ชนเผ่าในประเทศไทย ชนเผ่าลัวะ (Lua)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข .) http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP

ชนเผ่าลัวะ (Lua)
    เขตที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นของชาวลัวะ ได้แก่ บริเวณที่ราบสูงบ้านบ่อหลวง
อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรลัวะในประเทศไทยมีประมาณ ๒๒,๒๖๐ คน
หรือร้อยละ ๒.๔๑ ของประชากรชาวเขาในประเทศไทยปี (พ.ศ. ๒๕๔๕)

การตั้งถิ่นฐาน
หมู่บ้านลัวะปัจจุบันส่วนมากยังอยู่ในเขตภูเขา หมู่บ้านประกอบด้วยครัวเรือนประมาณ ๒๐-๑๐๐ หลังคาเรือน โดยสร้างบ้านเรียงรายอยู่ตามแนว สันเขา ลักษณะบ้านนกพื้นสูงคล้ายบ้านกะเหรี่ยง แต่ลักษณะหลังคาจะมีกาแลเป็นสลักไขว้กันสองอันเป็นหน้าจั่ว หลังคาซึ่งมุงด้วยหญ้าคาหรือตองตึง จะสูงชันคลุมลงเกือบจรดพื้นดินรอบๆหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และระหว่างพื้นที่ทำไร่กับ หมู่บ้านจะมีแนวป่าที่เป็นป่าแก่ ( Virgin Forest) สงวนไว้สำหรับเป็นแนวกันไฟเวลาเผาไร่ของหมู่บ้าน
ลักษณะทางสังคม
ลัวะมีระบบการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายหญิงจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายชายหรือบ้านที่ฝ่ายชายปลูกใหม่โดยถือ บรรพบุรุษฝ่ายพ่อ บุตรที่เกิดมาอยู่ในสายเครือญาติของฝ่ายพ่อ ในครัวเรือนหนึ่งๆ โดยทั่วไปประกอบด้วยสามี ภรรยา บุตร บุตรชาย คนโตต้องไปสร้างบ้านใหม่หลังแต่งงาน บุตรชายคนสุดท้ายจะเป็นผู้ได้รับมรดกและเลี้ยงดูพ่อแม่ตลอดชีวิต งานประจำในครัวเรือนจะแบ่งออกตามอายุและเพศ กล่าวคือ ผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบ หาฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ทำอาการ ทอผ้า ผู้ชายมีหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องบ้าน ทำรั้ว ไถนา และล่าสัตว์ ส่วนงานในไร่เป็นหน้าที่ของทั้งสองต้องช่วยกันทำ รวมทั้งสมาชิกวัยแรงงานทุกคนในครอบครัว งานด้านพิธีกรรมถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ชายเกือบทั้งหมด
การปกครอง
ผู้นำในการปกครองของลัวะมี ๒ ลักษณะ คือผู้นำทางการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และผู้นำตามธรรมชาติ เป็นบุคคลที่มีลักษณะและความสามารถพิเศษปฏิบัติงานด้วยความเสียสละเพื่อ สังคมของเขา บุคคลเหล่านี้ เช่น ผู้นำประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงผี (ต๊ะผี หรือตะปิ) หัวหน้ากลุ่มตระกูลที่มีเชื้อสายของขุนหลวงวิลังก๊ะ (สะมังระ) ผู้นำทางศาสนาของแต่ละกลุ่ม (ลำ) หัวหน้าของคนหนุ่ม(กวนเปรียระ)หัวหน้าของคนสาว (ปะเคระระ) เป็นต้น และในบางหมู่บ้าน ของลัวะที่นับถือศาสนาคริสต์ ผู้นำทางศาสนาคริสต์ก็มี ความสำคัญไม่น้อยในชุมชน
เศรษฐกิจ
ลัวะมีเศรษฐกิจแบบยังชีพขึ้นอยู่กับการทำไร่หมุนเวียนโดยจะปลูกข้าว เจ้าเป็นพืชหลัก ลัวะนิยมบริโภคข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว และยังนิยมดื่มเหล้าที่ทำจากข้างเจ้าอีกด้วย พืชอื่นๆที่ปลูกแซมในไร่ข้าวสำหรับไว้เป็นอาหารและใช้สอย ได้แก่ ข้าวโพด ถั่ว แตง พริก ฝ้าย ผักต่างๆ
ศาสนาและความเชื่อ
เป็นที่เชื่อกันว่า ลัวะนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผีมาแต่เดิมเหมือนคนไทย ลัวะมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนเป็นผู้สร้างวัดเจดีย์หลวงในจัดหวัด เชียงใหม่ และเสาอินทขิลคือที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษของพวกตนเมื่อลัวะถูกขับไล่ไป อยู่บนภูเขา ซึ่งไม่มีพระและวัดชีวิตประจำวันจึงขึ้นอยู่กับสภาพทางธรรมชาติมากขึ้น ความเชื่อในเรื่องพุทธศาสนาก็เริ่งจางลงและหันไปนับถือผีแทน
ลัวะเชื่อเรื่องผี ว่ามีทั้งผีดีและผีเลวสิงสถิตอยู่ตามสิ่งต่างๆเป็นต้นว่าผีที่เฝ้าครอบครัว ผีฟ้า ผีป่า ผีภูเขา ผีเข้าประตูหมู่บ้าน ซึ่งบางครั้งผีอาจจะเป็นสาเหตุก่อความเจ็บป่วยให้แก่คนได้ การติดต่อกับผีจะติดต่อโดยการเซ่นด้วยอาหารที่ผีประเภทนั้นๆชอบโดยมีผู้ทำ พิธีคือ “ ลำ” และ “ สะมัง” หรือคนที่มีคาถาอาคม จะมีการเชิญผีมากินอาการ การฆ่าสัตว์เลี้ยงผีจะจัดส่วนต่างๆ ของสัตว์ให้ผีอย่างละน้อย สัตว์ที่ใช้เซ่น ผีมีไก่ หมู วัว ควาย และ หมา
นอกจากนี้ ลัวะยังเชื่อว่า คนมีวิญญาณ หรือขวัญ ๓๒ ขวัญ หากขวัญใดขวัญหนึ่งออกจากตัวไป จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย ต้องมีการประกอบพิธีกรรมเรียกขวัญให้กลับเข้ามาสู่ร่าง โดยการผูกข้อมือด้วยด้ายสีขาว เชื่อว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ขวัญหายและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

 


 

อ้างอิงข้อมูลจาก

 http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP