ผ้ามัดหมี่ - ตัวอย่างผ้ามัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, จ.ศรีสะเกษ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ตัวอย่างผ้ามัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผ้ามัดหมี่ลายเต่าและลายไทยใหญ่ ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง จ.ศรีสะเกษ

 


 ผ้ามัดหมี่ลายเต่าและลายไทยใหญ่ ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง จ.ศรีสะเกษ

้ามัดหมี่ 2 ตะกอลายเชิงเทียน อำเภอราษีไศล

จังหวัดศรีสะเกษ

เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์

บ้านเปาะ ตำบลบึงบูรณ์ อำเภอบึงบูรณ์ พบการทอผ้าไหมมัดหมี่ด้วยด้ายสำเร็จที่ซื้อจากจังหวัดเพชรบูรณ์นำมาย้อมสีเองด้วยสีวิทยาศาสตร์ลายขิด ลายกระจับ

บ้านไทร ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง พบการทอผ้าไหมมัดหมี่ 3 ตะกอลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายเต่า ลายไทยใหญ่ โดยส่วนใหญ่ใช้ทอเป็นผ้านุ่งและจากในทุกพื้นที่ที่สำรวจพบ ส่วนใหญ่ได้ทอเพื่อทำเป็นผ้านุ่ง ผ้าพื้นที่ไม่มีลวดลายหลัก (ไหม / ฝ้าย ) และมีการทอแบบ 2 ตะกอ เป็นลายโคม ลายพญานาค และลายประยุกต์เช่นลายโคม ลายสีดา เป็นต้น


ที่บ้านห้วย ตำบลบัวทุ่ง อำเภอราษีไศล และ บ้านโนนคำแก้ว ตำบลสังเม็ก อำเภอ กันทรลักษณ์ พบการทอผ้าไหมมัดหมี่ 2 ตะกอ ด้วยไหมที่เลี้ยงเอง ย้อมสีวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นลายที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ลายงูน้อย ลายไทย ลายเชิงเทียน ลายต้นสน ลายไก่และมีการทอ ลายดั้งเดิมอยู่บ้าง เป็นลายขอคั่น ลายขอพวง ลายนาคน้อย ลายนาคปรก เป็นต้น

ที่บ้านหาด ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน และ บ้านหนองถ่ม ตำบลดู่ อำเภอ กันทรารมย์ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองและบางส่วนก็ซื้อมา ได้รับการแนะนำจากศูนย์ศิลปาชีพ ในพระบรมราชินีนาถในการทอผ้าไหมมัดหมี่ 2 ตะกอลายโบราณ พบผ้าลายโคมห้า ลายดอกแก้ว ลายขอคั่น ลายไทย ลายปลาตะเพียน และทอลายประยุกต์ เช่นลายนกยูง เป็นต้น

 

ที่บ้านกุดเมืองฮาม ตำบลกุดเมืองฮาม อำเภอยางชุม พบว่าไหมที่ใช้ทอเป็นไหมที่เลี้ยงเองส่วนหนึ่งและซื้อมาอีกส่วนหนึ่ง ทอผ้าไหมมัดหมี่ ทั้ง 2 และ 3 ตะกอ ลายขอ ลายบักจับเครือบางลายเป็นลายดั้งเดิมรวมกับลายประยุกต์เช่น ลายนาคต้นสน  ลายโคมห้าเอื้อสอดไส้ด้วยลายกาบ

ที่บ้านเขิน ตำบลเขิน อำเภอน้ำเกลี้ยง บ้านโนนคูณ ตำบลโนนค้อ อำเภอโนนคูณ และบ้านหนองหว้า ตำบลหนองหว้า อำเภอเบญจลักษณ์ พบว่ามีความพยายามที่จะปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมแต่ไม่เป็นผลเนื่องจากความแห้งแล้งจึงต้องซื้อไหมมาย้อมด้วยสีวิทยาศาสตร์เป็นการทอเพื่อขาย การทอผ้ามัดหมี่ที่ชาวบ้านคิดลายเอง ลวดลายไม่โดดเด่น ส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อเรียก มีทั้งฝ้ายและไหม ทอเป็นผ้าซิ่น ผ้าเบี่ยง และผ้าขาวม้า เป็นต้น

ที่บ้านร่องสะอาด ตำบลพรหมสวัสดิ์ กิ่งอำเภอพยุห์ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อใช้ในการทอผ้าไหมมัดหมี่ และใช้สีวิทยาศาสตร์ในการย้อมเช่นเดียวกัน เป็นการทอเพื่อใช้และขายกันเองในหมู่บ้าน ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแนะนำ พบผ้าซิ่นไหมลายดั้งเดิมเรียกว่า ผ้าไหมเข็นและลายอื่น ๆ ที่คิดขึ้นเอง มีการนำผ้าไหมต่อเชิงด้วยฝ้ายขิด

 

ที่บ้านค้อปอ ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญซื้อไหมจากอุทุมพรพิสัยมาขายที่หมู่บ้านย้อมสีวิทยาศาสตร์ พบการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายหน่วยสับขอ ลายหน่วยสับมะแปปน้อย

การสืบทอดทางวัฒนธรรม

ส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ทอโดยใช้ลวดลายพื้นถิ่นที่มีการสืบทอดมานาน แต่บางอำเภอได้มีการนำลายมาจากแหล่งอื่น เช่น ที่อำเภอห้วยทับทัน มีการนำลายผ้ามาจาก หนังสือ ซึ่งได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ อีกทางหนึ่งได้รับการอบรมจากทางราชการ

กระบวนการปัญหา และอุปสรรคทางด้านการผลิตและการจำหน่าย
อำเภอบึงบูรณ์ มีการรวมกลุ่มเป็นศูนย์ทอผ้าของหมู่บ้านชื่อว่าศูนย์พัฒนาอาชีพเช่นเดียวกับที่อำเภอห้วยทับทัน มีหน่วยราชการจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนครเข้ามาดูแลส่วนอำเภอที่เหลือสถานที่ทอจะใช้พื้นที่บ้านของตนเอง

ที่อำเภอบึงบูรณ์ และอำเภอไพรบึง เส้นไหมที่ใช้ผลิตขึ้นเอง อำเภออื่น ๆจะใช้วิธีซื้อสำเร็จ ที่บ้านโนนคำแก้ว ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษณ์ และอำเภอเบญจลักษณ์ มีการมัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ ส่วนอำเภออื่น ๆ ใช้สีวิทยาศาสตร์

การทอส่วนใหญ่จะใช้กี่ธรรมดา จะมีบางแห่งที่ใช้กี่กระตุก เช่น ตำบลดู่ อำเภอกัทรรมย์ ทุกอำเภอที่พบการทอผ้าจะใช้ทำเป็นอาชีพเสริมหลังว่างจากการทำนาทำสวน ยกเว้นบ้านโนนคำแก้ว ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษณ์

จากการสำรวจพบว่า

ที่จังหวัดศรีสะเกษมีแนวทางที่จะสามารถพัฒนาอาชีพการทอผ้าได้เนื่องจากชาวบ้านมีความสนใจและตื่นตัว หากแต่ขาดการสืบทอดไปสู่คนรุ่นหนุ่มสาวเพราะยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร พบว่าผู้ทอผ้าขาดความสนใจที่จะทอผ้าลายโบราณ ทั้งนี้เนื่องจาก ใช้เวลานานทำให้ไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับ

การจำหน่าย

จะมี 3 ช่องทางคือ มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ จำหน่ายตามศูนย์ทอผ้าที่จัดตั้งขึ้นในแต่ละท้องที่ และจำหน่ายโดยผ่านหน่วยงานราชการ ปัญหาที่พบในเรื่องของการจำหน่ายคือการกำหนดราคารับซื้อต่ำโดยพ่อค้าคนกลางและหน่วยงานราชการ รวมถึงการหักเปอร์เซ็นต์จากการขาย จ่ายล่าช้า จ่ายไม่ครบ ความช่วยเหลือที่ต้องการคือการสนับสนุนทางด้าน อุปกรณ์การผลิต การรวมกลุ่มการผลิต เงินทุน การอบรมหรือถ่ายทอดความรู้  การตลาดและการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งร้านค้ากลุ่ม โดยอาจจัดตั้งในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อลดบทบาทของพ่อค้าคนกลาง


ต้นฉบับ http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_4/matmi1/matmi4/matmi4.html
ขอบคุณ ภาพและเนื้อหาจาก หนังสือผ้าทอพื้นเมืองและศิลปบนผ้าไหมมัดหมี่