อายุความอันเป็นโทษแก่บุคคลบางประเภทและการครอบครองปรปักษ์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

อายุความอันเป็นโทษแก่บุคคลบางประเภทและการครอบครองปรปักษ์


        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 บัญญัติว่า

         “ถ้าเวลาหนึ่งเวลาใดในหกเดือนก่อนอายุความครบกำหนดนั้น ผู้เยาว์ก็ดี หรือบุคคลวิกลจริตอันศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือหาไม่ก็ดี มิได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมไซร้ ท่านว่าอายุความอันให้โทษแก่บุคคลเช่นนั้น ยังไม่ครบบริบูรณ์ จนกว่าจะสิ้นเวลาปีหนึ่ง นับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเติมภูมิ หรือ นับแต่เวลาเมื่อขาดตัวผู้แทนโดยชอบธรรมอยู่นั้นได้สิ้นไปแล้ว

        มาตรา 186 บัญญัติว่า

         “อายคุวามแห่งสิทธิเรียกร้อง อันมีอยู่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคล เมื่อเวลาตายนั้น ถ้าจะขาดลงภายในเวลาต่ำกว่าปีหนึ่งนับแต่วันตายไซร้ ท่านให้ขยายอายุความนั้นออกไปเป็นปีหนึ่งนับแต่วันตาย"

        มาตรา 1386 บัญญัติว่า

         “บทบัญญัติว่าด้วยอายุความในประมวลกฎหมายนี้ ท่านให้ใช้บังคับในเรื่องอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะนี้โดยอนุโลม”

        มาตรา 1382 บัญญัติว่า

         “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

        ตามบัญญัติต่าง ๆ ที่ยกมาข้างต้นนี้ มีปัญหาว่า อายุความอันเป็นโทษแก่ผู้เยาว์ หรือคนวิกลจริตตามมาตรา 183 ก็ดี หรืออายุความอันเป็นโทษแก่บุคคลเมื่อเวลาตายดังนี้ บัญญัติไว้ในมาตรา 186 ก็ดี จะนำมาใช้กับการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 ได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบอันถูกต้องที่ได้รับการชี้ขาดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกา คำตอบต่อไปนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งย่อมจะผิดหรือถูกได้เท่า ๆ กัน

        ในการตอบปัญหาดังกล่าว ต้องขอย้อนไปพูดถึงคำว่า “อายุความ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 163 ว่า “อันสิทธิเรียกร้องอย่างใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับเสียภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ ท่านว่าตกเป็นอันขาดอายุความ ห้ามมิให้ฟ้องร้อง” และตามมาตรา 193 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ท่านว่าศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ อายุความจึงหมายถึงระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิเรียกร้องนี้อาจจะเกิดจากนิติกรรม เช่น สัญญา หรือเกิดจากนิติเหตุเช่นละเมิดก็ได้ ฉะนั้นผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงเป็นเจ้าหนี้ และผู้ที่จะถูกเรียกร้องนั้นจึงเป็นลูกหนี้ ส่วนการครอบครองปรปักษ์นั้นเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น โดยอาศัยระยะเวลาตามกฎหมายกำหนดไว้ ไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้แต่อย่างใด แม้กระนั้น มาตรา 1386 ก็ยังถือเป็นอายุความได้สิทธิอย่างหนึ่ง ซึ่งคงจะหมายถึงระยะเวลาได้สิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่นเขา เมื่อเปรียบเทียบกันดังนี้จะเห็นได้ว่า อายุความใช้สิทธิเรียกร้องเป็นคนละเรื่องกับอายุความได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเราเรียกกันว่า ครอบครองปกปักษ์ อย่างไรก็ตามมีคำพิพากษาฎีกาที่ 760/2477 กล่าววินิจฉัยเป็นทำนองว่า การที่เจ้าของทรัพย์ละทิ้งทรัพย์ของตนจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปกปักษ์นั้น เป็นเรื่องของการขาดอายุความนั่นเอง ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้เป็นเรื่องจำเลยซื้อที่ดินมีโฉนดไว้ แต่มิได้อยู่ประจำ คงมอบให้ผู้อื่นดูแลแทน โจทก์จึงเข้าไปครอบครองที่พิพาท แล้วฟ้องขับไล่จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์เพิ่งเข้าทำนายังไม่ครบ 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 ฎีกาที่ 695/63 และ 367/69 ที่โจทก์อ้างนั้น ตามเนื้อเรื่อง ปรากฏว่าผู้อื่นเข้าครอบครองที่เกิน 9 – 10 ปี ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เจ้าของละทิ้งนั้น แท้จริงก็โดยนัยขาดอายุความ ตามมาตรา 164 นั่นเอง หมายถึงถือเกณฑ์ผู้เข้าครอบครองมิได้อาศัยเกณฑ์เจ้าของเดิมละทิ้ง”

        ความจริงการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปกปักษ์นั้น น่าจะไม่เกี่ยวกับการขาดอายุความเรียกร้อง ตามมาตรา 163 หรือมาตรา 164 ดังที่วินิจฉัยไว้ใน คำพิพากษาฎีกาที่ 760/2477 การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปกปักษ์ กฎหมายพิจารณาจากทางผู้เข้าครอบครองปกปักษ์ว่า ได้เข้าครอบครองครบกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วหรือไม่ ถ้าครอบครองครบกำหนดแล้ว ก็ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นไป แต่อายุความใช้สิทธิเรียกร้อง กฎหมายพิจารณาจากทางเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้อง ว่าได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ ลูกหนี้มีสิทธิยกอายุความนั้นขึ้นต่อสู้ได้ และศาลชอบจะอ้างเอาการที่มิได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความเป็นเหตุยกฟ้องเสียได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงหนี้ที่เป็นมูลก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องนั้นว่ามีอยู่จริงหรือไม่

        การที่มีบุคคลอื่นครอบครองปกปักษ์ทรัพย์สินของเรา และในการฟ้องเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของเรานั้น จะต้องพิจารณาทั้งสองฝ่ายด้วยกัน คือพิจารณาจากฝ่ายผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน และพิจารณาจากฝ่ายผู้ครอบครองปกปักษ์ ในการพิจารณาจากด้านผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เป็นเรื่องของอายุความใช้สิทธิเรียกร้อง หากพิจารณาจากด้านนี้ ก็นำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความอันเป็นโทษแก่บุคคลบางประเภท ตามมาตรา 183 หรือมาตรา 186 มาใช้ได้ แต่ถ้าพิจารณาทางฝ่ายผู้ครอบครองปกปักษ์แล้ว เมื่อการครอบครองปกปักษ์ไม่เกี่ยวกับอายุความใช้สิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำมาตรา 183 หรือมาตรา 186 ซึ่งเป็นเรื่องอายุความใช้สิทธิเรียกร้อง มาใช้กับการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปกปักษ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นว่า ถ้าพิจารณาทางฝ่ายเจ้าของทรัพย์สิน ก็นำบทบัญญัติมาตรา 183 หรือมาตรา 183 มาใช้ได้นั้น ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงการแยกพิจารณาว่า ถ้ามองในด้านของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ก็เป็นเรื่องใช้สิทธิเรียกร้องทรัพย์ของตนคืน ย่อมอยู่ในบังคับของมาตรา 183 และมาตรา 186 ด้วย แต่ในเรื่องเรียกทรัพย์สินของเราคืนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้นั้น เป็นเรื่องตามมาตรา 1336 ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาที่ 424/2499, 466/2508 และ 1563 – 1564/2513 วินิจฉัยไว้ว่าไม่มีอายุความคือจะช้านานเพียงใดสิทธิติดตามเอาคืนของเจ้าของทรัพย์สินก็ยังมีอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เจ้าของทรัพย์สินเรียกเอาทรัพย์สินที่มีผู้ครอบครองปกปักษ์นั้น จึงไม่มีอายุความจะฟ้องเมื่อใดก็ได้ ผู้ครอบครองปกปักษ์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ตามมาตรา 193 เพื่อให้ศาลยกฟ้องเสียทีเดียวหาได้ไม่ เพราะคดีเช่นนี้ไม่มีการขาดอายุความฟ้องร้อง ดังนั้นโอกาสที่จะนำมาตรา 183 หรือ มาตรา 186 มาใช้กับกรณีฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนโดยอาศัยอำนาจกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1336 จึงไม่มี แต่เมื่อพิจารณาทางฝ่ายผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งถือว่าฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนเมื่อใดก็ได้แล้ว ก็อย่าเพิ่งคิดว่าชนะคดีเสมอไป เพราะจะต้องพิจารณาทางฝ่ายผู้ครอบครองทรัพย์สินอีกด้วยว่า เป็นการครอบครองปกปักษ์ครบกำหนดเวลาจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือยัง ถ้าผู้นั้นได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปกปักษ์แล้ว แม้เจ้าของทรัพย์สินจะมีสิทธิ์ฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนตามมาตรา 1336 แต่ก็ต้องแพ้คดีเพราะทรัพย์สินนั้นกลายเป็นของผู้อื่นเสียแล้วตามมาตรา 1382

        ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1386 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความ ไปใช้กับเรื่องอายุความได้สิทธิ์ด้วยนั้น ก็เพียงแต่ให้นำไปใช้โดยอนุโลมเท่านั้น กล่าวคือ นำไปใช้เท่าที่พอจะใช้ได้ เช่น เรื่องอายุความสะดุดหยุดลงและสะดุดหยุดอยู่เท่านั้น หาใช่ว่าจะต้องนำไปใช้ทั้งหมดทั้ง ๆ ที่ใช้ด้วยกันมิได้ ดังเช่น มาตรา 183 มาตรา 186 กับมาตรา 1382 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นไม่


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมุลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย