เรือนไทยภาคตะวันออก - เรือนท้องถิ่นในชนบท

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/05/2009
ที่มา: 
บ้านทรงไทยดอทคอม www.bansongthai.com

1.เรือนท้องถิ่นในชนบท

เรือนท้องถิ่นในชนบทของภาคตะวันออกนั้น ปรากฏเหลืออยู่ให้เห็นได้จากกลุ่มที่เป็นชุมชนเดิมของท้องถิ่น เรือนที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของเรือนไทยภาคกลางเช่นเดียวกับที่พบอยู่ใน ท้องถิ่นต่าง ๆ เรือนกลุ่มนี้มีข้อแตกต่างไปบ้าง ตามสภาพชุมชนและสิ่งแวดล้อม

เรือนเครื่องผูกที่ทำเป็นรูปแบบของเรือนไทย ที่พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ลักษณะทั่วไปของเรือน เป็นรูปแบบเช่นเดียวกับเรือนภาคกลาง ประเภทเรือนเครื่องสับ ลักษณะเด่นก็คือ เป็นเรือนที่ปลูกสร้างด้วยไม้จริง หรือที่เรียกกันว่า เรือนฝากระดาน หากแต่เรือนเหล่านี้อาจด้อยในเรื่องฝีมือที่วิจิตรประณีต ขนาดสัดส่วนของเรือนเป็นแบบที่ปรากฏในเรือนไทยทั่วไป คือเป็นเรือนที่มีขนาดความยาว 3 ห้อง หรือ 3 ช่วงแถว หลังคาทรงสูง มุ่งด้วยกระเบื้องริมเถา หรือจากประกอบปั้นลม หน้าจั่วมีทั้งที่เป็นจั่วภควัม จั่วใบปรือ ฝามีทั้งแบบฝาประกน ฝาสายบัว ฝาสำรวจ และฝาขัดแตะ ใต้ถุนสูง แต่ก็มีบางกลุ่มที่อยู่ถัดจากชายฝั่งทะเลเข้ามาเล็กน้อย กลุ่มนี้นิยมทำเป็นแบบใต้ถุนเตี้ย ยกระดับจากพื้นดินสูงขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคง ในยามที่มีลมแรง หรือมีพายุที่พัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการปรับรูปแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของทำเลที่ปลูกเรือน นั่นเอง

เรือนไทยฝาสำหรวด หลังคามุงจากแบบเดิม ที่ตำบลอ่างศิลา

รูปแบบของตัวเรือนไทยภาคกลาง ได้มีการปลูกสร้างสืบกันมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตามก็จะส่วนแตกต่างให้เห็นได้บ้าง เช่น ระบบการเปิดหน้าต่างแบบดั้งเดิมจะเปิดบานเข้าภายในตัวเรือนเป็นหน้าต่างแบบ มี อกเลา ส่วนที่สร้างในระยะหลังนั้นส่วนใหญ่บานหน้าต่างจะเปิดออกทางด้านนอก และเป็นแบบที่ไม่มี อกเลา ฝาเรือนก็มักจะค่อนข้างใหญ่ คือ มักจะเป็นฝาแบบเรียง เป็นเกล็ดซ้อนกันขึ้นไปตลอดแนวด้านข้าง และด้านสกัดของตัวเรือน รูปทรงก็มักจะเป็นแบบตั้งฉากขึ้นไปหมดทุกด้าน ต่างไปจากรูปแบบของเรือนรุ่นเก่า ซึ่งนิยมทำเป็นแบบทรงล้มสอบ ขึ้นไปทั้ง 4 ด้าน เรือนประเภทนี้ยังคงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ในกลุ่มที่เป็นชุมชนดั้งเดิม เช่น บางปลาสร้อย อ่างศิลา หนองมน พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เรือนรูปแบบดังกล่าวมีลักษณะพิเศษคือ มีการต่อชายคาทางด้านของตัวเรือนให้ยื่นยาวออกมา และมีการทำเสารับส่วนปลายของชายคา การที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนนี้สำหรับจอดเกวียน ทั้งนี้เนื่องจากเกวียนที่ใช้เป็นพาหนะในแถบภาคตะวันออกนี้มีขนาดสูงใหญ่ ไม่สามารถนำเข้าจอดเก็บไว้ใต้ถุนเรือนได้ดังเช่นเกวียนของภาคอื่น เรือนประเภทนี้ ส่วนหนึ่งจะพบมากในกลุ่มของชุมชนเดิมที่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และอาจกล่าวได้ว่าเรือนในลักษณะนี้ก็คือแบบหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ภาคตะวันออกได้

เรือนไทยพนัสนิคม มีลักษณะเฉพาะคือ จะต่อชายคายื่นยาวออกมาทางด้านขัาง เพื่อใช้เป็นที่จอดเก็บเกวียนลา

ปรากฏพบ ก็คงทำนองเดียวกับเรือนไทยในภาคกลาง คือ มีทั้งประเภทที่เป็นเรือนเดี่ยวและเรือนหมู่ โดยเรือนหมู่จะประกอบด้วยตัวเรือน 3 หลัง มีชานเชื่อมกลาง การวางตำแหน่งของตัวเรือนจะอยู่ในลักษณะของเรือน จะอยู่ในลักษณะแต่ละหลังที่เรียงล้อมรอบชานอยู่ 3 ด้าน ส่วนด้านหน้าจะทำเป็นบันไดทางขึ้นประกอบประตูรั้วชาน ซึ่งทำให้เกิดความเป็นสัดส่วนเฉพาะร่วมกันของเรือนดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม จะมีเรือนหลังหนึ่งที่อยู่ทางด้านข้างของชาน ต่อชายคายื่นยาวออกมา เพื่อใช้เป็นที่จองเก็บเกวียน อันเป็นลักษณะเฉพาะ เป็นข้อกำหนดความแตกต่างของเรือนท้องถิ่นภาคตะวันออกกับเรือนไทยภาคกลาง

อ้างอิงต้นฉบับ : http://www.bansongthai.com/content/view/86/31/1/4/

ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link เรือนไทยภาคตะวันออก ข้อมูลจากบ้านทรงไทยดอทคอม