สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (ฉบับลงประชามติ)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2008
ที่มา: 
www.dtl-law.com

สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (ฉบับลงประชามติ)
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีสาระสำคัญที่ให้ประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ๔ ประการ คือ

        ๑. คุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนอย่างเต็มที่

        ๒. ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน

        ๓. การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม

        ๔. ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 


[แก้ไข] ๑. การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
        ๑.๑ เพิ่มประเภทสิทธิและเสรีภาพให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมากกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิทธิและเสรีภาพที่เพิ่มขึ้น อาทิ

        ๑) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด

        ๒) ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง

        ๓) สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนได้รับการคุ้มครองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่เพียงแต่ห้ามปิดกิจการสื่อมวลชนเท่านั้น ยังห้ามแทรกแซงสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสาร รวมทั้งห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนด้วย เพื่อป้องกันการใช้สื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์ของตนเอง

        ๔) ประชาชนได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ๑๒ ปีโดยเท่าเทียมกัน

        ๕) เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา

        ๖) บุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเป็นครั้งแรก

        ๗) ขยายสิทธิชุมชน การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ชุมชนมีสิทธิที่จะฟ้ององค์กรของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิชุมชน

        ๘) ในการทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีผลกระทบต่อประชาชนรัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และต้องแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการลงนามในหนังสือสัญญาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม

        ๙) ให้สิทธิประชาชนเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้ประชาชน ๕๐,๐๐๐ คนเข้าชื่อเพื่อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

        ๑.๒ ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพง่ายขึ้นกว่าเดิม

        ๑) สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไว้ แม้ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับประชาชนก็สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นได้ทันทีโดยการร้องขอต่อศาล

        ๒) ลดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายจาก ๕๐,๐๐๐ ชื่อ เหลือเพียง ๑๐,๐๐๐ ชื่อ และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจาก ๕๐,๐๐๐ ชื่อ เหลือเพียง ๒๐,๐๐๐ ชื่อ

        ๑.๓ ทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพมีประสิทธิภาพและมีมาตรการคุ้มครองอย่างชัดเจน

        ๑) กำหนดระยะเวลาในการตรากฎหมายลูก เพื่อรองรับเรื่องต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติได้ชัดเจน (ส่วนใหญ่ประมาณ ๑ ปี ไม่เกิน ๒ ปี)

        ๒) ประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ในกรณีที่กฎหมายมีบทบัญญัติที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

        ๓) ชุมชนมีสิทธิฟ้องศาลได้ในกรณีที่ม ีการละเมิดสิทธิของชุมชน

        ๔) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟองศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ในกรณีที่มี การละเมิดสิทธิมนุษยชน

        ๑.๔ ทำให้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีความชัดเจนและผูกพันรัฐมากกว่าเดิม อีกทั้งปรับปรุงการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เหมาะสมขึ้น

        ๑)ปฏิรูประบบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคลากรมีฐานะเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน และให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมระดับท้องถิ่น

        ๒) ลดจำนวนประชาชนที่เข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองและการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นรวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานการดำเนินงานต่อประชาชนในเรื่องการจัดทำงบประมาณการใช้จ่าย และผลการดำเนินงานในรอบปี เพื่อประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการบริหารจัดการ

 


[แก้ไข] ๒. ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน
        ๒.๑ เสริมสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน

        ๑) ให้ประชาชนและชุมชนมีอำนาจในการฟ้องร้องรัฐที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมได้

        ๒) ให้ประชาชนใช้สิทธิทางการเมืองได้ง่ายขึ้น เช่น การลดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอนนักการเมือง และการเสนอกฎหมาย ทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น

        ๒.๒ จำกัดการผูกขาดและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล

        ๑) นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน ๘ ปี

        ๒) การตราพระราชกำหนดของรัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบโดยเคร่งครัดจากศาลรัฐธรรมนูญมิใช่ตามอำเภอใจของรัฐบาลอีกต่อไป

        ๓) มีหมวดการเงิน การคลัง และงบประมาณขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อมิให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีวินัยการเงินและงบประมาณ และรายจ่ายงบกลางกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์และต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นด้วย

        ๔) กำหนดให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม

        ๕) ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรยังไม่สิ้นสุดลงเพื่อป้องกันการเกิดเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา

        ๒.๓ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมืองเพื่อทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนได้อย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

        ๒.๔ ให้สมาชิกวุฒิสภาปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง

        ๒.๕ ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแทรกแซงข้าราชการประจำ

 


[แก้ไข] ๓. ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม (เติมสิ่งที่ขาดหายไปในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐)
        ๓.๑ บัญญัติหมวดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้อย่างชัดเจน มีการกำหนดโทษการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมที่ร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง

        ๓.๒ กำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติซึ่งครอบคลุมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย

        ๓.๓ การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความเข้มข้นขึ้นไปถึงทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะต้องเปิดเผยให้แก่สาธารณชนทราบ เช่นเดียวกับของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

        ๓.๔ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพ้นตำแหน่ง ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษก็พ้นจากตำแหน่ง

        ๓.๕ ห้ามประธานสภา รองประธานสภา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีดำเนินการในลักษณะที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

        ๑) ประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างดำรงแหน่งจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองมิได้

        ๒) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งการปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น

 


[แก้ไข] ๔. ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        ๔.๑ ปรับปรุงระบบการสรรหาองค์กรตรวจสอบเพื่อให้มีความอิสระและเหมาะสมกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรอย่างแท้จริง

        ๔.๒ ปรับปรุงอำนาจหน้าที่และระบบการทำงานขององค์กรตรวจสอบให้ดียิ่งขึ้น

        ๑) ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับฟัองโดยตรงในเรื่องที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพได้

        ๒) ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ (จากเดิมที่ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ)

        ๓) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถหยิบยกเรื่องที่เกิดความเสียหายต่อประชาชนโดยรวมขึ้นพิจารณาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องเรียน (เปลี่ยนชื่อจากเดิมเรียกว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” เป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”)

        ๔) ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเพียง ๑/๕ และเปิดอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลโดยใช้เสียงเพียง ๑/๖ นอกจากนี้แม้จะมีจำนวน ส.ส. ฝ่ายค้านไม่เพียงพอต่อการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว รัฐธรรมนูญก็ได้เปิดโอกาสให้ ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ฝ่ายค้านทั้งหมด สามารถขอเปิดอภิปรายฯ ได้ เมื่อรัฐบาลได้บริหารประเทศมาเกินกว่าสองปีแล้ว

        ๔.๓ จัดให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

        ๑) การให้ใบเหลือง ใบแดง ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณี ส.ส./ส.ว.สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค

        ๒) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.dtl-law.com

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย