เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฎหมายไทย (3)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ธรรมศาสตร์มอญ  เค้ากฏหมายไทย (3)

โดย พิศาล บุญผูก

สาระของพระธรรมศาสตร์       

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียของ มอญ และของไทยมีหลายฉบับ แต่ละฉบับมีทั้งส่วนที่คล้ายกันและส่วนที่แตกต่างกัน
ส่วนที่คล้ายกันและเป็นส่วนสำคัญของพระธรรมศาสตร์ทุกฉบับคือ
1. การกำหนดรูปแบบของพระธรรมศาสตร์ซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่
ตอนต้น  กล่าวถึงประวัติความเป็นมาหรือกำเนิดพระธรรมศาสตร์
ตอนที่สอง กล่าวถึงตัวบทกฏหมายพระธรรมศาสตร์
2. ตัวบทพระธรรมศาสตร์ในตอนที่สอง ได้บัญญัติถึงสาระสำคัญ 2 ประการ คือ
ก. บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ปกครองบ้านเมืองหมายถึง พระมหากษัตริย์
ข. บทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อยู่ในความปกครองหมายถึง ราษฎรทั่วไป

บทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ได้ดัดแปลงให้สอดคล้อง กับพระพุทธศาสนาดังได้กล่าวแล้ว และเมื่อพระธรรมศาสตร์ได้แพร่หลายสู่ไทย บทบัญญัติในส่วนนี้จึงสามารถนำมาใช้ได้อย่างสนิทสนมกันดี ดังปรากฏในพระธรรมศาสตร์ทั้งของ มอญ และของไทยที่กำหนดฐานะของพระมหากษัตริย์ว่า ทรงเป็นธรรมิกราช ดุจดังพระเจ้าสมมติราชที่กล่าวไว้ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และได้บรรยายถึงคุณลักษณะและบทบาท ของพระมหากษัตริย์ไว้ดังนี้

“พระเจ้ามหาสมมติราชก็ตั้งอยู่ในราชธรรม 10 ประการ ทรงเบญจางคิกศีลเป็นปรกติศีล และอัษฏางคิกศึลเป็นอุโบสถศีล เมตตา กรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง แล้วทรงพระอุตสาหะมะนะสิการะ ซึ่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นนิจกาล ทรงพระพฤติธรรม 4 ประการคือ พิจารณ์ซึ่งความชอบ และความผิดแห่งผู้กระทำเป็นประโยชน์ และมิได้เป็นประโยชน์แก่พระองค์ 1   ทะนุบำรุงบุคคลผู้มีศีลสัจ 1  ประมูลษาซึ่งพระราชทรัพย์โดยยุติธรรม 1  รักษาพระนครราชเสมาให้สุขเกษมโดยยุติธรรม 1  เป็น 4 ประการ”

ในส่วนที่ต่างกัน พระธรรมศาสตร์ของไทยและ มอญ  มีบางส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น คำปรารภ หรือ มาติกาที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระธรรมศาสตร์

  • ประวัติของพระมนู

พระธรรมศาสตร์ไทย  เริ่มด้วยกล่าวถึงกำเนิดคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า มหาอำมาตย์ของสมเด็จพระเจ้ามหาสมมติราช กราบถวายบังคมลาผนวชเป็นฤาษี พระฤาษีมีบุตรชายสองคน คนหนึ่งชื่อว่า มโนสาร ได้บวชอยู่กับบิดา ต่อมาได้ลาเพศฤาษีเข้ารับราชการ พระเจ้ามหาสมมติราชทรงแต่งตั้ง เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่บังคับบัญชาคดีทั้งปวง ครั้งหนึ่งได้ชำระคดีเรื่องไร่แตงซึ่งต้นแตง ของฝ่ายหนึ่งเลื้อยทอดยอดไปออกผลอยู่ ในเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง มโนสารอำมาตย์บังคับคดีว่า ไร่แตงมีถนนกลาง ลูกแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด ก็เป็นของผู้นั้น คู่ความฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ จึงกราบทูลต่อพระเจามหาสมมติราช พระองค์ใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งไปพิจารณา แล้วเลิกต้นแตงขึ้นไปตามปลายยอด แล้วนำปลายยอดไว้ตามต้น คู่ความต่างสรรเสริญพระเจ้ามหาสมมติราช มโนสารจึงลาออกบวช เป็นฤาษีบำเพ็ญเพียรจนได้อภิญญา 5 สมาบัติ 8 รู้วารจิตแห่งมนุษย์ทั้งปวง และได้พบคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล  จึงกำหนดจดจำได้แม่นยำแล้วกลับมาแต่ง เป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์
พระธรรมศาสตร์ มอญ พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ และพระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว มีความคล้ายคลึงกับที่กล่าวถึงพระมนูว่าเป็นมหาอำมาตย์ ของพระเจ้าสมมติราชแต่ต่างกับไทย คือ

1. ประวัติพระมนู”มอญ”ไม่มีเรื่องการพิจารณาคดีไร่แตง
2. ตัวอักษรที่จารึกพระธรรมศาสตร์ที่กำแพงจักรวาลเป็น ภาษามอญ มีขนาดเท่าลูกวัว แต่ในพระธรรมศาสตร์ไทยมีขนาดเท่าคชสาร

ในบรรดาพระธรรมศาสตร์ มอญ เอง มีหลายฉบับมีความแตกต่างกันเองอีก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติพระมนู กล่าวคือ

พระธรรมศาสตร์ มอญ ที่เชื่อว่าเก่าที่สุด ถ่ายทอดจดจำกันและได้จารึกในใบลาน กล่าวถึงพระมนูว่าได้บวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์มีณาณวิเศษ เมื่อเห็นมนุษย์ทะเลาะวิวาท มีคดีพิพาทกันมากเกิดความสลดใจ จึงพยายามจะหาวิธีการสร้างความสงบสุขแก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย พระมนูฤาษีจึงเหาะไปที่กำแพงจักรวาล ที่จารึกพระธรรมศาสตร์ไว้ด้วยตัวอักษรขนาดลูกวัว ได้จดจำขึ้นใจแล้ว จึงให้โลกาพยุหะเทพเจ้าไปอัญเชิญ องค์อมรินทร์มาร่วมกันประมวลพระธรรมศาสตร์นั้นให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์โลก

พระมนูฤาษีได้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์แล้ว ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสมมติราช ให้พระองค์ได้ทราบถึงทศพิธราชธรรม และธรรมอื่น ๆ ที่พระราชาพึงปฏิบัติบ้านเมือง จะได้ร่มเย็นเป็นสุขเจริญมั่งคั่ง พร้อมกับหลักการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ทั้งตัวบทกฏหมาย ที่ใช้แก่เหล่าอาณาประชาราษฎรทั้งหลายด้วย

ประวัติพระมนูฤาษีดังกล่าวนี้ มีเฉพาะในพระธรรมศาสตร์ มอญ ฉบับที่กล่าวนี้เท่านั้น ไม่ปรากฏมีในไทยและพม่า
ส่วนพระธรรมศาสตร์มอญ ของพระธรรมวิลาสะและพระเจ้าฟ้ารั่ว ที่ถือว่าเก่าที่สุดเช่นกัน ได้กล่าวถึงประวัติพระมนูว่า เป็นมหาอำมาตย์ ของพระเจ้ามหาสมมติราช พระเจ้ามหาสมมติราชแต่งตั้ง ระมนูเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ  พระมนูกราบทูลพระเจ้ามหาสมมติราช (พระเจ้ามหาสามันตะ ซึ่งเป็นอีกพระนามหนึ่ง) ว่า

“ข้าแต่พระราชา เป็นการยากที่จะวินิจฉัยอรรถคดี ให้ถูกต้องตรงตามหลักนิติธรรม อนึ่งตุลาการใดวินิจฉัยคดีไม่ต้องตามหลักของนิติธรรม ผู้นั้นย่อมได้รับกรรม 8 ประการ เมื่อมีชีวิตอยู่ และเมื่อถึงแก่ชีวิตแล้วย่อมต้องไปสู่นรกภูมิ 4”

พระมนูจึงได้นำพระธรรมศาสตร์ มาเรียบเรียงและเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนดังปรากฏในบทสรุปคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพระธรรมวิ ลาสะ ที่ว่า

“พระธรรมศาสตร์อันประกอบด้วยมูลคดี 18 ประการ เป็นตัวอย่างอันได้กล่าวมานี้ เพื่อพระราชาธิบดีได้ทรงบำเพ็ญราชธรรม สิบประการตามพระธรรมศาสตร์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์เจริญมั่งคั่ง ความสงบสุขของเหล่าบรรดา ประชาราษฎร์ทั้งหลาย ทั้งองค์พระมหาราชาผู้สืบสันตติวงศ์ เสนาพฤฒามาตย์ข้าราชบริพาร บรรดาพ่อค้าวานิชเศรษฐี และคนอนาถาประชาราษฏร์ทั้งปวง และสมณชีพราหมณ์ทั้งสิ้น ตุลาการผู้วินิจฉัยบรรดาอรรถคดี ประทุษร้ายแก่ชีวิตเพื่อการจ่ายค่าสินไหมมากน้อยก็ดี การเรียกร้องค่าสินไหมมากน้อยก็ดี การประนีประนอมยอมความก็ดี  ให้สอดคล้องกับบัญญัติในพระธรรมศาสตร์ ด้วยปัญญาและโดยถี่ถ้วน ข้าฯ พระมหาเถรธรรมวิลาสะ ได้ประกอบด้วยจิตที่ปรารถนาดี ได้ประมวลพระธรรมศาสตร์นี้ขึ้นไว้ ตามคำสอนของพระมหาฤาษี พระมนูฤาษีนั้นแล”

จากบทสรุปพระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ ได้กล่าวถึงพระมนูว่า “พระมหาฤาษี” แต่ตอนต้นประวัติของพระมนูนั้น ได้ละเพศฤาษีมารับราชการเป็นมหาอำมาตย์ จึงแสดงให้เห็นว่า มีเค้าของพระธรรมศาสตร์ มอญ ฉบับเก่าแก่ที่ได้กล่าวข้างต้น  ที่ “มอญ” ถ่ายทอดจดจำกันมาก่อนว่า พระมนูฤาษีที่ผ่าหิมพานต์ได้รวบรวมพระธรรมศาสตร์ถวายแด่ พระเจ้ามหาสมมติราชนั้น มีอิทธิพลต่อการเรียบเรียง พระธรรมศาสตร์ฉบับอื่น ๆ ของ “มอญ” ด้วย


อ่านทั้งหมด

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (1)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (2)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (3)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (4)