ประเพณีการสร้าง เสาหงส์ - ธงตะขาบ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ประเพณีการสร้าง เสาหงส์ - ธงตะขาบ

บทความ โดย องค์ บรรจุน      

ประเพณีการสร้างเสาหงส์นั้น เป็นประเพณีที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชุมชนชาวมอญในเมืองไทย ทุกวันนี้ยังพบว่ามีปรากฏในเมืองมอญ(ประเทศพม่า) บ้างไม่ในบางวัด เช่น วัดเกาะซั่ว วัดธอมแหมะซะ เมืองมะละแหม่ง แต่เดิมชาวมอญมีคติการสร้างเสาธง เป็นการสร้างเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ตามตำนานในพุทธประวัติแต่เดิมที่ว่า มีชาวบ้านป่าที่ยากจนเข็ญใจ ต้องการบูชาพระพุทธคุณ จึงได้กระทำไปตามอัตภาพของตน ด้วยการนำผ้าห่มนอนเก่าๆของตน ผูกและชักขึ้นเหนือยอดเสา และเกิดอานิสงค์ผลบุญ ครั้นสิ้นชีวิตลงได้ไปเกิดเป็นพระราชาผู้มีทั้งรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติใน ภพชาติต่อมา จากตำนานดังกล่าวจึงมีประเพณีการสร้างเสาธงสืบมาจนปัจจุบัน

“เสา หงส์” สำหรับวัดมอญในเมืองไทยทุกวันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีกันแทบทุกวัด ถึงแม้บางคนจะกล่าวว่า “เสาหงส์” มีแต่ในเมืองไทยเท่านั้น เพราะคนมอญในเมืองไทยสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเมืองหงสาวดี เมื่อต้องจากบ้านทิ้งเมืองไปอยู่เมืองไทย และเพิ่งจะมีขึ้นเมื่อราวร้อยกว่าปีมานี้เอง โดยยกเอาบทพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ที่ตอบถวายพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ถึงความเป็นมาของการสร้างเสาหงส์

“หงส์” เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์โดยเป็นพาหนะของพระพรหมตามคติของชาวฮินดู ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแทนที่ ผู้คนที่นับถือศาสนาฮินดูอยู่เดิมเมื่อได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ จึงเอาคติเรื่องหงส์มาผนวกเข้ากับความเชื่อในพุทธศาสนา ในฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า และ “หงส์” ก็เป็นสัตว์ชั้นสูงของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทุกชนชาติ เช่น ไทย จีน พม่า เขมร ลาว ญวน ไม่เฉพาะมอญเท่านั้น

“เสาหงส์” นั้นสืบเนื่องมาจากสมัยก่อนที่มีการสร้างเสาแขวนธงยาวแบบธงจีน เป็นสิ่งประดับตกแต่งบ้านเมืองอย่างหนึ่ง ทว่าธงนั้นงามเฉพาะเวลากลางวันครั้นยามกลางคืนก็มองไม่เห็น ต่อมาจึงมีคนคิดผนวกโคมไฟขึ้นบนเสานั้นด้วย ออกแบบให้เป็นรูปหงส์คาบโคมไฟห้อยลงมา ไม่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวมอญ อันเป็นต้นกำเนิดของเสาหงส์ในหมู่ชาวมอญเมืองไทย และกลายเป็นประเพณีนิยมและรับรู้กันทั่วไปว่าวัดที่มี “เสาหงส์” แสดงว่าเป็นวัดมอญ

หากเหตุผลเป็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว แสดงว่าในเมืองมอญก็ไม่จำเป็นต้องสร้าง “เสาหงส์” เพราะเมืองหงสาวดีก็อยู่ ณ เมืองนั้นแล้ว พบเห็นกันอยู่ได้ง่าย แต่เท่าที่ผู้เขียนได้พบวัดมอญในเมืองพม่ามาหลายวัดก็ปรากฏมีเสาหงส์อยู่มาก มาย หน้าตาผิดแผกแตกต่างกันไป และก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเสาหงส์ในเมืองมอญมีกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด ถามผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกแต่เพียงว่ามีมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือข้อมูลอ้างอิงได้

“เสาหงส์” ของมอญจึงเป็นเรื่องที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ต้องค้นคว้าหาหลักฐานเพิ่มเติมกันต่อไป แต่สิ่งสะดุดตาอีกอย่างของเสาหงส์วัดธอมแมะซะในหมู่บ้านธอมแมะซะ เมืองมะละแหม่งนี้ คือ สร้างอยู่ข้างหน้าเจดีย์มอญเหมือนคติการสร้างอย่างในเมืองไทย พร้อมทั้งแขวนธงตะขาบเสียด้วย นอกจากไม่พบเห็นว่ามีที่วัดอื่นแล้ว ธงตะขาบดังกล่าวยังทำด้วยผ้าที่มีสัดส่วน ลวดลาย และรูปแบบเดียวกันกับธงตะขาบของชาวมอญพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ เสียแต่ว่าวันที่ผู้เขียนเดินทางไปนั้นไม่มีพระสงฆ์รูปใดในวัดและชาวบ้านที่ รู้เรื่องพอจะให้ความกระจ่างถึงที่มาได้ จึงได้แต่สันนิษฐานไว้เป็นสองกรณีคือ หนึ่งพระมอญที่นั่นได้แบบอย่างไปจากมอญพระประแดง ด้วยความโด่งดังของประเพณีสงกรานต์มอญพระประแดงที่มีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ เป็นข่าวไปทั่วโลก สองคนมอญในเมืองไทยทำไปถวายเสียเอง ข้อหลังนี้มีความเป็นไปได้มาก เพราะเท่าที่เห็นนั้นรูปแบบเหมือนกันอย่างกับแกะทีเดียว