ชนเผ่ากะเหรี่ยง-กะเหรี่ยงดอยแม่แจ่ม รักษ์ป่าจากใต้สำนึก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/


กะเหรี่ยงดอยแม่แจ่ม รักษ์ป่าจากใต้สำนึก

เรื่อง/ภาพ -สันติวิธี พรหมบุตร

แม้ว่าป่าส่วนใหญ่จะถูกทำลายล้างจากหลายสาเหตุ แต่ที่ผ่านมาชาวเขามักตกเป็นจำเลยของคนเมืองอยู่เสมอ กลายเป็น "ตราบาป" ให้กับชาวเขาทุกหนแห่ง  รวมถึงชาวกะเหรี่ยงแถบป่าต้นน้ำแม่แจ่ม

แม่แจ่ม เป็นอำเภอในเชียงใหม่ ถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขาดอยอินทนนท์ พื้นที่กว่าร้อยละ 90 จาก 3 พันกว่าตร.กม. เป็นภูเขาสูง การเดินทางสัญจรไปมาค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเส้นทางเชื่อมสู่ตำบลต่างๆ ต้องขึ้นเขาลงดอยอยู่ตลอด  ชาวแม่แจ่มกว่าร้อยละ 63 เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ร้อยละ 20 เป็นคนไทยเหนือ ที่เหลือเป็นชาวเขาเผ่าม้งและลีซอ   พื้นฐานของกะเหรี่ยงมีชีวิตผูกพันกับป่า เพราะอาศัยอยู่ในป่ามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ดังนั้นประเพณีต่างๆ ที่ยึดถือปฏิบัติจึงแฝงความเชื่อการอยู่กับป่าอย่างแนบแน่น เช่น เมื่อคลอดลูกจะนำรกไปฝังไว้ใต้ต้นไม้ และห้ามตัดไม้ต้นนั้นตลอดไป
นอกจากประเพณีเก่าแก่ที่แฝงแนวคิดกับป่าอย่างยั่งยืนแล้ว ทุกวันนี้กะเหรี่ยงแม่แจ่มยังตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ป่ามากขึ้น "เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม" เป็นผลพวงหนึ่งจากการร่วมมือกันของชาวบ้านจากหย่อมบ้านต่างๆ โดยมีองค์การแคร์ หรือมูลนิธิรักษ์ไทย เป็นพี่เลี้ยงด้านวิชาการมาตั้งแต่ปี 2537   ในตำบลต่างๆ มีเครือข่ายแยกย่อยเกิดขึ้นมากมาย นับเฉพาะแม่แจ่มตอนในหรือแม่แจ่มตอนบน มีถึง 10 เครือข่าย เช่น เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า เครือข่ายลุ่มน้ำห้วยหอย-แจ่มหลวง เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แดดห้วยปู เครือข่ายลุ่มน้ำแม่สะงะ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่วาก-แม่มะลอ เป็นต้น ยังไม่นับเครือข่ายแม่แจ่มตอนล่างอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากการร่วมกายร่วมใจกันของชาวบ้าน  ทุกเครือข่ายจะแบ่งพื้นที่ป่าออกคล้ายๆ กัน คือ ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย อนุรักษ์สัตว์ป่า อนุรักษ์สัตว์น้ำ ทำเกษตร และอยู่อาศัย พื้นที่ป่าอนุรักษ์จะห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งเก็บฟืนเก็บผัก แต่สามารถไปใช้ประโยชน์ได้ในป่าใช้สอย เช่นเดียวกับในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าและสัตว์น้ำที่ห้ามจับสัตว์ทุกชนิด
พื้นที่ทำเกษตรจะอยู่รวมกันทั้งหมู่บ้านเป็นหย่อมใหญ่ ชาวเมืองมักเรียกพื้นที่เกษตรเหล่านี้ว่า "ไร่เลื่อนลอย" แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้วจะโต้แย้งว่าไร่หมุนเวียน ไม่ใช่เลื่อนลอย เพราะไร่เลื่อนลอยจะตัดไม้ทำลายป่าไปเรื่อยๆ โดยไม่กลับมาทำในที่เดิม ต่างจากไร่หมุนเวียนของพวกเขา

"ไร่หมุนเวียนจะมีพื้นที่ของชาวบ้าน 5 แปลงใหญ่รวมกัน เรามีไร่อยู่ 5 แปลง ก็เหมือนมีไร่อยู่ 5 ปี หมายถึงปีนี้ทำไร่ในแปลงที่ 1 ส่วนอีก 4 แปลงที่เหลือปล่อยทิ้งไว้ให้ต้นไม้ขึ้นเพื่อให้มีแร่ธาตุอาหารสำหรับเพาะปลูกปีต่อๆ ไป พอปีที่ 2 เราเลื่อนไปทำแปลงที่ 2 ก็ทิ้งแปลงที่เหลืออีก 4 แปลงไว้เหมือนปีแรก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนปีที่ 6 จะเวียนมาทำที่แปลงที่ 1 อีกครั้ง ดังนั้นคนเมืองมักเข้าใจพวกเราผิดตลอดว่าทำไร่เลื่อนลอยและตัดไม้ไปเรื่อย"

พ่อหลวงอุทัย พายัพธนากร ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า บ้านนาขอ ต.แม่นาจร อธิบายความแตกต่างของไร่เลื่อนลอยกับไร่หมุนเวียนนอกจากนี้ยังมีกฎป่าที่ชาวบ้านตั้งขึ้นเองเพื่อดูแลป่า แต่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านทุกคน จึงดูศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายของทางราชการ โดยเฉพาะของกรมป่าไม้ ที่ปล่อยให้คนทุนใหญ่เข้าไปผลาญป่าโดยไม่เคยจับตัวได้เลย

"ใครจะตัดไม้ไปสร้างบ้านต้องขออนุญาตคณะกรรมการเครือข่าย ถ้าไม่ขออนุญาตมีโทษปรับจนถึงจับส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เคยมีเหมือนกันที่ชาวบ้านแอบตัดไม้ไปทำบ้าน พอเรารู้ก็จัดการกันเองโดยเตือนและคาดโทษไว้ ถ้าทำอีกจะจับส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งชาวบ้านก็เชื่อฟังกันดี"

พ่อหลวงยุทธ กุออ ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่วาก-แม่มะลอ ต.แม่นาจร เล่าประสบการณ์การใช้กฎป่า  ส่วนกลุ่มผู้หญิง ผู้ที่ดูแลเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ของครอบครัว ก็มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทอผ้าพื้นเมืองขาย สร้างรายได้ให้ครอบครัว และลดการแผ้วถางป่าเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง เนื่องจากกลุ่มผู้หญิงกะเหรี่ยงมักห่วงความเป็นอยู่ของครอบครัวในทุกๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องที่ทำกิน

"แต่ก่อนเราทำไร่ทำนาอย่างเดียว อยากมีพื้นที่มากๆ และผู้หญิงก็เป็นกลุ่มที่อยากมีที่ดินทำไร่มากๆ แต่เดี๋ยวนี้เราทำแต่พออยู่พอกิน และมีกิจกรรมอื่นๆ ที่รวมกลุ่มกันทำมากขึ้น ทำให้ลดการถางป่าลงได้มาก"

มู่เกอปอ พัฒนาไพรวัลย์ รองประธานกลุ่มทอผ้าบ้านแจ่มหลวง ต.แจ่มหลวง ให้เหตุผล
หลายพื้นที่ของป่าต้นน้ำแม่แจ่ม กำลังเดินไปในทิศทางสดใส ต้นไม้ใหญ่ๆยังคงอยู่ ต้นไม้เล็กๆถูกปลูกทดแทนต้นใหญ่ที่ครั้งหนึ่งถูกตัดจนโล่งเตียน อีกทั้งพื้นที่ทำไร่หลายแห่งถูกปันมาเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมทั้งเทคนิควิธีการช่วยจัดการป่าแบบใหม่ๆ ทำให้ได้ป่าเพิ่มมากขึ้น เช่น ทำฝายดักตะกอนขนาดย่อมตามห้วยต่างๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นดินรอบๆ บริเวณป่าต้นน้ำ  หลายสิบปีกับวิถีชีวิตบนป่าเขา ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้รักษ์ป่าแค่ลมปากเท่านั้น แต่รักษ์ป่าจากจิตใต้สำนึกที่คอยย้ำเตือนว่า

ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร เมื่อนั้นจะอยู่กันอย่างไร

 

ที่มา :  ข่าวสด วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2547 ปีที่ 14 ฉบับที่ 5064

หน้า5

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/