พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖

พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

         (๑) พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒

         (๒) พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

        มาตรา ๔ ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้ และคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล

        มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้

         “สถาบันอุดมศึกษาเอกชน” หมายความว่า สถานศึกษาของเอกชนที่ให้การศึกษาระดับปริญญาแก่บุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป

         “ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้นำทุนมาจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และหมายความรวมถึงผู้รับโอนใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

         “สภาสถาบัน” หมายความว่า สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         “กรรมการสภาสถาบัน” หมายความว่า กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         “คณาจารย์” หมายความว่า ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ อาจารย์ และอาจารย์พิเศษ ซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         “นักศึกษา” หมายความว่า ผู้ซึ่งเข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเทียบเท่า หรือผู้ซึ่งสภาสถาบันอนุมัติให้เข้าศึกษาได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “กระทรวง” หมายความว่า กระทรวงศึกษาธิการ

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๖ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญา เว้นแต่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

        มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด ๑ การจัดตั้งและเปิดดำเนินการ

        มาตรา ๘ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ

        มาตรา ๙ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีสามประเภทคือ

         (๑) มหาวิทยาลัย

         (๒) สถาบัน

         (๓) วิทยาลัย

        ลักษณะของมหาวิทยาลัย สถาบัน และวิทยาลัย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๐ การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๙ ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

        การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๑ ในการขอรับใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเสนอโครงการจัดตั้งข้อกำหนดและสาขาวิชาที่จะเปิดสอนมาพร้อมกับคำขอด้วย ข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

         (๑) ชื่อและประเภท

         (๒) วัตถุประสงค์

         (๓) ที่ตั้งและแผนผังแสดงบริเวณและอาคาร

         (๔) รายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินตามมาตรา ๑๒

         (๕) ทุนจากผู้ขอรับใบอนุญาตและโครงการใช้จ่าย

         (๖) ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์

         (๗) ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ

         (๘) โครงการจัดการศึกษาและอุปกรณ์หลักในการจัดการศึกษา

         (๙) โครงการจัดหาและพัฒนาผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่

         (๑๐) หลักสูตร การสอน และการวัดผลการศึกษา

         (๑๑) อัตราค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ

         (๑๒) วิธีการรับนักศึกษาและให้นักศึกษาพ้นสภาพ

         (๑๓) เครื่องแบบนักศึกษาหรือการแต่งกายของนักศึกษา

         (๑๔) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติของผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ การกำหนดอัตราเงินเดือน ค่าสอน ค่าชดเชย ค่าตอบแทน หลักเกณฑ์การจ้างและเลิกจ้าง และสวัสดิการของผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่

         (๑๕) รายการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        การแก้ไขข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคสองต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ เว้นแต่ (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) ให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบัน และต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาสถาบันให้ความเห็นชอบ

        มาตรา ๑๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้อง

         (๑) เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒) เป็นผู้มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๖ หรือ

         (๓) เป็นผู้เช่าที่ดินจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะสามารถโอนสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๖

        ที่ดินตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะและเนื้อที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๓ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งอธิการบดี

        มาตรา ๑๔ การเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ แล้ว ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

        การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๕ การอนุญาต การเพิกถอนการอนุญาต การเปลี่ยนชื่อ และการเปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๑๖ เมื่อได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการดังนี้

         (๑) กรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมาตรา ๑๒ (๑) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยปลอดจากภาระผูกพันใดๆ ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและรัฐมนตรีอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน

         (๒) กรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีหลักฐานตามมาตรา ๑๒ (๒) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยปลอดจากภาระผูกพันใดๆ ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและรัฐมนตรีอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน

         (๓) กรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้เช่าที่ดินตามมาตรา ๑๒ (๓) ต้องโอนสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวโดยปลอดจากภาระผูกพันใดๆ ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตเว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและรัฐมนตรีอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน

         (๔) โอนเงินและทรัพย์สินอื่นซึ่งเป็นทุนนอกจากที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในหกสิบวัน

        ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้

        มาตรา ๑๗ การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๑๖ (๑) และ (๒) และการบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ได้รับยกเว้นภาษีอากรกรณีโอนอสังหาริมทรัพย์โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

        มาตรา ๑๘ การเปิดดำเนินการในสาขาวิชาใดเพิ่มเติมจากที่ได้รับอนุมัติไว้ตามมาตรา ๑๑ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบัน และให้แจ้งคณะกรรมการทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาสถาบันให้ความเห็นชอบ

        การขอเปิดดำเนินการ และการให้ความเห็นชอบในการเปิดดำเนินการในสาขาวิชา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๑๙ การแบ่งส่วนงานและการจัดระบบบริหารงานภายใน ให้เป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของสภาสถาบัน

        มาตรา ๒๐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจจัดการศึกษาในสาขาวิชาใดนอกสถานที่ตั้งได้ รูปแบบ วิธีการจัด การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๒๑ ชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องใช้อักษรไทยและต้องใช้คำว่า “มหาวิทยาลัย” “สถาบัน” หรือ “วิทยาลัย” นำหน้าชื่อ

        ชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะใช้อักษรต่างประเทศด้วยก็ได้ โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

        มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้ ใช้คำว่า “มหาวิทยาลัย” “สถาบัน” หรือ “วิทยาลัย” หรือคำในภาษาต่างประเทศที่มีความหมายอย่างเดียวกันประกอบชื่อ ในดวงตรา ป้ายชื่อ ข้อบังคับ ระเบียบ จดหมาย เอกสาร หรือสื่ออย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๒๓ กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

        การคุ้มครองการทำงาน และผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

[แก้ไข]
หมวด ๒ คณะกรรมการ

        มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) ให้ความเห็นชอบในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

         (๒) เสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง และประกาศ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๓) ให้การรับรองหลักสูตรการศึกษาตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนด

         (๔) ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรฐานการศึกษาที่กระทรวงกำหนด

         (๕) ออกระเบียบ และข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         (๖) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

        มาตรา ๒๕ ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอื่น หรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ และเมื่อได้ดำเนินการประการใดแล้วให้รายงานให้คณะกรรมการทราบด้วย

        การประชุมของคณะกรรมการอื่น หรือคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการ คณะกรรมการอื่น และคณะอนุกรรมการ มีอำนาจเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งให้บุคคลใดๆ ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็นแก่การดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่

[แก้ไข]
หมวด ๓ การดำเนินงาน

        มาตรา ๒๘ ให้มีสภาสถาบันในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งประกอบด้วย

         (๑) นายกสภาสถาบัน ซึ่งผู้รับใบอนุญาตเสนอชื่อ

         (๒) อธิการบดี เป็นกรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง

         (๓) กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสี่คนซึ่งผู้รับใบอนุญาตเสนอชื่อ ทั้งนี้ ให้มีผู้แทนคณาจารย์อย่างน้อยหนึ่งคน

         (๔) กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคนซึ่งรัฐมนตรีเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเห็นชอบ

        ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งนายกสภาสถาบันตาม (๑) และกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) และ (๔)

        ให้สภาสถาบันเลือกกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งเป็นอุปนายกสภาสถาบันเพื่อทำหน้าที่แทนนายกสภาสถาบัน เมื่อนายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน

        ให้สภาสถาบันแต่งตั้งผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนคนหนึ่งเป็นเลขานุการ โดยคำแนะนำของอธิการบดี

        มาตรา ๒๙ เมื่อรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๑) และกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๘ (๓) และ (๔) แล้ว ให้นายกสภาสถาบันจัดให้มีการประชุมกรรมการสภาสถาบันเพื่อแต่งตั้งอธิการบดี

        การประชุมกรรมการสภาสถาบันครั้งแรกให้ดำเนินการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับแจ้งคำสั่งแต่งตั้งนายกสภาสถาบัน และกรรมการสภาสถาบัน ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๘

        มาตรา ๓๐ กรรมการสภาสถาบันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย

        กรรมการสภาสถาบันต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและต้องไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

        ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) หรือ (๔) ได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสอง

        มาตรา ๓๑ นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๓๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๑ นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) หรือ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๔) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๕) รัฐมนตรีสั่งให้ออกเมื่อเห็นว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๐

         (๖) รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๘๖

        ในกรณีที่นายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) หรือ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๐ เป็นนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๒๘ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

        ในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการสภาสถาบันซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการสภาสถาบันที่แต่งตั้งไว้แล้ว

        ในกรณีที่กรรมการสภาสถาบันพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันขึ้นใหม่ ให้กรรมการสภาสถาบันซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันขึ้นใหม่

        มาตรา ๓๓ ให้นายกสภาสถาบันเป็นผู้เรียกประชุมกรรมการสภาสถาบัน

        การประชุมกรรมการสภาสถาบันต้องมีกรรมการสภาสถาบันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภาสถาบันทั้งหมด

        ให้นายกสภาสถาบันเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกสภาสถาบันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาสถาบันและอุปนายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการสภาสถาบันซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการสภาสถาบันคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

        กรรมการสภาสถาบันคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        ให้มีการประชุมกรรมการสภาสถาบันอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง

        มาตรา ๓๔ สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

         (๑) อนุมัติแผนพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒) ออกข้อกำหนด ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๓) จัดสรรทุนออกเป็นกองทุนประเภทต่างๆ และออกข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของกองทุน

         (๔) อนุมัติแผนการเงิน งบดุล งบการเงินประจำปีของกองทุนประเภทต่างๆ

         (๕) อนุมัติการโอนเงินของกองทุนประเภทหนึ่งไปเป็นของกองทุนอีกประเภทหนึ่ง

         (๖) อนุมัติการปรับปรุงหลักสูตรการสอนและการเปิดหลักสูตรการสอนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

         (๗) อนุมัติการรับนักศึกษา การให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญา หรือประกาศนียบัตรบัณฑิต

         (๘) อนุมัติการให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ

         (๙) อนุมัติการจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิกส่วนงานภายใน

         (๑๐) อนุมัติความร่วมมือทางวิชาการหรือความร่วมมืออื่นกับสถาบันการศึกษาหรือบุคคลใดตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

         (๑๑) สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยระดมทรัพยากรบุคคลจากในประเทศและต่างประเทศ การนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญและภูมิปัญญาของบุคคลดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพบัณฑิต

         (๑๒) อนุมัติการรับหรือการเข้าสมทบกับสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

         (๑๓) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการในการแก้ไขข้อกำหนดตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม

         (๑๔) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษ

         (๑๕) แต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ และถอดถอนคณาจารย์ประจำตามมาตรา ๙๗

         (๑๖) ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า

         (๑๗) ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนรองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ

         (๑๘) ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาหรือให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสและบุคคลผู้มีความสามารถพิเศษ

         (๑๙) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการ ประโยชน์เกื้อกูลอื่น วินัย หลักเกณฑ์ การจ้าง และการเลิกจ้างของผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่

         (๒๐) พัฒนาความสามารถของคณาจารย์ บุคลากรและคุณภาพของบัณฑิตเพื่อการผลิตบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

         (๒๑) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การฝึกอบรมคณาจารย์และบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

         (๒๒) ส่งเสริมสนับสนุนการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและประสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒๓) ให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒๔) พิจารณาวิธีที่จะทำให้การศึกษา การวิจัย และการฝึกอบรมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเจริญก้าวหน้าและมีคุณภาพทางวิชาการยิ่งขึ้น (๒๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ

        มาตรา ๓๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ สภาสถาบันจะแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อให้กระทำการใดๆ ตามที่มอบหมายก็ได้ และเมื่อได้ดำเนินการประการใดแล้วให้รายงานให้สภาสถาบันทราบ ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

        มาตรา ๓๖ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประกอบด้วย

         (๑) ประธานกรรมการ ซึ่งสภาสถาบันแต่งตั้งจากกรรมการสภาสถาบัน

         (๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนแต่ไม่เกินสิบสองคน

        ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนคนหนึ่งเป็นเลขานุการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาของกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๓๗ กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๓๖ มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        การแต่งตั้งกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระ ให้นำมาตรา ๓๒ วรรคสอง และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๓๘ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

         (๑) พิจารณาเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒) พิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับการอุทธรณ์ตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๓) พิจารณาเทียบตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอื่นเข้าสู่ระบบของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        การประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        มาตรา ๓๙ ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และจะมีรองอธิการบดีคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้ เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย

        รองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับอธิการบดี และให้อธิการบดีเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน

        เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่งให้รองอธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย

        มาตรา ๔๐ ให้สภาสถาบันแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑ และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันแต่งตั้ง

        มาตรา ๔๑ อธิการบดีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (๑) สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและมีประสบการณ์ในการสอนหรือการบริหารสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโทหรือเทียบเท่าและมีประสบการณ์ในการสอนหรือการบริหารสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี หรือสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกหรือเทียบเท่าและมีประสบการณ์ในการสอนหรือการบริหารสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

         (๒) ไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

         (๓) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

         (๔) ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (๕) ไม่เคยถูกออกจากงานหรือราชการเพราะมีความผิด เว้นแต่รัฐมนตรีเห็นว่าความผิดนั้นไม่ขัดต่อการเป็นอธิการบดี

         (๖) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๗) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

        มาตรา ๔๒ ในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามีรองอธิการบดีหลายคน ให้รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าอธิการบดีมิได้มอบหมาย ให้รองอธิการบดีซึ่งมีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทน

        ในกรณีที่ไม่มีอธิการบดี หรือไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สภาสถาบันแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี

        ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับอธิการบดีทุกประการ

        มาตรา ๔๓ อธิการบดีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) ควบคุมดูแลกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด ระเบียบ และข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมทั้งนโยบายและมติของสภาสถาบัน

         (๒) จัดให้มีระบบบริหารตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ โดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน

         (๔) แต่งตั้งและถอดถอนอาจารย์ อาจารย์พิเศษ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๕) ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๖) จัดทำทะเบียนคณาจารย์ประจำ ผู้ช่วยอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

         (๗) ควบคุมการเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และมติของสภาสถาบัน

         (๘) เป็นผู้แทนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในกิจการทั่วไป

         (๙) จัดทำรายงานประจำปี งบการเงินประจำปี และรายงานอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

         (๑๐) รักษาวินัยของนักศึกษา

         (๑๑) ระมัดระวังมิให้มีการดำเนินการอันเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ วัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในบริเวณสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๑๒) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อกำหนด ระเบียบ และข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หน้าที่ที่สภาสถาบันมอบหมาย และหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

         (๑๓) ดำเนินกิจการอื่นอันเป็นปกติธุระที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนพึงกระทำ

        มาตรา ๔๔ เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้สภาสถาบันแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง

        มาตรา ๔๕ คณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีตำแหน่งทางวิชาการดังต่อไปนี้

         (๑) ศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์พิเศษ

         (๒) รองศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์พิเศษ

         (๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ

         (๔) อาจารย์หรืออาจารย์พิเศษ

        มาตรา ๔๖ คณาจารย์ประจำต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือมีความรู้ความชำนาญพิเศษในวิชาใดวิชาหนึ่ง

         (๒) ไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

         (๓) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

         (๔) ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

        มาตรา ๔๗ ศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษนั้นให้อธิการบดีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน

        อาจารย์และอาจารย์พิเศษนั้น ให้อธิการบดีแต่งตั้ง

        ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        มาตรา ๔๘ นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด

        การพ้นจากตำแหน่งคณาจารย์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        มาตรา ๔๙ ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษและพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิด สภาสถาบันอาจแต่งตั้ง ให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์นั้นมีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศได้

        คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษหรือแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ให้ผู้นั้นมีสิทธิใช้ชื่อศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ แล้วแต่กรณี เป็นคำนำหน้านามเพื่อแสดงวิทยฐานะได้

        การใช้คำนำหน้านามตามวรรคหนึ่ง ถ้าใช้อักษรย่อให้ใช้ดังนี้

        ศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ศ.

        ศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ศ.(พิเศษ)

        ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ใช้อักษรย่อ ศ.(เกียรติคุณ)

        รองศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ รศ.

        รองศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ รศ.(พิเศษ)

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ผศ.

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ผศ.(พิเศษ)

        มาตรา ๕๑ เมื่ออธิการบดีแต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๔๕ (๒) (๓) และ (๔) ให้อธิการบดีแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันแต่งตั้ง

        มาตรา ๕๒ บุคคลใดจะเป็นคณาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเกินหนึ่งแห่งไม่ได้

        มาตรา ๕๓ ในกรณีที่มีความจำเป็น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจมีผู้ช่วยอาจารย์ได้

        ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

[แก้ไข]
หมวด ๔ ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ

        มาตรา ๕๔ ปริญญามีสามชั้น คือ

        ปริญญาเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ด.

        ปริญญาโท เรียกว่า มหาบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ม.

        ปริญญาตรี เรียกว่า บัณฑิต ใช้อักษรย่อ บ.

        สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะทำการสอนเพื่อให้ปริญญาชั้นใด และในสาขาวิชาใดได้เมื่อรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการได้รับรองวิทยฐานะ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นแล้ว

        การขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๕๕ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิต ในสาขาวิชาที่มีการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ เมื่อรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการได้รับรองมาตรฐานการศึกษาในสาขาวิชาที่มีการสอนนั้น

        การขอให้รับรองและการรับรองมาตรฐานการศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใด และจะให้ใช้อักษรย่อสำหรับสาขาวิชานั้นอย่างไรให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๕๖ สภาสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจออกข้อบังคับกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสองได้

        มาตรา ๕๗ สภาสถาบันอาจออกข้อบังคับกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรบัณฑิตได้ดังต่อไปนี้

         (๑) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา

         (๒) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี หรือผู้ที่สอบไล่ได้ครบทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรปริญญาตรี แต่ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่าเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

         (๓) ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใดภายหลังที่ได้ปริญญาแล้ว

        มาตรา ๕๘ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสภาสถาบันเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้นๆ แต่จะให้ปริญญาดังกล่าวแก่กรรมการสภาสถาบัน คณาจารย์ประจำ หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นไม่ได้

        ชั้น สาขาของปริญญา และหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๕๙ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญา และประกาศนียบัตรบัณฑิต และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งกรรมการสภาสถาบัน ครุยประจำตำแหน่งผู้บริหารและครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์ประจำของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้

        การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยประจำตำแหน่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งจะใช้ในโอกาสใดโดยมีเงื่อนไขอย่างใดให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

[แก้ไข]
หมวด ๕ ทรัพย์สินและการบัญชี

        มาตรา ๖๐ ทุนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดเมื่อจัดตั้ง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นที่ได้มาในภายหลัง

        ที่มาของทุนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่ง ได้แก่

         (๑) ทุนจากผู้รับใบอนุญาต ซึ่งประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินอื่นที่ระบุในข้อกำหนดเมื่อจัดตั้งและที่จัดหามาเพิ่มเติมในภายหลัง

         (๒) ทุนจากการได้รับบริจาค ซึ่งประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยระบุเงื่อนไขให้ใช้ได้เฉพาะแต่ดอกผล

         (๓) ทุนสะสม ซึ่งประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากผลดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ผ่านมา

        มาตรา ๖๑ ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดสรรทุนของสถาบันเป็นกองทุนประเภทต่างๆ ที่มีลักษณะและวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

         (๑) กองทุนทั่วไป ได้แก่ เงินและทรัพย์สินอื่นที่จัดสรรไว้เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการทั่วไปของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒) กองทุนทรัพย์สินถาวร ได้แก่ ทรัพย์สินถาวรทุกประเภทที่ใช้ในการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นส่วนรวม รวมทั้งเงินที่จัดสรรไว้เพื่อจัดหาเพิ่มเติม ก่อสร้างและดัดแปลงทรัพย์สินถาวรของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ดีขึ้น แต่ไม่รวมถึงทรัพย์สินถาวรที่เป็นของกองทุนอื่นโดยเฉพาะ

         (๓) กองทุนวิจัย ได้แก่ เงินและทรัพย์สินอื่นที่ได้จัดสรรไว้เพื่อใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ ความก้าวหน้าทางวิชาการ การส่งเสริมและการสนับสนุนงานวิจัย รวมทั้งการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์

         (๔) กองทุนห้องสมุดและเทคโนโลยี ได้แก่ เงินและทรัพย์สินอื่นที่จัดสรรไว้เพื่อใช้ซื้อหนังสือ วารสาร สื่อการศึกษา อุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยี และทรัพย์สินอื่นที่ใช้ในห้องสมุด

         (๕) กองทุนพัฒนาบุคลากร ได้แก่ เงินและทรัพย์สินอื่นที่จัดสรรไว้เพื่อใช้ในการให้ทุนการศึกษาและการฝึกอบรมแก่คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๖) กองทุนสงเคราะห์ ได้แก่ เงินและทรัพย์สินอื่นที่จัดสรรไว้เพื่อใช้ในการให้ทุนแก่นักศึกษาและการสงเคราะห์อื่นที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา การให้สวัสดิการแก่คณาจารย์ประจำและเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและการสงเคราะห์อื่นๆ ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๗) กองทุนคงเงินต้นหรือกองทุนอื่น ได้แก่ เงินและทรัพย์สินอื่นที่จัดสรรไว้เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่นตามที่สภาสถาบันกำหนดตามความจำเป็นและเหมาะสม

        การบริหารกองทุนแต่ละประเภทนั้น ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        มาตรา ๖๒ รายได้ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีดังนี้

         (๑) เงินผลประโยชน์ ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าบริการต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒) เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่มีเงื่อนไขที่ระบุให้ใช้ได้เฉพาะแต่ดอกผล

         (๓) เงินอุดหนุนจากรัฐ

         (๔) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนและจากทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๕) รายได้และผลประโยชน์อย่างอื่น

        รายได้ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ถือเป็นรายได้ของกองทุนทั่วไป นอกจากรายได้ที่เกิดจากกองทุนใดโดยเฉพาะให้ถือเป็นรายได้ของกองทุนนั้น

        รายได้จากการบริจาคเงินเกินกว่าจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินและบันทึกบัญชีตามแผนการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเป็นรายปี สำหรับเงินส่วนที่เหลือเมื่อสิ้นปีให้กันไว้จ่ายในงวดต่อไป

        มาตรา ๖๓ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องดำเนินการเกี่ยวกับบรรดารายได้และทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ และตามวัตถุประสงค์ที่ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนกำหนดไว้

        มาตรา ๖๔ ทุกต้นปีการศึกษา สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องจัดให้มีเงินในกองทุนประเภทต่างๆ เป็นจำนวนเพียงพอที่จะดำเนินงานได้ ถ้ากองทุนใดมีจำนวนเงินไม่เพียงพอให้โอนเงินในกองทุนทั่วไปไปให้มีจำนวนเพียงพอ

        ในกรณีที่เงินในกองทุนทั่วไปมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดหามาเพิ่มเติมให้เพียงพอแก่การดำเนินงาน

        มาตรา ๖๕ ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดทำบัญชีตามหลักการบัญชีสากลและตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๖๖ เมื่อปรากฏว่ากองทุนทั่วไปมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายประจำปี ให้อธิการบดีเสนอสภาสถาบันดำเนินการดังนี้

         (๑) ให้นำเงินรายได้ส่วนที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายประจำปีในกองทุนทั่วไปโอนไปชดใช้กองทุนอื่นใดที่มียอดติดลบก่อน

         (๒) ให้จัดสรรเงินส่วนที่เหลือจากที่โอนไปตาม (๑) ให้กองทุนประเภทต่างๆ รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบและจัดสรรผลประโยชน์ให้ผู้รับใบอนุญาตไม่เกินร้อยละสามสิบ โดยให้มียอดคงเหลืออยู่เป็นทุนดำเนินงานของกองทุนทั่วไปไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ

        มาตรา ๖๗ ให้อธิการบดีเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำงบการเงินประจำปีให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและเมื่อผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วให้อธิการบดีนำเสนอต่อสภาสถาบัน

        เมื่อสภาสถาบันได้อนุมัติงบการเงินประจำปีแล้ว ให้อธิการบดีส่งงบการเงินพร้อมรายงานการสอบบัญชีไปยังสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

        มาตรา ๖๘ ให้สภาสถาบันแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประจำปีทุกปี

        มาตรา ๖๙ ให้ผู้สอบบัญชีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอำนาจตรวจสอบบัญชี เอกสารและหลักฐานต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามกรรมการสภาสถาบัน อธิการบดีหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และเรียกให้บุคคลดังกล่าวส่งสมุดบัญชี เอกสารหลักฐานต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

[แก้ไข]
หมวด ๖ การอุดหนุนและส่งเสริม

        มาตรา ๗๐ ให้รัฐอุดหนุนและส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังต่อไปนี้

         (๑) ให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐไปปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

         (๒) จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในด้านต่างๆ

         (๓) ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าประเภทครุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้ในการศึกษา และการวิจัยโดยการรับรองของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

         (๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน

[แก้ไข]
หมวด ๗ การกำกับและควบคุม

        มาตรา ๗๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือสถานที่ใดซึ่งมีหลักฐานว่าได้มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

        ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก หรือให้คำชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร

        มาตรา ๗๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา ๗๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

        มาตรา ๗๔ การกระทำดังต่อไปนี้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

         (๑) การรับความช่วยเหลือทางการเงิน อุปกรณ์การศึกษา หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลใดเป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนด

         (๒) การกู้เงินครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันเกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าของทรัพย์สินที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอยู่ขณะนั้น ทั้งนี้ หนี้สินสะสมต้องไม่เกินมูลค่าแห่งทรัพย์สิน

         (๓) การเช่าทรัพย์สินที่มีค่าเช่าเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนด

         (๔) การซื้อ การเช่าซื้อ หรือการจำหน่ายทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนด

         (๕) การก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินและสิ่งก่อสร้างตามที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๗๕ ห้ามมิให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลใด ซึ่งการรับนั้นอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศหรือขัดต่อวัฒนธรรมของชาติ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

        มาตรา ๗๖ ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องหยุดสอนติดต่อกันเกินกว่าสามวันนอกจากการหยุดตามปกติ อธิการบดีต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสามวันนับแต่วันหยุดสอน

        มาตรา ๗๗ ในกรณีที่คณาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนผู้ใดพ้นสภาพจากการเป็นคณาจารย์ประจำ ให้อธิการบดีแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณาจารย์ประจำผู้นั้นพ้นสภาพ

        มาตรา ๗๘ ในกรณีที่ปรากฏว่าอาคารสถานที่หรือบริเวณที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีสภาพขัดต่อสุขลักษณะหรืออนามัย ไม่มั่นคง หรือมีเหตุอื่นอันอาจเป็นภยันตรายแก่นักศึกษา ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้อธิการบดีดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้เสร็จภายในกำหนดเวลาอันสมควร หรือเมื่อเห็นเป็นการจำเป็นจะสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนหยุดสอนในระหว่างเวลาที่ต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือจนกว่าจะเห็นว่าเหตุที่สั่งให้หยุดสอนนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้วก็ได้

        มาตรา ๗๙ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาต กรรมการสภาสถาบัน อธิการบดี คณาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้

         (๑) ชื่อ ตรา สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒) สถานที่เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการอันไม่ควรแก่กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        มาตรา ๘๐ เมื่อปรากฏว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษาตามโครงการที่ได้รับใบอนุญาตภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต หรือไม่ขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการในการเปิดดำเนินการในสาขาวิชาใดตามโครงการที่ได้รับใบอนุญาตภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น

        มาตรา ๘๑ เมื่อปรากฏว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดได้รับความเห็นชอบให้เปิดดำเนินการในสาขาวิชาใดตามมาตรา ๑๘ แล้ว สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นไม่ดำเนินการภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบให้เปิดดำเนินการในสาขาวิชานั้น ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบให้เปิดดำเนินการสาขาวิชานั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

        มาตรา ๘๒ การโฆษณาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องไม่ใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ตรงตามข้อกำหนดหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม

        ข้อความตามวรรคหนึ่งหมายความรวมถึงการกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้

        มาตรา ๘๓ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

         (๑) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา

         (๒) ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา

         (๓) ห้ามการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการโฆษณา

         (๔) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นแล้วตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

        ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด

        มาตรา ๘๔ เมื่อปรากฏว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดได้รับความเห็นชอบให้เปิดดำเนินการในสาขาวิชาใดแล้ว สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด หรือไม่ใช้คำว่ามหาวิทยาลัย สถาบัน หรือวิทยาลัย เป็นอักษรไทยนำหน้าชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือใช้ชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นอักษรต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี หรือการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นเสื่อมลงจากมาตรฐานการศึกษาที่รับรองไว้ให้คณะกรรมการเตือนเป็นหนังสือให้ปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ ตามที่แจ้งไปภายในเวลาที่กำหนด

        ถ้าหากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นไม่ดำเนินตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งการตามควรแก่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

         (๑) สั่งให้งดรับนักศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งหรือทุกสาขาวิชา

         (๒) เพิกถอนการรับรองมาตรฐานการศึกษา

         (๓) เพิกถอนการให้ความเห็นชอบการเปิดดำเนินการในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งหรือทุกสาขาวิชา

         (๔) เพิกถอนการรับรองวิทยฐานะ

         (๕) เพิกถอนใบอนุญาตนั้น

        การสั่งการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไม่กระทบถึงการดำเนินคดีผู้กระทำการอันกฎหมายนั้นๆ บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้

        มาตรา ๘๕ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือแก้ไขข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๑๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ หรือเปิดดำเนินการในสาขาวิชาอื่นใดโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ มีอำนาจสั่งการตามควรแก่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง

        การสั่งการตามวรรคหนึ่งไม่กระทบถึงการดำเนินคดีผู้กระทำการอันกฎหมายนั้นๆ บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้

        มาตรา ๘๖ เมื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

         (๑) ไม่มีทุนพอจะดำเนินการต่อไป หรือมีหนี้สินเกินทรัพย์สินหรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคงอันอาจเกิดความเสียหายแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๒) ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดหรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในเมื่ออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีซึ่งสั่งการตามมาตรา ๑๐๐ วรรคสาม

         (๓) หยุดสอนเกินสองเดือนติดต่อกัน เว้นแต่เป็นการหยุดสอนตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๔) สภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบัน อธิการบดี คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดำเนินการอันเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ วัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

        ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย กรรมการไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคนทำหน้าที่แทนสภาสถาบัน และให้ประกาศคำสั่งควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน

        มาตรา ๘๗ เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดแล้ว ห้ามมิให้อธิการบดี คณาจารย์ประจำ และเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นต่อไป เว้นแต่คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะได้มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

        ในกรณีที่อธิการบดี คณาจารย์ประจำและเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ให้จัดการอันสมควรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดูแลรักษาทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและส่งมอบทรัพย์สินพร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสารและสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้แก่คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยมิชักช้า

        มาตรา ๘๘ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไปปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในระหว่างเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ตามความจำเป็น โดยให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ

        มาตรา ๘๙ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจอุทธรณ์คำสั่งควบคุมต่อรัฐมนตรีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำนวนสามคน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจำนวนสามคนและผู้ทรงคุณวุฒิในปัญหาที่เกี่ยวข้องจำนวนสามคน เป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อชี้ขาดตามมติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

        มาตรา ๙๐ เมื่อคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ถูกควบคุมสมควรจะดำเนินกิจการของตนเองได้ต่อไป หรือเมื่อผู้รับใบอนุญาตร้องขอจะดำเนินกิจการของตนต่อไปต่อคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนรายงานให้รัฐมนตรีทราบ ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควร ให้มีคำสั่งเลิกการควบคุมและประกาศคำสั่งเพิกถอนการควบคุมในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน และให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนส่งมอบทรัพย์สินพร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสารและสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้แก่สภาสถาบันโดยมิชักช้า

        มาตรา ๙๑ เมื่อคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ถูกควบคุมไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือไม่ควรให้ดำเนินกิจการต่อไป และมีเหตุสมควรเพิกถอนใบอนุญาต ให้รายงานต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้

        มาตรา ๙๒ เมื่อคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนรายงานต่อรัฐมนตรีว่ามีเหตุสมควรเพิกถอนใบอนุญาต ให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับผลการศึกษาของนักศึกษาทั้งหมดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

        ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้ออกหนังสือรับรองผลการศึกษาของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าวตามหลักฐานที่ได้รับมอบตามวรรคหนึ่ง

        มาตรา ๙๓ เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ถือว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าวหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีบริษัทจำกัดมาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยอนุโลม

        เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้ผู้ชำระบัญชีคืนแก่ผู้รับใบอนุญาต เว้นแต่ทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคจากผู้อื่นตามมาตรา ๑๗ ให้โอนให้แก่องค์การสาธารณกุศลที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษาตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ถ้าไม่ได้ระบุไว้ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของรัฐ

        มาตรา ๙๔ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานระหว่างการควบคุมหรือชำระบัญชีในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้จ่ายจากทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น

        คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจได้รับเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยจ่ายจากทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น

        มาตรา ๙๕ ให้กรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา ๙๖ เมื่อปรากฏว่าอธิการบดี

         (๑) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑

         (๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ (๖) หรือ (๙) มาตรา ๕๑ มาตรา ๖๗ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๗ หรือข้อบังคับหรือข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๓) ดำเนินกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในลักษณะที่อาจเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ วัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

         (๔) ดำเนินกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือปล่อยให้ผู้อื่นกระทำการใดๆ ที่ทำให้การจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นไม่มีคุณภาพทางวิชาการหรือไม่มีมาตรฐานการศึกษาตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         ให้คณะกรรมการดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ถ้าเห็นว่าอธิการบดีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตาม (๑) กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม (๒) หรือดำเนินการตาม (๓) หรือ (๔) ให้สภาสถาบันถอดถอนอธิการบดีจากตำแหน่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบผลการสอบสวน ถ้าสภาสถาบันไม่ดำเนินการให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการดำเนินการถอดถอนอธิการบดีจากตำแหน่งได้

         มาตรา ๙๗ เมื่อปรากฏว่าคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนผู้ใด

         (๑) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๖ หรือได้รับการแต่งตั้งไม่เป็นไปตามข้อบังคับตามมาตรา ๔๘

         (๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๘๗ หรือข้อบังคับหรือข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

         (๓) กระทำการในลักษณะที่อาจเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ วัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้อธิการบดีดำเนินการสอบสวน ถ้าเห็นว่าคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนผู้ซึ่งถูกสอบสวนขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือได้รับการแต่งตั้งไม่เป็นไปตามข้อบังคับตาม (๑) กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม (๒) หรือกระทำการตาม (๓) ให้ดำเนินการเพื่อถอดถอนคณาจารย์ผู้นั้นออกจากตำแหน่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบผลการสอบสวน ทั้งนี้ ให้คณาจารย์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวัน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการถือเป็นเด็ดขาด

         ถ้าอธิการบดีไม่ดำเนินการตามวรรคสอง ให้สภาสถาบันดำเนินการแทนและให้ดำเนินการต่ออธิการบดีตามควรแก่กรณีต่อไป

         เมื่อได้ดำเนินการถอดถอนคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือดำเนินการต่ออธิการบดีตามวรรคสองหรือวรรคสามแล้ว ให้รายงานสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อทราบ

         มาตรา ๙๘ การสอบสวนตามมาตรา ๙๖ และมาตรา ๙๗ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของสภาสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

         มาตรา ๙๙ ผู้ซึ่งถูกถอดถอนตามมาตรา ๙๖ หรือมาตรา ๙๗ แล้วแต่กรณี อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีหรือคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอีกได้เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ต้องพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง

[แก้ไข]
หมวด ๘ การเลิกและการโอนกิจการ

         มาตรา ๑๐๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเลิกกิจการและแผนการจัดการศึกษาของนักศึกษาที่เหลืออยู่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต่อคณะกรรมการก่อนสิ้นปีการศึกษาไม่น้อยกว่าสามเดือน

         ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล การเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความยินยอมจากนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย

         รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาจมีคำสั่งเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขเท่าที่จำเป็นได้ และให้นำมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ และมาตรา ๙๔ มาใช้บังคับแก่การเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยอนุโลม

         มาตรา ๑๐๑ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตโดยความเห็นชอบของสภาสถาบันให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลและรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนใบอนุญาตและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้รับโอนใบอนุญาตต่อคณะกรรมการ

         ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล การโอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความยินยอมจากนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย

         รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาจมีคำสั่งโอนใบอนุญาตและจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขเท่าที่จำเป็นได้

         มาตรา ๑๐๒ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตาย ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อคณะกรรมการพร้อมแจ้งเป็นหนังสือให้สภาสถาบันทราบเพื่อรับโอนใบอนุญาตภายในหกสิบวัน ถ้าไม่ได้ยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภาสถาบันแจ้งชื่อผู้รับโอนต่อคณะกรรมการ พร้อมทั้งรายละเอียดและเหตุผลความจำเป็น

         ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตสิ้นสภาพนิติบุคคลตามกฎหมาย ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภาสถาบันแจ้งชื่อผู้รับโอนต่อคณะกรรมการ พร้อมทั้งรายละเอียดและเหตุผลความจำเป็น

         รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร

         มาตรา ๑๐๓ ในกรณีที่ไม่มีผู้รับโอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๒ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และให้นำมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ และมาตรา ๙๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

         การเลิกกิจการตามมาตรา ๑๐๐ การโอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๑ และการเปลี่ยนแปลงผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๒ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

[แก้ไข]
หมวด ๙ บทกำหนดโทษ

         มาตรา ๑๐๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๐๕ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๐๖ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

         มาตรา ๑๐๗ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๐๘ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๓ หรือมาตรา ๖๒ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

         มาตรา ๑๐๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน

         มาตรา ๑๑๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการอื่นหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

         มาตรา ๑๑๑ ผู้ใดรับตำแหน่งอธิการบดี หรือรองอธิการบดี หรือคณาจารย์ประจำ หรือผู้ช่วยอาจารย์ โดยที่รู้อยู่ว่าตนขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๖ หรือมาตรา ๕๓ วรรคสอง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

         มาตรา ๑๑๒ อธิการบดีผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ (๖) หรือ (๙) มาตรา ๕๑ มาตรา ๖๗ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ หรือมาตรา ๗๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

         มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

         มาตรา ๑๑๔ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

         มาตรา ๑๑๕ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๔ หรือมาตรา ๗๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท

         ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดกระทำความผิดตามมาตรา ๗๔ หรือมาตรา ๗๕ กรรมการสภาสภาบันหรืออธิการบดีหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น

         มาตรา ๑๑๖ ผู้รับใบอนุญาต กรรมการสภาสถาบัน อธิการบดี คณาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๑๗ อธิการบดี คณาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๑๘ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน

         มาตรา ๑๑๙ ผู้ใดใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมายหรือเครื่องแต่งกายของนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้หรือแสดงด้วยประการใดๆ ว่าตนมีประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือตำแหน่งของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิจะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือตำแหน่งเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๒๐ ผู้ใดใช้ ปลอม เลียน ซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่ว่าจะทำเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใดๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๒๑ ผู้ใดจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๒๒ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดแสดงหรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าได้รับการรับรองวิทยฐานะหรือได้รับความเห็นชอบให้เปิดดำเนินการในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งหรือได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาสาขาวิชาใดอันเป็นเท็จ อธิการบดีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา ๑๒๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

         ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีต่อไป

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

         มาตรา ๑๒๔ ให้คณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ

         มาตรา ๑๒๕ ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สภาสถาบัน และคณะกรรมการอื่นซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สภาสถาบัน และคณะกรรมการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ

         มาตรา ๑๒๖ ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือเป็นใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

         มาตรา ๑๒๗ ผู้ขอรับใบอนุญาตซึ่งได้ยื่นโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

         มาตรา ๑๒๘ ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

         มาตรา ๑๒๙ ให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้

         มาตรา ๑๓๐ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนด ระเบียบและข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎทบวง ประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนด ระเบียบและข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดกรอบการบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชนให้มีความเป็นอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตามการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจากรัฐ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถานศึกษาของรัฐ เพื่อให้สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาระดับปริญญาดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา และได้กำหนดให้มีคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนาและมาตรฐานการอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน รวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ธำรงรักษามาตรฐานการศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น มีความเจริญมั่นคงและเอื้ออำนวยต่อการขยายกิจการในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนอยู่ภายใต้การกำกับ ติดตามการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้