จากฝ้ายกลายเป็นเส้น -เส้นฝ้าย การผลิตเส้นใยฝ้าย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

จากฝ้ายกลายเป็นเส้น -เส้นฝ้าย การผลิตเส้นใยฝ้าย
เนื้อเรื่องและภาพจาก หนังสือผ้าไทย  


เส้นใยฝ้าย 
ฝ้าย เป็นไม้พุ่มใสสกุล Goosypium วงศ์ Malvaceae เรานำปุยหุ้มเมล็ดมาปั่นเป็นเส้นใยทอผ้าได้ ส่วนเมล็ดฝ้ายนำไปสกัดทำน้ำมันได้ ต้นฝ้ายเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งขึ้นมากในภูมิภาคที่อากาศร้อน

คำว่า ฝ้าย หรือ cotton มาจากภาษาอาหรับว่า qutun หลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับฝ้ายคือผ้าฝ้ายอายุประมาณ  5000 ปีก่อนคริสตกาล พบที่ประเทศเม็กซิโก ส่วนในทวีปเอเชียนั้น พบหลักฐานอายุประมาณ  3000 ปีก่อนคริสตกาลที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน  ในประเทศไทยพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นแวดินเผาที่ใช้ปั่นฝ้ายสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุประมาณ  3000 ปี ที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

พันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองที่ปลูกกันโดยทั่วไปในประเทศไทยแยกตามสีของปุยฝ้ายออกเป็น  2  ชนิด คือ พันธุ์สีตุ่น ปุยฝ้ายมีสีตุ่นคือสีน้ำตาลอ่อน ๆและพันธุ์สีขาวมีปุยฝ้ายสีขาวฤดูกาลปลูกฝ้ายในประเทศไทย คือประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ต้นฝ้ายได้รับน้ำฝนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมได้เต็มที่ในฤดูฝน  เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวฝ้ายจะแก่และแตกปุยราวเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม  ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะอากาศในฤดูหนาวจะแห้ง มีความชื้นน้อย ช่วยให้ปุยฝ้ายแห้งดีขึ้น ปุยฝ้ายที่นำมาทำเส้นใยนี้เป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายจากดอกฝ้าย เมื่อดอกฝ้ายผสมเกสรแล้วเติบโตเป็นลูกฝ้ายหรือเรียกกันทั่วไปว่า  สมอฝ้าย  เมื่อต้นฝ้ายแก่เต็มที่ สมอฝ้ายจะแตกออกเป็น ปุยฝ้าย เก็บปุยฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นใยฝ้าย กลุ่มวัฒนธรรมที่นิยมใช้เส้นใยฝ้ายทอผ้ามักปลูกฝ้ายเองและปั่นเส้นใยมาทอผ้าเพื่อเป็นทั้งเครื่องนุ่งห่ม  เคหะสิ่งทอ และสิ่งทอในพระพุทธศาสนา  กลุ่มชนเหล่านี้ ได้แก่  ไทยวน  ไทลื้อ  และ ไทพวนในภาคเหนือ  ไทครั่งและไททรงดำใน ภาคกลาง ภูไทหรือผู้ไทย ไทญ้อ และไทโส้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นต้น

การผลิตเส้นใยฝ้าย



กระบวนการผลิตและอุปกรณ์ในการผลิตเส้นใยฝ้ายนั้นเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน พัฒนาจนเหมาะสมกับวิถีชีวิตคนไทยในสังคมเกษตรกรรม การผลิตเส้นใยฝ้าย
มีกระบวนการตามลำดับ  ดังนี้


การเก็บปุยฝ้าย
เมื่อสมอฝ้ายแก่แตกเป็นปุยและแห้งเต็มที่ในช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านจะช่วยกันเก็บใส่ ถุงย่าม ตะกร้า หรือ กระบุง คัดเลือกเฉพาะปุยฝ้ายที่แก่เต็มที่ ดึงปุยฝ้ายออกจากกลีบสมอ
ระวังไม่ให้เศษใบไม้ติดปนมาด้วย  โดยคัดเลือกเก็บปุยฝ้ายที่สะอาด ไม่ชื้นหรือมีเชื้อรา  มิฉะนั้นปุยฝ้ายจะเสียหายทั้งกระบุง  ต่อจากนั้นจะนำปุยฝ้ายมาเทใส่กระด้ง  เพี่อตรวจ
คัดเศษใบไม้หรือกลีบสมอที่หักร่วงปนมากับปุยฝ้ายออก  ให้เหลือแต่ปุยฝ้ายที่สะอาด

การตากปุยฝ้าย
เพื่อให้ปุยฝ้ายแห้งสนิทและป้องกันเชื้อราจึงต้องตากปุยฝ้าย  โดยใส่ปุยฝ้ายในกระด้งขนาดใหญ่เกลี่ยให้พอเหมาะ  ไม่ซ้อนทับกันหนาจนแสงแดดส่องไม่ทั่วถึง  จะต้องหมั่นพลิก
ปุยฝ้ายเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ถูกแดดทั่วถึงกันจนแห้งสนิทดีและฟู

การคัดแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย
ปุยฝ้ายที่สะอาดและแห้งสนิทดีนั้น  ยังมีเมล็ดฝ้ายอยู่ข้างในจึงต้องคัดแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย  โดยใช้เครื่องมือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า   อีดฝ้าย   อิ้วฝ้าย  หรือ หีบฝ้าย

เครื่องมือนี้ทำจากไม้เนื้อแข็ง  โดยมีโครงสร้างประกอบด้วยส่วนฐานเป็นแผ่นไม้กระดานหนาพอประมาณต่อกันคล้ายรูปอักษร  T ในภาษาอังกฤษ  ในส่วนหัวของอักษร T จะมีหลักไม้ทรงสี่เหลี่ยม  หลักไม้นี้ในบางท้องถิ่นอาจแกะสลัก ตกแต่งสวยงามเป็นยอดแหลมหรืออาจเป็นยอดมนเกลี้ยงเรียบ ๆ หลักไม้สูงประมาณ  14-16 นิ้วเท่ากันทั้งสองด้านเพื่อเป็นหลักของฟันเฟือง  ซึ่งเป็นไม้  2  ท่อนขนานกัน ส่วนด้านซ้ายทำเป็นเกลียวฟันเฟืองด้วยการบากไม้ให้เป็นร่องสัมพันธ์กัน ใช้ไขมันสัตว์  เช่น  ไขมันวัว  ไขมันควาย เป็นน้ำมันหล่อลื่น  ส่วนช่วงตรงกลางระหว่างหลักนั้นเป็นไม้ทรงกลมเกลี้ยงขนานชิดกัน  ไม้ฟันเฟืองนี้ส่วนด้านขวามือจะยาวไม่เท่ากัน  ท่อนบนจะสั้นกว่าส่วนท่อนล่างจะยาวกว่า
และต่อไม้เป้นที่จับหมุนเพื่อให้ฟันเฟืองหมุนเคลื่อนไป 

(อ่านต่อ)
ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_2/B_7/COTTON/cotton.html