วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

หม้อน้ำมอญลายวิจิตร ถวายแด่พ่อหลวง
ศิลปวัฒนธรรม/เดลินิวส์


เทิดไท้...องค์ในหลวง ปั้นหม้อน้ำวิจิตรมอญโบราณ     ชุมชนปากเกร็ด ที่อยู่ของคนไทยเชื้อสายมอญที่ผู้คนรู้จักดี ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมอันมีชื่อเสียงจากตัวตนของชุมชนเอง สภาพบ้านเรือนไม้กระจุกตัวอยู่บนเกาะเกร็ด มีทางเดินเท้าเล็ก ๆ ให้ผู้คนเดินเที่ยวชม ชิมอาหารพื้นบ้านมอญโบราณ เยี่ยมชมวิถีชีวิตบางครอบครัวยังทำงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ที่ช่วยบอกเล่าความเป็นเกาะเกร็ดได้อย่างมีสีสัน สร้างความประทับอกประทับใจกับทุกคนที่ได้ไปเยือน
เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี เทศบาลนครปากเกร็ด ร่วมกับจังหวัดนนทบุรี ได้จัดงาน “ธ ครองราชย์ ๖๐ ปี ถนนดนตรี เทิดพระเกียรติ” ที่ภายในงานจัดให้มีการละเล่นดนตรี ดีด สี ตี เป่า เวทีการแสดงร่วมสมัย ชมการปั้นหม้อน้ำลายวิจิตร แบบมอญโบราณ และโชว์การจัดขนมไทยมงคล ๙ ชนิด ระหว่างวันที่ ๙-๑๑ มิ.ย. ๒๕๔๙ ณ ถนนภูมิเวท ห้าแยกปากเกร็ด จ.นนทบุรี หม้อน้ำลายวิจิตรแบบโบราณนี้เป็นไฮไลต์พิเศษของงาน
“ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน สำหรับการปั้นหม้อเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้” ไพฑูรย์ บุญถนอม ศิลปินชาวปากเกร็ด เอ่ยถึงระยะเวลาสำหรับงานพิเศษในครั้งนี้ ซึ่งหม้อน้ำเครื่องปั้นดินเผาลายวิจิตรจะเน้นรูปทรงที่เป็นแบบโบราณ ที่เคยพบเห็นในชุมชนเกาะเกร็ด อายุหลายร้อยปี หม้อน้ำส่วนใหญ่จะมีขนาดความสูง ๒๐ นิ้ว ความกว้าง ๑๒ นิ้ว คำนวณแล้วใส่น้ำได้ ๑ ปี๊บ
ช่างปั้นหม้อชาวปากเกร็ด เล่าถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของหม้อน้ำลายวิจิตรว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ลวดลายจะเน้นแบบดั้งเดิม ที่มีชื่อเรียกสืบต่อมา   อาทิ ลายพรรณพฤกษ์, หน้ายักษ์, ระย้า, รักร้อย เป็นต้น ซึ่งกระบวนที่ทำให้เกิดลวดลายเหล่านี้ใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ใช้หนามต้นทองหลางมาสลักเสลาให้เกิดลายดังว่า แล้วเซาะร่องนำดินใส่ลงไปเพื่อนำไปติดลายบนตัวหม้อน้ำ โดยกำหนดตำแหน่งของลายบนพื้นหม้อให้มีความกลมกลืนสวยงาม
“หนามไม้ทองหลาง มีคุณสมบัติคือเนื้อละเอียดเหมือนฟักทอง แกะลายง่าย น้ำหนักเบา เวลาใส่ดินลงไปดินไม่ติด เวลาที่จะนำลายไปติดลงบนหม้อ อายุของไม้ที่แกะลายแล้ว อยู่ได้เป็นร้อยปี เห็นจากของเก่าที่คนรุ่นเก่า ๆ ยังเก็บไว้ คนมอญโบราณเขาเก่งไม่รู้คิดได้ไงว่าต้องใช้หนามของไม้ทองหลาง”

บนตัวหม้อน้ำลายวิจิตรยังแกะสลักตราสัญลักษณ์ครองราชย์ ๖๐ ปี ประดับด้วย โดยหม้อน้ำจะแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือส่วนฐานที่จะเน้นขาเป็นขาสลักเป็นรูปสิงห์ ซึ่งถือเป็นงานพิเศษถ้าปกติเป็นหม้อน้ำที่ชาวบ้านทำกันจะเป็นขาบัวธรรมดา ส่วนตัวหม้อจะแบ่งส่วนที่เป็นลายและพื้น ส่วนด้านบนจะเป็นฝาปั้นเป็นฉัตร ๙ ชั้น เพื่อแสดงความเป็นมงคลสูงสุด หม้อที่บรรจงประดิดประดอยลายเรียบร้อยแล้วจะนำไปเผาที่อุณหภูมิ ๙๐๐ องศา เคล็ดลับสำคัญอีกประการหนึ่ง ทำให้เครื่องปั้นดินเผามีอายุการใช้งานยาวนาน นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีการนำขนม ไทย ๙ ชนิด ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ถ้วยฟู จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ ขนมอาลัว และลูกชุบ มาร่วมจัดนิทรรศการอย่างสวยงาม เพื่อเป็นมงคลสูงสุดให้ประชาชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ขนมไทยสืบไป รวมทั้งยังได้จัดทำ “ต้นไม้แห่งความตั้งใจถวายแด่พ่อหลวงของปวงไทย” เพื่อให้ประชาชนได้มาร่วมเขียนความตั้งใจที่อยากจะทำดีถวายแด่ในหลวง

อีกกิจกรรมดีที่คนไทยต่างที่ต่างถิ่นพร้อมใจถวายเพื่อเทิดไท้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.