ผ้าจกวัฒนธรรมยั่งยืนกลุ่มเชื้อสายลาวคั่ง หรือลาวครั่ง (1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้าจกวัฒนธรรมยั่งยืนกลุ่มเชื้อสายลาวคั่ง หรือลาวครั่ง

การแต่งกายของสาวไทครั่ง


กลุ่มชาวลาวครั่งนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถในการทอผ้าจก สันนิษฐานว่ากลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากหลวงพระบาง แถบเทือกเขาภูคัง เรียกตัวเองว่าลาวหลวงพระบาง อีกกลุ่มหนึ่งมาจากเมืองเวียงจันทน์ เรียกตัวเองว่าลาวเวียง เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์มาตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัดในภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิษณุโลก

ชาวลาวครั่งทั้งสองกลุ่มจะมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการแต่งกาย และวิธีการทอผ้าเอกลักษณ์ในการทอผ้าจกที่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดคือการใช้สีที่ให้ความรู้สึกร้อนแรง เช่นสีแดงครั่ง สีส้มหมากสุก สีเหลือง และลวดลายผ้าทอที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว

ลาวครั่งในประเทศไทยกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ภาคกลางมีอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และในภาคเหนือบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และกำแพงเพชร คาดว่าสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มบรรพบุรุษที่อพยพมาต่างเวลา และต่างถิ่นฐานกัน สันนิษฐานว่าน่าจะอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีสำเนียงภาษาพูดที่ใช้ผิดเพี้ยนกันบ้าง แต่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน สิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมชาวลาวครั่งเด่นชัดคือ การแต่งกายและสิ่งทอ จึงสันนิษฐานได้ว่าในอดีตกลุ่มชนเหล่านี้มีบรรพบุรุษเดียวกัน


ลาวครั่งจังหวัดอุทัยธานี

ที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายจากลาวครั่ง กลุ่มที่เรียกว่าลาวเวียงเนื่องจากอพยพมาจากเวียงจันทน์ นิยมทอผ้าฝ้าย อีกกลุ่มหนึ่งอยู่บ้านโคกหม้อ อำเภอทัพทัน เรียกตัวเองว่าลาวหลวงพระบางมีการทอผ้ามัดหมี่แบบเดียวกับกลุ่มลาวครั่ง ที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีแต่นิยมทอด้วยไหม เนื่องจากมีบรรพบุรุษที่สืบมาจากหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองหลวง ชาวเมืองหลวงพระบางนิยมใช้ผ้าไหมจึงใช้สืบต่อกันเรื่อยมา
เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วทั้งลวดลายและวิธีการทอผ้าของทั้งสองพื้นที่นี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกันต่างกันเพียงวัตถุดิบคือฝ้ายและไหมเท่านั้น

ช่างทอผ้าลาวครั่งนิยมใช้สีแดงจากการย้อมด้วยครั่งเป็นสีหลักในการทอผ้า ทั้งด้ายเส้นยืนและด้ายเส้นพุ่ง ส่วนด้ายเส้นพุ่งพิเศษ ซึ่งในการทอลวดลายจกนั้นนิยมใช้สีเหลืองเป็นหลัก สีอื่นที่เป็นองค์ประกอบคือสีส้มหมากสุก สีขาว สีดำ และสีเขียว ผ้าหนึ่งผืนจะมีเพียง 5 สีเท่านั้น ลาวครั่งมีความชำนายในการใช้สีตรงข้ามและขัดแย้งมาอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนงดงาม ถ้าเป็นผ้าทอสำหรับผู้สูงอายุจะเปลี่ยนใช้สีดำแทนสีแดงทั้งด้ายเส้นยืนและเส้นพุ่ง รวมในหนึ่งผืนก็จะมีเพียง 5 สีเท่านั้นเช่นกัน

โครงสร้างของลายจกส่วนใหญ่จะเป็นลายเรขาคณิตขนาดใหญ่ เช่นลายข้าวหลามตัด ลายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลายสามเหลี่ยม เป็นต้น มีลักษณะเป็นลายผสมที่นำลายเล็กๆ คือขิดหน่วย ขิดดอก และขิดขอ มาออกแบบผสมกัน การทอตีนซิ่นจกจะเว้นส่วนปลายของซิ่นไว้เป็นสีพื้นแดงหรือดำแล้วแต่ชนิดของ ซิ่นและทอปลายสุดด้วยแถบ สีเหลืองหรือสีเขียว


ลาวครั่งจังหวัดชัยนาท
ลาวครั่งที่จังหวัดชัยนาทก็เป็น 2 กลุ่มเช่นเดียวกับที่อุทัยธานี โดยที่กลุ่มบ้านเนินขาม จังหวัดชัยนาท สืบเชื้อสายมาจากเวียงจันทน์ ในขณะที่กลุ่มบ้านกุดจอกเป็นกลุ่มที่อพยพมาจากหลวงพระบางลวดลายผ้าจกบ้านกุดจอก มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือการไม่มีรูปแบบบังคับ เป็นกฎเกณฑ์ ผู้ทอมีอิสระในการดัดแปลงตามความสามารถ ผ้าทอแต่ละชิ้นแม้ว่าจะเหมือนกันเมื่อดูโดยรวม แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะไม่พบลวดลายที่ซ้ำกันเลย บางครั้งพบว่าลายชื่อเดียวกันมีรูปแบบต่างกัน คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่ผู้ทอแต่ละคนได้เลือกใช้ลายประกอบที่แตกต่างกัน มากหรือน้อยตามที่เห็นว่าสวยงาม ทำให้เกิดรูปแบบหลากหลาย ลายผ้าจกของกลุ่มชัยนาทจะมีลักษณะสมมาตรเสมอ โดยที่ใช้ลายย่อยขนาดเท่าๆกันขนาบสองด้านของลายหลัก


เชิงซิ่นลายขอหลวงเป็นลายที่นิยมทอมาก ผืนนี้มีลายดอกพยอมอยู่ตรงกลาง

 



เชิงซิ่นลายง้างมูก มีส่วนประกอบของลายดอกแก้ว ขอไม้ไล่ ตะเหลียวฮ่อ ชายซิ่นเป็นลายสร้อยสาที่ต่างจากแบบของไทยวน

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/training2007/taiKhrang/taikhrang.html


<- ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link การแต่งกายของคนไทย ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร