โสเป็น โสตาย (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/03/2008
ที่มา: 
http://www.dharma-gateway.com/

 

โสเป็น โสตาย
โดย หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ)
ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

ใจเป็นตัวสมมุติดั้งเดิมเป็นฝ่ายจิตตะสังขาร แล้วก็สามารถอาจหาญใส่ชื่อลือนามว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ยืนยันว่าของเหล่านี้เป็นบริวารสมบัติของเราอย่างจริงจังแท้ๆ แล้วก็ลงทุนลงแรงปรนนิบัติแบบโสเป็นโสตาย ค่ำไม่ได้ยืนคืนไม่ได้อยู่ ตา หู จมูก ลิ้น ถูกกล่าวตู่พร้อมทั้งกายด้วย แต่ก็ช่วยใจได้บ้างในเวลาดิน น้ำไฟ ลมไม่วิกาลมากนัก เมื่อไหวติงไปมาไม่ได้แล้วก็ช่วยอะไรให้ใจไม่ได้เป็นอันขาด และเมื่อถูกใส่ชื่อลือนามว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้ว ก็ไม่รับยินดีต่อใจและก็ไม่ปัด และก็ไม่อุเบกขาอุเบกขวางอะไรๆ ทั้งนั้น

เมื่อเป็นดังนี้ใจจะรับตอบรับถามตนเองด้วยวิธีไหนล่ะ ตกลงใจก็จะจนมุมตนอยู่ดีๆ นี้เอง เพราะปัญหาทั้งหลายตนเองเป็นผู้ปลูกสร้างขึ้น จะปฏิเสธไปไหนๆ ก็คงไม่มีประตูจะไปรอด ก็ต้องถอยหลังคืนมาหาตนอันเป็นต้นตอของเหตุ ผลของเหตุใดๆ ไม่ว่าทางดีไม่ว่าทางชั่วที่ตัวก่อขึ้น ที่เรียกว่ากรรมใดใครก่อ ตนถามตนตอบตนวนเวียนอยู่ในอู่ของสังสารวัฏ วัฏฏะจักรก็ว่าอวิชชาก็เรียก จิตตะสังขารก็เอ่ย เอ่ยไปเอ่ยมาก็มักจะหลงเงาและหยอกเงาตนเองวนเวียนอยู่ไม่รู้จะจบสิ้นได้ แต่เมื่อสนใจไปๆ มาๆ ทวนหาเข้าตนคือใจๆ แล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นเป็นพี่เลี้ยงนางนมของใจ

ก็พอมีเวลาย้อนมาสอนตนคือใจๆ สอนใจได้ การหมายพึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เบาใจไปเบาใจไปทีละเล็กทีละน้อยค่อยเป็นไปค่อยเป็นไปได้เรียบร้อยไปเป็นตอนตอน การนอนใจเหมือนแต่ก่อนก็ผ่อนเบาลง ใจก็กลายเป็นผู้ทรงศีลเป็นผู้ทรงธรรมไปในตัว ใจก็จะเห็นทั้งโทษทั้งคุณที่ตนก่อและสร้างขึ้น โดยไม่มีท่านผู้ใดมาแย้ง สร้างทั้งเหตุต่างๆ ผลต่างๆ เป็นฝ่ายรับ แล้วจะรู้จักเลือกเหตุกรรมพืชที่ควรก่อและไม่ควรก่อ ที่ควรสร้างและไม่ควรสร้าง ไม่สุ่มเดาคาดคะเนเพราะใจได้ประสบเหตุการณ์มาทั้งดีและชั่ว อันเป็นบทเรียนมาทดสอบอยู่ในตัว

เป็นศาลไต่สวนเป็นศาลพิจารณา และเป็นศาลตัดสินอยู่ในตัวแล้ว เป็นสันทิฏฐิโกลงโอชัดแจ้งด้วยใจตนเอง จะหายเพ่งโทษจะหายเพ่งคุณไปให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกับใจ ใจก็ต้องสอนตนเองพึ่งตนเองไปจนถึงที่สุดทุกข์โดยชอบโดยด่วนในปัจจุบันใจแท้ๆ เน้อ เพราะใจอันเดียวเป็นโสดไม่มีเพื่อนเป็นไม่มีเพื่อนตายมารับประกันสุขทุกข์อุเบกขาให้เงียบ ใจจงปฏิบัติใจให้ไกลความหลง จงต่อสู้กับความหลงที่ทรงอยู่รอบเมืองใจให้ชนะไปโดยด่วน ใจไม่ปฏิบัติใจไปทางโลกุตตระใจ ใจก็จะถูกแพ้ความหลงของใจอยู่ไม่รู้จะจบสิ้นได้

สนิมใจก็คือกิเลส สนิมภายนอกก็ออกมาจากธาตุเหล็ก ธาตุดินก็ว่าเพราะเป็นของแข็ง ใจไม่ขัดเกลาสนิมออกจากตน ก็ไม่รู้ว่าจะให้ของภายนอกอะไรๆ มาขัดสีให้ ไม่มีหนทางเลยใจไม่ปฏิบัติใจๆ ก็ปล่อยให้สนิมใจคือกิเลสทรงมีอิทธิพลมีอำนาจสูงขึ้นสูงขึ้นทวีบวกคูณพอกพูล พูนให้สูงขึ้นเหมือนพูนดินก็ว่า พูดไปไหนๆ ก็ใจเป็นผู้พูด เขียนไปไหนๆ ก็ใจเป็นผู้เขียน อ่านไปไหนๆ ก็ใจเป็นผู้อ่าน ฟังไปไหนๆ ก็ใจเป็นผู้ฟัง คนตายแล้ววิญญาณไม่ได้อยู่ที่ศพ พูดเขียนอ่านฟังไม่ได้ใจอันเดียวเที่ยวก่อคุณก่อโทษให้ตนเองแบบวนเวียน

เหตุนี้พระนิพพานธรรมจึงปล่อยวางใจข้ามไปเสีย ไม่มีท่านผู้ใดมายึดถือเอาใจเป็นตน ตนเป็นใจดังที่เคยหลงมา ก็จบปัญหาของใจไปในตัว แลก็ไม่กลัวว่าจะหลงใจ ทิ้งทั้งเหล็กทิ้งทั้งสนิมแล้ว เหล็กจะมาจากประตูใดสนิมจะมาจากประตูใดก็ต้องจบกันเหตุๆ ผลๆ ของใจก็ดี ว่างๆ เวิ้งๆ ของใจก็ดีก็ทรงมีอยู่ในตัว ใจก็มิได้สำคัญว่าตนเป็นใจๆ เป็นต้นเหตุของใจพืชของใจกรรมของใจ ผลของเหตุผลของพืชผลของกรรมแห่งใจก็จบกัน แม้จะกลายเป็นอันละเอียดจนไม่มีท่านผู้ใดเข้าไปมั่นหมายสลายอุปทานทั้งสิ้นทั้งผู้รู้ๆ และไม่รู้ก็ไม่มีอันใดเข้าไปเป็นจ้าวเป็นจอม สูญและไม่สูญก็ไม่มีใครเข้าไปเป็นเจ้าจอมว่า

......................................................