วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า : ประเพณีโล้ชิงช้า

ประเพณีโล้ชิงช้า หรืออ่าข่าเรียกว่า "แย้ขู่อ่าเผ่ว" ซึ่งจะมีการจัดขึ้นทุกๆ ปี ประมาณปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายนซึ่งจะตรงกับ ช่วงที่ผลผลิต กำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อ่าข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอสำหรับการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอ่าข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอ่าข่า ถือเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของอ่าข่าอีกมากมาย ประวัติความเป็นมาของประเพณีโล้ชิงช้า

ประเพณีโล้ชิงช้ามีต้นกำเนิดในดินแดนที่มีชื่อว่า “จาแดล้อง” คือพื้นที่ประเทศจีนในปัจจุบัน โดยดินแดนแห่งนี้มีผู้นำอ่าข่า ที่ชื่อ “ข๊ะบา อ่าเผ่ว หม่อโล๊ะโล๊ะซื่อ" และ "ค๊อบาอ่าเผ่วเอวค๊อ ค๊อคอง” เป็นผู้นำที่ชาวอ่าข่าให้การเคารพนับถือ โดยกล่าวว่า ดินแดนจาแด จะทำการจัดประเพณีโล้ชิงช้า 33 วันเมื่อเป็นเช่นนี้สมาชิกคนในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งคนจน และคนรวย ทุกคนต้องเตรียมเสบียงอาหารไว้เยอะๆ เพื่อเอาไว้ฉลองกันในวันประเพณี นี่คือการบอกเล่าถึงที่มาของ ประเพณีโล้ชิงช้า ประเพณีโล้ชิงช้าถือเป็นประเพณีทีให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฉะนั้นผู้หญิงอ่าข่ามีการแต่งกาย ด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามที่ได้เตรียมไว้ตลอดทั้งปีมาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ สำหรับหญิงสาวอ่าข่าจะแต่งกายเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลงทั้งลักษณะเดี่ยว และคู่ประเพณีโล้ชิงช้า จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองพืชพันธุ์ที่จะได้เก็บเกี่ยวไว้บริโภค เนื่องจากพืชไร่ พืชสวนต่างๆ ที่ปลูกลงไป พร้อมที่จะได้ผลผลิต โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ” หมายถึง ประเพณีโล้ชิงช้า มีอาหาร หลากหลาย และสมบูรณ์มากมาย หากประเพณีนี้ไม่มี ประเพณีอื่น หรือพิธีอื่นก็จะไม่มี

และหลังจากที่จัดงานประเพณีโล้ชิงช้าเสร็จแล้ว ชุมชนอ่าข่าก็จะไม่มีการตัดไม้ดิบเข้ามาในชุมชนอีก ไม้ดิบในที่นี้คือไม้ยืนต้น หรือไม้ทุกชนิดที่ยังไม่ได้ถูกตัด ยกเว้นกรณีที่มีคนตายแล้วเท่านั้น จึงถือว่าเป็นวันเข้าพรรษาของชาวอ่าข่าอีกเช่นกัน ในการจัดประเพณีโล้ชิงช้าแต่ละปีของอ่าข่า จะต้องมีฝนตกลงมา ถ้าปีไหนเกิดฝนไม่ตก อ่าข่าถือว่าไม่ดี ผลผลิตที่ออกมาจะไม่งอกงาม ประเพณีโล้ชิงช้า มีระยะเวลาในการจัดรวม 4 วันด้วยกัน โดยแต่ละวันมีกำหนดการดังนี้

วันที่ 1" จ่าแบ"
วันเริ่มแรกของพิธีกรรมเรียกว่า “จ่าแบ” ผู้หญิงอ่าข่าอาจเป็นแม่บ้านของครัวเรือน หรือถ้าแม่บ้าน ไม่อยู่อาจเป็นลูกสาวไปแทนก็ได้ ก็จะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตัดน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อ่าข่าเรียกว่า "อี๊จุอี๊ซ้อ" การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว แต่อ่าข่าไม่นิยมให้ผู้ชายไปตักน้ำ เพราะถือว่า เป็นงานของผู้หญิง และในวันนี้ก็มีการตำข้าวปุ๊ก “ห่อถ่อง” ข้าวปุ๊ก หรือห่อถ่อง คือข้าวที่ได้จากการตำอย่าง ละเอียดโดยก่อน ที่จะตำก็จะนำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) แช่ไว้ประมาณ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็นำมานึ่ง หลังจากนึ่งเสร็จ หรือได้ที่แล้วก็จะมีการโปรยด้วยน้ำอีกรอบหนึ่ง แล้วก็นึ่งต่อระหว่างที่รอข้าวสุก ก็จะมีการ ตำงาดำผสมเกลือไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือเวลานำมาปั้นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำพิธีเช่นกัน

วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า
เป็นวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านของ “โจว่มา” ผู้นำศาสนา เพื่อจะปรึกษา และแบ่งงานในการจะปลูกสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชน หรืออ่าข่า เรียกว่า “หล่าเฉ่อ” ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์ก็จะไม่ฆ่า หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดย โจว่มา ผู้นำศาสนา จะเป็นผู้เปิดโล้ก่อน จากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้ หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ต้องมาสร้างชิงช้าเล็กไว้ ที่หน้าบ้าน ของตนเองอีกเพื่อให้ลูกหลานของตนเล่น ทุกครัวเรือนจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี  

วันที่ 3 “วัน ล้อดา อ่าเผ่ว”
วันนี้ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือนมีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสก็จะมี การอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า

วันที่ 4 “จ่าส่า”
วันสุดท้ายของพิธีกรรม “จ่าส่า” สำหรับในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้า เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะได้โล้ในปีนี้ แต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น ผู้นำศาสนาก็จะทำการเก็บ เชือกของชิงช้า โดยการมามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลัง อาหารค่ำก็จะทำการเก็บ เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ เข้าไว้ที่เดิม หลังจากที่เก็บเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แล้วถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณีโล้ชิงช้า