วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่า : อาชีพ

ตามตำนานของเผ่าอาข่าแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ผู้ชายจะเป็นคนเริ่มต้นทำก่อน จากนั้นก็ให้ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลรักษา เป็นการทำเกษตร ยังชีพ คือปลูกไว้กินเอง และที่เหลือก็ส่งขาย อาชีพหลักของอาข่าคือการปลูกพืชไร่ อาข่ามีการจัดเตรียมพื้นที่ทำไร่เพื่อการปลูกพืชต่างๆ โดยอยู่ไกลจากชุมชนไม่น้อยกว่า 3-5 กิโลเมตร จะไม่มีการใช้ที่ดินบริเวณป่าชุมชนเพื่อการเพาะปลูกพืชไร่ ทั้งนี้หากมีการปลูกพืชไร่ใกล้ชุมชน และมีสัตว์เลี้ยงเข้าไปทำลายก็จะไม่มีการชดใช้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นกฏของชุมชน และมีการเลือกทำเลสำหรับจะทำไร่ โดยใช้ความเชื่อของพิธีกรรมมาเป็นฐานในการปฏิบัติ ในพื้นที่ทำไร่ มีการเพาะปลูกพืชต่างๆ เช่นข้าว ข้าวโพด ถั่วประเภทต่างๆ และพืชผักเพื่อการบริโภค โดยมีการปลูกพืชต่างๆ เหล่านี้ในที่ดินของตนที่เตรียมไว้ โดยมีเทคนิคการปลูก คือผสมเมล็ดพืชผักต่างๆ คลุกเคล้า และปลูกพร้อมข้าวไร่ของตนเองในผืนเดียวกัน ซึ่งเป็นการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้อาข่ายังนิยมปลูก ผัก พริก ถั่ว ในบริเวณที่ใกล้แหล่งแม่น้ำ หรือบริเวณรั้วบ้านของตน ทั้งนี้เวลาต้องการผักสดเป็นการยากที่จะเดินไปเก็บที่ไร่ เพราะว่าไร่อยู่ไกล จึงเก็บที่รั้วบ้านของตนที่ปลูกเอาไว้ ส่วนเวลาไปไร่ตอนเย็นๆ ก็จะเก็บผักจากที่ไร่กลับมายังบ้านของตน ชายอาข่าส่วนมากจะทำไร่ด้วย และถ้าว่างๆ ก็จะไปล่าสัตว์ เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร ส่วนงานบ้าน ผู้หญิงจะเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น หุงข้าวปลาอาหาร และทำสวนเล็กๆ น้อยๆ อาชีพที่นิยมทำกัน ได้แก่

1. ทำไร่ข้าว ส่วนมากจะปลูกไว้กินเอง เพราะว่าชาวอาข่าจะอยู่รวมกันเป็นเครือญาติเป็นจำนวนมาก จึงต้องทำไร่เป็นเนื้อที่กว้างๆ เพื่อให้ทุกคนพอกิน
2. ทำไร่ข้าวโพด โดยทั่วไปชาวอาข่าจะปลูกเพื่อกินเอง และใช้ในการเลี้ยงสัตว์
3. ทำไร่ขิง ส่วนมากจะปลูกไว้ขาย และนอกจากนั้นยังนำมาทำเป็นยาสมุนไพร เพื่อนำมาใช้ในครัวเรือน พื้นที่ในการทำนาทำไร่ จะปลูกผัก และข้าวสลับกันไป โดยส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวมากกว่า และในพื้นที่ๆ หนึ่งจะปลูกผักหลายๆ อย่างรวมกัน
4. ล่าสัตว์ เป็นอาชีพของชาวอาข่าอีกแบบหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมทำกัน ยามว่างๆ จะพากันไปล่าสัตว์หลายคน และถ้าสัตว์ที่ล่าได้มีขนาดใหญ่ก็จะเอามาแบ่งกัน เช่น หมูป่า กวาง เสือ ฯลฯ โดยที่คนยิงจะได้ส่วนแบ่งเยอะกว่า แล้วตามด้วยเพื่อนฝูงที่ไปล่าด้วยกัน ส่วนคนที่อยู่ทางบ้านก็ใช่ว่าไม่ได้รับส่วนแบ่งเลย ก็ได้เหมือนกัน แต่อาจจะได้น้อย
5. เลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์ไว้ เพื่อบริโภค และต้องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ฉะนั้นชาวอาข่าจึงนิยมเลี้ยงสัตว์มาก สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ หมู ม้า วัว ควาย แพะ ไก่ สุนัข และต้องปลูกข้าวโพด เพื่อจะนำมาเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ให้เจริญเติบโต และสัตว์ที่นอกเหนือจากการทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือรับประทานแล้ว อาข่าก็จะเอาไว้ขาย หรือนำไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนต่างหมู่บ้าน ต่างท้องที่ หรือแลกเปลี่ยนกันภายในหมู่บ้านเอง
6. รับจ้างทั่วไป ในปัจจุบันชาวอาข่าขาดที่ทำกิน หรือที่ทำกินไม่พอเพียงกับจำนวนประชากรจึงทำให้หลายครอบครัวต้องหารายได้ โดยการเข้าไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง รับจ้างทั่วไป หรือรับจ้างทำงานให้กับกรมป่าไม้ เช่น ปลูกป่า เป็นต้น
7. หาของป่าขาย การหาของป่าถึงเป็นอาชีพรองลงมาจากการทำไร่ทำสวน หลังจากที่ทำไร่ทำสวนเสร็จแล้ว หรือยามที่ไม่มีงานทำชาวอาข่า ก็จะเดินเข้าไปในป่า ไปหาของป่าต่างๆ จากป่ามาขาย โดยมีพ่อค้าจากข้างนอกมารับซื้อไป บางส่วนก็เก็บเอาไว้กินเอง ของที่ชาวบ้านนิยมเก็บมาขายก็ได้แก่ หน่อไม้ต่างๆ เห็ด แด้ โก๋งสำหรับทำไม้กวาด ฯลฯ การหาของป่ามาขายถือเป็นอาชีพที่สำคัญมากกับชาวเขาที่อยู่บนดอยยอดสูงของ แต่ละอย่างจะมีเป็นช่วงๆ ชาวบ้านมักจะรู้ และเข้าใจว่าของแบบไหนมีมากในช่วงไหน

การโยก ย้ายตั้งถิ่นฐานใหม่ของชนเผ่า คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาขาดที่ทำกินจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งการตั้งถิ่นฐานจะเป็นการสร้างแบบชั่วคราว