วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ซิ่นก่าน ซิ่น ต๋า

นักนิยมผ้าโบราณท่านหนึ่ง เคยตั้งคำถามด้วยความอยากรู้ว่าคนในคุ้มหลวงหอคำเมืองเชียงใหม่สมัยก่อนเขา แต่งกายกันอย่างไร เจ้านายใหญ่ยศโดยเฉพาะเจ้าหญิงคงต้องมีครัวหย้องของงามเป็นพิเศษ นุ่งซิ่นไหมใส่ฝ้ายเนื้อดี มีครัวเงินครัวคำประดับตัว งามอย่างในละครย้อนยุคหรือไม่

ภาพเหล่านั้นยากสำหรับจินตนาการสานฝัน นึกๆเอาภาพอย่างฉากลิเกเป็นที่ตั้ง หรือว่าสมัยนั้น การแต่งกายจะเหมือนภาพถ่ายโบราณของคุณลุงบุญเสริม สาตราภัย อย่างภาพเปลือยนมหาบกระบุงไปตลาด จนคนไทยใต้พากันเข้าใจว่าสาวแม่ค้าล้านนาในอดีต ชอบอวดนมไม่ห่มผ้า ถ้าเป็นเจ้าหญิงเจ้านางเมื่อแต่งตัวแล้ว น่าจะร่างแค้วแอวงามอย่างเจ้าจันทน์ผมหอมในนิราศพระธาตุอินทร์แขวนของพ่อครู มาลา

ภาพฉายของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีหลายภาพแสดงให้เห็นการแต่งกายในสมัยพระองค์ ท่าน ทั้งภาพประทับอยู่ที่บางกอกแคว้นใต้ หรือภาพในนครเชียงใหม่ ทรงใส่ซิ่นต๋าในพระอิริยาบถสบายๆ อย่างภาพส่องกระจกหรือภาพแอ่วน้ำตก เป็นต้น ส่วนว่าซิ่นจกยกดิ้นนั้นมักเป็นภาพสำคัญพิเศษ

ซิ่น ต๋า ซิ่นก่าน เรียกขานอีกอย่างว่า ซิ่นต่อตีนต่อแอว (เอว) ชื่อทั้งมวลกำหนดเรียกตามลักษณะที่ปรากฏ ต๋า ก็คือตาๆ เป็นลายเส้นพาดขวางกับลำตัว อย่างผ้าซิ่นตามขนบของซิ่นตระกูลไทยวน ก่าน หมายถึงลายพาดที่มิใช่เป็นผ้าพื้น ส่วน ต่อตีนแอว คือเอาผ้าอีกชิ้นต่อตรงที่หัวซิ่นและอีกชิ้นต่อเป็นตีน ซิ่นหนึ่งผืนจึงมีสามส่วน คือ หัว ตัว และตีน ส่วนลายต่างๆ ที่เป็นต๋าหรือก่าน มีชื่อเรียกขานเฉพาะ เช่น ถ้ามีลายในตัวมองเห็นไม่ชัดเรียก ซิ่นต๋ามุด ถ้ามีเส้นพาดเส้นเดียวเรียก ต๋าแลว ถ้ามีสองเส้นเรียก สองแลว ถ้ามีสามเส้นก็เรียกไปตามนั้น แต่สี่แลวห้าแลวยังไม่เคยได้ยิน อาจกล่าวได้ว่า ซิ่นต๋า เป็นซิ่นเอกลักษณ์ของแม่หญิงชาวยวนโดยแท้


นอกจากลายก่านเป็นเส้นๆ ดังกล่าวแล้ว อาจมีเส้นที่เกิดจากเทคนิคการพันฝ้ายสองสีเข้าด้วยกันก่อนเอาไปทอ เรียกปั่นไก ซิ่นต๋าหรือซิ่นก่านลายปั่นไกนี้ จะมีสีสองสีเหลือบกันคล้ายกับไก (ไก เขียน ไค ซึ่งเป็นสาหร่ายในแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำน่านลักษณะเส้นสีเขียวยาว กินได้) หัวและตีนมักเป็นผ้าพื้นสีเข้มสีเดียวกัน หรือหัวซิ่นเป็นผ้าดิบสีตุ่น

ฟังคำเล่าจากคนหาผ้าโบราณที่เอามาส่งให้คนสะสม เขาทั้งหลายมักจะเล่าพ้องกันว่าอันซิ่นต่อตีนต่อแอวมีทั้งไหมและฝ้ายหรือ ฝ้ายแกมไหมก็มี บ้านไหนเรือนไหนจะมีซิ่นก่านไหมอยู่ไม่กี่ผืน ถ้าเป็นไหมเนื้อดี ฟังว่าทอมาจากสันกำแพงแหล่งท่านนายกทักษิณ หากเป็นฝ้ายย้อมงามมาจากทางใต้เวียงคือสันป่าตองจอมทองลงไปถึงเมืองฮอด ซิ่นก่านไหมทอไว้ขายให้เจ้าให้นาย ด้วยเป็นของแพงค่าราคาจึงพิเศษ จะมีได้ก็ต้องเป็นเมียเจ้าหรือเป็นแม่นายคหบดีเศรษฐีในหมู่บ้าน ส่วนที่ทอไว้ใส่เองกลับเป็นผ้าสีพื้นไร่ก่านไร้ต๋า

อีกอย่างซิ่นไหมต่อตีนต่อเอวมักจะเป็นชุดเด็ดที่ใส่เฉพาะงานสำคัญ เช่นไปงานบุญหรือใส่เข้าเวียงเป็นต้น หากใส่อยู่บ้านไปใต้ไปเหนือไปที่ไม่เป็นทางการก็ใส่ซิ่นฝ้าย เช่นเดียวกับซิ่นตีนจกแพงค่าของแม่แจ่มก็ถือเป็นชุดเด็ดเช่นกัน ถ้าใส่อยู่บ้าน ไปไร่ไปนาก็นุ่งซิ่นลัวะหรืออื่นๆ หากเป็นซิ่นต๋ารุ่นเก่าทั้งหัวและตีนมักย้อมสีมะเกลือ สีก่ำน้ำครั่ง น้ำดั่งเทาแดง หัวซิ่นมักเป็นผ้าฝ้าย จะเอาขาวหรือดำหรือแดงก่ำก็แล้วแต่ นางผู้เป็นเมียว่าหัวซิ่นผ้าฝ้ายเวลานุ่งแล้วไม่หลุดลุ่ยถ้าเป็นไหมมักลื่น รัดสายรั้งปอบแอวอย่างไรก็เอาไม่อยู่

 

ซิ่นต่อตีนต่อเอวโบราณมักมีสามส่วนดังว่า พอถัดมาอีกระยะหนึ่งคิดว่าเครื่องทอคงกว้างขึ้น เลยทอโดยไม่มีการต่อ คือทอสำเร็จเป็นผืน มีหัวมีตีนเรียบร้อยเรียกซิ่นก่านทอลวด (ลวด = ตลอด)

ส่วนที่ก่านเฉพาะตัวก็เอามาเป็นตัวซิ่นจกทั้งหลายอย่างซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซิ่นจอมทอง ซิ่นน้ำถ้วม ซิ่นเมืองลอง เอาตีนที่เป็นสีพื้นออกแล้วเอาตีนจกมาใส่ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของซิ่น ตระกูลไทยวนแล้ว มีบ้างที่ชาวแม่แจ่มเอาผ้าทอตาห่างสีห้อมเอกลักษณ์ของผ้าทอแม่แจ่มเรียก “ผ้าหอมอ้วน” หรือ “หำอ้วน” มาทำเป็นตัวซิ่นแต่เนื่องจากผ้าบางจนมองทะลุเห็นเนื้อ (ด้วยเหตุนี้จึงมีคนวิเคราะห์ว่า ยามเมื่อชายได้เห็นจึงทำให้หำอ้วน) จึงต้องมีซิ่นซับในหรือซิ่นหลองในสีขาวใส่ซ้อนทับอีกชั้น

ซิ่นก่านซิ่นต๋า หรือซิ่นต่อตีนต่อแอว เป็นซิ่นแบบโบราณพื้นถิ่นไทยวนพบเห็นทั่วไปที่ทอขึ้นใหม่มักเป็นฝ้ายโรงงาน สีจัดจ้าน นุ่งไปวัดไปนั่นไปนี่ก็งามผี้หลี้ปานเจ้าจันทน์ผมหอมแม่ร้างนางสาวสมัยนี้ บางคน พอจะออกงานอย่างล้านนากันที ก็วิ่งไปยืมซิ่นแม่อุ๊ยมาใส่ อ่านข้อเขียนนี้จบเข้ากาดหลวงไปหาซื้อซิ่นต๋ามานุ่งสักผืนเต๊อะ ราคาเท่ากับพิซซ่าถาดกลางนั่นแล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ขอขอบคุณ
"หนังสือครัวหย้องของงามแม่หญิงล้านนา"
จัดทำเมื่อเดือนพฤษภาคม 51

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNatextile2008/sinkan/sinkan.html