ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย (พระพรหมคุณาภรณ์)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/03/2008
ที่มา: 
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=1017&start=0&postdays=0&postorder=asc&highlight=&sid=28aa50cd9090cb6407a4581b3e35ab8b

Image

ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

สารบัญ

ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย
๑. จากอุบาสก-อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี

-- เข้าพรรษา คือถึงฤดูกาลแห่งการศึกษา
-- ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน

เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา
-- ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
-- ตั้งหลักไว้ : ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย
-- ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี
-- ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
-- พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี
ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น
-- การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
-- สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
-- สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน
เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน

๒. ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรี และการบวชเป็นภิกษุณี
-- ไม่ว่าหญิงหรือชาย มีความเป็นมนุษย์เสมอกัน
-- ทำไมในคัมภีร์ มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
-- ทำไมในวินัย จึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม
-- ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย
-- ทำไมจะเป็นพระศาสดา ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย
-- เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม
-- ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน
-- แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม
-- ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม
-- อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร
-- เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุดมาถือธรรมเป็นใหญ่ ชาวพุทธจะยืนหยัดไหวไหม
-- ไม่รู้จักพระไตรปิฎก-อรรถกถา จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร
-- พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร

 

๑ -
จากอุบาสก–อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี

ธรรมกถา แก่ชาวธรรมะร่วมสมัย ผู้เดินทางไปทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน
ในโอกาสเข้าพรรษาใหม่ๆ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔

..........................................................

เข้าพรรษา คือถึงฤดูแห่งการศึกษา

วันเข้าพรรษานี้ ทราบกันดีว่าเป็นเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ โดยเฉพาะเมื่อพระเก่าอยู่กับวัด ก็เป็นโอกาสให้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระใหม่

เมื่อพระใหม่กับพระเก่ามาอยู่ร่วมกัน พระเก่าก็จะได้เป็นกัลยาณมิตร ที่จะนำความรู้พระธรรมวินัย และประสบการณ์ในการปฏิบัติเป็นต้น มาถ่ายทอดแนะนำสั่งสอนให้แก่ผู้ใหม่ เราจึงได้มีประเพณีนิยมบวชในระยะเข้าพรรษา

ตัวอย่างเช่นที่วัดนี้ ปีนี้ มีพระทั้งหมดทั้งเก่าและใหม่ ๑๘ รูปด้วยกัน เป็นพระเก่าครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูป และพระใหม่อีกครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูปเหมือนกัน

การบวชเรียนนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาตามประเพณี เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา คือเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้มีประเพณีนี้เกิดขึ้น การที่เราปฏิบัติในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ และทำต่อกันมานานเข้าก็กลายเป็นประเพณี

ประเพณีนี้เราเรียกว่า “ประเพณีบวชเรียน” ซึ่งนิยมปฏิบัติกันมาในช่วงเข้าพรรษา ตลอดฤดูฝน ถ้าทำได้ตามนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์ตามประเพณี

แต่ปัจจุบันผู้ที่จะปฏิบัติได้ครบอย่างนี้มีน้อยลง มักบวชกันไม่ค่อยเกินหนึ่งเดือน บางทีสั้นกว่านั้นอีก เหลือแค่ครึ่งเดือน บางแห่งเจ็ดวันก็มี สั้นกว่านั้นก็มี จนกระทั่งมีคำล้อกันว่า บวชยังครองผ้าไม่เป็น ก็สึกไปแล้ว

การบวชที่แท้นั้นเป็น การบวชเรียน คือการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และให้เรียนรู้ภาคปฏิบัติในชีวิตจริง คือเรียนด้วยชีวิตของตน เป็นไตรสิกขา ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา

เวลานี้ผู้ที่บวชอยู่จำตลอดพรรษามีน้อยลง เพราะฉะนั้น ที่วัดนี้จึงวางหลักว่า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้บวชอย่างน้อยสักเดือนหนึ่ง ถ้าบวชได้เต็มที่ครบสามเดือนก็ดี สำหรับพรรษานี้มีท่านที่อยู่ได้หลายรูป

การบวชอยู่ได้สั้นลงนี้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเราจะไปว่าใครได้ยาก จะทำได้ก็เพียงว่า ทำอย่างไรจะให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดเป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อพระจำพรรษาอยู่ด้วยกัน มีผู้ใหม่กับผู้เก่า นอกจากพระใหม่จะได้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ก็ยังมีญาติโยม ซึ่งเมื่อพระอยู่ประจำที่ ก็เป็นโอกาสที่จะมาพบปะ มาทำบุญ มาปรึกษาสนทนาธรรมได้มากขึ้น บางท่านจึงได้ถือเหมือนกับเป็นวัตร คือเป็นข้อปฏิบัติประจำ ที่จะมาวัดวาอาราม แล้วก็มาทำบุญ มารักษาศีลเจริญภาวนา

ญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่นัดหมายกันมาในวันนี้ ก็จัดเข้าเป็นการปฏิบัติตามคติแห่งประเพณีนี้เหมือนกัน

ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา
สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน

ชาวพุทธเรานั้น เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามหลักที่เรียกว่า องค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งตามมาตรฐานทั่วไป มีอยู่ ๕ ข้อ คือ

๑. มีศรัทธา เป็นเบื้องต้น คือมีความเชื่อ มีความมั่นใจในพระรัตนตรัย ความเชื่อของเรานี้ต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ศรัทธางมงาย เพราะฉะนั้นจะเชื่อหรือมีศรัทธา ก็ควรจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนเชื่อด้วย

เมื่อศรัทธาในพระรัตนตรัย เราต้องรู้เข้าใจว่า พระรัตนตรัยคืออะไร มีความหมายอย่างไรการที่ศรัทธาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยึดเอาเป็นที่พึ่งนั้น คือปฏิบัติอย่างไร

๒. มีศีล อย่างน้อยตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นฐานสำหรับตนเองที่จะก้าวไปสู่การปฏิบัติเบื้องสูง พร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องช่วยเกื้อกูลสังคม เพราะว่าผู้ถือศีล ๕ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ดำรงชีวิตที่สุจริต ใครตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็ทำให้ที่นั้นมีความปลอดภัย

ถ้าทุกคนรักษาศีล ๕ ได้ สังคมของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคงอย่างแน่นอน เป็นหลักประกันสันติสุขของสังคมที่มั่นใจได้ เวลานี้ที่เป็นปัญหามากก็คือ สังคมนี้ขาดศีล ๕ เป็นอย่างยิ่ง

๓. อโกตูหลมังคลิกะ แปลกันว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือไม่มัวหวังผลจากความเชื่อถือนอกหลักพระพุทธศาสนา ที่เป็นความงมงาย ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลต่างๆ แต่ให้เชื่อกรรม คือเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามเหตุผล ให้หวังผลจากการกระทำด้วย ความเพียรพยายามของตน คุณสมบัติข้อนี้จะต้องให้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยของเรา

เวลานี้คุณสมบัติเพียงข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี้ ถ้าเราเอามาตั้งเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วัดละก็ คงจะเหลืออุบาสกอุบาสิกาน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสังคมของเราจึงเห็นได้ชัดว่า มีความเสื่อมโทรม แปรปรวนไปต่างๆ มากมาย

เวลานี้ที่มีปัญหาออกมาเป็นข่าวต่างๆ มากมาย จะเห็นว่าเป็นเพราะสังคมของเราเสื่อมลงไปจากพระพุทธศาสนา กลายเป็นสังคมที่ไม่มีหลัก แค่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี่ก็แย่แล้ว ถ้าขาดข้อ ๒ คือเสื่อมศีล ก็ทำให้สังคมระส่ำระสาย พอขาดข้อ ๓ คือไม่หวังผลจากการเพียรทำ สังคมก็อ่อนแอ
เมื่อพลเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดคุณภาพ ไม่รู้จักเพียรพยายามทำการต่างๆ ให้บรรลุผลด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตนเอง ได้แต่มัวหวังพึ่งนอนรอคอยอะไรต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ สังคมจะเจริญได้อย่างไร

ถ้ามีองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาถึงข้อ ๓ นี้เท่านั้น สังคมของเราก็เจริญมั่นคงได้แน่นอน

๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา สังคมไทยเวลานี้แปรปรวนในเรื่องนี้มาก ซึ่งก็สืบเนื่องจากข้อ ๓ นั่นเอง เมื่อถือมงคลตื่นข่าว ไปเชื่อเรื่องไม่เข้าเรื่อง แล้วเขตบุญก็ย้ายออกจากพระพุทธศาสนาไปหาเขตบุญภายนอก ก็ยิ่งไปส่งเสริมให้ความเชื่อผิดปฏิบัติผิดแพร่หลายยิ่งขึ้น และแหล่งคำสอนที่ถูกต้องคนก็ไม่เอาใจใส่ คนก็ยิ่งห่างจากหลักศาสนาออกไป ไม่รู้และไม่เอาใจใส่ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

๕. กระทำบุพการในพระศาสนานี้ หมายความว่าทำการขวนขวาย ทะนุบำรุงอุปถัมภ์พระสงฆ์ และกิจการพระพุทธศาสนาที่จะทำให้พระธรรมวินัยเจริญมั่นคง นำกันช่วยกันดำเนินกิจการและทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลแท้จริง ที่เป็นเรื่องถูกทำนองคลองธรรม ที่จะทำให้ศีลธรรมเจริญงอกงาม

ถ้าเราเอาใจใส่ในหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการนี้ เพียงเท่านี้พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วยดี สังคมไทยก็เจริญมั่งคงก้าวหน้า มีความเข้มแข็งแกร่งกล้ายิ่งขึ้นไป แต่เวลานี้มีปัญหา คนไทยขาดคุณสมบัติเหล่านี้กันมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันแก้ไข

วันนี้ขออนุโมทนาญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่ได้ขวนขวายในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงชวนกันมาที่นี่ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการมาครั้งที่ ๒ และหวังว่าทุกท่านคงจะได้ปฏิบัติให้ครบตามหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาทั้ง ๕ ข้อนี้ด้วย

ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติได้ครบ ๕ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น อุบาสกรัตนะ และอุบาสิการัตนะ คือเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสิกาแก้ว

แก้วในที่นี้ หมายความว่า มีคุณค่าสูง ดีงาม ประเสริฐ ไม่ใช่อย่างที่เอาไปล้อกันว่า อุบาสกก็ดื่มแก้วหนึ่ง แล้วอุบาสิกาก็อีกแก้วหนึ่ง เลยไปคนละทิศละทาง

เวลานี้คำทางพระคนเอาไปใช้ล้อกันมาก เช่นพูดว่าวันนี้ถูกเทศน์มา กลายเป็นเรื่องเสียหาย ถูกสวดก็ไม่ดีอีก แสดงถึงความคลาดเคลื่อนของสังคมของเรา จึงได้เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่นี้ ฉะนั้นเราต้องตั้งใจว่าจะทำให้เกิดความถูกต้องกันอย่างจริงจัง

วันนี้อาตมาภาพคิดว่าจะไม่พูดอะไรมาก เพียงว่าจะอนุโมทนาที่ทุกท่านมีน้ำใจได้มาทำบุญอุปถัมภ์บำรุง และพระสงฆ์ก็มีน้ำใจตอบแทน คือมีเมตตาธรรม และมุทิตาธรรม เป็นต้น

เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา

ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด

เมื่อกี้นี้พันเอกทองขาว ผู้ดำเนินรายการธรรมะร่วมสมัย ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี คือว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีกำลังพูด คือเวลาพูดน่ะพูดได้ แต่ต่อจากนี้ไปจะทรุด พูดครั้งหนึ่งทรุดไปเป็นสิบวัน แต่ก็จะพูดเล็กน้อย

หลายท่านคงได้อ่านหนังสือที่อาตมภาพได้ให้สัมภาษณ์แก่คณะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พิมพ์ออกมาชื่อว่า “ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรี และการบวชเป็นภิกษุณี”

หนังสือเล่มนี้พอดีออกมาตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังพูดกันในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี แต่ความจริงเป็นเรื่องเก่า คือมีผู้สัมภาษณ์ตั้ง ๓ ปีแล้ว (พ.ศ. ๒๕๔๑)

ต่อมาทางคณะผู้สัมภาษณ์ลอกเทปส่งมาให้ตรวจ และเขียนกำกับมาว่า มีผู้ศรัทธาที่มาในคณะสัมภาษณ์นั้นลอกเทปให้และขณะนี้กำลังป่วยมาก เพราะฉะนั้นอยากจะให้ผู้ที่ป่วยได้โอกาสชื่นใจในสิ่งที่ตนได้ทำด้วยศรัทธา จึงรีบตรวจให้

หนังสือก็ออกมาพอดีเกิดเหตุการณ์นี้ ตรงกันโดยบังเอิญ บางท่านเข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องที่พูดตอนเหตุการณ์นี้ ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย เพียงตรงเวลากัน แต่ก็อาจเป็นประโยชน์

ในตอนที่เกิดเหตุการณ์ถกเถียงเรื่องภิกษุณีกันนี้จริงๆ พอดีเป็นช่วงใกล้วิสาขบูชา อาตมาคิดไว้ว่า วันวิสาขบูชาที่แล้วมานี้ เมื่อมีพิธีทำบุญเวียนเทียน ก็จะพูดเรื่องภิกษุณี แต่พอดีว่าตั้งแต่สงกรานต์จนกระทั่งเลยวิสาขบูชา สายเสียงอักเสบ เกือบไม่มีเสียงพูด ลงมาไม่ได้ เป็นอันว่าต้องงด จึงยังไม่ได้พูดจนบัดนี้ เฉพาะวันนี้ขอเล่าทัศนะทั่วๆ ไปโดยสรุป คือจะไม่พูดยาว เพราะในหนังสือเล่มนั้นอธิบายไว้หลายแง่แล้ว

เรื่องที่คิดว่าน่าจะพูดมี ๓ ประเด็น

ข้อที่ ๑ เราต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งจิตเมตตา คือมีความปรารถนาดี เพราะว่าผู้หญิง ถ้านับถือพุทธศาสนา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง เริ่มแรกก็เป็นอุบาสิกา

ถ้าพูดกว้างออกไป ทั้งหญิงและชายก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะปฏิบัติแล้วบรรลุธรรมได้ ในเมื่อทั้งหญิงและชายมีความสามารถนี้ แต่เวลานี้ผู้หญิงมีโอกาสภายนอกเกื้อหนุนน้อยลง เราก็มีความปรารถนาดี คืออยากให้ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุผล อย่างที่เรียกว่าให้เต็มตามศักยภาพของตน

เวลานี้มีผู้หญิงที่อยากจะบวชเป็นภิกษุณี แต่พอดีว่าในประเทศไทยเราไม่มีภิกษุณี ถ้าพูดกว้างออกไป ภิกษุณีสายเถรวาทเวลานี้หมดไปแล้ว ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไร เฉพาะขั้นที่หนึ่งเราทำได้ก่อน คือ ตั้งจิตปรารถนาดีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีโอกาสมากที่สุดที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม

ตั้งหลักไว้ : ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย

ข้อที่ ๒ ความปรารถนาดีและความต้องการของเรานี้จะได้แค่ไหน ก็ต้องขึ้นต่อหลักการ เราต้องดูว่าหลักการเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติไว้อย่างไรในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ทำได้เท่าไหนก็เท่านั้น

การปฏิบัติในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณีนี้ ถึงจะมีรายละเอียดมาก แต่ถ้าว่าโดยหลักการกว้างๆ เราทราบกันแล้วว่า การที่จะบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องมีอุปัชฌาย์เป็นภิกษุณี แต่ข้อนี้ยังไม่สำคัญเท่าไร เพราะว่าอุปัชฌาย์นั้นยังไม่ทำให้สำเร็จความเป็นภิกษุณีได้

การบวชเป็นภิกษุณีหรือภิกษุก็ตาม สำเร็จด้วยสงฆ์ ตรงนี้เป็นข้อสำคัญ และเป็นตัวตัดสิน คือต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทำอย่างไรจะให้มีภิกษุณีสงฆ์มาบวชให้ ในเมื่อภิกษุณีสงฆ์ขาดตอนไปแล้ว

ในเรื่องนี้ ไม่ว่าภิกษุหรือภิกษุณีก็เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะภิกษุณี ภิกษุถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ก็บวชไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดเหตุการณ์อย่างในประวัติศาสตร์ของลังกา ภิกษุสงฆ์หมดไปตั้ง ๒ ครั้ง ซึ่งทำให้ในลังกากุลบุตรบวชเป็นภิกษุไม่ได้

แต่พอดีว่าในประเทศไทยและพม่า ซึ่งเป็นประเทศเถรวาทเหมือนกัน ยังมีภิกษุสงฆ์อยู่ ทางศรีลังกาจึงได้ส่งทูตมาขอพระภิกษุสงฆ์ ไปบวชกุลบุตรชาวลังกา เกิดมีพระภิกษุขึ้นใหม่ ต่อมาภิกษุสงฆ์หมดอีก ก็ขอใหม่อีก ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าภิกษุสงฆ์ในประเทศอื่นไม่มี ภิกษุก็บวชใหม่ไม่ได้ ก็จบสิ้นเหมือนกัน

ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทขาดตอนไปหมดแล้ว เราเลยบอกว่า ไม่รู้จะเอาภิกษุณีสงฆ์ที่ไหนมาบวชผู้หญิงให้เป็นภิกษุณี ถึงแม้ภิกษุสงฆ์จะมีอยู่ ก็บวชให้ไม่ได้ เพราะการที่จะบวชภิกษุณีได้นั้น ความสำคัญอยู่ที่ภิกษุณีสงฆ์ มีภิกษุสงฆ์อย่างเดียวบวชให้เป็นภิกษุณีไม่ได้ องค์ประกอบสำคัญก็คือภิกษุณีสงฆ์นี่แหละ

ตอนนี้มีคำถามว่า ที่ประเทศมหายานเช่นไต้หวันนั้นมีภิกษุณีสงฆ์ เพราะฉะนั้น ก็บวชภิกษุณีได้ใช่ไหม ก็ตอบง่ายๆ ชัดเจนว่าบวชได้ คือบวชเป็นภิกษุณีมหายาน เพราะเมื่อบวชโดยภิกษุณีสงฆ์มหายานและภิกษุสงฆ์มหายาน ก็ต้องเป็นภิกษุณีมหายาน เป็นเรื่องธรรมดา บวชอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าบอกว่าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นเป็นภิกษุณีสงฆ์เถรวาท เพราะสืบต่อมาจากสายเถรวาท ก็ต้องไปสืบประวัติกันให้ชัดออกมา คือตรงไปตรงมา ให้ชัดลงไปว่าเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร

นอกจากนี้ ยังจะมีปัญหาอีกขั้นหนึ่งว่า ถ้าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันเริ่มต้นโดยเกิดจากภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริง แต่ต่อจากนั้นมา เวลาบวชภิกษุณีก็กลายเป็นว่า สงฆ์ ๒ ฝ่ายที่บวชให้นั้น ภิกษุณีสงฆ์เป็นเถรวาท ภิกษุสงฆ์เป็นมหายาน ภิกษุณีที่บวชใหม่ก็จะกลายเป็นลูกครึ่ง คือเป็นภิกษุณีที่เป็นกึ่งเถรวาทกึ่งมหายาน

ที่ว่ามานี้เป็นข้อที่จะต้องยกมาพิจารณาตามหลักการ ซึ่งต้องว่ากันเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการยกตัวอย่างให้ฟังว่า การจะทำอะไรก็ต้องรู้ก่อนว่า ถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักจะต้องทำอย่างไร

แต่ขั้นที่หนึ่ง เรามีความรู้สึกที่ดี มีเจตนาที่ดี ปรารถนาดี ต่อจากนั้นก็หาทางว่าจะทำได้เท่าไร คือความต้องการต้องถูกจำกัดด้วยหลักการ หลักการเปิดให้เท่าไรเราก็พยายามหาทางทำให้เต็มที่เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดกั้น

เจตนาไม่ได้อยู่ที่จะปิดกั้น แต่เจตนาจะหาทางให้ แต่หาทางให้เท่าที่หลักการจะเปิดให้ แล้วก็มาช่วยกันพิจารณา ถ้าตั้งจิตอย่างนี้ และทำตามหลักแล้ว คงจะไม่ต้องมามัวเถียงกันมาก เป็นการยกตัวอย่างหัวข้อที่จะพิจารณาก็แล้วกัน ในเมื่อจะไม่พูดยืดยาวนัก

อาจจะสรุปอย่างสั้นที่สุดว่า เราควรทำโดยวิธีที่ว่า “ผู้หญิงก็ได้ ธรรมวินัยก็ไม่เสีย”

การจะทำได้อย่างนี้ ก็ต้องมีความรู้เข้าใจเรื่องที่จะทำ โดยเฉพาะหลักธรรมวินัยเกี่ยวกับการบวชภิกษุณี ถึงแม้จะคิดแก้ไข จะไม่ทำตามหลักการ ก็ต้องรู้เข้าใจหลักที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้นให้ดี แล้วก็ต้องตั้งตัวให้ดี ไม่ใช่ว่าหลักการอะไร จะใช้ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่า ฉันชอบใจหรือไม่ชอบใจ

ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี
แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี

ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการถกเถียงกันคราวนี้ เพียงฟังและพิจารณาเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่า มีการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้เข้าใจเรื่องราวกันมากทีเดียว หลายท่านก็พูดให้ทั้งตัวเองและคนอื่นยิ่งสับสน แล้วปัญหาก็เลยยิ่งสับสนแก้ไขยาก

บางคนพูดทำนองว่า ทำไมจึงไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี บางคนถึงกับอ้างรัฐธรรมนูญ บางคนว่าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ก็ให้ภิกษุสงฆ์บวชให้ภิกษุณีสิ บางคนก็พูดทำนองว่า เถรวาทใจแคบ ทำไมไม่ทำอย่างในฝ่ายมหายานที่บวชภิกษุณีได้ บางคนว่าองค์กรปกครองคณะสงฆ์ คือมหาเถรสมาคม ทำไมไม่รับรองการบวชเป็นภิกษุณี

ความจริงก็เป็นเรื่องชัดเจนง่ายๆ ผู้หญิงเคยมีสิทธิบวชในสมัยพุทธกาลอย่างไร ปัจจุบันผู้หญิงก็ยังมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีอยู่เช่นนั้น แต่ความติดขัดอยู่ที่ไม่มีคนมีสิทธิบวชให้ หรือคนที่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณีนั้น เวลานี้ไม่มี

ที่บางคนจะให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีโดยไม่ต้องมีภิกษุณีสงฆ์นั้น เป็นเพราะไม่รู้ขั้นตอนการบวชภิกษุณีนั้นว่า ทำอย่างไรบ้าง ตรงนี้แหละควรจะพูดเสียเลยว่า ภิกษุสงฆ์ไม่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณี แม้แต่บวชสามเณรี พระภิกษุก็บวชให้ไม่ได้ พระภิกษุบวชเด็กผู้ชายเป็นสามเณรได้ พระภิกษุณีก็บวชเด็กผู้หญิงเป็นสามเณรีได้ ฝ่ายไหนฝ่ายนั้น ภิกษุณีไม่บวชสามเณร ภิกษุก็ไม่บวชสามเณรี

ดังที่ทราบกันอยู่ว่า แต่เดิมมีภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นก่อน ต่อมาภิกษุณีรูปแรก คือพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง ส่วนสตรีท่านอื่นที่ติดตามพระมหาปชาบดีโคตมีมา พระพุทธเจ้าทรงให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ คือบวชโดยภิกษุสงฆ์

เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นแล้ว และภิกษุณีก็มีจำนวนมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงให้ภิกษุณีสงฆ์บวชภิกษุณีก่อน แล้วจึงมาบวชที่ภิกษุสงฆ์ต่อภายหลัง กลายเป็นว่าภิกษุณีบวชจากสงฆ์สองฝ่าย

เมื่อถึงตอนนี้ ภิกษุสงฆ์จะประชุมบวชภิกษุณีได้ ต่อเมื่อภิกษุณีนั้นบวชเสร็จจากภิกษุณีสงฆ์มาแล้ว ขั้นตอนการบวชที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บวช ที่ศัพท์พระเรียกว่าสอบถามอันตรายิกธรรมต่างๆ นั้น ต้องทำโดยภิกษุณีสงฆ์

การที่ภิกษุสงฆ์จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะบวชเป็นภิกษุณีนั้น พระพุทธเจ้าทรงระงับตัดไปแล้ว การที่จะยอมรับคุณสมบัติของสตรีที่ขอบวช ทรงให้เป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ เป็นธรรมดาตามหลักกฎหมาย เมื่อมีบัญญัติใหม่ บัญญัติเก่าที่ขัดกัน ก็ระงับไป

การบวชภิกษุณีแทบจะสมบูรณ์มาแล้ว ในขั้นตอนของภิกษุณีสงฆ์ ขั้นตอนของภิกษุสงฆ์เรียกได้ว่าเหลือแค่รับทราบและยอมรับตามที่ภิกษุณีสงฆ์ดำเนินการมา ภิกษุสงฆ์จึงไม่มีมีสิทธิบวชสตรีเป็นภิกษุณี ถ้าภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ได้บวชให้

ต่อมาทรงอนุญาตแม้กระทั่งว่า เมื่อสตรีบวชเป็นภิกษุณีเสร็จในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แล้ว ถ้ามีเหตุติดขัด เช่นการเดินทางอาจมีอันตราย การบวชในขั้นภิกษุสงฆ์ เจ้าตัวภิกษุณีนั้นจะไม่มาเองก็ได้ เพียงให้มีผู้แจ้งแทนเรียกว่า การอุปสมบทโดยทูต (ทูเตนอุปสัมปทา)

ถ้าภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี หรือภิกษุบวชสามเณรี ดีไม่ดี อีกไม่ช้า คนที่ทวงสิทธิสตรีก็จะท้วงว่า พระภิกษุถือสิทธิอะไรมาเป็นผู้บวชให้แก่สตรี ทำไมสตรีจะต้องไปให้ภิกษุบวชให้

การยกเอารัฐธรรมนูญมาอ้างว่า สตรีต้องมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีนั้น ไม่มีสาระอะไรเลย เพราะผู้หญิงมีสิทธิบวชอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่มีผู้มีสิทธิบวชให้แก่สตรีนั้น

การอ้างรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ก็เหมือนกับว่า ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไม่มีโรงเรียนแพทย์ หรือไม่มีคณะแพทยศาสตร์ แล้วมีคนหนึ่งมาอ้างว่าตนต้องมีสิทธิได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้น หรืออะไรทำนองนั้น (รัฐธรรมนูญนี้อ้างกันจนชักจะเลอะ และเลยเถิด จนบางคนต่อไปรับประทานอาหารแล้ว ก็คงต้องอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้กระเพาะและลำไส้ของฉันมีสิทธิย่อยอาหารได้)

เวลานี้ เมื่อบวชเป็นภิกษุณีในสายเถรวาทไม่ได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่ามีมหายานที่ไหนจะบวชเป็นภิกษุณีที่นั่นได้ พุทธศาสนามหายานมีนิกายย่อยแยกออกไปมากมาย มหายานบางแห่งบางนิกายยังมีภิกษุณี มหายานหลายแห่งก็ไม่มีภิกษุณี การที่จะบวชเป็นภิกษุณีมหายาน ก็บวชได้กับมหายานบางแห่งบางนิกายเท่านั้น

ส่วนเรื่องคณะสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมนั้น เมื่อเป็นเรื่องหลักพระธรรมวินัย ท่านทำได้แค่ให้ความรู้และท่านก็ต้องปฏิบัติตาม จะให้คณะสงฆ์มาตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองไม่ได้

ตามเรื่องที่ปรากฏและเถียงกันอยู่นี้ เห็นได้ว่า คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจ ไม่ว่าโดยพระธรรมวินัยหรือโดยกฎหมายของรัฐ ที่จะรับรองการบวชภิกษุณีนั้น จะทำได้ก็แค่รับรู้การบวชและให้ความรู้แก่ประชาชน

การให้ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนนี้เป็นหน้าที่ยืนตัว ที่ควรทำตลอดเวลา รวมแล้วก็ต้องย้ำว่า การจะแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไร ก็ควรจะได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้นบ้าง มิฉะนั้น พูดกันไปพูดกันมาก็ไม่ได้อะไร มีแต่ยิ่งสับสน

ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา
ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง

ข้อที่ ๓ เรื่องเก่าเกี่ยวกับสิ่งดีที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งบางทีเราก็มองข้ามไป ไม่เอาใจใส่ ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสองข้อที่พูดไปนั้นโดยตรง คือการที่สังคมไทยเรามีแม่ชีสืบมา

การที่เรามีแม่ชีก็เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า สังคมไทยเราเคยพยายามหาช่องทางให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในการแสวงวิเวกหาความสงบ ในการมีชีวิตแบบผู้ปลีกตัวจากสังคม แล้วก็บำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติทางจิตภาวนาและปัญญาภาวนา

แต่สังคมของเราสมัยก่อนนี้ ไม่ใช่เป็นสังคมขยายใหญ่อย่างปัจจุบัน ที่ต้องมีเรื่องของกฎหมาย หรือระบบระเบียบข้อบัญญัติของรัฐหรือของสังคมอะไรต่างๆ มากมาย เพราะในอดีตสังคมของเราเป็นชุมชนแต่ละชุมชนที่สำเร็จในตัว เราอยู่กันง่ายๆ แต่พอเป็นสังคมใหญ่อย่างปัจจุบันนี้ ปัญหาเรื่องการจะมีสถานะอะไรต่างๆ ก็เกิดขึ้น

นอกจากนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็มีปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ทำให้แม่ชีซึ่งเดิมนั้นคงอยู่เพื่อแสวงหาชีวิตที่สงบ เพื่อมีโอกาสปฏิบัติในทางวิเวกได้มาก ก็กลายเป็นว่า ต่อมาแม่ชีมีภาพเสียหาย เพราะมีแม่ชีที่ไปเที่ยวขอทาน เมื่อไม่นานมานี้มีคนมาเล่าว่า ที่ศูนย์การค้าบางแห่ง ซึ่งมีฝรั่งมามาก มีแม่ชีไปขอทาน ไปเที่ยวขอเงินจากฝรั่ง อย่างนี้ก็เสียหมด

นอกจากนั้น ในยุคหลังๆ มาถึงปัจจุบันนี้ แม่ชียังมีภาพเสียหายในด้านอื่นอีก เช่นว่า เป็นคนที่ไม่ค่อยมีการศึกษา ตลอดจนเป็นคนอกหัก อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นเรื่องของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งบางทีผู้ที่อยู่ในระบบชีวิตแบบนั้นเองเป็นผู้ทำให้เสื่อมเอง เมื่อตัวแม่ชีปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว ยิ่งถ้าคนทั่วไปหรือสังคมส่วนรวมไม่ช่วยรักษา ก็ย่อมเสื่อมลงไป

แม้แต่พระภิกษุก็เหมือนกัน อย่างเวลานี้เมื่อมีพระภิกษุที่ประพฤติเสื่อมเสียมากๆ ภาพพระภิกษุเองก็เสื่อม ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายอย่างนี้ต่อไป สภาพก็จะไม่ต่างจากแม่ชี ต่อไปคนจะมองพระเสียหมด ยกตัวอย่างง่ายๆ ในทางพระศาสนาถือว่า พระภิกษุเป็นบรรพชิต เป็นสมณะ ซึ่งตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์สอนว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี บรรพชิตเป็นผู้ไม่ทำร้ายคนอื่น สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นจึงเป็นสมณะ

ตามหลักการนี้ ภาพของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็คือเป็นผู้ที่ไม่มีภัย คนไปพบพระที่ไหนก็ใจสบาย มีความร่มเย็น คนสมัยก่อนไปในป่า ในที่เปลี่ยว ในที่น่ากลัว พอเจอพระ ใจก็มา โล่งอก สบายใจเลย คือหมดภัยอันตราย แต่ภาพสัญลักษณ์นี้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี บางทีเจอพระ หรือแต่งเป็นพระจริง คือภายนอกห่มผ้ากาสาวพัสตร์จริง แต่ภายในเป็นพระหรือเปล่า คนชักจะไม่ไว้ใจ ไปเจอพระแทนที่จะปลอดภัย เลยชักหนักใจ อย่างนี้ก็ไม่ไหว

ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายกันมาก ไม่เฉพาะแม่ชีหรอก พระภิกษุก็จะหมดสถานะไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะมีสถานะดี ปัจจัยขั้นแรกไม่ใช่ว่าอยู่ที่ไหนไกล ก็อยู่ที่คนผู้อยู่ในระบบนั่นเอง ที่จะประพฤติตัวและดูแลกันให้ประพฤติให้ถูกต้องตามหลัก

พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี
ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น

แม่ชีเรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะพูดเรื่องภิกษุณีกันหรือไม่ก็ตาม ก็ขออย่าให้มองข้างเรื่องแม่ชีไป เมื่อแม่ชีมีอยู่ เราทำอย่างไรจะจัดให้ดี ให้มีสถานะเป็นที่น่าเคารพนับถือ ให้มีโอกาสปฏิบัติได้ดีมากที่สุด

พร้อมกันนี้ นอกจากการปฏิบัติในชีวิตส่วนตัว แม่ชียังมีความเป็นอยู่ที่ยืดหยุ่น เชื่อมกับสังคมของชาวบ้านได้ดีกว่าพระภิกษุ เพราะไม่มีวินัยเป็นกรอบมาก เพราะฉะนั้น ถ้าช่วยกันจัดปรับให้ดี แม่ชีของเราจะทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้น

๑. เราควรสนับสนุนการศึกษาของแม่ชี และยกย่องสถานะด้วยวิธีการที่จำเป็นตามยุคสมัย

๒. เราควรสนับสนุนให้แม่ชีมีโอกาสทำประโยชน์แก่สังคมให้มาก เช่น สอนเด็ก เป็นครูอาจารย์ ทำประโยชน์ในกิจกรรมประเภทสังคมสงเคราะห์ต่างๆ

ที่พูดมานี้แหละ คือการตอบคำถามว่า สิ่งที่มีอยู่แล้วนี้ ทำอย่างไรเราจะมาช่วยกันส่งเสริมหรือจัดทำให้ดี อย่าให้ใครติเตียนได้ว่า ขนาดสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคม เราก็ยังไม่สามารถทำให้ดีได้ จะคอยแต่ตื่นสิ่งใหม่ แล้วสิ่งใหม่นั้นต่อไปก็คงไม่ได้เรื่องอีก

มันจะเหมือนกับเป็นเครื่องฟ้องว่า สิ่งที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถทำได้ดี แล้วจะไปตื่นสิ่งใหม่ แล้วต่อไปสิ่งใหม่นั้นจะได้เรื่องหรือเปล่า ไม่ช้าก็คงเข้าแบบเดียวกัน ถ้าเหตุปัจจัยอยู่ที่สังคมไทยเอง ไม่มีความสามารถที่จะจัดสิ่งที่ตัวมีให้ดี ถึงจะได้อะไรมาใหม่ ไม่ช้าของดีนั้นก็จะเสื่อมทรามไป เพราะฉะนั้นอย่าลืมตรวจสอบตัวเองว่าเหตุปัจจัยอยู่ที่ไหน ถึงเวลาที่ต้องศึกษาและพัฒนาตัวเอง

เป็นอันว่า จะพูดเรื่องภิกษุณีหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิดทำให้ดี ก็คือเรื่องแม่ชี เราควรจะต้องมาช่วยกันให้โอกาสแม่ชี ด้วยการสนับสนุนต่างๆ แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของสตรีแก่สังคม และแก่พระศาสนามาก

ในพุทธกาลเอง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับพระภิกษุ ก็ทรงจำแนกว่า พระภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นมัชฌิมะ เป็นนวกะ ภิกษุณีก็เป็นเช่นเดียวกัน มีเถรี มัชฌิมา นวกา ในฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา พระพุทธเจ้าก็ตรัสแยกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นอุบาสกและอุบาสิกาประเภทพรหมจารี ถือพรหมจรรย์ กับอุบาสกอุบาสิกาที่ไม่ได้ถือพรหมจรรย์ เรียกว่าเป็นกามโภคี คือเป็นผู้อยู่ครองเรือน

พุทธพจน์นี้แสดงว่า อุบาสิกาประเภทที่เป็นพรหมจารี มีมาแต่พุทธกาลแล้ว ถ้าว่าไปแล้ว แม่ชีก็เป็นอุบาสิกาประเภทนี้ คือประเภทที่ท่านเรียกว่า โอทาตวสนา พรหมจารินี แปลว่า เป็นผู้นุ่งห่มขาว ถือพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ควรจะได้รับความเคารพนับถือ แต่เดี๋ยวนี้เราเอาใจใส่แค่ไหน

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราต้องพยายามจัดสิ่งที่มีอยู่ให้ถูกต้อง และต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจ บางคนที่พูดถึงเรื่องภิกษุณีก็ไม่ได้รู้ไม่ได้ศึกษาหลัก ได้แต่แสดงความเห็นเรื่อยไป เราควรจะพูดในสิ่งที่ตนรู้ การแสดงความเห็นนั้น ต้องมาคู่กับการหาความรู้

การแสดงความคิดเห็น
ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้

การศึกษาปัจจุบันเดี๋ยวนี้พูดกันบ่อยว่า เด็กไทยไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็น จะต้องสนับสนุนให้เด็กแสดงความเห็น อย่าลืมว่า การแสดงความคิดเห็นนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ประเทศที่จะเจริญต้องเน้นการหาความรู้ ให้มีความใฝ่รู้ และบนฐานของความรู้นั้น จึงแสดงความคิดเห็นได้เป็นหลักเป็นฐาน

ถ้าไม่มีความรู้ ไม่รู้เรื่องราว ก็ได้แค่แสดงความคิดเห็นไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น การแสดงความคิดเห็น ต้องมาคู่กับการหาความรู้ ให้ความคิดเห็นเกิดจากความรู้ความเข้าใจ และเป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญา ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็นที่มาจากความชอบใจไม่ชอบใจ

ถ้าเอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจก็พูดไป อย่างนั้นพูดได้แค่ว่าฉันต้องการอะไร แต่ถ้าจะก้าวต่อไปว่า ที่ฉันต้องการนั้นควรจะได้หรือไม่แค่ไหน ตอนนี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ จะเอาแต่ชอบใจไม่ชอบใจไม่ได้ ฉะนั้น การศึกษาทั่วไปนี้ อย่าเอาแค่ส่งเสริมให้เด็กชอบแสดงความคิดเห็น เดี๋ยวก็แสดงความคิดเห็นเหลวไหลไร้สาระ เอาแค่มาพูดแข่งกัน ข่มกัน ทะเลาะกัน ไม่เป็นเรื่อง

การที่ให้มีการแสดงความคิดเห็น ก็เพราะต้องการจะส่งเสริมสติปัญญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ ให้ได้แก่นสาร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมการหาความรู้ขึ้นมาเป็นคู่กัน โดยเฉพาะจะต้องส่งเสริมลักษณะนิสัยให้มีคุณสมบัติเป็นคนใฝ่รู้

ในประเทศที่คนไม่มีความใฝ่รู้ แต่ชอบแสดงความคิดเห็นนั้น จะไม่มีแก่นสารอะไร ข้างในกลวงหมด เป็นเรื่องใหญ่ที่ว่า ถ้าการศึกษาไปเน้นในด้านการแสดงความคิดเห็น ก็เป็นการข้ามขั้นตอนไป เพราะฉะนั้น จะต้องหันไปเน้นด้านการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะต้องสร้างความเป็นคนใฝ่รู้ขึ้นมาเป็นแกน แล้วการแสดงความคิดเห็นจึงจะไปได้ดี

เวลานี้เป็นปัญหาของสังคมไทยอยู่แล้ว ที่ว่าคนมักชอบแสดงความคิดเห็นกันมาก โดยไม่หาความรู้ และเมื่อได้แสดงความคิดเห็นแค่ชอบใจไม่ชอบใจแล้ว ก็เลิกกัน หรือทะเลาะกัน ขัดใจกัน ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจ และไม่หาความรู้ต่อไป

หลักพระพุทธศาสนาสอนไว้เป็นขั้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวว่า เมื่อรับรู้ด้วยตาหูจมูกเป็นต้น ไม่ใช่ว่าได้เห็นได้ยินแล้วก็ได้แค่ยินดียินร้าย ตาเห็นรูป พอถูกตาก็ชอบใจ ไม่ถูกตาก็ไม่ชอบใจ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสเริ่มด้วยเรื่อง อินทรียสังวร ว่า ให้รับรู้ดูฟังด้วยสติ ทำให้ได้ความรู้ ได้ปัญญา ท่านให้มองอะไรด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ใช่มองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ

เรื่องนี้เป็นหลักขั้นต้นสำหรับพุทธศาสนิกชนว่า จะมองอะไรไม่ใช่มองแค่ชอบใจไม่ชอบใจ แต่ต้องมองด้วยความรู้ความเข้าใจ และเพื่อให้มองด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็ต้องมองตามเหตุปัจจัย ตอนนี้มีหลายใจนะ อย่างที่หนึ่งต้องตัดทิ้งคือมองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ ให้เปลี่ยนเป็นมองตามเหตุปัจจัย แล้วก็มองด้วยความรู้ความเข้าใจ หรือมองเพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจ

ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ ชีวิตของตัวเองก็ไม่งอกงาม สังคมก็ไปดีไม่ได้ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่พึงนำมาใช้ แม้แต่ในการถกเถียงปัญหาของสังคม

สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า
หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่

อย่างเรื่องของภิกษุณีนี้ ไม่ว่าจะได้แค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏออกมา ซึ่งควรยกมาพิจารณาก็คือ การที่ได้ถกเถียงกันมานั้น ทำเพียงด้วยความชอบใจไม่ชอบใจ หรือทำด้วยความรู้ความเข้าใจ แล้วก็มีการแสวงหาความรู้ให้เห็นเหตุปัจจัยหรือไม่ ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็ได้ฝึกตัวเองไปในตัว ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา เราก็ได้ประโยชน์

อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในการชี้แจงตอบปัญหาต่างๆ เราต้องทำโดยมีเมตตา เรียกว่า ตั้งเมตตาธรรม อย่างที่ภาษาพระเรียกว่าเป็น ปุเรจาริก คือเอาเมตตาความปรารถนาดีต่อกันมานำหน้า ส่วนจะได้แค่ไหน ก็ต้องว่าไปตามหลัก

ถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็ฝึกตัวเองไปด้วย การพูดจากันก็เป็นเหตุเป็นผล และพูดสุภาพไม่หยาบคาย เอาละ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ก็คงจะได้จุดเน้น ๓ ข้อ คือ

๑. ขอให้ตั้งจิตเมตตาปรารถนาดีต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง

๒. หาทางทำให้ดีที่สุดเท่าที่หลักการเปิดให้ โดยไม่ให้ความต้องการมาล้มหลักการ ไม่เอาความต้องการของเราเหนือหลักการที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ใช่ว่าคราวนี้พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไรฉันไม่ฟังแล้ว ต้องเอาอย่างที่ฉันว่าก็แล้วกัน

๓. เรื่องราวกิจการที่เรามีอยู่แล้ว ขอให้สังคมไทยแสดงความสามารถออกมา โดยจัดการให้ดี มิฉะนั้นมันจะฟ้องว่า ต่อไปเธอรับสิ่งใหม่มาก็คงไม่ได้เรื่องอีกนั่นแหละ

แม่ชีมีอยู่แล้ว ก็แก้ไขปรับปรุงจัดทำให้ดี ให้แน่นอนเสียก่อน ส่วนเรื่องใหม่จะได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่เพิ่มเข้ามา ขอให้ช่วยเอาใจใส่เรื่องแม่ชีด้วย เราชาวพุทธด้วยกันทำไมไม่เอาใจใส่ ถ้าแม่ชีเป็นอะไรไป ก็ทำความเสื่อมเสียแก่พุทธบริษัทด้วย เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาใจใส่รับผิดชอบช่วยกันหนุนในทางที่ดี ส่งเสริมทั้งประโยชน์ตนของแม่ชีเอง และประโยชน์ผู้อื่นที่แม่ชีจะช่วยได้แก่พระศาสนา และแก่สังคมประเทศชาติ

เมื่อทำได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกตัวไปเรื่อยๆ เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ตลอดเวลานี้ให้ถูกต้อง

เราก็มาดูว่าเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ หรือพบปัญหาต่างๆ เราปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร จัดการปัญหานั้นอย่างไร ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราก็ปฏิบัติธรรม เราก็ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา เราก็พัฒนาตัวเอง ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ ผลดีก็เกิดทั้งแก่ตนเองและแก่สังคมพร้อมไปด้วยกัน แต่ถ้าเราไปเอาความชอบใจไม่ชอบใจมาเป็นที่ตั้ง เราก็ไม่ได้ฝึกไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ชีวิตก็เสีย สังคมก็ไม่ได้

การปฏิบัติตามหลักอย่างนี้ ก็เพื่อไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคน ซึ่งนอกจากทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงแล้ว ก็ช่วยให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขด้วย สังคมจะร่มเย็นเป็นสุข ก็คือ การที่เราได้แผ่ขยายธรรม คือความดีงามนี้ ให้กระจายออกไปทั่วถึง จนกระทั่งคนมายึดถือตั้งอยู่ในธรรม

สังคมจะอยู่ดีได้นั้น หลักพระพุทธศาสนาก็บอกแล้วว่าเราต้องมี ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าคนไม่มีธรรมเป็นใหญ่ ถึงแม้จะเป็นประชาธิปไตยคือมีประชาชนเป็นใหญ่ มันก็ไม่ไปไหน

ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ แต่ไม่มีธรรมเป็นใหญ่ เช่นประชาชนจำนวนมากเป็นคนขี้ยา ประชาชนส่วนมากเป็นคนเห็นแก่การเสพบริโภค มัวเมาลุ่มหลง ติดอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว ตกอยู่ในความประมาท หวังผลจากสิ่งที่เหลวไหล ไม่หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม มัวแต่จ้องหาผลประโยชน์ ขัดแย้งแย่งชิงกันอยู่อย่างนี้ ถึงประชาชนเป็นใหญ่ แต่เมื่อประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่มีธรรม มันก็ไปไม่รอด ประชาธิปไตยก็เสื่อมโทรม บ้านเมืองก็ไม่ก้าวหน้า ไม่ร่มเย็นเป็นสุข

ถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบนี้ ก็เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ เพราะประชาชนไม่มีคุณภาพ ประชาชนจะมีคุณภาพ ประชาธิปไตยจะดี ก็ต้องมีธรรมเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่เหนือประชาธิปไตย และต้องเป็นแกนของประชาธิปไตย ก็คือ ธรรมาธิปไตย ต้องให้ธรรมาธิปไตย มาเป็นแกนให้แก่ประชาธิปไตยอีกที จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี เพราะประชาชนตั้งอยู่ในธรรม

ฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนี้ อย่าไปภูมิใจแค่ประชาชนเป็นใหญ่ แค่นั้นไปไม่รอดหรอก ถ้าไม่มีธรรมเป็นใหญ่ ฉะนั้น เข้ามานำเอาหลักพระพุทธศาสนาไปช่วยประชาธิปไตย ชาวพุทธจะต้องช่วยกันให้ธรรมเป็นใหญ่ อาจจะเลียนคำศัพท์ที่เขาเคยพูดก็ได้ เขาเคยพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราก็บอกว่า ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงจะมีความร่มเย็นงอกงามและเป็นสุขแท้จริง

จะพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ได้ แต่ต้องพูดให้เป็นขั้นเป็นตอน คือ ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจของคน แล้วให้ประชาชนที่มีธรรมอยู่ในใจนั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อย่างนี้จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี คือเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นแกน หรือประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมาธิปไตย

สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน
เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน

ขออนุโมทนาญาติโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่งที่มีน้ำใจ ทั้งด้านหนึ่งคือศรัทธาในพระรัตนตรัย และอีกด้านหนึ่งคือมีจิตเมตตา มีความปรารถนาดีต่อพระสงฆ์ แล้วสองอย่างนี้ก็มาประสานกัน จิตที่มีศรัทธาประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดี ก็แสดงออกมาทางกายกรรม และวจีกรรม

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักทิศ ๖ ที่ว่า อุบาสก อุบาสิกา หรือกุลบุตรกุลธิดานี้ ตั้งจิตประกอบด้วยเมตตาต่อพระสงฆ์ จะคิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา จะทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา เมื่อมีเมตตาปรารถนาดี อยากจะให้พระสงฆ์มีกำลังในการปฏิบัติศาสนกิจ จึงมาอุปถัมภ์บำรุงโดยนำภัตตาหารมาถวาย เรียกกันว่า ทำบุญเลี้ยงพระ ให้พระสงฆ์มีกำลัง

พระสงฆ์จะได้ไม่ต้องมัวห่วงกังวลในด้านปัจจัยสี่ แล้วจะได้ตั้งหน้าตั้งตาอุทิศตัวอุทิศใจ อุทิศเวลา อุทิศเรี่ยวแรงกำลังให้กับการปฏิบัติศาสนกิจ โดยตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติเจริญไตรสิกขา แล้วนำธรรมมาเผยแผ่สั่งสอนแก่ประชาชน อย่างนี้ทุกอย่างก็จะดำเนินไปด้วยดี

เข้าหลักที่ว่า ญาติโยมถวายอามิสทาน และพระสงฆ์ก็ปฏิบัติหน้าที่อำนวยธรรมทานให้แก่ประชาชน ด้วยวิธีนี้พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงยั่งยืน และประโยชน์สุขก็จะเกิดขึ้นแก่สังคม ประเทศชาติและชาวโลกโดยทั่วไป

ในวาระนี้ ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง และขอคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร อภิบาลรักษาให้ชาวธรรมะร่วมสมัยทุกท่านพร้อมทั้งครอบครัวญาติมิตร และประชาชนคนไทย พร้อมทั้งชาวโลกทั้งมวล เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคี ที่จะช่วยกันดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายให้ก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จสมหมาย ยังประโยชน์สุขให้สำเร็จแก่ชีวิต แก่ครอบครัว และแก่ส่วนรวม ทั้งสังคมประเทศชาติ และทั่วทั้งโลกสืบไป ตลอดกาลนาน

- ๒ -
ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี

คุณภาวนีย์ บุญวรรณ นศ.ปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ สัมภาษณ์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่วัดญาณเวศกวัน ๑๗ กันยายน ๒๕๔๑

..........................................................

ไม่ว่าหญิงหรือชายมีความเป็นมนุษย์เสมอกัน

ถาม :

๑. เรื่องที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงมาตุคามในแง่ที่ไม่ดี

๒. เรื่องที่ว่าในยุคแรกไม่ให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยผู้ที่จะบวชต้องรับครุธรรม ๘ ประการ มีผู้สงสัยว่า บางข้ออาจมีผู้เขียนเพิ่มเติมในหนหลังสมัยลังกา ไม่ใช่เป็นการบัญญัติของพระพุทธเจ้าเอง เช่นข้อที่ว่า ภิกษุณีแม้บวชมานาน มีพรรษามาก กว่าภิกษุ ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ และห้ามภิกษุณีว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ ไม่ทราบว่าแม้ทำผิดด้วยหรือไม่

ตอบ :

การที่จะตอบเรื่องนี้ เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อน คือ
๑. ต้องแยกเรื่องการบรรลุธรรมหรือศักยภาพในการบรรลุธรรมออกไปต่างหาก
๒. ต้องทราบเรื่องของสังคมซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คณะสงฆ์ตั้งอยู่
๓. ต้องเข้าใจเรื่องศาสนกิจที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ปฏิบัติ

ถ้าแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะทำความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความเป็นมนุษย์ และความเป็นหญิง เป็นชายนี้ โยงไปถึงการบรรลุธรรมด้วย ถ้ามองในแง่การบรรลุธรรมก็คล้ายกับว่าหมดความเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ไม่ต้องพูดถึง เพราะทั้งหญิงและชายมีสิ่งที่เหมือนกันคือความเป็นมนุษย์

ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า แต่ละคนเกิดเป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง หมุนเวียนไป แล้วแต่กรรมของตน ในแง่นี้ทุกคนเป็นมนุษย์ จึงไม่มีอะไรต่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายจึงมีศักยภาพในการที่จะบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน ส่วนการที่เรามามองแยกเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายนี้ เป็นการมองในช่วงเวลาสั้นๆ ระยะหนึ่งๆ หรือเฉพาะหน้า แต่ความจริงแต่ละคนก็มีทั้งความเป็นหญิง และความเป็นชาย ที่จะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ

ทำไมในคัมภีร์มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย

ถาม :

ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงผู้หญิงในแง่ที่ไม่ดีอยู่เสมอ

ตอบ :

ก็ไม่เสมอหรอก คำติเตียนว่าผู้หญิงนั้นมีชุมนุมอยู่มากจริงๆ แห่งเดียวใน กุณาลชาดก ซึ่งทั้งเรื่องเต็มไปด้วยคำด่าว่าผู้หญิง น่าสังเกตว่า กุณาลชาดกเป็นชาดกเรื่องเดียวในพระไตรปิฎกที่มีเนื้อความเป็นร้อยแก้ว เรื่องอื่นในพระไตรปิฎกปกติจะมีแต่ตัวคาถา เมื่ออรรถกถาจะอธิบายจึงเขียนเป็นร้อยแก้ว แต่กุณาลชาดกนี้แปลกที่ในพระไตรปิฎกก็ดำเนินเรื่องเป็นร้อยแก้ว จนกระทั่งถึงข้อความที่เป็นคำกล่าวว่าสตรีจึงจะเป็นคาถา ซึ่งว่ารุนแรง และเยอะแยะไปหมด ทีนี้เราก็ต้องรู้ภูมิหลังว่ากุณาลชาดกเกิดขึ้นมาอย่างไร ทำไมจึงมีคำติเตียนว่าสตรีมากมาย

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งที่ เจ้าศากยะ กับเจ้าโกลิยะ จะทำสงครามกันเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปและทรงระงับสงครามได้ด้วยพระดำรัสตรัสสอนต่างๆ เมื่อระงับ สงครามลงได้ เจ้าทั้งสองฝ่ายก็สำนึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า ก็เลยถวาย เจ้าชายที่มารบฝ่ายละ ๒๕๐ คน ให้บวชเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เพราะถ้าพระพุทธเจ้าไม่เสด็จมา ทั้งสองฝ่ายก็คงฆ่ากันตายมากกว่านั้น ก็เหมือนกับว่าถวายชีวิตที่จะสูญเสียไปกับสงครามแด่พระพุทธเจ้า

ทีนี้พอบวชแล้ว ต่อมาก็ปรากฏว่าเจ้าชายหนุ่มๆ เหล่านี้ซึ่งไม่ได้มาบวชด้วยความตั้งใจของตัวเอง แต่เป็นความตั้งใจเฉพาะหน้าที่จะมุ่งตอบแทนพระคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ทีนี้ใจของตัวเองไม่พร้อม พอหายตื่นเต้น ก็คิดถึงแฟนล่ะสิ ยิ่งต่อมาบางองค์แฟนก็ส่งข่าวมาอีก พูดอย่างนั้นอย่างนี้ ใจก็ไม่เป็นสมาธิ วุ่นวายไปหมด ก็อยากสึกกันจำนวนมาก

พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุการณ์นี้แล้วก็ทรงพระดำริว่า จะต้องช่วยภิกษุหนุ่มเหล่านั้น แล้วก็ทรงพิจารณาว่าจะแสดงธรรมเรื่องอะไรดี เพื่อจะให้ภิกษุเหล่านี้บรรเทาความเบื่อหน่ายในพรหมจรรย์

วันหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงพาภิกษุเหล่านี้เข้าป่าหิมพานต์ ไปชมนกชมไม้ ให้ได้บรรยากาศ ที่จะโน้มนำใจของภิกษุใหม่ไปในทางสงบรื่นรมย์ ตอนหนึ่งก็ได้เห็นฝูงนกดุเหว่าบินมา จึงทรงปรารภนกเหล่านั้นแล้วตรัสเล่าเรื่อง พญานกกุณาลในอดีต เจ้ากุณาลนี้รูปร่างงดงามมาก และมีนกดุเหว่าที่เป็นภรรยาเยอะแยะ แต่เจ้านกกุณาลมักจะด่าพวกนกภรรยาเหล่านั้นด้วยคำหยาบคาย จนเป็นเรื่องปกติของมัน

จะกล่าวฝ่ายนกอีกตัวหนึ่งชื่อ ปุณมุข เป็นนกดุเหว่าขาว มีภรรยาเยอะเหมือนกัน แต่นกปุณมุขนี่ชอบพูดกับภรรยานกทั้งหลายด้วยคำไพเราะ ต่อมานกปุณมุขมาหานกกุณาล ก็ถูกนกกุณาลด่าถอยกลับไป

ต่อมามีเรื่องว่านกปุณมุขเจ็บไข้ พวกภรรยาพากันทิ้งไป กลายเป็นว่านกกุณาลผู้หยาบคายนี่แหละไปช่วยรักษาโรค และช่วยเฝ้าดูแลต่างๆ ตอนนี้นกกุณาลก็เลยติเตียนว่าพวกผู้หญิงต่างๆ นานา ให้นกปุณมุขฟัง เล่าเป็นเรื่องเป็นราวว่าพวกผู้หญิงเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีดีเลย

การที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนกกุณาลนี้ก็ทรงมีเป้าหมายเหมือนกับว่า คนที่มีราคะต้องให้กรรมฐานประเภทอสุภะ จะได้เป็นเครื่องชักจูงใจไปในภาวะที่ตรงข้าม จิตที่ไปติดไปยึดผูกพันอยู่ จะได้คลายออก นี่ก็เป็นอุบายวิธี

เรื่องเล่าต่อไปว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้จบ ภิกษุหนุ่มเหล่านั้นใจก็คลายความคิดถึงแฟนลง แล้วก็ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป เรื่องก็เป็นอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เต็มไปด้วยคำติเตียนว่าสตรี เป็นแหล่งที่หาได้ง่าย ที่ชุมนุมคำต่อว่าสตรี

ตอนที่ รัชกาลที่ ๕ จะทรงพิมพ์ชาดก มีเรื่องเล่าว่า พระสนมองค์หนึ่งจะให้เผาชาดกทิ้ง เพราะไม่พอใจว่าชาดกนี้ด่าผู้หญิงมากมาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชัดว่า เป็นการแก้ปัญหาความคิดถึงผูกพันที่เป็นเรื่องทางเพศระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ทางฝ่ายหญิงก็เหมือนกัน เวลาภิกษุณีสาวๆ คิดถึงแฟนอยากสึก ภิกษุณีผู้ใหญ่ก็อาจจะเล่นงานผู้ชายเสียหนักก็ได้ แต่ไม่เป็นเรื่องบันทึกไว้

ส่วนกุณาลชาดกนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่า แต่คำติเตียนนั้นไม่ใช่คำตรัสของพระองค์เอง แม้ว่าตามเรื่องจะบอกว่ากุณาลนั่นละต่อมาเป็นพระพุทธเจ้า ข้อสำคัญก็อยู่ที่เหตุปรารภในการตรัสแสดง ในกรณีอื่นก็อาจมีข้อปรารภอื่นอีก แต่นี่เป็นตัวอย่าง ว่าเป็นจุดสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เรามองเรื่องราวต่างๆ โดยมีแง่มุมที่พิจารณาให้ตรงเรื่องกัน

เป็นอันว่าเรื่องคำกล่าวว่าเหล่านี้ อยู่ในวิธีการอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีไว้ สำหรับแก้ความฟุ้งซ่านจากราคะเกี่ยวกับการคิดถึงผู้หญิง หรือคนที่โกรธผู้หญิงมีเรื่องแค้นขึ้นมา อ่านสมใจแล้วจะได้ไม่ต้องไปฆ่าฟันทำร้ายกัน แต่อย่างที่ว่าแล้ว เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้าเอง

ทำไมในวินัยจึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม

ถาม :

ในครุธรรม ๘ มีอยู่ ๒ ข้อที่คนไม่อยากเชื่อ คือภิกษุณีที่บวชมานานกว่าภิกษุ มีอาวุโสกว่า แต่ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุที่บวชเพียงวันเดียว และภิกษุณีแม้จะอาวุโสอย่างไร ก็ไม่มีสิทธิ์ตักเตือนภิกษุ แม้จะทำผิด

ตอบ :

ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า เวลาพิจารณาเรื่องจะต้องนึกถึง
๑. เรื่องการบรรลุธรรม ที่เป็นเรื่องสภาวะ
๒. เรื่องทางสังคม ซึ่งเป็นสมมติ แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของคณะสงฆ์ และต่อการบำเพ็ญศาสนกิจของพระพุทธเจ้าด้วย

เราต้องมองว่าสังคมยุคนั้นเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญศาสนกิจเพื่องานพระศาสนา นี่ก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว ทรงพยายามให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี อะไรที่ไม่จำเป็น จะมาขัดขวางงาน ก็ต้องพยายามยั้งไว้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับทำงานแข่งกับพวกเดียรถีย์ หรือพวกศาสดาทั้ง ๖ ทีนี้ค่านิยม ความรู้สึก ทัศนคติ ขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยนั้น ก็รู้กันอยู่แล้วว่าสตรีในศาสนาทั่วไปมีฐานะทางสังคมเรียกว่าด้อยมาก

ดังนั้นเมื่อผู้หญิงจะมาบวช ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเป็นปีที่ ๕ แห่งพุทธกิจ เราก็เห็นได้ชัดว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาใหญ่ๆ ๒ ด้าน คือ

๑. แง่สังคม สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะธรรมเนียมเกี่ยวกับเรื่องนักบวช สมัยนั้นเป็นอย่างไร
๒. แง่การบรรลุธรรม

ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชนั้นชัด คือมีลำดับเรื่อง ๒ ขั้นตอนที่ว่า ตอนแรก ไม่อนุญาต และตอนหลังจึงทรงอนุญาต ถ้าเราอ่านโดยพิจารณาจะรู้เลยว่า การที่ให้บวชก็ด้วยเหตุผลในแง่บรรลุธรรมได้ แต่ถ้าว่าโดยเหตุผลทางสังคม จะไม่ยอมให้บวช เพราะว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมสมัยนั้นไม่อำนวยเลย สมัยนั้น นักบวชสตรียังไม่เป็นที่ยอมรับ และในทางสังคมสตรีก็มีฐานะด้อยอยู่

ทีนี้ในภาวการณ์ระหว่างศาสนา เมื่อค่านิยมในสังคมเป็นอย่างนี้ ถ้าผู้หญิงเข้ามาบวชก็เริ่มเป็นจุดอ่อนให้แก่ศาสนาอื่นทันที เขาก็ยกขึ้นเป็นข้อโจมตีและกดว่าศาสนานี้ผู้หญิงก็บวชได้ ก็กลายเป็นเหมือนกับว่าผู้หญิงมาดึงคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นนี้ลงไป ในขณะที่ยังต้องบุกฝ่าเดินหน้าอยู่ และถ้ายอมให้พระภิกษุไหว้ด้วย ก็จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้เขาเอาไปพูดกดพระพุทธศาสนาได้เต็มที่

เรื่องมีในพระไตรปิฎกด้วย ครั้งหนึ่ง พระมหาปชาบดี ทูลขอว่าให้พระภิกษุกับภิกษุณีเคารพกันตามพรรษา พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต และตรัสว่า แม้แต่อัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็ไม่ยอม นี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องอัญเดียรถีย์ เพราะถ้าไปทำเข้า ก็เหมือนกับยอมให้พุทธศาสนาถูกเขาดึงลงไปกดไว้

ในพระวินัย จะเห็นว่าพวกเดียรถีย์คอยหาแง่ที่จะกดจะข่ม จะว่าร้ายพระพุทธศาสนาอยู่ แม้แต่ถ้าพระภิกษุให้ของขบฉันด้วยมือแก่นักบวชอเจลก (พวกชีเปลือย) เป็นต้น ก็จะถูกเขาหาแง่มุมว่าในทางไม่ดี จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุให้ของขบฉันแก่นักบวชพวกนั้นด้วยมือตนเอง

เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจและตกลงกันให้ชัดก่อนว่า ถ้าจะบวชก็อย่าไปคำนึงถึงเรื่องด้านสังคมเลย เราจัดให้เหมาะตามสภาพสังคมก็แล้วกัน ให้ผู้หญิงที่จะบวชนึกมุ่งไปที่การบรรลุธรรมเป็นสำคัญ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธตอนแรก ก็เหมือนกับว่าจะให้พิจารณาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ว่าถ้ามองในแง่สังคม ถึงขออนุญาตอย่างไรก็ไม่ให้ แต่เมื่อมองในแง่การบรรลุธรรมจึงทรงอนุญาต

หนึ่ง เป็นการเตือนสตรีทั้งหลาย ให้รู้ว่าสภาพสังคมมันเป็นอย่างนี้ เราจะต้องตระหนักไว้ และ สอง คำนึงถึงคุณค่าของการบวชที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ว่ามุ่งที่การบรรลุธรรม แล้วก็อย่าไปคิดมากในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแง่ของการปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพสังคมอย่างนั้น แล้วก็ทรงมอบครุธรรมมาเพื่อปฏิบัติให้เหมาะกับสังคมยุคนั้น ให้เป็นอันรู้กันว่านี่เป็นการยอมรับไปตามสภาพสังคม แต่เรามุ่งที่การบรรลุธรรม จึงไม่มาติดใจกันในเรื่องนี้

เป็นอันว่า ตอนแรกที่พระมหาปชาบดีขออนุญาต พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ซึ่งเป็นการพิจารณาในแง่ของสังคม แต่เมื่อยกเหตุผลในแง่การบรรลุธรรม อันนี้ก็ทรงอนุญาตให้บวช ภิกษุณีก็ต้องตระหนักไว้ว่า การอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นนี้เพื่อเหตุผลในการบรรลุธรรม แล้วก็ให้มุ่งที่ นี่ อย่าไปคำนึงถึงในแง่ของสังคม ซึ่งจะต้องทำให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งในแง่นี้เท่ากับขอให้เห็นแก่พระศาสนาโดยส่วนรวม เพื่อให้งานพระศาสนาส่วนรวมดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

เมื่อยอมรับเงื่อนไขทางสังคม พอให้ส่วนรวมดำรงอยู่ในภาวะปกติเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว ผู้บวชเป็นภิกษุณีเข้ามา ก็มุ่งไปที่การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ขึ้นต่อการยึดถือของสังคม

ตามเรื่องที่เป็นมาปรากฏว่า ภิกษุณีสงฆ์เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากเป็นที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม ก็ได้ขยายตัวเป็นศูนย์กลางการศึกษามวลชนสำหรับสตรี เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือกระบวนการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาคนนั่นเอง และวัดกับทั้งสำนักภิกษุณี ก็เป็นศูนย์กลางที่ชุมนุม พบปะทำกิจกรรมร่วมกันของพุทธบริษัททั้ง ๔ ดังนั้น การเกิดขึ้นทั้งของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ จึงเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการขยายโอกาสทางการศึกษาในสังคมชมพูทวีป

ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย

ถาม :

มีผู้บอกว่า การบัญญัตินี้เป็นการบัญญัติในชั้นหลัง โดยผ่านผู้ชายหรือภิกษุเองในสมัยลังกา ท่านเจ้าคุณมีความคิดเห็นอย่างไร

ตอบ :

ก็คงจะหาทางพูดเอานั่นละ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไร ตามประวัติเท่าที่มีหลักฐาน ตอนแรกพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต แต่เมื่อขอในแง่ของการบรรลุธรรมก็อนุญาต ถึงอย่างนั้นก็ทรงแสดงข้อเป็นห่วงพระศาสนาไว้ เมื่อสตรีบวช พระองค์ทรงเปรียบไว้หลายข้อ เช่นว่า

เหมือนกับบ้านเรือนที่มีบุรุษน้อย มีสตรีมาก จะถูกภัยภายนอกเข้ามาได้ง่าย คล้ายว่าสงฆ์ส่วนรวมก็จะอ่อนกำลังลง และพระภิกษุที่มุ่งทำงานอยู่ก็จะต้องแบ่งกำลังมาคุ้มครองภิกษุณีสงฆ์ด้วย เพราะสตรีนอกจากมีปัญหาเชิงสังคม เรื่องที่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยนั้นไม่ยกย่องสตรีในระดับเดียวกับบุรุษแล้ว โดยภาวะของสตรี ก็มีความไม่ปลอดภัยต่างๆ มากด้วย

ตอนหนึ่งภิกษุณีอยู่ป่า ก็ถูกคนร้ายมาข่มเหง พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุณีอยู่ป่า คือชีวิตที่จะบำเพ็ญสมณธรรมแบบผู้ชายนี้ทำได้ยาก ภิกษุจะบุกเดี่ยวบุกป่าฝ่าดงถึงไหนถึงกัน แต่ภิกษุณีไปไม่ได้

แม้แต่เพียงภิกษุณีอยู่ลำพังรูปเดียวก็ไม่ได้ เกิดปัญหาอีกแล้ว จึงต้องมีบัญญัติเช่นว่า ภิกษุณีจะประพฤติมานัต ตามปกติการประพฤติมานัตอยู่กรรมก็ต้องอยู่รูปเดียว แต่สำหรับภิกษุณีต้องมีเพื่อนอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุณีสงฆ์ตั้งภิกษุณีรูปอื่นมาเป็นเพื่อนให้อยู่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

ในแง่ชีวิตพรหมจรรย์ที่ว่าต้องพร้อมที่จะอยู่ป่าอยู่เขาคนเดียว และจาริกไปได้ทุกหนทุกแห่ง ในแง่นี้ภาวะเพศหญิงก็ไม่เหมาะเท่าเพศชาย และกลายเป็นปัญหาหนัก ทำให้ฝ่ายพระภิกษุต้องเป็นกังวล พลอยห่วงด้วย

ตามปกติภิกษุกับภิกษุณีเดินทางไกลไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าไปด้วยกันชาวบ้านก็เพ่งมอง เพราะมีพระผู้หญิงพระผู้ชาย ชาวบ้านเขาก็มองว่านี่เป็นแฟนกันหรืออะไร เพราะชีวิตนักบวชนั้น คนอินเดียรู้กันอยู่แล้วว่า นักบวชไม่ว่าศาสนาไหนก็ถือว่าต้องอยู่พรหมจรรย์ พอมีภิกษุณีขึ้นมาก็แปลกแล้ว ไม่เข้าตาเขา ทีนี้พอเดินทางไปด้วยกันคนก็เพ่งก็จ้องว่า เอ๊ะ ! พระในศาสนานี้มีภรรยาด้วยนะ อะไรอย่างนี้

มีเรื่องที่พระภิกษุกับพระภิกษุณีเดินทางเป็นคณะไปด้วยกัน ผู้คนพากันมาดูและล้อเลียน ทำให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบท กันไม่ให้ภิกษุและภิกษุณีเดินทางร่วมกัน แต่พอเดินทางแยกกัน เมื่อไปเฉพาะภิกษุณีแม้จะหลายรูปก็ถูกข่มเหง ก็ต้องมีพุทธานุญาตว่า ไม่ให้เดินทางด้วยกัน เว้นแต่เดินทางไกล ที่มีภัยอันตรายอย่างนี้เป็นต้น อย่างน้อยก็เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นในการที่จะทำงานพระศาสนา

ขอย้อนอีกนิดว่า ที่ว่าไม่ให้ภิกษุณีว่าภิกษุ ในอรรถกถาท่านอธิบายว่า ไม่ให้ตั้งตัวเป็นเจ้าเป็นนายหรืออะไรทำนองนั้น ถ้าจะพูดเชิงตำหนิหรือแนะนำก็พูดแบบให้เกียรติ เช่น ภิกษุทำอาการไม่สำรวม ภิกษุณีก็อาจจะพูดว่า พระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือ ท่านไม่แสดงอาการอย่างนี้..... แต่ถึงฝ่ายภิกษุก็มีวินัยบัญญัติว่า ภิกษุที่จะว่ากล่าวให้โอวาทภิกษุณีต้องได้รับการแต่งตั้งจากสงฆ์

ภิกษุณีสงฆ์นั้นเกิดขึ้นทีหลัง เป็นของใหม่ ก็ให้ปฏิบัติไปตามวินัยของภิกษุ เพราะบัญญัติ ไว้แล้ว แต่เมื่อภิกษุณีมีเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมา ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทใหม่เป็นข้อๆ เพิ่มเข้าไป ตอนแรกที่ภิกษุณีบวชเข้ามาก็ไม่รู้ว่าวินัยที่มีอยู่แล้วเป็นอย่างไร ก็ทรงให้ภิกษุเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์ให้ฟัง ต่อมาก็มีปัญหาว่าภิกษุมาสวดหลายครั้งเข้า คนก็ติเตียนภิกษุว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุมาสวดปาฏิโมกข์ให้ภิกษุณีฟัง และให้ภิกษุณีสวดเอง แต่ภิกษุณียังไม่รู้ธรรมเนียมวิธีปฏิบัติ ก็ต้องให้ภิกษุสอนให้ อย่างนี้เป็นต้น

ตอนแรกๆ ก็มีการปรับตัวอย่างนี้ คือเรื่องนี้เป็นของใหม่ที่แปลกสำหรับสังคม คนก็ต้องเพ่ง ต้องจ้อง จะมีข้อตำหนิอะไรอยู่เรื่อย และภิกษุณีเองก็ไม่สบายใจ มีเรื่องเช่นว่า มีผู้ชายมาไหว้ ภิกษุณีก็ไม่สบายใจ เกิดความสงสัยว่านี่เรายินดีการไหว้ของบุรุษได้หรือเปล่า ก็ไปทูลถามพระ พุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็อีกแง่หนึ่ง แต่ปัญหาระยะยาวก็คือภาวะชีวิตร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการอยู่ป่าอยู่เขาจาริกไปตามลำพัง

ขอให้นึกถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ พอตั้งขึ้นแล้วก็มีเรื่องราวที่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลอะไรเยอะ แต่เป้าอยู่ที่ว่า เอาละอย่ามัวเกี่ยงข้อปฏิบัติด้านสังคมเลย มุ่งไปที่การบรรลุธรรมเถิด อันนี้คือตัวเหตุผลที่แท้ ข้อสำคัญอยู่ที่ความมุ่งหมายของการบัญญัติครุธรรมนี้ ที่ตรัสว่า เพื่อป้องกันความอ่อนแอและภัยที่จะเกิดแก่พระศาสนา เหมือนสร้างทำนบกันน้ำไหลบ่าล้น เราอาจจะมัวไปมองกันในแง่อื่นๆ และคิดอย่างโน้นอย่างนี้เลยไป ขอให้พิจารณาจุดนี้กันให้ดี

ทำไมจะเป็นพระศาสดาต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย

ถาม :

เรื่องที่ว่าสตรีไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าหรือศาสดาได้ นี่มีในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา

ตอบ :

มีในพระไตรปิฎก เรื่องเป็นพระพุทธเจ้านี้

หนึ่ง ขั้นต้นไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นหญิงเป็นชาย อยู่ที่ความเป็นมนุษย์ที่เป็นอัน เดียวกัน ถ้าพูดในแง่ปัจจุบันขณะนี้ ก็ไม่มีคนไหน ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ที่เป็นพระพุทธเจ้า และบนพื้นฐานนี้ เมื่อมองในแง่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ไม่ว่าคนไหนก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งนั้น ในความเป็นมนุษย์นั้น มีศักยภาพที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน

แต่สอง ตอนที่เป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ชาย เพราะเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเวลาเป็นพระพุทธเจ้าจะมีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ

๑. การค้นพบสัจธรรม
๒. การประกาศพระศาสนา

ในขั้นก่อนจะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ก็มีการบำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพชีวิตชนิดที่ว่าถึงไหนถึงกัน ซึ่งทำได้ยากสำหรับผู้หญิง ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ต้องสละวังไปอยู่ในป่า และทดลองวิธีปฏิบัติทุกรูปแบบนั้น ผู้หญิงก็ทำลำบากมาก เรียกว่าทำไม่ได้เลย ในชีวิตท่ามกลางสภาพอย่างนั้น

ต่อมาเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว การที่จะทำงานทำการเที่ยวจาริกไปทุกแห่งทุกที่ ค้างแรมพระองค์เดียวได้ทุกแห่งหน ก็ไม่เป็นที่สะดวกเลยสำหรับภาวะของสตรี ก็เลยกลายเป็นหลักที่ว่า เวลาเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นในภาวะที่เป็นบุรุษ แต่ถ้าพูดถึงขณะนี้ละก็ พูดไม่ได้ว่าหญิงหรือชาย เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และจะเกิดเปลี่ยนเป็นหญิงเป็นชายไปได้เรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นจะไปพูดว่าผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้เดี๋ยวจะเข้าใจผิด คือ มนุษย์ทุกคนนั่นละมีสิทธิเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่ในระยะบำเพ็ญบารมีไปจนถึงการตั้งพระศาสนาจะเป็นผู้ชาย ในความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันนั้น เมื่อมาแยกออกเป็นหญิงกับชาย มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติภายใน และท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร เป็นที่คลี่คลายออกของศักยภาพ อย่างไร น่าจะได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อความรู้ ไม่ขึ้นต่อเพียงความคิดเห็น

เป็นอันว่า ความเป็นหญิงเป็นชายนี่เปลี่ยนไปเรื่อย เป็นเพียงภายนอก ส่วนที่เป็นอันเดียวกัน คือความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์นี้เป็นตัวบ่งบอกศักยภาพที่จะบรรลุธรรมหรือเป็นพระพุทธเจ้า เหมือนอย่างภิกษุณีรูปหนึ่ง ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า ในเรื่องว่ามีมารมารังควาน มารล้อว่า ผู้หญิงมีปัญญาสองนิ้วจะได้เรื่องอะไร มาอยู่อะไรที่นี่ ท่านก็ตอบไปทำนองนี้ว่า ความเป็นหญิงเป็นชายไม่มีในการบรรลุธรรม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องหญิงหรือชาย

ถาม :

มีข้อเขียนของบางคนนะคะ ว่าจริงๆ แล้วเมื่อก่อนผู้หญิงเป็นผู้นำ คือเป็นยุคของผู้หญิง แล้วพอ ๕-๖ หมื่นปีให้หลังนี้เป็นยุคของผู้ชายเป็นใหญ่ ก็ทำให้คิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงยุคผู้ชายเป็นใหญ่ ในการจะทำอะไรก็ทำให้ผู้ชายทำได้สะดวกกว่า พร้อมกว่า แต่ถ้าเป็นยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ ความสามารถที่ผู้หญิงจะตั้งศาสนาจะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม

ตอบ :

เรื่องนี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายแง่ เรื่องที่นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาว่าไว้นั้น ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และสัมพันธ์กับสภาพสังคม คือสังคมยุคแรกที่เขาว่า ผู้หญิงเป็นใหญ่ ก็เพราะว่าเป็นระบบในครอบครัว ผู้หญิงจะเป็นแกน รู้ว่าคนไหนเป็นลูก ศูนย์กลางของครอบครัวก็อยู่ที่แม่ แม่ก็เป็นใหญ่ แต่ต่อมาพอชุมชนขยายตัว มีการขัดแย้งกันระหว่างเผ่าชน หรือคนต่างกลุ่ม ผู้ชายก็เริ่มมีอำนาจขึ้นมาเพราะจะต้องต่อสู้ ผู้ชายนี่โดยโครงสร้างร่างกาย เมื่อมีการรบราฆ่าฟันจะได้เปรียบ เพราะฉะนั้นผู้ชายก็เรืองอำนาจขึ้นมา นี่ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยในเรื่องของโครงสร้างร่างกาย มันเป็นอย่างนั้นเอง

บางคนบอกว่านี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ถ้าเรามองว่าวัฒนธรรมเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากตัวปัจจัย เช่นชีวิตคน สภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และโอกาส ใช่ไหม ผู้ชายได้เปรียบขึ้นมา แล้วก็มาตั้งอะไรๆ เข้าข้างตน ก็เพราะมีโอกาสจากการที่มีกำลังกายเหนือ กว่า

ตอนแรกก็อย่างที่ว่าแล้ว ผู้หญิงเป็นผู้ที่ลูกหลานรู้ อยู่ใกล้ชิด และเลี้ยงดูเขามา ก็เป็นที่เคารพเป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจเป็นใหญ่ ต่อมาพอมีชุมชน มีเผ่าต่างๆ ต่างฝ่ายต่างมีกำลังกล้าแข็งขึ้น ก็ขัดแย้งกัน รบกัน ผู้ชายก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น แล้วผู้ชายก็กลายเป็นใหญ่ ฉะนั้นในยุคที่ผ่านมานี่ ผู้ชายจะเป็นใหญ่มาตลอด เพราะมีเรื่องของการขัดแย้ง รบราฆ่าฟัน ใช้กำลังกายกันมาก

ทีนี้ก็มองว่า เมื่อสังคมมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญขึ้น เราก็พยายามลดการที่จะถือเอากำลังทางร่างกายเป็นสำคัญ โดยมีกำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคมขึ้น ให้มีหลักจริยธรรม มีหลักความดี มีการให้เกียรติ มีการยกย่องกันด้วยความดีนั้น ไม่เอาแต่เรื่องของกำลังกาย และถ้าเอาแต่ใช้ กำลังร่างกายข่มขี่บังคับกันก็ถือเป็นความป่าเถื่อน อันนี้ก็เป็นโอกาสของผู้หญิงเพิ่มขึ้น

แต่แม้ในขั้นอย่างนี้ ก็จะเห็นว่า พอเอาเรื่องความเสมอภาคขึ้นมาพิจารณาก็ยังมีปัญหา แม้แต่พระราชบัญญัติแรงงาน ก็ต้องบัญญัติงานบางอย่างไม่ให้ผู้หญิงทำ เช่น งานที่ขึ้นที่สูงมากเกินไป ใช้เรี่ยวแรงกำลังมากเกินไป อย่างนี้ไม่ได้ กลายเป็นว่าถ้าให้ไปทำก็เท่ากับเป็นการรังแกผู้หญิง ในแง่นี้ ถ้าเสมอภาคกันทำไมไม่ให้ทำเท่ากันล่ะ อย่างนี้เป็นต้น

เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม

ถาม :

กลับมาปัญหาที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน ในเรื่องการบวชภิกษุณีในเมืองไทย มีผู้ที่พยายามบวช และทางฝ่ายเถรวาทอ้างว่า เพราะเราขาดสูญอุปัชฌาย์ของภิกษุณีด้านเถรวาทนี้มานานแล้ว ก็มีผู้ไปบวชเมืองจีนที่ไต้หวัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีกลุ่มที่พยายามผลักดัน ให้มีการบวชภิกษุณี โดยใช้คำอ้างว่า “แม้แต่พระพุทธเจ้ายังอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ทำไมทางมหาเถรสมาคมของประเทศไทยจึงไม่อนุญาต ทั้งที่มีผู้พร้อมที่จะบวช ซึ่งน่าจะอนุญาตได้” นี่ข้อหนึ่ง

และเขามองในแง่สังคมวิทยาว่า เพราะสถาบันศาสนาเปิดโอกาสให้กับผู้ชาย ฉะนั้นเด็กผู้ชายตามจังหวัดที่ยากจน ด้อยโอกาส มีโอกาสเข้ามาพึ่งพิงศาสนา ได้เรียนหนังสือ ได้เติบโตในสังคมต่อไปได้ด้วยดี ในขณะที่ไม่มีสถาบันภิกษุณี ทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสในเรื่องของการศึกษา เขาเปรียบเทียบว่าจำนวนภิกษุสงฆ์สองแสน เทียบแล้วก็เท่ากันกับเด็กผู้หญิงที่จะต้องไปทำอาชีพโสเภณี ถ้ามีสถาบันภิกษุณีในสังคม จะได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มากขึ้นด้วย
ตอบ :

อันนี้เกิดจากการจับเรื่องโน้นมาชนเรื่องนี้ จับจุดของเรื่องไม่ถูก การอนุญาตให้บวชภิกษุณี เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า คือต้องเป็นไปตามพุทธบัญญัติ มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจอะไรเลย มหาเถรสมาคมเป็นเรื่องบัญญัติใหม่ตามกฎหมายของบ้านเมือง

แม้แต่สงฆ์ที่เป็นการปกครองแบบพระพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ก็ไม่มีอำนาจที่จะให้ภิกษุณีบวช และการที่บอกว่าเป็นเรื่องไม่มีอุปัชฌาย์ ก็ยังไม่ถูก คือการบวชภิกษุณีสำเร็จด้วยสงฆ์ เช่นเดียวกับภิกษุเหมือนกัน เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ที่ตัวอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวชไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ถึงมีอุปัชฌาย์ มีภิกษุณีรูปเดียวเป็นอุปัชฌาย์ ก็บวชใครให้เป็นภิกษุณีไม่ได้

เมื่อครั้งภิกษุสงฆ์ในลังกาหมด ลังกาก็ต้องส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากเมืองไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปบวชให้แก่คนลังกา ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ไม่มี แล้วเราจะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ข้อสำคัญอยู่ที่นี่ เหมือนอย่างเมื่อ พระเจ้าอโศก ส่งพระศาสนทูตมาตั้งพระศาสนาในลังกา พระมหินท์ ก็นำคณะภิกษุมา ก็บวชภิกษุลังกาได้ และตอนนั้นฝ่ายภิกษุณีก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์ คือ พระนางสังฆมิตตาเถรี นำคณะภิกษุณีสงฆ์มา ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์จึงบวชภิกษุณีได้ หมายความว่าจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์จึงจะบวชภิกษุณีได้ ต้องมีภิกษุสงฆ์จึงจะบวชภิกษุได้ ถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ แล้วใครจะไปบวชภิกษุได้ ก็เหมือนกัน ปัญหามันติดอยู่ที่นี่ มันไม่ใช่เรื่องอุปัชฌาย์และมหาเถรสมาคมอะไรเลย

ถาม :

แล้วที่พาไปบวชภิกษุณีสงฆ์ที่ไต้หวัน ที่บวชมาแล้ว ทางนี้ไม่ยอมรับนับถือ และค่อนข้างจะมองกันในแง่เรื่องของการเมืองด้วย

ตอบ :

ถ้าไปบวชแบบมหายาน ก็แน่นอนละ เรื่องการเมืองไม่ต้องไปเกี่ยวหรอก ก็เหมือนกับภิกษุมหายานนั่นแหละ ภิกษุเถรวาทก็ไม่รับเหมือนกัน ใช่ไหม ไม่ต้องไปถึงไต้หวันหรอก พระมหายานในเมืองไทยก็ถือว่าเป็นมหายาน พระสงฆ์เถรวาทจะไปนับท่านเป็นเถรวาทได้อย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา

ถาม :

ทางนครปฐมที่มีเรื่อง ท่านสังฆณีวรมัย เท่าที่จำได้ ท่านเองก็อ้างว่าท่านบวชในสายเถรวาทมาจากไต้หวัน

ตอบ :

ก็นั่นสิ ขอให้มองเป็นเรื่องตรงไปตรงมาตามธรรมดา อยู่ๆ ถ้าพูดขึ้นมาเฉยๆ จะให้ทางนี้ยอมรับได้ไหมว่า ภิกษุณีที่สืบมาในไต้หวันเป็นสายเถรวาท อย่างน้อยท่านก็ต้องตั้งข้อระแวงไว้ว่า ดินแดนไต้หวันมีแต่พุทธศาสนามหายาน ภิกษุสงฆ์ก็เป็นมหายาน แล้วจะไปยอมรับภิกษุณีทันทีได้อย่างไร มันก็เป็นธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะไม่ยอมรับภิกษุณีหรอก ภิกษุก็ไม่รับ ก็ได้แต่รับในแง่ที่รู้ว่านี่เป็นภิกษุมหายาน เมื่อเป็นภิกษุณีท่านก็ยอมรับในแง่ว่านี่เป็นภิกษุณีมหายาน ก็ว่ากันไปตามเรื่องตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

เมื่อมาจากแดนมหายาน ถ้าบอกว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ก็อย่าเพิ่งให้ท่านต้องยอมรับทันที ก็ต้องให้โอกาสท่าน ก็ต้องสืบสาวราวเรื่องที่เป็นมาให้ชัดก่อน นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา

ในกรณีที่ว่าถ้าเป็นภิกษุณีสายเถรวาทจริง แต่ภิกษุสงฆ์ในไต้หวันมีแต่มหายาน ภิกษุณีซึ่งบวชในสงฆ์สองฝ่าย ก็กลายเป็นบวชกับภิกษุสงฆ์มหายาน ความเป็นเถรวาทก็แปรไปเสียอีก จะนับว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ครึ่ง มหายานครึ่งหรืออย่างไร แค่นี้ก็ต้องเห็นใจท่านที่จะต้องวินิจฉัยแล้ว ว่าคงลำบากใจไม่น้อยเลย

ถ้ามีภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริงก็ถือว่าดีไปขั้นหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้นท่านก็ต้องถือในขั้นต้นว่าเป็นภิกษุณีมหายานไว้ก่อน ก็เป็นธรรมดา มันตรงไปตรงมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วย

ถาม :

ในประเด็นนี้ ถ้าผู้หญิงไทยยอมรับสภาพ คือยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์ของมหายาน ก็น่าจะเป็นทางออกได้

ตอบ :

ก็เป็นทางออกหนึ่ง เราก็ต้องมาตกลงว่าจะเอาอย่างไร

ถาม :

ต้องมีการสืบต่อไปอีกไหมครับ ว่ามีการขาดช่วงของภิกษุณี

ตอบ :

อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ หรือชาวพุทธที่จะต้องสืบสวนทางประวัติศาสตร์ว่า ภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นสืบมาอย่างไร เป็นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทแท้จริงไหม ถ้าหากว่าสืบได้ชัด ทางนี้ยอมรับได้ ก็หมดเรื่อง แต่ก็ต้องพิจารณาในแง่ว่าไต้หวันไม่มีภิกษุสงฆ์เถรวาท ที่จะบวชภิกษุณีเถรวาทในขั้นตอนที่ให้ครบสงฆ์สองฝ่าย แล้วจะยุติอย่างไร ก็ว่ากันตรงไปตรงมา อย่าไปยกอันโน้นมาปนอันนี้ให้มันยุ่ง ไม่ต้องไปพูดถึงภิกษุณีเลย ภิกษุก็เหมือนกัน เราก็ยังมีภิกษุสายเถรวาท และภิกษุมหายาน

ถาม :

แล้วอย่างที่บัญญัติไว้ว่า พระอุปัชฌาย์ของภิกษุณีที่เรียกว่า ปวัตตินี ที่ว่าสามารถบวชได้แค่ปีละองค์ แล้วก็ต้องเว้นไปอีกปีหนึ่งถึงจะบวชได้ใหม่อีกองค์หนึ่ง อย่างนี้คิดว่าน่าจะเป็นพระพุทธประสงค์ที่จะคุมกำเนิดนะครับ

ตอบ :

ก็อาจจะอย่างนั้น คือไม่ต้องการให้มีมาก คล้ายว่าทำให้การบวชภิกษุณีนั้นเป็นไปได้ยาก อันนี้คงต้องมองในแง่ของสังคม คือเป็นปัญหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ทางสังคม

ถาม :

คือท่านต้องการที่จะให้สูญพันธุ์ไปโดยปริยายหรือเปล่า

ตอบ :

อันนั้นก็ต้องพิจารณากันอีก อาตมาคงตัดสินไม่ได้ แต่พูดได้ว่าเป็นข้อที่ควรตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่ง


Image

ประวัติพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ปราชญ์สยามผู้เรียกร้องการศึกษาเพื่อสันติภาพ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร เกิดวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 9 คน ของนายสำราญ-นางชุนกี อารยางกูร ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายและมีกิจการโรงสีไฟ พระพรหมคุณาภรณ์ได้รับอิทธิพลดำเนินชีวิตด้วยครรลอง คลองธรรมจากบิดามารดามาแต่เยาว์

การศึกษาเริ่มศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลที่ตลาดศรีประจันต์ เรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ เมื่อจบประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาพาไปจังหวัดพระนคร เพื่อเข้าศึกษาต่อโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา แต่พักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ ได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ความใส่ใจของพระพรหมคุณาภรณ์ เรื่องของการศึกษา แม้จะยังเป็นเด็กอยู่ แต่เมื่อ ด.ช.ประยุทธ์กลับบ้านขณะปิดเทอม ได้นำวิชาความรู้มาสอนน้องๆ จนสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

สุขภาพของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ไม่ดีมาแต่เด็ก เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ พระครูเมธีธรรมสาร เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นจึงศึกษาเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2496 ได้กลับกรุงเทพฯ มาสังกัดวัดพระพิเรนทร์ สอบไล่ได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม จนได้เปรียญธรรม 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ให้อุปสมบทในฐานะ นาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 มีสมเด็จพระสังฆราชขณะนั้น ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังศึกษาต่อจนรับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2505 และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม. เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษา 10 สถาบันรวม 11 ปริญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยร่วม 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2507-2517 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ระหว่าง พ.ศ. 2515-2519

พระพรหมคุณาภรณ์เป็นพระเถระที่ศึกษาดี มีจรรยาวัตรงดงาม สมบูรณ์ด้วยศีล มีนิสัยใฝ่รู้เป็นปราชญ์ ได้รับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณเป็นอันมาก ทั้งในฐานะผู้คุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา วงการศึกษา วัฒนธรรม และการศึกษาเพื่อสันติภาพของโลก

บนเส้นทางชีวิตของพระคุณเจ้าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จาก ด.ช. ประยุทธ์ อารยางกูร ที่รูปร่างค่อนข้างจะบอบบาง ขี้โรค มีอุปนิสัยช่างสังเกต นุ่มนวล ประณีต รักงานช่าง และ มีจิตใจที่อ่อนโยนเป็นกุศล จากครอบครัวที่มีฐานะปานกลางของอำเภอศรีประจันต์ ที่มีพ่อเป็นผู้ที่สนใจใฝ่ธรรม ส่งเสริมในแนวทางที่ลูกมีใจรักและศรัทธา และได้บวชเรียนให้ตั้งแต่อายุ 13 ปีด้วยความขยันหมั่นเพียรและศรัทธาในพระพุทธศาสนา

เส้นทางในชีวิตบรรพชิตจึงเรียบง่าย นุ่มนวล งดงาม และสงบ ประสบความสำเร็จอย่างน่าพิศวง จากการทำงานหนักทั้งในการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นชัดถึงสัจธรรมที่ว่า "ความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" และคำพังเพยที่ว่า "ฝนทั่งให้เป็นเข็ม"

จากประวัติชีวิตย่อมแสดงให้เห็นความเป็น "คนที่หาได้ยากยิ่ง" ที่จะประสบความสำเร็จได้สูงสุด เป็นสามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นพุทธศาสตร์บัณฑิตขั้นยอดเยี่ยมย่อมแสดงถึงความรู้ความคิดที่ปราดเปรื่องแตกฉาน มีความเพียรพยายามที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเล่าเรียนที่ควรเป็นแบบอย่างที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง 2 ปี หลังจากจบการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือ 1 ปี หลังจากสอบวิชาชุดครู พ.ม. ..... ก็ได้ทำงานในตำแหน่งรองเลขาธิการณ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยต่อเนื่องมาอีก 10 ปี

เพราะประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาสงฆ์ที่ยาวนาน และอยู่ในช่วงของการบุกเบิกวางรากฐานและการแก้ ปัญหาหนักนานาประการ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าและความเป็นปึกแผ่นให้กับสถาบันซึ่งสืบทอดต่อเนื่องมาเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจนปัจจุบันนี้ ท่านจึงเป็น "หนึ่งในครูที่มีค่ายิ่งในวงการสงฆ์ไทย"

เส้นทางที่ต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของสงฆ์ ที่เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่ต้องเปิดตัวให้กับปัญหาสังคมของบ้านเมืองของโลกมากขึ้น การผสมผสานความคิดฝ่ายเปรียญธรรมดั้งเดิมให้เข้ากับการศึกษาวิชาการทางโลก และการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อให้หลักสูตรการศึกษาทางพุทธศาสนามีคุณค่า มีความงดงาม เหมาะสม และกลมกลืนกับยุคสมัย เป็นความรับผิดชอบและความจำเป็นที่ส่งเสริมให้ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น ต้องใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา และแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และคงมีส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้ต้องทำงานหนักอย่างยิ่ง ต้องใคร่ครวญครุ่นคิดทั้งลุ่มลึกและกว้างไกลในศาสตร์ต่างๆ จนมีความรู้แจ้งในปัญหาต่างๆ ได้อย่างอัศจรรย์

จากความสำเร็จของสถาบันที่ท่านมีส่วนรับผิดชอบและวางรากฐานในตำแหน่งรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จากการเป็นเจ้าอาวาสวัดพิเรนทร์ จากการบรรยายธรรมในโอกาสต่างๆ จากการอภิปรายร่วมกับนักคิด นักวิชาการในวงการต่างๆ จากการที่ได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศให้ไปปาฐกถาธรรม จากการแสดงทัศนะต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยความรอบคอบ รัดกุมที่เปี่ยมไปด้วยสาระในแนวทางที่เป็นกลาง ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นมัชฌิมา และเมตตาต่อทุกฝ่ายได้มีส่วนในการทำให้เกิดแสงสว่างแห่งปัญญา ในการมองปัญหาได้อย่างแจ่มแจ้งจนนำไปสู่การยุติปัญหาและข้อโต้แย้งปรับบรรยากาศในสังคมจากความขัดแย้ง รุนแรง ร้อนระอุเป็นเย็นสงบ

ดังที่ได้เคยปรากฏและทราบกันอยู่แล้วหลายครั้ง จากหนังสือตำราต่างๆ ที่ได้ร้อยกรองไว้มากมายจนแทบไม่น่าเชื่อทั้งส่วนที่ถือเป็นตำราแม่บทที่ใช้อ้างอิงได้ในวงการพุทธศาสนาเช่น หนังสือ "พุทธธรรม" ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เพชรน้ำเอก" ของวงการพุทธศาสนาของโลก ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่มีคุณค่ายิ่งและยากยิ่งที่จะร้อยกรองได้ จากหนังสือเล่มนี้แสดงถึงสภาวะของการใช้ความพากเพียรอย่างยิ่ง การมีศรัทธาอย่างแก่กล้ามีพื้นฐานที่หนักแน่น เหมาะสม มีการวางแผนการเขียนอย่างรอบคอบ รัดกุม ความอดทนทำงานหนัก ความมีวินัยที่จะทำตามแผน การสู้งาน และความเพียรพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้งานที่ยากยิ่งนี้สำเร็จได้

นอกจากนี้ยังมีหนังสืออื่นอีกร่วม 200 เล่ม และมีปาฐกถาธรรมอีกมากมายที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งโดยการอ่าน การฟังธรรมบรรยาย และการฟังเทปบันทึกเสียงหนังสือจำนวนมากได้รับการพิมพ์เผยแพร่เล่มละหลายๆ ครั้งตามความเหมาะสม และมีหลายเล่มได้มีการพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศ เฉพาะหนังสือธรรมนูญชีวิตมีการพิมพ์กว่า 200 ครั้ง และมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เพราะผลงานที่มีคุณค่ายิ่งดังที่กล่าวโดยสรุปนี้ และเพราะเป็น "พระผู้ให้ ผู้มีเมตตาสูง" ยึดแนวมัชฌิมาปฏิปทาในการมองและวิเคราะห์ปัญหา มีโยนิโสมนสิการที่เฉียบคม มีความเป็นกัลยาณมิตรกันคนทั้งหลาย และเป็นกัลยาณมิตรที่ให้ปัญญาให้ธรรมะ เป็นแสงสว่างของชีวิตอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย

แม้สุขภาพของพระคุณเจ้าจะไม่สู้เข็งแรงนัก แต่ก็ดูประการหนึ่ง "งานเป็นโอสถวิเศษ" ตลอดเวลาเกินกว่า 50 ปี ในเพศบรรพชิตท่านได้อุทิศตนเพื่อประกาศพุทธธรรมเพื่อเป็นแสงสว่างแก่มนุษยชาติ เพื่อขจัดอวิชชา เพื่อการแก้ปัญหา เพื่อลดละกิเกสตัณหา เพื่อสามัคคีและเมตตาธรรม เพื่อความสุขสงบเย็นของผู้รับ ของหมู่ชน และสังคมส่วนรวมทั้งในระดับชาติและประชาคมโลก แนวทางในการสอนและจริยวัตรอันงดงาม เรียบง่ายของพระคุณเจ้าจึงเป็นไปในเส้นทางของการศึกษาเพื่อสันติภาพโดยแท้

จากความลุ่มลึกกว้างไกลในศาสตร์ต่างๆ ซึ่งครอบคลุมปัญหาทั้งหลาย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลอดเส้นทางเดินของพระคุณเจ้า ได้มีส่วนสร้างสรร สั่งสม ข้อคิด ข้อปฏิบัติที่เหมาะสมและมีคุณค่ายิ่งบนรากฐานของพุทธธรรม เป็นปัญญา เป็นแสงสว่าง เป็น "หยาดเพชร หยาดธรรม" เกิดประโยชน์มหาศาลแก่มนุษยชาติ และได้รับเรียกขานว่าเป็นปราชญ์แห่งสยาม

ต้องถือว่าเป็นโชคดีของชาติไทยและของโลก ที่มีคนที่ทุ่มชีวิตจิตใจศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งจริงจัง ทำงานหนักด้วยศรัทธาอย่างต่อเนื่องไม่ท้อถอย ประพฤติปฏิบัติตนเป็น "พุทธสาวกที่มีคุณค่าและหาได้ยากยิ่ง" ที่ได้พากเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติภารกิจเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาที่ถูกต้องให้แก่มวลมนุษยชาติ จนได้รับรางวัลอันมีคุณค่าและมีเกียรติยิ่ง คือ รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากยูเนสโก ซึ่งยืนยันว่าผลงานของพระคุณเจ้าในการเผยแพร่พุทธธรรมได้รับการยอมรับในระดับโลก พระคุณเจ้าเองก็เป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลกและเป็นคนไทยคนแรกในโลกที่ได้รับรางวัลนี้

และย่อมถือได้ว่าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) นั้นเป็นคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งของโลกในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังต่อเนื่องตลอดมา เพื่อให้เกิดสันติภาพโดยใช้กระบวนการการศึกษา เป็นการชี้ทางเลือกอันสำคัญและมีคุณค่ายิ่งให้แก่โลกอีกทางหนึ่งที่มนุษชาติควรแสวงหาแนวทางให้การศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพโลก เพราะคุณค่าของผลงานที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นปกติพระคุณเจ้าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จึงได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงถึง 10 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับรางวัลอันมีเกียรติและน่าชื่นชมอีกเป็นอันมาก

ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นชั้นรองสมเด็จ ที่ "พระพรหมคุณาภรณ์" เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษาในวันที่ 12 ส.ค. 2547 นี้

ปัจจุบันท่านเจ้าคุณเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และดูแลสถานสำนักสงฆ์สายใจธรรม บนเทือกเขาสำโรงดงยาง ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา