วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญ เม็ง ตะเลง รามัญ
องค์ บรรจุน

มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในแหลมสุวรรณภูมิ อยู่ในตระกูลมอญ-เขมร  มีการเรียกชื่อชนชาติต่าง ๆ กันออกไป ได้แก่ มอญ เม็ง ตะเลง รามัญ

มอญ เรียกตัวเองว่า “โม่น” โดยรับอิทธิพลมาจากภาษาบาลีว่า แหมะนุสสสฺ (มนุษย์) ต่อมาจึงกร่อนลงเป็น แหมะนุ ที่สุดจึงเหลือเป็น แหมะแนะ คือ มน หรือ มอญ

จารึกมอญโบราณราว พ.ศ.  ๑๖๔๔-๑๖๔๕ มอญเรียกตัวเองว่า เรฺมนฺ และเขียนเป็นภาษาบาลีว่า รามญฺญเทส. ไทยถอดเป็นรูปอักษรว่า รามัญ. แต่มอญออกเสียงเป็น ห-ม่อน หรือ ม่อน (ยาว ๆ หนัก ๆ) ไทยจึงเรียกตามภาษาปากว่า มอญ ด้วย

ส่วนไตเหนือ (ล้านนา) เรียก มอญ  รามัญ ออกเสียงตามลิ้นของชาวล้านนา กล่าวคือ ออกเสียง ญ สะกด เป็นแม่กง เช่น เพ็ญ เป็น เพ็ง หรือ เป็ง อัญชลี เป็น เอ็งชุลี กัญญา เป็น เก็งญา ฯลฯ ประกอบกับภาษาล้านนาไม่มีเสียง ร ดังนั้นคำว่า รามัญ หรือ มอญ จึงกลายเป็น เม็ง

ส่วนคำ ตะเลง สันนิษฐานเป็น ๒ ทาง บ้างว่ามาจาก ตลิงคะนะ ชนชาติอิสระทางอินเดียใต้ในอดีตกาล ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เพราะมอญรับเอาศาสนาพุทธและภาษาบาลีของอินเดียมาใช้ก่อนใคร

อีกทางหนึ่งอ้างว่ามาจากคำ  “อีตะลอนย์” อีตะ แปลว่า พ่อ ลอนย์ แปลว่า ฉิบหาย ตามเรื่องเล่าเก่าแก่ว่า พม่าจับลูกเด็กเล็กแดงชาวมอญไปขังไว้ยังเกาะที่น้ำท่วมถึง เมื่อน้ำสูงขึ้นเด็ก ๆ ต่างร้องให้พ่อช่วย ยิ่งจวนตัวกลัวตาย จากเสียงร้องให้ช่วยก็กลายเป็น ตะโกน สบถ สาปแช่ง หรืออุทานด้วยความตกใจกลัว ทำนองว่า “ฉิบหายแล้วพ่อ หรือ พ่อฉิบหายแล้ว” พม่าเรียกคำว่า อิตะลอนย์ เป็น ตะไลงย์ และไม่น่าจะเป็นชื่อที่คนมอญเรียกตนเอง เป็นชื่อที่คนอื่นเรียก และเรียกในเชิงเหยียดหยาม เท่าที่อ่านพบประวัติศาสตร์มอญ ยังไม่พบว่ามอญเรียกตนเองว่า “ชาวตะเลง”



แผนที่โบราณ เขียนโดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายยังสุวรรณภูมิ ยังปรากฎ แผนที่ รามัญญเทส. (PEGU)