วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญขวาง
องค์ บรรจุน

ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๘ ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวประเทศพม่า ความจริงนั้น ตั้งเป้าหมายปลายทางไว้ที่เมืองมอญ โดยเฉพาะตามหมู่บ้านมอญเป็นหลัก ต้องการไปค้นหาดูรากเหง้า ของความเป็นมอญ อยากไปดูให้เห็นกับตา ว่าทุกสิ่งอย่างในเมืองไทยที่เราเรียกกันว่า “มอญ” นั้น เมื่อมันยังคงอยู่ในบ้านในเมืองของเขาเอง สภาพหน้าตามันจะเป็นอย่างไร

จริงอยู่ ที่คนมอญเรือนแสนพากันอพยพหลบหนีมาเมืองไทย เมื่อหลายร้อยปีก่อน ทว่าที่ยังคงก้มหน้าก้มตาให้คนชาติอื่นข่มเหงปกครองอยู่ในบ้านเมืองตนเอง ก็ยังมีอีกคณานับ เมื่อเป็นดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมมอญ” ในเมืองพม่าจะยังคงมีหลงเหลืออยู่หรือไม่ ถ้ามีจะเหมือนหรือต่างกับ “วัฒนธรรมมอญ” ในเมืองไทยอย่างไร

เคยได้ยินมาเสมอ ที่คนไทยและคนมอญในเมืองไทย กล่าวกันว่า หากจะศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมอญแล้วต้องมาดูในเมืองไทย เพราะเมืองไทยเป็นแหล่งเก็บสะสมรวบรวมสิ่งเหล่านั้นเอาไว้อย่างครบถ้วนดีที่ สุด เมื่อตอนที่คนมอญอพยพหลบหนีพม่าเข้ามานั้น นอกจากหอบลูกจูงหลานแล้ว ยังหาบคอนเอาสมบัติพัสถานบรรดามีเข้ามาด้วย ทั้งที่บางอย่างไม่น่าจะนึกถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ก็ยังดันทุรังแบกหามกันเข้ามาอย่างฆ้องมอญ ปี่พาทย์ลาดตะโพน พระพุทธรูป ธรรมาสน์ ตู้พระไตรปิฎก คัมภีร์งาช้าง และคัมภีร์ใบลานจำนวนมากมายมหาศาล

เมื่อคนมอญและสมบัติพัสถานเหล่านั้นเข้ามาถึงเมืองไทยแล้ว ก็เป็นที่ต้องการ ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ในฐานะผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ยามศึกร่วมรบ ยามสงบร่วมผดุงวัฒนธรรม กระทั่งวัฒนธรรมของมอญเข้ามาผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตคนไทยอย่างแยกไม่ออก อีกเลือดเนื้อเชื้อไขมอญ ก็ได้ผสมผสานอยู่ในสังคมไทยจนเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน มีความเป็นมอญเข้มข้นมาตั้งแต่ต้นวงศ์จักรี ในราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน

แสดงให้เห็นว่า เมืองไทยเก็บรักษา และดูแลสมบัติวัฒนธรรมมอญไว้เป็นอย่างดี เปิดโอกาสให้แสดงออกทางวัฒนธรรมของตนเต็มที่ ไม่มีการรังเกียจเดียดฉันหรือบีบคั้นให้ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่อย่างใด วัฒนธรรมมอญจึงเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินไทย หลายคนเชื่อว่าเป็น “ของแท้” และปฏิเสธว่าวัฒนธรรมมอญในพม่าเป็น “ของผสม” ด้วยเห็นว่าพม่าบังคับกีดกันไม่ให้มอญในพม่าได้แสดงออกในศิลปะของตน อีกส่วนหนึ่งนั้น สูญหายไปเองด้วยไม่อาจรักษาไว้ได้ จากสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รัดตัว แก่นแท้นั้น ถูกพม่าเผาผลาญหรือปลอมแปลงไปเป็นของตนจนหมดสิ้น ที่เหลืออยู่ก็เป็นกระพี้เสียมาก ทำให้ “ของแท้” ในเมืองพม่านั้นเหลือน้อย

ในทางกลับกัน คนมอญ ในเมืองพม่าก็อ้างว่า “ของแท้” ในเมืองไทยนั้น แม้ไม่ได้ถูกกดขี่ และบีบคั้นให้ต้องปกปิดซ่อนเร้นตนเอง แต่ความที่เมืองไทยให้อิสระเสรีภาพนั่นแหละ ทำให้คนมอญที่คลุกคลีอยู่กับคนไทยนานวันเข้า เริ่มคุ้นเคยกับศิลปวัฒนธรรมไทย จนรับเอาศิลปะของไทยเข้าไปปะปนอยู่ในวัฒนธรรมมอญจนกลายเป็น “ของผสม” อย่างไม่รู้ตัว
การที่มอญไม่มีประเทศปกครองตนเอง ต้องฝากวัฒนธรรมของตนไว้ในมือคนอื่น ฉะนั้นจึงไม่สามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์

ทุกครั้งที่มอญสองเมืองมาเจอกันความโกลาหลก็เกิดขึ้น เสื้อผ้าอาภรณ์ ศัพท์สำเนียงเสียงภาษา ลีลาดนตรี  ตลอดจนท่วงท่ายักย้ายร่ายรำ และที่สำคัญความคิดที่ต่างกัน จากสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่ต่างกัน ทำให้ความคิดและทัศนคติของคนต่างกัน เมื่อต่างคนต่างที่ต่างเรื่องราวมาเจอกันมันก็ “ขวาง”

ที่เล่ามาข้างต้นนั้นเป็นมอญกับมอญ “ขวาง” กันเอง แต่เรื่อง “มอญขวาง” ใคร และใครจะ  “ขวางมอญ” นั้นต้องว่ากันอีกยาว

หมู่บ้านมอญในเมืองพม่าที่ผมได้ไปเยือนมานั้น มากมายไล่เรียงกันไม่หมด หลายหมู่บ้านชื่อคุ้นหูคนไทย เพราะมอญในเมืองไทยเอาชื่อหมู่บ้านเดิมของตน ในเมืองมอญ มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านของตนที่เมืองไทยด้วย เช่น บ้านเว่คะราว บ้านแซ่ บ้านเดิง บ้านเกาะปิ้น บ้านกะมาวัก บ้านเกลาะซ่อด บ้านปานญ์กะมา บ้านสะปุ บ้านปะงะ บ้านแหละแน่ง  บ้านฮะลา บ้านเมาะกะเนียง บ้านกะเลาะ บ้านเมาะคะราง บ้านฮะปลัง บ้านเกาะซ่าก บ้านแหละหม่าง บ้านเกริ่ก บ้านเกรนา และ บ้านถ่อมแมะซะ เป็นต้น
หมู่บ้านมอญเกือบทั้งหมดอยู่ริมน้ำ แต่หากต้องการระบุว่ามอญบ้านไหนที่ “ขวาง” ก็ต้องกล่าวว่าทุกหมู่บ้านล้วนเป็น “มอญขวาง” ทั้งนั้น

ในที่นี้จะขอเล่าเรื่องหมู่บ้านถ่อมแมะซะเอาไว้สู่กันอ่าน เพราะได้เดินสำรวจรอบหมู่บ้านมาอย่างละเอียด และบ้านถ่อมแมะซะนี้ยังมีสภาพที่เป็น “มอญขวาง” ชัดเจนมากหมู่บ้านหนึ่ง

บ้านถ่อมแมะซะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ขนาดใหญ่ อยู่ริมแม่น้ำซังโหล่น (Zami River) ในเมืองมะละแหม่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ฐานะค่อนข้างดี บ้านหลังใหญ่และเป็นบ้านเก่า ไม่ได้สร้างใหม่อย่างหมู่บ้านอื่นๆ หลายหลังเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนี่ยน สมัยอังกฤษเข้ามาปกครอง (พ.ศ.๒๓๖๗–๒๔๙๑) มีบ้านร้างหลังหนึ่งอยู่ข้างวัดริมแม่น้ำ เป็นบ้านเดี่ยวทรงปั้นหยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว เชิงชายเป็นไม้ฉลุลายขนมปังขิงเก่าแก่ สวยงามมาก คาดว่าอายุร่วมร้อยปี แต่สภาพฝาบ้านมีรอยปุปะและเสาบ้านซวนเซ ทำท่าจะล้ม และอาจถูกรื้อทิ้งไปในไม่ช้า หากเป็นจริงดังนั้น ก็นับว่าน่าเสียดาย

จากฐานะความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน ได้สะท้อนออกมาให้เห็นจากวัดประจำหมู่บ้าน วัดแห่งนี้พื้นที่กว้างขวาง ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ท่ามกลางกุฏิเสนาสนะสงฆ์หลายหลัง มีบ่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง พระพุทธรูปปางไสยาสน์ยาวร่วม 20 เมตร เจดีย์มอญทั้งเก่าและใหม่หลายองค์ เขื่อนริมน้ำก่อหินสอปูนอย่างดีกันน้ำเซาะตลิ่ง มีบันไดท่าน้ำกว้างขึ้นลงสะดวก สิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความมั่งคั่ง และความสามัคคีที่ศรัทธาทุ่มเท ให้กับวัดในพุทธศาสนาของชาวบ้าน เห็นบ้านมอญที่บ้านถ่อมแมะซะ ทำให้นึกถึงบ้านมอญที่เกาะเกร็ด พระประแดง และแถวสามโคกเมืองปทุมธานี ลักษณะการวางผังบ้านเรือนคล้ายๆกัน หมู่บ้านซึ่งอยู่ริมน้ำ มีทางเดินอยู่ตรงกลางยาวตลอดแนวบ้าน บ้านเรือนปลูกอยู่สองข้างทางขนานไปกับชายน้ำ หน้าบ้านปลูกต้นโมก ตัดแต่งทำเป็นรั้วสีเขียวร่มรื่น  รวมทั้งการปลูกบ้านขวางแม่น้ำ อันเป็นที่มาของ “มอญขวาง”

“มอญขวาง” เป็นคำที่คนไทยเรียก คนมอญไม่ได้เรียกตัวเองเช่นนี้ จะด้วยล้อเลียน หรือเรียกตามลักษณะเด่นของคนมอญที่คนไทยมองเห็นก็เกินจะเดา ภายหลังมีการนำคำว่า “มอญขวาง” มาตีความไปต่างๆกัน ล้วนเข้าข้างตนเองทั้งนั้น

“มอญขวาง” ในสายตาของคนไทย บ้างก็ว่าเป็นนิสัยของคนมอญที่มักไม่ลงรอยกัน ทั้งกับคนมอญด้วยกันเองและกับคนไทย จะทำอะไรสักอย่างก็ขัดกันอยู่นั่นเองไม่รู้แล้ว (ออกแนวสมน้ำหน้า-ถึงได้เสียบ้านเสียเมืองไงล่ะ) คนไทยอีกพวกหนึ่งตีความไปในแนวลามกอนาจาร ทำนองว่าอวัยวะเพศของผู้หญิงมอญนั้น “ขวาง” อันนี้คงเป็นเรื่องพูดกันสนุกปาก แซวกันเล่นมากกว่าจะเป็นจริงเป็นจัง เพราะเป็นเรื่องที่ผิดหลักกายวิภาคศาสตร์อย่างมาก หากเป็นจริงคงได้ออกงานวัด เก็บเงินกันเพลินไป

เรื่องผู้หญิงมอญขวางนี้ เป็นเรื่องเล่าหนาหูแถบเมืองปทุมธานี เคยเป็นคดีถึงโรงถึงศาลกันมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน เหตุจากสาวมอญสามโคกนางหนึ่ง หน้าตาสะสวยเกล้าผมมวยสวมซิ่นไปเดินนวยนาดอยู่ในตลาดสามโคก ไอ้หนุ่มไทยเห็นเข้าคันปากอยากจีบ แต่ทะเล่อทะล่าไปล้อเลียนของสงวนของเธอเข้า หาว่าอวัยวะในร่มผ้าของเธอนั้นขวางผิดมนุษย์ เธอเกิดฉุนขาดขึ้นมา เลยเปิดท้าพิสูจน์ให้ดูต่อหน้าธารกำนัล ผลก็คือหนุ่มไทยใจหายวาบไม่กล้ามอง แต่คนอื่นๆมองและเห็นว่าไม่ “ขวาง” ที่สุด สาวมอญนางนั้นก็ต้องขึ้นโรงพักเสียค่าปรับตามระเบียบ (ไม่ทราบว่าระเบียบคนนี้เป็นใคร แต่คงไม่ใช่สาวมอญ)

“มอญขวาง” ในสายตาผมก็ธรรมดา ล้อกันเล่นสนุกดี แต่มีคนมอญจำนวนหนึ่งคิดมาก พยายามตีความไปในทางดี บ้างก็ว่าคนมอญนั้นมีคุณต่อแผ่นดินไทย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินแผ่นดินกรุงธนบุรี จนมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมอญถูกพม่าตีแตกอพยพมาอยู่เมืองไทย ช่วยคนไทยรบกับพม่า ตั้งกองอาทมาตคอยสอดแนมข่าวศึก และสร้างเมืองรั้งด่านชายแดนระวังศึกทางชายแดนด้านตะวันตก เรียกว่า “รามัญ ๗ เมือง” คอยขวางทัพพม่าที่จะเข้าโจมตีไทย

เหตุผลข้างต้นเหล่านี้ดูดี แต่ผมไม่ปักใจเชื่อ “มอญขวาง” ที่ค่อนข้างมีเหตุมีผลนั้น กล่าวคือ คนมอญมีคติในการปลูกบ้านโดยหันเรือนให้ห้องที่มีเสาผี (เสาเอก) ของบ้านอยู่ด้านทิศตะวันออก ให้เป็นจุดแรกที่รับแสงยามอรุณรุ่ง เงาของคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน จะได้ไม่ทาบทับเข้ากับเสาผี ที่คนมอญเคารพสูงสุดรองจากพระพุทธเจ้า กรณีการหันเรือนให้ห้องที่มีเสาผีรับแสงตะวันก่อนห้องอื่นๆนั้น นอกจากเรื่องของผีแล้ว ยังสามารถอธิบายได้แบบวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ห้องที่มีเสาผีนั้นเป็นห้องเจ้าบ้าน ซึ่งก็คือห้องพ่อแม่อันเป็นประมุขของครอบครัว ควรที่จะได้รับแสงยามเช้าก่อนใคร เป็นแดดอ่อนที่มีวิตามินดีซึ่งมีคุณค่าต่อร่างกาย แต่อันที่จริง พ่อแม่คงไม่นอนกินบ้านกินเมืองจนแดดส่องก้นเป็นแน่ ประโยชน์ที่แท้จริงนั้นคือแสงแดดช่วยสาดส่องฆ่าเชื้อโรคภายในห้อง และในตอนเย็นห้องดังกล่าวก็จะเย็นก่อนใคร เพราะไม่ถูกแดดบ่ายซึ่งร้อนจัดแผดเผายาวนาน พ่อกับแม่จึงเข้านอนได้สบายๆ ส่วนลูกๆ ในวัยหนุ่มสาวร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว คงหาเวลานอนที่เหมาะสมได้เอง

ลงเป็นสิ่งที่ คนมอญ นับถือบูชาแล้วละก็เป็นต้องถึงขั้นถวายหัว แม้แต่เงาก็ไม่เหยียบย่ำลบหลู่ เมื่อเห็นพระสงฆ์เดินสวนทางมา จะต้องสังเกตเงาของพระว่าทอดไปทางใด แล้วรีบไปอยู่ยังฝั่งตรงกันข้าม ไม่เหยียบไปบนเงาของพระสงฆ์เด็ดขาด พร้อมกับทรุดนั่งลงพนมมือจนกว่าพระสงฆ์จะเดินผ่านหน้าไป

เรื่องของการปลูกสร้างบ้าน แสงเงา และสิ่งอันควรเคารพดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตคนมอญ นอกจากบ้านใหญ่ซึ่งเป็นบ้านพ่อแม่แล้ว เมื่อลูกหลานต้องการแยกเรือนออกไป ก็จะต้องไม่ปลูกเรือนขวางตะวันให้เงาบ้านลูกทาบทับบ้านพ่อแม่อีกด้วย หากไม่เช่นนั้นเชื่อกันว่าลูกหลานจะทำมาหากินไม่ขึ้น

ดังจะเห็นได้ว่า คนมอญนั้น นิยมปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมน้ำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เมื่ออพยพมาอยู่เมืองไทย ก็ยังคงสร้างบ้านเรือนริมน้ำ และหันเรือนให้ด้านที่มีห้องเสาผีนั้น ไปด้านทิศตะวันออก ประจวบเหมาะกับแม่น้ำเกือบทุกสายในเมืองมอญและเมืองไทย ก็ไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ทั้งสิ้น จากความคุ้นชินดังกล่าวในเมืองมอญ เมื่อมาอยู่เมืองไทยจึงกลายเป็น “มอญขวาง” ไปโดยไม่รู้ตัว