วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)(1)


    
ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) บ้านเกาะ  สมุทรสาคร คณะ ธ.หงษ์เจริญ

ที่ข้าพเจ้านำเสนอในเรื่องนี้มิได้มีเจตนาที่จะโฆษณาคณะปี่พาทย์ฯ  แต่มีสาเหตุที่เลือกจะเขียนเรื่องปี่พาทย์คณะธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) คือ
๑. เป็นเรื่องที่ผูกพันและเห็นตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก เห็นตั้งแต่จำความได้
๒. ปี่พาทย์มอญคณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมอญสิ่งแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต  เนื่องจากข้าพเจ้าเกิด และใช้ชีวิตกว่า ๙๕% ที่กรุงเทพฯ  ในตอนเด็กๆ จึงไม่รู้จักเรื่องมอญ  นอกจากสไบ กับ ภาษามอญที่ชาวมอญที่บ้านเกาะใช้กัน และปี่พาทย์ของปู่
๓. เป็นคณะที่หลายๆ ท่านในย่านสมุทรสาคร  บางกระดี่  บางเลน  พระประแดง  คลองสิบสี่ ฯลฯ และที่อื่นๆ ได้รู้จักกันอยู่แล้ว  แต่อาจจะไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร   จึงอยากให้ทราบถึงที่มาที่ไป
๔. ได้รับข้อมูลวิทยานิพนธ์ของ อ.มนัส  แก้วบูชา โดยความอนุเคราะห์ของท่านพระมหาจรูญ จาณรี  วัดชนะสงคราม  ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) ผู้ให้ข้อมูลเรื่องปี่พาทย์คณะ ธ.หงษ์เจริญ  ในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งท่านเป็น ลูกพี่ลูกน้องกับปู่ของข้าพเจ้า  จึงทำให้ข้าพเจ้ามีข้อมูลเรื่องปี่พาทย์ของปู่มากขึ้น
๕. เห็นว่ามีผู้ที่สนใจเรื่องรำผีมอญและปี่พาทย์มอญหลายท่าน ได้ให้ความสำคัญกับคณะปี่พาทย์ของปู่  ไปสอบถามเป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า  นอกจากนี้ยังมีญาติๆ และผู้ปกครองนักเรียนหลายท่านในย่านใกล้เคียงส่งลูกหลานมาเรียนปี่ พาทย์ และรำ กับทางคณะ  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ในเมื่อเรามีข้อมูลที่คนอื่นๆ อยากรู้อยู่ก็น่าจะเผยแพร่  เผื่อจะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้าง
๖. ข้าพเจ้าคิดว่า ปี่พาทย์เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัวก็จริง  แต่ว่าทางครอบครัวก็ไม่ได้หวงห้ามสำหรับผู้สนใจแต่อย่างใด ผู้สนใจก็สามารถมาเรียนได้

ชื่อคณะว่า ธ.หงษ์เจริญนี้  มีที่มา คือ..
- ธ      มาจาก  ธรรม  ซึ่งเป็นชื่อย่อหรือชื่อเล่นจาก บุญธรรม  ชื่อของปู่
- “หงษ์”   มาจาก  สัตว์   ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ ในทางภาษาสันกฤตจะเขียน “หงษ์”  แต่ปัจจุบันมักเขียนว่า “หงส์” ซึ่งเป็นความหมายในภาษาหนังสือทั่วไป
- เจริญ  หมายถึง  ความเจริญก้าวหน้า

แต่ต่อมาบุคคลต่างๆ มักจะติดในชื่อเต็มๆ ของปู่  คือ “ผู้ใหญ่บุญธรรม”  จึงเรียกวงปี่พาทย์ว่า “ผู้ใหญ่บุญธรรม” กันเรื่อยมา

ต่อมาข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง ลวดลายร้านฆ้องมอญโบราณ จัดทำโดย อ.มนัส  แก้วบูชา เมื่อปี2544  จากท่านพระจรูญ จารณรี  วัดชนะสงครามที่ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) วัดชนะสงคราม  เคยให้สัมภาษณ์ไว้   ซึ่งข้าพเจ้าได้สรุปใจความสำคัญ ดังนี้

---------------------------------------------------------------------------

ร้านฆ้องมอญโบราณของบรรพบุรุษนางเขียว  ชองคันปอน
ตำบลบ้านเกาะ  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร

ประวัติ : ลำดับเจ้าของและภูมิลำเนา

ร้านฆ้องมอญโบราณ  นี้เป็นสมบัติของสำนักดนตรีมอญ ธ.หงส์เจริญ เจ้าของเดิมคือ บรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์มอญที่ใช้ประกอบพิธีรำผี เพราะบรรพบุรุษได้รับสืบทอดเป็นโต้งให้อยู่ในฐานะผู้นำพิธีรำผีสืบมา โดยมีภูมิลำเนาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันตก หมู่บ้านวัดเกาะ ตรงข้ามวัดบางปลา  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร

ประวัติของสำนักดนตรีมอญ ลำดับเจ้าของ มีมาตามลำดับ ดังนี้

เจ้าของอันดับที่ 1
เจ้าของอันดับแรกเป็นบรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน  ทายาทรุ่นปัจจุบันสืบชื่อไม่ได้แล้ว   สืบทราบได้แต่เพียงว่าสำนักดนตรีมอญเดิมอยู่ข้างวัดเกาะ ใกล้หลังบ้านขณะนี้ (หลังบ้านของพระครูสิทธิเตชะ ผู้ให้สัมภาษณ์ : ข้าพเจ้า) บรรพบุรุษต้นตระกูลเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดเกาะ และเป็นเจ้าของฆ้องมอญโบราณนี้ คนแรกชื่อ "ชอง" คนรองชื่อ "คัน" คนที่สามชื่อ "ปอน" เป็นสามีนางเขียว ภายหลังได้ใช้นามสกุล "ชองคันปอน" (พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์) สัมภาษณ์)

โดย..สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตั้งแต่ พ.ศ.2272  ชุมชนมอญย่านวัดม่วง  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี   ซึ่งตั้งครัวเรือนอยู่ ริมแม่น้ำแม่กลอง  ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว  ต่อมา พ.ศ.2310  สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อนายเมืองมอญเมาะลำเลิง ทั้ง 7 คน  ได้รับพระกรุณาให้ปกครองเมืองเป็นนายด่านป้องกันพม่าอยู่ด้านทิศตะวันตก  จึงมีผู้อพยพติดตามเป็นครัวมอญมาด้วย  โดยเคลื่อนจากแม่น้ำแม่กลองมา เข้าสู่แม่น้ำท่าจีน  เมืองสาครบุรี  ริมฝั่งตะวันตกที่วัดเกาะ  ตรงข้ามวัดบางปลา  บรรพบุรุษสำคัญที่อพยพมามี 4 คน  เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน  คือสกุล ทอมุด, ชองคันปอน, คชเสนี และ ราชสกุล กฤษฎากร  เป็นต้น (เจียน  คงศีล, 2539 : 10-20)

เจ้าของอันดับที่ 2
นางเขียว ชองคันปอน ผู้ประกอบพิธีรำผีหรือโต้ง บ้านเดิมอยู่หมู่ 3 ตำบลบ้านเกาะ มีวงปี่พาทย์มอญ รับงานพิธีกรรมศพและรำผี ซึ่ง นางลัดดา ช่องคันปอน (ย่าของผู้เขียน : ข้าพเจ้า) กล่าวถึงผู้ร่วมวงขณะนั้น ได้แก่อะโหน่งซ่ง / ครูปุ๋ย / ครูริมเติ่น (มือตะโพน) / ครูโกรน (มือระนาด) ยายเขียว(มือฆ้อง)
นางเขียวได้สมรสกับนายปอน มีบุตร 2 คน นายขันกับนายชั้น  และได้ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ. 2473

เจ้าของอันดับที่ 3

นายขัน ชองคันปอน บุตรคนโตของนางเขียว ได้รับมรดกวงปี่พาทย์มอญ เพราะเป็นผู้อาวุโส  จึงรับงานพิธีศพและรำผี สืบต่อมา ขณะเดียวกันได้สั่งสอนดนตรีมอญให้ลูกหลานไว้ด้วย
นายขัน ได้สมรสกับนางทองคำ  มีบุตรซึ่งสามารถบรรเลงดนตรีมอญได้ ภายหลัง คือ พระครูสิทธิเตชะ  ต่อมานายขัน พิจารณาว่าเครื่องดนตรีมอญไม่มีผู้สืบสานไปภายหน้า ควรจะได้มอบให้น้องชายครอบครองและรักษาต่อไป

เจ้าของอันดับที่ 4
นายชั้น ชองคันปอน  น้องชายของนายขัน ชองคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  โดยนำเงินสองพันห้าร้อยบาทไปให้พี่ชายเพื่อร่วมทำบุญอุทิศให้ นางเขียว  ช่องคันปอน
นายชั้น ได้สมรสกับนางเจียม มีบุตร-ธิดา คือ นางซะห์  อ่อนน้อมดี / นางทองกล่ำ สำแดงผล / นายบุญธรรม  ช่องคันปอน  ซึ่งมี นายบุญธรรม ผู้เดียวที่สามารถบรรเลงดนตรีมอญได้

นายบุญธรรม และ เจ้าของอันดับที่ 5
นายบุญธรรม ช่องคันปอน  บุตร นายชั้น ชองคันปอน ผู้ได้ครอบครองวงปี่พาทย์สืบมา และได้สร้างเครื่องดนตรีมอญเพิ่ม ขึ้นอีกเป็นอันมาก เพราะมีครูใหญ่ คือ นายโกรน ปิ่นมองเล ช่วยปรับปรุงเพลงให้ก้าวหน้า นางลัดดา  ช่องคันปอน ผู้เป็นภรรยากล่าวถึงประวัติไว้ว่า
"ลุงขันเห็นว่าหลานชายคือนายบุญธรรมเป็นคนจน มีลูกเต้าเยอะ .... ให้เก็บฆ้องไว้ อย่าทิ้งของเก่าแก่ จะได้เลี้ยงลูกเล็ก”    
ตลอดจนเมื่อในอดีต นางเขียวผู้เป็นย่าก็เคยชื่นชม “เพราะเห็นหลาน(บุญธรรม) เคาะฆ้อง เคาะระนาดได้เมื่อยังต้องมีเก้าอี้รองตีเลย” (พระครูสิทธิเตชะ สัมภาษณ์)
ต่อ มามีนักดนตรีรุ่นพี่ คือ นายดอกไม้  ปิ่นมองเล  ซึ่งเคยอยู่บ้านของนายแพทย์สุเอ็ด  คชเสนี  ที่พระประแดง  ได้มาร่วมวงพร้อมกัน  ครูพัฒน์ , ครูสืบ จากมหาชัย  และรุ่นน้อง เช่น นายสุวัฒน์  ฉุยฉาย (สมใจ  ช่องคันปอน : สัมภาษณ์)
นายบุญธรรม ชองคันปอน ย้ายบ้านเรือนมาอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเกาะ (เดิมบ้านอยู่ทุ่งนา ขึ้นกับอำเภอบ้านแพ้ว)  เพราะได้สมรสกับนางลัดดา มีบุตร-ธิดา 9 คน คือ สัมฤทธิ์  สุจิตรา  สมจิตร  สมใจ  พิสมัย  นาตยา  จันทร์  จารีย์ และปรีชา ตามลำดับ  ต่อมากิจกรรมวงปี่พาทย์เจริญขึ้นเป็นอย่างมาก  กระทั่งนายบุญธรรม ได้ตั้งชื่อคณะว่า "ธ.หงษ์เจริญ" เป็นอักษรย่อและสัญลักษณ์หงส์ของชาวมอญ จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539

เจ้าของอันดับที่ ๖
นายปรีชา ช่องคันปอน บุตรชายคนเล็กของนายบุญธรรม ช่องคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  เมื่อวัยเยาว์ได้เรียนดนตรีมอญกับบิดา นายศิริ  นักดนตรี และ ครูเชื้อ  ดนตรีรส
สำหรับวงปี่พาทย์มอญ  ปัจจุบันยังรับบรรเลงงานพิธีกรรมศพ  รำผี  มีพี่สาวที่บ้าน คือ สมใจ ช่องคันปอน ดูแลช่วยเหลือกัน   ส่วนพี่สาวชื่อ จารีย์ ได้สมรสกับหลานสำนักดนตรีมอญ คณะสุดใจศิลป์  ของ นายบุญเงิน  ฆ้องเสนาะ  จังหวัดนนทบุรี

ขนบธรรมเนียมและความเชื่อเกี่ยวกับร้านฆ้องมอญโบราณ
นักดนตรีชาวมอญมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อว่า ฆ้องมอญมี เทพครูสิงสถิตอยู่ ดังที่เรียกว่า “ประจุ๊ว่าง” ซึ่งหมายถึง ฆ้องวงนางหงส์  หรือ รูปเทพกินนร  จึงมีความศรัทธาว่า คือสิ่งศักดิ์สิทธิที่สามารถช่วยปกปักรักษาได้  ขนบธรรมเนียมเรื่องการบูชา  การขอพร ฯลฯ เป็นต้น  จากการสัมภาษณ์   จะมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อแตกต่างจากสำนักดนตรีมอญอื่นๆ ดังนี้
1.  ตั้งบูชาไว้บนบ้านเสมอ  หันหน้าพระสู่ทิศตะวันออก  เบื้องหัวนอนต้องหันสู่หน้าพระ  ถวายข้าวปลาอาหาร  ดอกไม้ธูปเทียน มาลัยทุกวัน  และวันพระต้องจัดพิเศษ
2.  เมื่อไปงานต้องมี “เติ้งไม้จ้า” คือ เงินกำนล  ผ้าขาว
3. ห้ามนำไปวางใต้ถุนบ้าน  หรือใต้ขื่อบ้าน

รูปร่างฆ้องมอญโบราณ (รุ่นที่1 ดังภาพ)

เพิ่มเติม :
-  ปัจจุบัน  ปรีชา  และ  จารีย์  เป็นข้าราชการครู  สอนวิชาดนตรี  อ.ปรีชา  สอนอยู่ โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์  เขตบางขุนเทียน  กรุงเทพมหานคร  ส่วน อ.จารีย์  สอนอยู่ โรงเรียนหลักสองส่งเสริมวิทยา  จ.สมุทรสาคร

-  อาจารีย์  คลังสิน เป็นผู้คอยดูแลวงปี่พาทย์  โดยเฉพาะในบางวันที่ต้องแยกเป็น ๒ วง เมื่อเล่นคนละที่ และเป็นผู้ฝึกสอนรำทั้งของคณะปี่พาทย์ฯ และของโรงเรียนด้วย

-  อาสมจิตร  ได้รับเลือกจากปู่ของข้าพเจ้าให้เป็นโต้งในพิธีรำผีทุกๆ ครั้งที่มีพิธีรำผี  ตั้งแต่สมัยที่ปู่ยังมีชีวิตอยู่
-  สมใจ  เป็นผู้รับงานต่างๆ และคอยช่วยเจ้าภาพเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในงานรำผี  โดยจะไปก่อนวันประกอบพิธี 1 วัน  เพื่อความเรียบร้อย

หมายเหตุ : ชองคันปอน นามสกุล นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความผิดพลาดทาง การติดต่อกับทางราชการ  กลายเป็น “ชองคันปอน” บ้าง , “ช่องคันปอน”บ้าง , “ช่องขันปอน”บ้าง , “ชองขันปอน”บ้าง  ข้าพเจ้าเองก็สงสัยเช่นกันว่า นามสกุลจริงๆ ในครั้งแรกเขียนไว้ว่าอย่างไร

บทความต่อเนื่อง
ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) 2