ข้าวอยู่ในความเชื่อและพิธีกรรม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/03/2009
ที่มา: 
มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.thairice.org

ข้าวอยู่ในความเชื่อและพิธีกรรม

สุกัญญา สุจฉายา จากหนังสือ : ข้าวในศิลปะและวัฒนธรรม (เอกสารเผยแพร่ลำดับที่ 1 ของมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2544)   

ความเชื่อชาวนาไทยภาคกลาง
ถ้าเรือข้าวบรรทุกข้าวจากท้องนามายังบ้านล่ม จะวิบัติ
ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ถ้ามีฟ้าร้องคำรามมากแสดงว่าปีนั้นน้ำจะดีมาก ต้องระวังอาจท่วมได้
ให้สังเกตดูคางคก ถ้าปีไหนคางคกผอมน้ำจะมาก ถ้าอ้วนน้ำจะน้อยให้สังเกตดูหญ้างวงช้าง ถ้าปีไหนน้ำมากจะชี้ตรง
ถ้างอเป็นรวงโก่ง น้ำจะน้อย
ให้สังเกตดูหญ้างวงช้าง ถ้าปีใหม่น้ำมากจะชี้ตรง ถ้างอเป็นรวงโก่ง น้ำจะน้อย

งานบุญขนมจีนที่วัดสว่างอารมณ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง สืบเนื่องมาจากเรือบรรทุกข้าวมาล่มที่หน้าวัด เจ้าอาวาสสมัยนั้นได้เกณฑ์ชาวบ้านให้ช่วยกันนำข้าวเปียกน้ำมาทำขนมจีน แจกจ่ายไปตามวัดต่าง ๆ เกิดเป็นประเพณี-ที่แสดงถึงความสามัคคีของชาวบ้านสืบมาจนปัจจุบัน

ความเชื่อชาวนาไทยอีสาน
วันอาทิตย์แรกนาดี วันจันทร์แรกหว่านดี วันอังคารทำขวัญข้าว วันพุธ วันเสาร์ถากลานดี วันพฤหัสดีเอาข้าวขึ้นเล้าขึ้น
ลานดี วันเสาร์ วันจันทร์ ตัดไม้เสาลานดี วันพุธแรกปลงข้าว นวดข้าวดี
เดือนหกให้หว่านกล้า เดือนห้าให้แต่งไถ ( ฮีตไฮ่คองนา )

ความเชื่อของชาวอ่ายตอน ( ไทใหญ่ในอัสสัม อินเดีย )
เวลาที่ลมพิษขึ้น ต้องเคี้ยวข้าวสารและเอามาทาตัว

ความเชื่อของชาวคำตี่ (ไทใหญ่) ในอินเดีย
จะใส่ข้าวสารที่ปากคนตายเพื่อให้เกิดไปมีข้าวกิน


พิธีทำบุญลานของชาวไทยอีสานและไทลาว

เมื่อเอาข้าวขึ้นลานแล้ว ก่อนที่จะฟาดหรือตีข้าวให้เม็ดข้าวหลุดออกมาจากรวง โบราณนิยมสู่ขวัญเรียกกันว่า " เอาบุญลาน " ก่อน โดยมี " คำขวัญข้าวขึ้นลาน " ว่า

โอกาสะ ๆ ถึงกาลฤดูเดือนห้า ฟ้าใหม่เดือนหก ฝนตกฟ้าร้องร่ำทุกค่ำเช้า ฝูงหมู่ชาวนาจึงพากันแสวงหา ขวานเข่นใหม่คมกล้า พร้าเข่นใหม่ดวงคมแบกเข้าดงหนาฟันไม้ เลยลวดได้ใบเผนียง ตักกกขาดสินปลาย ถากเปลือกเอาแก่น ปูนแม่นแล้วจึงแบกมา ถิ่มไว้เคหาใต้ล่าง ฝูงช่างจึงมาดู มาปูนฮูเข่าง้อน รากไถใหญ่ใบเผนียงหนา แล้วจึงแบกไปนาไฮ่แฮก มีทั้งแอกอันงอ พาดคอ ควายค้างไว้ มีทั้งเชือกไถนาค่าจ่อง ไถคล่องเพื่อควายแรง ดินแข็งเพื่อรากไม้ เลยลวดลายได้หลายวันแล้ว จึงขีดเป็นถันทั่วไร่ หว่านข้าวใส่นาตน พระบรมตกแต่ง เม็ดข้าวแบ่งกันไป ฝูงข้าทั้งหลายจึงมวนกันมาหลกออก เอาตอกมากิ้ว บิดลิ่วอิ้วปานใบเสีย เอามาชุมนุมกันเป็นหยุ่มดูมากล้นเหลือหลายแล้ว จึงหาบไปยายดำใส่ตมใส่พง ให้เกิดเป็นหลายต้นออกระเวระวาตามภาษาพื้นบ้าน เดือนสิบออกเพ็งแรม เดือนสิบเอ็ดสิบสองแกมล่วงแล้ว ข้าวในนาเลยออกรวงใหญ่ ลมพัดใบอยู่ชีชวดชีชา เด็กน้อยด่านกจิบนกจอกเขาบ่ให้มากิน เลยจวดได้หลายวัน ข้าวแก่ฟันใบเหี่ยว ฝูงข้าทังหลายจึงมาเกี่ยวตากเดียระดาษปูนเปียง ผายเฟียง ไปปูไว้ เลยลวดได้หลายวัน ข้าวแก่ฟันใบเหี่ยว คันหลาวมาสอดหาบไปรอดริมลาน ฝูงอาจารย์จึงมาตั้งก่อไว้ให้เป็นลอม พร้อมวันดี จึงเอาลงมาฟาดใส่กุ้ม อุ้มลุ้มท่อภูผา จึงเอาควายมาเหยียบย่ำ ขอดีจึงมาฟาด ทอนหนามกวาดหนีเสีย...

...วันนี้แม่นวันดี จึงไปเชิญเมธีและนักปราชญ์ ขึ้นนั่งอาสน์คูนขวัญ มาขวัญเอยต้นชันนั้นข้าวเจ้า แก่ฟ้าวนั่นข้าวดอ หอมสมพอข้าวอี่น้อย หอมค้อย ๆ ข้าวจอมนาง เม็ดบางข้าวอีกเตาะ เงะเงอะข้าวเขี้ยวงู ในปูนั้นลิ้นนก กกต่ำนั้นข้าวเปี้ย ถัดเลยนั้นข้าวขาว
รวงยาวนั้นข้าวเลือดแรด แซดแซดข้าวหมากริ่ง ปิงสิงข้าวกาบลายเม็ดผายข้าวหมากกอก ซอกแซกข้าวลอดเกวียน งามเสียนเลียนข้าวหมากแย่งเม็ดแบ่งข้าวขี้กาเม็ดหนาข้าวกาบอ้อย เม็ดน้อยข้าวหมากโพเม็ดใหญ่โตข้าวหางช้าง เม็ดข่วยขว้างข้าวป้องแซก เม็ดแดงข้าวเร้า รวงใหญ่ล้าวข้าวหมากเขือ เม็ดเจือข้าวด้ามพร้า แก่ช้าข้าวขี้ตม ใบสมพมข้าวหมากม่วย รวงซ้วยร้วยข้าวนางเก้า ข้าวทังหลายฝูงนี้ อย่าหลีกลี้นานวัน ให้พากันมาสามือนี้วันนี้...
จากตัวอย่างที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่าข้าวมีความสำคัญต่อวิถีชิวิตของคนไท นอกจากข้าวจะให้ชีวิตยังให้ความคิดที่น่าสนใจของชนแต่ละกลุ่มด้วย

 

รายการอ้างอิง
เจียแยนจอง. " วัฒนธรรมข้าวและการจัดระเบียบสังคม : ศึกษากรณีระบบไพร่ในอดีตของชนเผ่าภาษาตระกูลไท มณฑลกวางสีและกุ้ยโจว " เอกสารในการประชุมวิชาการเรื่อง " ชนชาติไทกับวัฒนธรรมข้าว " จัดโดยสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1-2 สิงหาคม 2539

อ่านเรื่อง "ข้าวในคติชนของคนไทย-ไท" ทั้งหมดในหน้ารวม link