วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ฆ้องมอญ
องค์  บรรจุน

ฆ้องมอญ


ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนกับฆ้องไทย วงฆ้องส่วนที่โค้งขึ้นไปนั้น แกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม ส่วนมากมักแกะเป็นรูปกินนร เรียกกันว่าหน้าพระ  ตอนกลางโค้งแกะเป็นกระหนกใบเทศปิดทองประดับกระจกเช่นกัน มีเท้ารองตรงกลางเหมือนกับเท้าของระนาดเอก ฆ้องมอญวงหนึ่ง ๆ มีจำนวน ๑๕ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์รามัญ หรือปี่พาทย์มอญ วงฆ้องมอญมีการแยกขนาดแบบไทย คือมีฆ้องมอญใหญ่ และ ฆ้องมอญเล็ก

ฆ้องเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีภาพจารึกอยู่ที่หน้ากลองมโหรทึก อายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งหน้าตาของฆ้องที่ปรากฎนั้นก็ยังเหมือนกับฆ้องที่เราพบเห็นกันอยู่ใน ปัจจุบันนี้

สำหรับฆ้องมอญแล้ว เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของมอญ เรียกว่าเป็นเครื่องดนตรีชิ้นครูก็ว่าได้ เพราะสามารถใช้เทียบเสียงในการตั้งเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ให้มีระดับเดียวกันและกลมกลืนขณะบรรเลงร่วมกัน แม้ฆ้องจะมีอยู่ในวงดนตรีของหลายชาติหลายภาษา ทว่ารูปแบบของฆ้องมอญนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ดังจะเห็นได้ว่าแต่เดิมในการบรรเลงดนตรีปี่พาทย์มอญนั้นจะตั้งฆ้องเอาไว้ หลังสุด เพราะฆ้องมีความสูงจะได้ไม่บังเครื่องดนตรีและผู้เล่นคนอื่น แต่ในปัจจุบันกลับเปลี่ยนความนิยมใหม่ นำฆ้องมาวางข้างหน้า ยิ่งมากยิ่งดี เพราะต้องการแสดงให้เห็นความอ่อนช้อยสวยงามของร้านฆ้องมอญ อย่างการแสดงลิเกในปัจจุบันนั้นเห็นได้ชัดที่สุด มักนำฆ้องมอญขึ้นไปวางบรรเลงในชั้นบนจำนวนหลายร้าน เต็มความกว้างของเวที ประดับประดาขนนกยูงเพิ่มความสวยงาม นับเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่ง

มีตำนานเกี่ยวกับฆ้องมอญอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ปรากฎขึ้นและยังอยู่ในความทรงจำของลูกหลานมอญตระกูล “ดนตรีเสนาะ” ทายาทวงปี่พาทย์มอญย่านวัดหงส์ เมืองปทุมธานี

ปู่ย่าตายายของตระกูล “ดนตรีเสนาะ” เล่ากันสืบมาว่า เมื่อราว ๓๐๐ ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่อพยพหลบหนีพม่ามานั้น ทางครอบครัวต้นตระกูลซึ่งเป็นนักดนตรีปี่พาทย์ ได้หอบคอนเอาฆ้องมอญเข้ามาด้วยร้านหนึ่ง ทว่าฆ้องมอญมีน้ำหนักมากแบกไม่ไหว จึงทำการตัดออกเป็น ๓ ท่อน ช่วยกันแบกเข้ามา เมื่อมาถึงเมืองไทยได้นำมาประกอบขึ้นใหม่ ทุกวันนี้ฆ้องร้านดังกล่าวก็ยังคงอยู่ และสามารถมองเห็นร่องรอยการต่อเอาไว้ได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญยังใช้ในการบรรเลงในงานสำคัญ ๆ เสมอมา อันแสดงให้เห็นถึงความรักและความผูกพันธ์ในฆ้องมอญและอาชีพนักดนตรีปี่พาทย์ อย่างสุดชีวิต