พิธีไหว้ครูนาฎศิลป์ -หัวโขนและดนตรีในการไหว้ครู

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.banramthai.com/

ความสำคัญของหัวโขนเทพเจ้าหรือศีรษะครูที่ใช้ในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร

ในการจัดพิธีไหว้ครูโขน-ละครนั้น นอกจากมีพิธีการต่างๆ เช่น สวดมนต์เย็น พิธีไหว้ครู พิธีครอบ ในพิธีจะประกอบด้วยครูผู้กระทำพธี มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลง มีเครื่องสังเวย เครื่องกระยาบวช และสิ่งหนึ่งที่นิยมนำเข้ามาร่วมพิธี คือ หัวโขนหรือศีรษะครู ได้แก่

๑.  หัวโขนพระอิศวร  แทนสัญลักษณ์องค์พระอิศวร ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง และเป็นเป็นเทพเจ้าผู้ทำลายล้าง เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะต้องตั้งให้สูงสุดกว่าหัวโขนอื่ น

๒.  หัวโขนพระนารายณ์   แทนสัญลักษณ์องค์พระนารายณ์ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าผู้บริหารและรักษาโลก  เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะต้องต่ำกว่าพระอิศวร

๓.  หัวโขนพระพหม  แทนสัญลักษณ์องค์พระพรหม ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก  เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องต่ำกว่าพระอิศวร แต่เสมอกับพระนารายณ์

๔.  หัวโขนพระอินทร์  แทนสัญลักษณ์องค์พระอินทร์ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าที่จะคอยให้ความช่วยเหลือคนดี เป็นผู้บันดาลให้ฝนตก เพื่อให้ความชุ่มฉ่ำแก่พืชผลในแผ่นดิน  เวลตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องตั้งให้ต่ำกว่าพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม

๕.  หัวโขนพระพิฆเนศ  แทนสัญลักษณ์องค์พระพิฆเนศ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ สติปัญญา ศิลปศาสตร์ เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล เป็นเทพผู้อยู่เหนือการรจนาหนังสือ  เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องตั้งให้ลดลงต่ำกว่าเทพองค์อื่นๆ แต่อาจระดับเดียวกับพระอินทร์

๖.  หัวโขนพระวิสสุกรรม  แทนสัญลักษณ์องค์พระวิสสุกรรม ซึ่งถือเป็นเทพแห่งการช่างการก่อสร้าง และเกี่ยวข้องกับการละครชาตรี ที่ทรงเสด็จลงมาประทับยังเสากลางเวที เพื่อปกป้องภยันอันตรายทั้งปวง  เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องตั้งลดลงมาจากพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอินทร์ พระพิฆเนศ

๗.  หัวโขนพระปรคนธรรพ  แทนสัญลักษณ์องค์พระปรคนธรรพ ซึ่งถือว่าเป็นครูปี่พาทย์ เป็นผู้ประดิษฐ์พิณ เป็นผู้ปต่งคัมภีร์กฎหมายที่เรียกว่า "นารทิยาธรรมศาสตร์" เป็นผู้รอบรู้ในกาลทั้งสาม คือ ปัจจุบัน อดีต และอนาคต  เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านขวาของเวทีรวมกับศีรษะพระครูฤษีต่างๆ

๘.  หัวโขนพระปัญจสีขร  แทนสัญลักษณ์องค์พระปัญจสีขร ซึ่งถือว่าท่านเป็นครูพิณและขับร้องต่างๆ   เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านขวาของเวทีรวมกับศีรษะพระครูฤษีต่างๆ

๙.  หัวโขนพระพิราพ  แทนสัญลักษณ์องค์พระพิราพ ถือว่าเป็นครูอสูรเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ ซึ่งศิลปินโขน-ละคร ดนตรีไทย เคารพสักการะในฐานะเป็นครูดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์  เป็นเทพเจ้าแห่งความตาย ความหายนะทั้งปวง  ในขณะเดียวกันก็เป็นเทพเจ้าแห่งความประสบโชค ขจัดโรคภัยต่างๆ เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านซ้ายของเวที ต่ำกว่าพระอิศวร แต่สูงกว่าหัวโขนยักษ์อื่นๆ และแยกออกมาอีกลุ่มหนึ่งนอกเหนือจากเทพหรือมนุษย์

๑๐.  หัวโขนพระฤษีกไลโกฎ พรภรตฤษี พระฤษีตาวัว พระฤษีตาไฟ แทนสัญลักษณ์ของท่านแต่ละตน ซึ่งถือว่าเป็นครูฝ่ายมนุษย์ ที่ได้ถ่ายทอดท่ารำและจดบันทึกท่ารำพระอิศวรไว้ โดยเฉพาะพระภรตฤษี (พ่อแก่) ศิลปินมักกล่าวถึงและมีไว้บูชา เพราะถือว่าท่านเป็นครูทางนี้โดยตรง  ส่วนพระฤษีตนอื่นศิลปินก็ให้ความเคารพนับถือเช่นกัน
เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านขวาของเวที แยกกลุ่มออกมาจากเทพเจ้าหรืออสูร

ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร

ดนตรีที่ใช้บรรเลงนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ส่วนเพลงที่บรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์อันเป็นเพลงที่ในวงการศิลปินให้ความเคารพ  ผู้ที่บรรเลงได้จะต้องเป็นบุคคลที่มีฝีมือเป็นอย่างดี เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดอาจจะมีผลถึงตนเอง ที่เรียกว่า "ผิดครู" ซึ่งเพลงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพิธีไหว้ครูเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่จะกำหนดอัญเชิญครูปัธยาย (ครูเทพเจ้าต่างๆ) มาร่วมในพิธี ซึ่งแต่ละสถานที่อาจมีการกำหนดเพลงเรียงตามลำดับไม่เหมือนกัน เช่น

  ๑.  เพลงเหาะ เชิญพระอิศวร
  ๒.  เพลงกลม เชิญเทพเจ้า
  ๓.  เพลงโคมเวียน เชิญเทวดาทั่วๆ ไป
  ๔.  เพลงบาทสกุณี เชิญพระนารายณ์
  ๕.  เพลงตระพระปรคนธรรพ เชิญพระปรคนธรรพ (ครูดนตรี)
  ๖.  เพลงตระองค์พระพิราพเต็มองค์ เชิญองค์พระพิราพ
  ๗.  เพลงคุกพาทย์ เชิญครูยักษ์ใหญ่ทั่วไป
  ๘.  เพลงดำเนินพราหมณ์ เชิญผู้ทรงศีล
  ๙.  เพลงช้า-เพลงเร็ว เชิญครูมนุษย์
  ๑๐. เพลงเชิดฉิ่ง เชิญครูนาง
  ๑๑. เพลงกราวนอก เชิญครูวานรหรือพานร
  ๑๒. เพลงกราวใน เชิญครูยักษ์ทั่วไป
  ๑๓. เพลงกราวตะลุง เชิญครูแขก
  ๑๔. เพลงโล้ เชิญครูที่เดินทางน้ำ
  ๑๕. เพลงเสมอเถร เชิญครูฤษีขึ้นสู่ที่ประทับ
  ๑๖. เพลงเสมอมาร เชิญครูยักษ์ขึ้นสู่ที่ประทับ
  ๑๗. เพลงเสมอเข้าที่ เชิญครูที่มิได้เจาะจงว่าเป็นใครสู่ที่ประทับ
  ๑๘. เพลงเสมอผี เชิญวิญญาณที่เกี่ยวข้องด้านนาฏศิลป์ดนตรีขึ้นสู่ที่ประทับ
  ๑๙. เพลงแผละ เชิญสัตว์ปีกใหญ่ เช่น ครุฑ มาในพิธี
  ๒๐. เพลงลงสรง เชิญครูที่มาทุกองค์ลงสรงน้ำ
  ๒๑. เพลงนั่งกิน เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์กินเครื่องเสวย
  ๒๒. เพลงเซ่นเหล้า เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์ดื่มสุรา
  ๒๓. เพลงช้า-เพลงเร็ว เชิญทุกคนที่มาร่วมพิธีรำถวาย
  ๒๔. เพลงกราวรำ เชิญศิษย์ทุกคนรำเพื่อเป็นสิริมงคลและส่งครูกลับ
  ๒๕. เพลงพระเจ้าลอยถาด ส่งครูกลับ
  ๒๖. เพลงมหาชัย บรรเลงส่งท้ายเพื่อความสามัคคี