วัฒนธรรมการแต่งกายของไททรงดำ (2)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

วัฒนธรรมการแต่งกายของไททรงดำ(2)

การแต่งกายของผู้ชาย

เสื้อฮี

ตัวเสื้อเป็นเสื้อแขนยาวสีดำทรงกระบอกปลายแขนปล่อยกว้างขนาดข้อมือผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินยอดแหลมมีลวดลาย เรียงกันถี่ประมาณ 10-19 เม็ด ตัวเสื้อเย็บเข้ารูปทรงกระสอบ หน้าอกผาย คอตั้ง ด้านข้างตอนปลายผ่าทั้ง 2 ข้าง ใช้เศษผ้า 2-3 ชิ้นตัดขนาดรอยผ่าเย็บติดไปกับรอยผ่า เรียกว่า เสื้อชอน หรือ “เสื้อไท” และนุ่งกางเกงขาสั้นปลายแคบเรียวยาวปิดเข่า เรียกว่า “ส้วงขาเต้น” หรือ “ส้วงก้อม” แปลว่า กางเกงขาสั้น

เสื้อฮีของผู้หญิง ผู้ชายลาวโซ่ง จัดเป็นเสื้อชุดใหญ่ แต่ละคนจะมีเสื้อฮีประจำตัว ซึ่งถ้านับแบบสากลก็คือเสื้อนอกนั่นเอง เสื้อฮีจะประดับตกแต่งด้วยลวดลายหลายหลาก อย่างวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะด้านในของตัวเสื้อ จะมีลวดลายตกแต่งมากกว่าด้านนอก ซึ่งมีสีครามมากกว่า ลวดลายมีทั้งจากการปัก ปะ ประดับประดา ลายดาวกระจาย ลายเบื้อแขน ลายบานแปด ลายขอกุด ปักสลับสีด้วยไหม สีขาว สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว สวยงามแปลกตา ด้านข้างตัวเสื้อจะผ่าข้างขึ้นมาถึงเอว คอเสื้อเป็นคอกลม แขนทรงกระบอกหลวม ๆ ลวดลายที่ประดับจะประดับที่คอเสื้อ แนวสาบคอเสื้อ รักแร้ ด้านข้าง และชายเสื้อ

เสื้อฮีของผู้หญิงชาวลาวโซ่ง จะเป็นแบบสวมหัว เป็นเสื้อคอกลม แขนยาวตัวยาว ตรงสาบเหนือสะดือจะเว้าเข้าประมาณนิ้วครึ่ง เพื่อโชว์หน้าท้องของสาวชาวลาวโซ่ง ในขณะที่สวมเสื้อฮี โดยจะคาดเข็มขัดเงินเส้นงาม คาดทับผ้าซิ่นลายแตงโม ลวดลายของเสื้อฮีจะใช้สีแดงเลือดหมู สีส้ม สีขาว ที่ซุกซ่อนความงามของด้านในเอาไว้ ลวดลายที่ตกแต่งเรียกว่า “ขอกุด” เสื้อฮีของผู้หญิงจะใช้ได้ทั้ง 2 ด้าน

                    


เสื้อฮีผู้หญิงด้านนอก                                      
เสื้อฮีผู้หญิงด้านใน   

 

ลวดลายที่เป็นด้านนอกจะใช้ในงานมงคลตกแต่งไว้ให้เพียงพอกับความสวยงาม

ส่วนด้านในที่ใช้สำหรับงานอวมงคลของตนเอง ใช้คลุมหลังโลงศพในเวลาที่เสียชีวิต จะมีลวดลายที่สวยงามมากมาย

                          
 
     การแต่งกายของผู้ชายไทยทรงดำ                                                เสื้อฮีผู้ชาย 

 

เสื้อฮีของผู้ชายชาวลาวโซ่ง จะตัดเย็บแบบเสื้อคอกลม ติดกุ๊นรอบคอด้วยสีแดง ที่คอติดกระดุม 1 เม็ด ผ่าหน้าตลอด ตัวยาวคลุมสะโพก แขนทรงกระบอกหลวม ๆ เป็นแขนยาว มีการตกแต่งที่ใต้รักแร้ด้วยด้ายสีต่างๆ ติดกระจกชิ้นเล็กๆเป็นลวดลายที่สวยงาม เสื้อฮีของผู้ชายจะใช้เพียงด้านเดียว

ในปัจจุบันชาวลาวโซ่งก็ยังมีเสื้อฮีประจำตัวทุกคน เช่นในอดีต เสื้อฮีมีความสำคัญมากเพราะเป็นเสื้อที่จะต้องใส่ในเวลาทีมีพิธีกรรม เช่น งานแต่งงาน งานเสนเฮือน และที่สำคัญที่สุดในวันตาย  จะต้องใส่เสื้อฮีของตัวเองไปด้วย ทั้งนี้ เพราะมีความเชื่อกันว่า ถ้าใส่เสื้อฮีไปจะได้ไปพบญาติ พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่ตายไปแล้ว จะได้จำกันว่าเป็นเผ่าพันธุ์สกุลเดียวกัน ถ้าไม่ใส่ไป เชื่อว่าจะไม่ได้พบกันโดยเฉพาะในวันตายชาวลาวโซ่ง จะใส่เสื้อฮีเอาด้านในซึ่งมีลวดลายงดงามออกด้านนอก ส่วนหนึ่งก็เป็นความเชื่อที่ว่า พ่อแม่ เห็นลายเสื้อผ้าก็จำได้ และยังมีอีก 2 -3 ตัว ที่กลับด้านของเสื้อเอาด้านในออกด้านนอกคลุมโรงศพไว้ ในขณะตั้งศพตามประเพณีอีกด้วย

ผ้าเปียว

ผ้าเปียวเป็นสัญลักษณ์ของคนแก่ที่มีอายุ ลาวโซ่งนิยมแต่งกายด้วยสีดำหรือสีครามแก่เกือบดำ ผ้าเปียวใช้ห่มเฉียงบ่าไปวัดหรืองานสำคัญๆ แม้แต่คนตายก็ต้องห่มผ้าเปียวสีครามเข้าเกือบดำ โดยมีคติว่าห่มผ้าเปียวไปเก็บมะม่วงในป่าหิมพานต์ ไปเฝ้าแถน (เฝ้าเทวดา) จะต้อไปพบญาติที่ตายไปก่อนจึงต้องแต่งตัวให้ดี เพื่อให้ญาติที่ตายไปก่อนจำหน้าได้

ผ้าเปียว คือ ผ้าสไบ หรือ ผ้าเบี่ยงนั่นเอง ผ้าเปียวของชาวลาวโซ่งเป็นแถบผ้าฝ้ายทอมือสีครามเข้มเกือบดำ กว้างประมาณ 15 นิ้ว ยาวประมาณ 56 นิ้ว มีลวดลายปักประดับเป็นลวดลายของเส้นด้ายสีต่างๆ สลับสีกัน อย่างงดงามที่ริมชายผ้า มีทั้ง ลายดอกน้ำเต้า ลายดอกผักแว่น ปักเดินเส้นสลับสีอย่างสวยงาม ชายขอบผ้าก็จะเดินเส้นขอบผ้าสลับสีกัน ปัจจุบันผ้าเปียวนี้ยังใช้กันอยู่ในกลุ่มชาวลาวโซ่ง แต่เมื่อไปวัดมักเป็นสไบสีขาว ผ้าเปียวใช้เป็นผ้าห่มหน้าอก ใช้ห่มคอ และใช้เป็นผ้าโพกศีรษะได้

กระเป๋า

กระเป๋า ของผู้ชายชาวลาวโซ่ง ตัดเย็บอย่างประณีตเป็นผ้าฝ้ายสีครามเข้าเกือบดำซ้อนกันเป็นรูปกระเป๋า และอีกชิ้นหนึ่งปิดทับลงมาด้านหน้า ปักลวดลายสวยงามด้วยวิธีปัก ปะ ด้วยไหมสลับสี ประดับกระจกแต่ละช่องลายบางครั้งจะใช้ลาย ดอกพรม ดอกบัว ลายดาวกระจาย


ลวดลายในรูปแบบต่างๆที่สามารถนำมาปะติด ให้รวมอยู่ด้วยกัน   



ย่าม

ชาวลาวโซ่งจะมีย่าม ซึ่งใช้ผ้าทอย้อมสีต่างๆ เย็บเป็นย่ามสำหรับสะพายเมื่อไปเก็บของในป่า หรือไปเที่ยวงาน ย่ามที่ใช้มีอยู่ 2 ชนิด คือย่ามแดง และย่ามอื่นๆ

ย่ามแดง เป็นผ้าฝ้ายทอสลับสี ด้วยสีแดงเป็นส่วนใหญ่ ใช้เมื่อไปต่างบ้าน ต่างเมือง คือใช้แทนกระเป๋านั่นเองย่ามอื่นๆ เป็นผ้าทอธรรมดา ไม่พิธีพิถัน ใช้เมื่อไปไร่นา ใส่หมากพลู

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/thaisongdam/thaisongdam1/thaisongdam1.html


<- ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link การแต่งกายของคนไทย ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร