พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473

พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473
_________________________

 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

        โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรควบคุมการทำและฉายภาพยนตร์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้


        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473


        มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2474 เป็นต้นไป


        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        ภาพยนตร์ หมายความว่า ฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นชนิดเนกาติฟ (Negative) หรือ โพซิติฟ (Positive) ซึ่งได้ถูกถ่าย อัด หรือกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ปรากฏรูปหรือเสียง หรือทั้งรูปและเสียง เป็นเรื่องหรือเหตุการณ์ หรือข้อความอันจักถ่ายทอดรูปหรือเสียง หรือทั้งรูปและเสียง ได้ด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ หรือเครื่องอย่างอื่นทำนองเดียวกัน และให้หมายความตลอดถึงฟิล์มซึ่งได้ถูกถ่าย อัด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ปรากฏสี เพื่ออัดลงในฟิล์มชนิดที่กล่าวข้างต้นด้วย

        ทำภาพยนตร์ หมายความว่า การถ่าย อัด หรือทำด้วยวิธีใดเพื่อให้เป็นภาพยนตร์ จะทำเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จก็ตาม

        ฉาย หมายความว่า การถ่ายทอดรูปหรือเสียง หรือทั้งรูปและเสียงจากภาพยนตร์ด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ หรือเครื่องอย่างอื่นทำนองเดียวกัน

        ประกาศ หมายความว่า สิ่งที่นำออกโฆษณา ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นภาพหรือรูปถ่ายหรือตัวหนังสือ และให้หมายความตลอดถึงการนำสิ่งนั้น ๆ ออกโฆษณาด้วย

        สถานที่มหรสพ หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ซึ่งฉายภาพยนตร์ให้คนดูหรือฟัง ไม่ว่าโดยเก็บเงินหรือไม่เก็บ โดยเชิญ หรือไม่เชิญก็ตาม


        มาตรา 4 ท่านห้ามมิให้ทำหรือฉายหรือแสดง ณ สถานที่มหรสพซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศกอบด้วยลักษณะฝ่าฝืนหรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ถึงแม้เพียงว่าการทำ การฉาย หรือการแสดงภาพยนตร์ หรือประกาศนั้น ๆ น่าจะมีผลเช่นว่านั้น ท่านก็ห้ามดุจกัน

        ภาพยนตร์หรือประกาศที่ทำในพระราชอาณาจักร ถ้ามีลักษณะหรืออาจมีผลเช่นที่ว่านี้ไซร้ ท่านห้ามมิให้นำหรือส่งออกนอกพระราชอาณาจักร


        มาตรา 5 ภายในบังคับมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัตินี้ นอกจากที่ได้รับใบอนุญาตก่อนแล้ว ท่านห้ามมิให้

        (1) ฉายภาพยนตร์ ณ สถานที่มหรสพ

        (2) นำหรือส่งภาพยนตร์ซึ่งทำในพระราชอาณาจักรออกนอกพระราชอาณาจักร

        (3) ประกาศด้วยภาพหรือรูปถ่ายแสดงเรื่องของภาพยนตร์หรืออื่น ๆ อันอยู่ในวงการของการจัดฉายภาพยนตร์นั้น โดยฉายหรือติดประกาศนั้น ๆ ไว้ในที่เปิดเผย หรือแจก หรือเสนอแจก หรือสำแดงด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม


        มาตรา 6 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจตั้งนายตรวจ เจ้าพนักงานผู้พิจารณา และสภาพิจารณาภาพยนตร์

        สภาพิจารณาภาพยนตร์นั้น ให้มีเจ้าพนักงานกรมตำรวจและบุคคลอื่นใดซึ่งอธิบดีกรมตำรวจเห็นสมควรและแต่งตั้งเป็นกรรมการ

        องค์ประชุมของสภาพิจารณาภาพยนตร์ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจจะกำหนด


        มาตรา 7 เมื่อนายตรวจเห็นว่าภาพยนตร์ใดมีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4 ให้มีอำนาจ

        (1) ห้ามมิให้ทำภาพยนตร์นั้นต่อไป

        (2) ยึดภาพยนตร์ที่ทำเสร็จแล้วหรือที่ยังไม่เสร็จ และส่งภาพยนตร์นั้น ๆ แก่เจ้าพนักงานผู้พิจารณาขอให้พิจารณา


        มาตรา 8 ให้เจ้าพนักงานผู้พิจารณา พิจารณาภาพยนตร์ และประกาศซึ่งกล่าวในมาตรา 5 และ 7 ตามลำดับวันที่ขอมา และต้องให้คำวินิจฉัยภายในกำหนดสามวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ

        ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษ เจ้าพนักงานผู้พิจารณาจะพิจารณาและให้คำวินิจฉัยภายในสามวันที่กล่าวแล้วไม่ได้ ให้มีอำนาจยืดเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินสิบห้าวัน และให้รายงานการยืดเวลาต่ออธิบดีกรมตำรวจทันที


        มาตรา 9 การพิจารณาตามความในมาตรา 8 นั้น ให้เจ้าพนักงานพิจารณาในสถานที่ของผู้ขอใบอนุญาต หรือในสถานที่ซึ่งทางราชการจัดไว้แล้วแต่เจ้าพนักงานผู้พิจารณาจะเห็นสมควร

        เวลาพิจารณา ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในสถานที่นั้น เว้นแต่ตัวเจ้าพนักงานผู้ช่วยเจ้าพนักงานผู้ซึ่งเจ้าพนักงานเชิญมาช่วยพิจารณา ผู้ขอใบอนุญาต และคนรับใช้ของผู้ขอใบอนุญาต


        มาตรา 10 ให้เจ้าพนักงานผู้พิจารณามีอำนาจ

        (1) สั่งคืนภาพยนตร์ที่นายตรวจยึดไว้ให้แก่ผู้ทำ หรือออกใบอนุญาตให้ตามที่ขอไว้ เมื่อเห็นว่าภาพยนตร์ หรือประกาศนั้นไม่มีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4 ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าพนักงานผู้พิจารณาประทับตราไว้ที่ภาพยนตร์ หรือที่ประกาศนั้นเป็นสำคัญ

        ถ้าปรากฏว่าดวงตราทุกดวงซึ่งประทับไว้บนฟิล์มภาพยนตร์ม้วนใดชำรุดหรือลบเลือน ให้นำฟิล์มม้วนนั้นไปให้ เจ้าพนักงานผู้พิจารณาภาพยนตร์ประทับดวงตราเสียใหม่ก่อนนำออกฉาย

        (2) สั่งยืนตามคำสั่งของนายตรวจที่ให้ยึดภาพยนตร์นั้น หรือยกคำร้องขอใบอนุญาตเสีย เมื่อเห็นว่าภาพยนตร์หรือประกาศนั้นมีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4

        ถ้าเจ้าพนักงานผู้พิจารณาเห็นว่าภาพยนตร์บางตอนมีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4 และตอนนั้น ๆ ได้ถูกลบหรือตัดออกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้พิจารณาแล้วไซร้ ท่านให้ถือว่าภาพยนตร์นั้นไม่มีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4


        มาตรา 11 ในกรณีต่อไปนี้ ท่านว่าอุทธรณ์ไปยังสภาพิจารณาภาพยนตร์ได้

        (1) เมื่อนายตรวจสั่งห้ามมิให้ดำเนินการทำภาพยนตร์ใดต่อไป

        (2) เมื่อนายตรวจยึดภาพยนตร์ไว้ และเจ้าพนักงานผู้พิจารณาสั่งยืนตามคำสั่งของนายตรวจ

        (3) เมื่อเจ้าพนักงานผู้พิจารณายกคำขอใบอนุญาตเพื่อฉายภาพยนตร์หรือเพื่อนำหรือส่งภาพยนตร์ออกนอกพระราชอาณาจักร หรือเพื่อสำแดงหรือแจกประกาศด้วยภาพหรือรูปถ่าย


        มาตรา 12 ให้สภาพิจารณาภาพยนตร์ มีอำนาจ

        (1) สั่งคืนภาพยนตร์ที่นายตรวจยึดไว้ให้แก่ผู้ทำ หรืออนุญาตให้ผู้ทำภาพยนตร์ทำต่อไป หรือสั่งเจ้าพนักงาน ผู้พิจารณาให้ออกใบอนุญาตตามที่ขอไว้เมื่อเห็นว่าภาพยนตร์หรือประกาศนั้น ไม่มีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4

        (2) สั่งยืนตามคำสั่งของนายตรวจที่ให้ยึดภาพยนตร์ หรือให้หยุดการทำภาพยนตร์ หรือสั่งยืนตามคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานผู้พิจารณาที่ยกคำขอใบอนุญาต และสั่งให้ยึดภาพยนตร์หรือประกาศที่มีคำร้องขอใบอนุญาตนั้นหรือสั่งให้ส่งกลับออกไป เมื่อเห็นว่าภาพยนตร์หรือประกาศนั้น มีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4

        ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสุดท้ายบังคับโดยอนุโลม


        มาตรา 13 คำวินิจฉัยของสภาพิจารณาภาพยนตร์นั้นให้ถือว่าเด็ดขาดถึงที่สุดเว้นแต่คำวินิจฉัยให้ยึดภาพยนตร์ที่ทำในพระราชอาณาจักรนั้น ท่านว่าผู้ทำหรือผู้ขอใบอนุญาตมีสิทธินำคดีสู่ศาลหลวงได้ภายในหกเดือน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของสภาเป็นต้นไป ถ้าไม่นำคดีสู่ศาลภายในกำหนดไซร้ ท่านให้ทำลายภาพยนตร์นั้นเสีย


        มาตรา 14 การเก็บรักษาหรือฉายภาพยนตร์ตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าอยู่ในความเสี่ยงภัยของเจ้าของ หรือผู้ขอใบอนุญาต และให้เจ้าของหรือผู้ขอใบอนุญาตออกค่าใช้จ่ายด้วย

        ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ภาพยนตร์ ท่านว่าเจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีความรับผิด เว้นแต่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของเจ้าหน้าที่จะได้จงใจทำให้เกิดการเสียหายนั้นขึ้น


        มาตรา 15 การออกใบอนุญาตให้นั้น ท่านว่าไม่ปลดเปลื้องผู้ถือใบอนุญาตให้พ้นจากความรับผิดในทางแพ่งหรือทางอาญา อันเกิดจากการฉายภาพยนตร์นอกจากในส่วนความผิดที่กล่าวไว้ในมาตรา 4


        มาตรา 16 อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ได้ตามแต่จะเห็นควร


        มาตรา 17 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจใบอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ถ้าและไม่มีใบอนุญาตให้ตรวจในขณะนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งหยุดการฉายต่อไปได้


        มาตรา 18 เพื่อรักษาการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ท่านว่าเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตั้งแต่ชั้นนายอำเภอขึ้นไป นายตำรวจตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป นายตรวจ เจ้าพนักงานผู้พิจารณา และกรรมการสภาพิจารณาภาพยนตร์ มีสิทธิเข้าไปในสถานที่มหรสพซึ่งกำลังฉายภาพยนตร์ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน


        มาตรา 19 ในกรณีต่อไปนี้ ท่านว่าไม่ต้องมีใบอนุญาต

        (1) กรมใดในรัฐบาลฉายภาพยนตร์เพื่อการศึกษา หรือสาธารณประโยชน์อย่างอื่น หรือกรมใดในรัฐบาลส่งภาพยนตร์ซึ่งทำในพระราชอาณาจักร ออกนอกพระราชอาณาจักร

        (2) ฉายให้ญาติมิตรดูเป็นการส่วนตัว หรือภายในสมาคมหรือสโมสรซึ่งภาพยนตร์อันได้ทำขึ้นมิได้หวังผลในทางค้า หรือนำหรือส่งภาพยนตร์ที่ทำในพระราชอาณาจักรอันมีลักษณะเช่นว่านี้ออกนอกพระราชอาณาจักร

        ในกรณีที่กล่าวในอนุมาตรา 2 นี้ ถ้าปรากฏว่าภาพยนตร์นั้นมีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4 นายตรวจมีอำนาจยึดภาพยนตร์นั้นได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา 20 ภายในบังคับมาตรา 21 และ 22 ผู้ใดบังอาจทำ ฉายนำ หรือส่งออกนอกพระราชอาณาจักรซึ่งภาพยนตร์ หรือสำแดง ประกาศอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท


        มาตรา 21 ผู้ใดทำการฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ บังอาจฉายหรือนำหรือส่งออกนอกพระราชอาณาจักรซึ่งภาพยนตร์ หรือสำแดงประกาศอันได้ขอใบอนุญาตแล้ว และเจ้าพนักงานไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 22 ผู้ใดทำการฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ บังอาจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายที่นายตรวจได้สั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 23 ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎเสนาบดี กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและการประทับตราและว่าด้วยกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

        กฎเสนาบดีนี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

        ประกาศมา ณ วันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2473 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

_______________________

 

 

[แก้ไข]
พระราชบัญญัติภาพยนตร์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479

___________________


        มาตรา 6 ผู้ใดฉาย หรือสั่งให้ผู้อื่นฉายฟิล์มภาพยนตร์โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินร้อยบาท

        [รก.2479/-/670/22 พฤศจิกายน 2479]

 

 

[แก้ไข]
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 205

__________________________


        โดยที่ปรากฏว่า ขณะนี้ได้มีการฉายภาพยนตร์ที่บางเรื่องการแสดงเป็นการชักชวนหรือส่งเสริมให้มีการละเมิดศีลธรรม และบางเรื่องก็เป็นการจูงใจหรือแนะวิธีการกระทำผิดอาญาแสดงให้เห็นว่าการควบคุมการทำและการฉายภาพยนตร์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พระพุทธศักราช 2473 ในบัดนี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เป็นการจำเป็นต้องให้กรมตำรวจเข้ารับผิดชอบดำเนินการจนกว่าจะได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์ หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

        ข้อ 1 ให้นายตรวจ เจ้าพนักงานผู้พิจารณา และสภาพิจารณาภาพยนตร์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พระพุทธศักราช 2473 ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือมีอยู่ในวันประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง

        ข้อ 5 ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งนายตรวจ เจ้าพนักงานผู้พิจารณาหรือสภาพิจารณาภาพยนตร์ ตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์พระพุทธศักราช 2473 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับนี้ ให้นายตรวจ เจ้าพนักงานผู้พิจารณา หรือสภาพิจารณาภาพยนตร์แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอยู่ในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน

        [รก.2515/136/8พ/13 กันยายน 2515]