ผ้ามัดหมี่ - ตัวอย่างผ้ามัดหมี่ในภาคกลาง, จ.นครปฐม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ตัวอย่างผ่ามัดหมี่ภาคกลาง

ผ้ามัดหมี่จังหวัดนครปฐม

เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์

ตำบล สระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน พบการทอผ้ามัดหมี่ลายดอกคุ้มเกล้า ลายถั่วแปบ ลายขนมจาก (ลายไทย) ลายหงส์ฟ้า ลายลูกโซ่ ลายลำเทียน เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ทอเป็นผ้านุ่ง และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้แก่ หมอน เป็นต้น และพบว่าใน ทุกพื้นที่ที่สำรวจมีการทอผ้าซิ่นลายแตงโม (ลวดลายดั้งเดิม) ผ้าทอพื้น หมอนผ้าทอพื้นเมืองลายดอกมะลิ และลายดอกจัน

การสืบทอดทางวัฒนธรรม

ที่อำเภอกำแพงแสน และอำเภอบางเลน พบว่ามีการทอผ้าเนื่องจากมีชาวโซ่งหรือลาวโซ่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชนกลุ่มดังกล่าวยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายของตนเองไว้ในงานพิธีกรรมสำคัญ ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อฮี ปัจจุบันพบว่าการสืบทอดอนุรักษ์ หรือรักษาวัฒนธรรมของการทอผ้าดังกล่าวจะอยู่ใน เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น

 
 ผ้ามัดหมี่ลายถั่วแปบ กลุ่มทอผ้าบ้านหนองหมู อำเภอกำแพงแสน


   

ผ้ามัดหมี่ลายลูกโซ่ กลุ่มทอผ้าบ้านหนองหมู อำเภอกำแพงแสน

 
กระบวนการปัญหา และอุปสรรคทางด้านการผลิตและการจำหน่าย

ตำบล สระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน พบว่ามีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้ามีศูนย์กลางอยู่ที่บ้าน คุณพาน สระทองพูน และคุณพูน สระทองพูน โดยได้รับการสนับสนุนในด้านวัตถุดิบจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวสูงควรที่จะให้การส่งเสริมอย่างเป็นระบบในกลุ่ม ของการทอผ้าแบบดั้งเดิมคือ ผ้าลายแตงโม วัตถุดิบที่ใช้ได้แก่ ไหม และโทเร มีทั้งเลี้ยงเองและซื้อสำเร็จ ทอโดยกี่พุ่ง กลุ่มดังกล่าวยังขาดการสนับสนุนหรือส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่ ตำบลไผ่หูช้าง บ้านหัวทรายลาว ตำบลดอนตูม และบ้านดอนทอง อำเภอบางเลน พบว่ามีการรวมกลุ่มทอผ้า โดยมีชื่อว่ากลุ่มทอผ้าบ้านหัวทรายลาว และกลุ่มแม่บ้านทอผ้าบ้านดอนทอง (บุคคลสำคัญในกลุ่มนี้คือ คุณสงวน ทองดอนเขื่อง) โดยทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจาก อุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และพัฒนาชุมชนอำเภอบางเลน ในรูปของการจัดอบรมวิธีการทอผ้าและจัดหาวัตถุดิบให้ วัตถุดิบที่ใช้ คือ ไหมและโทเร ทอโดยใช้กี่กระตุก เพื่อจะให้ได้ผ้าหน้ากว้าง พบว่ามีความชำนาญในด้านการทอ แต่ยังขาดการพัฒนาในเรื่องลวดลายใหม่ ๆ(ส่วนใหญ่มัก ทอลาย แตงโม) ควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้การส่งเสริม โดยเฉพาะในเรื่องการหาตลาดจำหน่ายและการจัดผึกอบรมทางด้านการทอลายที่เป็น เอกลักษณ์หรือลายที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากพบว่าชาวบ้านในพื้นที่มีความตื่นตัวในการทอผ้าพอสมควร

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_4/matmi1/matmi3/matmi7/matmi7.ht...