วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าลีซู : อาชีพ

การทำไร่
ลีซูถือว่า การเกษตรนั้นเป็นอาชีพหลักของชนเผ่าลีซู เปรียบเสมือนกับหัวใจของลีซู ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับทำเล ที่จะเลือกสำหรับการทำไร่ค่อนข้างจะเลือกที่ดินดี เพื่อจะให้ได้ผลผลิตสูง จึงมีการเลือกหาทำเลที่ดี ๆ โดยดูจากแหล่งที่มีต้นไม้ขึ้นขนาดแน่น ดินดำร่วนอุ้มน้ำ อยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำลำธารมากนัก หากเลือกได้ก็จะเลือกสถานที่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากนัก เพื่อความสะดวกในการเดินทาง เมื่อพบสถานที่ที่ถูกใจแล้ว จะลงมือตัดต้นไม้และแผ้วไร่ แผ้วไร่เสร็จทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วเผา จากนั้นเก็บเศษที่เผาไม่หมด จากนั้น 2-3 วัน ก็ทำพิธีเซ่นไหว้บอกกล่าวของอนุญาตผีป่า ผีดอย ผีเจ้าที่เจ้าทาง ว่าขอให้ผลผลิตดี และปลูกอะไรก็ขอให้ได้ดีได้กิีน แล้วค่อยไปถางหญ้าถางเสร็จแล้วลงมือทำขุนดินให้ละเอียด จากนั้น เตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูก เมื่อฤดูฝนตอนพฤษภาคม พื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการปลูก ข้าว ข้าวโพด รองลงมาก็เป็นพืชผลอย่างอื่น เช่น มะเขื่อเทศ กระหล่ำ่ปลี พริก งา ขิง มันฝรั่งและถั่วชนิดต่าง ๆ

   
ฤดูการปลูกข้าว (จญามี)
ต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อฝนลงมาแรกเริ่มมีงานหนัก ๆ สองอย่างในไร่ที่รอฝนลงมา เมื่อฝนลงมาก็เตรียมการลงมือทำการปลูกข้าวและข้าวโพด ก่อนจะถึงเวลาปลูกข้าวเริ่มที่ต้องเตรียม คือ เสียมขนาดเล็กและเมล็ดพันธุ์ไว้ให้พร้อม โดยใช้วิธีการปลูกแบบหยอดหลุม ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายขุดหลุม โดยใช้ไม้ใผ่ลำยาวสวมปลายด้วยเสียมขนาดเล็กแทงลงไปในดินแล้วงัดขึ้นมาเบา ๆ เป็นหลุมเล็ก ๆ ส่วนฝ่ายหญิงจะเดินตามจะมีกระเป๋าย่ามใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวสะพายบ่าไปด้วย และจะหยอดเมล็ดพันธุ์ลงในหลุมประมาณ 3-5 เม็ด โดยไม่ปิดหลุมปล่อยให้ฝนตกลงมาเดินก็กลบของมันเอง จะปลูกกันเป็นคู่ ๆ มีการร้องเพลง และมีการกันพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน

กันยายนคือฤดูปลูกฝิ่น "ย่าพี๊"

ต้นเดือนสิงหาคมหลังจากเก็บฝักข้าวโพดในไร่เสร็จแล้ว พอช่วงเดือนกันยายนเป็นฤดูของการปลูกฝิ่น ฝิ่นนั้นจะปลูกหมุนเวียนกันในไร่ข้าวโพด ซึ่งพืชทั้งสองชนิดจะเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี เพราะซากของต้นข้าวโพดจะเป็นที่กำปังแดดให้กับต้นกล้าอ่อนของฝิ่นในระยะแรก ๆ แล้วยังผุพังทับถมลงไปในดินกลายเป็นปุ๋ยของต้นฝิ่นไปในตัว งานในไร่ฝิ่นเป็นงานหนักต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ต้องถอนต้นฝิ่นที่ขึ้นมาเบียดกันหนาแน่น ถอนออกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ ต้องหมั่นถอนวัชพืชและพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ ต้นฝิ่นจะได้สมบูรณ์และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เวลาออกดอกดอกฝิ่นจะได้งดงาม

ฤดูกรีดฝิ่น "ย่าพี๊"
หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ต้นเดือนธันวาคมเป็นฤดูกรีดฝิ่น ระยะนี้ดอกฝิ่นออกมาสวยงามซึ่งจะมีสีหลาย ๆ สี เช่น สีแดง สีขาว สีม่วงล้วน บานสะพรั่งเต็มไร่ โดยลงมือกันช่วงสาย ๆ ตอนแดดร้อน ๆ เพราะยางฝิ่นที่กรีดจะได้ออกมาเยอะ ๆ และแห้งเร็ว เริ่มกรีดกันที่ท้ายไร่ก่อน ใช้ใบมีดเล็ก ๆ ซึ่งปลายแหลมคม รูปร่างคล้ายเคียวเกี่ยวข้าว 3-5 ใบ ยึดติดกันจนแน่น กรีดเบา ๆ ลงบนกระเปาะผลฝิ่นจากด้านบนลงล่างตามแนว ต้องกรีดให้ลึกพอดี ถ้าหากกรีดลึกเกินไปยางฝิ่นจะไหลหยดลงพื้น ถ้าหากกรีดเบาเกินไปยางก็ไม่ซึมออก เวลากรีดฝิ่นนั้นต้องเป็นผู้ที่ชำนาญ และผู้ที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีเท่านั้น ยางฝิ่นที่กรีดออกมานั้นจะเป็นสีขาวขุ่นข้นคล้ายน้ำนม ซึ่งจะค่อย ๆ ซึมจับตัวอยู่บนกระเปาะฝิ่น ปล่อยทิ้งไว้คืนหนึ่ง ยางจะแห้งเหนียวกลายเป็นสีน้ำตาล วันต่อมาใช้มีดรูปครึ่งวงกลมค่อย ๆ ขูดยางฝิ่นบนกระเปาะแล้วรวบรวมห่อกระดาษเก็บไว้


ข้อมูลจาก http://www.hilltribe.org/thai/lisu/lisu-vocation.php