ผ้ามัดหมี่ - ตัวอย่างผ้ามัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, จ.เลย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ตัวอย่างจังหวัดที่มีการทอผ้ามัดหมี่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

หมี่คั่นในตัว บ้านเหมืองแบ่ง อำเภอวังสะพุง

จังหวัดเลย

เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์

บ้านเหมืองแบ่ง ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง พบการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายดั้งเดิมได้แก่ ลายไก่ ลายนกยูง ลายดอกแก้วพื้นเมือง ลายหมี่คั่นในตัว ลายดอกจิกการทอผ้าฝ้ายมัดหมี่ลายดั้งเดิมได้แก่ ลายหอปราสาท ลายกระเบื้องคว่ำ ลายนาคเชิงเทียนและลายประยุกต์ได้แก่ ลายดอกแล้ว โดยส่วนใหญ่ใช้ทอเป็นผ้านุ่ง

บ้านผาน้อย อำเภอวังสะพุง พบการทอผ้าฝ้ายมัดหมี่ลายดั้งเดิมได้แก่ ลายหมี่ โคมห้า ลายนก – ตีนซิ่นลายเอี้ย (ถือว่าเป็นลายเอกลักษณ์ของจังหวัด) และลายประยุกต์ ได้แก่ลายหมี่ใบไผ่ ลายขอ ลายหมี่โคมห้า ลายขิดโบราณและลายขิดดั้งเดิม (นำแนบมาจาก ลายขิด)โดยส่วนใหญ่ ใช้ทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า

 
 

ลายโคมห้า บ้านผาน้อย อำเภอวังสะพุง

 
บ้านหนองตูม* ตำบลผาสามยอด กิ่งอำเภอเอราวัณ พบการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายหมี่น้ำพอง ลายประยุกต์ได้แก่ ลายดอกแก้ว ลายปีกไก่ ลายปีกไก่น้อยลายหมี่โคมห้า ลายนาคดอกฝ้าย และลายที่คิดขึ้นใหม่ได้แก่ ลายสร้อยพร้าว โดยส่วนใหญ่ใช้ทอเป็นผ้านุ่ง

บ้านสงเปือย ตำบลธาตุ อำเภอเชียงคาน พบการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายหมี่ตา ลายหมี่ตุ้มใหญ่ ลายหมี่โคมเก้า ลายหมี่กงสองคลอง (ถือว่าเป็นลายเอกลักษณ์ของที่นี่) และลายประยุกต์ได้แก่ ลายสน ลายนาค โดยส่วนใหญ่ใช้ทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าผืนและผ้าขาวม้า

ลายหมี่กงสองคลอง บ้านสงเปือย ตำบลธาตุ อำเภอเชียงคาน

กระบวนการปัญหา และอุปสรรคทางด้านการผลิตและการจำหน่าย

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านผานาง-ผาเกิ้ง กิ่งอำเภอเอราวัณ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้ ผ้าที่ทอนั้นเป็นผ้าไหมมีทั้งลายโบราณที่สืบทอดกันมา และลายประยุกต์ เส้นไหนที่ใช้มีทั้งซื้อมา และผลิตขึ้นเอง (มีพื้นที่ปลูกหม่อนประมาณ 10 ไร่) และได้รับพระราชทานจากศูนย์ศิลปาชีพในพระตำหนักจิตรลดาฯ ย้อมสีวิทยาศาสตร์ การทอใช้กี่พื้นบ้าน (กี่ธรรมดา) ผ้าที่ทอสำเร็จแล้วมีการจำน่าย 2 ลักษณะคือ การส่งกลับจำหน่ายยังศูนย์ฯ หรือจำหน่ายเองในร้านค้าของโครงการฯ

จากการสำรวจพบว่าโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่เป็นแหล่งทอผ้าที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะสมาชิกของโครงการได้รับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจเรื่องลวดลายและการใช้สี ทำให้ลวดลายผ้าที่ทอได้มีความหลากหลาย ที่สำรวจพบมีถึง 19 ลาย สมาชิกในโครงการฯ รู้จักการดัดแปลงลวดลายและสีสันที่มีอยู่เดิมให้เกิดเป็นผ้าลายใหม่ได้อย่างหลากหลายสีที่ใช้ในการทอ ส่วนใหญ่ไม่ใช้สีสด แต่มีการเลือกใช้คู่สีที่เหมาะสม โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่จัดเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่ที่มีชื่อเสียงและถือว่าเป็นศูนย์ทอผ้าไหม ครบวงจรโครงการผาบ่าวผาสาวเป็นโครงการในพระราชดำริ ที่ช่วยชาวบ้านมีงานทำมีวิทยากรมาสอนให้ชาวบ้านอนุรักษ์ลายพื้นบ้านไว้ เมื่อทอเสร็จส่วนใหญ่จะส่งเข้าโครงการฯ

ที่บ้านเหมืองแบ่ง ตำบลหนองหญ้าปล้อง และบ้านผาน้อย อำเภอวังสะพุง มีการรวมกลุ่มผู้ทอเป็นกลุ่มสตรีทอผ้า โดยได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาชุมชนของอำเภอวังสะพุง ในด้านการจัดหาวัตถุดิบ รูปแบบลายผ้า และเงินลงทุน ปัญหาในปัจจุบันที่พบคือ การขาดตลาดรับซื้อสินค้า

ที่บ้านสงเปือย ตำบลธาตุ อำเภอเชียงคาน และบ้านหนองตม ตำบลผาสามยอด กิ่งอำเภอเอราวัณ ทั้งสองหมู่บ้านก็พบการรวมกลุ่มสตรีทอผ้าเช่นเดียวกันโดยบ้านสงเปือยมีประธาน กลุ่มคือ นางกนกวรรณ ชาวบัวขาว ผ้าที่ทอได้มีการจำหน่ายโดยตรงและจำหน่ายผ่านกลุ่มฯ ลวดลายของผ้าจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะของหมู่บ้าน

ผ้าไหมมัดหมี่ลายดั้งเดิม ลายหมี่ตุ้มใหญ่ บ้านสงเปือย อำเภอเชียงคาน

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_4/matmi1/matmi3/matmi3.html

ขอบคุณ ภาพและเนื้อหาจาก หนังสือผ้าทอพื้นเมืองและศิลปบนผ้าไหมมัดหมี่