วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ปี่พาทย์มอญ
องค์ บรรจุน


ปี่พาทย์มอญ


นาฏศิลป์และดนตรีมอญ
ดนตรีพื้นเมืองของประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าพม่า มอญ ไทย ลาว เขมร ล้วนมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันที่สุด ทั้งเครื่องดนตรี ทางดนตรี และทำนองเพลง ซึ่งดนตรีไทยก็รับอิทธิพลของดนตรีมอญมาไม่น้อย รวมทั้งครูเพลงยังได้มีการแต่งเพลงไทยเดิมสำเนียงมอญขึ้นมาอีกมากมาย และสิ่งที่โดดเด่นของดนตรีมอญ คือ วงปี่พาทย์มอญ เป็นที่นิยมของวงการเพลงไทยเดิมมาทุกยุคทุกสมัย

ปี่พาทย์มอญ แบ่งออกได้เป็น ๓ ขนาด
วงเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ปี่มอญ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ ฉิ่ง
วงเครื่องคู่ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่มอญ เปิงมางคอก  ตะโพนมอญ ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ ฉิ่ง
วงเครื่องห้า ประกอบด้วย ฆ้องวง ระนาดเอก ปี่มอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  ฉิ่ง

วงดนตรีประเภทปี่พาทย์มอญนั้นนิยมเรียกว่า ปี่พาทย์มอญ เป็นวงดนตรีที่นิยมเล่นทั้งงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป แต่ภายหลังมีการนำวงปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทรา มาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริว่ามารดาของพระองค์นั้นเป็นเชื้อสายมอญโดยตรง จึงโปรดฯ ให้นำวงปี่พาทย์มอญมาเล่น ด้วยเหตุนี้เอง ภายหลังจากงานพระศพดังกล่าวจึงได้กลายเป็นความเชื่อและยึดถือกันมาโดยตลอด ว่า ปี่พาทย์มอญนั้นใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น
ชาวมอญมีชื่อเสียงในเรื่องของวงปี่พาทย์และมอญรำอย่างมาก มักจะมีการบรรเลงปี่พาทย์และการแสดงมอญรำควบคู่กันไปทุกครั้ง

ส่วนการแสดงทะแยมอญนั้นใช้วงดนตรีอีกประเภทหนึ่งต่างหาก คือวงเครื่องสาย ประกอบด้วย จะเข้ ซอมอญ ปี่มอญ ขลุ่ย กลองเล็ก และ ฉิ่ง