ชนเผ่าอาข่า - ประเพณี พิธีบูชาศาลพระภูมิเจ้าที่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า-พิธีบูชาศาลพระภูมิเจ้าที่

ศาลพระภูมิเจ้าที่เป็นศาสนสถานที่สำคัญของชุมชนอ่าข่า เป็นที่กราบไหว้ บูชาของชุมชนอ่าข่า ศาลพระภูมิเจ้าที่จะมีการสร้าง ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี หลังจากปลูกสร้างประตูหมู่บ้านแล้ว และจะมีการบูชาทุกปี ปีละครั้ง หรือถ้าปีไหนมีโรคระบาดเยอะ หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมาเยือน ชุมชนบ่อยๆ ก็อาจประกอบพิธี 2 ครั้งใน 1 ปี ศาลพระภูมิเจ้าที่จะสร้างไว้ทางทิศเหนือของชุมชน ห่างจากชุมชนประมาณ 500 เมตร ทำเลในการ จะสร้างศาลพระภูมิเจ้าที่จะต้องอยู่สูงกว่าระดับการตั้งของชุมชน

สามารถมองเห็นชุมชนได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ตามความเชื่อของอ่าข่า เพื่อให้เจ้าที่สามารถดูแลและปกปักรักษา คนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง ศาลพระภูมิเจ้าที่ ตามความคิดของอ่าข่าให้ความหมายถึง เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา รวมทั้งเจ้าเมืองของทุกเผ่าพันธุ์ ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นใหญ่ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน อ่าข่าถือว่าเป็นผู้มีคุณให้ชีวิต อยู่รอดปลอดภัยดังนั้นศาลพระภูมิเจ้าที่ตามความเชื่อของอ่าข่านั้น เป็นแหล่งสิงสถิต ของดวงวิญญาณของเจ้าที่ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นผู้ช่วยคุ้มครองดูแลคนในชุมชน ให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข มีความสมบูรณ์ ในการประกอบอาชีพ ส่วนประวัติความเป็นมาของการบูชาในศาลพระภูมิเจ้าที่ของชาวอ่าข่า ไม่ระบุว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อว่ามีมานานแล้วมีมาพร้อมกับการก่อตั้งชุมชนอ่าข่า เพราะเป็นศาสนสถานที่อยู่ควบคู่กับชุมชนอ่าข่า ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

ในการประกอบพิธีกรรมที่ศาลพระภูมิเจ้าที่จะใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยก่อนที่จะมีการทำพิธี หัวหน้าครัวเรือน ทุกครัวเรือนจะต้องไปรวมตัวกันที่บ้าน ของผู้นำศาสนามีการเตรียมเครื่องหรืออุปกรณ์ในการเซ่นไหว้ต่างๆให้พร้อม จากนั้นก็จะเดินทางไปบริเวณที่ก่อตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่

ในการประกอบพิธีกรรมในศาลพระภูมิเจ้าที่ ผู้หญิงหรือ แม่บ้านจะไม่เข้าร่วม เพราะว่าตามประเพณีของอ่าข่าผู้หญิง จะไม่ขึ้นในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากผู้หญิงที่ได้ผ่านการยกตำแหน่งเทียบเท่าผู้ชายแล้วเท่านั้น จึงสามารถที่จะประกอบพิธีได้ แต่เด็กตัวเล็กๆ สามารถไปร่วมรับประทานอาหารได้ เมื่อไปถึงบริเวณศาล ทุกคนก็จะช่วยกัน ทำความสะอาดบริเวณศาล แล้วเลือกต้นไม้ต้นหนึ่งที่ไม่โต หรือไม่เล็กเกินไป เพื่อจะทำเป็นที่บูชา เมื่อเลือกต้นไม้ได้แล้ว ก็จะมีการแบ่งงานกัน มีกลุ่มที่ต้องไปตัดไม้ไผ่ เพื่อจะนำมาตบแต่งบริเวณศาล โดยทำเป็นเครื่องประดับ อ่าข่าเรียกว่า “หน่าชิหน่าจะ” และมี ตาแหลว “ด๊าแล้” ทุก คนก็จะช่วยกันสร้างศาลขึ้นมา เมื่อสร้างศาลเสร็จ ก็จะมีการบูชาเซ่นไหว้ ขอพรเจ้าที่เจ้าป่า ให้ดูแลพื้นที่ทำกิน ให้ได้ผลผลิตที่งอกงาม ปลอดแมลงต่างๆ ที่จะมารบกวนในพื้นที่ทำกิน หลังจากทำพิธีและขอพรเสร็จ ทุกคนก็จะร่วมรับประทานอาหาร ในบริเวณศาล หลังจากรับประทานอาหารแล้วก็จะช่วยกันทำความสะอาด แล้วทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรม    

หมายเหตุ - ตา แหลว "ด๊าแล้" คือเครื่องหมายที่อ่าข่าทำขึ้นมาจากไม้ไผ่ โดยนำไม้ไผ่มาผ่าบางๆ แล้วสานถี่ๆ ติดกันหลายรอบแล้วนำไปติดตามต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์ว่า "ห้าม” ฉะนั้น เวลาเราเดินทางไปหมู่บ้านอ่าข่า หากเห็นตาแหลวผูกติดอยู่บริเวณใดก็ตาม ห้ามไปจับต้อง หรือทำการใดๆ ทั้งสิ้นเพราะเป็นความเชื่อที่ชาวอ่าข่าสืบทอดกันมานาน