เีรือนไทยภาคตะวันออก - เรือนชาวประมง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/05/2009
ที่มา: 
บ้านทรงไทยดอทคอม www.bansongthai.com

2. เรือนชาวประมง

อาณาบริเวณที่เป็นภาคตะวันออกส่วนหนึ่ง มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาวต่อเนื่องกันไปโดยตลอด ส่วนที่เรียกว่าฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ส่วนที่เป็นก้นอ่าวไทยคือ จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด จากการที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเลนี้เอง มีผลทำให้อาชีพของผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะเป็นอาชีพประมง จับสัตว์น้ำทั้งในบริเวณตั้งแต่ชายฝั่งและห่างไกลออกไปในทะเลลึก จากความจำเป็น และสภาพภูมิประเทศบังคับ จึงมีผลให้ผู้ซึ่งประกอบอาชีพประมง มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งถิ่นฐานในการประกอบอาชีพ อยู่ในบริเวณที่จะก่อให้เกิดความเหมาะสม และสะดวกในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ ดังนั้น เราจึงพบว่า หมู่บ้านของผู้ประกอบอาชีพประมง หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า ชาวประมง จึงเลือกทำเลในการตั้งถิ่นฐาน อยู่ในบริเวณที่ยังจะเกิดความสะดวก ต่อการประกอบอาชีพ คือบริเวณที่จะจอดพักเรือเพื่อการขนถ่ายสัมภาระ และผลิตผลต่างๆ ได้โดยสะดวก ซึ่งได้แก่ บริเวณที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล หรือบริเวณปากแม่น้ำ หรือคลองที่ต่อเนื่องกับทะเล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนถ่ายสัมภาระ ผลิตผลที่ได้ตลอดจนสามารถที่จะจอดพักเรือ หรือนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำในทะเลได้สะดวก

หมู่บ้านประมงที่บริเวณปากคลองต่อเนื่องกับทะเล จังหวัดจันทบุรี

กลุ่มเรือนพักอาศัยของชาวประมงนี้โดยทั่วไปแล้ว มีการกระจายตัวจากภายนอก คือ ทะเลเข้ามาสู่ส่วนภายใน คือ ชายฝั่งบางกลุ่มที่อยู่บริเวณแม่น้ำลำคลอง ก็จะกระจายตัวเข้ามาสู่ภายในบริเวณ 2 ฝั่งของลำน้ำ ซึ่งมีสภาพที่ต่อเนื่องกับทะเล และประการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สามารถใช้เป็นที่หลบ และกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี ในบางท้องถิ่นเราก็อาจจะพบหมู่บ้านประมงแทรกอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของป่า แสม ป่าโกงกาง และป่าจาก อย่างที่เราเรียกกันว่า ป่าชายเลน ที่มีน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยอีกด้วย เรือนพักอาศัยของกลุ่มชาวประมงนี้มีลักษณะและรูปแบบเป็นไปในทำนองเดียวกัน เกือบทุกท้องถิ่น


บ้านประมง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นบริเวณชุมชนเดิมที่เก่าแก่ที่สุด

บ้านประมงส่วนใหญ่โดยทั่วไป นิยมสร้างขึ้นในลักษณะที่เรียกว่า เรือนเครื่องผูก วัสดุส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ในการปลูกสร้าง มักจะเป็นวัสดุลำลอง ที่มีอายุความคงทนไม่นานนัก เช่น ไม้ไผ่ จาก ส่วนซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก เช่น เสา คาน รอด ก็นิยมใช้ไม้จริงที่มีความแข็งแรงทนทาน ส่วนพื้นก็อาจเป็นไม้กระดาน หรือฟาก ซึ่งเกิดจากการนำเอาลำไม้ไผ่มาผ่าซีก เลาะข้อออกให้หมด ไม่ให้มีสภาพที่เป็นปล้อง จากนั้นก็นำมาทุบข้อให้แตก จนแผ่เรียบเป็นแผ่น นำมาปูเรียงต่อกันเป็นส่วนของพื้นเรือน ส่วนฝาก็เช่นเดียวกัน อาจทำเป็นแบบฝาฟาก ฝาขัดแตะ หรือฝาสาน โครงสร้างส่วนหลังคามีทั้งเป็นไม้ผสมกับไม้ไผ่ และประเภทที่ใช้ไม้ไผ่ทั้งหมด มุงทับด้วยจาก และมักจะมีไม้รวกเรียงขัดทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันมิให้หลังคาจากปลิว และแนบแน่นอยู่กับโครงสร้างของส่วนหลังคา ทั้งนี้เนืองจากในบริเวณที่เป็นทะเลกว้างย่อมจะมีลมที่พัดแรงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูที่มีลมมรสุม และพายุพัดผ่าน เรือนพักอาศัยของชาวประมงนี้ส่วนที่ยื่นเป็นแนวยาวออกไปในทะเล หากเรามองดูในเวลาที่น้ำลง จะให้ความรู้สึกว่า มีความสูงโดเด่นเป็นอย่างมาก และเกะกะไปด้วยโครงสร้างต่างๆ ค่อนข้างมีทั้งไม้จริงและไม้ไผ่ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นสะพานยื่นไปในทะเล คือ บริเวณที่ใช้จอดพักเรือและยังมีเสาเป็นหลักผูกเรือ ป้องกันเรือไม่ให้กระทบกับส่วนโครงสร้างของสะพาน ในยามที่มีคลื่นลมแรง หมู่บ้านประมงโดยทั่วไปนั้น ในส่วนที่ทำเป็นสะพานทอดยาวยื่นออกไปในทะเล โดยมีเรือนประมงเรียงรายกันเป็นแถว ขนานกันไปทั้งสองข้างของตัวสะพาน จากกลุ่มชาวประมงที่ได้มีการตั้งถิ่นฐานกันสืบต่อมาเป็นเวลายาวนานมากๆ หลายชั่วคนนั้น มักจะพบว่าบรรดาเรือนที่อยู่ต่อเนื่องกับส่วนที่เป็นพื้นดิน และใกล้เคียงนั้น มักจะเป็นแบบ เรือนฝากระดาน ที่มีความมั่นคงแข็งแรง ตามแบบอย่างที่เรียกว่า เรือนเครื่องสับ ส่วนเรือนที่อยู่ลึกเข้าไปในทะเลมากๆนั้น มักจะเป็นเรือนที่ปลูกสร้างด้วยวัสดุลำลองอย่างที่เรียกว่า เรือนเครื่องผูก หมู่บ้านประมงที่อยู่ในรูปแบบดังกล่าวนี้จะมีการวางตัวเรียงรายกันอยู่ใน บริเวณชายทะเลที่มีสภาพเป็นอ่าวซึ่งสามารถป้องกันคลื่นลม ใช้เป็นที่จอดเรือกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี หมู่บ้านชาวประมงในลักษณะดังกล่าวนี้ บางแห่งได้มีการอยู่อาศัยสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วคน จนถึงขั้นมีการขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนเมืองไปเลยก็มี เช่น เมืองบางปลาสร้อยที่มีพัฒนาการจนเป็นตัวเมืองชลบุรี บางพระ หรือ บางพระเรือ ที่กลายมาเป็นบางพระ ชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งในท้องที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

หมู่บ้านประมงที่เกิดขึ้นใหม่เป็นการย้ายถิ่นฐานเป็นการชั่วคราว บริเวณก้นอ่าวเป็นเรือนพักอาศัยแบบลำลองที่เรียกว่า เรือนเครื่องผูก

นอกจากนี้ ในปัจจุบันเรายังได้พบว่า มีเรือนพักอาศัยประเภทชั่วคราว หากแต่ว่ามีความสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพประมงแผนใหม่ คือ ที่พักอาศัยที่เรียกว่า กระต๊อบเฝ้ากระชัง หรือ ขนำ มีลักษณะเป็นเรือนเครื่องผูกขนาดเล็ก มีพื้นที่พักอาศัยอยู่ได้เพียง 2-3 คน ตั้งอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่งออกไปไม่มากนัก แต่ก็จะต้องเป็นบริเวณที่มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นโดยตลอด เนื่องจากเป็นส่วนที่ใช้สำหรับทำกระชังเลี้ยงขังปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ปลากระพง ปลาการังหรือปลาเก๋า ปูม้า กระชังดังกล่าวจะต้องอยู่ในบริเวณที่ห่างจากฝั่งออกไป มีการปักไม้ไผ่ล้อมเป็นหลักอยู่โดยรอบและมีตาข่ายกั้นมิดชิดกันไม่ให้ปลาและ สัตว์น้ำเล็ดลอดออกไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปลูกสร้างกระต๊อบ หรือขนำดังกล่าวขึ้น เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้เฝ้าดูแลกระชัง เพื่อป้องกันความชำรุดเสียหายของกระชัง ตลอดจนป้องกันผู้ที่จะมาลักลอบจับสัตว์น้ำที่เลี้ยงขังไว้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างพื้นบ้าน ที่มีความสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพประมงอีกกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน

ขนำ หรือกระต๊อบเฝ้ากระชังเลี้ยงปลาด้านหลังเขาสามมุก จังหวัดชลบุรี

อ้างอิงต้นฉบับ : http://www.bansongthai.com/content/view/86/31/1/5/

ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link เรือนไทยภาคตะวันออก ข้อมูลจากบ้านทรงไทยดอทคอม