ผ้ามัดหมี่ - กระบวนการผลิตผ้ามัดหมี่ (1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com/

ผ้ามัดหมี่ - กระบวนการผลิตผ้ามัดหมี่


การทำผ้ามัดหมี่เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่งนิยมทำกันมาช้านานในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและบางจังหวัดในภาคกลาง ชาวบ้านจะใช้เวลาว่างจากการทำนาและการเก็บเกี่ยวมาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทอผ้าเอาไว้ใช้ในงานประเพณีต่างๆ ลวดลายส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว การทำผ้ามัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นส่วนใหญ่นิยมทำด้วยไหม

ศิลปะการทำผ้ามัดหมี่นั้นทำได้โดยการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีและลวดลายก่อนแล้วจึงนำไปเรียงทอบนกี่ออกมาเป็นผืนผ้าวัฒนธรรมการทำผ้ามัดหมี่ของไทยนั้นนิยมทำกันที่ไหมเส้นพุ่งเท่านั้น

ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่ อยู่ที่รอยซึมของสีที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด ถึงแม้จะใช้ความแม่นยำในการทอมากเพียงไร ก็จะเกิดลักษณะความเหลื่อมล้ำของสีบนเส้นไหมให้เห็นต่างไปจากผ้าทอมือชนิดอื่นๆ นับเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไทยมัดหมี่โดยแท้

ผ้ามัดหมี่แต่ละชิ้นนั้นมักไม่มีการซ้ำกัน ถึงแม้ว่าจะมีสีสันลวดลายเดิมวางไว้เป็นตัวอย่างก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าทุกขั้นตอนของการประดิิดประดอย ล้วนเกิดจากน้ำมือและน้ำพักน้ำแรงของคนทั้งสิ้น ความมีเสน่ห์ของผ้าไหมมัดหมี่ในแต่ละชิ้นก็คือ “ความเป็นชิ้นเดียวในโลก” นั้นเอง จึงนับว่าเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่ายิ่ง

กระบวนการผลิตผ้ามัดหมี่
ต้นหม่อน

มีความสำคัญในการเลี้ยงไหมมากเพราะใบหม่อนเป็นอาหารอย่างเดียวของตัวหนอนไหม ขั้นแรกจึงต้องมีการปลูกและดูแลต้นหม่อนให้เกิดใบ ต้นหม่อนเป็นพืชที่ขึ้นง่ายและเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำมากนัก ถ้าเริ่มปลูกต้นฤดูฝนต้นหม่อนก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ตลอดไป แม้ในฤดูแล้งก็ไม่ตาย

ตัวไหม

  

เริ่มเลี้ยงกันตั้งแต่ยังเป็นไข่เล็กๆ เท่าปลายเข็ม จนเติบโตเป็นตัวหนอนไหมวัยอ่อนและวัยแก่ ตัวไหมนั้นเป็นหนอนของแมลงจำพวกผีเสื้อชนิดหนึ่งที่เมื่อถึงวัยจะผลิตใยไหมออกมาห่อหุ้มตัวเป็นรัง ไหมพันธุ์พื้นบ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงกันอยู่เป็นพันธุ์ที่ฟักได้ตลอดปี เมื่อตัวหนอนเติบโตจะมีลักษณะสีขาวนวลและเมื่อแก่ขึ้นจะมีสีเหลือง เมื่อทำรัง รังไหมจะเป็นสีเหลือง

สาวไหม

การเลี้ยงไหมตั้งแต่เป็นไข่จนกระทั่งเป็นตัวไหม สร้างใยเป็นรัง กินระยะเวลาประมาณ 45 วัน ต่อจากนั้นจึงนำรังไหมมาต้มเพื่อสาวให้เป็นเส้นไหมชาวบ้านใช้หม้อขนาดตามสะดวด และโดยมากทางอีสานใช้หม้อดิน รอบปากหม้อมีวงโค้งยึดขาตั้งสูง เหนือปากหม้อมีไม้แบนๆอันหนึ่งเจาะรูตรงกลางวางพาด เหนือไม้นี้ขึ้นไปมีรอกเป็นเฟืองกลม นำรังไหมใส่ในหม้อต้มน้ำ คะเนไม่ให้แน่เกินไป พอน้ำเดือดสาวเส้นไหมขึ้นลอดรูไม้แบนที่ปากหม้อสาวขึ้นมาพันกับรอก ในขณะที่ใช้มือหนึ่งสาวไหมจากรอกลงภาชนะที่รองรับอยู่ ให้ใช้อีกมือหนึ่งไม้ง่ามยาวประมาณ  2 คืบเรียก”ไม้ขืน” คอยกดและเขย่ารังไหมที่ลอยตัวอยู่ในหม้อ เพื่อทำไม่ให้ไหมแน่นเส้นไหมที่สาวลงในภาชนะรองรับจะเรียบและไม่ยุ่งเหยิง

(กระบวนการผลิตผ้ามัดหมี่ยังไม่จบเท่านี้ อ่านต่อกดที่นี่จ้า)


ต้นฉบับ http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_4/matmi1/matmi1.html  

ขอบคุณ ภาพและเนื้อหาจาก หนังสือผ้าทอพื้นเมืองและศิลปบนผ้าไหมมัดหมี่