ประวัติศาสตร์ล้านนา - ล้านนาสมัยเป็นเมืองประเทศราชของไทย (พ.ศ. 2317 – 2427)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ล้านนาสมัยเป็นเมืองประเทศราชของไทย (พ.ศ. 2317 – 2427)

หลังจากเสร็จสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ พ.ศ. 2317 แล้ว พระเจ้าตากสินทรงตอบแทนความดีความชอบโดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระญาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิละครองเมืองลำปาง และทรงอบอาญาสิทธิ์แก่เจ้าเมืองทั้งสองให้ปกครองบ้านเมืองตามธรรมเนียมเดิม ของล้านนา

อย่างไรก็ตามปัญหาพม่ายังไม่หมดไป พม่ายังพยายามยึดเชียงใหม่กลับคืน โดยยกกองทัพเข้ามาหลายครั้ง (ครั้งแรก พ.ศ. 2318) พระญาจ่าบ้านป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่างเข้มแข็งแต่ในที่สุดก็รักษาเมืองไว้ ไม่ได้ เพราะผู้คนในเมืองเชียงใหม่มีน้อยและอยู่ในสภาพอดอยากมาก พระญาจ่าบ้านจึงถอยไปตั้งมั่นที่ท่าวังพร้าวและลำปาง เมื่อกองทัพพม่ากลับไป พระญาจ่าบ้านก็กลับไปตั้งเมืองเชียงใหม่อีกในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงมีลักษณะกลับไปกลับมา ในช่วงปลายสมัยธนบุรีเชียงใหม่ถูกปล่องให้เป็นเมืองร้าง รวมทั้งเมืองอื่น ๆ ในล้านนาด้วย จะมีแต่เมืองลำปางที่เป็นแหล่งที่มั่นของฝ่ายไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระญาจ่าบ้านซึ่งเสียชีวิต ลงในปลายสมัยธนบุรี และทรงโปรดเกล้าฯ ให้น้องของพระเจ้ากาวิละดำรงตำแหน่งสำคัญในเมืองเชียงใหม่และลำปาง เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ล้านนา พระเจ้ากาวิละจึงทำหน้าที่สร้างบ้านแปลงเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และโดยที่เชียงใหม่อยู่ในอิทธิพลของพม่า พระเจ้ากาวิละไม่สามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ทันทีจึงเริ่มด้วยการตั้งมั่น ที่เวียงป่าซางใน พ.ศ. 2325 ก่อน และตั้งมั่นอยู่ที่นั้นถึง 14 ปี จึงสามารถเข้าตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2334 ซึ่งเป็นปีที่เชียงใหม่มีอายุครบ 500 ปี ส่วนอิทธิพลของพม่าในล้านนาถือว่าสิ้นสุดลงในสงครามขับไล่พม่า พ.ศ. 2347 โดยกองทัพชาวล้านนาร่วมกับกองทัพไทยยกไปตีเมืองเชียงแสนที่มั่นของพม่าได้ สำเร็จ

พระเจ้ากาวิละได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ โดยการ “ เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง ” หรือรวบรวมพลเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ โดยใช้วิธีการกวาดต้อนชาวเมืองที่หลบหนีเข้าป่าและกวาดต้นผู้คนจากสิบสองพัน นาและรัฐฉานมาเชียงใหม่ เชียงใหม่จึงพ้นจากสภาพเมืองร้างและยังได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง อีกด้วย นอกจากนั้นพระเจ้ากาวิละได้ฟื้นฟูเชียงใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ราชประเพณี โดยกระทำพิธีราชาภิเษกสถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ในลักษณะเดียวกับราชวงศ์มังราย การสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ การสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก และการทำนุบำรุงพุทธศาสนา เป็นต้น เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละจึงมีความเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นและเป็นศูนย์ กลางของล้านนาที่เข้มแข็ง และหลังจากสมัยพระเจ้ากาวิละแล้วก็มีเจ้าเมืองปกครองต่อมา ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนรวมทั้งสิ้นมี 9 องค์

นโยบายและวิธีการปกครองดินแดนหัวเมือง ประเทศราชล้านนา ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่านมีลักษณะระมัดระวัง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ล้านนาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าถึง 200 กว่าปีย่อมความใกล้ชิดกับพม่ามาก และในขณะเดียวกันพม่าก็พยายามแย่งชิงล้านนากลับคืนไปอีก รัฐบาลกลางจึงปกครองล้านนาโดยไม่ไปกดขี่อย่างที่พม่าเคยทำกับล้านนา แต่กลับใช้วิธีการปกครองแบบผูกใจเจ้านายเมืองเหนือ โดยยอมผ่อนผันให้เจ้าเมืองมีอิสระในการปกครองภายใน เศรษฐกิจ การศาล การต่างประเทศ และ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนยกย่องให้เกียรติแก่เจ้าเมืองในโอกาสอันควร

โครงสร้างทางการเมืองการปกครอบภายในล้าน นาเป็นรูปแบบที่แต่ละเมืองประกอบด้วยตำแหน่ง “ เจ้าขันทั้งห้า ” หรือเจ้าผู้มีพานเป็นเครื่องประกอบยศ คือ เจ้าขัน 5 ใบ ได้แก่ เจ้าเมือง พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ ตามทฤษฎีตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบนี้ รัฐบาลกลางเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน แต่ในทางปฏิบัติเจ้านายชั้นสูงในล้านนาจะเสนอผู้ที่เห็นสมควรจะได้รับ ตำแหน่ง ซึ่งทางรัฐบาลกลางมักจะแต่งตั้งไปตามที่เสนอมา นับว่าการเมืองภายในล้านนามีอิสระอยู่มาก นอกจากตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบแล้วยังมีคณะกรรมการเรียกว่า “ เค้าสนามหลวง ” จำนวน 32 คน เค้าสนามหลวงมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมืองและช่วยในการบริหารบ้าน เมือง ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายในล้านนาในช่วงก่อนรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง นั้น รัฐบาลกลางจะถือว่าเจ้าเมืองมีสิทธิที่จะแสวงหารายได้และจับจ่ายใช้สอยได้ อย่างอิสระ นอกจากนั้นด้านการศาลก็ใช้กฎหมายท้องถิ่นและใช้การตัดสินใจตามประเพณีของ บ้านเมือง

อย่างไรก็ตามวิธีการปกครองดังกล่าว มิได้หมายความว่าล้านนาจะเป็นอิสระเสียทีเดียว เพราะรัฐบาลกลางได้ควบคุมทางอ้อม เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนานระดับสูง การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การส่งต้นไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการ ส่วย การเกณฑ์สิ่งของและการเกณฑ์ในราชสงคราม เป็นต้น วิธีการควบคุมเมืองต่าง ๆ ล้านนาในฐานะเมืองประเทศราชดังกล่าว แม้จะไม่รัดกุมเท่าไรนักก็ตาม แต่ก็เหมาะสมกับสภาวการณ์ในสมัยนั้น ซึ่งรัฐบาลกลางมีกำลังน้อย ควบคุมไม่ถึง การคมนาคมก็ไม่สะดวก ในส่วนเจ้าเมืองก็ต้องการมีสิทธิในการปกครองตนเองตามสมควร นับว่ารูปแบบปกครองขณะนั้นไม่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างใดต่อรัฐบาลกลาง

การเปลี่ยนแปลงในรูปที่รัฐบาลต้องเข้าไป ควบคุมกิจการ ภายในหัวเมืองประเทศราชล้านนามากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดก็ผนวกเอาล้านนาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทยนั้นเกิด ขึ้นในสมัยราชการที่ 5 ซึ่งเป็นยุคแห่งการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก ด้านการปกครองหัวเมืองมีการยกเลิกระบบการปกครองเมืองประเทศราช ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาช้านานโดยจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแทน มีข้าหลวงเทศาภิบาลซึ่งรัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งไปปกครองและขึ้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติรัฐ ซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ที่องค์พระมหากษัตริย์


สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องเข้าไปจัดการหัวเมืองล้านนา เกิดจากการเข้ามาของคนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ (พวกมอญ พม่า) ในล้านนาซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. 2399 – 2439) และสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. 2416 – 2434) โดยเฉพาะคนในบังคับอังกฤษได้เช่าทำสัมปทานป่าไม้จากเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็น จำนวนมาก นอกจากนั้นตามหัวเมืองชายแดนระหว่างเชียงใหม่กับพม่าเกิดความวุ่นวาย มีโจรผู้ร้ายปล้นคนในบังคับอังกฤษที่เดินทางติดต่อค้าขายระหว่างพม่ากับล้าน นา ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ฝ่ายอังกฤษเสียผลประโยชน์ รัฐบาลไทยในสมัยรัชการที่ 5 จึงเริ่มแทรกอำนาจในล้านนา ซึ่งนับเป็นดินแดนแห่งแรกในประเทศที่เกิดปัญหาก่อนที่อื่น ๆ