ชนเผ่ากะเหรี่ยง-ธนาคารข้าว เกาะสะเดิ่ง ต่อลมหายใจชาวกะเหรี่ยง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

"ธนาคารข้าว" เกาะสะเดิ่ง ต่อลมหายใจชาวกะเหรี่ยง

แม้ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะเลิกอาชีพการทำไร่เลื่อนลอย ไม่เคลื่อนย้ายที่ทำกิน แต่ก็มีคนกะเหรี่ยงอีกหลายกลุ่มในเขตทุ่งใหญ่ตะวันตก อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ยังคงใช้ประโยชน์และช่วยสร้างความสมดุลให้กับพื้นที่ป่า ด้วยการปลูกข้าวในลักษณะไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะที่หมู่บ้านกองม่องทะ และเกาะสะเดิ่ง ชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่มานานกว่า 200 ปี
ไพบรูณ์ ช่วยบำรุงวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านกองม่องทะ เล่าถึงวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านกองม่องทะว่า ปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่ทำกินออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นพื้นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย ส่วนที่สองใช้ในการทำการเกษตร และส่วนที่สามเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน
"ความเป็นอยู่ของคนที่นี่ยังเป็นแบบเรียบง่าย มีรายได้เฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อปี มีการปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง หาปลาเพื่อการบริโภคจากลำห้วยโลคี ซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน เว้นว่างจากการทำไร่ข้าว จะมีการใช้ไม้ไผ่มาทำการจักสาน ทั้งตะกร้า กระด้ง และมีการทอผ้าอยู่บ้างเป็นบางส่วน"
ขณะที่ วันทิตย์ คลังพาณิยช์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเกาะสะเดิ่ง บอกว่า อาชีพหลักของคนที่นี่คือการทำไร่ข้าว คนกะเหรี่ยงจะถือว่า "การปลูกข้าวให้พอกินคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตกะเหรี่ยง" และการปลูกข้าวของคนที่นี่จะปลูกไว้กินเองเท่านั้น โดยข้าวที่ได้จะเก็บไว้กินทั้งปี ซึ่งการทำไร่แบบนี้จะถูกเรียกว่า ไร่หมุนเวียน โดยจะหมุนเวียนกันไป อาจจะ 1-2 ปี แล้วก็จะกลับมาทำไร่อีกครั้ง
"การที่เราทิ้งพื้นที่ป่าไว้เพื่อให้พื้นดินได้มีการฟื้นตัว โดยจะเน้นป่าที่มีต้นไผ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อใบไผ่ร่วงลงสู้พื้นดินเป็นเวลาหลายๆ ปี จะเกิดการทับถมจนกลายเป็นปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติ ทำให้ดินมีความสมบรูณ์ และพร้อมที่จะนำพื้นที่นั้นมาใช้ทำไร่อีกครั้ง"
ด้าน จันทร์เพ็ญ ไทรสังขะทัศนี ชาวกะเหรี่ยงบ้านเกาะสะเดิ่ง กล่าวเสริมว่า การเลือกป่าไผ่มาทำไร่ปลูกข้าว ก็เพราะว่าเป็นป่าที่มีความเหมาะสม เพราะดินในบริเวณนี้จะเป็นสีดำ มีธาตุอาหารสูง ปลูกข้าวงอกงามดี และที่สำคัญป่าไผ่มีการฟื้นตัวเร็ว ในขณะที่ถ้าเป็นป่าดงดิบจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก เป็นอุปสรรคในการถาง อีกทั้งยังปลูกข้าวได้น้อย  จันทร์เพ็ญ อธิบายขั้นตอนการทำไร่ข้าวว่า หลังจากเลือกพื้นที่แล้ว จากนั้นทำการเผาไร่ โดยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะถ้าเผาไร่ดี ธาตุอาหารที่ได้จากการเผาป่าจะมีประโยชน์ต่อข้าวที่ปลูกอย่างมาก จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการหยอดข้าว (โทงคุ) โดยจะเริ่มหยอดกันในช่วงเดือนมิถุนายน เพราะเป็นช่วงที่ฝนเริ่มตก หลังหยอดข้าวเสร็จ จะมีการปลูกพริกกะเหรี่ยงหรือผักสวนครัว เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกระหว่างรอการเก็บเกี่ยว จะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
"ที่หมู่บ้านจะมีธนาคารข้าว ถ้าบ้านไหนคำนวณแล้วว่า ปีนี้ได้ข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ก็สามารถที่จะไปยืมที่ธนาคารข้าวได้ เมื่อถึงปีต่อไปก็ต้องนำข้าวมาคืน แต่ต้องคืนในจำนวนมากกว่าที่ยืมไปเล็กน้อย ถือว่าเป็นดอกเบี้ย และเป็นการเพิ่มปริมาณข้าวในธนาคารด้วย" จันทร์เพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา :  จันทราภา นนทวาสี
คมชัดลึก 12 พฤษภาคม 2548
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/