องอาชญากรรมทางเพศ เฉพาะคดีข่มขืน จากปัจจัยเงื่อนไข และมุมมองของอาชญากรผู้ทำการข่มขืน หรือ "ผู้กระทำผิดคดีข่มขืนที่เป็นนักโทษเด็ดขาด" ว่า บุคลเหล่านี้มีความคิดเห็น ความรู้สึก และวิธีการเลือกเหยื่อของเขาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีปัจจัยใดบ้างที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง ต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปใช้ในการป้องกันผู้หญิง มิให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในคดีข่มขืนกระทำชำเรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ในการป้องกันอาชญากรรมทางเพศให้ลดลง รวมทั้งเพื่อจะได้มีข้อมูลทางอาชญาวิทยา ในบริบทของสังคมไทย ใช้ในการเรียนการสอนทางด้านอาชญาวิทยา และงานยุติธรรมและวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

        สรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยพบข้อมูลหลายลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย สรุปได้ดังนี้

1. ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ผู้กระทำผิดทางเพศ"

        ผู้กระทำผิดทางเพศที่ถูกจับกุมดำเนินคดี และต้องโทษจำคุกในเรือนจำทั่วประเทศนั้นส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่ม อายุระหว่าง 19-25 ปี อายุเฉลี่ย 25 - 36 ปี. ผู้กระทำผิดอายุต่ำสุด 13 ปี สูงสุด 74 ปี แต่กลุ่มอายุที่มีการกระทำผิดทางเพศมากที่สุด คือ 19 ปี มีการศึกษาไม่เกินการศึกษาภาคบังคับคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีภูมิลำเนาเป็นคนภาคกลาง ยังเป็นโสด ประกอบอาชีพรับจ้าง และเกือบทั้งหมดมีอาชีพการงานมิใช่คนตกงานหรือว่างงาน นับถือศาสนาพุทธ ติดบุหรี่ ดื่มสุราเป็นครั้งคราว กระทำความผิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก และมีผู้ที่กระทำผิดซ้ำในความผิดทางเพศเพียงร้อยละ 8.3 ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมการกระทำผิดทางเพศ วิเคราะห์สรุปได้ว่า

        สังคม: พบว่าผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ แต่มีงานทำเป็นกิจลักษณะ และไม่มีกิจนิสัยเสียหายในเรื่องเกี่ยวกับการทรัพย์ ระดับการศึกษาต่ำ ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง ขาดทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิงที่เป็นเพื่อน ญาติ และบุตรสาว ขาดความผูกพันกับบทบาทหน้าที่ทางสังคมของตน โดยเฉพาะในฐานะบิดา ลุง/น้า ที่มีต่อบุตร/หลานสาวในฐานะ "ผู้ชาย" และ "ผู้ใหญ่" ที่มีหน้าที่ทางสังคมในการปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสนับสนุนให้ "เด็กผู้หญิง" ได้เติบโต ก้าวข้ามมิติแห่งวัยสู่ภาวะที่เหมาะสมแก่การครองเรือนที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

        วัฒนธรรม: ได้รับวัฒนธรรมรองในการกระทำผิดจากครอบครัว กลุ่มเพื่อน สังคมผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งรับเอาค่านิยมทางสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และหญิงคือผู้อ่อนแอกว่าที่ต้องรองรับอารมณ์ความรู้สึกของตนในทุกกรณี มาเป็นแบบแผนปฏิบัติ มีและใช้อำนาจที่อยู่เบื้องหลังบทบาทความเป็นชาย กระทำต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมกัน บ้างก็ปฏิบัติราวกับทรัพย์สินที่ซื้อขาย แลกเปลี่ยนและแบ่งปันแก่เพื่อนชายด้วยกัน

        พฤติกรรม: พบว่ากระบวนการขัดเกลาสู่ความเป็น "ตัวตน" ของผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้มีความบกพร่อง บ้างก็มีวิถีชีวิตที่ขัดหรือแย้งกับบรรทัดฐานสังคมทั่วไป โหดเหี้ยม ทารุณ ไม่สามารถควบคุมความต้องการและยับยั้งชั่งใจได้ โดยลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกผสมผสานระหว่างการทำร้ายร่างกายเพศที่อ่อนแอกว่า

        เช่นเดียวกับที่บิดาแสดงบทบาทของเพศชายต่อมารดา โดยเฉพาะเรื่องทางเพศส่วนที่เป็นสันดานดิบได้แสดงออกอย่างชัดเจน "เด็กหญิงหรือลูกสาว" ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนเพียงเพื่อแก้แค้นมารดาเด็ก โดยลืมบทบาทความเป็น "บิดา" ของตนขณะกระทำ มีการแสดงพฤติกรรมสำส่อนด้วยการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน หรือแบ่งผู้หญิงให้เพื่อน

        โดยผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่เริ่มต้นประสบการณ์ทางเพศของตนจากการซื้อบริการของหญิงขายบริการ จึงเรียนรู้พฤติกรรมและบทบาททางเพศในรูปแบบหนึ่ง ที่อาจไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ปฏิบัติในสังคม เมื่อเกิดรักใคร่ชอบใจผู้หญิงทั่วไป

เหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรู้สึกเหยียดหยาม ดูถูก แก้แค้น เห็นผู้หญิงเป็นเสมือนวัตถุสิ่งของ ที่ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้ชาย ขาดทักษะและการฝึกหัดเรียนรู้ที่ถูกที่ควร และบ้างก็กระทำความผิดผ่าน "สุราและยาเสพติด" ที่แปรสภาพสารเคมีภายในร่างกายไปจากปกติ

        จิตใจ: สังคม วัฒนธรรม และค่านิยมของสังคม ล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและจิตใจของสมาชิกสังคมอย่างมาก กรณีดังกล่าวส่วนใหญ่เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้กระทำผิดทางเพศมีความคับข้องใจมาก มีความต้องการที่เกิดจากแรงขับทางเพศสูง และมีความรู้สึกยับยั้งชั่งใจต่อความผิดบาปที่กระทำในระดับต่ำ แรงผลักดันของ Id มีอำนาจเหนือการตัดสินใจกระทำพฤติกรรมต่างๆมากกว่ามโนธรรมหรือ Superego ทำให้ตัดสินใจกระทำการต่างๆไปตามวิถีจิตที่จดจ่อกับโทสะ (โกรธแค้นมารดาของเหยื่อ/เหยื่อและต้องการแก้แค้น) โมหะ (มีความต้องการทางเพศและหลงให้ความสำคัญกับอำนาจความเป็นชายที่เหนือกว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ เมื่อใช้ความรุนแรงกระทำต่อชีวิตและร่างกายของเหยื่อ รวมทั้งมีความกลัวโทษทัณฑ์ จึงทำการฆ่าเหยื่อผู้เป็นบุคคลคนสำคัญที่สุดแห่งคดี) และโลภะ (มีความอยากไม่มีที่สิ้นสุด) ซึ่งเรียกความรู้สึกของจิตใจเหล่านี้รวมกันได้ว่าเป็นความรู้สึก "ขาดมุทิตาจิต" (Victim Identification) ต่อเหยื่ออาชญากรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิดทางเพศและเหยื่อ:

        ส่วนใหญ่ทั้งผู้กระทำผิดทางเพศและเหยื่อรู้จักกัน และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก่อนในฐานะบิดา-บุตร ญาติ คนรัก เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จักกัน มีบางรายที่ผู้กระทำผิดทางเพศพบเห็นและนิยมชมชอบเหยื่อฝ่ายเดียว โดยเหยื่อไม่มีโอกาสทราบว่าตนกำลังอยู่ในสายตาของอาชญากรทางเพศ เมื่อช่องโอกาสอำนวย ก็ทำให้เหยื่อพลาดพลั้งเสียทีผู้กระทำผิดทางเพศผู้จ้องฉวยโอกาสได้ง่าย

        กล่าวโดยสรุปได้ว่า ไม่มีลักษณะร่วมตายตัวที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการข่มขืน โทรมหญิง หรือฆ่าข่มขืน แต่มีความสัมพันธ์น่าสนใจบางประการที่ผู้กระทำผิดทางเพศมีร่วมกัน คือ ผู้กระทำผิดทางเพศ เป็นชายที่อยู่ในบริบทวัฒนธรรมและค่านิยมเดียวกัน ผู้กระทำผิดทางเพศรู้จักเหยื่อของตน ขณะที่เหยื่ออาจไม่รู้จักผู้กระทำผิดทางเพศ ผู้กระทำผิดทางเพศไม่สามารถควบคุมยับยั้งพฤติกรรม ที่เกิดจากแรงขับทางเพศของตนไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมด้วยสติสัมปัญชัญญะ หรือควบคุมผ่านสุรายาเสพติดที่ได้เสพไปก่อนเกิดเหตุก็ตาม ผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้เล็งเห็นผล และประสงค์ต่อผลที่ต้องการบรรลุถึงของตน โดยไม่สนใจว่าเหยื่อจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม หรือไม่สนใจความรู้สึกของเหยื่อในฐานะมนุษย์ ลูก หลาน หรือเพื่อนพ้องของตน ผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้เลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงที่ยังบริสุทธิ์ หรือเสี่ยงต่อโรคภัยน้อยที่สุด เนื่องจากกลัวภัยอันตรายที่มาถึงตนทั้งด้านสุขภาพอนามัย และอิสรภาพ คือกลัวเป็นเอดส์และส่วนใหญ่หนีหรือฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปาก เพราะกลัวเหยื่อซึ่งเป็นพยานคนสำคัญจะชี้ตัวได้ถูกต้อง ซึ่งเป็นความต้องการที่เห็นแก่ตัวประสงค์แต่จะได้ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงว่าของเขตความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของตนนั้น ไปรอนสิทธิหรือล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสังคมหรือไม่อย่างไร


2 ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "พฤติกรรมการกระทำผิด"

        พบว่าการเกิดอาชญากรรมทางเพศ มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความรู้จักสนิทสนมคุ้นเคย ระหว่างอาชญากรและเหยื่อ กล่าวคือ เหยื่อกับผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่รู้จักกันมาก่อน และมีความสัมพันธ์กันในฐานะใดฐานะหนึ่ง คือเป็นเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จักกัน รวมทั้งเป็นคนรัก แฟน ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ตลอดจนบุตร บุตรติดภรรยา หลาน และญาติ มากกว่าข่มขืนเหยื่อที่ไม่รู้จักกันมาก่อน

        นอกจากนี้ อาชญากรรมทางเพศส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตระเตรียมการมาก่อน การข่มขืนเกิดขึ้นจากการตัดสินใจโดยฉับพลัน ประกอบกับช่องโอกาสเอื้ออำนวย ช่วงเวลาเหมาะสม และสถานที่เหมาะสมเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อเหยื่อกับผู้กระทำผิดทางเพศอยู่ในมิติที่โอกาส เวลา และสถานที่ประจวบเหมาะ ทาบซ้อนเป็นวงเดียวกัน จะมี "การตัดสินใจกระทำ"และ "การยับยั้งชั่งใจ" เป็นตัวชี้ขาดว่าการข่มขืนจะเกิดขึ้นหรือไม่

เป็นข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจที่ทราบว่า อาชญากรรมทางเพศส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง (เหยื่อยินยอม) เนื่องจาก

1) เหยื่อมีความอ่อนแอทางชีวภาพ


2) เหยื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นในสังคมที่ผ่านมาว่า ถ้าดิ้นรนต่อสู้ก็มักเจ็บตัวเปล่า เพราะผู้กระทำผิดทางเพศจะหันมาใช้กำลังรุนแรงในการควบคุมแทนด้วยวิธีการต่างๆ และได้ชัยชนะในที่สุด


3) ผู้กระทำผิดทางเพศมีอำนาจอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่แสดงออก ได้แก่อำนาจจากการเป็นผู้ปกครอง ผู้อุปการะ บิดา จำนวนคนที่มากกว่า (กรณีโทรมหญิง) มีอาวุธ รวมทั้งมีพละกำลังเหนือกว่า


4) เหยื่อบางรายอาจมีความประสงค์แอบแฝงในการ "ทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อการข่มขืน" และแจ้งความดำเนินคดี เช่น เพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ หรือ เพื่อแก้แค้นการสลัดรัก ฯลฯ และ


5) ผู้กระทำผิดทางเพศรับสัญญาณที่ผิดพลาดจากเหยื่อ โดยทึกทักเอาเองว่าปฏิกิริยาการดิ้นรนหนีของเหยื่อคือการสมยอม ทั้งนี้ความผิดพลาดของสัญญาณอาจเกิดจากฤทธิ์สุรา ยาเสพติด ผสมผสานกับการขาดสติสัมปชัญญะ

        อนึ่ง พบว่าพฤติกรรมการกระทำผิดทางเพศคดีข่มขืนมีลักษณะเป็น Paradox ที่ขัดแย้งกันเอง ระหว่างการมีความเมตตากรุณาต่อคนในกลุ่มเดียวกัน (In-group) มากกว่าที่มีต่อคนนอกกลุ่ม (Out-group) ซึ่งเป็นธรรมชาติของพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ แต่ขัดแย้งกับการที่การข่มขืนส่วนใหญ่ ถูกกระทำโดยคนใกล้ชิดในกลุ่มเดียวกันมากกว่าคนนอก

        ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าสังคมปัจจุบันมีการนำมโนทัศน์ที่ตรงกันข้ามมาใช้ผิดที่ผิดทาง คือนำแนวคิด "การแข่งขัน" (Competition) ซึ่งควรใช้กับคนนอกกลุ่ม (เพราะเป็นวิธีคิดและวิธีการที่ต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ในทุกวิถีทาง) มาใช้กับครอบครัวและคนในกลุ่มเดียวกันแทนแนวคิด "การร่วมมือร่วมใจ" (Cooperation) ที่ทุกครอบครัวควรมีไว้เป็นพื้นฐานสำคัญ เมื่อวิเคราะห์สาเหตุของการข่มขืนในโลกทัศน์ของผู้กระทำผิดทางเพศ พบว่า ผู้กระทำผิดทางเพศ ระบุว่าตนกระทำไปเพราะขาดความยับยั้งชั่งใจ เป็นการทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ และเมื่ออารมณ์สงบลงก็มักจะนึกเสียใจภายหลัง

        สาเหตุอันดับรองลงมาระบุว่า กระทำผิดเนื่องจากไม่รู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตามนั้น กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด และมีโทษจำคุก โดยไม่ปรากฏว่าได้รับการศึกษาอบรมในเรื่องเกี่ยวกับโลก ชีวิต มรรยาทการเข้าสังคมพื้นฐาน ฯลฯ อื่นใด ผู้คนเหล่านี้จึงเรียนรู้แบบแผนพฤติกรรมทางสังคมจากเพื่อนๆในวงสุรา หน้าจอโทรทัศน์ และเรียนรู้พฤติกรรมทางเพศผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ลามก ที่ผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.9) ระบุว่า "สมัยนี้หาสื่อลามกอ่าน/ชมได้ง่าย"และประเด็นที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การที่ผู้กระทำผิดทางเพศและสังคมส่วนรวมคิดว่า "การติดคุก" เป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรม เนื่องจากกระบวนทัศน์เดิมที่ครอบงำความคิดผู้คนในสังคมว่า "อาชญากรรม คือ การกระทำผิดอันเป็นการล่วงละเมิดต่อรัฐ" ซึ่งที่จริงแล้ว "อาชญากรรม คือ การกระทำผิดระหว่างบุคคลต่อบุคคล" ด้วย ดังนั้นการติดคุกจึงเป็นโทษที่ต้องรับในฐานะกระทำผิดต่อรัฐ ขณะเดียวกันผู้กระทำผิดทางเพศก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อการชดใช้ค่าเสียหาย แก่เหยื่ออาชญากรรมที่ตนประกอบขึ้นด้วยเช่นกัน แนวคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงดังกล่าว ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมถูกเบียดออกจากระบวนการยุติธรรม และไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลเยียวยาแต่อย่างใด

3 ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "เหยื่ออาชญากรรมทางเพศ"

        เหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืน ส่วนใหญ่เป็นสาวแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี รองลงมาเป็นเด็กสาววัยรุ่น อายุระหว่าง 16-20 ปี อายุเฉลี่ย 16.79 ปี เด็กหญิงอายุน้อยที่สุดที่ถูกข่มขืน คือ เด็กหญิงอายุ 2 ปี และเหยื่อคดีข่มขืนที่อายุมากที่สุด คือ หญิงวัยกลางคนอายุ 43 ปี โดยระดับอายุของเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนที่ได้รับความนิยมตกเป็นเหยื่อมากที่สุด คือ เด็กสาวอายุ 15 ปี ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มหญิงในวัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ โดยที่เหยื่อกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นโสด มีท่าทีสองลักษณะคือ กลุ่มแรกเป็นคนเรียบร้อย โดยในวันเกิดเหตุแต่งกายใส่เสื้อกางเกงรัดกุม และรองลงมา กลุ่มที่สอง มีลักษณะใจแตกชอบสนุก ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือนุ่งสั้น ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา

        ขณะที่กลุ่มเสี่ยงจากการวิจัยเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ของสุบรรณ์ พันธ์วิศวาส และคณะ (2528) มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยสามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบได้ดังนี้

การเปรียบเทียบลักษณะของเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนในบริบทสังคมไทย ในช่วงกาลเวลาที่แตกต่างกัน 16 ปี


ลักษณะของเหยื่ออาชญากรรมปี พ.ศ. 2528 อายุ: ส่วนใหญ่ระหว่าง 16-20 ปี, รองลงมามีอายุระหว่าง 11-15 ปี ช่วงอายุที่พบว่าถูกข่มขืน: คือต่ำกว่า 3 ปี และสูงกว่า 80 ปี 2222222 อาชีพ: รับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัท

ลักษณะของเหยื่ออาชญากรรมปี พ.ศ. 2544 อายุ: ส่วนใหญ่ระหว่าง 11-15 ปี, รองลงมามีอายุระหว่าง 16-20 ปี ช่วงอายุที่พบว่าถูกข่มขืน: คือ 2-43 ปี อาชีพ: นักเรียนนักศึกษา (ร้อยละ48.4) รองลงมาอาชีพรับจ้างใช้แรงงาน

        จากการเปรียบเทียบ พบข้อมูลที่แตกต่างกันซึ่งน่าสนใจ คือ กลุ่มอาชีพของเหยื่ออาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงจากกลุ่มหญิงสาว ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัท เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เป็นนักเรียนนักศึกษา และรองลงมาคือ กลุ่มอาชีพรับจ้างใช้แรงงาน ขณะที่ในปัจจุบันกลุ่มหญิงที่เป็นพนักงานเสริฟ ร้านอาหาร/คลับ/บาร์ ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ มีเพียงร้อยละ 5.6 เท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มอาชีพของเหยื่ออาชญากรรมในสังคมเดิม ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม หลายประการ ดังนี้

ประการแรก กลุ่มอายุของเหยื่อการถูกข่มขืนมีลักษณะผันผวนเปลี่ยนแปลงสลับกันคือเด็กหญิงที่ถูกข่มขืนมีอายุน้อยลง คือเปลี่ยนจากกลุ่มสาววัยรุ่น อายุระหว่าง 16-20 ปี (จากข้อมูลเมื่อ 16 ปีที่แล้ว) มาเป็น กลุ่มเด็กสาวแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี ในปี 2544 แทน แสดงว่ากลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่นในปัจจุบัน เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนมากกว่าเมื่อยุคสมัย 16 ปีที่แล้ว


ประการที่สอง แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 11-15 ปี ในสมัยศตวรรษที่ 21 ตอนต้นนี้ มีการศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น มีการออกนอกบ้านเพื่อศึกษาเล่าเรียนในระบบการศึกษาของรัฐอย่างแพร่หลาย และคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูง คนรู้จัก ตลอดจนคนรักที่เป็นเพื่อนต่างเพศอย่างอิสระเสรี ซึ่งกลุ่มดังกล่าว กลับกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศมากยิ่งขึ้น

        ขณะที่แต่เดิมนั้นเด็กผู้หญิงจะถูกปกป้อง ทะนุถนอมในการอบรมเลี้ยงดูมากกว่าปัจจุบัน ที่ต้องออกไปเผชิญสังคมโลกด้วยตนเองและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ลองผิดลองถูกจากประสบการณ์ชีวิตจริงของตน เด็กสาวในสมัยก่อนจะรีบกลับบ้าน อยู่กับครอบครัวทันทีที่เลิกเรียน แต่สมัยนี้ เด็กสาวมีอิสระเสรีที่จะไปไหนมาไหนในช่วงยามวิกาล และในสถานที่อโคจรมากขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศมากขึ้นเช่นกัน

ประการที่สาม ผู้กระทำผิดทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงความสนใจในกลุ่มเป้าหมายจาก "กลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัท" ซึ่งเคยเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเมื่อครั้งอดีตมาเป็น "กลุ่มนักเรียนนักศึกษา"แทน ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มเด็กดี อ่อนเยาว์ต่อโลก และบริสุทธิ์สดใส ดังที่ผู้กระทำผิดทางเพศได้แสดงทัศนะ ค่านิยมในเรื่องเพศของตน ว่า "การร่วมหลับนอนกับผู้หญิงดีๆช่วยให้ปลอดภัยจากเอดส์" (ร้อยละ 85.4) และ "ที่จริงแล้วผู้หญิงดีๆเท่านั้นที่ควรค่าแก่การหลับนอน" (ร้อยละ 79.5) รวมทั้งค่านิยมที่ว่า "การเปิดบริสุทธิ์เด็กสาวแรกรุ่นทำให้ดีต่อสุขภาพกาย-จิต" (ร้อยละ 28.2) ส่วนกลุ่มหญิงที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเดิมนั้น สามารถเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ คลุกคลีอยู่กับวงการและอาชีพที่เกี่ยวกับสิ่งบันเทิงเริงรมย์ การที่จะตกเป็นเป้าหมายของการข่มขืน จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

        กล่าวโดยสรุปในชั้นนี้ได้ว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในคดีข่มขืนในสายตาของอาชญากรทางเพศ คือ กลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา

อนึ่ง ข้อมูลสำคัญประการหนึ่งที่พบจากการวิจัยครั้งนี้ซึ่งบ่งชี้ว่า "ภาพลักษณ์ของเหยื่อในสายตาของผู้กระทำผิดทางเพศ" ได้รับการจัดลำดับดังนี้ คือ

- "รูปร่างหน้าตา" อันดับแรก โดยพิจารณาจาก "หุ่นดี-ขาวอวบ-ขาสวย-หน้าอกใหญ่" ตามลำดับ

-"การแต่งกาย" เป็นอันดับที่สอง โดยพิจารณาจาก "นุ่งสั้น-รัดรูป-เสื้อ/ชุดบาง-สายเดี่ยว/เกาะอก" ตามลำดับ

-"การที่เหยื่อเปิดโอกาสให้" เป็นอันดับที่สาม โดยพิจารณาจากการที่ "ยอมติดตามไปด้วย-ใกล้ชิดสนิทสนม--เหยื่อมีอาการมึนเมา-ผ่านมาในที่เปลี่ยวตามลำพัง" ตามลำดับ


4 ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่

        พบว่าเหตุข่มขืนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้สว่าง คือ 02.01-06.00 น โดยการข่มขืนส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในบ้านของผู้กระทำผิดทางเพศเอง บ้านญาติ และบ้านเพื่อน คนรู้จักตามลำดับ

5 ว่าด้วยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรมทางเพศ

จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถสรุปปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนได้ ดังนี้

5.1 ปัจจัยเกี่ยวกับ "โอกาส" ในการกระทำผิด: โอกาสในการกระทำผิดคดีข่มขืน เกิดจากความประจวบเหมาะของสถานการณ์ 2 สถานการณ์ คือ

        - การจ้องแสวงหาโอกาสของผู้กระทำผิดทางเพศ และ

        - การทำตัวให้ตกอยู่ในอันตรายของเหยื่อเอง เช่น ติดตามไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนชาย แต่งกายยั่วยวน อันเป็นการเชื้อเชิญให้ท่า

5.2 ปัจจัยเกี่ยวกับการควบคุมตนเองของผู้กระทำผิด: พบว่าถึงแม้ในที่สุดแล้ว โอกาสจะเอื้ออำนวยให้เกิดการข่มขืน แต่การข่มขืนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้กระทำซึ่งมีอำนาจมากกว่าสามารถ "ควบคุม" จิตใจตนเองได้ โดยนึกถึงความยุ่งยากเดือดร้อนอันเป็นผลที่ตามมาภายหลัง หรือเพียงแต่นึกถึงความรู้สึกของคนที่ตกเป็นเหยื่อด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าเหยื่อจะรู้สึกอย่างไรต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการแสดงพฤติกรรมไปตามความเคยชิน

5.3 ปัจจัยเกี่ยวกับ "อำนาจ" ที่อยู่เบื้องหลังผู้กระทำผิดทางเพศ: กล่าวได้ว่าผู้กระทำผิดทางเพศ มีอำนาจบางประการเหนือเหยื่ออาชญากรรม ได้แก่ อำนาจในฐานะผู้ปกครองของบ้าน เช่น บิดา พี่เขย ฯลฯ อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา อำนาจในฐานะที่มีพวก (จำนวนคน) มากกว่า และอำนาจในฐานะ ผู้ชายที่มีพละกำลัง ความแข็งแรงของร่างกายมากกว่า ซึ่งเป็นสัมพันธภาพที่เป็นต่อและเป็นรองโดยธรรมชาติ

5.4 ปัจจัยเกี่ยวกับการป้องกันตนเองของเหยื่อ: พบว่าเหยื่อที่ถูกข่มขืนมีลักษณะเช่นเดียวกับผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมไทย ที่ไม่เคยเตรียมการไว้สำหรับการป้องกันตนเองจากการถูกข่มขืน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบ้านของตนเอง เช่น การเตรียมสเปรย์ไว้ใกล้มือที่สามารถหยิบใช้ได้ทันที เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้คุกคามที่มีกำลังมากกว่า หรือแม้แต่เตรียมอาวุธบางอย่างเพื่อป้องกันตนเอง

        อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในคดีข่มขืนในสังคมไทยปัจจุบัน ในความเป็นจริงและในโลกทัศน์ของอาชญากรทางเพศ คือ กลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ซึ่งอยู่บ้านเพื่อน คนรู้จัก ในช่วงเวลา 22.01-02.00 น. โดยผู้กระทำผิดทางเพศ สนใจเด็กผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาดี แต่งกายล่อแหลม และไม่ระมัดระวังตัว

แสดงผลสรุปปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย (พ.ศ. 2544)

ร้อยละ 78.1 เหยื่อถูกข่มขืนที่บ้านผู้ชายหรือบ้านเพื่อน

ร้อยละ 48.4 เหยื่อเป็นนักเรียน นักศึกษา

ร้อยละ 44.4 เหยื่อเป็นสาวแรกรุ่นอายุ 11-15 ปี

ร้อยละ 43.0 เหยื่อถูกข่มขืนโดยคนรู้จัก หรือ คนรัก

ร้อยละ 34.5 เกิดเหตุ ระหว่าง 22.01-02.00 น.

แสดงภาพพจน์เหยื่ออาชญากรรมในสายตาของอาชญากรทางเพศ

อันดับ 1. รูปร่างหน้าตาดี (หุ่นดี 64%) (ขาวอวบ 58.8%) (ขาสวย 53.2%) (หน้าอกใหญ่ 50%)

อันดับที่ 2. การแต่งกาย (นุ่งสั้น 68%) (รัดรูป 67.8%) (เสื้อ/ชุดบาง 65.3%) (สายเดี่ยว 57.9%)

อันดับที่ 3. เปิดโอกาสให้ (ยอมติดตามไป 39.4%) (ใกล้ชิดสนิทสนม 36.7%) (เหยื่อมึนเมา 34%) (ผ่านที่เปลี่ยวตามลำพัง 30.9%)

ข้อเสนอแนะ

        เงื่อนไขทางสังคมกับมาตรการป้องกันภัยข่มขืน วิธีการป้องกันภัยข่มขืนสำหรับหญิงในสังคมนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการลดอัตราการถูกข่มขืน ซึ่งวิธีการลดอัตราการถูกข่มขืนที่สำคัญยิ่งวิธีหนึ่งคือ การทำความเข้าใจร่วมกันของผู้คนในสังคม เกี่ยวกับลักษณะทางสังคมวิทยาของการข่มขืน เมื่อเข้าใจแล้วจำเป็นต้องสร้าง "การกระทำร่วมกัน" เพื่อลดเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อ การมีองค์กรภาคเอกชนหน่วยต่างๆโดยลำพังกระทำได้ไม่สมบูรณ์นัก เพราะศูนย์เหล่านี้ช่วยสอนให้หญิงป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อได้ดี แต่ไม่ได้ลดภาวะคุกคามในการข่มขืนลง แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้ช่วยสอนในเรื่อง "การป้องกัน" ได้ แต่ "การลงโทษ" ที่สถาบันซึ่งทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการอยู่ ก็มิได้ส่งผลให้เกิดการข่มขู่ยับยั้งการกระทำผิดแต่อย่างใด ทั้งผู้ข่มขืนก็มิได้ได้รับการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม ทั้งในและนอกระบบใดๆที่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า จะไม่หวนมากระทำผิดซ้ำอีก

        การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรื่องการลดอัตราการถูกข่มขืน ดังนั้นการมองปัญหาข่มขืน จึงควรมองในแง่การเมืองการปกครองและการบริหารจัดการสังคม เพราะเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญที่กดขี่ สร้างภาพ ให้ผู้หญิงมีอำนาจการต่อรองน้อย และให้แรงเสริมต่อการที่ยกย่องกลุ่มอิทธิพลให้ชายเป็นใหญ่ในสังคม การขัดเกลาทางสังคมควรมีการเปลี่ยนแปลง การที่สังคมสร้างภาพให้หญิงอ่อนแอ อ่อนไหว และไม่สามารถต่อกรกับภัยอันตรายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขัดเกลาตั้งแต่เด็กให้เชื่อตาม เมื่อเห็นความแตกต่างทางความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ และประทับตราไว้ในความทรงจำเช่นนั้น พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หญิงจึงไม่อาจทนทานต่อการถูกทำร้ายหรือทำให้บาดเจ็บได้มากนักเพราะไม่แข็งแรงและไม่มีกำลังอำนาจแบบชาย เมื่อเข้าโรงเรียนและทำงานก็ถูกจัดระบบสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ทั้งในด้านพฤติกรรมและการแสดงอารมณ์ความรู้สึก หญิงเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ต่ำต้อยกว่า อ่อนโยน ไม่แสดงการโต้แย้ง และยอมตาม จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างผู้ที่ถูกฝึกหัดเรียนรู้ที่จะก้าวร้าวฝ่ายหนึ่ง กับผู้ที่ฝึกหัดเรียนรู้ที่จะกล้าเพียงแค่สามารถแสดงสิทธิของตนอย่างเหมาะสม และก็เป็นไปตามที่สังคมต้องการ นั่นคือ

        หญิงจำนวนมากที่คิดว่าตนเป็นเหยื่อที่อ่อนแอ ไร้กำลังอำนาจในการต่อสู้ ยอมรับสภาพและภาพลักษณ์ที่ถูกหล่อหลอมมาทั้งชีวิตอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต้องฝึกหัดหญิงให้รู้จักการมองโลกในมุมอื่นที่แตกต่างออกไป รวมถึงเรียนรู้ที่จะรวมพลังแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน เห็นว่าหญิงอื่นเป็นเพื่อนของตนที่ให้ความช่วยเหลือกันได้ เลิกการอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง และที่สำคัญหญิงสาวทุกคนจะต้องตระหนักไว้เสมอว่าตนก็มีความเสี่ยงที่จะถูกข่มขืนได้ตลอดเวลา การถูกข่มขืนมิใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับหญิงเสเพลเท่านั้น

        การข่มขืนโดยนัยที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นปัญหาทางรัฐศาสตร์ ในด้านการบริหารสังคม และวัฒนธรรมแห่งชาติ มิใช่เป็นเพียงปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาทางสุขภาพจิต และเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อ "ความเป็นหญิง" ในตัวตนของเราทุกคน ดังนั้น การข่มขืนจึงมิใช่เป็นเพียงปัญหาของผู้หญิง แต่เป็นปัญหาของสังคมส่วนรวม


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความวิชาการเรื่อง"ผู้หญิงไทยกับภัยอาชญากรรมทางเพศ"

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย