วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ขนมจีน หรือ ขนมมอญ

นับเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะตามที่ได้ยินมาใครๆ มักจะพูดว่า "ขนมจีน" ไม่น่าจะใช่อาหารของจีนอยู่แล้ว และบทความส่วนใหญ่ก็มักจะพูดถึงคำนี้อยู่เสมอ ว่าน่าจะมาจาก ภาษามอญ "ขนมจีน” น่าจะเป็นภาษาอะไรกันแน่ และคนมอญมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการทำ หรือการกินขนมจีนแค่ไหน

ชาวมอญทั่วไปนิยมรับประทานขนมจีน ไม่เฉพาะแต่ในเทศกาลเท่านั้น ในบางครั้งก็ยังมีการทำกินกันเอง เป็นการรวมญาติหรือว่าเวลาวิดปลาขึ้นมาแล้ว ได้ปลาเยอะ ก็จะมีการทำน้ำยากินกัน คำว่า "ขนมจีน" มอญเรียกว่า "คนอม" เป็นกริยาแปลว่า ทำ, สร้าง (ในพจนานุกรมภาษามอญ-อังกฤษที่รวบรวมโดย R. Halliday ได้ให้ความหมายว่า "form") ส่วนคำว่า"จีน" ที่อยู่ข้างหลังคำว่า"ขนม"นั้นไม่มีใช้ในภาษามอญ มีแต่คำว่า"จิน"ซึ่งแปลว่าสุก (จากการหุงต้ม) สิ่งที่น่าสังเกต คือ คนมอญนั้นจะเรียก ขนมจีนว่า "คนอม" เฉย ๆ ไม่ใช่คนอมจิน เราจะพบได้จากบทความต่าง ๆ ทั่วไป ซึ่งกล่าวถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของคำ "คนอมจิน" ว่าขณะที่คนมอญกำลังทำ "คนอม" อยู่ ก็มีคนไทยเดินมา และร้องถามว่า กำลังทำอะไรอยู่คนมอญตอบ เป็นภาษามอญ ว่า "คนอมจินโก๊กเซมเจี๊ยะกัม" แปลว่าขนมจีนสุกแล้ว เรียกคนไทยมากินด้วยกันและจากนั้นเป็นต้นมา คนไทยก็เรียกอาหารชนิดนี้ว่า "คนอมจิน" และเพี้ยนมาเป็น "ขนมจีน"

จากเรื่องเล่านี้จะสังเกตได้ว่า ฟังดูลอย ๆ ไม่สมเหตุผล เนื่องจากคำว่า "คนอม" กับ "จิน" นั้นเป็นคำที่แยกกัน (แต่ถูกนำมาอยู่ในประโยคเดียวกัน ) กลับมาดูคำว่า "คนอม" กันอีกที คำว่า "คนอม" แปลว่า "ทำ" ไม่พบว่าเป็นกริยาที่ใช้กับอาหารชนิดอื่น เช่น "หุงข้าว" มอญใช้คำว่า "ดุนเปิง" "ดุน" แปลว่าหุง "เปิง" แปลว่าข้าว "ทำแกง" (ต้มแกง) มอญใช้คำว่า "ดุนกวะ" "กวะ" แปลว่าแกง "ทำขนม" มอญใช้คำว่า "โกลนกวาญจ์" "โกลน" แปลว่าทำ, "กวาญจ์" แปลว่าขนม

กลับมาที่คำว่า "คนอม" อีกครั้ง คำว่า "คนอม" มักพบคำนี้ได้ในคำกริยาที่หมายถึงทำ หรือสร้าง ซึ่งใช้กับการก่อสร้างวัตถุ เช่น "สร้างเจดีย์" มอญใช้คำว่า "คนอมเจตอย" (เจดีย์-เจตอย มาจากภาษาบาลี) "สร้างศาลา" มอญใช้คำว่า "คนอมซาลา" (โปรดสังเกต ศาลา-ซาลา มาจากภาษาบาลีเช่นกัน) เรื่องของวัฒนธรรมขนมจีน คิดว่าไม่น่าจะมีใครเป็นเจ้าของ เพราะสามารถพบได้ทั่วไป ในภูมิภาคนี้ เช่น ในเวียดนามที่เรียกว่า "บุ๋น" ซึ่งฟังแล้วคล้ายคลึงกับคำว่า "ข้าวปุ้น" ทางภาคอีสานของเรา นมเวงในเขมรสูง "นม" แปลว่าขนม "เวง" แปลว่าเส้น ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า "ขนมเส้น" ทางภาคเหนือ และในพม่ายังเรียก "อาหาร" ชนิดนี้ว่า "โมนดิ" แปลว่า "มอญ" (ของมอญ?) อีกด้วย ที่น่าสนุกกว่านี้ ขนมจีนของเรายังหากินได้ที่เกาะไหหลำ (แถมยังกินกับกะปิอีกด้วยที่ยืนยัน ว่าเหมือนกันแน่ ๆ เพราะว่าทำจากแป้งข้าวเจ้า และเป็นเส้นกลม ๆ)

คำว่า "ขนมจีน" อาจจะมีเค้ามาจากจีนจริง ๆ เพราะถ้าเรามาลองคิดดู ด้วยเหตุผลอีกทีหนึ่งว่าในการ ออกเสียงภาษามอญไม่มีวรรณยุกต์ถ้าคำว่า"ขนมจีน"เป็นภาษาไทยแล้วคนมอญเอาคำ นี้ไปใช้ ก็จะไม่สามารถพูดคำว่า "ขนม" ได้ต้องออกเสียง ว่า "คนอม" และโดยนิสัยของคนมอญนั้น ชอบตัดคำให้สั้นลงในภาษาพูด จะเห็นว่าภาษาพูดและภาษาหนังสือจะไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า "คน" ในภาษาพูด ของมอญพูดว่า "นิห์" ภาษาเขียนใช้ว่า "เมะนิห์" ลักษณะนี้จะพบได้เสมอในภาษามอญ (พระเจ้าสีหราชาธิราช เป็นพระเจ้าราชาธิราช) ดังนั้นคำว่า "ขนมจีน" ในภาษาไทย อาจถูกเรียกว่า "คนอมจิน"
และสุดท้ายเหลือเพียงคำว่า "คนอม" หรือ "ฮนอม"

แต่ยังมีอีกคำที่น่าสนใจคือ "จับ" หมายถึงขั้นตอนสุดท้าย ของการทำขนมจีน คือการโรยเส้นขนมจีน ไปในน้ำที่ร้อนพอดี พอสุกแล้วใช้กระชอนตักขึ้นล้าง แล้วแช่ในน้ำเย็นก่อนนำเส้นมาจับเป็นหัว ๆ ภาษามอญที่คนมอญ ใช้เรียกขนมจีนที่จับเป็นหัว ๆ แล้วว่า "ดับ" แปลว่า "หัว" ทางใต้ใช้คำว่า "หัว" ทางอีสานก็เรียกว่า "หัว" เป็นไปได้ว่า คำที่จะใช้เรียกคำต่าง ๆ นั้น น่าจะใช้จากลักษณนามไม่ใช่เรียก จากคำกริยาในเมื่อคน มอญคนเหนือ และคนใต้ เรียกขนมจีนที่จับแล้วว่า "หัว" ในความหมายเดียวกันคนภาคกลางน่าจะ ใช้คำว่า "หัว" เช่นกัน ไม่น่าจะใช้คำว่า "จับ" หรือว่าคำว่า "จับ" นี้ จะมาจากคำว่า "ดับ" (หัว) ใน ภาษามอญเมื่อทำขนมจีนเสร็จแล้ว ทีนี้ก็มาจัดเรียง ในถาดเพื่อเตรียมตัวรับประทาน เราจะพบอีก คำหนึ่งในภาษามอญคือคำว่า "ถาด" ออกเสียงว่า "ทะห์" เป็นไปไหมว่า คำนี้น่าจะยืมมาจากภาษามอญ

อันที่จริงแล้ว การถ่ายทอดวัฒนธรรมทางด้านภาษา และวัฒนธรรมการกินนั้น เป็นเรื่องปกติที่มีมานานนม ได้ผสมกลมกลืน และถ่ายทอดกันไปมา จนแทบจะไม่สามารถสืบหา ที่มาได้อย่างแน่นอน เมื่อพูดถึงคำว่า "ขนมจีน" ทำให้นึกถึงชาวจีน คนมอญเรียกชาวจีนว่า "เมะนิห์เกริ๊ก" "เมะนิห์" แปลว่า "คน"  "เกริ๊ก" แปลว่า "จีน" "อะเจิ้ด" แปลว่า "เจ๊ก" "เดิงเร่ะห์" แปลว่า "เมืองจีน" ลองค้นหาต่อไปถึงความสัมพันธ์ ระหว่างสองชนชาตินี้ เพราะพบอีกบางคำ ที่น่าสนใจในภาษามอญ (อีกแล้ว) นั่นคือคำว่า "กิน" ซึ่งมอญใช้คำว่า "เจี๊ยะ" "กินข้าว" มอญใช้คำว่า "เจี๊ยะเปิง" คำว่า "เจี๊ยะ" ใช้กันอยู่ทั่วไปในภาษามอญ ตั้งแต่ผมเกิด แต่คำว่า "เจี๊ยะ" ไม่สามารถสะกดตัวได้ ในภาษาหนังสือของมอญ มีแต่คำว่า "จ๊ะ" จะไม่ออกเสียงว่า "เจี๊ยะ" แต่ในภาษามอญภาษาพูดกับ ภาษาเขียนมักจะไม่ตรงกัน ในภายหลังจึงอนุโลมให้สะกดคำว่า "เจี๊ยะ" ด้วยการเขียนว่า "จ๊ะ" (เป็นคำยกเว้นในภาษามอญ)

อันที่จริง คำซึ่งมีความหมายว่า "กิน" ของภาษามอญ พบว่ามีอยู่เดิม โดยร่องรอยการใช้คำนี้พบได้ ในภาษาที่ใช้กับพระภิกษุ คือคำว่า "ฮับ" และสามารถอ่านพบได้ในคัมภีร์ใบลาน ของมอญในหลายผูกเช่น "พระฉันข้าว" มอญใช้คำว่า "เนะกยาจก์ ฮับเปิง" จึงอยากสันนิษฐานว่า คำว่า "เจี๊ยะ" ในภาษามอญ ซึ่งแปลว่า "กิน" น่าจะมาจากภาษาอื่นเพราะมอญมีคำว่า "ฮับ" อยู่แล้ว

"เจี๊ยะ" (กิน) ในภาษามอญน่าจะฟังคล้าย ๆ ภาษาอะไร?

บำรุง คำเอก
ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร