ผู้หญิงมอญ (สังขละ) วิถีชีวิต จารีตประเพณี สู่ อัตลักษณ์แห่งชาติ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ผู้หญิงมอญ (สังขละ) วิถีชีวิต จารีตประเพณี สู่ อัตลักษณ์แห่งชาติ
โดย...สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


สาวมะละแหม่ง

 

หากจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีตนั้น หงสาวดี ราชธานีแห่ง รามัญ (มอญ) นั้นก็มีความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งมากเป็นอันดับต้นๆ แต่เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองทำให้ทุกวันนี้ ลูกหลานชาว"รามัญ"ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตไม่มีผืนแผ่นดินที่เรียกว่า ประเทศ เป็นของตนเอง แต่ทว่า ชาว"มอญ"กลับดำรงรักษาจารีต ประเพณี วัฒนธรรม ในการดำเนินชีวิตในแผ่นดินอื่นได้เป็นอย่างดี เห็นได้ชัดเจนจากชาว"มอญ" ในประเทศไทย สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือที่มีบทบาทสำคัญในการสืบทอด และดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์แห่งชนชาติมอญ ไว้ได้ยาวนานตราบทุกวันนี้คือ “ผู้หญิงมอญ” อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผันผ่านพร้อมกับกระแสทุนนิยม ในวิถีโลกได้ส่งผลกระทบต่อ ชีวิตคนมอญเป็นอย่างมาก

ดังนั้น การศึกษาวิถีของชาว"มอญ" โดยการขับเคลื่อนของผู้หญิงชาว"มอญ" ที่มีความสำคัญต่อการสร้างและรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นชนชาติไว้ได้ จึงเป็นองค์ความรู้และบทเรียนสู่สังคม รวมไปถึงการอยู่ร่วมกัน ของผู้คนหลากชาติพันธุ์บนความแตกต่างของโลกใบนี้อย่างเป็นสุข

น.ส. เจือจันทร์ วงศ์พลกานันท์ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ผู้ทำวิจัยเรื่อง กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของสตรีชายแดน กลุ่ม"ชาติพันธุ์มอญ" และปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มพม่าและกลุ่มไทย เล่าว่า เนื่องด้วย มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ที่รักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมมายาวนาน โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่อิงอยู่กับพระพุทธศาสนา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และเป็นที่น่าสังเกตว่าวิถีของชาว"มอญ"ดำเนินอยู่ ในหลายประเทศมีความน่าสนใจ ที่สามารถสืบทอดวัฒนธรรมให้ปรากฏจนถึงทุกวันนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกขับเคลื่อน โดยบทบาทของ"ผู้หญิงมอญ" การดำเนินชีวิตของผู้หญิงชาว"มอญ"จะผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา

ทั้งนี้ "ผู้หญิงมอญ" จะมีการเข้าวัดจำศีล ใส่บาตร มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน จะมีการปฏิบัติด้วยความศรัทธา จึงมีการตระเตรียมข้าวของไปวัด นับตั้งแต่ การเก็บดอกไม้ในตอนเช้าตรู่จากนั้น นำไปห่อด้วยใบตองเก็บไว้อย่างดี หลังจากนั้นก็ไปใส่บาตรพระ ต่อจากนั้นไปถวายข้าวพระพุทธ และเมื่อถึงตอนบ่ายก็เอาดอกไม้ มาเสียบกับก้านมะพร้าวเพื่อนำไปจัดแจกันอย่างสวยงาม สำหรับการสวดมนต์ในตอนเย็น มีการรวมกลุ่มกันของผู้หญิง ในการ"สวดมนต์มอญ"ด้วยกัน ครั้งละชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานมาก และเมื่อถึงวันพระ ที่สำคัญจะมีการไปนอนจำศีลที่วัด ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ปรนนิบัติ ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็คือ ลูกหลาน ซึ่งเวลาไปวัดเขาจะมีธรรมเนียมว่า กับข้าวนั้นจะไม่เอาใส่ปิ่นโตแล้วก็หิ้วไปเพราะจะทำให้กับข้าวกรายชายผ้าถุง อันเป็นของที่อยู่ต่ำ จึงมีการนำข้าวของต่าง ๆ ขึ้นทูนศีรษะแล้วแบกไปกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งเครื่องนอนก็ตามที”

นอกจากนี้ ผู้หญิงมอญ ยังมีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ กับกลุ่มอื่น ๆ ทั้งพม่าและไทยซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน เนื่องจากเดิมชาวมอญ เป็นสังคมที่เป็นคนอพยพเข้ามา ไม่มีสิทธิในที่ดินเพราะเป็นที่จับจองจะทำไร่ทำนา ผู้หญิง ก็จะเป็นแรงงานที่สำคัญของครัวเรือน ช่วยกันทำมาหากิน แล้วก็มีการค้าขายชายแดน จึงมาทำการค้าขาย มีตั้งแต่การค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตลาด ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด ซึ่งถ้ามีฐานะดีขึ้นมาก็จะขายของที่ระลึกจากพม่า ก็จะมีตลาดที่สำคัญอยู่ ๒ แห่ง ก็คือที่เจดีย์พุทธคยาจำลอง ส่วนหนึ่งของวัดวังก์วิเวการาม ซึ่งนำเอาศาลาซึ่งเป็นที่พัก ของนักท่องเที่ยวเดิม ดัดแปลงมาเป็นแผงขายสินค้า และคนที่จะเข้ามาสู่ตรงนี้ได้ต้องค่อนข้างที่จะเป็นคนมีฐานะ และก็มีเครือข่ายมีญาติพี่น้องอยู่ทางพม่า ก็อาจจะติดต่อเรื่องสินค้ากันได้แล้วก็ค้าขายชายแดน หรือมีการติดต่อกับญาติพี่น้องที่อยู่ทาง"รัฐมอญ" ยังมีการไปเยี่ยมเยือน การไปงานบุญประเพณีงานศพพระสงฆ์ การนำสินค้าไปค้าขาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตใน"วิถีมอญ" ท่ามกลางกระแสโลกนั้น ยังคงต้องประสบกับปัญหาจากภายนอก  เนื่องจาก"สังคมมอญ"อพยพในพื้นที่รอยต่อ ระหว่างไทยและพม่า คือสังคมที่เกิดขึ้นมาเพราะมีวัดเป็นศูนย์กลาง คือหลวงพ่ออุตตมะ ไม่ได้เป็นสังคมที่เกิดขึ้น เพราะรัฐไทยเป็นแกนกลาง ในการที่จะจัดตั้งสังคมนี้ขึ้นมาซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านในขณะนั้นคือหลวงพ่อ อุตตมะ เพราะคนที่อพยพเข้ามาส่วนหนึ่งเป็นญาติ ของหลวงพ่อซึ่งอพยพหนีความวุ่นวายทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจหรืออะไรเกี่ยวกับการเมืองในพม่าในอดีต

และในช่วงหลังสุดคือผลกระทบ จากการสร้างเขื่อนเขาแหลม (วชิราลงกรณ์) ซึ่งในจุดที่แม่น้ำสามสาย ได้แก่ ซองกาเรีย บี่คลี่และรันตีมารวมกันที่สามประสบ อำเภอสังขละบุรีก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็ไม่มีที่อยู่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ชดเชยให้เฉพาะแค่ค่ารื้อถอนบ้านเรือน แต่ค่าพืชผลต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับการชดเชยเพราะไม่ใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้อง กลุ่มที่จะได้รับก็คือพวกกะเหรี่ยง ที่ได้สัญชาติไทยกับคนไทยซึ่งมีอยู่น้อยกว่าคนมอญ และคนเหล่านี้ยังได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ดังนั้นคนมอญก็ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องดิ้นรนทำมาหากินอย่างอื่นซึ่งก็คือการค้าขาย หรือเป็นแรงงานรับจ้าง อันเป็นปัจจัยที่ทำให้บทบาท ของ"ผู้หญิงมอญ"เด่นชัดยิ่งขึ้นดังกล่าวข้างต้น

เมื่อมีปัจจัยหลายอย่าง ได้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาว"มอญ" การรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง จึงต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น กล่าวคือ "กลุ่มชาติพันธุ์มอญ" ยังมีการรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองได้ โดยเฉพาะกลุ่มแรก ๆ ที่มีความเป็น"มอญ"ค่อนข้างสูง แม้กระทั่งภาษาไทยก็เข้าใจแต่ไม่พูด ไม่ยอมพูด อัตลักษณ์ที่ยังคงรักษาไว้ได้ คือ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภาษา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคนพม่ามาแต่งงานกับคน"มอญ" ก็จะต้องพูด"ภาษามอญ" หรือคนไทยมาแต่งงานกับคน"มอญ" ลูกก็จะต้องพูด"ภาษามอญ" แต่ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นหลัง ๆ นั้นจากการศึกษาพบว่า จะมีอัตลักษณ์ ๒ อย่างอยู่ในตัวครึ่งหนึ่งเป็นไทยครึ่งหนึ่งเป็น"มอญ" ซึ่งหากอยู่ที่บ้านก็ต้องทำตัวเป็น"มอญ" จะนุ่งกางเกงขาสั้นตามแฟชั่นไม่ได้ เพราะเหมือนมีสายตาคอยจับจ้อง

กลวิธีการป้องกัน จึงมีการรณรงค์ก็ขอร้องให้แม่ค้าที่เจดีย์พุทธคยา ให้แต่งตัวแบบของ"มอญ" ซึ่งเขาจะมีชุดประจำชาติประดิษฐ์เมื่อราว ๔๐ ปี ที่ผ่านมา เป็นผลงานของกลุ่มสหพันธ์นักศึกษามอญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนจะเป็นในส่วนของภาษา และวัฒนธรรมแต่ทว่าปัจจุบันเหมือนกับ เป็นการต่อสู้เชิงอัตลักษณ์ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็น"ผู้หญิงมอญ"ใส่ผ้าถุงสีแดงกับเสื้อ ผู้ชายก็จะเป็นโสร่งแดงก็เสื้อตาราง พื้นขาวตารางแดงจะใส่ไปไม่ว่างานศพหรืองานวันชาติ มีการประดิษฐ์ "ธงชาติมอญ" และมีแม้กระทั่งเพลงชาติ

“มีโอกาสได้ไปสังเกตงานวันชาติเขาด้วย ซึ่งจัดที่ชายแดน แล้วมีคนบอกว่า ถ้าเกิดจัดในเมืองพม่า เช่น อำเภอเร (เย) ทหารพม่าจะจับ แต่ถ้าจัดที่ชายแดนนั้นจะมีอิสระมาก จะกล่าวสุนทรพจน์ หรือมีการสวนสนาม ก็ทำได้อย่างอิสระ ในปีที่ผ่านมาตรงกับหลังวันมาฆบูชา ซึ่งถือว่าเป็นวันพระใหญ่ อันเป็นวันก่อตั้งกรุงหงสาวดี เช่นเดียวกับชาว"มอญ"ในประเทศอื่น ๆ อาทิ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา” เจือจันทร์ วงศ์พลกานันท์ กล่าว

ประโยชน์จากการศึกษาในครั้งนี้ คือ การได้สะท้อนถึงบทบาท กระบวนการแห่งชาติพันธุ์ กับการดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง แตกต่าง สู่สังคม ในฐานะผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์อพยพ อันมีการรักษาจารีต ประเพณี วัฒนธรรม ของตนเองจนนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ ผ่าน ศาสนา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งถือเป็นบทเรียนให้กับหลาย ๆ สังคมที่กระแสทุนนิยมได้แทรกเข้าอย่าง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จนได้กลืนวัฒนธรรมประเพณี และเอกลักษณ์ของชาติไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตามแม้ว่างานวิจัยจะสิ้นสุดลง แต่ทว่า เรื่องราวของ"กลุ่มชาติพันธุ์มอญ" และบทบาทของ"ผู้หญิงมอญ" กับกระบวนการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาตินั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าติดตามและให้กำลังใจต่อไป