บทความเกี่ยวกับชนเผ่า เรื่องจริยธรรมของผู้ออกกฎหมาย: กรณีกฎหมายป่าชุมชน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข .) http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP
จริยธรรมของผู้ออกกฎหมาย: กรณีกฎหมายป่าชุมชน

โดย ชูพินิจ เกษมณี
ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
21ธันวาคม 2007

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารใกล้จะหมดวาระ ซึ่งจะจากไปด้วยกันทั้งรัฐบาลและ สนช. เป็นที่เข้าใจกันว่า โดยมารยาทแล้ว รัฐบาลไม่พึงเร่งรัดสร้างโครงการขนาดใหญ่ใด ๆ พร้อมๆ กับที่สภานิติบัญญัติก็ไม่ควรเร่งรัดออกกฎหมายสำคัญเช่นกัน แต่กลับปรากฏว่า ด้วยเหตุผลกลใดไม่ชัดแจ้ง สนช. กำลังเร่งรัดออกกฎหมายอย่างมากมายในช่วงโค้งสุดท้ายของวาระการทำงานของตนเอง ถึงกับมีผู้กล่าวว่า สนช. ใช้เวลาเพียง 8 ชั่วโมง ออกกฎหมายเป็นจำนวนถึง 22 ฉบับ ถ้าเป็นเช่นนี้จริง นั่นหมายความว่า สนช. ใช้เวลาพิจารณาเพียง 22 นาทีผ่านกฎหมายหนึ่งฉบับ นี่กำลังเกิดอะไรขึ้น หรือมีใครต้องการจะทำสถิติบันทึกไว้ใน “หนังสือกินเนสส์” ว่าประเทศไทยสามารถผ่านกฎหมายได้เร็วที่สุดในโลก แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าเวลาเพียง 22 นาทีมากพอที่สภาฯอันทรงเกียรติจะสามารถพิจารณาได้อย่างรอบคอบกับกฎหมายแต่ ละฉบับ นี่เรากำลังพูดถึงกฎหมายที่จะมีผลกับชีวิตของผู้คนทั้งปวงจนตลอดชีวิต ตราบเท่าที่กฎหมายยังดำรงอยู่อาจมีผู้ออกมาอธิบายว่า การเร่งออกกฎหมายเหล่านี้รวดเร็วอย่างผิดสังเกต เพื่อเป็นการมัดมือชกรัฐบาลและสภาฯชุดใหม่ให้จำต้องนำกฎหมายเหล่านี้กลับมา พิจารณาใหม่ แทนที่จะหลุดหายไปและไม่กลับเข้าสภาฯอีกเลย แต่การที่กฎหมายหลายฉบับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะของการละเมิดสิทธิ มนุษยชนและจะมีผลกระทบอย่างมากต่อคนชายขอบและบรรดาคนจน ทำให้เหตุผลดังกล่าวด้อยน้ำหนักลงไปด้วย นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงข้อครหาที่ว่า สมาชิกสภาฯที่อยู่ร่วมลงคะแนนเสียงไม่ครบองค์ประชุม โดยดูได้จากจำนวนรวมของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง อาจมีผู้แก้ตัวว่าตนมิได้กดปุ่ม ทำให้คะแนนเสียงขาดหายไป นี่ต้องพิจารณาว่าเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นและต้องตีความว่าไม่ร่วมในการ ประชุมสถานเดียว ณ ที่นี้ เรามาลองดูตัวอย่างของการรีบร้อน เร่งรัด และไร้จริยธรรมของ สนช.ชุดนี้จากการผ่านพระราชบัญญัติป่าชุมชน ซึ่งขณะนี้เพียงรอโปรดเกล้าฯทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
จากความคิดเบื้องต้นที่ว่าป่าไม้เป็นสมบัติของชาติ ทำให้รัฐออกกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้หลายฉบับที่มีลักษณะกีดกันประชาชนมิให้ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ มองในแง่นี้ย่อมหมายความว่า รัฐต้องการผูกขาดอำนาจในการจัดการป่าแต่เพียงผู้เดียว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในสังคมไทยนี้ยังมีผู้คนที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับป่ามาช้านานมากจนหลุด พ้นจากความทรงจำทางด้านเวลา ความไม่เป็นธรรมของกฎหมายป่าไม้ทั้งหลายเริ่มจาก การไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์ กับป่ามาตลอด กฎหมายป่าไม้ต่าง ๆ ของไทยจึงไม่รับรอง “พื้นที่บรรพบุรุษ” และดังนั้น จึงไม่รับรอง “สิทธิบรรพบุรุษ” ด้วย ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่อาศัยมาเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม สภาพที่น่าขบขันแต่หัวเราะไม่ออกก็คือ ป่าอนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ ตามกฎหมายเป็นผู้มาทีหลัง แต่กลับทำให้ผู้อยู่มาก่อนกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายไปในชั่วข้ามคืนนับจากวัน ที่ประกาศเขตอนุรักษ์นั้น นี่จึงเป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลังเอาผิดต่อผู้คนได้
ป่าที่รัฐแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ นี้ ได้ถูกแบ่งออกเป็น “เขตอนุรักษ์” อันหมายถึง เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือเขตอื่นที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือพื้นที่มีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมอันควรแก่การอนุรักษ์ ตามความในมาตรา 3 แห่ง พรบ.ป่าชุมชน ส่วนป่าประเภทอื่น ๆ ถูกจัดว่าเป็นป่า “นอกเขตอนุรักษ์” แต่แทนที่จะมีการจำแนกผู้อยู่อาศัยมาก่อนและหลังการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ อันจะทำให้ผู้ที่อยู่มาก่อนไม่จำเป็นต้องขออนุญาต จากผลของสิทธิบรรพบุรุษอันเป็นมรดกสืบทอดกันมาหลายชั่วคน กฎหมายนี้กลับเหมารวมว่าทุกคนมีสิทธิเสมอเหมือนกัน หากเทียบเคียงกับกฎหมายที่ดิน บุคคลผู้เข้าอยู่อาศัยในที่ดินหนึ่งยาวนานถึงสิบปี ยังสามารถอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ได้ แต่กฎหมายป่าชุมชนกลับไม่ยอมรับสิทธิของการเป็นผู้อยู่มาก่อน ทั้งยังเรียกร้องให้ผู้อยู่อาศัยมาเนิ่นนานต้องขออนุญาตจัดตั้งป่าชุมชนพิจารณาจากหลักนิติธรรม น่าจะเป็นว่าผู้เข้ามาอยู่อาศัยหลังการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เท่านั้นที่จำ เป็นต้องขออนุญาตจัดตั้งป่าชุมชน ส่วนชุมชนที่อยู่มาก่อนเพียงผ่านขั้นตอนพิสูจน์ทราบก็สามารถขึ้นทะเบียน จัดการป่าชุมชนได้แล้วในฐานะผู้อยู่มาก่อนกฎหมายที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้น การขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ ซึ่งมีชุมชนบนพื้นที่สูงจำนวนมากตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตสงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่าแห่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายเขตอนุรักษ์ที่มีอยู่ให้กว้างขวางออกไป ชุมชนเหล่านี้ได้อยู่อาศัยและสั่งสมความรู้ในการอยู่ร่วมกับป่ามาอย่างยาว นาน พวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากป่าทั้งเป็นอาหาร ยาสมุนไพร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และปัจจัยยังชีพอื่น ๆ ในภาคเหนือของไทยมีหมู่บ้านบางแห่งที่มีการรักษาป่าชุมชนอย่างดี เพียงเพื่อพวกเขาจะมีรายได้เสริมจากการเก็บหาผลผลิตจากป่าเพื่อจำหน่าย แต่มาตรา 35 แห่ง พรบ.ป่าชุมชนนี้ระบุว่าห้ามทำไม้ในป่าชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ คำว่า “ทำไม้” ถูกนิยามโดยกฎหมายนี้ว่า ‘ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือชักลากไม้ที่มีอยู่ในป่า หรือนำไม้ที่มีอยู่ในป่าออกจากป่าด้วยประการใด ๆ” (มาตรา 3) ย่อมหมายความว่า ชุมชนในเขตอนุรักษ์ที่มีการดูแลรักษาป่าชุมชนเป็นอย่างดีอยู่แล้วจะไม่อาจ สร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือนได้อีก ไม่อาจเก็บหายาสมุนไพร และเปลือกไม้สำหรับย้อมผ้าได้อีกเลย ด้วยผลแห่งกฎหมาย หรือตัวอย่างของหมู่บ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีการรักษาป่าชุมชนอย่างดีเยี่ยมจนได้รางวัลโลกสีเขียว ชาวบ้านได้ปลูกต้นชาและไม้ผลอื่น ๆ ปะปนอยู่ในป่าชุมชนและขายเป็นรายได้สำคัญทุกปี แต่วรรคสอง ของมาตรา 35 ระบุไว้ว่า “การทำไม้หรือการทำไม้ที่สมาชิกป่าชุมชนปลูกขึ้นเองในบริเวณเพื่อการใช้สอย ในป่าชุมชนที่ตั้งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ ให้ทำได้ตามความจำเป็นเพียงเฉพาะเพื่อใช้สอยในครัวเรือนของสมาชิกป่าชุมชน หรือใช้ในกิจการสาธารณะภายในชุมชนนั้น...” ดังนั้น รูปแบบวนเกษตรของหมู่บ้านห้วยหินลาดในที่นำรายได้หลักเข้าหมู่บ้านจะไม่ สามารถทำได้อีกต่อไป  มาตรา 37 ระบุว่า “ห้ามใช้พื้นที่ป่าชุมชนเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินโดยเด็ดขาด” อันจะมีผลทำให้ชุมชนจำนวนมากที่จัดการป่าชุมชนของตนเองมานานหลายปีต้องกลาย สภาพเป็นคนไร้ที่อยู่ เพียงเพราะตัวหมู่บ้านของพวกเขาตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนของตนเองดูเหมือนกฎหมายป่าชุมชนนี้จะทำให้ชุมชนที่มีศักยภาพในการจัดการป่าชุมชนต่อ เนื่องมาอย่างดีกลับต้องเดือดร้อนเพราะกฎหมายมากกว่ากลุ่มอื่น ๆสิ่งที่แสดงถึงความไม่อยู่กับร่องกับรอยของ สนช.อย่างที่สุดกับข้อความที่ตนเป็นผู้เขียนขึ้น ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 81 ระบุว่า “รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่าง ประเทศ...”
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2535 ประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งประกาศโดยสหประชาชาติ และจากนั้นได้มีการดำเนินการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทาง ชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จึงตัดสินใจให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯดังกล่าว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2547 ทำให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯในลำดับที่ 188 มาตรา 8(j) ของอนุสัญญาฯมีสาระสำคัญว่าให้เคารพ สงวนรักษาและธำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญา นวัตกรรมและปฏิบัติการของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นอันครอบคลุม วิถีชีวิตตามประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่าง ยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพ และมาตรา 10(c) มีสาระสำคัญที่เน้นเรื่องการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ตามประเพณี ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขเชิงอนุรักษ์และความยั่งยืนด้วยอิทธิพลของสองมาตรานี้ ทำให้ในการประชุมใหญ่ของภาคีสมาชิก ครั้งที่ 7 (จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 9 – 20 กุมภาพันธ์ 2547) และครั้งที่ 8 (จัดขึ้นที่กรุงคิวริทิบา ระหว่างวันที่ 20 – 31 มีนาคม 2549) มีมติที่ตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของชุมชนของ ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดตั้ง จัดการ และกำกับดูแลพื้นที่คุ้มครอง การกำหนดไว้ในนโยบายในการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมภายในพื้นที่คุ้มครองและ การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรดังกล่าวอย่างเป็นธรรมและ เท่าเทียม อนุสัญญาระหว่างประเทศถือเป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เมื่อรัฐใดตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก ย่อมหมายถึงการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายของรัฐให้สอดคล้อง แม้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 65 ยังระบุไว้ว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน”จึงเห็นได้ว่า ความคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้เปลี่ยนไปแล้วตามบรรทัดฐานสากล คือเปลี่ยนจากการผูกขาดโดยหน่วยงานของรัฐมาสู่การเปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วน ร่วมอย่างเต็มที่และเต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้น เหตุใด สนช.จึงยังดึงดันที่จะกีดกันสิทธิของผู้คนที่ได้อยู่อาศัยในเขตอนุรักษ์มา เนิ่นนาน ด้วยการบัญญัติกฎหมายแห่งชาติที่ทั้งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (มาตรา 65) และไม่เป็นไปตามพันธกรณีที่รัฐไทยเข้าผูกพันตนไว้กับอนุสัญญาว่าด้วยความ หลากหลายทางชีวภาพอันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้วย (มาตรา 81)
หรือเป็นเพราะว่าสิ่งที่ตนเขียนและอนุมัตินั้นจำไม่ได้เพราะเพียงแต่ลอกของ เก่ามา หรือเป็นเพราะว่าในฐานะสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ ท่านมิได้ทำการบ้านอะไรเลย ทั้งไม่ค้นคว้า ไม่ไฝ่หาความรู้ แต่อยากจะเป็นสมาชิกสภา ท่านไม่รู้แม้กระทั่งว่าผลการกระทำของท่านนั้นจะส่งผลเป็นความเดือดร้อน อย่างใหญ่หลวงให้กับผู้คนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว งานที่ท่านทำนี้มิได้เรียกร้องความเสียสละเพื่อชาติแต่อย่างไร แต่เรียกร้องจริยธรรมในใจคนมากกว่าตัวอย่างเล็ก ๆ นี้เพียงตัวอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะขอให้พวกท่านหยุดยั้งการออกกฎหมาย อย่างบ้าคลั่งเช่นนี้ลง ท่านได้หมดความชอบธรรมไปแล้ว

 

PostโดยAdmin บทความโดย ชูพินิจ เกษมณี -  3/1/2008

 


อ้างอิงข้อมูลจจาก  http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP