วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/01/2008
ที่มา: 
วิกิพีเดียบทความ ศาสนาพุทธ ซึ่งบทความนี้คัดลอกมาจากวิกิพีเดียและนำมาใช้ภายใต้สัญญา GFDL

ศาสนาพุทธ 

ศาสนาพุทธ หรือ พระพุทธศาสนา หรือ พุทธศาสนา โดยความหมายแล้ว หมายถึงศาสนาแห่งความรู้แจ้ง เป็นศาสนาที่มีพระรัตนตรัย เป็นสรณะอันสูงสุด อันได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ โดยพระรัตนตรัยทั้ง 3 นี้ย่อมมีคุณเกี่ยวพันเป็นอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันโดยเฉพาะไม่ได้ ด้วยพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมก่อนแล้วสอนให้พระสงฆ์รู้ธรรม พระธรรมนั้น พระสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมจำทรงไว้ ปฏิบัติและสั่งสอนสืบต่อพระศาสนา พระรัตนตรัยนี้เปรียบด้วยวัตถุวิเศษที่มีราคาอย่างสูง คือ แก้ว จึงเรียกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่า รัตนะ คำว่า "รัตนะ" แปลว่าแก้ว,สิ่งมีค่าสูงยิ่ง,สิ่งประเสริฐ ซึ่งคำว่ารัตนะในที่นี้จะหมายถึง พระรัตนตรัย ซึ่งก็คือแก้ว 3 ดวง ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็คือนับถือแก้ว 3 ดวงนี้ว่ามีคุณ ย่อมจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกแก่ตน
หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาได้ถูกบันทึกรวบรวมไว้ในคัมภีร์ชื่อ พระไตรปิฏก อันประกอบด้วย "พระธรรม" คือความรู้ในสัจธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาแสดงแก่ชาวโลก กับ "พระวินัย" คือข้อบังคับต่างๆ ที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่บวชเป็นสาวกในศาสนานี้ผู้ถูกเรียกว่า พระภิกษุสงฆ์ (ชาย) และ พระภิกษุณีสงฆ์ (หญิง)

พระพุทธเจ้าได้เริ่มออกเผยแผ่คำสอนดังกล่าวในภูมิภาคที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะใน ทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออก, ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันรวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกเหนือจากพระรัตนตรัยแล้ว ผู้นับถือโดยทั่วไปที่ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เราเรียกว่า พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก หรือ อุบาสก (ชาย) /อุบาสิกา (หญิง) ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา รวมกันเรียกว่า พุทธบริษัท 4

สารบัญ [ซ่อนสารบัญ]
1 หลักการสำคัญของพุทธศาสนา
2 ลักษณะเด่นของพุทธศาสนา
2.1 ศาสนาแห่งความรู้และความจริง
2.2 ศาสนาแห่งอิสระเสรีภาพ
2.3 ศาสนาอเทวนิยม
2.4 ศาสนาแห่งสันติภาพ
3 ประวัติศาสนา
4 นิกาย
5 สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
 

[แก้ไข] หลักการสำคัญของพุทธศาสนา
พุทธศาสนา สอน "สัจธรรม" คือความจริงแท้ของชีวิตและกฎธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ทั้งปวง
หัวใจของพุทธศาสนาคือ "หมั่นทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
พุทธศาสนา กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ต่างมีเหตุให้เกิด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นผลก็เกิดขึ้นตาม เมื่อเหตุนั้นไม่มีอีกแล้วผลก็ดับไป
อริยสัจ4 สอนให้เข้าใจถึงหลักความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ ทุกข์ (มีความยากลำบาก หรือ มองตัวปัญหา) สมุทัย (ความทุกข์นั้นมีสาเหตุให้เกิด หรือ มองสาเหตุของปัญหา) นิโรธ (ความหมดสิ้นแห่งทุกข์ หรือ มองจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา) มรรค (วิถีทางอันประเสริฐที่จะนำให้ถึงความดับทุกข์ หรือ ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ)
พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ เมตตา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ความยินดีที่ผู้อื่นมีความสุขในทางที่เป็นกุศล) อุเบกขา (การวางจิตเป็นกลาง การมีเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าตนไม่สามารถช่วยเหลือผู้นั้นได้ จิตตนจะเป็นทุกข์ ดังนั้น ตนจึงควรวางอุเบกขาทำวางใจให้เป็นกลาง และพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม กรรมนั้นย่อมส่งผลอย่างยุติธรรมตามที่เขาผู้นั้นได้เคยกระทำไว้อย่างแน่นอน)
ไตรลักษณ์ คือหลักการที่ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกมี 3 ลักษณะดังนี้คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้ มีอันต้องแปรปรวนไป) ทุกขัง (ถูกบีบคั้นให้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา) อนัตตา (ไม่มีแก่นสารอะไรให้ถือเอาเป็นตัวตนของใครๆ ได้อย่างแท้จริง)
สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง ภพภูมิ คือมิติต่างๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงสุขสบายที่สุด ที่รองรับการเกิดของสิ่งมีชีวิต การเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา" คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง ไปหลงยึดเอาว่าสิ่งต่างๆ มีตัวตน ซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว คือการดำเนินตามเส้นทางอริยมรรค
กฎแห่งกรรม กรรม คือการกระทำทุกอย่างที่มีเจตนาสั่งการโดยจิตของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าเป็นการกระทำที่ดี (บุญ/กุศล) หรือไม่ดี (บาป/อกุศล) หรือกลางๆ ย่อมจะไม่สูญหายไปไหน แต่รอเวลาที่จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการกระทำนั้นๆ สะท้อนกลับมาหาผู้กระทำเสมอ โดยไม่สามารถนำบุญกับบาปมาหักล้างกันได้โดยตรง กฎแห่งกรรมนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของแต่ละจิตวิญญาณในสังสารวัฏ
นิพพาน คือสภาพที่พ้นออกไปเหนือโลก ออกไปจากสังสารวัฏ เป็นความสุขอันเที่ยงแท้ เป็นเป้าหมายอันสูงสุดที่พระพุทธศาสนาสอนให้บรรลุถึง
เมื่อรวมหลักการปฏิบัติตามทางของพุทธศาสนาทั้งหมดให้เข้าใจได้ง่าย ก็มีอยู่ 3 คือ
ละเว้นความชั่ว
ทำความดี
ฝึกใจให้บริสุทธิ์
อีกนัยหนึ่งเมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนคือ

ศีล (ฝึกตนให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น)
สมาธิ (ฝึกความตั้งมั่นของจิต)
ปัญญา (ใช้จิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริง จนกระทั่งทำลายอวิชชาได้ในที่สุด)
[แก้ไข] ลักษณะเด่นของพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนานับเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรุง และแก้ไขสังคมอินเดียในยุคนั้นให้ดีขึ้นจากสภาพการณ์หลายอย่าง เช่น จากการกดขี่ทางชนชั้นวรรณะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชัดเจน การถือชั้นวรรณะอย่างเข้มงวด การใช้สัตว์เป็นจำนวนมากเพื่อบวงสรวงบูชายัญ ตลอดจนการกดขี่สตรี พุทธศาสนาจึงเสมือนน้ำทิพย์ชโลมสังคมอินเดียโบราณให้ขาวสะอาดมากกว่าเดิม คำสอนของพุทธศาสนาทำให้สังคมโดยทั่วไปสงบร่มเย็น

[แก้ไข] ศาสนาแห่งความรู้และความจริง
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ เพราะเป็นศาสนาแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์เอง จากปัญญาของพระองค์ และธรรมที่พระองค์ตรัสรู้คือ อริยสัจ 4 ก็เป็นความจริงอย่างแท้จริง ทรงตรัสรู้โดยไม่มีใครสั่งสอน นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีต และปัจจุบันจึงกล่าวยกย่อว่าเป็นศาสนาที่ประกาศความเป็นอิสระของมนุษย์ให้ปรากฏแก่โลกยิ่งกว่าศาสนาใดๆที่มีมา

[แก้ไข] ศาสนาแห่งอิสระเสรีภาพ
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่ผูกติดกับพระผู้ดลบันดาล หรือพระเจ้า ไม่ได้ผูกมัดตนเองไว้กับพระเจ้า ไม่พึ่งพาอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในความสามารถของมนุษย์ว่ามีศักยภาพเพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจใดๆภายนอก เชื่อว่ามนุษย์เองสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ได้โดยไม่รอการดลบันดาล พุทธศาสนาไม่มีการบังคับให้คนศรัทธา หรือเชื่อ แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง แต่หากจะเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นที่มีพระเจ้า ชาวพุทธทุกคนคือพระเจ้าของตัวเอง เนื่องจากตัวเองเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ว่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตหรือมีความตกต่ำในชีวิต จากการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง ซึ่งต่างกับศาสนาที่มีพระเจ้า ที่ชะตาชีวิตทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้ากำหนดมาแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีหรือร้ายก็ต้องทนรับชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

[แก้ไข] ศาสนาอเทวนิยม
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่เชื่อว่าพระเจ้าดลบันดาลทุกสิ่ง ผู้สร้างทุกสิ่ง แม้กระทั่งโลก เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนาไม่เชื่อในอำนาจการดลบันดาลของพระเจ้า จึงเรียกว่าศาสนาอเทวนิยม คือ ศาสนาที่ไม่เชื่อในพระเจ้า

[แก้ไข] ศาสนาแห่งสันติภาพ
ในกระบวนการนักคิดของโลกศาสนา พุทธศาสนาได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า เป็นศาสนาแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะไม่ปรากฏว่ามีสงครามศาสนาเกิดขึ้นในนามของศาสนา หรือเผยแผ่ศาสนาโดยการบังคับผู้อื่นให้มานับถือ ให้เสรีภาพในการพิจารณาให้มีปัญญากำกับศรัทธา ในขณะที่หลายศาสนาแสดงว่าศาสนิกชนต้องมีศรัทธามาก่อนปัญญาเสมอ และต้องมีความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ผู้นับถือจะวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าไม่ได้

[แก้ไข] ประวัติศาสนา
 

แผนที่แสดงสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน
พระศาสดาของพระพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้า พระนามว่าสิทธัตถะ แปลว่า ผู้มีความสำเร็จสมประสงค์ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนตั้งใจจะทำ พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา แห่งนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ทรงมีพระปัญญาอันเลิศ สามารถศึกษาเล่าเรียนได้ว่องไว ทรงมีความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาการหลายสาขา


เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนาง ยโสธราหรือพิมพา มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า พระราหุล แม้ชีวิตในฆราวาสวิสัยจะทรงสมบูรณ์ด้วยสุขสมบัติเพียงใด พระองค์ก็ทรงมีพระราชหฤทัยน้อมไปในทางที่จะทรงผนวชเพื่อแสวงหาสัจธรรม เพราะทรงเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของโลก ทั้งมีพระกรุณาประสงค์ที่จะช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์ จึงทรงสละความสุขนานาประการเสด็จออกผนวช ขณะที่มีพระชนมายุ 29 พรรษา หลังจากทรงผนวชพระองค์ได้ทรงศึกษาความรู้จากสำนักอาจารย์ต่างๆ จนเชี่ยวชาญ ทั้งได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยวิธีการต่างๆ ก็ยังมิได้บรรลุถึงซึ่งทางพ้นทุกข์ พระองค์จึงทรงหันมามุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง จึงได้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลกขณะที่มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้เสด็จสั่งสอนแนะนำประชาชนในแคว้นต่างๆ ในประเทศอินเดีย เป็นเวลาถึง 45 ปี ประชาชนในสมัยนั้น หันมานับถือพระพุทธศาสนา และเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก


การบำเพ็ญกรณียกิจทั้งของพระพุทธเจ้าและของพระสาวก มีวัตถุประสงค์และขอบเขตกว้างขวางดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ แต่ครั้งแรกที่ทรงส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย” ด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณอันเลิศของพระพุทธองค์ ยังผลให้มหาชาชาวโลกได้ผ่องใสพ้นทุกข์เป็นอันมาก พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนประชาชนจนพระชนมายุ 80 พรรษา จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน


หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระพุทธสาวกทั้งหลายได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อมา จนกระทั่งถึงประมาณ พุทธศักราช 300 พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งเมืองปาฏลีบุตรร่วมกับคณะสงฆ์ ได้ส่งพระสงฆ์ออกประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระสงฆ์คณะหนึ่งได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ อันได้แก่ดินแดนในเขตประเทศพม่าและประเทศไทยในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้เจริญขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้ตามลำดับ จนกระทั่งถึงสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงได้ทรงรับเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย และเป็นศาสนาประจำชาติไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ตราไว้ว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก คือแม้พระองค์จะทรงนับถือพระพุทธศาสนา แต่พระองค์ก็พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นๆในประเทศไทยด้วยเช่นกัน พระพุทธศาสนาได้ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของชนชาติไทยมาเป็นเวลาช้านาน ศิลปวัฒนธรรมตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชนชาติไทย ล้วนได้รับการหล่อหลอมจากพระพุทธศาสนา และดำรงมั่นคงคู่ไทยตลอดมา

[แก้ไข] นิกาย
ศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ 2 นิกายคือ เถรวาท หรือ หินยาน และ มหายาน นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งที่แตกต่างออกไปและไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยคือ การแบ่งเป็น 3 นิกายคือ

เถรวาท (Theravāda) หรือ หินยาน (Hinayāna-ยานเล็ก) หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสั่งสอน และ หลักปฏิบัติ จะเป็นไปตามพระไตรปิฎก (Tipitaka) แพร่หลายอยุ่ในประเทศไทย ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา และ บางส่วนของประเทศเวียดนามส่วนมากเป็นชาวเขมร บังกลาเทศ และ มาเลเซียส่วนมากเป็นชาวสยาม
อาจาริยวาท (Ācāriyavāda) หรือ มหายาน (Mahāyāna-ยานใหญ่) แพร่หลายใน จีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย ภูฏาน ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้และ สิงคโปร์ และบางส่วนของ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียส่วนมากเป็นชาวจีน เนปาล บรูไนส่วนมากเป็นชาวจีน ฟิลิปปินส์ส่วนมากเป็นชาวจีน อุซเบกิสถาน และ ทาจิกิสถาน
วัชรยาน (Vajrayāna) หรือ มหายานพิเศษ ปัจจุบันมีใน อินเดียบริเวณลาดักในรัฐชัมมูและกัษมีร์ และในรัฐสิกขิม เนปาล ภูฏาน ปากีสถาน และ เขตปกครองตนเองทิเบต
[แก้ไข] สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
วัด ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ หรือ ที่จำพรรษา ของ พระภิกษุ สามเณร เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมประจำวันของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การทำวัตรเช้า การทำวัตรเย็น อีกทั้ง ยังใช้ประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน อีกด้วย

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดียบทความ ศาสนาพุทธ ซึ่งบทความนี้คัดลอกมาจากวิกิพีเดียและนำมาใช้ภายใต้สัญญา GFDL
ศาสนาพุทธ
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต


ประเภทของหน้า: ศาสนาพุทธ