วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/04/2009
ที่มา: 
บ้านทรงไทยดอทคอม www.bansongthai.com

1. ลักษณะเรือนไทยภาคกลาง

เรือนไทยภาคกลางที่เป็นเรือนหอของครอบครัวที่ก่อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วยเรือนนอนซึ่งมีห้องนอนและห้องโถงหนึ่งหลังเรือนมี 3 ช่วงเสา 2 ช่วงเสาเป็นห้องนอน อีก 1 ช่วงเสาเป็นห้องโถง มีไว้สำหรับเลี้ยงพระ รับแขก รับประทานอาหาร และพักผ่อน

เมื่อครอบครัวขยายตัว ลูกชายหรือลูกสาวโตขึ้นและมีครอบครัว โดยตกลงว่าจะอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว พ่อแม่จะปลูกเรือนให้อยู่อีกหลังหนึ่งต่างหาก อาจสร้างขึ้นตรงกันข้ามกับเรือนพ่อแม่ โดยมีชานเป็นตัวเชื่อม เกิดเป็นเรือนหมู่ขึ้น

เรือนหมู่ คือ เรือนปลูกอยู่ในที่เดียวกันมีหลายหลัง ในระยะต่อมาเมื่อมีความเจริญแล้ว อาจมีนอกชานแล่นกลางติดต่อกันได้ตลอดเรือนเหล่านี้หลังหนึ่งเป็นเรือนเดิม ซึ่งพ่อแม่อยู่ นอกนั้นเป็นเรือนหลังย่อมกว่า เป็นที่อยู่ของบุตรสาวที่ออกเรือนไปแล้ว

ส่วนจำนวนเรือนว่ามีกี่หลังนั้น ก็สุดแล้วแต่จำนวนบุตรสาวที่มีเรือนไปแล้ว โดยจะปลูกเรียงกันถัดจากเรือนเดิมออกมาทางด้านหน้าทั้งสองข้าง เรือนหลังเดิมเรียกว่า “หอกลาง” ส่วนเรือนนอกเรียกว่า “หอรี” เพราะปลูกไปตามยาว

ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า “หอขวาง” ตามปกติมักกั้นฝาทั้งสามด้าน เปิดโล่งไว้แต่ด้านหน้า สำหรับเป็นที่รับแขกเป็นทำนองเดียวกับเรือน “พะไล้” ถ้าเรือนหมู่นี้เป็นของคหบดี มักมีเรือนโถงปลูกขึ้นหลังหนึ่งที่ตรงกลางชาน สำหรับเอาไว้นั่งเล่นหรือใช้เป็นสถานที่เวลามีงาน เช่น สวดมนต์เลี้ยงพระ

สำหรับหอนั่งไม่จำเป็นต้องปลูกอยู่กลางชานเสมอไป จะใช้เรือนที่ยังไม่มีคนอยู่และเปิดเป็นห้องโถงใช้เป็นหอนั่งก็ได้ นอกจากนี้อาจมีเรือนหลังเล็กๆ สำหรับเลี้ยงนก ซึ่งปลูกไว้ตรงไหนก็ได้ตามความเหมาะสมเรือนแบบนี้เรียกว่า “หอนก” ส่วนด้านหลังของหอนั่งมักปลูกเป็นร้านต้นไม้ ส่วนใหญ่นิยมปลูกไม้เถาที่ดอกมีกลิ่นหอม

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเรือนไทยภาคกลางนิยมปลูกเป็น 3 ห้องนอน และไม่นิยมปลูกเรือน 4 ห้อง เพราะถือว่าเรือนอยู่สี่ห้องได้เดือนร้อนรำคาญ ถ้าเป็นคหบดีนิยมปลูกเรือนตามตะวันเป็นเรือนแฝด มีชานบ้านแล่นกลาง หลังหนึ่งเป็นเรือนพักอาศัย 3 ห้อง เป็นห้องนอน ห้องเก็บของ และห้องพระ

อีกหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นก็ทำแบบเดียวกันให้เป็นที่อยู่ของบิดามารดา หรือปู่ย่าตายาย กลางชานที่แล่นกลางเรือนนิยมสร้างเป็นเรือนโปร่ง บนนอกชานนั้นครึ่งหนึ่งเรียกกันว่า “หอนั่งหรือหอกลาง” ใช้เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อนยามเสร็จธุระการงานในยามเย็นหรือยามค่ำคืนก่อน จะเข้านอน

ส่วนเรือนครัวจะเชื่อมต่อกับเรือนนอนด้วยชาน ชายคาของเรือนทำรางไม้รองน้ำฝน ปลายรางมีตุ่มตั้งไว้ 1 ลูก เรือนครัวนี้มีหน้าต่างด้านข้างและด้านเหนือเตาไฟ เพื่อเปิดระบายควันไฟยามทำครัว มิให้ควันไฟจับรมควันจนดำ

ย้อนกลับไปอ่านรวมบทความเรือนไทยภาคกลาง บทความน่ารู้จากเว็บไซต์ บ้านทรงไทยดอทคอม