วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) บ้านเกาะ  สมุทรสาคร


ช่องคันปอน


ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยเรื่องอายุของคณะปี่พาทย์, อายุของฆ้องโบราณ, เรื่องชื่อคณะ และ เรื่องนามสกุล”ช่องคันปอน”  ที่ได้รู้มาบ้างแล้วแต่ยังไม่แน่ชัด เรื่องอายุของฆ้อง มอญโบราณ โค้งนั้น แต่คาดเดาไว้ว่าน่าจะอายุ ๙๐ – ๑๐๐ ปี  จึงได้สอบถามไปยังท่านพระมหาจรูญ  วัดชนะสงคราม ท่านได้ตอบมาว่า   “ลองคำนวนดู นางเขียวถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๗๓ บวกกับอายุสัก ๗๐ ปี บวกกับบรรพบุรุษของนางเขียวอีกสัก ๕๐ ปี เกือบ ๒๐๐ ปีนะ   ชื่อวง ก็ชัดแล้ว นายบุญธรรม เป็นคนตั้งชื่อ (เดิมคงยังไม่มีชื่อ  ถ้ามีชื่อก็คงเรียกชื่อหมู่บ้าน หรือวัด เช่น คณะหมู่บ้านเกาะ หรือคณะวัดเกาะ(คิดเอง) )  เรื่องนามสกุลก็ชัดแล้วเหมือนกัน เกิดจากชื่อ ๓ พี่น้องรวมกัน”

ตั้งแต่ปู่รับช่วงปี่พาทย์แต่เริ่มแรก  ปู่เริ่มจากการว่าชักชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักดนตรีมาร่วมบรรเลง พอลูกๆ ของปู่โต ปู่ก็เริ่มฝึกลูกๆ พร้อมๆ กับ เด็กในหมู่บ้านที่สนใจ

ได้มีเสียง โด เร มี... เหมือนในสมัยปัจจุบัน  อาศัยการจำเสียง เช่น โท้ง โทง โท่ง...  ซึ่งลูกๆ ของปู่ทุกคนจะได้รับการฝึกหมด  แต่พอโตขึ้น ก็แยกย้ายไปทำงานในกรุงเทพ ๓ คน  จึงไม่ได้ตีปี่พาทย์เป็นประจำเหมือนอีก ๖ คนที่อยู่ที่บ้านเกาะ  อาเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยอาเด็กๆ มีรำมอญด้วย  โดยอาๆ ที่เป็นผู้หญิงเป็นคนรำ

เดิมที่ผู้เล่นปี่พาทย์มิได้จำกัดแค่ลูกหลานของปู่เท่านั้น  ตั้งแต่สมัยที่ปู่รับช่วงปี่พาทย์  แต่เริ่มแรกปู่ก็จะฝึกสอนให้กับลูกๆ (พ่อและอา) พร้อมๆ กับเพื่อนๆ ของพ่อ และเพื่อนบ้านด้วย   ในสมัยพ่อและอาการฝึกปี่พาทย์จะยากกว่าในปัจจุบัน  บางคนก็เล่นต่อมาถึงปัจจุบัน  บางคนก็เลิกเรียนไปเสียก่อน...

ในยุคปัจจุบันที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นด้วยตนเอง  การต่อเพลงง่ายกว่าที่พ่อและอาเล่าให้ฟัง  มีการเทียบเสียงฆ้องและเครื่องดนตรีต่างๆ เป็นเสียง โด..เร..มี.. ตามแบบดนตรีสากล  และจากการที่ปู่ได้สอนลูกๆ ไว้   ลูกๆ ของปู่ก็มาสอนหลานๆ ญาติ และเพื่อนบ้านที่สนใจต่อมาเรื่อย ๆ 

เนื่องจากปู่มีลูกถึง ๙ คน  ตอนนี้ในคณะปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) จึงมีหลานๆ เป็นลูกทีมอีกหลายคน (ประมาณ ๑๐ คน) เป็นแรงหลัก  และยังมีน้องเล็กๆ  อีก ๓ คนที่ยังเล็กยังตีไม่ได้
ในบางงานที่ตรงกับวันที่ อาจารีย์, อาปรีชาหรือ หลานๆ ไปเรียนหนังสืออาก็จะหาเพื่อนๆ ปี่พาทย์จากตลาดมหาชัยบ้าง  บางปิ้งบ้าง  นนทบุรีบ้าง มาช่วย   แต่โดยส่วนใหญ่งานที่หาจะตีหลังจากกลับจากโรงเรียน ในช่วงเย็นและในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเจ้าภาพส่วนใหญ่นิยมจัดงานให้ตรงกับวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันที่หน่วยงานส่วนใหญ่จะหยุดทำงาน  จะสะดวกต่อผู้มาร่วมงาน

ที่ข้าพเจ้าเห็นโดยน้องๆ ที่มาฝึกเองก็ชอบมา  เพราะในการฝึกแต่ละครั้งจะมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน
บ้าน ใกล้กัน  เรียนโรงเรียนเดียวกัน มาฝึกพร้อมกัน  ว่างจากการฝึกซ้อมก็เล่นกัน  เวลาไปออกงานก็ไปด้วยกัน  จึงกลายเป็นเพื่อนสนิทไปโดยปริยาย...
ผู้ที่ต่อเพลงก็จะมี  อาจารี  และ อาปรีชา  ในบางคราว  พี่ๆที่เคยต่อเพลงไปแล้ว ก็จะช่วยต่อเพลงให้  โดยจะต่อเพลงและให้ผู้เรียนพักเพื่อทบทวนเพลงที่ ได้ต่อไปแล้ว  ให้น้องๆ ที่มาฝึกได้พัก  ได้เล่นบ้างเพราะน้องๆ ที่มาฝึกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงประถม  ที่ยังต้องการเล่นเฮฮาบ้าง เพื่อไม่ให้ตึงเครียดกันเกินไป  เพราะการต่อเพลงต้องใช้สมาธิในการจำจะไม่ค่อยไม่พูดคุย

พ่อของข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังว่า ในครั้งนึง กรมสามัญศึกษา จัดงาน ตอนนั้นอาจารีย์ สอนอยู่ที่โรงเรียนลำลูกกา  จ.ปทุมธานี  อาปรีชา สอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดปรีดาราม จ.นครปฐม  ซึ่งอาทั้งสองต่างก็ส่งวงดนตรีของโรงเรียนประกวดในงาน  ผลการประกวดคือ วงของโรงเรียนลำลูกกา  ที่อาจารีย์ฝึกสอนได้อันดับที่1  ส่วนวงของโรงเรียนวัดปรีดาราม ที่อาปรีชาเป็นผู้ฝึกสอนได้อันดับที่2
ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) เดิมทีในตอนแรกเป็นเครื่องเดี่ยว คือ ฆ้องมอญ ๑ โค้ง ระนาดทุ้ม , ระนาดเอก และเครื่องตีจังหวะ อย่าง ฉิ่ง  กรับ ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่  ซึ่งก็เก่ามากแล้ว (ทราบว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ตั้งแต่ช่วงที่บรรพบุรุษอพยพเข้าอยู่ใน ประเทศไทย หรือ ช่วงอพยพเข้ามาในประเทศไทยยุคแรกๆ)   ต่อมากปู่ได้สร้าง (ซื้อ,สั่งทำ) เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้น  การซื้อเครื่องดนตรีใหม่ของปู่เริ่มจาก ฆ้องมอญที่ได้รับตกทอดมาชำรุด ไม่สามารถยกไปงานได้และมีงานที่ต้องใช้เร่งด่วนปู่เลยซื้อฆ้องมอญมาหนึ่ง โค้ง     ต่อจากนักดนตรีท่านนึงอย่างกะทันหัน    

ต่อมาปู่และอาๆ ช่วยกันสร้างฆ้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ข้าพเจ้าสังเกตและแยกได้เป็นรุ่นๆ  คือ (ขอเน้นแต่เรื่องฆ้องมอญ  เนื่องจากเห็นได้ชัดเจน)
รุ่นที่ ๑   มีฆ้องมอญเก่า ที่รับสืบทอดมา    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
รุ่นที่ ๒ เป็นฆ้องที่ซื้อมาอย่างกะทันหัน    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
รุ่นที่ ๓  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ           ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก /  ระนาดทุ้ม / โหม่ง / ชุดเปิงมาง / ระนาดเหล็ก ซึ่งในรุ่นนี้ได้แกะสลักชื่อว่า ธ.หงษ์เจริญ ไว้ที่เครื่องด้วย
รุ่นที่ ๔  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง / ฆ้องเล็ก ๑  โค้ง   ภายหลังมีการเพิ่มรำไทยของทางคณะเอง (ส่วนรำมอญ มีตั้งแต่สมัยอาเด็กๆ ในยุคแรกๆ แล้ว) / สร้างเครื่องดนตรีไทยเพิ่มขึ้น ๑ ชุด  คือ ฆ้องใหญ่ / ฆ้องเล็ก / ตะโพนไทย
รุ่นที่ ๕   เป็นฆ้องที่อาปรีชาสั่งทำหลังจากปู่เสียไปแล้วหลายปี     ได้สั่งสลักชื่อ “ผู้ใหญ่บุญธรรม” ไว้บนเครื่องด้วย เครื่องที่สั่งทำใหม่มี  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก / ระนาดทุ้ม / เปิงมางชุดใหม่ / และโหม่ง

ฆ้อง


รายละเอียดฆ้อง ในแต่ละรุ่น

  • ฆ้องรุ่นที่ 1 ฆ้องในรุ่นที่ ๑  เป็นการแกะลายแบบตื้น  ตัวรางฆ้องเป็นลายดอกพุดตาน ลงสีน้ำตามแบบโบราณ ด้านทางปลายฆ้องเป็นรูปลิง  อายุ มากกว่า ๑๕๐ ปี สัณนิฐานว่าสร้างในช่วงที่มีการอพยพจากเมืองมอญ สู่ จังหวัดสมุทรสาคร  แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสร้างที่เมืองมอญ หรือ สร้างในเมืองไทย

สร้างด้วยไม้ “นอมหะรัว” หรือต้นกุ่มน้ำ   มีลักษณะเนื้อไม้ออกสีเหลือง  เบา  เนื้อละเอียด  คติชาวมอญคือไม้สีเหลืองเป็นไม้มงคล  ใช้แกะจำหลักรูปพระพุทธเจ้า  และสร้างเครื่องดนตรีมอญสำคัญๆ เช่น ฆ้องมอญใหญ่  หรือฆ้องวงนางหงส์  เป็นรูปเทพกินนรที่หมายความว่า ดุจดังผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยคุ้มครองอันตราย (หมู  บุญนบ : สัมภาษณ์)

ในกระบวนการช่างมอญ ได้ประดิษฐ์ร้านฆ้องให้ถอดออกเป็น 3 ส่วน  มีฐานฆ้องแยกส่วน  เมื่อจำหลักแล้วทาสีขาว  เหลือง  แดง  เขียว และน้ำเงิน (ดำ)  ซึ่งเป็นสีฝุ่นผสมน้ำแบบโบราณ ที่เรียกว่า สีเบญรงค์  เฉพาะรูปกินนรทาสีขาวปนเหลือง  ไม่ได้ปิดรักลงทองคำเปลว  ลักษณะร้านฆ้องมอญโบราณนี้มีลักษณพิเศษ คือ ด้านท้ายฆ้องเป็นรูปวานร(ลิง)  สังเกตจากลายเครื่องแต่งกายแล้วคงไม่ใช่หนุมาน  รูปท้ายฆ้องนี้เหมือนเรืออังหมะของมอญอย่างยิ่ง  สภาพโดยรวมเก่าแก่โบราณดังประวัติสกุล  ร้านฆ้องด้านหนึ่งเนื้อไม้หายไป  เพราะไม่ได้นำไปใช้บรรเลงถึงปัจจุบัน (2550) ประมาณ 54 ปี มาแล้ว   ด้วยความเคารพศรัทธา ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวประจำสำนักดนตรีมอญ  จึงนำมาถวายบูชาอยู่ในปัจจุบัน + ข้อมูลคัดย่อจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ร้านฆ้องมอญโบราณ

--------------------------------------------------------------------------------------------

  • ฆ้อง รุ่นที่ 2 ฆ้องในรุ่นที่ ๒  เป็นการแกะลายแบบตื้น  รูปนางหงส์ถือหางนกยูง  เป็นการแกะลายที่ตื้นกว่าลายไทย  หน้าของนางหงส์นูนลอยออกจากหางนกยูงครึ่งนึง  เดิมหน้าและตัวนางหงส์เป็นสีทอง มีการติดกระจกสีฟ้าประดับด้วย  ภายหลังอาปรีชาปรับปรุงใหม่เป็นสีขาว  (ข้าพเจ้าเห็นแล้วนึกถึงการถือหางนกยูงเวลาที่เกิดสงครามยุทธหัตถี ที่เคยเห็นในหนังประวัติศาสตร์ อย่างเรื่องสุริโยทัย  แต่อีกความคิดนึงก็นึกถึง นกยูง ที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า) และไม่ทราบว่าคนที่แกะเป็นคนไทย มอญ หรือพม่า  

ในตอนแรกข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจอะไรคิดแต่ว่าในบรรดา ฆ้อง ๙ โค้งที่ใช้ออกงาน ฆ้องโค้งนี้ดูการแกะลายไม่ค่อยละเอียดเลย  ไม่ค่อยชอบเลยด้วยซ้ำ  ตอนที่ยังเป็นหน้าสีทองตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็ก ฆ้องนี้ไม่ได้ใช้งาน  รู้สึกว่าฆ้องโค้งนี้น่ากลัว ไม่ค่อยกล้าเดินผ่านเวลามืดๆ หรือกลางคืน   แต่ในตอนหลังได้ศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับมอญมากขึ้น  ได้เห็นภาพเกี่ยวกับเครื่องประดับของกษัตริย์มอญในสมัยโบราณ  ก็คิดว่าปู่ก็เป็นคนมอญ สนใจเรื่องมอญ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษามอญ ได้น่าจะมีอะไรที่เป็นมอญๆ อีกนอกจากหนังสือ ทำให้ข้าพเจ้าหันมาพิจารณาฆ้องมอญโค้งต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านปู่  ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนทัศนคติต่อฆ้องมอญโค้งนี้ใหม่  ว่ามีศิลปะความเป็นมอญสูงกว่าฆ้องโค้งอื่นๆ  โดยสังเกตจาก ชฎา เป็นอย่างแรก และการแกะลายที่ต่างจากฆ้องรุ่นหลังๆ เป็นอย่างที่สอง

???...มอญถูกพม่ารังแก ถ้าตามความคิดข้าพเจ้า ก็คงไม่เอาหางนกยูงที่เป็นสัญลักษณ์พม่า มาเกี่ยวกับเครื่องดนตรีมอญ  ตอนนี้ เลยยังไม่เข้าใจว่า ความหมายของรูปหางนกยูงที่ฆ้องวงนี้ คืออะไรกันแน่  และทำไม วงปี่พาทย์มอญ ถึงต้องมีหางนกยูงประดับ  ทั้งๆ ที่นกยูงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า...???

  • ฆ้อง รุ่นที่ 3

ฆ้องในรุ่นที่ ๓  การแกะลายยังมีความคล้ายกับมอญ คือ ลายจะแกะไม่ลึก  สังเกตได้ชัดจากชฎาจะแกะลายไม่ลึกเช่นเดียวกับรุ่นที่๑ และ รุ่นที่๒ มีการประดับเพชรพลอย  และกระจก

  • ฆ้อง รุ่นที่ 4

ฆ้อง ในรุ่นที่ ๔ ลวดลายจะออกไปทางลาย ไทย  มีการแกะลายที่ลึก  สังเกตได้ชัดจากยอดชฎาและด้านหลัง ฆ้องในรุ่นที่ ๔ หน้าของนางหงส์จะออกเป็นแบบ”หน้านาง” หรือ ผู้หญิง

  • ฆ้อง รุ่นที่ 5

ฆ้อง ในรุ่นที่ ๕ ลวดลายจะออกไปทางลายไทย  มีการแกะลายที่ลึก  ช่างแกะฆ้องเป็นช่างเดียวกันกับรุ่นที่ ๔ แต่ทางอาสั่งให้ช่างแกะรูปเป็นหน้า “หน้าพระ” หรือ ผู้ชาย เพราะเห็นว่าแบบหน้านาง มีหลายโค้งแล้ว

ทำไมผู้ปกครองจึงส่งลูกหลานมาฝึกปี่พาทย์ ???

1. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 
เพราะเด็กส่วนใหญ่มักจะเที่ยวเล่น หรือ ออกจากบ้าน  โดย ปู่ และอาๆ ก็ไม่ได้คิดค่าสอน  แต่อย่างใด  ผิดกับในบางที่ เช่น กรุงเทพฯ ที่มีการคิดค่าสอน โดยคิดเป็นจำนวนชั่วโมง
 
2. สร้างความสามารถพิเศษ
  ซึ่งสามารถไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมดนตรีไทยของโรงเรียนได้  ซึ่งความสามารถในการเล่นดนตรีไทยหรือปี่พาทย์มอญ  หรือ การรำ นี้ จะมีผลในการพิจารณารับเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ เพราะสถาบันต่างๆ ย่อมต้องการผู้ที่มีพื้นฐานทางดนตรี หรือการรำ  เนื่องจากง่ายต่อการฝึกสอนเพิ่มเติมและสามารถช่วยกิจกรรมทางดนตรีไทย – มอญ ของทางสถาบันได้    และหากผู้เรียนสนใจอย่างจริงจัง ก็สามารถไปเรียนทางครูสอนดนตรีไทย , รำ  ได้  (มีช่วงนึง ที่ โรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย  จ.สมุทรสาคร  เหมือนยกคณะผู้ใหญ่บุญธรรม ไปเล่นในโรงเรียน  เนื่องจากผู้เล่นทั้งหมดในวงของโรงเรียน  เป็นนักดนตรีของคณะผู้ใหญ่บุญธรรมทั้งหมด  แต่ภายหลังได้แยกย้ายกันไปศึกษาต่อในสถาบันต่างๆ ไป  รุ่นหลังจึงมีนักเรียนของโรงเรียนมาเล่นตามเดิม)

3. เมื่อมาฝึกแล้วได้ใช้จริง 
คือ ได้ไปออกงานกับทางคณะฯ และมีรายได้จากการออกงาน

อ่านบทความก่อนหน้า  ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)(1)