วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/04/2009
ที่มา: 
บ้านทรงไทยดอทคอม www.bansongthai.com

เรือนไทยภาคกลาง


การตั้งหลักแหล่งชุมชนตลอดจนเรือนพักอาศัยในแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น จะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต

สำหรับเรือนไทยภาคกลาง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคกลาง เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านเป็นจำนวนมาก เรือนไทยภาคกลางจึงมีลักษณะเป็นเรือนชั้นเดียว ยกพื้นใต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องนอน ระเบียง และชาน ส่วนหลังคาเป็นทางจั่วสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา จาก แฝก หญ้าคา และใบตองตึง และนิยมปลูกกันริมแม่น้ำลำคลอง เพราะในสมัยโบราณแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก

 

  • เรือนไทยในอดีต

ในจดหมายเหตุของหมอแกมป์เฟอร์ ชาวเยอรมัน ซึ่งมากับเรือชาวฮอลันดา เมื่อ 2233 ได้กล่าวถึงเรือนไทยในสมัยอยุธยาไว้ว่า

บ้านคนธรรมดานั้นเป็นบ้านกระท่อม ปลูกด้วยไม้ไผ่ พื้นปูกระดานหลังคามุงจากหยาบๆ พวกขุนนางหรือเสนาบดีและข้าราชบริพารในราชสำนักจะปลูกบ้าน วัง หรือตำหนักอยู่ต่างหาก และบ้านซึ่งปลูกตามริมฝั่งแม่น้ำปลูกบนเสาสูงถึงฟาทอม (1 ฟาทอมเท่ากับ 6 ฟุต) เพื่อมิให้กระแสน้ำหนักน้ำท่วมถึง

และจากจดหมายเหตุของโยส เซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดา ที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็ได้กล่าวถึงเรือนไทยสมัยอยุธยาไว้ดังนี้

“บ้านของชาวสยามสร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ตามแบบของอินเดีย หลังคาบ้านนั้นใช้จากหรือกระเบื้องมุง เขามักยกพื้นให้สูงกว่าพื้นดินราว 3 หรือ 4 ฟุต บ้านหลังหนึ่งๆ มีประตูหนึ่งบาน หน้าต่างหลายบาน เครื่องแต่งบ้านนั้นมีน้อย มีเท่าที่จำเป็นสำหรับการหลับนอน บริโภคอาหารและการหุงต้มเท่านั้น คือ เสื่อ หมอน โตก ขัน และถ้วยชาม”

โดยสรุปเรือนไทยในสมัยอยุธยาคงเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง มักสร้างเป็น 3 คูหา ฝาทำเป็นกรอบใส่ลูกฟัก หรือที่เรียกว่า “ปะกน” คูหาหนึ่งมีหน้าต่างขนาดเล็กและแคบเปิดเข้าภายใน บนเดือยไม้ประตูก็สร้างวิธีเดียวกัน โดยตั้งอยู่บนพรึง และมีระเบียงสร้างขนานไปตามความยาวของตัวเรือน หลังคาสูงชัน และคลุมลงมาถึงส่วนที่เป็นระเบียง

หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา แผ่นไม้หรือจาก ติดปั้นลมบนหัวแปที่หน้าจั่วของหลังคา และมีชานติดต่อถึงครัวและห้องน้ำ ถ้าอยู่รวมกัน 2 ครัว ก็สร้างเรือนเพิ่มขึ้นอึกหลังหนึ่ง และมีอาคารอื่นๆ อีก เช่น หอกลาง ศาลาพักร้อนในสวน เป็นต้น

ส่วนบ้านของขุนนางผู้ใหญ่ ลาลูแบร์ บันทึกไว้ว่า เป็นเรือนหลังใหญ่ แต่ในเรือนหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะเจ้าบ้าน ภรรยาหลวงกับบุตรธิดาเท่านั้น ส่วนภรรยาน้อยคนอื่นๆ บุตรธิดาของตน และพวกทาสจะมีเรือนหลังเล็กๆ แยกกันอยู่ต่างหาก แต่อยู่ภายในวงล้อมรั้วไม้ไผ่ร่วมกับเรือนเจ้าของบ้าน แม้ว่าจะแยกกันเป็นหลายครัวก็ตาม

นอกจากนี้ ในหนังสือจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวงเดอชัวส์ กล่าวถึงเรือนรับรองแขกเมืองไว้ว่า

“พอเที่ยงวันก็ถึงเรือนหลังหนึ่งซึ่งเป็นเรือนหลังแรก เรือนที่สร้างเป็นแบบเดียวกันนี้มีอยู่ 7 หลัง ปลูกไว้เคียงกันสำหรับคณะทูตพัก ทำด้วยไม้ไผ่ทุกหลัง ห้องหนึ่งจัดเป็นห้องประชุม อีกห้องหนึ่งเป็นห้องสำหรับราชทูต ห้องที่ 3 สำหรับพวกในงบทูต

ส่วนข้าพเจ้านั้นพักอยู่ที่ห้องเล็กห้องหนึ่ง ซึ่งตกแต่งไว้ค่อนข้างจะสวยงามอยู่สักหน่อย สังฆราช เดอเมเตลโลโปลิส ไม่ชอบนอนเตียงทอง เขาไปเอาไม้กระดานเรือบัลลังก์มาสองสามแผ่น มาวางเรียงกันเข้าแล้วก็เลยนอนตากลมอยู่กลางหาวตลอดคืน ห้องหับทุกๆ ห้องตกแต่งไว้เหมือนๆ กัน มีเตียงจีน พรมเปอร์เซีย และฉากญี่ปุ่น..”

ด้านลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศล ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มาหาราช ก็ให้รายละเอียดของเรือนรับรองแขกเมืองไว้ว่า

“เรือนนั้นสร้างบนเสาปูฟากและลาดด้วยเสื่อกก ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นพื้นเรือนเท่านั้น ยังเป็นพื้นเฉลียงอีกด้วย ห้องโถงและห้องในนั้นแขวนผ้ามีดอกดวง เพดานใช้ผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลงพื้นเรือนในห้องนั้นลาดเสื่อกกสาน ลายละเอียดและเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้ลาดพื้นเฉลี่ยง และภายในห้องนอนเอกอัตรราชทูตพิเศษนั้นยังลาดพรมเจียมทับเสื่ออีกชั้นหนึ่ง ความสะอาดสะอ้านมีอยู่ในที่ทั่วไป

ส่วนชาวยุโรป ชาวจีน และแขกมัวร์ ที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่างสร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกตามแบบนิยมและศิลปะของชาติตน”

สรุปแล้ว บ้านเมืองไทยแต่เดิมอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้นาชนิด การสร้างบ้านจึงใช้ไม้ในการก่อสร้างเป็นส่วนมาก เรือนไทยในอดีตจึงนิยมทำปั้นลมแทนช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าจั่วก็มิได้จำหลักลวดลายเยี่ยงหน้าบัน ยกเว้นแต่โบสถ์วิหารการเปรียญเท่านั้น เป็นการทำถวายสงฆ์หรือถวายเป็นพุทธบูชา และการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนมักเป็นตำหนัก พระมหาปราสาท พระอุโบสถ และวิหาร

ย้อนกลับไปอ่านรวมบทความเรือนไทยภาคกลาง บทความน่ารู้จากเว็บไซต์ บ้านทรงไทยดอทคอม