วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

การแต่งกายมอญ

 

วัฒนธรรม มอญ และไทยใกล้เคียงกัน เมื่อมอญเสียเอกราชแก่พม่า พม่ารับเอาศิลปวัฒนธรรมทุกประการของมอญไปใช้ จนทุกวันนี้ เมื่อพบเห็นศิลปวัฒนธรรมมอญ คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าเป็นพม่า
จารึกภาพคนต่างภาษา ที่วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม กล่าวถึงการแต่งกายของชาวมอญ ว่า

นุ่งผ้าตารางริ้วเช่น ชาวอัง วะแฮ
พันโพกเกล้าแต่งกาย ใส่เสื้อ
มอญมักสักไหล่หลัง ลงเลข ยันต์นา
พลอยทับทิมน้ำเนื้อ นับถือ

การแต่งกายของชาย ชาวมอญ  สวม เกลิด  หมายถึงผ้านุ่ง ส่วนผ้าผืนยาวที่นุ่งเวลาออกงานสำคัญ เรียกว่าเกลิดฮะเหลิ่น แปลว่า ผ้านุ่งยาว (ลอยชาย) ส่วนเสื้อ เป็นเสื้อคอกลมผ่าอกตลอด แขนกระบอก มีกระดุมผ้า หรือเชือกผูกเข้ากัน สมัยก่อนนิยมโพกศีรษะ ต่อมาตัดสั้นแบบสมัยนิยม

  •  การแต่งกายมอญ

การแต่งกายของ หญิงมอญ  สวม หนิ่น  คล้ายผ้านุ่งของผู้ชาย แต่ลายของผู้หญิงละเอียด สวยงามกว่า และวิธีการนุ่งต่างกัน สวมเสื้อ ตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้นแค่เอว เล็กพอดีตัว สีสด สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบาง สีอ่อน มองเห็นเสื้อตัวใน ถ้ายังสาวอยู่แขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากมีครอบครัวแล้ว จะเป็นแขนสามส่วน หญิงมอญนิยมเกล้าผมมวย ค่อนต่ำลงมาทางด้านหลัง โดยมีเครื่องประดับ ๒ ชิ้น บังคับไม่ให้ผมมวยหลุด คือ โลหะรูปตัวยูคว่ำ  U  แคบๆ  และ โลหะรูปปีกกา  } ตามแนวนอน ภาษามอญเรียกว่า อะน่ดโซ่ก  และ ฮะเหลี่ยงโซ่ก  จากนั้นประดับด้วย “แหมะเกวี่ยปาวซ่ก“ รอบมวยผม

เมื่ออยู่เมืองไทยนานเข้า ผู้หญิงมอญก็รับเอาอิทธิพลการแต่งตัวของผู้หญิงไทยเข้าไป หันมาแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างไทย สุนทรภู่ กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง ถึงการแต่งกายของผู้หญิงมอญที่ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ดังนี้

ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย

สิ่งสำคัญของคนมอญเมื่อเข้าวัดเข้าวา คือผ้าสไบ เรียกว่า หยาดโด๊ด ใช้ได้ทั้งชายหญิง แต่โดยมากชายสูงอายุมักใช้ผ้าขาวม้า วิธีห่ม คือ พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลัง อ้อมใต้รักแร้ขวา แล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้าย หากไปงานรื่นเริง เที่ยวเล่น ก็ใช้คล้องคอแทนหรือพาดลงมาตรงๆ บนไหล่ซ้าย