วิวัฒนาการของกฎหมาย 3 ยุค (ทฤษฎีกฎหมายสามยุคของสำนักนิติ ธรรมศาสตร์)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2008
ที่มา: 
ท่านอาจารย์สมยศ เชื้อไทย www.dtl-law.com

วิวัฒนาการของกฎหมาย 3 ยุค (ทฤษฎีกฎหมายสามยุคของสำนักนิติ ธรรมศาสตร์)
        จากการวิเคราะห์และตรึกตรองในประวัติความเป็นมาของสถาบันกฎหมายที่มีในโลกปัจจุบันจะเห็นได้ว่า กว่าที่มนุษย์จะสามารถพัฒนามาจนถึงมีระบบกฎหมายดังที่ปรากฏในปัจจุบันได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางความคิดทางรูปแบบและโครงสร้างของกฎหมายมาหลายยุคหลายสมัยจากการวิเคราะห์ในแง่นิติศาสตร์ และในแง่ประวัติศาสตร์กฎหมายแล้วเราพอสรุปอย่างคร่าว ๆ ว่ากฎหมายได้ปรากฏตัวขึ้นในเวทีประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็น 3 รูปแบบคือ

        1.กฎหมายชาวบ้าน (Volksrecht)

        2.กฎหมายนักกฎหมาย (Juristenrecht)

        3.กฎหมายเทคนิค (Technical Law)

        กฎหมาย 3 รูปแบบนี้หากเราสำรวจการอุบัติขึ้นของแต่ละรูปแบบแล้วเราก็อาจกล่าวอย่างสรุปรวบรัดได้ว่า กฎหมายชาวบ้านอุบัติขึ้นก่อน ตามมาด้วยกฎหมายนักกฎหมาย และกฎหมายเทคนิค เป็นรูปแบบสุดท้าย ในแง่นี้เราอาจกล่าวถึงวิวัฒนาการของกฎหมาย 3 ยุค ได้ดังต่อไปนี้

        1. กฎหมายชาวบ้าน (Volksrecht) กฎหมายในยุคนี้ปรากฏออกมาในรูปแบบของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ซึ่งมีองค์ประกอบสองประการคือ องค์ประกอบภายนอก คือต้องประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลานมนาน ส่วนองค์ประกอบภายใน ได้แก่สิ่งที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนั้นได้รับการยอมรับกันในชุมชนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (opunio juris) ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้นก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือนัยหนึ่งรู้สึกว่าจำเป็นต้องปฏิบัติเช่นนั้น (opinion necessitates) กฎหมายในยุคนี้จึงเรื่มจากกฎเกณฑ์ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีง่าย ๆ ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปเป็นกฎหมายที่ตกทอดกันมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กฎหมายที่ดีของบรรพบุรุษ” ในยุคนี้มนุษย์ยังไม่สามารถแยกว่าศีลธรรมขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี กับกฎหมายว่าต่างกันอย่างไรจึงเรียกว่า “กฎหมายชาวบ้าน (Volksrecht)” เพราะเป็นสิ่งที่รู้กันโดยชาวบ้านสามัญทั่วไป ใช้เหตุผลธรรมดาสามัญก็สามารถเข้าใจได้ ในยุคนี้ยังไม่มีนักกฎหมายที่เป็นวิชาชีพเอกเทศแยกจากประชาชนโดยทั่วไป ในสมัยต่อมาจึงค่อย ๆ วิวัฒนาการเป็นระบบกฎหมายที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ตัวอย่างของหลักกฎหมายในยุคนี้ เช่น การห้ามฆ่าคน ห้ามลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น

        2. ยุคกฎหมายนักกฎหมาย (Juristenrecht) หรือหลักกฎหมายเป็นยุคที่กฎหมายเจริญขึ้นต่อจากยุคแรก ยุคแรกคนยังไม่สามารถแยกกฎหมายออกจากศีลธรรม แต่พอมาถึงยุคที่ 2 นี้ คนจะเริ่มมองเห็นว่ากฎหมายเป็นกฎเกณฑ์อีกแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างจากศีลธรรมและจารีตประเพณี โดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่สำคัญ ถ้าไปล่วงเกินเขาหากผู้ที่ถูกล่วงเกินไม่ยอมอยู่เฉยๆ ต่อมามีคนทำล่วงละเมิดกฎหมายที่สำคัญเหล่านี้มากขึ้นคนในชุมชนอาจไม่พอใจอย่างแรงต่อการกระทำนั้น เพราะรู้สึกว่าเป็นการกระทำสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นความผิดจึงรวมหัวกันเข้าเพื่อกำราบผู้กระทำความผิดนี้ ไม่ใช่การแก้แค้นส่วนตัว แต่เป็นความรู้สึกร่วมกันของคนในกลุ่ม ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งชั่วร้าย และรวมหัวกันไปปราบปรามผู้กระทำผิด การกระทำดังกล่าวค่อยๆ พัฒนากลายเป็นกระบวนการยุติธรรมขึ้นมา การที่คนในชุมชนรู้สึกแค้นเคืองต่อการกระทำชั่วหรือความผิดที่เกิดขึ้นแล้วรวมตัวกันไปทำร้ายต่อผู้กระทำผิดเพื่อตอบสนองต่อความผิดเช่นนี้นับว่าเป็นการลงโทษในนามของชุมชนส่วนรวม กระบวนการบังคับตามกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” นั่นเอง

        กระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการรักษาความเป็นธรรมมีอยู่ 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกเป็นขั้นตอนการพิจารณาและชี้ขาดว่า ใครผิดใครถูก ขั้นตอนนี้เรียกว่า '“กระบวนการพิจารณาคดี” และเมื่อชี้ขาดว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิดแล้วต่อมาเป็นขั้นตอนที่สองคือ การลงโทษผู้กระทำผิด ขั้นตอนนี้เรียกว่า “กระบวนการบังคับคดี” เมื่อกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอในชุมชนนั้นจะมีอำนาจอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ “อำนาจตุลาการ”

        จากการที่ชุมชนหนึ่งมีกระบวนการพิจารณาและบังคับคดีชุมชนนั้นก็จะเริ่ม “การปกครอง” ที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนทำให้ชุมชนกลายเป็นชุมชนที่เจริญ เพราะมีการแบ่งงานในชุมชนนั้น เราจะเห็นว่าการปกครองเกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจนในชุมชนใดก็ต่อเมื่อชุมชนนั้นมีกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ กล่าวคือ มีกระบวนการชี้ขาดและบังคับคดีนี้เป็นประจำติดต่อกันเป็นเวลานานจนทำให้มีกฎเกณฑ์เกิดขึ้นใหม่ เป็นการเสริมกฎเกณฑ์เก่าที่มีอยู่ในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อเติมแต่งให้มีรายละเอียด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดในคดีที่สลับซับซ้อน เมื่อตัดสินคดีไปหลายคดี ข้อที่เคยปฏิบัติในการพิจารณาคดีก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้เราเรียกว่า “กฎหมายนักกฎหมาย (Juristenrecht)”

        กฎหมายนักกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมจากกฎเกณฑ์ที่เป็นขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีดั้งเดิม ต้องใช้เหตุผลละเอียดลึกซึ้งในการวินิจฉัยชี้ขาด ถ้าหากในการชี้ขาดไม่ใช้เหตุผลเป็นเครื่องวินิจฉัยแล้ว คำชี้ขาดที่ติดต่อตามหลังกันมาก็จะหาเหตุผลที่สม่ำเสมอไม่ได้ คนธรรมดาก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจคำชี้ขาดเหล่านั้น แต่มีการชี้ขาดคดีความโดยค้นหาเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะเจาะเหมาะสมและเป็นธรรมในคดีแต่ละคดี กฎเกณฑ์จึงจะค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นกฎหมายได้ ลักษณะการใช้เหตุผลโดยการตัดสินคดีดังกล่าวเรียกว่า “เหตุผลปรุงแต่งทางนักกฎหมาย (Artificial Juristic Reason)” ซึ่งทำให้เกิดหลักกฎหมายหรือกฎหมายนักกฎหมายในที่สุด

        กฎเกณฑ์ที่เกิดจากการคิดไตร่ตรองค้นหาเหตุผลในแต่ละเรื่องของนักกฎหมาย เป็นเหตุผลที่ปรุงแต่งขึ้นโดยนักกฎหมาย ซึ่งเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากกฎเกณฑ์ดั้งเดิมที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี การวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยการใช้เหตุผลเช่นนี้เมื่อทำติดต่อกันเป็นเวลานาน วิธีคิดหาเหตุผลแบบนิติศาสตร์จึงค่อยๆ พัฒนาก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จะเห็นได้ว่าในสองยุคที่กล่าวมานั้นกฎหมายและจารีตประเพณีค่อยๆ พัฒนาจนแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ ในที่สุดจึงเกิดมีวิชานิติศาสตร์ขึ้น

        การใช้เหตุผลแบบธรรมดาสามัญในยุคกฎหมายชาวบ้าน (Volksrecht) กับการใช้เหตุผลปรุงแต่งแบบนักกฎหมายในยุคกฎหมายนักกฎหมาย (Juristenrecht) แตกต่างกันอย่างไรเห็นได้จากคดีตัวอย่างต่อไปนี้

        คดีที่ 1 ในสมัยโบราณในขณะที่มนุษย์ยังมีชีวิตแบบคนป่าอยู่ คนป่านาย ก. ไปล่ากวางได้ตัวหนึ่ง หามกวางกลับบ้าน คนป่าอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ทำอะไรเลยเห็นเข้าอยากได้กวางจึงเข้าไปแย่งเอากวางตัวนั้น คนสองคนก็คงจะต่อสู้กัน ถ้าในป่าไม่มีชุมชน ไม่มีสังคม ใครมีกำลังมากกว่าก็ชนะก็เอากวางไป นี่คือกฎของป่า (Low of the jungle) ถือว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ใครมีกำลังแย่งเอาก็เอาไป แต่ในชุมชนมนุษย์ที่อยู่อย่างสงบย่อมจะต้องมีความรู้สึกร่วมกันว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วถ้านาย ก. และ ข. อยู่เผ่าเดียวกันเขาจะมีหัวหน้าเผ่า ผู้เฒ่าผู้แก่จะเรียกคนสองคนมากล่าวกันว่าใครผิดใครถูก เราจะบอกได้ไหมว่าใครผิดใครถูก โดยไม่ต้องไปคำนึงว่าได้ร่ำเรียนกฎหมายเรื่องทรัพย์มาหรือไม่ กล่าวโดยทั่วไปทุกคนย่อมตอบได้ว่านาย ก. ควรจะได้กวาง ส่วนนาย ข. ไปแย่งเขาเป็นฝ่ายผิด ความคิดเช่นนี้ไม่ต้องเรียนกฎหมายก็รู้ได้เอง เพราะสามัญสำนึกจะบอกให้รู้เอง คดีอย่างนี้วินิจฉัยได้โดยใช้ “เหตุผลธรรมดาสามัญของชาวบ้าน (Simple Natural Reason)” กฎหมายชาวบ้าน (Volksrecht) ก็ใช้เหตุผลง่ายๆ อย่างนี้ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ กฎหมายในยุคแรกเริ่มจึงแยกไม่ออกจากศีลธรรมขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีและสามัญสำนึกของคนทั่วไป

        คดีที่ 2 ข้อเท็จจริงต่างจากคดีดังกล่าว คือ นาย ก. พยายามฆ่ากวางแต่กวางยังไม่ตายเพียงบาดเจ็บเลือดไหลและสามารถวิ่งหนีไปได้ นาย ก. ตามกวางตัวนั้นไปยังไม่ทันจับได้ กวางวิ่งเข้าไปในสวนหรือบ้านนาย ข. ไปขาดใจตายต่อหน้านาย ข. นาย ข. เก็บกวางได้โดยไม่ต้องขวนขวายทำอะไรเลย นาย ก. ซึ่งไล่ตามกวางมา แต่ปรากฏว่ากวางตัวนั้นถูกคนอื่นเก็บไปเสียแล้ว เกิดข้อพิพาทขึ้นมาว่าใครจะเป็นเจ้าของ นาย ก. เป็นผู้ทำร้ายกวางก่อนบอกว่า นาย ข. อยู่เฉยๆ จะได้กวางไปนั้นไม่ถูก เมื่อเกิดการโต้แย้งกัน ในสมัยก่อนก็ประลองกำลังกันเป็นการตัดสินด้วยกฎของป่า (Low of the jungle) แต่ในสังคมที่เป็นโคตรตระกูล ชนเผ่า รัฐก็ดี จะมีผู้ใหญ่ที่ยอมรับนับถือทั้งสองฝ่ายที่มีความฉลาดตัดสินให้คนที่ฉลาดสามารถแยกแยะหาเหตุผลอย่างละเอียดอ่อน ก็จะตัดสินว่านาย ก. ควรได้กวาง เพราะเขามองเห็นกรณีแรก นาย ก. เป็น The First Taker นาย ก. จึงควรจะได้ แม้หากนาย ข. จะแย่งไปแล้วไม่ยอมคืนก็ต้องถูกบังคับให้คืนกวางให้แก่นาย ก. แต่ในคดีที่สองผู้ชี้ขาดตัดสินคดีมีความสามารถรอบคอบ พิเคราะห์ไตร่ตรองแล้วก็จะมองเห็นว่านาย ก. เป็นฝ่ายที่ได้ลงทุนลงแรงทำร้ายกวางจนบาดเจ็บ นาย ข. อยู่เฉยๆ มิได้ทำอะไรเลย กลับชุบมือเปิบเอากวางไปเสียอย่างง่ายดาย ถ้าจะตัดสินให้กวางแก่นาย ข. ไปเพราะนาย ข. เก็บกวางตัวนั้นไปได้อยู่ในมือของเขาแล้ว ความรู้สึกส่วนลึกก็จะบอกว่าทำอย่างนี้ไม่เป็นธรรมกับนาย ก.

        เมื่อใช้เหตุผลแยกแยะข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างละเอียดก็จะมองเห็นอย่างชัดเจนว่า การทำร้ายจนบาดเจ็บทำให้กวางเสียกำลังไม่เหมือนกวางธรรมดาที่มีกำลังหนีได้เต็มที่ การที่ทำร้ายกวางจนบาดเจ็บและไล่ติดตามอยู่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้กวางตัวนั้นตกอยู่ในวงเขตหวงกันของนาย ก. อยู่ก่อนแล้ว นาย ก. จึงมีความชอบธรรมที่จะหวงกันไม่ให้คนอื่นมาแย่งเอาไป ถึงแม้ยังจับตัวกวางไม่ได้โดยตรงก็ตาม ด้วยเหตุนี้ นาย ข. ที่อยู่เฉยๆ เก็บกวางได้จึงไม่ใช่เก็บกวางตัวที่อยู่ในสภาพอิสระตามปกติธรรมดา แต่เก็บกวางที่อยู่ใต้การยึดถือของคนอื่นที่มีความชอบธรรมที่จะหวงกัน ดังนั้นนาย ข. จึงไม่ใช่ The First Taker ดังนั้นนาย ข. จึงไม่มีสิทธิที่จะได้กวางตัวนั้น

        คดีที่ 3 ข้อเท็จจริงแตกต่างจากคดีที่ 1 และคดีที่ 2 กล่าวคือ นาย ก. ใช้ธนูยิงนก ปรากฏว่าไปถูกส่วนหางทำให้ขนนกสวยๆ ร่วงกระจุยลงมา แต่ไม่ถูกตัวนก นกตัวนั้นยังบินต่อไปได้สบาย แต่บินเข้าไปในที่ของนาย ข. จนถูกนาย ข. จับได้ นาย ก. กับนาย ข. ใครควรจะได้นกตัวนั้น ในกรณีที่ 3 ถ้าผู้ตัดสินเป็นคนเถรตรง ไม่ใช้ความคิดแยกแยะให้ละเอียดก็จะทึกทักเอาว่ากรณีนี้ก็เหมือนกับกรณีที่ 2 คือ ได้ทำร้ายสัตว์แล้ว และกำลังติดตามด้วย เพราะฉะนั้นนาย ก. ควรจะได้นกไปเหมือนกรณีที่ 2 แต่หากมีตุลาการหรือหัวหน้าเผ่าที่มีสติปัญญาละเอียดอ่อน แยกแยะเรื่องได้ละเอียดชัดเจนก็จะอธิบายได้ว่า จริงอยู่ นาย ก. ได้ทำร้ายนกแล้ว แต่แค่ทำให้ขนนกร่วงลงมา ไม่ได้ทำให้นกได้รับบาดเจ็บถึงขนาดเสื่อมสมรรถภาพที่จะหนี เพราะฉะนั้นถึงแม้ทำร้ายแต่เพียงเล็กน้อย ถึงแม้จะไล่ติดตามนกตัวนั้น แต่ไม่รู้ว่าจะจับนกตัวนั้นได้หรือไม่ การทำร้ายจึงไม่มีผลสำคัญ นกไม่ได้เสื่อมความสามารถที่จะหนีเลย ไม่ได้ตกเข้ามาอยู่ในวงเขตหวงแหนของนาย ก. เลย นาย ก. จึงไม่มีความชอบธรรมอันใดที่จะหวงกันนกตัวนั้น เพราะฉะนั้นควรจะตัดสินให้เสมือนว่าไม่ได้มีการทำร้ายนกตัวนั้นเลย นาย ก. จึงไม่ได้มีความชอบธรรมที่จะหวงแหนนกตัวนั้น นาย ข. ควรเป็นฝ่ายที่จะได้นกตัวนั้นไป

        ทั้ง 3 คดี เป็นกรณีพิพาทว่าใครควรเป็นเจ้าของสัตว์ ต่างใช้หลักเดียวกันในการชี้ขาดตัดสินคดี คือ หลักสิทธิของผู้ได้ก่อน (The Right of the Firs Taker) คดีแรกตัดสินได้ง่ายมาก ไม่ต้องเรียนหนังสือ ไม่ต้องเรียนกฎหมาย เกือบจะไม่ต้องใช้ความคิดเลย ชี้ได้ว่าควรจะให้ใครชนะ เพราะเป็นเหตุผลแบบสามัญชนสำนึก ซึ่งก็คือเหตุผลในทางศีลธรรมที่ใครๆ ก็รู้ เป็นเหตุผลแบบกฎหมายชาวบ้าน (Volksrecht) แต่คดีที่ 2 มีรายละเอียดขึ้นมากกว่าสิทธิของผู้ที่มาก่อนได้ก่อนนั้น ถ้าได้ทำร้ายสัตว์จนบาดเจ็บแล้วติดตามผู้ทำร้ายก็กลายเป็น The Firs Taker แม้จะไม่ได้จับมันได้โดยตรงก็ตาม ข้อความคิด (concept) เกี่ยว The Firs Taker ว่าใครมาก่อนได้ก่อนนี้จึงมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า ถ้าได้ทำร้ายสัตว์แล้วก็จะเกิดมีอำนาจหวงกันสัตว์นั้น เพราะฉะนั้นข้อความคิด The Firs Taker จึงมีความหมายกว้างขึ้น รวมไปถึงคนที่ได้ทำร้ายแล้วติดตามอยู่ แต่ในคดีที่ 3 ได้ความว่า The Firs Taker ไม่รวมถึงผู้ทำร้ายสัตว์ให้บาดเจ็บและติดตามทุกคน แต่จะรวมถึงผู้ทำร้ายที่ทำให้สัตว์บาดเจ็บถึงขนาดที่ให้มันเสื่อมความสามารถที่จะหนี เพราะฉะนั้น The Firs Taker จึงมีข้อความที่เพิ่มเติมละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น

        คดีที่สองกับคดีที่สามนี้เป็นการใช้ความคิดแยกแยะเปรียบเทียบอย่างละเอียดละออที่เรียกว่า “การใช้เหตุผลทางกฎหมาย (Juristic Reasoning)” วิธีคิดอย่างนี้เป็นวิชาและศิลปะของนักกฎหมายที่นักศึกษากฎหมายจะต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดขึ้นในตัวของตนเองจนเป็นคุณสมบัติประจำตัวที่เรียกว่า “หัวกฎหมาย” (legal mind) ความจริงแล้ววิธีคิดของนักกฎหมายก็ไม่ได้แตกต่างตรงกันข้ามกับเหตุผลของคนธรรมดา เพียงแต่มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งกว่าเท่านั้น จึงต้องมีการศึกษาร่ำเรียนจากตำราและครูบาอาจารย์ ผลจากการใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ลึกซึ้งละเอียดในการวินิจฉัยคดีติดต่อกันเป็นเวลานานนี้ก็จะก่อให้เกิดหลักกฎหมายที่แตกต่างไปจากกฎหมายประเพณีหรือกฎหมายชาวบ้าน กฎหมายที่อุบัติขึ้นในทำนองนี้เราเรียกว่า “กฎหมายนักกฎหมาย (Juristenrecht)” ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะกฎหมายประเภทนี้ถูกปรุงแต่งให้เป็นรูปร่างขึ้นโดยฝีมือทางความคิดของนักกฎหมาย สังคมมนุษย์ต้องพัฒนาไปมากพอสมควรและใช้กฎหมายชาวบ้านมานานมากทีเดียว จนกระทั่งเจริญมาถึงขั้นหนึ่งที่สังคมมีความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนจนกฎหมายชาวบ้านที่ใช้อยู่ไม่พอใช้บังคับกับชีวิตในสังคมที่เจริญมากแล้ว กฎหมายของนักกฎหมายจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม

        ในสมัยปัจจุบัน เรามีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่นๆ หากนำประมวลกฎหมายมาพิเคราะห์ให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า แม้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับปัจจุบันก็ยังมีตัวบทที่มีต้นตอมาจากกฎหมายนักกฎหมายอยู่ไม่น้อย เช่น เรื่องอายุความ (ป.พ.พ. มาตรา 193/9-193/35) ถ้าเราเป็นหนี้ไปกู้เงินมาแล้วไม่ชำระ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี ลูกหนี้ก็ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ได้ โดยอ้างว่าสิทธิเรียกร้องนั้นขาดอายุความตามมาตรา 193/10 เพราะสิทธิเรียกร้องนั้นต้องใช้ภายในกำหนดที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าไม่ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ทำให้เกิดสภาพทางกฎหมายที่เรียกว่า “สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ” กรณีเป็นหนี้แล้วไม่ใช้ภายในกำหนดที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้หมายความว่าลูกหนี้หมดหน้าที่ทางศีลธรรมจะชำระหนี้ ในสมัยก่อนคนมีความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ถ้ามีหนี้ก่อนตายมักสั่งลูกหลายไว้ว่า เมื่อตนตายแล้วให้นำเงินไปชำระหนี้ที่ค้างเจ้าหนี้อยู่ให้หมดสิ้น แสดงว่าเรื่องอายุความในกฎหมายแตกต่างจากศีลธรรม ทั้งนี้เพราะว่าในแง่คดีความนั้นถ้าเจ้าหนี้ปล่อยปละละเลยเป็นเวลานานไม่ดำเนินการบังคับชำระหนี้ พยานบุคคลอาจล้มหายตายจากหรือพยานเอกสารอาจสูญหายหรือถูกทำลายได้ จึงเกิดปัญหาว่าศาลจะตัดสินให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างไร ทำให้ศาลอยู่ในฐานะลำบากในการตัดสินคดีให้ยุติธรรม กฎหมายจึงกำหนดเรื่องอายุความไว้เพื่อบังคับให้เจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิของตนในระยะเวาอันสมควรตามที่กฎหมายกำหนดไว้

        ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง “การครอบครองปรปักษ์” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หมายถึง การเข้ายึดถือครอบครองสิ่งของของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ดิน หรือสิ่งของมีค่าอย่างอื่น โดยที่เจ้าของไม่ได้ยินยอมหรือมอบหมาย หรือให้เช่า หรือให้ยืม แต่เข้าไปแย่งการครอบครอง คือเอาเป็นเจ้าของโดยพลการ ถ้าเป็นการแย่งการครอบครองโดยสงบ เปิดเผยและแสดงเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 5 ปี กรณีสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เคลื่อนที่ได้ และ 10 ปี กรณีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์ขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น บ้าน หรือที่ดิน ดังนี้ ผู้ครอบครองลักษณะดังกล่าวเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

        เรื่อง “ครอบครองปรปักษ์” ก็ดี “อายุความ” ก็ดี แสดงให้เห็นว่ากฎหมายกับศีลธรรมมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ ผู้ครอบครองปรปักษ์ไปเบียดบังยึดถือสิ่งของของผู้อื่น กฎหมายบอกว่าถ้าครอบครองนานตามกำหนดก็ยอมให้ผู้นั้นได้สิทธิ แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องชอบธรรมตามไปด้วย ทั้งนี้เพราะกฎหมายนอกจากมุ่งให้เกิดความเป็นธรรมแล้วยังต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมด้วย เรื่องครอบครองปรปักษ์นี้เป็นเรื่องที่กฎหมายคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยมากกว่าการรักษาความเป็นธรรม

        อาจสรุปได้ว่า ในยุคกฎหมายนักกฎหมายนี้เป็นยุคของหลักกฎหมาย เป็นหลักนิติศาสตร์ที่เป็นกฎเกณฑ์อันเกิดจากการใช้เหตุผลที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เป็นเหตุผลที่ปรุงแต่งขึ้นในทางกฎหมาย (Artificial Juristic Reason) เป็นกฎเกณฑ์ที่นักกฎหมายพัฒนาขึ้นมาเพื่อปรุงแต่งกฎหมายที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม เพื่อชี้ขาดข้อพิพาทให้ถูกต้องและเป็นธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ที่สามัญชนใช้สามัญสำนึกคิดเอาเองไม่ได้ ต้องเรียนรู้ด้วยเหตุผลจึงจะเข้าใจ ในยุคนี้กฎหมายกับศีลธรรมแยกกันชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันวิชานิติศาสตร์และวิชาชีพนักกฎหมายก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นเดียวกัน

        3. ยุคกฎหมายเทคนิค (Technical Law) เมื่อสังคมเจริญขึ้น การติดต่อระหว่างคนในสังคมมีมากขึ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซับซ้อนยิ่งขึ้น เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตก็มีมากขึ้น ทำให้มีข้อขัดแย้งในสังคมมากขึ้น กฎเกณฑ์ที่เป็นแต่ขนบธรรมเนียมประเพณีไม่เพียงพอ จึงจำต้องมีกฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นมาทันทีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กฎจราจร แต่ก่อนไทยใช้เกวียน เห็นเกวียนมาก็หลีกกันเองได้โดยไม่ต้องถูกกำหนดให้เดินซ้ายเดินขวา เพราะมันเดินไม่เร็ว คันนี้ไปซ้าย อีกคันก็ไปขวา ไม่มีอันตราย จะซ้ายก็ได้จะขวาก็ได้ แต่ถ้าเมื่อมีการประดิษฐ์รถยนต์ขึ้นมาแล้วจะให้เดินสวนทางแบบเกวียนก็อาจชนกันตาย เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ใหม่ คือ รถยนต์เกิดขึ้นจะใช้กฎจราจรแบบเกวียนไม่ได้ จำเป็นต้องตั้งกฎจราจรขึ้นมา ในประเทศไทยตั้งกฎจราจรบังคับใช้แบบในประเทศอังกฤษ ขับรถชิดซ้ายต่างจากประเทศในภาคพื้นยุโรป บังคับให้ขับรถชิดขวา

        กฎเกณฑ์แบบนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง บางอย่างไม่เกี่ยวกับศีลธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และไม่เกี่ยวกับหลักกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ชุมชนจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาทันทีทันใดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่าง กฎหมายที่ถูกตั้งขึ้นมานี้เรียกว่า “กฎหมายเทคนิค” เทคนิคคือวิธีการที่จะทำอะไรบางอย่างให้เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้ วิธีการนำไปสู่ผลที่ต้องการอย่างนี้เรียกว่าเป็น “เทคนิค” กฎหมายแบบนี้บัญญัติขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดผลเฉพาะเจาะจงบางอย่าง กฎจราจรต้องการให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร ไม่ใช่ว่าขับรถทางซ้ายเป็นคนดี ขับรถทางขวาเป็นคนไม่ดี ไม่ใช่เรื่องดีชั่วในตัวเอง แต่เป็นเรื่องผิดถูกเพราะเขากำหนดไว้อย่างนี้แล้วไม่ทำก็ผิด ในสมัยโบราณก็อาจจะมีอยู่ เช่น ชนเผ่าที่เร่ร่อนไม่มีที่อยู่ อยู่ที่ไหนต้องเผชิญภัยพิบัติต่างๆ จึงต้องกำหนดหน้าที่ชายฉกรรจ์บางจำพวกให้ตื่นขึ้นมาในตอนกลางคืนมาก่อไฟและตั้งเป็นเวรยามไว้เมื่อเห็นภัยจะได้ขับไล่ต่อสู้ สิ่งที่กำหนดขึ้นมานี้ไม่ใช่เรื่องศีลธรรมแต่เป็นความจำเป็นตามสถานการณ์ของสังคมนั้นที่จะต้องทำ ซึ่งกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเช่นนี้เรียกว่า “กฎหมายเทคนิค (Technical Law)”

        สมัยใหม่กฎเกณฑ์ที่กำหนดตั้งขึ้นมาอย่างนี้มีมากมายและกระทำเป็นประจำ องค์กรที่บัญญัติกฎหมายเรียกว่า “สภานิติบัญญัติหรือฝ่ายนิติบัญญัติ” มีหน้าที่บัญญัติกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของ “อำนาจอธิปไตย” ของรัฐซึ่งเกิดขึ้นในสมัยใหม่

        เมื่อสังคมมีกระบวนการนิติบัญญัติอย่างเป็นกิจจะลักษณะแล้วยุคกฎหมายเทคนิคก็เริ่มขึ้นนับเป็นยุคที่สาม ปัจจุบันกฎหมายก็วิวัฒนาการมาถึงยุคนี้ซึ่งจะเห็นว่ามีกฎหมายตราออกมามากมาย กฎหมายป่าไม้ที่กำหนดว่า ถ้าจะตัดไม้ต้องขออนุญาต ไม้บางอย่างห้ามไม่ให้ตัด การเคลื่อนย้ายไม้ต้องมีใบอนุญาตให้เคลื่อนย้ายจึงจะเคลื่อนย้ายได้ ปัญหาว่าทำไมถึงห้ามตัดไม้ ไม่ใช่เป็นการตัดไม้เป็นความชั่ว สมัยโบราณป่าไม้เต็มบ้านเต็มเมืองทำป่าให้เป็นนา การโค่นต้นไม้จึงเป็นความขยันหมั่นเพียรที่ได้รับการยกย่อง ตามความคิดไทยแต่เดิมการตัดไม้จึงไม่ผิดศีลธรรม แต่เดี๋ยวนี้มีกฎหมายห้ามเพราะเหตุผลบางอย่างที่ต้องการรักษาป่าไม้ไว้ให้ลูกหลาน เพื่อจะได้ใช้กันนานๆ หรือเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะว่าบ้านเมืองที่ป่าถูกทำลายมาก อากาศแปรปรวน ต่อไปอาจกลายเป็นทะเลทรายก็ได้ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี ด้วยเหตุผลนี้จึงต้องมีกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ออกมา กฎหมายว่าด้วยป่าไม้จึงเป็นกฎหมายเทคนิค

        กล่าวโดยสรุป กฎหมายเทคนิคต้องมีลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นทันทีเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ ซึ่งเป็นเหตุผลทางเทคนิค (Technical Reason) และกฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่มีเหตุผลในทางศีลธรรม (Moral Reason) หรือหลักกฎหมายคอยสนับสนุนอยู่ กฎหมายเทคนิคเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยกระบวนการนิติบัญญัติ จึงมักจะเรียกว่า “กฎหมายส่วนบัญญัติ” หรือ “กฎหมายนิติบัญญัติ”

        เมื่อมีกฎหมายเทคนิคก็เกิดปัญหาว่าใครมีอำนาจบัญญัติกฎหมาย ไม่ใช่ทุกคนทำได้แต่ต้องเป็นผู้มีอำนาจซึ่งเป็นไปตามกาลสมัย ถ้าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้บัญญัติกฎหมายก็คือ พระมหากษัตริย์ สมัยใหม่ในรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีการแยกอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ แยกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติคือฝ่ายมีอำนาจบัญญัติกฎหมาย ปัญหาว่าใครมีอำนาจบัญญัติกฎหมายนั้นแตกต่างไปในแต่ละยุคสมัย ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีอำนาจ ในสมัยประชาธิปไตย รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเป็นผู้มีอำนาจ

        ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายเทคนิคไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมคอยหนุนหลัง ถ้าใครผิดก็ไม่รู้สึกว่าคนนั้นทำชั่ว หรือทำผิดศีลธรรม เพราะฉะนั้นกฎหมายเทคนิคจึงไม่มีลักษณะบังคับตามธรรมชาติ (Spontaneous sanction) ถ้ากฎเกณฑ์ที่ว่าห้ามลักทรัพย์ หรือห้ามผิดลูกเมียผู้อื่นถือเป็นกฎเกณฑ์ที่มีต้นตอมาจากศีลธรรม มีลักษณะบังคับอยู่ในตัวตามธรรมชาติ ใครๆ ก็รู้ว่าชั่ว จึงไม่อยากทำหรือว่าทำแล้วก็ไม่อยากให้คนรู้ แต่การทำผิดทางกฎหมายเทคนิคนั้นไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าชั่ว ด้วยเหตุนี้กฎหมายเทคนิคจึงมีจุดอ่อนในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในสังคม หรือมีผลบังคับในสังคม การที่จะทำให้กฎหมายเทคนิคเกิดความศักดิ์สิทธิ์จึงต้องควรดำเนินการดังนี้

        1) การกำหนดมาตรการและโทษจะต้องเหมาะสมกับสภาพของการกระทำผิดและมีความรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้คนกลัว โดยจะต้องเป็นการทำให้เขาเสียประโยชน์มากกว่าจะได้รับประโยชน์จากการกระทำผิด

        2) จะต้องมีการบังคับลงโทษอย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอ ไม่เลือกปฏิบัติ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ถ้ากระทำผิดก็จะต้องจับทันที หากมีกฎหมายออกมาแต่จับบ้างไม่จับบ้างก็ไม่มีประโยชน์ จะทำให้กฎหมายเป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวหนังสือเท่านั้น

        3) ในสังคมสมัยใหม่ มีกฎหมายเทคนิคออกมามากมายและด้วยความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายนั้น รัฐจึงต้องมีเครื่องจักรในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เครื่องจักรในที่นี้คือหน่วยราชการ เจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งอาจเป็นตำรวจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมศุลกากร เป็นต้น คอยตรวจสอบและจับคนทำผิดมาลงโทษอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นรัฐใดที่มีกฎหมายเทคนิคมากก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้มแข็ง เอาการเอางาน มีความรู้ความสามารถในเทคนิคใหม่ๆ และมีความซื่อสัตย์สุจริตด้วย

        4) ในด้านของประชาชน จะต้องทำให้เกิดมีความสำนึกในหน้าที่ของพลเมืองดีที่จะต้องเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ถ้าจิตสำนึกเช่นนี้มีอยู่ในจิตใจของประชาชนอย่างแพร่หลายในสังคม สังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมทางกฎหมาย (Legal culture) ประเทศที่ได้รับความยกย่องว่ามีวัฒนธรรมทางกฎหมายเป็นตัวอย่างให้แก่โลกในสมัยนี้ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมัน ในสมัยก่อนในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในประเทศอังกฤษ ประชาชนยกย่องและยึดถือ “หลักนิติธรรม (The Rule of Law)” และในประเทศเยอรมันก็มี “หลักนิติรัฐ (Rechtsstaat)” เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน สั่งสอนและอบรมกันในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นธรรมเนียมเสมอมา เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าในประเทศที่มีวัฒนธรรมทางกฎหมายเป็นอย่างดีเท่านั้นที่สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้รับการยกย่องนับถือและได้รับความคุ้มครองเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในสมัยใหม่


“หลักนิติรัฐ (Rechtsstaat)” และ “หลักนิติธรรม (The Rule of Law)” หมายถึงรัฐที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมือง และรัฐก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองรัฐ ด้วยเหตุนี้ รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง และจะต้องกระทำการ ภายในขอบเขตของกฎหมาย อันนี้คือสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ


--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.dtl-law.com
ท่านอาจารย์สมยศ เชื้อไทย

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย