วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

จุลกฐินในพื้นถิ่นภูไท

ผืนผ้าบนกี่ค่อย ๆ ทอได้เป็นผืน กี่ที่เสร็จเรียบร้อยก็นำลงมาตัดเย็บเป็นผ้าจีวร ผ้าสบง ผ้าอังสะ ผ้าสังฆาฏิ ผ้ารัดประคต และผ้าห่ม พระประธานอีก 1 ผืน

      สายลมพัดปุย ฝ้ายขาว พลิ้วไหว แลดูคล้ายปุยเมฆน้อยใกล้ผืนดินขาวนวลเต็มสุดสายตา ผ่านกาลเวลาในการดูแลตลอด 6 เดือนเต็ม เพื่อเตรียมพร้อมในการสร้างกุศลกรรมนาม “จุลกฐิน”


วิถีชีวิตของบรรพชนไทยภายใต้ร่มพระพุทธศาสนา อันสงบสุข ร่มเย็น เห็นอกเห็นใจกัน สมัครสมานสามัคคี ด้วยความลึกซึ้งแห่งภูมิจิต ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ของบรรพชนไทยที่ฝากแฝงไว้ในงานบุญประเพณีอย่าง “จุลกฐิน” หรือ “กฐินแล่น”

  กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับตัดเย็บจีวร ผ้ากฐินจึงได้ชื่อจากความหมายของลักษณะการเย็บจีวร ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลนั่นเอง

กฐินทาน คือการทอดกฐิน กริยาการทอดเป็นกิริยาที่อ่อนโยนนุ่นนวลในการวางดุจดั่งผักบุ้งที่ค่อย ๆ ทอดยอดออกไป กริยาการทอดกฐินบ่งบอกความหมายกริยาการวางผ้ากฐินถวายพระภิกษุสงฆ์ ด้วยความนิ่มนวล
ประเพณีการทอดกฐินสามารถแยกออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ
1. กฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอดตามวัดอารามต่าง ๆ
2. กฐินหลวง เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทอดตามพระอารามหลวงหรือพระราชทานให้ข้าราชการทอดตามวัดต่าง ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากหนังสือ SILK

จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น จัดเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในประเภทกฐินราษฎร์ ที่ประชาชนจะร่วมแรงร่วมใจกันทำให้สำเร็จภายในกำหนด 1 วัด เพื่อมิให้เลยกำหนดแห่ง “กฐินกาล” ที่มีกำหนดช่วงระยะเวลา 1 เดือน หลังวันออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตและบัญญัติไว้เป็นวินัยของสงฆ์ เชื่อกันว่าการถวายผ้ากฐินเป็นกริยาบุญที่ได้อานิสงส์สูง เนื่องจากผู้ทำบุญทอดผ้ากฐินจะต้องมีเจตนาและความตั้งใจในการสร้างกุศลกรรม นี้โดยจะต้องจองไว้ล่วงหน้ากับทางวัด


และยิ่งเป็นจุลกฐินหรือกฐินแล่นที่จะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายใน 1 วันตั้งแต่เก็บฝ้าย ปั่นเป็นเส้นใย ทอเป็นผืนผ้า เย็บเป็นจีวรและทำพิธีทอดผ้ากฐินเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 วัน โดยนับเวลาเริ่มจาการเก็บฝ้ายเป็นปฐม กุศลที่ได้จากการถวายจุลกฐินจึงถือเป็นอานิสงส์สูงสุดเนื่องจากเป็นกุศลที่ ตั้งใจทุ่มเทร่วมแรงร่วมใจกันในการสร้างกุศลกรรมนี้ ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปทั้งสภาวะสังคมเศรษฐกิจ

เงื่อนไขปัจจัยเวลาทำให้ประเพณีจุลกฐินถูกละเลยและแทบจะลบเลือนไปจากวิถี ชีวิตของคนไทย ในปี 2550 นี้ประเพณีจุลกฐินได้จัดขึ้นอีกครั้ง ณ วัดโพนสว่าง หมู่บ้านคำพอก อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหารโดยรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หมู่บ้านคำพอกเป็นชุมชนเชื้อสายกลุ่มผู้ไทยที่ยังรักษาและสืบทอดขนบ ธรรมเนียมประเพณีการทอผ้าและการแต่งกายแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างงดงาม

จนได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมดีเด่น สำหรับประเพณีจุลกฐินหรือกฐินแล่นได้หายไปจากวิถีชีวิตชาวผู้ไทยจังหวัด มุกดาหารร่วม 35 ปี การฟื้นฟูประเพณีนี้เป็นผลสำเร็จได้ด้วยมีศิลปินช่างทอผ้าในหมู่บ้านจำนวน มากถึงแม้จะมีวัยสูงอายุกันแล้วแต่ยังมีความคล่องแคล่วว่องไวจนเด็กหนุ่มสาว ได้อายทีเดียว


การทำจุลกฐินต้องเตรียมการล่วงหน้า 6 – 8 เดือน ในการไถพรวนดินและโรยเมล็ดฝ้ายปลูก หมั่นช่วยกันดูแลรักษาให้ฝ้ายเจริญงอกงามช่วยกันรดน้ำ พรวนดิน ตลอดระยะเวลาจวบจนถึงเวลากฐินกาล ต้นฝ้ายจะออกดอกแตกเป็นปุยขาวสวยงามพร้อมเก็บเกี่ยว

เสียงฆ้องดังกังวาล เป็นสัญญาณเริ่มพิธีมงคลชัย แว่วเสียงแคนนำขบวนสาวพรหมจารี 9 นาง นุ่งขาวห่มขาวดุจดั่งหมู่เทวดา นางฟ้าที่ปิติในมหากุศลจุลกฐินจึงแปลงกายลงมาร่วมพิธี โดยจะนำเข้าสู่เขตราชวัติที่ตกแต่งด้วยฉัตร ธง ต้นกล้วย ต้นอ้อยประดับอยู่ทั้งสี่มุมของไร่ฝ้ายอันเป็นสิ่งแสดงความบริสุทธิ์ของฝ้าย ในเขตราชวัตร แล้วทำการเก็บฝ้ายจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะช่วยกันเก็บฝ้ายใส่กะหยั่ง(ตระ กร้า) โดยพระสงฆ์ในพระอุโบสถจะสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เก็บฝ้ายและฝ้ายบริสุทธิ์ที่เก็บ


จากนั้นคนที่บูชาเครื่องกวนข้าวทิพย์จะเข้าสู่พระอุโบสถเพื่อทำพิธีถวาย เครื่องกวนข้าวทิพย์ อันประกอบด้วย ถั่วลิสง งาขาว งาดำ มะพร้าวขูด น้ำอ้อยสด น้ำผึ้งสด น้ำนมสด ข้าวเหนียว น้ำกะทิ น้ำบริสุทธิ์ โดยเครื่องประกอบทั้ง 9 สิ่งนี้ บรรจุอยู่ในกระบอกไม้เหี้ย (ไม้ไผ่รวกขนาดเล็ก) ขนาดเท่าหัวแม่โป้ง ยาวประมาณ 1 คืบ มัดรวมกันด้วยด้ายสายสิญจ์ฝ้าย พระสงฆ์จะใช้เทียนสีผึ้งที่ฟั่นมีไส้ 9 เส้น วัดรอบหัว วัดคึง (ช่วงลำตัวจากคอถึงสะดือ) ผู้ที่ศรัทธาถวาย

โดยจารึกชื่อตนและญาติพี่น้องลงบน เส้นเทียนสีผึ้ง พระสงฆ์สวดชัยมงคลพร้อมทำน้ำมนต์เมื่อถวายเครื่องกวนข้าวทิพย์เสร็จแล้วจึง จุดเทียนที่วัดรอบหัวและวัดคีง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เปลวไฟของแสงเทียนส่องสว่างดั่งแสงธรรมนำทาง มวลมนุษย์ให้เห็นหนทางที่จะก้าวเดินไปในชีวิต


เสร็จพิธี ในพระอุโบสถก้าวออกสู่ลานทอผ้าซึ่งสตรีชาวผู้ไทยต่างร่วมใจช่วยกันอิ้วฝ้าย (การแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย)จนเหลือแต่ปุยฝ้ายขาวบริสุทธิ์ส่งต่อกันให้ นำไปดีดฝ้ายจนขึ้นฟูเป็นฝอยละเอียด แล้วนำมาม้วนเป็นหลอดแล้วส่งต่อให้นำแท่งหลอดฝ้ายไปปั่นด้วยกงปั่นฝ้ายออก เป็นสายใยขาวยาวนำไปฆ่าด้วยน้ำข้าวใส่กงปั่นเส้นหลอดใส่กระสวยเครือ แล้วช่วยกันนำเส้นฝ้าไปทอบนกี่ทอผ้าพื้นบ้าน ทุกขั้นตอนทุกคนต่างช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยทั้งผู้มาเยือนและช่างทอในหมู่ บ้าน โดยมีเสียงเพลงจากวงดนตรีโปงลาง “คณะหนุ่มมะพร้าวตาเดียว” บรรเลงประกอบการฟ้อนรำซึ่งมีคณะช่างฟ้อนชาวผู้ไทยมาร่วมให้กำลังใจจากหลาย จังหวัด อาทิ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร รวมทั้งผู้ไทยในจังหวัดมุกดาหาร เส้นใยฝ้ายค่อย ๆ สานกันเป็นผืนผ้ายาวในแต่ละกี่จะมีช่างทอมาสลับช่วยกันทอไปจนเสร็จ

ท่ามกลางเสียงฟืมกระทบผืนผ้าบนกี่ท้องฟ้ามืดมิดก็มีดวงไฟพุ่งสูงสู่ท้องฟ้าจาก บั้งไฟดอก ซึ่งทำจากกระบอกไม้ไผ่บ้านที่มีลำใหญ่กว่าต้นขาบรรจุดินปืนลงไป ฝังดินไว้แล้วจึงจุด คืนนั้นมีการประกวดบั้งไฟดอกกันด้วย แสงสว่างจากบั้งไฟดอกจึงพุ่งสูง สู่ท้องฟ้าอย่างต่อเนื่อง งดงามอร่ามไปทั้งบริเวณงาน

ในขณะที่พิธีกวนข้าวทิพย์ก็ดำเนินไปเริ่มนำการกวนข้าวทิพย์ โดยหญิงพรหมจารีจำนวน 9 นาง นุ่งขาวห่มขาวพร้อมพ่อใหญ่(ผู้เฒ่าฝ่ายชายของหมู่บ้าน) นุ่งขาวห่มขาวเช่นเดียวกันร่วมกวนข้าวทิพย์ พร้อมกันนี้พระภิกษุ ร่วมเจริญพระพุทธมนต์และสวดชยันโต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สาวพรหมจารีนำพิธีกวนข้าวทิพย์

 

 


ฝั้นสีผึ้งไว้บูชาเครื่องกวนข้าวทิพย์ประกอบพิธีสะเดาห์เคราะห์

 

 

ผืนผ้าบนกี่ค่อย ๆ ทอได้เป็นผืน กี่ที่เสร็จเรียบร้อยก็นำลงมาตัดเย็บเป็นผ้าจีวร ผ้าสบง ผ้าอังสะ ผ้าสังฆาฏิ ผ้ารัดประคต และผ้าห่ม พระประธานอีก 1 ผืน โดยชาวบ้านและแขกผู้มาเยือนต่างช่วยกันเย็บด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียง แขกจากต่างถิ่นเรียนรู้การเย็บต่อผ้าด้วยมือจากชาวบ้านทุกฝีเข็มจึงมีความ หมายแห่งสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และพลังแห่งความสามัคคี ผ้าจุลกฐินจึงเสร็จสิ้นทันรุ่งเช้า นำสู่การย้อมสีซึ่งตั้งหม้อเคี่ยวแก่นขนุนจนได้สีแก่พร้อมย้อม ค่อย ๆ นำผ้าทั้งหมดลงทำพิธีย้อม โดยหญิงที่เข้าร่วมในพิธีจะต้องไม่อยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน ด้วยเชื่อกันว่าเพื่อความบริสุทธิ์และสีจะติดดีที่สุดเมื่อย้อมจนสีติดได้ ที่ดี ก็นำขึ้นผึ่งแดดจนแห้งสนิทและช่วยกันรีดจนเรียบ แล้วพับให้เรียบร้อยจัดขึ้นพานเพื่อเตรียมถวาย ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอกการทอผ้าด้วยพลังแห่งศรัทธา


ขบวนแห่ผ้าจุลกฐินงดงามเป็นขบวนยาว พรั่งพร้อมด้วยคณะญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันถือเครื่องบริวารกฐิน อันประกอบด้วยปัจจัยสี่คือ เครื่องอาศัยของพระภิกษุ สามเณร มีไตรจีวร บริขารอื่น ๆ ที่จำเป็นรวมถึงเครื่องใช้ประจำปีที่มี มุ้ง หมอน ที่นอน เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่ง กระถาง กระทะ กระโถน เตาไฟ หม้อไห ถ้วย จาม ชาม เครื่องซ่อมแซมเสนาสนะอันประกอบด้วยเลื่อยไม้กวาด จอบ เสียม เครื่องสีลา เภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน ตลอดจนเครื่องครัวมีข้าวสาร หอม กระเทียม ผลหมาก รากไม้เป็นต้น

 

   นำขบวนองค์กฐินด้วยธงผ้าขาวเขียนรูปสัตว์น้ำ อันได้แก่ธงรูปจระเข้ ธงรูปปลา ธงรูปนางเงือก อย่างละคู่และธงรูปตะขาบอีก 1 คู่ สำหรับธงตะขาบนี้เมื่อขบวนแห่ไปถึงหน้าวัดก็จะปักไว้ด้านหน้าของวัด เพื่อเป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่าวัดนี้ได้รับกฐินแล้วผู้ที่ผ่านไปมาได้เห็น จะได้อนุโมทนาบุญเป็นกุศลร่วมกันได้ สำหรับธงรูปสัตว์น้ำจะนำไปปักไว้ที่ด้านทิศใต้ของวัดซึ่งมีชัยภูมิเป็น ลำห้วย


เมื่อขบวนเข้าสู่ประตูวัด หยดน้ำมนต์โปรยปรายทั่วท้องฟ้ารับการมาของจุลกฐินขบวนฟ้อนของสาวผู้ไทยนับ ร้อยคนแห่เป็นขบวนยาวนำขบวนจุลกฐินแห่รอบสิม(พระอุโบสถ) 3 รอบ แล้วขึ้นสู่หอแจก (ศาลาการเปรียญ) ทำพิธีถวายผ้าจุลกฐินและผ้าห่มองค์พระประธาน เสียงสวดมนต์ดังกังวาน พระภิกษุรับผ้าจุลกฐิน ครองผ้าและทำพินทุอธิษฐานที่ประชุมคณะสงฆ์ทั้งหมดอนุโมทนาเป็นเสร็จ พิธี อำลาพ่อแก่ แม่เฒ่าขอศีลขอพรพร้อม รับแจกข้าวทิพย์นำกลับมารับประทาน ถือเป็นมงคลแก่ตนและครอบครัว

ลมหนาวพัดต้องกายที่ก้มลงกราบพระประธาน อธิษฐานขอกุศลกรรมแห่งประเพณี “จุลกฐิน” อย่าได้สูญสิ้นจากแผ่นดินไทย

สำหรับท่านที่พลาดโอกาสในการไปร่วมการกุศลในครั้งนี้ก็ขอให้ช่วยกันอนุโมทนาบุญและหากท่านคิดจะทอดกฐินในโอกาสต่อไปขอให้นึกถึง จุลกฐินหรือกฐินแล่น มรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทยเพราะนอกจากท่านจะได้รับปิ ติจากบุญกุศลแล้วท่านยังช่วยให้วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าอย่าง “จุลกฐิน” อยู่คู่ชาติไทยสืบไป

 

 

 

 

ขอขอบคุณเนื้อหาและรูปภาพจากหนังสือSILK

ต้นฉบับ : 

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/training2007/phutai/phutai.html

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/training2007/phutai/phutai1.html

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/training2007/phutai/phutai2.html