พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒

พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒
__________________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้


        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒”


        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “งานก่อสร้าง” หมายความว่า งานเกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลงขยาย ต่อเติม ประกอบ ติดตั้งหรือรื้อถอนซึ่งอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

         “อาคาร” หมายความว่า อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

         “ผู้รับงานก่อสร้างควบคุม” หมายความว่า ผู้ที่จดทะเบียนเป็นผู้รับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้

         “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่

        (๑) ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณซึ่งประกอบงานก่อสร้างด้วยตนเอง

        (๒) นิติบุคคลต่างประเทศซึ่งมีสิทธิเข้ามารับงานก่อสร้างในกิจการตามพันธะที่รัฐบาลตกลงกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ สถาบันระหว่างประเทศอื่นหรือรัฐบาลต่างประเทศ

        (๓) นิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา


        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๑ สถาบันผู้รับงานก่อสร้าง

_________________


        มาตรา ๖ ให้จัดตั้งสถาบันขึ้นสถาบันหนึ่งเรียกว่า “สถาบันผู้รับงานก่อสร้าง” มีอำนาจหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

        ให้สถาบันผู้รับงานก่อสร้างเป็นนิติบุคคล


        มาตรา ๗ สถาบันผู้รับงานก่อสร้างมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

        (๑) ควบคุมสอดส่องดูแลความประพฤติและมรรยาทของผู้รับงานก่อสร้าง

        (๒) ส่งเสริมการรับงานก่อสร้าง

        (๓) รักษาผลประโยชน์ของผู้รับงานก่อสร้าง

        (๔) เผยแพร่และให้การศึกษาเกี่ยวกับงานก่อสร้าง


        มาตรา ๘ สถาบันผู้รับงานก่อสร้างประกอบด้วยกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างและสมาชิกสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง


        มาตรา ๙ สมาชิกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างมีสองประเภท คือ

        (๑) สมาชิกสามัญ ได้แก่ผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นผู้แทนซึ่งได้รับมอบหมายจากห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจงานก่อสร้าง
(ข) มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์
(ค) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหายซึ่งคณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งอาชีพ
(ง) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในคดีซึ่งคณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งอาชีพ
(จ) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(ฉ) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

        (๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาการต่างๆ ซึ่งสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์


        มาตรา ๑๐ การเข้าเป็นสมาชิก สิทธิ หน้าที่และการขาดจากสมาชิกภาพของสมาชิกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง


        มาตรา ๑๑ สถาบันผู้รับงานก่อสร้างอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

        (๑) ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง

        (๒) ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๕

        (๓) ผลประโยชน์จากการลงทุนและกิจกรรมอื่น

        (๔) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้


        มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งนายกพิเศษสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง และมีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของสถาบันผู้รับงานก่อสร้างตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง” เรียกโดยย่อว่า “ก.ก.ส.” ซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง*และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนของ ก.ว. หนึ่งคน ผู้แทนของ ก.ส. หนึ่งคน ผู้แทนของสมาคมนายช่างเหมาไทยหนึ่งคน ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างสองคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมสมาชิกสามัญของสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญของสถาบันผู้รับงานก่อสร้างอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ

        สมาชิกสามัญซึ่งสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเลือกตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้รับงานก่อสร้างควบคุม

        ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นนายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง

        ให้เลขาธิการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเป็นเลขานุการของ ก.ก.ส.


        มาตรา ๑๔ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งกรรมการเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้


        มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

        (๑) ตาย

        (๒) ลาออก

        (๓) ขาดจากการเป็นสมาชิกสามัญของสถาบันผู้รับงานก่อสร้างสำหรับบุคคล ซึ่งที่ประชุมสมาชิกสามัญของสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเลือกตั้งขึ้น

        เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ถ้าระยะเวลาที่จะดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ เหลือไม่ถึงหกเดือน จะไม่แต่งตั้งก็ได้

        ให้กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสอง อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการที่ตนแทน


        มาตรา ๑๖ เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นคงอยู่รักษาการต่อไปจนกว่ากรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่


        มาตรา ๑๗ การประชุม ก.ก.ส. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าการประชุมคราวใดนายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการด้วยกันคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        ภายใต้มาตรา ๒๓ มติของที่ประชุม ก.ก.ส. ให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        ให้ ก.ก.ส. จัดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง


        มาตรา ๑๘ ให้ ก.ก.ส. มีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและดำเนินงานของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง และรวมถึงอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

        (๑) ออกข้อบังคับการเข้าเป็นสมาชิกสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง และการขาดจากสมาชิกภาพ

        (๒) ออกข้อบังคับกำหนดค่าจดทะเบียน คำบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ

        (๓) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมสมาชิกของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง

        (๔) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอจดทะเบียน การรับจดทะเบียนการต่ออายุทะเบียน หรือการเพิกถอนทะเบียน เป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุม

        (๕) ออกข้อบังคับว่าด้วยการรักษามรรยาทแห่งอาชีพผู้รับงานก่อสร้างควบคุม

        (๖) ออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุม ก.ก.ส. หรืออนุกรรมการ

        (๗) ออกข้อบังคับว่าด้วยการค้ำประกันและการให้สินเชื่อแก่ผู้รับงานก่อสร้างควบคุม

        (๘) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ภายในวัตถุประสงค์ของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง และการบริหารกิจการ รวมทั้งกำหนดเบี้ยประชุมกรรมการและค่าจ้างของพนักงานและลูกจ้างของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง

        (๙) ให้คำปรึกษา แนะนำ และขอความร่วมมือจากทางราชการ เพื่อควบคุมหรือส่งเสริมการรับงานก่อสร้าง


        มาตรา ๑๙ ให้ ก.ก.ส. มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่างๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง


        มาตรา ๒๐ ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้นายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างหรือกรรมการซึ่งนายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างมอบหมายเป็นหนังสือ เป็นผู้แทนสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง


        มาตรา ๒๑ ทุกๆ ปีให้นายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง เพื่อดำเนินการเลือกตั้งกรรมการและปรึกษาหารือกิจการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง ในกรณีที่จำเป็นจะจัดให้มีการประชุมวิสามัญก็ได้


        มาตรา ๒๒ นายกพิเศษสถาบันผู้รับงานก่อสร้างจะเข้าฟังการประชุม และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสถาบันผู้รับงานก่อสร้างในเรื่องใดๆ ก็ได้


        มาตรา ๒๓ มติของ ก.ก.ส. ตามมาตรา ๑๘ (๒) (๔) (๕) (๖) และ (๘) จะต้องได้รับความเห็นชอบของนายกพิเศษสถาบันผู้รับงานก่อสร้างก่อนจึงจะดำเนินการตามมตินั้นได้

        ให้นายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเสนอมติของ ก.ก.ส. ต่อนายกพิเศษสถาบันผู้รับงานก่อสร้างโดยไม่ชักช้า นายกพิเศษสถาบันผู้รับงานก่อสร้างอาจยับยั้งมตินั้นได้ ในกรณีที่มิได้มีการยับยั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติที่นายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเสนอ ให้ถือว่านายกพิเศษสถาบันผู้รับงานก่อสร้างให้ความเห็นชอบด้วยมตินั้น

        ถ้านายกพิเศษสถาบันผู้รับงานก่อสร้างยับยั้งมติใด ให้ ก.ก.ส. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุมนั้นถ้ามีเสียงยืนยันมติถึงสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้


        มาตรา ๒๔ ให้นายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้างแต่งตั้งเลขาธิการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างคนหนึ่งด้วยความเห็นชอบของ ก.ก.ส. มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาทะเบียนผู้รับงานก่อสร้างควบคุมและในกิจการอื่นทั่วไป

        เลขาธิการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างต้องเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้รับงานก่อสร้างควบคุม

 

[แก้ไข]
หมวด ๒ การรับงานก่อสร้างควบคุม

__________________


        มาตรา ๒๕ รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด

        (๑) งานก่อสร้างประเภทใด ลักษณะใด ขนาดใด หรือสาขาใดเป็นงานก่อสร้างควบคุม

        (๒) กำหนดประเภทผู้รับงานก่อสร้างควบคุม


        มาตรา ๒๖ ผู้รับงานก่อสร้างซึ่งประสงค์จะเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมต้องจดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมจาก ก.ก.ส.


        มาตรา ๒๗ การขอจดทะเบียน การรับจดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ก.ก.ส.


        มาตรา ๒๘ ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุม อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

        (๑) เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจงานก่อสร้าง

        (๒) ไม่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

        (๓) มีลูกจ้างประจำซึ่งเป็นผู้ไดรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจาก ก.ว. และหรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจาก ก.ส. สำหรับควบคุมกำกับงานก่อสร้างตามจำนวนที่กำหนดในข้อบังคับของ ก.ก.ส.

        (๔) มีเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างของตนเองในจำนวนที่เพียงพอ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของ ก.ก.ส.

        (๕) มีฐานะการเงินที่มั่นคงเพียงพอตามที่กำหนดในข้อบังคับของ ก.ก.ส.

        (๖) มีผลงานและคุณสมบัติอื่น ตามที่จะได้กำหนดในข้อบังคับของ ก.ก.ส.


        มาตรา ๒๙ เมื่อได้รับคำขอจดทะเบียน ให้เลขาธิการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างประกาศชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆ ไว้ ณ สำนักงานของสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เพื่อให้โอกาสบุคคลอื่นยื่นคำคัดค้าน

        เมื่อได้ประกาศครบกำหนดแล้ว ให้เลขาธิการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเสนอคำขอจดทะเบียนต่อ ก.ก.ส. พร้อมด้วยคำคัดค้านถ้ามี เพื่อพิจารณาการรับจดทะเบียน

        ในการพิจารณาคำขอจดทะเบียน ก.ก.ส. จะเรียกผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้ยื่นคำคัดค้านมาให้ถ้อยคำ ชี้แจง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นเพิ่มเติมก็ได้

        เมื่อ ก.ก.ส. พิจารณาเห็นว่าผู้ขอจดทะเบียนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในมาตรา ๒๘ และไม่มีผู้ใดคัดค้านการจดทะเบียน ให้ ก.ก.ส. รับจดทะเบียนตามประเภท ลักษณะ ขนาด และสาขาของงานก่อสร้างควบคุมและประเภทของผู้รับงานก่อสร้างควบคุม


        มาตรา ๓๐ ผู้ขอจดทะเบียนซึ่ง ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนอาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการปฏิเสธถ้ารัฐมนตรีเห็นว่ากรณีมีเหตุผลสมควร จะส่งเรื่องให้ ก.ก.ส. พิจารณาทบทวนและเสนอความเห็นเพื่อให้รัฐมนตรีวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร

        ให้รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในหกสิบวันนับแต่ที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด


        มาตรา ๓๑ ใบทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุม ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบทะเบียน

        การต่ออายุใบทะเบียน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ก.ก.ส.

        ถ้าใบทะเบียนสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมยื่นคำร้องขอรับใบแทนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือถูกทำลาย

 

[แก้ไข]
หมวด ๓ การประกอบอาชีพงานก่อสร้างและมรรยาทในการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง

____________________


        มาตรา ๓๒ ผู้รับงานก่อสร้างควบคุม ต้องรับงานก่อสร้างควบคุมตามประเภทและสาขาที่ระบุไว้ในใบทะเบียน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมประเภทและสาขาใดจะรับงานก่อสร้างในสาขาอื่นนอกจากที่ได้ระบุไว้ในใบทะเบียนได้เพียงใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา ๓๓ ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมต้องรักษามรรยาทแห่งอาชีพตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของ ก.ก.ส.

        การเสนอราคางานก่อสร้างในการประกวดราคาจะต้องเป็นไปโดยสุจริตมีเหตุผลและยุติธรรม

        ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมจะต้องไม่ร่วมกันกำหนดราคาก่อสร้างในการประกวดราคาหรือกระทำการเพื่อให้ผู้รับงานก่อสร้างควบคุม หรือผู้รับงานก่อสร้างคนหนึ่งคนใดเป็นผู้ชนะการประกวดราคา


        มาตรา ๓๔ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมสามารถรับงานก่อสร้างในต่างประเทศ หรือรับงานก่อสร้างใดที่มีราคาสูงกว่าสองร้อยล้านบาท หรือรับงานที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมมีสิทธิร้องขอให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการค้ำประกัน การงดหรือลดภาษีอากร และการคุ้มครองคนงานที่ไปทำงานในต่างประเทศแก่ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมโดยมีคำรับรองของ ก.ก.ส.

 

[แก้ไข]
หมวด ๔ การเพิกถอนการจดทะเบียน

___________________


        มาตรา ๓๕ ให้ ก.ก.ส. มีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมได้เมื่อปรากฏว่า

        (๑) ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมผู้ใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๘

        (๒) ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้อบังคับของ ก.ก.ส.

        ก่อนพิจารณาเพิกถอนทะเบียน ให้ ก.ก.ส. ดำเนินการไต่สวน โดยให้โอกาสแก่ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมนั้นได้ทราบข้อกล่าวหาและยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา


        มาตรา ๓๖ การเพิกถอนทะเบียนไม่กระทบถึงการรับงานก่อสร้างที่ผู้ถูกสั่งเพิกถอนทะเบียนรับทำอยู่ตามความผูกพันที่มีอยู่ก่อนวันถูกสั่งเพิกถอนทะเบียนนั้น


        มาตรา ๓๗ ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมซึ่งถูกเพิกถอนทะเบียนอาจขอจดทะเบียนอีกได้เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันถูกเพิกถอนทะเบียน แต่เมื่อ ก.ก.ส. ได้พิจารณาคำขอจดทะเบียนและปฏิเสธการรับจดทะเบียน ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีและให้นำมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ในกรณีที่ ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนและผู้นั้นไม่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ตามวรรคหนึ่ง หรือได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีแต่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยยืนตามความเห็นของ ก.ก.ส. ให้ผู้นั้นยื่นคำขอจดทะเบียนได้ใหม่เมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนหรือรัฐมนตรีมีคำวินิจฉัย แล้วแต่กรณี ถ้า ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนในครั้งที่สองให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อไปยังรัฐมนตรี ถ้าผู้นั้นไม่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยยืนตามความเห็นของ ก.ก.ส. ในครั้งที่สองนี้แล้วผู้นั้นหมดสิทธิขอจดทะเบียนต่อไป

 

[แก้ไข]
หมวด ๕ บทกำหนดโทษ

___________________


        มาตรา ๓๘ ผู้ใดรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมโดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมตามมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และให้ศาลสั่งระงับงานก่อสร้างนั้น

        การสั่งระงับงานก่อสร้างตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากความรับผิดตามสัญญารับงานก่อสร้าง


        มาตรา ๓๙ ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมผู้ใดรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมในระหว่างที่ใบทะเบียนขาดอายุ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือวันละสองพันบาทนับแต่วันที่ในทะเบียนขาดอายุจนกว่าจะได้ต่ออายุใบทะเบียนสุดแต่จำนวนใดจะสูงกว่ากัน


        มาตรา ๔๐ ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท


        มาตรา ๔๑ ผู้รับงานก่อสร้างควบคุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขนั้น

 

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

_________________


        มาตรา ๔๒ ในระยะเริ่มแรกซึ่งต้องไม่เกินสี่ปีนับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ให้ ก.ก.ส. ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง* และผู้แทนของ ก.ว. หนึ่งคน ผู้แทนของ ก.ส. หนึ่งคน ผู้แทนของสมาคมนายช่างเหมาไทยหนึ่งคน และข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างสองคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่นายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง และให้ ก.ก.ส. แต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เลขาธิการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๓ หรือแต่งตั้งเลขาธิการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างตามมาตรา ๒๔ แล้วแต่กรณี

        ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการซึ่งประกอบเป็น ก.ก.ส. ตามวรรคหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๔๓ ให้ผู้รับงานก่อสร้างมีสิทธิรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมต่อไปได้อีกสี่ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๒๕ ใช้บังคับและเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้ผู้นั้นคงประกอบงานก่อสร้างควบคุมตามความผูกพันที่มีอยู่ภายในระยะเวลาสี่ปีนั้นได้ต่อไปจนกว่างานก่อสร้างควบคุมนั้นจะแล้วเสร็จ

        ผู้รับงานก่อสร้างซึ่งประสงค์จะรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมต่อไปหลังจากระยะเวลาสี่ปีตามวรรคหนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว ต้องขอจดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๒๕ ใช้บังคับ ถ้า ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนก่อนกำหนดเวลาสี่ปีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นมีสิทธิรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมได้ต่อไปจนครบกำหนดเวลาสี่ปีตามสิทธิที่มีอยู่ในวรรคหนึ่ง แต่ถ้า ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนหลังจากระยะเวลาสี่ปีดังกล่าว ให้ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมได้ต่อไปจนกว่า ก.ก.ส. ได้มีหนังสือแจ้งการปฏิเสธการรับจดทะเบียน

        ในกรณีที่ ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนหลังจากระยะเวลาสี่ปีตามวรรคหนึ่งให้ผู้ขอจดทะเบียนคงประกอบงานก่อสร้างควบคุมตามความผูกพันที่มีอยู่ก่อนวันได้รับหนังสือแจ้งการปฏิเสธการรับจดทะเบียนจาก ก.ก.ส. ได้ต่อไปจนกว่างานก่อสร้างควบคุมนั้นจะแล้วเสร็จ

        ในกรณีที่ ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียน ให้นำมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        ส. โหตระกิตย์

        รองนายกรัฐมนตรี

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

___________________


        ๑. ใบทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุม ๒๐,๐๐๐ บาท

        ๒. ค่าต่ออายุใบทะเบียน ๑๐,๐๐๐ บาท

        ๓. ใบแทนใบทะเบียน ๕๐๐ บาท

 

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในระหว่างระยะการพัฒนาประเทศ กิจการก่อสร้างต่างๆ จึงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามความต้องการทั้งของทางราชการและทางธุรกิจเอกชนการก่อสร้างในปีหนึ่งๆ คิดเป็นเงินมีมูลค่าถึงหลายพันล้านบาท และโดยเฉพาะงานก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นกิจการที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง และต้องใช้วิทยาการแผนใหม่หลายอย่างประกอบกัน แต่ในปัจจุบันการควบคุมการรับงานก่อสร้างยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะ กรณีอาจทำให้เกิดอันตรายและเกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมได้ เพราะเหตุจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานนอกจากนั้นผู้รับงานก่อสร้างของไทยหลายรายมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะไปรับจ้างทำงานในต่างประเทศ อันจะเป็นทางหารายได้เข้าประเทศอย่างหนึ่งสมควรมีการส่งเสริมและควบคุมการรับงานก่อสร้างให้มีมาตรฐานสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากลเป็นไปโดยเหมาะสม แต่การจะควบคุมการก่อสร้างชนิดและประเภทใดบ้างนั้น รัฐบาลจะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยจะไม่กระทบกระเทือนถึงผู้รับงานก่อสร้างขนาดย่อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น


        พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๔

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ

        ๑. เนื่องจากพระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้คณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างตามมาตรา ๔๒ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ แต่โดยที่กำหนดเวลาหนึ่งปีนั้นไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๕ และมาตรา ๓๒ การดำเนินการออกข้อบังคับตามมาตรา ๒๘ (๓) (๔) (๕) และ (๖) และการออกประกาศตามมาตรา ๒๙ สำหรับการรับจดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมเพื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้างตามมาตรา ๑๓ ต่อไปได้ สมควรขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการดังกล่าวออกไปอีกสามปี

        ๒. เนื่องจากมาตรา ๔๓ ได้ห้ามมิให้ผู้รับงานก่อสร้างรับงานก่อสร้างควบคุมตั้งแต่วันถัดจากวันที่กฎกระทรวงออกตามมาตรา ๒๕ ใช้บังคับ แม้ผู้รับงานก่อสร้างที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๓ ก็จะรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมต่อไปได้เพียงถึงวันที่ ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนหรือตามประเภทและสาขาที่ได้รับจดทะเบียนเท่านั้น เพื่อให้ผู้รับงานก่อสร้างรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมต่อไปได้ในขณะที่ยังไม่มีผู้ได้รับจัดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมหรือมีไม่เพียงพอ และป้องกันผลเสียหายอันจะเกิดแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และฝ่ายผู้ว่าจ้าง อย่างกว้างขวาง

        จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น


        *พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕มาตรา ๒๕ ในพระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แก้ไขคำว่า “อธิบดีกรมโยธาธิการ” เป็น “อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง”

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้