วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าลาหู่ : หมอพื้นบ้าน

หมอพื้นบ้านของลาหู่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จนสืบทอดต่อ ๆ กันมาถึงปัจจุบัน ในสมัยก่อนชาวลาหู่ใช้ชีวิตอยู่กับป่ามาแสนนาน และรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับป่า และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี รู้ว่าสุมนไพรไหนเป็นยารักษาได้ หรือรู้ว่าสิ่งไหนเป็นพิษต่อชีวิต แล้วไม่ควรที่จะใช้ในการรักษาโรคแล้ว ในการรักษาโรคต่าง ๆ นี้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย ชาวลาหู่เมื่อไม่สบายจะทำพิธีกรรม หรือหายาสมุนไพรมารักษากันเองในหมู่บ้าน

หมอพิธีกรรม
ขั้นตอนการป้องกันคือ ในวันสำคัญต่าง ๆ ทางประเพณี เช่น วันศีล รดน้ำดำหัวกัน และ "ข่อตำ" (เครื่องบูชา) เมื่อรู้สึกว่าจิตใจไม่สงบ สับสน กังวล ฝันไม่ดี ลาหู่ถือว่าอาจะทำให้เกิดโรคร้าย และวิญญาณผีตายโหง จะมาเข้าสิง หรือมารบกวนสมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะทำให้เกิดเจ็บไข้ จะทำ "ข้อตำ" คือ เครื่องบูชา ทำจากไม้ไผ่ไม้ดิบ นำเทียน น้ำ และเงินตามความศรัทธา ลาหู่เชื่อว่าสามารถปกป้องคุ้มครองโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดแก่สมาชิกในครอบครัว หรือในหมู่บ้านได้ โดยจะนำข่อตำไปไว้ในหอแหย่ คือสถานที่ประกอบพิธีกรรมของลาหู่คล้าย ๆ กับวัดหรือโบสถ์ ซึ่งอยู่บ้านโตโบ หรือ ผู้นำศาสนา โตโบ จะปกครองสมาชิกในหมู่บ้านให้ปกติสุขแล้ว เชื่อว่ายังสามารถ ปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่หมู่บ้านได้ด้วยพิธีกรรมนี้จะเป็นพิธีที่ป้องกันก่อนเกิดเหตุ เหมือนภาษิตที่ว่า ปลูกกระท่อมก่อนฝนตก ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ทั้งฝน ความร้อน และลม ขั้นตอนการรักษาความเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยหมอผีเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม

ความเจ็บป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ จะเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นทันที โดยไม่มีสาเหตุว่าเกิดจากอะไร จนกว่าหมอผีจะทำนายดูตอน ทำการรักษา การรักษาจะมี วิธีควบคู่กันกับการทำพิธี เช่น ขอขมาผี ขับไล่ผี หรือให้ผีช่วย ขึ้นอยู่กับความเจ็บป่วย แต่ละประเภทที่เกิดขึ้น หากผู้เจ็บป่วยปวดมาก จะใช้คาถาปัดเป่าก่อน หากอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะทำพิธีกรรม ต่อโดยเชื่อว่าเกิดการกระทำของพวกภูตผีปีศาจที่อาศัยอยู่ในป่า เช่น เวลาคนไปตัดไม้ หรือหาของป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผีจะทำให้มารบกวน และทำให้เกิดการเจ็บป่วย การรักษาจะใช้ไก่หรือหมูมาขอขมาต่อผีนั้น

หมอคาถา
ผู้รู้คาถาอาคม หมอคาถาหรือผู้รู้คาถาอาคม การรักษาโดยใช้คาถาเป็นส่วนใหญ่ วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละคน คาถาอาคมมีหลายอย่าง เช่น บางคนรู้คาถารักษากระดูก บางคนรู้คาถาห้ามเลือด บางคนรักษาไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแม้แต่คาถาเป่ากันผีร้ายก็มี

หมอยาสมุนไพร


เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ หมอแต่ละคนจะมีความสามารถในการรักษาโรคที่ไม่เหมือนกัน ทั้งกระบวนการ และวิธีการรักษาที่เป็นของเฉพาะตัว รวมทั้งการได้มาซึ่งความรู้เรื่องยา และวิธีการรักษาที่ต่างกัน เช่น โดยการเรียนรู้ได้ จากถ่ายทอดของครอบครัว คือ จากปู่-ย่า พ่อ-แม่ จากพ่อสู่ลูก สู่หลาน มีการบวนการถ่ายทอดโดยทางอ้อม เช่น เวลาไปเก็บสมุนไพร จะพาลูกหลานไปด้วย หมอยาจะอธิบายสรรพคุณของยาแต่ละชนิดให้ฟัง รวมทั้งสูตรยา และวิธีการผสมยา กับการเรียนรู้โดยการไปขอเรียนจากหมอยาที่เก่ง ๆ

หมอนวด
หมอยาด้านนี้มีความสามารถในการนวดที่ชำนาญในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่นการนวดรักษา เมื่อปวดตามร่างกาย การนวดรักษาโรคอาจ จะควบคู่ไปกับการเป่าคาถาการนวดด้วย

หมอตำแยเป็นผู้ชำนาญในการทำคลอด รู้พิธีกรรมในเรื่องการเกิด หมอตำแยส่วนใหญ่จะเป็นผู้รู้สมุนไพร หมอตำแยมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หมอตำแยจะเป็นผู้ที่จิตวิทยาในการปลอบใจ ให้กำลังใจ แก่ผู้หญิงที่กำลังคลอดลูก

การรักษาทางไสยศาตร์

คาถาอาคม นอกจากการรักษาควบคู่กันแล้ว ม ความเชื่อ พิธีกรรมแล้ว ยังใช้การ รักษาความเจ็บป่วยบาดแผลต่าง ๆ เช่น การห้ามเลือดจากมีดบาด หรือรักษาความเจ็บป่วยที่เกิด จากการชอกช้ำ เช่น การรักษาแขน ขาหัก ถูกงูกัด เป็นต้น โดยใช้การรักษาควบคู่กับการใช้สมุนไพร และคาถา

ชนิดยาสมุนไพรที่ใช้ในการรักษ


ยาสมุนไพรที่ใช้รักษามีด้วยกัน 2 อย่าง คือ
1. ยาสมุนไพรที่ได้จากพืชพันธุ์ชนิดต่าง ๆ เช่น ราก เปลือก ใบ ดอก ผล
2. ยาสมุนไพรที่ได้จากสัตว์ เช่น ดีหมี กระเสือ ตะขาบดอง
ตามหลักแล้วสมุนไพรทั้งสองอย่างนี้ใช้รักษาควบคู่กันถึงจะได้ผลมากที่สุด นอกจากนั้นก็จะรักษาทั่ว ๆ ไป

การบีบ นวด จับเส้น
หมอทางนี้มีความสามารถในการบีบ นวด จับเส้น ที่ชำนาญในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคปวดตามร่างกาย การนวดรักษาต่อกระดูกหัก การนวดรักษาข้อเคลื่อน ขาพลิกแพลงการนวดรักษา คนที่มีบุตรยากให้มีบุตร การนวดรักษาโรคอาจจะควบไปกับ การเป่าคาถา บางคนใช้ยาสมุนไพรควบคู่กับนวดด้วย

ปัจจุบันการดูแลรักษาสุขภาพหมอพื้นบ้านของลาหู่เปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นการรักษาได้ผลดี ทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย และปลอดภัย เนื่องจากขาดการสืบทอดทางพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ และการใช้ยาสมุนไพรของคนรุ่นใหม่ไม่มีการเรียนการสอน ทำใช้ยาสมุนไพร เริ่มขาดแคลนหายากมากขึ้น เพราะว่าความเจริญก้าวหน้าของในเมืองด้านสาธารณสุข และมีสถานพยาบาลเข้ามาสู่ในชุมชน ชุมชนจึงหันไป ใช้ยาจากโรงพยาบาล เลยไม่มีการสืบทอดต่อ ๆ การใช้ยาสมุนไพรจึงเริ่มขาดหายไปทีละนิดทีละหน่อย อีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนรุ่มใหม่คงจะไม่ได้เห็นยาสมุนไพรของชุมเผ่าตนเองแน่นอน


ข้อมูลจาก http://www.hilltribe.org/thai/lahu/lahu-traditional-medicine.php